ในโลกแห่งการแก่งแย่งเพื่อขายสินค้า โนว์-ฮาวการบริหารให้กระบวนการระหว่างผู้ผลิตถึงลูกค้าสั้นที่สุดคือ
ปัจจัยชี้ขาดการยึดกุมลูกค้า ตั้งแต่รับคำสั่งซื้อ ยืนยันตอบรับคำสั่งซื้อ
ระเรื่อยจนถึงเบิกสินค้าจากคลังจัดส่งถึงลูกค้า ผู้ขายต้องพัฒนาให้องค์กรของตนมีความแน่นอนและรวดเร็วเหนือชั้นกว่าคู่แข่ง
ยิ่งถ้าสหรัฐอเมริกาคือตลาดหลัก ผู้ขายสกุลเอเชียจะสร้างเงื่อนไขเอาชนะความได้เปรียบของเม็กซิโกในเชิงภูมิศาสตร์ให้ได้
ทุกวันนี้ ผู้ผลิตในเอเชียไม่ว่าจะเป็นสนามดั้งเดิมอย่างสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม
หรือจะเป็นสนามแห่งเทคโนโลยีระดับสูงอย่างคอมพิวเตอร์ ล้วนถูกกดดันให้ต้องทุ่มทุนสร้างเพื่อการปรับตัว
ผู้ประกอบการสายตากว้างไกลจึงตระหนักดีว่า การลดทอนช่วงเวลาตอบสนองลูกค้าเป็นปัจจัยที่สำคัญเสียยิ่งกว่าการลดทอนต้นทุนแรงงาน
หากหวังจะมัดลูกค้ารายใหญ่ให้ติดหนึบเหนียวแน่นอยู่กับตน คำตอบสำเร็จรูปที่สุดที่มีให้ขณะนี้คือ
เทคโนโลยีการพาณิชย์ผ่านระบบโทรคมนาคม นามว่า อิเล็กทรอนิกส์ คอมเมิร์ซ
พัฒนาการที่ได้เห็นมาแล้วปรากฏอยู่ในแวดวงของธนาคาร การขนส่งสินค้าและเทรดดิ้งเฟิร์มในบางประเทศ
รัฐบาลจับบทเป็นหัวหอกสถาปนาเครือข่ายคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม กลุ่มที่ยอมลงทุนตระเตรียมตนเองเพื่อฉวยความได้เปรียบ
ต่างเร่งสร้างกลไกการค้าบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่พึ่งพิงระบบกระดาษแม้แต่น้อย
เม็ดเงินมหาศาลถูกทุ่มให้แก่เน็ตเวิร์คที่เอื้อแก่การต่อสายตรงสู่ลูกค้า
บ้างเป็นเครือข่ายส่วนตัว บ้างเกาะเข้าโดยสารไปกับอินเตอร์เน็ต
การปรับตัวของบริษัทไลต์-ออน เทคโนโลยี คอร์ป ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์
สัญชาติไต้หวัน เป็นกรณีรูปธรรมที่น่าจับตา
ไลต์-ออนเล่าว่า เมื่อปีที่แล้ว ลูกค้าของตนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกาเคยเรียกร้องให้จัดส่งของภายในหนึ่งเดือน
แต่ ณ ปัจจุบัน มอนิเตอร์สีต้องถึงลูกค้าภายในสองวันหลัง คำสั่งซื้อถูกส่งมา
โน้ตบุ้คต้องถึงลูกค้าภายใน 1 วัน และซีดีรอมไดร์ฟขอภายใน 4 ชั่วโมง ถ้าลูกค้าเป็นคุณโจวซิงฉือย่านโซโห
คงได้ขำกลิ้ง แต่ลูกค้าจอมโหดของไลต์-ออน คืออภิลูกค้าอย่างบริษัทคอมแพ็ค
ถ้าคำสั่งซื้องวดไหนพลาด สายสัมพันธ์ที่สรรค์สร้างแทบล้มประดาตาย จะระเห็จไปสู่มือของบริษัทคู่แข่งหน้าตาเฉย
ไลต์-ออน ลงมือปรับตัวอย่างไม่เสียดมเสียดาย เพื่อยกระดับความสามารถตอบสนองลูกค้าแบบทันอกทันใจสุดๆ
ด้านหนึ่ง บริษัทไปเปิดโรงงานและคลังสินค้าขึ้นหลายจุดในทวีปอเมริกาเหนือ
อีกด้านหนึ่ง มีการสถาปนาเน็ตเวิร์คแลกเปลี่ยนข้อมูลระบบอิเล็กทรอนิกส์ แผนงานของไลต์-ออนกำหนดว่าภายในปลายปี
2541 ระบบดิจิตอลเพื่อการสื่อสารกับลูกค้าของบริษัทจะสามารถต่อสายได้ทั้งวงจร
จากลูกค้าถึงโรงงาน ถึงคลังสินค้า ถึงฝ่ายบัญชี ถึงบรรดาผู้ผลิตชิ้นส่วนซึ่งมักเป็นผู้ประกอบการอิสระรายย่อย
ไปจนถึงฝ่ายงานขนส่งสินค้า ทั้งนี้ ไลต์-ออนเล็งผลเลิศว่า ลูกค้าจะแฮปปี้กับประสิทธิภาพอันฉับไวของระบบออน-ไลน์
เพราะบริษัทสามารถตัดทอนเวลาที่สิ้นเปลืองกับการรับคำสั่งซื้อ การประสานงานฝ่ายผลิตในโรงงานที่กระจัดกระจาย
ณ พื้นที่ต่างๆ การจัดส่งสินค้า อีกทั้งการวางบิล
กวาดตาไปทั่วๆ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ล้วนบอบช้ำจากวิกฤตทางการเงิน
แต่ในเวลาเดียวกัน ลูกค้ารายยักษ์อย่างวอลล์มาร์ต หรือฮิวเลตต์แพ็คการ์ด
ล้วนต้องการความรวดเร็วจากซัปพลายเออร์ย่านค่าแรงต่ำ มาช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการแข่งขันของพวกตน
ซึ่งปรากฏว่าซัปพลายเออร์เหล่านี้กลับดูจะอ่อนเปลี้ยเกินกว่าจะตอบสนองให้ได้
ดังนั้น หากซัปพลายเออร์รายใดเข้าครอบครองช่องว่างตรงนี้ได้ก่อน ตลาดมหาศาลย่อมกรูเกรียวเข้าสู่หน้าตักของรายนั้น
ด้วยเหตุนี้ แม้บรรดาผู้ผลิตที่เน้นการส่งออกไม่ว่าจะสายไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์
อินโดนีเซีย ฯลฯ จะไม่อยู่ในเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยแก่การทุ่มเม็ดเงินสร้างเน็ตเวิร์คชั้นหนึ่ง
เพื่อยกระดับระบบจัดการภายใน-ภายนอก แต่หากไม่ลงมือปรับตัว นอกจากที่อาจเสียลูกค้าปัจจุบัน
ยังซ้ำจะหาลูกค้าใหม่ได้ยาก ซึ่งนั่นหมายถึงความตีบตันในการแข่งขันบนเวทีระหว่างประเทศ
การโดยสารไปกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเป็นคำตอบ ที่พอจะจ่ายไหวสำหรับผู้ที่เห็นปัญหาและไม่กลัวเทคโนโลยี
การลงทุนแบบพื้นฐานที่สุดคือ การเปิดเว็บไซต์เพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการของตน
พร้อมกับเปิดการติดต่อกับผู้สนใจจากประเทศต่างๆ
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์เดี่ยวบนอินเตอร์เน็ตย่อมไม่ต่างจากแพลงตอนหน่อหนึ่งในมหาสมุทรกว้าง
การแจมไปกับเว็บไซต์ยักษ์ที่มีคุณลักษณ์ร่วมกันจึงช่วยได้มากกว่า
เว็บไซต์ของกลุ่มเอเชี่ยน ซอร์ส เซิส มีเดีย กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณานิตยสารเชิงพาณิชย์สัญชาติฟิลิปปินส์
เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ช่วยไขช่องทางสู่ลูกค้า ด้วยการเสนอบริการออนไลน์ให้ผู้ผลิตพบผู้ซื้อได้อย่างสะดวกและกว้างขวาง
ฐานข้อมูลของกลุ่มประกอบด้วยซัปพลายเออร์ 7,000 ราย กับสินค้าอีก 42,000
ยี่ห้อ ลูกค้าขาใหญ่ที่ช็อปในเว็บไซต์เจ้านี้ได้แก่ ทอยส์ อาร์ อัส และ วูลเวิร์ธ
เล่ากันว่าผู้ผลิตกระเป๋าถือสัญชาติจีนฮ่องกงรายหนึ่ง นามเฮนิลอน อินเตอร์เนชั่นแนล
อิงค์ แฮปปี้มากกับเทคโนโลยีการสื่อสารสาธารณะตัวนี้ เฮนิลอนได้รับคำสั่งซื้อผ่านเว็บเพจของ
เอเชี่ยน ซอร์สเซิส อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ซึ่งรวมถึงดีลมูลค่า 2 ล้านเหรียญ
ส.ร.อ. ที่ส่งให้ยอดขายปี 1997 ของบริษัทแตะเพดาน 13 ล้านเหรียญ ส.ร.อ.ไปเรียบร้อยแล้ว
แนวโน้มต่อไปของแวดวงพาณิชยกรรมระหว่างประเทศ ย่อมหนีไม่พ้นเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการสื่อสารโทรคมนาคมระบบออนไลน์
รัฐบาลหลายเจ้าที่อวดโอ่ว่าวิชั่นของตัวแหลมคม ได้ลงมือสร้างความได้เปรียบเชิงเทคโนโลยีขึ้นในประเทศของตนมาร่วมครึ่งทศวรรษแล้ว
ด้วยว่านั่นเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานอีกหนึ่งสาขานั่นเอง
ที่สิงคโปร์ เครือข่ายเคเบิลใยแก้วถูกวางสายติดตั้ง เพื่อเชื่อมการสื่อสารให้แก่ทุกจุดของประเทศไว้หมดแล้ว
ที่ไต้หวัน รัฐบาลตระเตรียมฟาซิลิตี้ส์รองรับการใช้อินเตอร์เน็ต เพื่อเอื้อให้บริษัทเอกชนจำนวน
50,000 ราย สามารถทำธุรกรรมเชิงธุรกิจออนไลน์ได้ภายในปี 2001 ส่วนรัฐบาลฮ่องกงท่านทุ่มทุนเข้าไปในบริษัทเอกชนรายหนึ่ง
ชื่อเทรดลิ้งค์ ซึ่งจะให้บริการส่งออกนำเข้าอัตโนมัติ พร้อมกับจะช่วยเติมชีวิตชีวาแก่เว็บไซต์ของบรรดาผู้ส่งออก
เป้าหมายของรัฐบาลฮ่องกงกำหนดว่า พาณิชยกรรมของชาวฮ่องกงจะเข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ภายในปี
2000
แนวโน้มความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวในเชิงเทคโนโลยีนี้ ไม่ได้หลุดรอดสายตาเหยี่ยวของบริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์เลย
มีประมาณการออกมาแล้วว่า เมื่อเอเชียฟื้นจากวงจรเศรษฐกิจตกต่ำรอบนี้ เอเชียจะเดินเครื่องเต็มสูบเข้าสู่ยุค
2K อันจะเป็นกาลสมัยแห่งข้อมูลข่าวสาร ดังนั้นทวีปขนาดใหญ่ที่สุดของดาวนพเคราะห์ดวงนี้
จะกลายเป็นตลาดอันมหึมาสำหรับอุตสาหกรรมด้านอุปกรณ์เน็ตเวิร์ค ซอฟต์แวร์
และธุรกิจที่ปรึกษา
บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล ดาต้า คอร์ป สะระตะตัวเลขตัวเงินชวนน้ำลายหกไว้ว่า
ยอดขายฮาร์ดแวร์ด้านเน็ตเวิร์คจะพุ่งขึ้นเป็น 4,000 ล้าน เหรียญ ส.ร.อ. ภายในปี
2002 คิดเป็น 2 เท่าของตัวเลขปัจจุบัน ในขณะที่มูลค่าการซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ตจะทะยานขึ้นจาก
160 ล้านเหรียญ ส.ร.อ. ณ ปีนี้ เป็นมากกว่า 16,000 ล้านเหรียญ ส.ร.อ. ภายในแค่
3 ปีข้างหน้า
บริษัทแอนเดอร์เซ่น คอนซัลติ้ง ซึ่งมีแผนกงานใหญ่โตในด้านอิเล็กทรอนิกส์
คอมเมิร์ซ กับบริษัทเยนเนอรัล อิเล็กทริก อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิสเซิส (จีอีไอเอส)
เป็นบางส่วนของบริษัทเจ้าแรกๆ จากโลกตะวันตกที่ลุยเข้ามาในเอเชียก่อนใคร
โดยการลงหลักปักฐานไว้ในประเทศที่มีศักยภาพสูงอย่างญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง อินเดีย
สิงคโปร์ และเกาหลี
จีอีไอเอส มีผลงานโอ่อวดได้แล้วในอินเดีย จีอีไอเอสพัฒนาเน็ตเวิร์คแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างบริษัทบนระบบอิเล็กทรอนิกส์
ให้แก่บริษัทภาจาดจ์ ออโต้ ซึ่งเป็นผู้ผลิตจักรยานยนต์สองล้อ, สกูตเตอร์
ไปจนถึงสามล้อรายใหญ่ที่สุดของอินเดีย ทุกวันนี้ ระบบตอบสนองคำสั่งซื้อของภาจาดจ์รวดเร็วขึ้น
5 เท่า อาทิ สามารถเอาวัสดุจากซัปพลายเออร์ที่อยู่คนละซีกประเทศมาได้ภายใน
3 วัน จากกระบวนการเดิมที่เคยต้องใช้เวลานานถึง 15 วัน
แลเข้ามาในแวดวงของผู้ประกอบการที่มุ่งเฉพาะแต่ตลาดในประเทศบ้าง อิเล็กทรอนิกส์
คอมเมิร์ซ แท้จริงเป็นไม้เด็ดที่บริษัทข้ามชาติใช้เอาชนะบริษัทท้องถิ่นได้อย่างถล่มทลาย
ภายในสถานการณ์ที่อุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศถูกขจัดไปอย่างรวดเร็วนั้น
บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล, ตาอิท มาร์เก็ตติ้ง แอนด์
ดิสตริบิวชั่น, แวลคัม ซูเปอร์มาร์เก็ต ฯลฯ ยอมทุ่มทุนก้อนโต เพื่อนำเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์
คอมเมิร์ซ มาบริหารระบบงานภายในแวดวงของตัวแทนจำหน่ายของตนแต่ละท้องถิ่น
เทคโนโลยีนี้ช่วยลดระยะเวลาสิ้นเปลืองด้านการจัดการ และลดต้นทุนแรงงานมนุษย์ได้อย่างมหาศาล
เช่นนี้แล้ว ผู้ประกอบการท้องถิ่นจะเอาข้อได้เปรียบใดไปแข่งขันได้เล่า ลำพังแค่การต่อสู้ด้วยประเด็นจิตสำนึกแห่งชาตินิยมคงไม่เพียงพอ
หนำซ้ำยังดูว่าจะหมดพลังไปแล้ว
โนว์-ฮาวแห่งการบริหารจัดการย่อมเป็นการลงทุนที่แพงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ในยุคสมัยที่ระบบเศรษฐกิจถูกกระหน่ำสาหัส การเอาตัวให้รอดในภาวะวิกฤตน่าจะเป็นเรื่องของการจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณ
มากกว่าเรื่องของการรัดเข็มขัดท่าเดียว เพราะกว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ กว่าชีพจรเศรษฐกิจจะฟื้น
ลูกค้าก็หนีหายไปซบคู่แข่งเสียหมดแล้ว