Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2541
วิกฤติแห่งเอเชีย โอกาสแห่งพี่ยุ่น ซามูไรดายฮาร์ดตลอดกาล             
 





โอกาสทองยิ้มรออยู่ในวิกฤติสำหรับคน 2 กลุ่มคือ พวกทุนรอนหนักแน่น กับพวกคนเหล็กสายตาเหยี่ยว และภายในวิกฤติของเอเชียรอบนี้ ผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นช่างมีคุณลักษณ์ครบถ้วน ที่จะยืนหยัดฝ่าหลุมพรางและกับระเบิดทั้งหลายได้

หลังจากที่อัดฉีดเม็ดเงินกว่า 11,000 ล้านเหรียญ ส.ร.อ.เข้ามาในเกาหลีใต้ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ บริษัทธุรกิจญี่ปุ่นทั้งหลายตระหนักดีว่า พวกตนไม่อาจจะแตกตื่นกับภาวะวิกฤติ แล้วถอยออกไปแบบขาดทุนกำไร ทางรอดที่น่าเชื่อถือที่สุดคือการเดินหน้าให้ลึกลงไปอีก ลงทุนเพิ่มเพื่อใช้ประโยชน์จากส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา กวาดเรดาร์หาซื้อของดีราคามหัศจรรย์ ที่เจ้าของเขาเพลี่ยงพล้ำยอมปล่อยถูกๆ แบบตัดช่องน้อยพอดีตัว ประเภทว่ารับซื้อกิจการอนาคตไกลจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ถูกหนี้สินรัดคอ พร้อมกันนั้นต้องใช้เงื่อนไขราคา เร่งการส่งออกผลิตภัณฑ์ลุยตลาดโลก

บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากเลือกเดินนโยบายนี้ โทเรย์ อินดัสตรีส์ ซึ่งตั้งฐานอยู่ในมาเลเซีย กำหนดจะลงทุน 265 ล้านเหรียญ ส.ร.อ. เพื่อขยายสายการผลิตให้มีความหลากหลายสูงสุด นิปปอน อิเล็กทริก ซึ่งอยู่ในมาเลเซียเช่นกัน จะอัดฉีด 40 ล้านเหรียญส.ร.อ. ผุดโรงงานเคเบิลใยแก้วขึ้นใหม่ เอ็นอีซี ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมประกาศจะเอา 185 ล้านเหรียญ ส.ร.อ. ถมเข้าไปในโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ของตนที่สิงคโปร์ พร้อมกับทุ่มอีก 80 ล้านเหรียญ ส.ร.อ. ให้โรงงานผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ฟิลิปปินส์

ในบางราย การขยายการลงทุนในเอเชียยังลุกลามถึงการลดสัดส่วนการลงทุนในประเทศแม่ด้วย อาทิ โชวา อลูมิเนียม เจ้าพ่อผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น กำหนดจะปิดสายการผลิตในญี่ปุ่นภายในเดือนตุลาคมปีนี้ พร้อมกับจะย้ายกำปั่นเงินมาลงทุนเพิ่มในฟิลิปปินส์ ด้วยแผนการขยับยอดการผลิตชิ้นส่วนของตู้เย็นในแผ่นดินตากาล็อกขึ้นอีกหนึ่งเท่า เป็นกว่า 100,000 ชิ้นต่อเดือน

ส่วนอีกรายคือ อาซาฮี เทค ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ซึ่งไปร่วมลงทุนกับฝรั่งตาน้ำข้าวในสหรัฐอเมริกา มาปีนี้ประกาศถอนการลงทุนเสียแล้ว เนื่องจากเปลี่ยนแผนจะมาลงทุนในไทยแลนด์ รายละเอียดตรงนี้ขอแถมไว้เป็นที่ระทึกว่า ผู้จัดการฝ่ายบริหารเงินของอาซาฮี เทค ให้สัมภาษณ์แก่ บิสซิเนส วีค ฉบับวันที่ 20 เมษายน 2541 บอก "อยู่ในอเมริกามา 10 ปี ตัวแดงไม่มีเปลี่ยน เอาเงินมาลงในไทย คงจะขยายตัวได้ง่ายกว่าเยอะ ยิ่งเดี๋ยวนี้ต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้แล้วด้วย"

กระแสการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยคึกคักขึ้นมาอีกวาระหนึ่ง มีการตบเท้าพาเหรดเข้าไทยอันเนื่องจากเงื่อนไขอันเอื้อเฟื้อ 2 ประการ คือ เงินบาทถูกเหมือนได้เปล่า กับสิทธิตามกฎหมายให้ต่างชาติถือหุ้นส่วนใหญ่ได้ ภายในกระแสรอบนี้ มีบริษัทธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่ลงทุนในรูปการซื้อหุ้นจากผู้ประกอบการฝ่ายไทย ตัวเลขจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทยชี้ว่า ในญี่ปุ่น 125 ราย ที่ผ่านการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนไปแล้วนั้น 40 รายเป็นบริษัทที่ระบุว่า จะเข้ามาซื้อหุ้นจากผู้ร่วมทุนชาวไทย

ตัวอย่างเช่น ฮอนด้า คาร์ส์ ควักกระเป๋าไปแล้ว 102 ล้านเหรียญ ส.ร.อ. เมื่อเดือนมีนาคม เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินให้หุ้นส่วนฝ่ายไทยได้หลุดจากบ่วงหนี้รัดคอ ส่งผลให้ตอนนี้ สัดส่วนหุ้นของฝ่ายญี่ปุ่นเจ้านี้ในบริษัทประกอบรถยนต์ในไทยเป็นเสียงข้างมากไปแล้ว ในไม่ช้าคงได้เห็นญี่ปุ่นในโตโยต้า นิสสัน และมาสด้า เดินนโยบายนี้ตามกันมาติดๆ

แม้แต่ในอินโดนีเซีย หมู่เกาะที่ปัญหาค่าเงินแปรปรวนยังสาหัส กับในเกาหลีใต้ แผ่นดินแสลงใจของชาวอาทิตย์อุทัย ผู้ประกอบการสัญชาติญี่ปุ่นบางราย ยังไม่วายจะหอบเงินเยนไปใช้ประโยชน์จากภาวะค่าเงินดิ่งเหวในประเทศเหล่านั้น อาทิ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซูมิโตโม่ เคมีเคิล ซื้อหุ้น 50% ในบริษัทตุงวู เพียว เคมีเคิล มูลค่า 33.5 ล้านเหรียญ ส.ร.อ. จากผู้ประกอบการฝ่ายเกาหลีใต้ ส่งผลให้ซูมิโตโม่ถือหุ้นในบริษัทนี้ทั้งสิ้น 90% และตานาเบ้ เคมีเคิล อินดัสตรี กำหนดจะสร้างโรงงานใหม่ในอินโดนีเซีย เพื่อผลิตสีอุตสาหกรรมปริมาณเดือนละ 50 ตันภายในปีนี้

บนเส้นทางเอาตัวรอดให้ปลอดพ้นภาวะล้มละลายอันเนื่องจากวิกฤตเอเชียรอบนี้ ผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นย่อมเลือกให้ตลาดอเมริกาเหนือและยุโรป เป็นพื้นที่เป้าหมายรองรับผลผลิตจากบริษัทลูก ที่กระจายอยู่ในบรรดาประเทศที่มีปัญหาค่าเงินอ่อนตัวรุนแรง เพราะอเมริกาเหนือและยุโรปยังมีกำลังซื้อสูงและจะซื้อได้อย่างเติบมือ เพราะค่าเงินแข็งขึ้นเชิงเปรียบเทียบ

แค่สมัยที่ยังไม่เกิดวิกฤติค่าเงิน มูลค่าของสินค้าส่งสู่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผลผลิตของบริษัทญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ทำยอดไว้ตั้ง 70,000 ล้านเหรียญ ส.ร.อ. แล้ว แนวโน้มต่อไปในอนาคตจะขนาดไหน สถาบันเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงโตเกียว ให้คำตอบไว้คร่าวๆ ว่า ในปี 1998 ยอดส่งออกดังกล่าวจะขยายตัวขึ้น 30% งานนี้ผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกาย่อมเป็นกลุ่มที่แบกรับความกดดันไปเต็มๆ

กรณีของบางกอก โคมัตสึ บริษัทร่วมลงทุนระหว่างญี่ปุ่นกับไทย ที่ตั้งฐานอยู่ในเมืองเทวดาแห่งภูมิภาครูปทรงขวาน เป็นกรณีร้อนไปหมาดๆ เมื่อปลายปีที่แล้ว บริษัทเพิ่งจะอ่วมจากพิษค่าเงินบาท ด้วยว่าลูกค้าท้องถิ่นที่เคยใช้เครื่องจักรกลหนักของบริษัท พากันระงับโครงการและบอกเลิกคำสั่งซื้อ ทำให้เครื่องตักดินจำนวน 70 ตัว กับต้นทุน 4.9 ล้านเหรียญ ส.ร.อ. ต้องค้างเติ่งแทงใจผู้บริหารบริษัท เดือดร้อนให้คนงาน 80 ชีวิตจากทั้งสิ้น 140 ราย ต้องสวมชีพจรเข้าที่เท้าบ่ายหน้ากลับภูมิลำเนา เพราะโรงงานย่านชานกรุงถูกปิดตายไม่มีกำหนด

หนึ่งไตรมาสให้หลัง บางกอก โคมัตสึ สะบัดปีกคึกคัก ทะยานขึ้นสู่เมฆขาว ด้วยคำสั่งซื้อปึกใหญ่ลัดฟ้าตรงมาจากสหรัฐอเมริกา โรงงานอันเงียบเหงาตื่นจากนิทรา แต่ครั้งนี้ปรับโครงสร้างการผลิตเสียใหม่ ให้ต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด แต่สามารถเร่งการผลิตให้สูงที่สุดเพื่อป้อนตลาดอเมริกา ให้ได้ล็อตละหลายร้อยตัว

บางกอก โคมัตสึ มิได้โดดเดี่ยวอยู่บนเส้นทางการสร้างกำไรจากวิกฤติเอเชีย ยังมีบริษัทญี่ปุ่นอื่นอีกมากที่เดินนโยบายนี้ บริษัทโตคิโกะ ผู้ผลิตอุปกรณ์กันสะเทือนป้อนโรงงานประกอบรถยนต์ในไทย เดี๋ยวนี้เริ่มส่งออกไปป้อนโรงงานสหรัฐอเมริกาแล้ว ตกเดือนละ 62,000 ชุด บริษัทมัตซูชิตะ พรีซิชั่น อินดัสเตรียล ในมาเลเซีย เพิ่มยอดผลิตโทรทัศน์สี 40% มา ตั้งแต่ปีที่แล้ว ส่วนใหญ่ที่ผลิตเพิ่มนี้เจาะจงส่งไปป้อนตลาดอเมริกัน

บนเส้นทางการสร้างธุรกิจและพัฒนาอุตสาหกรรมนานกว่าครึ่งศตวรรษของผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่น หนาวและร้อนหลายหลากรูปแบบได้วนเวียนมาท้าทายพวกเขาไม่รู้สักกี่รอบ เดนสงครามผู้ยิ่งใหญ่และรุ่มรวยเหล่านี้เฉียดความตายและการล้มละลายมาจนเชี่ยวชาญ บทเรียนสำคัญที่ตราตรึงคือ การสร้างความพร้อมรอวันฟ้าใส

เมื่อเอเชียผงาดกลับขึ้นมา ซามูไรดายฮาร์ดจะอยู่ตรงนั้น คอยขายสินค้าและบริการให้แก่ผู้บริโภคที่หวนกลับมาจับจ่ายใช้สอยอีกครั้งเพียง แต่รอบนี้ พวกเขาจะสยายปีกเข้ายึดกุมตลาดได้เบ็ดเสร็จกว่าเดิม และจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบรรดาบริษัทจำนวนมหาศาล ทั่วเอเชียอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน วิกฤตเช่นนี้แหละ ญี่ปุ่นเธอถนัดนักที่จะแปรให้เป็นโอกาส เป็นผลประโยชน์แก่ตัวเอง

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us