|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กรกฎาคม 2547
|
|
มีคนตั้งข้อสังเกตว่า คงเป็นหนังสือ เรื่อง Under The Tuscan Sun เขียนโดย Frances Mayes กระมัง จึงทำให้นักท่อง เที่ยวอเมริกันพากันมาที่ทัสคานีมากขึ้น สมมติฐานนี้มาจากการได้ยินเสียงพูดคุยซึ่งสำเนียงส่อภาษาว่าเป็นอเมริกันนั้นมีมากมายหลายกลุ่ม โดยเฉพาะที่เมืองคอร์โทนา เมืองที่ Frances Mayes กับครอบครัวไปซื้อบ้าน ซื้อที่ปลูกองุ่น ปลูกมะกอก แล้วเอาประสบการณ์ของเธอมาเขียนเล่าให้ฟัง เป็นหนังสืออ่านสนุก อ่าน สบาย และขายดีมากเล่มหนึ่ง
ทัสคานี หรือในภาษาอิตาเลียนเรียกว่า ทอสคานา เป็นแคว้นหนึ่งทางตอนกลางค่อนไปทางเหนือของประเทศอิตาลี เราเดินทางมาถึงเซียนา (Siena) จังหวัดหนึ่งในแคว้นทัสคานี ในตอนกลาง เดือนพฤษภาคม แสงอาทิตย์เจิดจ้า ท้องฟ้าใส อากาศเย็นกำลังพอสบาย ภูมิภาพที่เจนตาของเขตนี้คือ เนินทุ่งหญ้าที่ทอดตัวต่อเนื่องกันประดุจคลื่นกับต้นสนไซเปรส ยามนั้นดอกไม้ป่าอย่างป๊อปปี้สีแดงกับดอกสีเหลืองที่ไม่รู้ชื่อบานกันสะพรั่ง
ภาพที่เห็นผ่านกระจกหน้าต่างรถขณะเราเดินทางจากเมืองเซียนาไปเมืองซาน ฟิลิปโป ทำให้เราอยากหยุดเวลาเอาไว้ เพื่อนร่วมทางบอกว่า ไม่กล้ายกกล้องขึ้นถ่ายรูป เพราะรู้ว่ากล้องดิจิตอลเล็กๆ ที่เธอใช้ไม่อาจเก็บภาพได้อย่างที่ตากับใจเห็น ทั้งๆ ที่ช่วงการเดินทางที่ผ่านมา เธอถ่ายทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้จนเมมโมมรี่สติ๊กขนาดความจุ 256 เมกะไบต์ก็เอาไม่อยู่ ต้องหาร้านถ่ายข้อมูลลงแผ่นดิสก์ และต้องซื้อเมมโมรี่สติ๊กเพิ่มอีกหนึ่งอัน
แบคยี ซาน ฟิลิโป (Bagni San Filippo) เป็นหนึ่งในเมืองน้ำแร่ร้อนของแคว้นทัสคานี จุดหมายเราอยู่ที่โรงแรมเล็กๆ ชื่อ Hotel Terme San Filippo ทันทีที่ประตูรถเปิดออก กลิ่นกำมะถันโชย ปะทะจมูก กลิ่นปกติของเมืองน้ำแร่ร้อน ไม่รุนแรงจนรำคาญหรือทนไม่ได้
เจ้าของโรงแรมเป็นสุภาพสตรีอิตาเลียนร่างเล็ก ชื่อเลติเซีย โรงแรมนี้เป็นกิจการดั้งเดิมของคุณพ่อเธอ ก่อนหน้านี้เธอก็ทำงานอื่น เพิ่งจะเข้ามารับช่วงบริหารต่อร่วมกับน้องสาวเมื่อไม่นานมานี้ ลูกชายของเลติเซียซึ่งโตเป็นหนุ่ม มีครอบครัวไปแล้ว บอกว่า หัวเด็ดตีนขาด จะไม่ขอรับมรดกนี้ต่อ เธอเล่าให้ฟังด้วยสีหน้าหนักใจ ใครจะไปรู้อนาคต เธอเองก็ทำงานอื่นมาก่อน แต่ในที่สุดจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ บัดนี้เธอก็ต้องยืนอยู่ตรงนี้ พยายามเต็มที่ที่จะดำรงกิจการของครอบครัว และหาวิธีที่จะปรับปรุงมันให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป
โรงแรม Terme San Filippo เป็นโรงแรมสปาขนาดเล็ก ไม่หรูหรา ห้องพักสวยเรียบๆ แต่วิวจากห้องที่มองไปเห็นเนินทุ่งหญ้าเขียวขจี ทำให้อย่างอื่นหมดความหมาย
วันที่เราไปถึงเป็นวันเสาร์ สระน้ำแร่ร้อนขนาดใหญ่ คลาคล่ำด้วยผู้คน ส่วนใหญ่เป็นชาวอิตาเลียนพาครอบครัวมาพักผ่อน สระนี้เหมือนสระว่ายน้ำกลางแจ้งปกติ ความลึกของสระก็ไล่ระดับกันไปจนลึกสุดอยู่ที่ประมาณสองเมตรกว่า เธอบอกว่าน้ำในสระอุ่นมาก ที่จริงเราเตรียมชุดว่ายน้ำไปเผื่อมีโอกาสได้ลงไปว่ายเล่น แต่เวลาไม่พอ เลยพลาด โอกาส น่าเสียดาย เห็นสระน้ำแร่ร้อนที่นี่แล้ว อดนึกถึงบ่อน้ำแร่ร้อนของญี่ปุ่นไม่ได้ ที่ญี่ปุ่นบ่อน้ำแร่ร้อนของเขาถ้าอยู่กลางแจ้ง ออกแบบให้เป็นธรรมชาติ ดูสวยงามกลมกลืน ไปกับสิ่งแวดล้อมมาก ถ้าเป็นบ่อในอาคารก็จะเป็นสี่เหลี่ยมธรรมดาๆ แต่จะเป็นบ่อไม่ลึก เอาไว้สำหรับนั่งแช่สงบๆ หลังจากต้องอาบน้ำขัดขี้ไคลอย่างสะอาดเอี่ยมแล้ว และห้ามใส่เสื้อผ้าเวลาลงแช่ในบ่อน้ำร้อนเด็ดขาด นี่เป็นประเพณีของญี่ปุ่นเขา
นอกจากสระน้ำแร่ร้อนกลางแจ้งแล้ว โรงแรมยังมีโปรแกรมการรักษาโรคด้วยน้ำคือเป็น สปา หรือ Thermal Treatment ในความหมายแบบดั้งเดิมจริงๆ คือทางโรงแรมจะมีหมอสำหรับตรวจร่างกาย โรคที่รักษาก็จะเป็นพวกไขข้ออักเสบ หลอดลมอักเสบ หู คอ จมูก และโรคผิวหนังบางชนิด
เลติเซียเล่าให้ฟังว่า แถวทัสคานีจะมีดินพิเศษ สำหรับใช้พอกตัวให้ประโยชน์ทั้งในแง่ความงามและการรักษาโรค แต่ก่อนจะเอาโคลนมาใช้ได้ ต้องผ่านกระบวนการหมัก การกรองอีกหลายขั้นตอน เลติเซียอยากได้หมอนวดแผนไทยไปประจำที่โรงแรม แต่ตอนนี้ยังติดขัดเรื่องกฎระเบียบของทางประเทศอิตาลีเอง ที่ค่อนข้างจะกีดกันคนต่างชาติ ไม่อยากให้เข้าไปทำงาน แม้แต่การเปิดร้านอาหารที่ไม่ใช่อาหารอิตาเลียนก็เป็นเรื่องยาก เราจึงแทบไม่พบร้านอาหารไทยหรืออาหารของชาติอื่นๆ ในอิตาลี ร้านอาหารจีนก็มีไม่มาก และขอยืนยันว่า อาหารจีนไม่ว่าจะเป็นร้านไหนรสชาติใช้ไม่ได้เลย ลองมาเยอะแล้ว นอกเสียจากว่า คิดถึงข้าวและกับข้าวในแบบที่คุ้นเคย ก็ต้องยอมทนให้สักมื้อสองมื้อ
อ้อ...แถมท้ายอีกนิดว่า อาหารกลางวันที่เรากินกันที่โรงแรมซานฟิลิปโป อร่อยมาก และสำหรับชาวแคว้นทัสคานีแล้ว ส่วนประกอบสำคัญสำหรับการปรุงอาหารของเขาก็คือน้ำมันมะกอก
ทัสคานีเป็นแหล่งหนึ่งที่ปลูกมะกอกและผลิตน้ำมันมะกอกยี่ห้อดีๆ มากมาย แต่สำหรับจุยเซปเป กรัปโพลินี (Giuseppe Grappolini) แล้ว การทำน้ำมันมะกอกของเขาเป็นยิ่งกว่าการต้องทำเพราะเผอิญได้รับมรดกตกทอดมาจากครอบครัว สำหรับเขาการผลิตน้ำมันมะกอกเป็นทั้งศาสตร์และศิลปะ ต้องใช้ทั้งความรัก ความอดทน ความคิดสร้างสรรค์ มีทั้งประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ผสมผสานกันอยู่ในงานของเขา
โรงงานผลิตน้ำมันมะกอกของกรัปโพลินีอยู่ในหมู่บ้าน ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างรอยต่อของสามจังหวัดสำคัญคือฟลอเรนซ์ เซียนาและอเร็ซโซ ตระกูลนี้อาศัยอยู่ที่นี่มากว่าพันปีแล้ว จุยเซปเปเป็นทายาทรุ่นที่สามที่ดำเนินกิจการการทำน้ำมันมะกอก
น้ำมันมะกอก Grappolini ต่างไป จากน้ำมันมะกอกอื่นคือ เขาจะนำ essen-tial oil หรือที่เราแปลเป็นไทยว่าน้ำมันหอมระเหย ซึ่งสกัดจากสมุนไพร เช่น พริก กระเทียม พริกไทย ผิวส้ม ผิวมะนาว ใบโหระพา ฯลฯ มาผสมลงในน้ำมันมะกอก ไม่ใช่การนำเอาพริกเป็นเม็ดๆ หรือกระเทียมเป็นกลีบๆ มาแช่ในน้ำมันแล้วเอาใส่ขวดขายอย่างที่เราเคยเห็น
ความเป็นศาสตร์จึงอยู่ที่ทำอย่างไร จึงจะสกัด essential oil จากพืชสมุนไพร หรือแม้กระทั่งดอกไม้ให้ได้คุณภาพที่ดีที่สุด เพื่อนำมาผสมในน้ำมันมะกอกของเขา
จุยเซปเปยกตัวอย่างให้พวกเราฟังขณะนั่งรับประทานอาหารกลางวัน ปรุงโดยฝีมือของเขาเองว่า เขาเคยทดลองนำพริกที่ปลูกจากแหล่งต่างๆ มาสกัด essential oil พบว่าพริกที่ปลูกในซูดานใช้ได้ดีที่สุด เพราะความชื้นในพริกมีต่ำ ทำให้ได้น้ำมันจากพริกที่มีคุณภาพสูง ความรู้เช่นนี้ไม่อาจได้มาง่ายๆ ต้องศึกษา ต้องทดลอง หรือลองผิดลองถูกอยู่นาน ถ้าไม่รักจริงคงต้องถอดใจ นี่พูดเฉพาะน้ำมันหอมระเหยเท่านั้น ยังไม่รวมการผลิตน้ำมันมะกอกที่แม้จะมีความรู้ที่สะสมถ่ายทอดกันมาตั้งแต่เมื่อ 6,000 ปีก่อน ก็ยังต้องอาศัยเทคโน โลยีและความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การอาหารสมัยใหม่เพื่อหาวิธีทำน้ำมันมะกอกที่ดีที่สุดด้วย
ตอนนี้น้ำมันหอมระเหยสำหรับผสมในน้ำมันมะกอกของเขามีประมาณ 11 ชนิดแล้ว รวมทั้งจากดอกกุหลาบด้วย วันนั้นเราได้ชิมน้ำมันมะกอกผสม essential oil สกัดจากดอกกุหลาบนานาพันธุ์แล้ว ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่ามันช่างไปด้วยกันได้อย่างยอดเยี่ยมจริงๆ
โรงงานน้ำมันมะกอก Grappolini เป็นโรงงานขนาดเล็ก แต่เครื่องจักรทันสมัยถูกออกแบบตามความต้องการของผู้ผลิตซึ่งในกรณีนี้ก็คือ จุยเซปเป ความที่น้ำมันมะกอกของเขามีสูตรผสมหลายสูตรหลากหลาย ความยืดหยุ่นของเครื่อง จักรในการผลิตจึงเป็นสิ่งจำเป็น
เช่นเขาสามารถสั่งคอมพิวเตอร์ให้บรรจุน้ำมันมะกอกชนิดใดชนิดหนึ่งลงขวดได้ ตั้งแต่จำนวนสิบไปจนถึงเป็นร้อยๆ ขวดได้ ถ้าจะเปลี่ยนเป็นน้ำมันสูตรผสมอื่นๆ ก็เพียงสั่งการผ่านคอมพิว เตอร์ให้เครื่องล้างตัวมันเองจนสะอาดหมดจดเพื่อบรรจุน้ำมันสูตรผสมอื่นต่อไปได้ หัวใจสำคัญของเครื่องจักรขณะบรรจุน้ำมันคือ จะต้องไม่ให้มีอากาศอยู่ในขวดเลย แม้ที่ว่างระหว่างฝาจุกพลาสติกด้านในกับฝาเกลียวก็ต้องเป็นสุญญากาศ เพราะอากาศคือตัวการที่ทำให้น้ำมันเสื่อมคุณภาพเร็วขึ้น
จุยเซปเปอ้างว่า น้ำมันมะกอก Grappolini ของเขาสามารถเก็บไว้ได้อย่างน้อย 3 ปีโดยที่คุณภาพยังเหมือนเดิม ขวดน้ำมันรูปร่างอรชรงดงามกับป้ายสินค้าที่ปะอยู่บนขวดก็ถูกออกแบบไว้อย่างสวยงาม
ด้านหน้าโรงงานน้ำมันมะกอก มีมุมปรุงอาหารเป็นแบบครัวเปิด มีโต๊ะให้นั่งกินอาหารได้อยู่ 4-5 โต๊ะ อาหารอร่อยตามเคย กินข้าวเสร็จก็ซื้อน้ำมันมะกอกติดไม้ติดมือกลับบ้านมา คนที่ชอบน้ำมันมะกอกอย่างเรา มีอาการอยาก ซื้อไปหมด แต่น้ำมันมะกอกดีๆ ราคาแพง เอาเรื่องเหมือนกัน ซื้อน้ำมันแล้วอย่าลืมซื้อน้ำส้มบาลซามิค (Balsamic) กลับมาด้วย
ถ้าเบื่อเที่ยวพิพิธภัณฑ์ โบราณสถานหรือซากปรักหักพัง ซึ่งอิตาลีมีเยอะ มาก หรือเที่ยวจนเหนื่อยอ่อนแล้ว ลองเปลี่ยนมาเที่ยวเมืองน้ำแร่เล็กๆ สำหรับคนที่สนใจเรื่องสุขภาพซึ่งบวกความงามเข้าไปด้วยได้โดยที่ราคาค่างวดไม่แพงนัก เพราะไม่ใช่ระดับ High-end ไวน์ Chianti ที่มีชื่อเสียงก็อยู่ในแคว้นนี้มีโรงงานไวน์ โรงงานน้ำมันมะกอกให้ดู ให้ชิม ไม่อยาก ดูโรงงาน ลำพังเดินเล่นในหมู่บ้าน เช่าโรงแรมเล็กๆ อยู่ กินอาหารอร่อยๆ จิบไวน์ แล้วเข้านอน ก่อนเคลิ้มหลับไปพร้อมเสียงพูดคุยหรือเสียงกุบกับของรองเท้ากระทบพื้นถนนปูด้วยหินของผู้คน ที่ค่อยๆ จางหายไปในความมืด ยามเดินผ่านถนนแคบใต้หน้าต่างห้องนอนเรา เท่านี้ก็พอ
หมายเหตุ
ขอขอบคุณ
คุณจันทร์เพ็ญ วีรวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงาน Thai Trade Center ณ กรุงโรม
และคุณวิกรม เพ็ญศิริ ผู้ประสานงานที่ทำให้ผู้เขียนได้รู้จักสถานที่ทั้งสองแห่งดังกล่าว
|
|
|
|
|