ช่วงที่เศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิกเติบโตอย่างสุดขีด ทำให้ถนนทุกสายของบรรดายักษ์ใหญ่
เจ้าของธุรกิจอินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี (ไอที) มุ่งสู่ดินแดนแห่งนี้เท่านั้น
ไทยเองก็เป็นหนึ่งในเป้าหมาย เพราะจากเศรษฐกิจที่โตแบบพุ่งพรวด ก็เป็นเหมือนมนต์เสน่ห์ที่เรียกเอาบรรดาเจ้าของธุรกิจไอทีให้เข้ามาลงทุนในไทยกันเป็นแถว
พอมาถึงในช่วงเวลาทองของเอเชียเริ่มหมดลง จากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่ทำเอากิจการต่างๆ
ของเมืองไทยล้มพับไปจำนวนมาก แต่ดูเหมือนว่าบรรดายักษ์ใหญ่ไอทีก็ยังไม่ล่าถอยไปจากเมืองไทย
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา บรรดาผู้บริหารระดับสูงของไอทีต่างทยอยเดินทางมาเมืองไทยกันอย่างคึกคัก
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ เมืองไทยไม่เคยมีโอกาสได้ต้อนรับบรรดาเหล่าบิ๊กบอส
ผู้ที่ติดอันดับบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของโลกเหล่านี้แม้แต่น้อย
เริ่มตั้งแต่ลาร์ส แรมควิสท์ ประธานคณะกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทอีริคสัน
หนึ่งในผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ของโลก จากประเทศสวีเดนเดินทางมาเมืองไทย
เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 90 ปีในการดำเนินงานในเมืองไทย
แรมควิสท์ ไม่ได้เพียงพบปะลูกค้าทั้งเก่าและใหม่เท่านั้น แต่ยังเข้าพบบุคคลสำคัญๆ
ในคณะรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย และนักเศรษฐศาสตร์สำคัญ
เพื่อประเมินสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจของเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานภาพของบรรดาลูกค้าของอีริคสัน
ในช่วง 4-5 ปีมานี้ ธุรกิจของอีริคสันขยายตัวค่อนข้างมาก โครงการสื่อสารโทรคมนาคมสำคัญหลายโครงการเลือกใช้อุปกรณ์ของอีริคสัน
ไม่ว่าจะเป็นองค์การโทรศัพท์, การสื่อสารแห่งประเทศไทย รวมถึงโครงการโทรศัพท์
1 ล้าน เลขหมายของทีทีแอนด์ที และระบบโทรศัพท์มือถือของชินวัตร รวมทั้งเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์มือถือ
ซึ่งอีริคสันโหมกระหน่ำ บุกตลาดอย่างหนัก จนสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดไปจากโนเกียได้ไม่น้อย
นับเป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่เครก บาร์เรตต์ ประธานและหัวหน้าสำนักปฏิบัติการ
อินเทล คอร์ปอเรชั่น ผู้ผลิตชิปอันดับหนึ่งของโลก เจ้าของสโลแกน "อินเทล
อินไซด์" เดินทางมาเมืองไทย
การมาเมืองไทยของบาร์เรตต์ ย่อมไม่ธรรมดา เพราะบาร์เรตต์เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นซีอีโอ
แทนแอนดี้ โกรฟ ซึ่งบาร์เรตต์นับเป็นคนแรกที่ได้รับตำแหน่งสูงสุดนี้ นอกเหนือจากกอร์ดอน
มัวร์, โรเบิร์ต เอ็น นอยซ์ และแอนดี้ โกรฟ แถมการรับตำแหน่งของเขา ยังถูกท้าทายจากการที่อินเทลถูกยื่นฟ้องจากดิจิตอล
อีควิปเมนท์ คอร์ป และไซริกซ์ คอร์ป ในข้อหาละเมิดสิทธิบัตร
บาร์เรตต์ถูกนำไปเปรียบเทียบกับแอนดี้ โกรฟ ผู้ซึ่งเต็มไปด้วยชีวิตชีวา
ความเป็นคนอารมณ์ร้อนและพูดเก่ง ตรงกันข้ามกับบุคลิกอันเคร่งขรึมของบาร์เรตต์
ที่ชอบคิดวิเคราะห์ 23 ปีเต็มที่บาร์เรตต์ไต่เต้าขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของอินเทลอย่างเงียบๆ
ท่ามกลางความยิ่งใหญ่ของกอร์ดอน มัวร์ และแอนดี้ โกรฟ
แม้ว่าจะขาดบุคลิกภาพอันโดดเด่นบางอย่างก็ตาม แต่บาร์เรตต์ได้ชื่อว่าเป็นคนที่น่าเชื่อถือ
เป็นผู้ที่สามารถรับเอาวิสัยทัศน์ของแอนดี้ โกรฟ มาและสานต่อจนถึงจุดสำเร็จ
และที่สำคัญเขาได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ทรหดคนหนึ่ง
ห้องบอลรูม โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ คลาคล่ำไปด้วยคนในแวดวงไอทีของเมืองไทย
ที่จุคน 500 คน เพื่อรอฟังวิชั่นของซีอีโอคนใหม่ สะท้อนแนวคิดของเขาที่มีต่ออุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในเรื่องของอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในเชิงพาณิชย์ (E-COMMERCE)
อันจะเป็นแนวทางที่อินเทลจะมุ่งไป รวมทั้งการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ที่จะมีขึ้นในอนาคต
ซึ่งบาร์เรตต์ได้สาธิตวิวัฒนาการของคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะเครื่องพีซีในอนาคตที่จะทำงานได้
โดยใช้เสียงในการออกคำสั่ง แทนการใช้เมาส์ และยังแปลภาษาได้
การมาในครั้งนี้บาร์เรตต์ ยังเชื่อมความสัมพันธ์ระยะยาวในโครงการของรัฐ
โดยลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ให้การสนับสนุนฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ และการฝึกอบรมเพื่อใช้ในโครงการซอฟต์แวร์ปาร์ค
ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
(เนคเทค)
ภายใต้บันทึกข้อตกลงนี้ อินเทลจะมอบเครื่องเซิร์ฟเวอร์ 5 เครื่อง และพีซีแบบตั้งโต๊ะ
15 เครื่อง ที่ใช้ชิปเพนเทียมทู โปรเซสเซอร์ ความเร็ว 33 เมกะเฮิรตซ์ มูลค่า
125,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อใช้ในการสร้างห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีสถาปัตยกรรมอินเทล
เพื่อสนับสนุนการพัฒนาซอฟต์แวร์พื้นฐานที่ใช้สถาปัตยกรรมของอินเทล
นอกจากนี้จะรวมไปถึงการเกิดซอฟต์แวร์ปาร์คเสมือนจริง (VIRTUAL SOFTWARE
PARK) ซึ่งจะเป็นเว็บไซต์แบบอินเตอร์แอคทีฟ ที่จะทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ
และผู้ขายซอฟต์แวร์สามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกัน และยังเป็นเหมือนกับตลาดนัดระหว่างผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และลูกค้า
"การที่อินเทลมอบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ให้กับโครงการนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมมือระหว่างกันในระยะยาว"
ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เนคเทค กล่าว
ในขณะที่บาร์เรตต์ เลือกลงทุนในระยะยาวอย่างโครงการซอฟต์แวร์ปาร์ค อันเป็นส่วนหนึ่งของการขยายอาณาเขตของสถาปัตยกรรมของอินเทลในระยะยาว
เจฟฟ์ พาพาวส์ ประธานและกรรมการบริหารสูงสุด หรือ ซีอีโอ ของโลตัส ดีเวลลอปเม้นท์
ผู้ผลิตและจำหน่าย ซอฟต์แวร์ "โลตัสโน้ต" อันลือลั่น เดินทางมาเมืองไทย
และเลือกที่จะสานฝันร่วมกับเจ้าของโครงข่ายอย่างกลุ่มยูคอม
"3 ปีที่แล้ว เศรษฐกิจของอเมริกาแย่มาก ในขณะที่เอเชียเติบโตมาก แต่มาถึงเดี๋ยวนี้
เศรษฐกิจของอเมริกาก็กระเตื้องขึ้น ซึ่งใน 30% ของการเติบโตทางเศรษฐกิจมาจากการลงทุนทางด้านไอที
เราเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอเมริกาก็จะเกิดขึ้นเช่นเดียวกับในไทย"
พาพาวส์ กล่าว
แน่นอนว่า อัตราการเติบโตทางด้านรายได้ในเมืองไทยของโลตัสในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 135% ย่อมไม่ใช่สิ่งที่โลตัสจะมองข้ามไปได้
สำหรับซอฟต์แวร์ด้านเครือข่ายแล้ว การร่วมกับเจ้าของเครือข่ายโทรคมนาคมในการสร้างประโยชน์สูงสุดนั้นเป็นสิ่งจำเป็น
เพราะหมายถึงการขยายขอบข่ายสินค้าพ่วงไปกับเครือข่ายสื่อสารที่โยงใยอยู่ทั่วประเทศ
ดังเช่นที่โลตัสเคยทำร่วมกับยักษ์สื่อสาร 20 ราย เช่น บริติชเทเลคอม สิงคโปร์เทเลคอม
ไนเน็กซ์ เบลล์ แอตแลนติก ยูเอสเวสต์ และเทเลคอมมาเลเซีย
โครงการเน็ต เซอร์วิส โพรไวเดอร์ คือ โครงการที่จะเกิดขึ้นภายใต้การร่วมมือระหว่างยูคอม
และโลตัส ซึ่งทั้งสองจะต้องทำแผนธุรกิจออกมาภายใน 6 เดือนนับจากเซ็นสัญญา
รูปแบบการให้บริการเบื้องต้น จะเป็นการให้บริการเอาท์ซอสซิ่งทางด้านไอที
เพื่อให้บริการผ่านโครงข่ายของกลุ่มยูคอมไปยังกลุ่มเป้าหมาย โดยจะใช้เทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ของโลตัสเป็นเครื่องมือในการจัดการ
รวมถึงการจัดทำเป็นเทรนนิ่งเซ็นเตอร์ให้กับลูกค้า และการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่จะเกิดขึ้นจากการร่วมมือของทั้งสองกิจการนี้ด้วย
หากสิ่งที่ทั้งสองจะทอฝันร่วมกันประสบความสำเร็จ ทั้งโลตัสและยูคอมก็คงได้ประโยชน์ร่วมกันไปเต็มๆ
เช่นเดียวกับอินเทล และอีริคสัน
นี่คือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในแวดวงธุรกิจไอที ที่แม้เศรษฐกิจจะถดถอยลงแบบดำดิ่ง
แต่ดูเหมือนว่ามหัศจรรย์ของเอเชียยังคงคุกรุ่นอยู่ในใจ ทำให้บรรดายักษ์ไอทียังไม่ยอมละทิ้งโอกาสนี้เสียทีเดียว