เงินบาทเสื่อมค่า ดอกเบี้ยแพง เงินในระบบเหือดแห้งลงทุกที ทุกคนเริ่มปลงและหมดหวัง
ดั่งฟ้าลงมาโปรดเมื่อ ดร.ปฐม วงศ์สุรวัฒน์ ดึง SFF เข้ามาในเมืองไทยได้สำเร็จ
การค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ส่งออกของ SFF จะช่วยเติมเต็มให้ระบบการค้าระหว่างประเทศของไทยไหลลื่นมากขึ้น
ซึ่งหมายถึงการไหลเวียนของเงินในระบบกระเตื้องดีขึ้นได้ในที่สุด หากแต่เพียงแบงก์ไทยใจกล้าพอ
ภาพคล่อง ก้างชิ้นใหญ่ที่ตำคอคนไทยจนกลัดหนองอักเสบลุกลาม อาจถึงตายได้
ถ้าไม่ได้รับการรักษา เยียวยาอย่างทันท่วงที ทุกวันนี้ทุกวง การธุรกิจต่างยืนอยู่บนความเสี่ยง
เสี่ยงที่จะล้มละลาย แม้กระทั่งธนาคารพาณิชย์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นภาคธุรกิจที่ทางการให้การคุ้มครองปกป้องอย่างแน่นหนาก็ยังเลี่ยงความเสี่ยงนี้ไม่พ้น
NPL หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เป็นตัวชี้ถึงความเสี่ยงนี้ได้เป็นอย่างดี
ก็เพราะเหตุนี้นี่เองที่ทำให้แบงก์ไทยช่วงนี้ลดการปล่อยสินเชื่อทุกประเภทน้อยลงจนแทบจะเรียกว่าหยุด
แม้กระทั่งการออกหนังสือยืนยันการจ่ายเงิน (Letter of Credit : L/C) ให้กับผู้ส่ง
ออกก็ยังเป็นเรื่องที่ยากมากในตอนนี้
'กรุงศรีอยุธยายังไม่สิ้นคนดี' ดูจะเป็นจริงได้เมื่อกงสุลกิตติมศักดิ์
ไทย ประจำเมืองบอว์โดวซ์ ประเทศฝรั่งเศส ดร.ปฐม วงศ์สุรวัฒน์ แม้จะละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนไปลงหลักปักฐานที่โน่น
แต่ความรักและรับผิดชอบที่มีต่อแผ่นดินเกิดยังมีอยู่อย่างเปี่ยมล้น โดยได้พยายามหยิบยื่นความช่วยเหลือที่พอจะทำได้ตามศักยภาพความสามารถ
เพื่อช่วยหาทางเยียวยาปัญหาวิกฤติให้แก่ภาคส่งออกของไทยที่กำลังประสบชะตากรรมอย่างที่ไม่ควรจะเป็น
เพราะภาคธุรกิจในยามนี้อาจจะเป็นเพียงภาคธุรกิจเดียว ที่มีศักยภาพในการสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศได้ดีที่สุดในสภาวะเงินฝืดอย่างนี้
ในทางทฤษฎีการที่เงินบาทอ่อน ค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลสำคัญๆ ของโลก
โดยเฉพาะดอลลาร์สหรัฐ นั่นก็หมายความว่าสินค้าที่ผลิตได้ในเมืองไทยย่อมราคาถูก
โอกาสที่ต่างประเทศจะสั่งนำเข้าสินค้าจากไทยจึงมีความเป็นไปได้สูง ทว่าในทางปฏิบัติหาเป็นเช่นนั้นไม่
เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผู้ส่งออกไทยกลับต้องประสบกับอุปสรรคที่ไม่คาดฝันมาก่อน
เมื่อแบงก์ไทยพร้อมใจกันบีบการปล่อย สินเชื่อทางการค้าให้แก่ผู้ส่งออกตลอดจนถึงการออกหนังสือยืนยันการจ่ายเงิน
(L/C) เพราะเกรงหนี้จะสูญ ซึ่งจะต้อง กลายเป็นภาระของแบงก์ที่จะต้องหาเงิน
เข้ามาตั้งสำรองในที่สุด
ที่ผ่านมา ผู้ส่งออกไทยได้ประสบปัญหาธนาคารไทยมีการเรียกเก็บเงินมัดจำจากการปล่อยสินเชื่อเพื่อการส่งออกในอัตราระหว่าง
10-30% ของวงเงินสินเชื่อที่อนุมัติทั้งที่มีหนัง- สือยืนยันการจ่ายเงิน
หรือเอกสารการ เรียกเก็บเงินตามกำหนดเวลา (D/A Document Against Acceptance)
หรือเอกสารเรียกเก็บเงินทันทีเมื่อส่ง มอบเอกสาร (D/P: Document Against
Presentation) เป็นหลักฐานค้ำประกัน ทั้งๆ ที่แบงก์สามารถนำเอกสารเหล่านี้ไปขอกู้ต่อจากธนาคาร
แห่งประเทศไทย ซึ่งได้มีการจัดสรรเงินเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจนี้ไว้ก็ตาม
โดยปกติแล้วแบงก์จะอนุมัติวงเงินให้เพียง 70-80% ของจำนวนเงินใน L/C หรือ
D/A เท่านั้น ดังนั้นก็หมายความว่าผู้ส่งออกจะต้องมีเงินสดในมือเพื่อเสริมสภาพคล่อง
หรือเติมในส่วนที่ขาดไปมากขึ้นเกือบถึง 50% เพื่อใช้ในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศแต่ละครั้ง
SFF : บทพิสูจน์ความจริงใจ
ไร้ปัจจัยทางการเมือง
การเข้ามาของสถาบันค้ำประกัน และให้สินเชื่อเพื่อการส่งออกฝรั่งเศส หรือ
เอสเอฟเอฟ (Societe Francaise de Factoring : SFF) ตามคำเชิญชวนของ ดร.ปฐม
เป็นนิมิตหมายที่ดีของภาคส่งออกไทยในอนาคต เพราะ ความคุ้นเคยรู้จักกันเป็นส่วนตัวในฐานะเพื่อนทางธุรกิจที่ดีต่อกันแท้ๆ
ที่ทำให้ SFF ยอมตกปากรับคำตัดสินใจอย่างไม่รีรอ ทั้งๆ ที่ไทยเองก็มิใช่เป้าหมายที่
SFF หมายตาไว้แต่ต้น หลังจากเมื่อ 2 ปี ที่แล้วได้รุกตลาดเอเชียด้วยการเจาะเข้าไปยังไต้หวันและฮ่องกงเป็นรายแรก
และญี่ปุ่น ก็เป็นเป้าหมายถัดต่อไป หากการก้าวเข้ามาในประเทศไทยครั้งนี้ของเขาได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความจริงใจและพร้อมที่จะเข้าใจในระบบที่
SFF ได้นำเข้ามาให้บริการแก่ผู้ส่งออกและแบงก์ไทย ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ก็จะสามารถสรุปและประเมินผลความคืบหน้าได้
สำหรับประเทศไทย SFF ได้ แต่งตั้ง บริษัททริโอ อินเตอร์ กรุ๊ป (ประเทศไทย)
จำกัด ทำหน้าที่เป็นสำนักงานผู้แทนประจำประเทศไทย ซึ่งจะเป็นผู้รวบรวมเอกสารก่อนที่จะส่งไปให้ทางสำนักงานใหญ่เป็นผู้พิจารณา
อนุมัติต่อไป โดยจะใช้เวลาประมาณ 72 ชั่วโมงก็สามารถให้คำตอบได้
"SFF ถูกทาบทามจากภาคเอกชน โดย ดร. ปฐม กงสุลกิตติมศักดิ์ และในฐานะที่ท่านเป็นเจ้าของชาโตว์ในฝรั่งเศส
ซึ่งใช้บริการเขาอยู่ในการค้ำประกันองุ่น ซึ่งท่านรู้จักระบบนี้ดีพอสมควร
เป็นคนแนะนำเข้ามา และบังเอิญท่านรู้จักผม ผมรู้จักท่าน และท่านก็ต้องการที่จะให้ระบบนี้มันเข้าไปถึงเอกชนจริงๆ
ไม่ต้องการให้มันวุ่นวายจึงมองหาเอกชน และผมก็ได้รับเข้ามาทำ และเรายังไม่เคยคุยกับหน่วยราชการมาก่อนเลย
การที่จะให้ประสบความสำเร็จต้องให้ใครคนหนึ่งเป็นตัวกลาง ผมไม่สามารถเป็นตัวกลางได้
แต่ผมก็ไม่ได้ยืนอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง เพียงแต่ต้องการที่จะให้ทั้งสองฝ่ายเข้ามาคุยกันให้ได้
ปัญหาที่เกิดขึ้นที่เราเจอมีโรงงานแห่งหนึ่งส่งออกกุ้ง เขาพร้อมที่จะส่งออกและมีผู้ซื้อ
และเราก็พร้อมที่จะอนุมัติวงเงินกู้ให้เขา แต่ว่าไม่มีแบงก์ไหนออก L/C ให้เขา
ซึ่งทางเอสเอฟเอฟเองก็ทราบถึงปัญหาตรงจุดนี้แต่เขาเองก็ไม่ท้อถอย แต่การที่จะให้เขานำเงินสดเข้ามามันทำไม่ได้จริงๆ
เพราะว่าแบงก์ไทยไม่ช่วย ถ้าผู้ส่งออกล้มละลายแบงก์ก็ไม่รอดเช่นกัน ซึ่งตอนนี้เขาก็เริ่มไม่จ่ายเงินแบงก์แล้ว"
อนิรุทธิ์ สมุทรโคจร กรรมการผู้จัดการ ทริโอ กล่าวถึงที่มา ของ SFF
ขณะที่ โบดวง เดอ โธเร่ (Baudouin de Thore) ผู้จัดการทั่ว ไป Universal
Credit Insurance Group(UIG) บริษัทประกันสินเชื่อชั้นนำของฝรั่งเศสที่ได้เดินทางร่วมคณะมากับ
ดร.ปฐมในฐานะที่ UIG จะเป็น ผู้รับประกันสินเชื่อเพื่อการส่งออกให้กับลูกค้าของ
SFF อีกทอดหนึ่ง ซึ่งเดอ โธเร่ ได้กล่าวสั้นๆ ถึงเหตุผลที่ตัดสินใจรับคำ
ดร.ปฐมเข้ามาทำธุรกิจในไทยในช่วงที่เศรษฐกิจพลิกผันนี้ว่า "พวกเรารู้จักกัน
และเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน"
SFF ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1964 โดย บอสตัน กรุ๊ป ของสหรัฐอเมริกา กับ Credit
Commercial de France และ Societe Francaise d'Assurance Credit (SFAC) และถือเป็น
ผู้บุกเบิกธุรกิจแฟคตอริ่งของฝรั่งเศสอีกด้วย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 1996 SFF
มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 1,777.5 ล้าน เหรียญสหรัฐ ระดับอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงขั้นที่
1 ที่ 15% มีหนี้ที่รับซื้อไว้เป็นมูลค่าสูงถึง 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากจำนวนอินวอยซ์มากกว่า
2.5 ล้านใบ โดย SFF ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หนี้ระยะสั้นจากสถาบันจัดอันดับความ
น่าเชื่อถือของยุโรป IBCA ที่ระดับ A1
"SFF มีท่านเคาท์ Jean-Claude de la Lassee ซึ่งเป็น ผู้ถือหุ้นรายเดียวในบริษัทนี้
เป็นบริษัท เอกเทศ และ มี UIG ทำงานร่วมกับ SFF และรายได้ของ UIG ส่วนใหญ่จะ
มาจาก SFF นี้ ซึ่งหมายความว่าเราเป็นอิสระเราสามารถที่ดำเนินงานกับบริษัทแฟคตอริ่งทุกแห่งในโลกนี้ได้
เรามีระบบคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย เมื่อปีที่แล้วเราได้บริหารอินวอยซ์ทั้งสิ้น
2.5 ล้านฉบับ ซึ่งเรามีทีมที่ดีในเรื่องนี้ นอกจากนี้เรายังมีบริษัทประกันเครดิต
อีก 2 แห่ง คือ SFAC และ COFACE ในการประกันเครดิต (credit in surance) ซึ่งจะมีหน้าที่สำคัญหลักๆ
3 ประการด้วยกันคือ ป้องกันความเสี่ยง การชดเชย และการไม่มีกำหนดของวงเงินการให้ประกัน
นี่คือ credit insurance ส่วน factoring ก็จะมีบริการ 2 ส่วนคือ การดูแลและจัด
การใบกำกับสินค้า (administration of the invoice) และการบริหารการเงิน โดย
UIG จะเป็นคนที่เข้ามาประกัน เครดิตนี้ แต่คนที่จะต้องให้เงินกู้ก็คือแบงก์
ซึ่งก็ต้องเป็นแบงก์ไทย ถ้าหาก เราให้ธนาคารต่างชาติเข้ามาทำหน้าที่แทนแบงก์ไทย
เงินมันก็ไม่กลับเข้าสู่ระบบของไทยอยู่ดี มันก็ต้องไหลออก นอกประเทศ เพราะแบงก์เป็นต่างชาติ
หมายความว่าเราจะทำให้มันมีความปลอดภัยที่สุดในการดึงเอาเงินตราต่างประเทศเข้ามาสู่ระบบมากที่สุด
เพราะเมื่อคุณขายของออกไปเงินไหลกลับเข้าสู่ประเทศคุณมั่นใจได้เลยว่าเงินได้แน่
และอินวอยซ์ที่ทำขึ้นนั้นมีมูลค่าเต็มตามจำนวนของที่ส่งออกไป เพราะถ้าหากว่าอินวอยซ์นั้นมีการสร้างราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของสินค้าที่ส่งออกนั่นก็หมายความว่า
บริษัทที่เข้ามาประกันในระบบของเราก็จะต้องได้รับเงินแค่มูลค่าที่ undervalue
นั้นๆ โดยอัตโนมัติ" เดอ โธเร่ กล่าว ที่ผ่านมา ทาง SFF จะเน้นการให้
บริการ แก่บรรดาซัปพลายเออร์ และธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก โดยจะให้บริการ
ในเรื่องการสร้างความมั่นคง ให้เกิดขึ้นในหนี้และจัดการหรือจัดเก็บบัญชีลูกหนี้
นอกจากนี้ยังได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในเครือข่ายของ International Factors
ซึ่งมีสมาชิกร่วมถึง 30 ประเทศ อันจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ SFF ได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ SFF ยังถือได้ว่าเป็นบริษัทอิสระที่ไม่มีเครือข่ายหรือสายสัมพันธ์กับแบงก์หนึ่งแบงก์ใด
แต่จะมีการพัฒนาเครือข่ายทางการตลาดด้วยตนเอง และสร้างพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจกับแบงก์หลายแห่งด้วยเหตุนี้จึงทำให้
SFF มีความอิสระในการพิจารณาความเสี่ยงเป็นอย่างมาก โดยจะมีการคัดเลือกสัญญาแฟคตอริ่งอย่าง
รอบคอบก่อนที่จะนำไปให้ SFAC เป็นผู้การันตีความเสี่ยงอีกทอดหนึ่งแบงก์ไทยตัวแปรใหญ่ที่ยังไร้คำตอบ
พลันที่เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ยุคมืดหลังการประกาศปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อวันที่
2 กรกฎาคม ปีที่แล้ว ปัญหาใหญ่ที่ภาคธุรกิจประสบก็คือภาระหนี้ต่างประเทศที่มีมูลค่าสูงขึ้นตามการอ่อนค่าลงของเงินบาท
ส่งผลให้บริษัทส่วนใหญ่ตกอยู่ในภาวะการ ขาดทุน ธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีฐานะเป็น
เจ้าหนี้ต้องเผชิญมรสุมหนี้เสียก้อนโตถึงขั้นกระทบกับฐานะเงินสำรอง ซึ่งเป็นภาระของแบงก์ที่จะต้องวิ่งหาเงินสดเข้ามาเพิ่มเพื่อตั้งสำรองหนี้สูญ
และนี่ก็คือที่มาของการ squeeze การปล่อยสินเชื่ออย่างหนักในขณะนี้ ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องลุกลามเป็นลูกโซ่ไปทั้งระบบ
แม้กระทั่งธุรกิจการส่งออก ทั้งๆ ที่มีธนาคารเพื่อ ส่งออกและนำเข้า ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการเกื้อหนุนอุ้มชู
ทว่า ณ เวลานี้กลไกนี้กลับ ทำงานอย่างติดๆ ขัดๆ เพราะตัวกลางอย่างธนาคารพาณิชย์ไม่ค่อยให้ความร่วมมือเพราะไม่ต้องการรับความเสี่ยง
เรื่องหนี้เสีย
แฟคตอริ่งหรือการซื้อลดบัญชีลูกหนี้ ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นและเติบโตขึ้นมาด้วยผลพวงของเศรษฐกิจที่เจริญรุ่งเรือง
ก็ได้กลายมาเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ผู้ส่งออกสามารถใช้แก้ปัญหาสภาพคล่องได้ โดยนำบัญชีลูกหนี้
หรือผู้ซื้อสินค้าที่ยังไม่ครบกำหนดชำระเงินมาขายให้แก่บริษัทแฟคตอริ่งเพื่อนำเงินสดไปใช้เป็นเงินทุนหมุน
เวียนในการดำเนินธุรกิจได้ในกรณีที่ต้องการใช้เงินเร่งด่วน แต่จะต้องขายในราคาส่วนลด
ซึ่งทางบริษัทแฟคตอริ่งจะคิดส่วนลดจากอัตราดอกเบี้ย MOR บวกเพิ่มส่วนต่างดอกเบี้ยอีกประมาณ
1-5% เข้า และนำมาหักจากยอดมูลค่าตามใบกำกับสินค้าของลูกหนี้การค้า เงินที่เหลือก็จะเป็นของผู้ส่งออก
แต่ที่ผ่านมา แฟคตอริ่งในไทยส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อขายบัญชีลูกหนี้ในประเทศเท่านั้น
ดังนั้นผู้ส่งออกจึงยังไม่สามารถใช้บริการได้อย่างเต็มที่นัก เพราะลูกหนี้จะอยู่ในต่างประเทศ
ยิ่งเมื่อความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มสูงขึ้นโอกาสที่แฟคเตอร์ จะรับซื้อใบกำกับสินค้าจากผู้ส่งออกยิ่งยากมากขึ้น
นอกจากนี้ ระบบแฟคตอริ่งที่นำเข้ามาใช้ในเมืองไทยนั้นยังกระทำกันไม่ครบวงจรดังเช่นในต่างประเทศ
ที่มีการรับประกันเพื่อป้องกันความเสี่ยงหนี้สูญอีกชั้นหนึ่ง และผู้ส่งออกไม่จำเป็นต้องรับความเสี่ยงในกรณีที่ผู้นำเข้าสินค้าในต่างประเทศเบี้ยวไม่จ่ายเงิน
และเมื่อเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะพังพาบหนทางที่บรรดาผู้ส่งออกจะพึ่งพาบรรเทาอาการหน้ามืด
เพราะเงินขาดมือจึงเหลือน้อยนิดเต็มที
การที่ SFF นำบริการทั้งค้ำประกันสินเชื่อเพื่อการส่งออกเข้าในไทย จะช่วยลดความเสี่ยงการเบี้ยวหนี้ให้แก่ผู้ส่งออกได้ในภาวะการค้าแบบไร้พรมแดนเช่นนี้
ขณะเดียวกันยังเป็นการยกระดับภาคการส่งออกของไทยให้เข้าสู่มาตรฐานสากลอีกด้วย
และ ในอนาคตมีแนวโน้มว่าบทบาทและความสำคัญของ L/C หรือหนังสือยืนยันการจ่ายเงินในระบบการค้าระหว่างประเทศจะลดน้อยลง
แต่จะอยู่ในลักษณะ open account มากขึ้น โดยที่ผู้ส่งออกจะต้องทำหน้าที่คล้ายๆ
กับแบงก์ในการเลือกคู่ค้าที่ดีไม่มีปัญหาเรื่องเงิน นั่นก็หมายความว่าผู้ส่งออกจะต้องมีข้อมูลที่ดีเกี่ยวกับคู่ค้าของตนเอง
"ระบบของ SFF จะเป็นตัวกลางให้กับธนาคาร และผู้นำเข้าหรือผู้ซื้อ
เราจะตรวจสอบผู้นำเข้าถึงฐานะทางการเงินของผู้ซื้อเรามีข้อมูลย้อนหลังได้ถึง
5 ปี เมื่อเราทราบเราก็จะแจ้งฐานะทางการเงินนั้นให้กับผู้ส่งออก ได้รู้ เพราะฉะนั้น
credit liability ควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ credit liability เราไม่ได้พูดถึงต่ออินวอยซ์
หรือชิป-เม้นต์ เราสามารถที่จะรับวงเงินสินเชื่อที่ maximum exposure นั่นก็หมาย
ความว่า เราสามารถที่จะรับผิดชอบที่ maximum exposure คือจะใช้เท่าไหร่ก็ได้ในปีนั้นแต่วงเงินสูงสุดเท่านี้
ระบบนี้มันค่อนข้างง่ายตรงที่ว่าผู้ส่งออกประหยัดต้นทุนในเรื่องของเอกสาร
ขั้นตอน พนักงาน เวลาได้เยอะมาก และไม่ต้องกังวลว่าจะได้รับเงินหรือไม่ จริงอยู่ว่า
L/C ก็ให้ความคุ้มครองแต่ว่าต้นทุนของ L/C สูงมาก อีกด้านหนึ่งระบบนี้เป็นเหมือนการมี
open account นั่นหมายความว่าผู้ส่งออกสามารถเปิดเครดิต 30 วัน 60 วัน 90
วันให้เครดิตกับผู้นำเข้าได้ เมื่อยิ่งมีการให้เครดิตผู้นำเข้าได้และเงินที่ถูกโอนเข้ามาในประเทศในระบบ
SFF นี่จะเป็นเงินตราต่างประเทศทั้งสิ้น แล้วจะถูกส่งเข้ามาในระบบจริงๆ นั่นก็หมายความว่าประเทศเราได้เงินตราต่างประเทศเข้ามาเต็ม
100% เราทำได้ทุกสกุลเงิน ถ้าอินวอยซ์เป็นดอลลาร์เราก็โอนเข้ามาเป็นดอลลาร์
รวมทั้งมาร์ก เยนด้วย" อนิรุทธิ์ อธิบาย
สิ่งที่เป็นจุดเด่น ที่ทางผู้บริหาร ของ SFF เน้นเป็นพิเศษก็คือว่าในระบบนี้ความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ย
จะถูกจำกัดด้วยการจัดให้ช่วงเวลาในการส่งของของผู้ขาย และการจ่ายเงินของผู้ซื้อให้แก่สถาบันการเงินให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด
การเข้าสู่ระบบของ SFF จะเริ่มต้นจากที่ผู้ส่งออกเจรจากับผู้ซื้อทำสัญญาซื้อขายในลักษณะของ
open account จากนั้นผู้ส่งออกก็จะขอวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนซึ่งส่วนมากจะใช้วิธีขอวงเงินสูงสุด
ในขั้นตอนนี้ก่อนที่ SFF จะอนุมัติวงเงินสินเชื่อจะทำการตรวจสอบข้อมูลของผู้ซื้อเพื่อพิจารณาความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับการชำระเงิน
โดยจะเน้นที่ฐานะการเงินของบริษัทย้อนหลัง 5 ปี เมื่อผ่านการพิจารณาก็จะอนุมัติวงเงิน
ผู้ส่งออกก็สามารถส่งสินค้าให้กับผู้ซื้อได้ โดยในใบกำกับ สินค้า หรืออินวอยซ์จะต้องระบุไว้ว่า
SFF สามารถไล่เก็บหนี้ได้หากเกิดการเบี้ยวจ่ายหนี้ โดยใบกำกับสินค้านี้ผู้ส่งออกจะต้องส่งสำเนามาให้กับทางSFF
ภายใน 5 วันหลังจากส่งสินค้าแล้ว และจนกระทั่งครบกำหนดชำระเงินผู้ซื้อจะต้องชำระเงินให้แก่ผู้ส่งออกเป็นอันว่า
ขั้นตอนวิธีปฏิบัติในการส่งออกสิ้นสุดลง และผู้ส่งออกสามารถ ที่จะทำธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องด้วยวงเงินสินเชื่อที่ได้ขอไว้แล้วโดยไม่ต้อง
เริ่มขั้นตอนใหม่
แต่ในกรณีที่ผู้ซื้อเบี้ยวจ่าย ผู้ส่งออกสามารถทวงถามได้ด้วยตัวเองในเวลาสูงสุด
30 วัน หลังนั้นต้องรายงานให้ทาง SFF ทราบเรื่อง SFF ในฐานะเจ้าของหนี้จะเป็นผู้ทวงถามหนี้จากผู้ซื้อในทุกวิถีทางตามกฎหมายโดยมีกำลังพลทนายความมากกว่า
300 นาย ทั้งนี้ผู้ซื้ออาจจะถูกบริษัทประกัน สินเชื่อของเจ้าหนี้ระงับการทำธุรกรรมทุกรูปแบบได้
แต่ถ้าผู้ส่งออกยังไม่ได้รับเงินคืนเป็นเวลา 6 เดือน SFF ก็จะเป็นผู้จ่ายเงินชดเชยให้
90% ของหนี้ส่วนที่เหลืออีก 10% นั้น SFF จะคืนให้ก็ต่อเมื่อสามารถทวงหนี้ได้สำเร็จ
"ขั้นตอนการดำเนินงานของมันก็คือว่าผู้ส่งออกจะต้องเป็นผู้ที่บอก
ตลอดว่าผู้ซื้อของเขาเป็นใคร และเราก็จะตรวจสอบให้ และเราก็จะบอกเขาว่า liability
maximum exporsure ที่เราให้ เราจะชาร์จ premium 0.4-0.5% เท่านั้นเอง เขาจะเรียกเก็บเงินเองหรือให้เราเก็บก็ได้
แต่ถ้ามีธนาคาร ไทยเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ เราควรที่จะเก็บเงินแทนให้กับธนาคาร
ในกรณีที่ผู้นำเข้าโอนเงินให้กับผู้ส่งออกเองเรา authorized ที่จะเรียกเก็บเงินจากผู้นำเข้าและโอนให้กับธนาคาร
สมมติว่ามีการตกลงกันระหว่าง ผู้ส่งออกและผู้นำเข้า และธนาคารไทย ข้อตกลงก็มีอยู่ว่าหลังจากส่งสินค้าไปแล้วเมื่อครบ
due สมมติอินวอยซ์ 1 ล้านเหรียญเงินนี้จะต้องถูกส่งกลับมาที่บัญชีที่แบงก์
ถ้าหากผู้ส่งออกกับผู้นำเข้ารู้กัน และผู้นำเข้าส่งเงินตรงมาที่ผู้ส่งออกนี่เป็นการทำผิดเงื่อนไข
เราในฐานะ SFF เราจะเรียกเก็บเงินอีกครั้งหนึ่งจากผู้นำเข้าแล้วส่งกลับมาที่ธนาคาร
ซึ่งตรงนี้เราถือว่าเป็น security ที่สูงมาก เพราะเขาทำผิดข้อ ตกลงตั้งแต่ขั้นต้น
และเราก็มีอำนาจที่จะทำได้ ในอีกกรณีหนึ่ง ถ้าผู้นำเข้าไม่จ่ายเงินให้กับผู้ส่งออก
เราสามารถที่จะบล็อกผู้นำเข้ารายนี้ได้ทุกอย่างจนเขาไม่สามารถที่จะมี international
trade เข้ามาเกี่ยวข้องอีกเลย ศักยภาพของเราค่อนข้างที่จะสูงมาก ผู้ส่งออกสามารถเลือกที่จะให้เราเก็บเงินให้
หรือจะเลือกที่จะเก็บเองก็เป็นไปตามเงื่อนไขที่ทำกันไว้ตั้งแต่เริ่มต้นที่ผู้ส่งออกเดินเข้ามาขอข้อมูลจากเรา
ในกรณีที่เขาเลือกเก็บเองแล้วไม่ได้เงิน เราจะเข้าไปจัดการให้เขาหลังจากนั้น
30 วัน และนั่นก็หมายความว่าเราจะโอนเงินเข้าให้เขา 90% ของมูลค่าอินวอยซ์"
อนิรุทธิ์ สรุป
เดอ โธเร่ มักจะกล่าวอยู่เสมอว่าสิ่งที่ผู้คนมักจะลืมนึกถึงกันบ่อยๆ ก็คือว่า
ในการค้าขายกันหากการเบี้ยวหนี้ไม่เกิดขึ้นผู้ขายก็จะได้ทั้งทุนและกำไรกลับมาทุกครั้ง
แต่ในกรณีที่คู่ค้าเป็นแบบลักปิดลักเปิดครั้งแรกจ่ายครั้งที่สองเบี้ยวผู้ขายก็จะไม่ได้อะไรเลย
นี่คือความเสี่ยงที่สามารถ เกิดขึ้นได้ทุกเสี้ยววินาที ดังนั้นหากผู้ขายมีการป้องกันความเสี่ยงไว้ทุนและกำไรก็จะไม่หายไปไหน
แม้ว่าจะมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นบ้างก็ตาม
SFF จะมีความสามารถมากน้อยเพียงไรในการตามหนี้? นี่อาจจะเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจหลายต่อหลายคน
ซึ่ง เดอ โธเร่ ได้อธิบายว่า "เรามีฐานข้อมูลบริษัทผู้นำเข้ามากกว่า
21 ล้านรายทั่วโลก เราสามารถทราบได้ทันทีว่าใครมีฐานะการเงินมั่นคงอย่างไร
โดยข้อมูลเราจะเก็บรวบรวมจากทุกแหล่ง โดยเฉพาะซัปพลายเออร์ ซึ่งถือเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญยิ่ง
เพราะผู้ซื้อ/ขายในระดับนี้ย่อมไม่มีซัปพลายเออร์เพียงรายเดียวเท่านั้น เราเก็บข้อมูลแม้กระทั่งจากคู่แข่งในวงการ
เพราะฉะนั้นเราค่อนข้างมั่นใจว่าความเสี่ยงที่ผู้ส่งออกจะได้รับนั้นมีน้อยมาก"
เบื้องหลังความสำเร็จของ SFF ตลอดเวลาที่ผ่านมาส่วนที่สำคัญที่สุดมาจากฐานข้อมูลที่ทรงประสิทธิภาพ
ที่สามารถล่วงรู้สถานะของผู้ส่งออกแต่ละรายได้เป็นอย่างดี เพราะข้อมูลที่ได้รับจากทุกแหล่งจะถูกเก็บรวบรวมไว้ในระบบคอมพิวเตอร์
ที่มีระบบความปลอดภัยสูงและมีการอัพเกรดข้อมูลใหม่เข้าไปอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีทีมงานที่มีประสบการณ์และโนว์ฮาวในการสร้างความสัมพันธ์กับบรรดาซัปพลายเออร์
ซึ่งถือเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดอีกด้วย โดยในแต่ละวัน SFF จะต้องพิจารณาอนุมัติวงเงินให้แก่ลูกค้ามากกว่า
7,000 ราย
ทว่าเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาความขัดแย้งในเรื่องของผลประโยชน์ ทาง SFF
จึงเลือกที่จะทำหน้าที่ในการตรวจสอบเพียงผู้นำเข้า หรือผู้ซื้อเท่านั้น ขณะที่การตรวจสอบผู้ส่งออกนั้นเป็นหน้าที่ของแบงก์พาณิชย์
ในบางเวลาผู้ส่งออกจะกลายเป็นผู้นำเข้าได้เสมอในโลกของการค้าข้ามชาติ
"เรารู้จักทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้าในไทยดี แต่เราจะแบ่งการทำงานกันโดยจะให้แบงก์เป็นผู้สกรีนผู้ส่งออกเราจะเป็นตัวสกรีนผู้นำเข้า
เราพบกันครึ่งทางเพื่อที่จะให้ตลาดเกิดสภาพคล่องขึ้นมาให้ได้ แต่จริงๆ แล้ว
เราก็รู้จักผู้นำเข้าในเมืองไทยค่อนข้างดีเพราะเราได้ตรวจสอบผู้นำเข้าของไทยค่อนข้างเยอะแล้ว
เพราะผู้ส่งออกในยุโรปที่เข้ามาดีลการค้ากับผู้นำเข้าในเมืองไทยเยอะมาก ซึ่งเราก็ต้องมีการตรวจสอบผู้นำเข้าไทย
ดูฐานะการเงินย้อนหลัง 3-5 ปี" อนิรุทธิ์ ให้ความเห็น
หากจะกล่าวแล้วระบบนี้ได้ช่วยแบ่งเบาภาระของแบงก์ไทยได้เป็นอย่างดี เนื่องจากไม่ต้องมีภาระความเสี่ยงเรื่องของหนี้สูญที่อาจจะเกิดขึ้นได้
เพราะมี SFF คอยเป็นผู้แบกรับความ เสี่ยงนี้แทนทั้งหมด
"ระบบนี้สามารถสร้างความมั่นใจให้แก่ธนาคารไทยได้ และธนาคารไทยน่าจะเป็นผู้ที่สนใจระบบนี้มากที่สุด
เพราะไม่มีหนี้สูญเลย เพราะว่า UIG จะเป็นผู้รับผิดชอบวงเงินที่เขารับประกันอยู่แล้วถ้าผู้นำเข้าไม่จ่ายเงินเขาก็จ่ายให้
เพราะฉะนั้นหนี้สูญจากผู้ส่งออกจะไม่มี ธนาคารอาจจะเสียผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ
จากเรื่องของคอมมิชชั่น L/C เรื่องของพิธีการ แต่ผลประโยชน์ที่จะได้คือไม่มีหนี้เสียจากผู้ส่งออก
เพราะว่า SFF ประกันให้ กับผู้ส่งออก แล้วทำไมธนาคารไทยไม่ กล้าออก L/C ให้กับผู้ส่งออก
หรือ ให้สินเชื่อในเมื่อมีคนค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งมันก็เป็นลักษณะ triangle
เงินก็จะไหลอยู่ในนั้น SFF สามารถที่จะโอนเงินกลับมาที่ธนาคารนั้นๆ ได้ โดย
มีข้อตกลงกัน 3 ฝ่ายคือ SFF ผู้ส่งออก และธนาคาร และ beneficialry คือธนาคารไทย
ทุกบาทที่ SFF เป็นผู้เรียกเก็บเงินจากผู้นำเข้าไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหนก็ตามจะถูกนำเข้ามายังบัญชีนั้นๆ
เราเน้นที่ผู้ส่งออกเป็นหลักในเวลานี้ เพราะเราได้ศึกษาเป็นเวลานาน มากว่าระบบนี้สามารถที่จะเข้ามาช่วยเหลือฐานะทางการเงินของประเทศ
ได้ คือผู้ส่งออก สิ่งหนึ่งที่เราทำได้ก็คือเราสร้างความมั่นใจให้กับเขาได้ว่าลูกค้าที่เขาต้องเข้าไปเกี่ยวข้องนั้นมีความแข็งแรงเพียงพอ"
ในปี 1999 ที่กำลังจะคืบคลาน เข้ามาถึงนี้ สหภาพยุโรปจะเริ่มใช้เงินสกุลเดียวกัน
คือยูโร ตามสนธิสัญญามาสทริซต์ นั่นก็หมายถึงความเป็นตลาดเดียวของยุโรปสมบูรณ์แล้ว
นั่นก็หมายความว่าประเทศที่เป็นคู่ค้าของยุโรปทั้งหลายจำเป็นจะต้องปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ได้
ซึ่งมีการคาดหมายว่าเงินยูโรนี้จะมีศักยภาพเป็น heaven currency แข่งกับดอลลาร์สหรัฐได้อย่างแน่นอน
เพราะหากเทียบความสำคัญในแง่ของตลาดแล้วยุโรปจะมีขนาดใหญ่กว่าสหรัฐ นั่นก็หมายความว่าโอกาสในการส่งออกไปมีเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้นในช่วงนี้จึงถือเป็นเวลาที่เหมาะเจาะสำหรับผู้ส่งออกไทยที่จะเข้าสู่ตลาดยุโรปก่อนที่จะสายจนเกินกาล
การที่ SFF นำมาตรฐานสากล ในการทำการค้าระหว่างประเทศเข้ามาในเมืองไทย
จะช่วยให้ผู้ส่งออกไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นในตลาดยุโรป และที่สำคัญความไว้วางใจในการค้าขาย
ย่อมมีมากขึ้นเพราะความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้รับการดูแลจัดการจาก SFF
ซึ่งบรรดาผู้นำเข้ายุโรปรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้โอกาสที่ผู้ส่งออกของไทยจะขยายธุรกิจเข้าไปในสหภาพยุโรปเป็นวงกว้าง
จึงมีมากขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้น และการเข้ามาครั้งนี้ของ SFF จากการเชื้อเชิญของภาคเอกชนด้วยกันเอง
ดังนั้นการขานรับจากภาครัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงยังไม่มีให้เห็นในตอนนี้
ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง หรือแม้แต่กระทรวงพาณิชย์
ขณะที่บริษัทธุรกิจด้านการส่งออกเริ่มมีการขยับตัวตอบรับด้วยการเข้าใช้บริการก็เริ่มทยอยมีให้เห็นบ้างแล้ว
ซึ่งทาง SFF เปิดเผยว่า ขณะนี้มีประมาณ 3 บริษัทที่ได้รับอนุมัติวงเงินสินเชื่อแล้ว
โดยเป็นบริษัทผู้ส่งออกพีวีซี บริษัทผู้ส่งออกอาหารสัตว์ และบริษัทผู้ส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป
ความพยายามของ ดร.ปฐมที่อุตส่าห์นำ SFF ใส่พานมาให้ถึงที่นั้นจะเป็นผลสำเร็จดังปรารถนาหรือไม่นั้น
ก็ขึ้นอยู่ที่คนไทยในประเทศไทยที่จะรับมาสานต่อเจตนารมณ์ให้เห็นเป็นรูปธรรม
ทว่าตัวแปรสำคัญในตอนนี้คือแบงก์พาณิชย์ หรือว่าในยามนี้มีเพียงแค่กองทุนฟื้นฟูเท่านั้น...
ที่เป็นลูกค้าชั้นดีที่สุด!!!!