จากไอเดียของ สพช. ที่ต้องการเห็นคนไทยหันมาใช้น้ำมันให้เหมาะสมกับรถ ด้วยการชูประเด็นเพื่อการประหยัด
พร้อมกับเปลี่ยนการเรียกชื่อน้ำมันโดยให้เรียกตามค่าออกเทน สร้างความสับสนแก่ผู้ใช้รถ
เป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันยังต้องการให้โรงกลั่นทั้งหลายผลิตน้ำมันเบนซินออกมาตามมาตรฐานขั้นต่ำ
แต่การตอบสนองดูจะไม่เป็นไปตาม ความต้องการของ สพช. มากนัก ในที่สุดคนไทยคงต้องพึ่งตัวเองเอาไว้ก่อน
ลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้รณรงค์การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศจากน้ำมันด้อยคุณภาพ
ด้วยการให้บริษัทน้ำมันผลิตน้ำมันเบนซินทุกชนิด ที่จำหน่ายในประเทศไทยเป็นน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วทั้งหมด
ซึ่งนับว่าได้รับการตอบสนองจากผู้ผลิตและผู้ใช้รถเป็นอย่างดี
มาบัดนี้ สพช. ได้มีโครงการใหม่ออกมารณรงค์ให้ผู้ใช้รถเติมน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ
เหมาะสมกับความต้องการของเครื่องยนต์อย่างแท้จริง และให้บริษัทผลิตน้ำมันเบน
ซินออกมาตรงตามค่าออกเทนที่ทางการกำหนดไว้เป็นมาตรฐานขั้นต่ำ คือ เบนซินธรรมดา
ออกเทน 87, เบนซิน พิเศษไร้สารตะกั่ว ออกเทน 91 และเบนซินซูเปอร์ ออกเทน
95
แต่ดูเหมือนว่าการรณรงค์ครั้งนี้ของ สพช. ส่อแววจะไม่ราบรื่นเช่นเดิม เนื่องจากประชาชนที่ใช้รถยนต์หรือจักรยานยนต์
รวมทั้งบริษัทผลิตน้ำมันมีอาการสับสนอยู่บ้างพอสมควรกับแนวความคิดของ สพช.
เพราะดำเนินการแบบสายฟ้าแลบชนิดตั้งตัวกันไม่ติด โดยเฉพาะการอธิบายถึงค่าออกเทนที่จำหน่ายกันอยู่ในสถานีบริการ
น้ำมัน ซึ่งหลายๆ คนยังสับสนตัวเลขค่าออกเทนตามที่ทางการประกาศ คือ 87-91-95
ในขณะที่ในสถานีบริการ น้ำมันจำหน่ายกันจริงๆ มีเพียงเบนซินออกเทน 92 และเบนซินออกเทน
97 เท่านั้น ที่เจ็บแสบไปกว่านั้นบางสถานีบริการติดป้ายตัวเลขค่าออกเทน 91+1
และ 95+2 ซึ่งเป็นการติดป้ายเอาไว้เพื่อไม่อยากขัดใจทางการ
เหตุผลที่ สพช. พยายามให้ประชาชนผู้ใช้รถยนต์และจักรยานยนต์หันมาเติมน้ำมันให้เหมาะสมกับเครื่องยนต์ของรถที่สุด
เนื่องจากทุกวันนี้หลายคนยังคงเลือกใช้น้ำมันเบนซิน ที่มีค่าออกเทนสูงเกินความต้องการของเครื่องยนต์
นอกจากจะไม่ส่งผลดีแล้วยังต้องเสียเงินจ่ายค่าน้ำมันแพงโดยไม่จำเป็นเลย เช่น
รถจักรยานยนต์ 2 จังหวะ ที่เหมาะจะใช้เบนซินออกเทน 87 กลับไปใช้เบนซินออกเทน
95 หรือรถยนต์บางรุ่นเหมาะกับเบนซิน ออกเทน 91 แต่ไปใช้เบนซินออกเทน 95 ซึ่งมีราคาแพงกว่า
"มันไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยกับการที่ไปเติมน้ำมันเกินความเหมาะสมของรถ
เพราะเราได้คุยกับผู้จำหน่าย รถยนต์ยี่ห้อต่างๆ พบว่าใช้เบนซินออกเทน 95
ก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าคนจะใช้เบนซินออกเทน 97 ต่อไปก็ได้เพียงแต่เราให้ข้อเท็จจริงเท่านั้น"
เมตตา บันเทิงสุข รองเลขาธิการ สพช. กล่าว
เขายังกล่าวต่อไปว่าเป้าหมายครั้งนี้ คือ ความประหยัด ด้วยการพยายามเน้นให้ผู้ใช้รถยนต์ที่เติมเบนซินออกเทน
95 ขึ้นไป หันมาเติมเบนซินออกเทน 91 ส่วนรถจักรยานยนต์ที่เติมเบนซินออกเทน
95 ก็หันมาเติมเบนซินออกเทน 87 หรือ 91 แทน "ถ้าทำสำเร็จเราเชื่อว่าการประหยัดจะเกิดขึ้นจากตรงนี้ประมาณ
80%"
เพราะจากการสำรวจของ สพช. พบว่าหากรถยนต์ที่เคยใช้เบนซินออกเทน 97 หันมาใช้เบนซินออกเทน
95 จะประหยัดได้ลิตรละ 0.20 บาท รถยนต์ที่เคยใช้เบนซินออกเทน 97 หันมาใช้เบนซินออกเทน
91 จะประหยัดได้ลิตรละ 0.70 บาท สำหรับรถจักร ยานยนต์ 4 จังหวะเคยใช้เบนซินออกเทน
97 หันมาใช้เบนซินออกเทน 91 จะประหยัดได้ลิตรละ 0.70 บาท และหากรถจักรยานยนต์เคยใช้เบนซินออกเทน
97 หันมาใช้เบนซินออกเทน 87 จะประหยัดได้ลิตรละ 1.20 บาท อย่างไรก็ตามในการสำรวจของ
สพช. ตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น
นอกจากนี้แผนการ รณรงค์ดูเหมือนว่ายังไม่เต็มที่มากนัก ที่เห็นได้ชัดก็คือ
เบนซินออกเทน 87 ที่จำหน่ายในตลาดปัจจุบันนี้มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากบริษัทน้ำมันส่วนใหญ่ไม่ทำการผลิตมีเฉพาะ
โรงกลั่นบางจากที่ผลิตออก มาจำหน่าย สาเหตุที่แต่ ละบริษัทเมินการผลิตเบนซินออกเทน
87 เนื่องจากความต้องการมีไม่มาก รวมทั้งผู้ใช้รถยังนิยมเติมน้ำมันชนิดที่มีค่าออกเทนระดับสูงๆ
นอกจากนี้บรรดาสถานีบริการน้ำมันในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลไม่ค่อยมีน้ำมันเบนซินออกเทน
91 จำหน่าย เรื่องนี้เกิด จากลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นรถจักรยาน ยนต์ ขณะที่รถเหล่านี้ยังนิยมเติมน้ำมันเบนซินออกเทน
95 ส่งผลให้สถานีบริการน้ำมันไม่อยากจำหน่ายเบนซินออกเทน 91 เพราะส่วนแบ่งน้อย
ประกอบกับนโยบายการตลาดของบริษัท น้ำมันทั้งหลายเน้นกลุ่มลูกค้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่เป็นตลาดเบนซินออกเทน
95
"หลังจากรณรงค์ไปแล้วสถานีบริการน้ำมันก็ตอบรับเราว่าจะพยายาม จำหน่ายเบนซินออกเทน
91 ให้มากขึ้น เพราะเป้าหมายโครงการครั้งนี้ 80% คืออยากให้คนหันมาเติมน้ำมันชนิดนี้"
เมตตา กล่าว
อย่างไรก็ตามหลายคนเชื่อว่าความเป็นไปได้ที่จะให้บรรดาสถานีบริการน้ำมันยอมเปลี่ยนแปลงนโยบาย
การตลาดด้วยการพยายามเน้นจำหน่าย เบนซินออกเทน 91 เพราะการเปลี่ยน แปลงย่อมหมายถึงต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น
ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน โอกาสที่ สพช. จะเห็นความสำเร็จจากการรณรงค์ครั้งนี้
คงต้องใช้เวลาพอสมควร
ในขณะที่ แสวง บุญญาสุวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
(ปตท.) ให้ความเห็นว่าปัญหาหลักในการเลือกใช้น้ำมันเบนซินอยู่ที่รถจักรยานยนต์มากที่สุด
เพราะส่วนใหญ่หันไปเติมเบนซินออกเทน 95 โดยคิดว่าจะทำให้ประสิทธิภาพของเครื่องยนต์มีกำลังดีขึ้นอีกทั้งราคาต่างกับเบนซินออกเทน
91 ไม่มากนัก และปัญหาอีกอย่างหนึ่ง คือ ที่ผ่านมาผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ผลิตรถออกมาจำหน่าย
จะเน้นให้ผู้ใช้รถเติมน้ำมันเบนซินชนิดพิเศษ หรือซูเปอร์ (ปัจจุบันยกเลิกการผลิต)
และเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่ว ขณะที่เบนซินธรรมดาไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก
ส่งผลให้การใช้น้ำมันของรถจักรยานยนต์ ระหว่างเบนซินชนิดพิเศษกับเบนซินธรรมดามีสัดส่วน
60:40 ซึ่งคาดว่าแนว โน้มการใช้น้ำมันเบนซินชนิดพิเศษจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น
ดังนั้น สพช. ควรเน้นการรณรงค์เรื่องนี้มากกว่าที่จะไป รณรงค์การใช้น้ำมันของรถยนต์
แต่ปัญหาที่ยังคาใจสำหรับผู้ใช้รถอยู่ในขณะนี้ คือ เมื่อมีการรณรงค์ ให้รถจักรยานยนต์
หันมาเติมเบนซินออกเทน 87 แล้วทำไมมีเฉพาะสถานีบริการน้ำมันบางจากเท่านั้นที่ให้บริการ
ขณะเดียวกันยังให้บริการไม่ทั่วประเทศ เมื่อเป็นเช่นนี้แม้ว่าผู้ใช้รถจักรยานยนต์ต้องการจะเติมน้ำมันคงจะลำบากใจ
ที่จะขับรถตระเวนหาสถานีบริการน้ำมันบางจากเพื่อที่จะเติมเบนซินออกเทน 87
"เราจึงไม่แน่ใจว่าจะได้ผลมากแค่ไหนเพราะผู้ใช้รถคงไม่อยากเสียเวลา
แต่คงต้องคอยดูต่อไปว่าผลออกมาจะเป็นอย่างไร ส่วน ปตท. จะไม่ผลิตออกมาจำหน่าย
เราจำหน่ายเฉพาะ 91 และ 95" แสวง กล่าว
ที่สำคัญ สพช. ยังต้องเจอกับพฤติกรรมของคนไทยที่ยังมีความรู้สึกว่าเมื่อเติมน้ำมันที่มีค่าออกเทนสูงๆ
จะส่งผลให้เครื่องยนต์ของรถมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ดังนั้นจึงไม่เป็นเรื่องง่ายเลยที่ทาง
สพช. จะทำความเข้าใจให้ทราบว่าน้ำมันชนิดไหน ค่าออกเทนระดับเท่าไหร่ จึงจะเหมาะสม
กับรถแต่ละชนิด โดยเฉพาะกับความตั้งใจว่าจะต้องประสบความสำเร็จอย่าง รวดเร็ว
และที่สำคัญการที่จะไปเปลี่ยน พฤติกรรมของผู้ใช้รถปัจจัยที่สำคัญ คือ ราคาน้ำมัน
เพราะปัจจุบัน ยังมีสถานีบริการน้ำมันบางแห่งจำหน่าย เบนซินออกเทน 95 ในราคาถูกกว่าเบนซินออกเทน
91 ขณะที่เบนซินออกเทน 87 จำหน่ายในราคาเดียวกันกับเบนซินออกเทน 91
"เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นชั่วคราว เนื่องจากการแข่งขันมีสูงมากโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ
ทำให้แต่ละแห่งลดราคาเบนซินออกเทน 95 ลงมาเพื่อดึงดูดลูกค้า" แสวงกล่าว
ขณะที่ รศ.กัญจนา บุญยเกียรติ อาจารย์ประจำ ภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตว่าถ้าราคาเบนซินออก เทน 91 ยังสูงกว่าเบนซินออกเทน
95 รวมทั้งถ้าส่วนแบ่งตลาดเบนซินออกเทน 95 ยังคงสูงกว่าเบนซินออกเทน 91 อยู่ต่อไปการประชาสัมพันธ์ของ
สพช. จะไม่ได้ผลเท่าที่ควร
และสุดท้ายแม้ว่าสถานีบริการน้ำมันจะออกมาอธิบายอย่างไร ผู้ใช้รถก็ยังเกิดอาการลังเลอยู่ว่าเมื่อเปลี่ยน
การเติมน้ำมันแล้วรถจะมีปัญหาหรือไม่ รวมทั้งราคาน้ำมันระหว่างเบนซินออกเทน
91 กับเบนซินออกเทน 95 ไม่แตกต่างกันมากนัก "เขาจึงเลือกเติมชนิดเก่า
ซึ่งไม่คุ้มค่าแน่นอนถ้าเกิดรถเสียหายขึ้นมา"
เลิกผลิต 97 ความหวังที่เลือนลาง
นอกจาก สพช. จะกระตุ้นด้านผู้ใช้รถแล้วยังต้องเข้าหาฝ่ายบริษัท ผู้ผลิตน้ำมันทั้งหลายเพื่อให้ผลิตน้ำมันเบนซินออกเทน
87 และเบนซินออกเทน 91 ออกมาจำหน่ายในสัดส่วน ที่มากกว่าในปัจจุบัน รวมทั้งพยายามให้ลดการผลิตเบนซินออกเทน
97 เหลือ 95
"สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ คือ ได้ประสานกับบริษัทผลิตน้ำมันให้เตรียมการผลิตน้ำมันเบนซินออกเทน
91 ออก มาและให้ผู้ใช้รถทดลองใช้ ถ้ากระแสความนิยมของผู้ใช้หันมาเติมเบนซินออกเทน
87 และ 91 มากขึ้นบริษัทน้ำมันก็จะกล้าตัดสินใจผลิตกันมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้เขาก็จะลดการผลิตน้ำมันเบนซินออกเทน
97 เองเพราะความ ต้องการลดลง" เมตตา กล่าว
จากปี 2540 ประเทศไทยมีจำนวนประชากรรถต่างๆ ทั้งสิ้น 12.28 ล้านคัน แบ่งเป็นรถยนต์
1.58 ล้านคัน รถจักรยานยนต์ประมาณ 10.71 ล้านคัน โดยลักษณะการบริโภคน้ำมันจะกระจุกตัวอยู่ที่เบนซินออกเทน
92 จำนวน 1,973 ล้านลิตรต่อปี คิดเป็น 24% ของการใช้น้ำมันเบนซินรวม และ
ใช้เบนซินออกเทน 97 จำนวน 5,383 ล้านลิตรต่อปี คิดเป็น 76% แต่หลังจากนี้ไป
สพช. หวังไว้ว่าการบริโภคน้ำมันควรจะเป็นเบนซินออกเทน 87 จำนวน 713 ล้านลิตรต่อปี
คิดเป็น 9% ของการใช้น้ำมันเบนซินรวม เบนซินออกเทน 91 จำนวน 5,342 ล้านลิตรต่อปี
คิดเป็น 67% และบริโภคเบนซิน ออกเทน 95 จำนวน 1,964 ล้านลิตรต่อปี คิดเป็น
24%
นี่คือเหตุผลที่ สพช. ต้องการให้บริษัทผลิตน้ำมันทั้งหลายหันมาผลิตน้ำมันเบนซินที่มีค่าออกเทนระดับ
ต่ำๆ แต่ในปัจจุบันบรรดาบริษัทน้ำมันยังรอดูท่าทีไปอีกสักระยะหนึ่ง เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจจะถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ทีเดียว
ไม่ว่าจะเป็นยอดขายหรือต้นทุนการผลิต
"สพช. เร่งรัดมากเกินไปน่าจะมีการเตรียมตัวมากกว่านี้ เพราะเราปรับตัวไม่ทัน"
แสวง กล่าว นั่นหมายความว่าโรงกลั่นต่างๆ จะยังคงผลิตน้ำมันเบนซินออกเทนที่ระดับ
92 และ 97 อยู่ต่อไป
"การผลิตน้ำมันออกเทนระดับสูงมีผลดีต่อเครื่องยนต์ในแง่อัตราเร่ง
ประสิทธิภาพของเครื่องยนต์จะดีขึ้น ซึ่งเขาก็จะพยายามผลิตเพื่อตอบสนองผู้ใช้รถ
อีกทั้งแผนการตลาดแต่ละบริษัทเน้นเรื่องความเร็วและแรงอยู่แล้ว" รศ.กัญจนา
กล่าว
ที่สำคัญโรงกลั่นเองยังต้องการ ผลิตน้ำมันที่ออกเทนระดับสูงๆ อยู่ เนื่องจากได้ลงทุนในกระบวนการผลิตน้ำมันเบนซินออกเทนระดับสูงๆ
ไปแล้ว ดังนั้นถ้ายอมลดลงมาผลิตน้ำมัน ออกเทนระดับต่ำ อาจจะไม่คุ้มกับเม็ดเงินที่ได้ลงทุนไป
และส่วนใหญ่โรงกลั่นในประเทศไทยจะมีเทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งเป็นเรื่องลำบากอย่างยิ่งถ้าจะยอมผลิตน้ำมันออกเทนต่ำๆ
"โรงกลั่นทั่วโลกมีแนวโน้มผลิตน้ำมันชนิดออกเทนระดับสูง การที่จะไปลดการผลิตจากระดับออกเทน
97 ลงมา มีปัญหาด้านการผลิตด้วย เพราะกระบวนการผลิตมีหลายขั้นตอน ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง
จะเกิดผลกระทบไปสู่อีกขั้นตอนหนึ่งเป็นลักษณะลูกโซ่ ดังนั้นในทางปฏิบัติโรงกลั่นไม่สามารถที่จะลดคุณภาพของน้ำมันลงเหลือที่ออกเทนระดับต่ำๆ
ได้" รศ.กัญจนา กล่าว
"น่าเห็นใจผู้ผลิต เพราะในอดีต พยายามจะให้ผลิตที่ออกเทนระดับสูงๆ
แต่มาวันนี้กลับให้ผลิตออกเทนระดับต่ำๆ คำถามต่อมา คือ เขาจะคืนทุนได้ตามเป้าหมายหรือไม่"
แสวง กล่าว
แสวงให้ความเห็นว่าขณะนี้ ปตท. ผลิตน้ำมันเบนซินออกเทน 92 และ 97 ส่วนในอนาคตนั้นยังพิจารณาอยู่ว่าจะลดค่าออกเทนลงจาก
92 เหลือ 91 และจาก 97 เหลือ 95 อย่างไรก็ตาม ปตท. ยังต้องการผลิตที่ระดับเดิมต่อไป
แม้ว่าต้นทุนจะแพงกว่าออกเทน 95 อยู่บ้าง และ ปตท.ได้คำนึงถึงผู้ใช้ หมายความว่าน้ำมันต้องมีค่าออกเทนเผื่อเอาไว้บ้างเล็กน้อย
เพราะสมมติว่า รถต้องการออกเทน 95 แต่เมื่อใช้ไปนานๆ รถอาจจะต้องการน้ำมันที่มีออก
เทนสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากเขม่าไปเกาะที่หัวลูกสูบ
"ถ้าเอาหลักวิชาการมาพูดเรายังอยากจะผลิตที่ออกเทน 97 เพราะว่าประโยชน์มีต่อผู้ใช้รถหลายอย่าง
อีกทั้งกลยุทธ์การตลาดเน้นที่ค่าออกเทนยิ่งสูงรถยิ่งแรง ซึ่งตามหลักวิชาการแล้วมันเป็นความจริงแม้ว่าจะเพิ่มแค่
1% ก็ถือว่าเพิ่มแล้ว"
เหตุผลหนึ่งที่บริษัทผลิตน้ำมันต้องการผลิตเบนซินออกเทน 97 อยู่ต่อไป คือ
บริษัทเหล่านี้ได้มองในแง่ดี โดยนำปัจจัยเรื่องราคาเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะปัจจุบันถึงแม้ว่าจะผลิตเบนซินออกเทน
97 แต่ราคาจำหน่ายยังเป็นราคาเดียวกับเบนซินออกเทน 95 ส่วนราคาเบนซินออก
เทน 92 ก็เป็นราคาเดียวกับเบนซินออกเทน 91 "จึงพูดได้ว่าผู้ใช้รถได้กำไรที่ได้ใช้น้ำมันที่ดีกว่าทางการกำหนดแต่ราคาไม่ขยับตามไปด้วย"
ดังนั้นบริษัทผลิตน้ำมันจึงออกอาการไม่อยากสนองตอบ สพช. อย่าง เต็มที่
มีคนตั้งข้อสังเกตว่ามาตรการที่ สพช. จะนำมาใช้กับบริษัทน้ำมันเหล่านี้คงจะต้องใช้ไม้แข็ง
ด้วยการออกกฎหมายมาบังคับให้ผลิตน้ำมันตามมาตรฐานขั้นต่ำเท่านั้น "รวมทั้งยังจะบังคับให้ลดราคาน้ำมันลงมา
โดยอ้างว่าเมื่อลดการผลิตจากน้ำมันออกเทน 97 เหลือ 95 ราคาจะต้องลดลงด้วย"
ปัจจุบันการบริโภคน้ำมันของประชาชนคนไทย ยังดูเป็นเรื่องของความสับสนกับแผนรณรงค์การใช้น้ำมันให้เหมาะสมกับรถแต่ละชนิดของ
สพช. ในเรื่องข้อมูลตัวเลขของน้ำมันแต่ละยี่ห้อที่ต่างกัน ขณะที่ข้อเท็จจริงของน้ำมันที่จำหน่ายในตลาดยังมีข้อสงสัยอยู่เช่นเดียวกัน
สุดท้ายการ เลือกใช้น้ำมันแต่ละชนิดคงจะขึ้นอยู่กับประชาชนผู้ใช้น้ำมันว่าจะตัดสินใจใช้ชนิดไหน
หรือเคยเติมชนิดไหนก็ยังคงเติมชนิดนั้นต่อไป