Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2541
"มองตัวเราผ่านตัวเขา" กรณีอินโดนีเซียตัดสินใจขายรัฐวิสาหกิจ 12 แห่ง             
 





คอลัมน์นี้เคยเขียนเสนอแนะเรื่อง กรมรัฐวิสาหกิจ ไปแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เห็นข่าวจาก AWSJ ลงข่าวเรื่องการขายรัฐวิสาหกิจของอินโดนีเซีย เห็นว่าน่าสนใจและตรงกับเรื่องที่เคยเสนอไปแล้ว จึงเก็บข่าวเรื่องนี้มาเล่าให้ท่านผู้อ่านพิจารณา เพราะอย่างไรเสีย ประเด็นนี้ก็เป็นเรื่องที่คุกรุ่นอยู่ในไทย และรัฐบาลต้องตัดสินใจออกมาให้ชัดเจนในที่สุด

ประเด็นเรื่องการขายกิจการรัฐวิสาหกิจไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ในอินโดนีเซียก็มีการดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว โดยล่าสุดรัฐบาลอินโดนีเซียประกาศแต่งตั้งบริษัทวาณิช-ธนกิจรายใหญ่ของโลกเป็นผู้จัดการเพื่อดำเนินการศึกษาการขายหุ้นกิจการรัฐวิสาหกิจให้นักลงทุน (ดูตารางประกอบ)

ไม่ว่ารัฐบาลอินโดนีเซียจะคิดเรื่องนี้หรือมีโปรแกรมในเรื่องนี้มานาน หรือว่าถูกไอเอ็มเอฟกดดันแต่ที่แน่ๆ คือเขาสามารถตัดสินใจได้เร็วกว่ารัฐบาลไทยยิ่งนัก ทั้งนี้อินโดนีเซียมีกระทรวงที่ทำหน้าที่ดูแลกิจการรัฐวิสาหกิจโดยตรง

รัฐบาลอินโดนีเซียต้องการเงินสดจำนวน 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อเติมในงบประมาณประเทศและเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงที่ทำไว้กับไอเอ็มเอฟ แต่สถานการณ์ความตกต่ำของตลาดทุนในทั่วภูมิภาคเวลานี้ ทำให้วาณิชธนากรต้องคิดค้นเครื่องมือทางการเงินหรือยุทธศาสตร์ที่สร้างสรรค์อย่างยิ่ง เพื่อที่จะขายหุ้นรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ให้ได้ราคาที่ดี

วาณิชธนากรหลัก 2 รายคือเลห์แมน บราเธอร์ และโกลด์แมน แซคส์ จะมุ่งเน้นไปที่การขายหุ้นรัฐวิสาหกิจให้แก่เอกชน มากกว่าการที่จะนำหุ้นรัฐวิสาหกิจเหล่านี้เข้าจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ เพราะคาดว่าความต้องการหลักทรัพย์อินโดนีเซียในช่วงนี้น่าจะซบเซาหรือขาดความสนใจซื้อไปจนถึงปีหน้าทีเดียว กระนั้นก็ตาม รัฐบาลฯ ได้พูดอย่างชัดเจนว่าประสงค์จะถือหุ้นรัฐวิสาหกิจไว้ 51% ในทุกแห่งที่จะขาย ซึ่งประเด็นนี้อาจจะต้องมีการพิจารณา โดยรัฐมนตรีกระทรวงรัฐวิสาหกิจอินโดนีเซียกล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องพิจารณาตามภาวะความเป็นจริง เพราะผู้ที่ซื้อหุ้นไป ซึ่งอาจจะใช้เงินมากถึงระดับพันล้านดอลลาร์นั้น คงต้องการที่จะครอบครองอำนาจในการบริหารด้วย

วาณิชธนากรหลัก 2 รายข้างต้นทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาหลัก ดูแลการเสนอขายรัฐวิสาหกิจทั้ง 12 แห่ง ซึ่งแหล่งข่าวในวงการธนาคารกล่าวว่าน่าจะได้ค่าธรรม เนียมสูงถึง 70 ล้านดอลลาร์ โดยค่าธรรมเนียมนี้คิดจากอัตรามาตรฐานสากล คือ 3.25% ของกำไรที่ได้จากการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และจะลดลงเล็กน้อยในกรณีที่เป็นการขายหรือควบรวมกิจการ

ในบรรดารัฐวิสาหกิจ 12 แห่งที่ตกเป็นเป้าหมายการขายออกมานั้น แหล่งที่น่าสนใจหรือเป็นเพชรเม็ดงามของนักลงทุนคือ กิจการด้านโทรศัพท์ และดาวเทียม มูลค่าตามราคาตลาดของกิจการโทรศัพท์มีประมาณ 2,800 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 5 ในตลาดหลักทรัพย์จาการ์ตา และใบหุ้น (ADR= American Depositary Receipts) ของบริษัทยังมีการนำไปจดทะเบียนซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กด้วย (NYSE)

ส่วนกิจการเหมืองดีบุกที่ประกาศขายนั้น ก็เป็น บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เช่นกัน และเป็นกิจการเหมืองดีบุกที่ใหญ่ที่สุดอันดับหนึ่งในโลก นอกจากนี้ยังมีกิจการเหมืองทองคำ ที่อยู่ในโปรแกรมนี้ด้วย ซึ่งกิจการแห่งนี้ก็ครอบครองเหมืองทองคำ ทั้งหมดไว้ด้วย

จุดที่น่าสนใจในการขายทรัพย์สินของรัฐบาลอินโดนีเซียครั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะมีสถานการณ์ความตกต่ำทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียที่แย่ยิ่งกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ก็คือรัฐบาลให้ความยืดหยุ่นมากในการดำเนินการเจรจาต่อรองเงื่อนไขต่างๆ เพราะนักลงทุนแต่ละรายต้องมองการลงทุนเหล่านี้ด้วยสายตาที่ยาวไกล ว่าการลงทุนเหล่านี้จะเหมาะสมกับพอร์ตโฟลิโอของพวกเขาหรือไม่ จะให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดหรือไม่ ซึ่งการเจรจาที่สร้างมูลค่าขึ้นในอีก 5 ปีหรือมากกว่านั้น ล้วนเป็นการลงทุนที่น่าสนใจทั้งนั้นในสายตาของนายธนาคารต่างประเทศในอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ ในสถานการณ์ที่ประเทศอินโดนีเซียมีประธานาธิบดีคนใหม่ คือประธานาธิบดี บี.เจ.ฮาบิบี ก็มีเสียงเรียกร้องให้การประเมินมูลค่าและ กระบวนการขายกิจการรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ดำเนินไปด้วยความโปร่งใส และมีการเปิดเผยแก่สาธารณชนอีกด้วย

แนวทางเหล่านี้ก็ไม่ผิดไปจากสิ่งที่เป็นที่ต้องการอย่างยิ่งในประเทศไทยเวลานี้ ซึ่งปรากฏว่ากิจการรัฐวิสาหกิจในเครือกระทรวงคมนาคมของเจ้ากระทรวง รมว.สุเทพ เทือกสุบรรณ ดูจะมีความคืบหน้ามากที่สุด

ก็หวังว่าท่านคงจะทำทุกอย่างด้วยความโปร่งใสยุติธรรม และเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบด้วย

ภาระของประธานาธิบดีฮาบิบี หนักยิ่งกว่า นายกฯ ชวน

ไหนๆ เดือนนี้ก็มองออกไปไกลถึงเมืองอิเหนา-ประเทศเพื่อนบ้านเก่าแก่ของไทยมานาน จึงขอเก็บตกสถานการณ์ล่าสุดมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อที่ว่าการมองดูเขาจะช่วยให้เรามองดูตัวเองอย่างมีความหวังมากขึ้น

ประเทศอินโดนีเซียนั้น นอกจากจะเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำรอบนี้ไม่แพ้ไทยแล้ว ยังมีปัญหาทางการเมืองแทรกเข้ามาที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก แม้ว่าตอนนี้ปัญหาจะสงบลงแล้ว แต่ฝุ่นควันยังคงอบอวลไปด้วยความยากไร้ขาดแคลน โดยเฉพาะเครื่องอุปโภคบริโภคนั้น เป็นปัญหามาก

นิตยสาร บิสเนส วีค รายงานว่าประธานาธิบดีคนใหม่ บี.เจ.ฮาบิบี อาจถึงกับสิ้นหวังในการรื้อฟื้นสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนสู่ประเทศอินโดนีเซีย ในสัปดาห์แรกที่เขาเข้ารับตำแหน่งนั้น เขาก็ต้องให้บรรดาเครือญาติของเขาลาออกจากตำแหน่งหน้าที่การงาน เพื่อขจัดข้อครหาเรื่องการให้พวกพ้องเครือญาติได้รับผลประโยชน์โดยไม่ชอบ นอกจากนี้ก็ต้องปล่อยผู้ต้องหาทางการเมืองที่เป็นปรปักษ์สำคัญของรัฐบาลออกตามคำเรียกร้องต้องการของประชาชน และยังเดินทางไปสำรวจความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์จลาจล พบกับฮิวเบิร์ต นีลส์-เจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟ เพื่อเจรจาขอรับเงินช่วยเหลือจำนวน 43 พันล้านดอลลาร์ที่ถูกสั่งระงับชั่วคราวระหว่างเกิดเหตุจลาจลกลางเมืองเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

กิจกรรมของประธานาธิบดีฮาบิบีในช่วงต้นเป็นเพียงแค่แตะพื้นผิวขอบนอกของปัญหาที่แท้จริงของอินโดนีเซีย ซึ่งก็คือปัญหาที่ว่าจะเลี้ยงดูประชากร 200 ล้านคนของอินโดนีเซียอย่างไร และจะแจกจ่ายอาหารและพลังงานไปสู่คนเหล่านั้นได้อย่างไร ทั้งนี้เพราะโกดังสินค้าประจำตำบลและจุดขนถ่ายสินค้าทางรถบรรทุกรวมทั้งศูนย์กลางจับจ่ายสินค้าต่างๆ ล้วนถูกทำลายลงสิ้นในช่วงที่เกิดจลาจล ผลที่ตามมาก็คือการขนส่งอาหารเป็นไปด้วยความยากลำบากและขาดแคลนอาหารด้วย สิ่งที่พอจะมีขายในเวลานี้มีราคาสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนกลางเดือนพฤษภาคมถึง 20%

รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศแผนการที่จะซ่อมแซมพื้นที่ที่ถูกทำลาย ซึ่งโครงการต่างๆ นั้นมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ รัฐบาลยังไม่ได้บอกว่าจะเอาเงินจากที่ไหนมาดำเนินการ หนทางที่เป็นไปได้มากที่สุดคือการขอรับบริจาคจากต่างชาติ แต่พวกเขาก็หวั่นเกรงสถานการณ์ความไม่มั่นคงภายในประเทศ

มีรายงานตัวเลขความเสียหายว่าใหญ่โตมาก ตลาดกว่า 1,600 แห่ง ห้างสรรพสินค้า 20 แห่ง ร้านค้าย่อย 2,480 แห่ง และรถบรรทุกนับพันคันที่ใช้ขนถ่ายสินค้า ถูกทำลายพังเสียหาย ศูนย์ขนถ่ายสินค้าหลักในกรุงจาการ์ตาชื่อ Mangga Dua ซึ่งมีพื้นที่เป็นอาคารหลายหลังถูกเผาทำลายเสียหายหมด การขนถ่ายสินค้าต่างๆ อาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มทั้งหลายที่ผ่านเข้า-ออกจาการ์ตารวมศูนย์อยู่ที่จุดนี้ ดังนั้นการที่ศูนย์ขนส่งนี้ถูกทำลาย ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนไปทั่ว โกดังสินค้าตามท่าเรือและเมืองชั้นรองของอินโดนีเซียต่างต้องเผชิญสถานการณ์ความขาดแคลนเช่นเดียวกัน ตลอดทั่วทั้งหมู่เกาะ พ่อค้าต้องหาวิธีการขนส่งสินค้าของตนเองไปสู่มือลูกค้า ผู้ค้ารายย่อยเองก็ไม่ทราบว่าจะหาผู้จัดส่งสินค้าจากที่ไหน คนขับรถบรรทุกต่างกลัวว่ารถของตัวจะถูกทำลาย จากกลุ่มคนที่ขโมยอาหาร

อันที่จริงกิจการขนส่งสินค้าของอินโดนีเซีย มีผู้ดำเนินงานรายใหญ่เพียง 2 รายเท่านั้น คือกิจการของลิม ซิว เหลียง (Liem Sioe Liong) เพื่อนสนิทของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต ชื่อกิจการ อินโดฟู้ด และ หน่วยงาน Bulog ของรัฐบาล ทั้งนี้ตามโครงการความช่วยเหลือของไอเอ็มเอฟนั้น ระบุว่าต้องยกเลิกการผูกขาดศูนย์ขนส่งสินค้าเหล่านี้

การซ่อมแซมศูนย์ขนส่งสินค้าของรัฐบาลคงจะดำเนินการได้ง่ายกว่าของเอกชน แม้ว่าท่าเรือ โกดังสินค้า และตลาดต่างๆจะได้รับการซ่อมแซมเพื่อให้ใช้งานได้แล้วก็ตาม ประเทศนี้ยังต้องการคนจีนเพื่อทำหน้าที่เป็นพ่อค้าซึ่งเป็นบทบาทที่พวกเขาดำเนินมานานนับแต่อดีต

พ่อค้าจีน-อินโดฯ ปัจจุบันเดินทางหนีเข้าไปอยู่ในสิงคโปร์กันเป็นส่วนมาก หลังจากที่ต้องตกเป็นแพะรับบาปเรื่องการที่สินค้ามีราคาเพิ่มสูงขึ้นมากและร้านรวงของพวกเขาถูกคนอินโดฯ ที่ไม่พอใจสถานการณ์ราคาสินค้าแพงบุกเข้าทำลายจนเสียหายพังทลายเป็นจำนวนมาก ตอนนี้รัฐบาลอินโดฯต้องการให้พวกเขากลับเข้ามาแล้ว

ประธานาธิบดีฮาบิบีซึ่งดำรงตำแหน่งชั่วคราวจนกว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่นั้น จะสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่างชาติที่จะเป็นผู้นำเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในประเทศได้หรือไม่ นี่อาจจะเป็นคำถามประเภทเดียวกับที่คนไทยมีคำถามต่อรัฐบาลนายกฯชวน หลีกภัย ว่ารัฐบาลชุดนี้จะแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศได้หรือไม่ หลังจากที่ใช้เวลาทำงานมากว่าครึ่งปีแล้ว

ความเห็นปราโมทยา

ข่าวล่าสุดอีกเรื่องหนึ่งจากอินโดนีเซียคือความเห็นจากนักเขียนนามกระเดื่อง ซึ่งเป็นคู่ปรปักษ์กับอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตและเคยต้องถูกกักขังในฐานะนักโทษ อยู่บนเกาะห่างไกลเป็นเวลานานถึง 14 ปี เขาคือ ปราโมทยา อนันตา ตูร์ (ผู้อ่านนิตยสาร โลกหนังสือ สมัยก่อน คงเคยได้ยินชื่อของเขา)

ผู้สื่อข่าวนิตยสาร FEER ได้สัมภาษณ์เขาเกี่ยวกับสถานการณ์ในอินโดนีเซีย เขากล่าวว่า "การลาออกของซูฮาร์โตเป็นเรื่องตลก อินโดนีเซียจะมีการปฏิรูปที่แท้จริงได้อย่างไร รัฐบาลชุดใหม่ก็ล้วนแต่เป็นคนที่มาจากกลุ่มอำนาจเก่าทั้งสิ้น"

ทั้งนี้ ปราโมทยา ซึ่งทุกวันนี้ยังคงถูกกักบริเวณอยู่แต่ในบ้านพัก เป็นผู้เขียนงานเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินโดนีเซีย ซึ่งรู้จักในนาม Buru Quartet งานชิ้นนี้เขียนขึ้นจากคำบอกเล่าของเขาระหว่างที่ถูกจับเป็นนักโทษ และงานชิ้นนี้เป็นผลงานต้องห้ามในประเทศอินโดนีเซีย แม้จะได้รับรางวัลในต่างประเทศ เขาก็ถูกห้ามไม่ให้เดินทางออกไปรับรางวัล

ปราโมทยา แม้จะเห็นว่าการต่อสู้เพื่อให้ประธานาธิบดีซูฮาร์โตต้องลาออกจากตำแหน่งของกลุ่มนักศึกษาเป็นขบวนการบริสุทธิ์ เป็นพลังเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดมาในประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย แต่เขาก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในโครงสร้างพื้นฐานในระบบที่ซูฮาร์โตสร้างสมไว้

ระบบดังกล่าวคือ New Order ซึ่งมีรากฐานอยู่ที่ลัทธิทหาร บทบาททางการเมืองของทหารนั้นมีกำหนดไว้โดยกฎหมาย แม้ว่าจะมีการถ่ายโอนอำนาจของทหารให้พลเรือนก็ตาม ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลพลเรือนอย่างไรเสียก็ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของทหาร ไม่ว่านักการเมืองจะพูดว่าอย่างไรก็ตาม

มองในมุมนี้เทียบกับไทย ก็ถือว่าเราหลุดจากจุดที่อินโดนีเซียยืนอยู่มาระยะหนึ่งแล้ว

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us