Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2541
ชินชัย หิรัญลาภ 'ถ้าคุณเกิดในช่วงตุลาฯ ความรู้สึกเรื่องชาติจะมาก่อนอย่างอื่น'             
 


   
search resources

ชินชัย หิรัญลาภ




ข้อความนี้แทบจะไม่ต้องบอกกล่าวอะไรมาก ถึงหนุ่มใหญ่ผู้นี้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเกือบจะค่อนชีวิต ประสบการณ์จากวันมหาวิปโยคได้หล่อหลอมความคิด ความรู้สึกรักชาติ จนฝังอยู่ในสายเลือด เขาเลือกที่จะเดินอยู่กลางสนามท่ามกลางแสงแดดอันร้อน ระอุเพื่อพลิกฟื้นให้สยามเมืองนี้เป็นสวรรค์ หากเมืองไทยมีคนอย่างเขาสักครึ่งค่อนประเทศ วันแห่งความขมขื่น เราคงไม่ได้สัมผัส ณ วันนี้ !

ชายร่างสันทัดมาดธรรมดาๆ ผู้นี้ ดูไม่ธรรมดานักเมื่อได้สนทนากับเขา ชินชัย หิรัญลาภ ผู้กำหนดเส้นทางเดินของตนเองที่หลายคนยากจะเข้าใจ ปัจจุบันเขาเป็นผู้จัดการบริษัท เอ.พี. เอนจิเนียริ่งแอนด์ซัพพลาย จำกัด กิจการที่เขาก่อตั้งขึ้นด้วยตนเองเมื่อ 15 ปีที่แล้ว รับตกแต่ง สวน จัดสวน ออกแบบสวน ดูแลรักษาสวน และประเมินราคา

การศึกษาเป็นแหล่งสำคัญที่หล่อหลอมความคิดของเขา ให้กลายมาเป็นคนที่ติดดินจนถึงทุกวันนี้ จากมกุฏกษัตริยาราม ไปสู่เตรียมอุดมศึกษา และลงเอยที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากนั้นอีกไม่นานเขาก็คว้ามหาบัณฑิตทางด้านธุรกิจ จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามประสาของคนเข้าขั้นมีอันจะกินและเรียนดี

ดูเหมือนว่าทุกย่างก้าวของชีวิตเรียบง่ายและราบรื่น จากรั้วจามจุรีที่พกเอาดีกรีบัณทิตทางวิศวกรรมไฟฟ้า ก็ถูกรุ่นพี่ร่วมสถาบันดึงตัวเข้าทำงานที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ หลังจากนั้นก็ลาออกมาทำธุรกิจก่อสร้าง ตามด้วยส่งออกนำเข้า และสุดท้ายชีวิตก็ผกผันเข้าสู่แวดวงดูแลและจัดสวนจวบจนทุกวันนี้

"ลักษณะการเคลื่อนไหวในการทำธุรกิจของผมจะค่อนข้างสับสน ถ้ามองอย่างตรงไปตรงมา แต่ถ้าถามถึงจิตวิญญาณของผม ในช่วงที่ผมอยู่การไฟฟ้าฯ ผมค่อนข้างประสบความสำเร็จในการทำงาน แต่ที่ต้องออกมาทำส่งออก-นำเข้า เพราะผมกลัวประเทศเราเสียเปรียบด้านการค้า เพราะตอนนั้นคนไทยจะให้การยอมรับต่างชาติมาก เวลาที่เขามาเสนออะไร ไม่มีการแข่งขัน ไม่มีการเปรียบเทียบ เขาเสนออะไรมาก็รับหมด ซึ่งตอนนั้นผมก็คิดการใหญ่ว่าจะต้องมีบริษัทคนไทยที่เข้ามาแข่ง ตอนหลังก็มีเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามา และเราก็เกี่ยงกันว่าใครจะทำให้เป็นรูปธรรม ผมก็คิดว่าเราไม่ต้องเกี่ยงใคร ผมจะทำ การที่ผมเข้ามาทำก่อสร้างนั้นเป็นเรื่องของพลังงานแสงอาทิตย์ แผงโซลาร์ต่างๆ ซึ่งตอนนั้นมีการนำเข้ามาแพงมาก เพราะว่าคนไทยไม่สามารถวิเคราะห์คุณสมบัติของ material ได้ แต่เราเป็นวิศวกรเราเข้าใจ คือตอนนั้นเราอยากประหยัดเงินให้ประเทศ ถ้าคุณเกิดในช่วงตุลาฯ ความรู้สึกเรื่องชาติจะมาก่อนอย่างอื่น เราคิดว่ามันเกิดมาจากจุดนี้มากกว่า และการเข้ามาทำธุรกิจผมคิดว่ามันเป็นการทำเพื่อยังชีพเท่านั้นเอง ถึงวันนี้ความคิดเหล่านี้ยังไม่เปลี่ยนมันฝังเข้าไปในจิตวิญญาณแล้ว และผมก็ถือว่าผมต้องทำเพราะผมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ" ชินชัย พยายามชี้ให้เห็นถึงแก่นแท้แห่งความคิดในการทำธุรกิจของเขา ซึ่งครั้งหนึ่งเขาคนนี้ได้เข้าไปรับจ้างผลิตปุ๋ยจากขยะให้กับกรุงเทพมหานคร ซึ่งในขณะนั้น กทม.ประสบปัญหาการจัดการกับขยะที่มีมากถึงวันละ 7,000 ตัน แต่หลังจากนั้นไม่นานโครงการนี้ก็จบลง เพราะ กทม.นำขยะเหล่านั้นไปถมที่แทน

ทุกวันนี้ ชินชัย ขะมักเขม้นอยู่กับการพลิกฟื้นสภาพแวดล้อมให้กับคนกรุง ก่อนที่จะสายเกินแก้ พร้อมทั้งเดินสายประมูลงานในส่วนราชการต่างๆ เพียงหวังเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวที่กำลังลดน้อยถอยลง ไม่ให้หมดไปจากประเทศไทย ถ้าวันนั้นมาถึงคนไทยอาจจะต้องซื้อออกซิเจนจากต่างประเทศเข้ามาหายใจก็เป็นได้ ซึ่งเขามักจะพูดอยู่เสมอว่า ถ้าเขาเลือกได้เขาต้องการเข้าไปจับงานในหน่วยราชการ ที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ไม่มีอะไรเลย

"การแก้ปัญหาเรื่องอากาศหายใจ หรือแหล่งน้ำ ถ้ามองในภาพจริงๆ มันเปิดกว้างมากขึ้น แต่ถ้ามองดีมานด์ในตอนนี้ไม่แน่นอน เพราะว่ามันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ถ้ากระแสของประชาชนที่กำลังเจอภาวะคับขันในเรื่องของเศรษฐกิจเห็นว่า ในขณะที่ทุกอย่างไม่ดี แต่เราเริ่มเข้ามาปรับปรุงแก้ปัญหากันตั้งแต่วันนี้ โดยที่บริษัทใหญ่ๆ ที่พอมีกำลัง หรือภาคราชการมาช่วยกันปรับปรุง และกระแสของคนแทนที่จะนิยมพักผ่อนตามแหล่งบันเทิง หันมาเริ่มพักผ่อนตามสวนสาธารณะหรือสวนสุขภาพ มันก็จะเกิดมันอยู่ที่ชุมชน เพราะไม่ว่าคนจะอยู่ในสภาวะเครียด หรืออะไรก็ตามเขาต้องการพักผ่อน นอกจากที่เราจะได้พักผ่อนแล้วเรายังได้บ้าน และประเทศที่สวยเหมือนเดิม มีพื้นที่สีเขียว...ที่ผ่านมาเป็นเพราะเศรษฐกิจบ้านเราดี และผมก็ต้องขอบคุณบริษัทใหญ่ๆ ที่ยังคิดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่ ยิ่งถ้าเราล้มเหลวในเรื่องนี้ในยุค globalization เงินทุนต่างชาติเข้ามา เรายิ่งไม่รู้ว่าเขาเข้ามาแล้วเวลาเขาถอนเงินออกไปบ้าน เมืองเราจะร้อนระอุมากแค่ไหน"

ก่อนที่จะทำงานใหญ่ดังที่ใจเขาหวัง สิ่งแรกที่ต้องทำคือตนเองและคนรอบข้าง และดูเหมือนว่าภารกิจในการปลูกฝังจิตสำนึกให้พนักงานของบริษัท เอ.พี.ฯ ให้รู้สึกรักและหวงแหนในต้นไม้ที่ตนเองบ่มเพาะฟูมฟักดูแลเป็นไปได้ไม่ยากนัก เพราะพนักงานที่นี่ส่วนใหญ่จะจบสายตรงจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขณะเดียวกันก็พยายามรักษาคุณภาพของงานให้ดียิ่งขึ้น และสมกับราคาค่างวดที่ผู้ว่าจ้างได้ควักจ่ายออกมาด้วย เพราะอย่างน้อยก็เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า พวกเขาได้มองเห็นคุณค่าของต้นไม้และสิ่งแวดล้อมแล้ว ซึ่งคุณภาพที่เสมอต้นเสมอปลายนี้เองที่ทำให้ชื่อของ เอ.พี. เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง จนทำให้เขาสามารถยืนอยู่ ณ จุดนี้ได้อย่างภาคภูมิจนถึงบัดนี้

"ผมทำธุรกิจมักจะมองว่าผู้รับบริการจะได้อะไรจากผม ซึ่งผมเองจะรู้ว่าต้นไม้คลุมดินจะหมดสภาพภายในกี่เดือน เราจะมีการเตรียมชำไว้ และมีวิธีการป้องกันไม่ให้มันเกิดปัญหาก่อน ซึ่งตรงนี้เราถือว่ามันเป็นการตอบแทน บางครั้งเขาจ้างเราดูแลแล้ว เราต้องไปซ่อมทรัพย์สินให้เขานี่มันมากกว่าค่าที่เขาจ่ายค่าดูแลให้เรา เพราะบางครั้งเราต้องชำต้นไม้ถึง 30,000 ต้นต่อเดือน ขณะที่มูลค่างานไม่เท่าไหร่ถ้าเราไปซื้อก็หลายแสนบาท ที่ผ่านมาเราจะทำงานสไตล์นี้

จริงๆ แล้วในการดูแลสวน ผู้ว่าจ้างเขาจะคิดค่าใช้จ่ายให้เราแค่นี้ แต่เรามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น เช่น เครื่องมือ ค่าดูแลรักษาเครื่องมือ วัสดุปุ๋ยที่เราจะต้องมี คือเราทำเราจะต้องมีความรู้ว่าเราจะต้องใส่ปุ๋ยอย่างไร การหาเมล็ดพันธุ์ หรือการชำต้นไม้ การทำเนิร์สเซอรี่ต้นไม้เพื่อที่จะซัปพอร์ต ถ้าคนที่จะเข้ามาทำธุรกิจนี้จริงๆ การที่จะมองเพียงตัวเงินอย่างเดียวไม่เวิร์ค เพราะแค่เพียงมานั่งรดน้ำอย่างเดียวมันไม่สวย แต่คุณจะต้องมีความคิดที่จะปรับปรุงอะไรต่างๆ ที่จะต้องนำเข้ามา ซึ่งตรงนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างมาก และตอนนี้เราก็คิดว่าพวกเศษใบไม้กิ่งไม้ที่จะมีปัญหาในการขนย้าย เราจะนำมาทำรีไซเคิล คือบริษัทผมนี่กำลังเริ่มจะทำปุ๋ยธรรมชาติจากตรงนี้ ซึ่งผู้ว่าจ้างเขาก็ไม่ได้ให้เราทำ แต่ผมคิดว่ามันเป็นการลดขยะของเมือง และขณะเดียวกันเรามาดูตัวเลขการสั่งปุ๋ยเคมีเข้ามาจากต่างประเทศ ผมดูตัวเลขเป็นเงิน 7-80,000 ล้านบาท ผมว่ามันมากเกินไป ปุ๋ยถ้าเป็นไปได้ เราจะใช้ปุ๋ยอินทรีย์คือปุ๋ยที่มีในประเทศ คือจะใช้ขี้เถ้าแกลบ รำข้าว ที่มีโรงงานทำขายอยู่แถวสุพรรณบุรี ลพบุรี นี่เราจะเป็นลูกค้าพวกนี้มากกว่า ส่วนปุ๋ยเคมีเราจะใช้เป็นส่วนผสมเพื่อที่จะ mix กันเท่านั้นเอง เพราะปุ๋ยเคมีถ้าเราเข้าใจในเรื่องต้นไม้ดี มันจะทำให้ดินเสียหมดเลย คือมันได้ผลเร็วมาก แต่ว่ามันจะทำลายสิ่งแวดล้อม"

เพื่อให้มองภาพของธุรกิจจัดสวนที่เขาทำอยู่ในตอนนี้ได้กระจ่างชัดมากขึ้น ชินชัยได้แบ่งลักษณะงานของธุรกิจนี้ออกเป็น 4 อย่างด้วยกัน คือการให้คำปรึกษา การออกแบบ งานจัดสวน และการดูแลสวน ซึ่งเขาได้ให้ความสำคัญกับงานดูแลสวนมากที่สุด แม้ว่าจะให้ผลตอบแทนในเชิงธุรกิจน้อยที่สุดก็ตาม "เพราะคนยังไม่เห็นคุณค่าของการดูแลสวน หลังจากที่จัดไปแล้ว ผมมองว่าสวนที่จัดไปแล้วถ้าไม่ดูแลก็ไม่มีประโยชน์อะไร การที่คุณจัดสวน คุณลงทุนคุณสามารถจ้างคนดูแลได้ตั้งอีก 40 ปีจากมูลค่าสวนที่จ้างจัด อย่างสวนบางสวน 40 ล้านบาทเราสามารถที่จะจ้างคนดูแลและรักษาสภาพสวนได้ถึง 40 ปี เฉลี่ยปีละ 1 ล้านบาท แต่ถ้าถามตอนนี้คนที่เขาเข้ามาจับงานการดูแลนี้มันมี variant มาก บางคนเข้ามาเพราะว่าไอเอ็มเอฟ บางคนเข้ามาเพราะความไม่รู้นึกว่าเข้ามาดูแลรดน้ำต้นไม้เฉยๆ แต่จริงๆ แล้วมันมีต้นทุนอะไรอีกมากมาย"

ต้นทุนที่เขากล่าวถึงนั้นก็จะมีตั้งแต่ต้นไม้ ดิน ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง คนงาน ค่าใช้จ่ายของผู้ที่เข้ามาคุมงาน เช่น ผู้จัดการไซต์ หัวหน้างาน ตลอดจนถึงค่าโสหุ้ยอื่นๆ อีกจิปาถะ ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้ ชินชัยยืนยันอย่างหนักแน่นว่าไม่มีค่าน้ำร้อนน้ำชาอย่างแน่นอน "บางปีฝนตกดี ไม่มีแมลง โรค และคนใช้บริการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ค่าเสียหายก็น้อย ซึ่งบางอย่างมันมองไม่เห็น หรือบางอย่าง เช่น อยู่ดีๆ โรคลงทั้งแปลงเลย"

ในทัศนะของเขา ชินชัยมองว่าสถาบันการศึกษาของประเทศไทย ยังไม่มีการผลิตบุคลากรสำหรับเข้ามาทำธุรกิจนี้โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเกษตร หรือด้านภูมิสถาปัตย์ เพราะในการทำงานจริง การจัดสวน ดูแลสวน จะต้องมีแผนแม่แบบที่ได้มาตรฐาน และลดค่าใช้จ่าย และที่สำคัญจะต้องมีแหล่งน้ำ เพราะถือว่าเป็นหัวใจของธุรกิจนี้

"ช่วงนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ สถาปนิก วิศวกร ต้องเป็นผู้ที่เริ่มต้นก่อนว่าเราจะมีการปรับปรุงอย่างไรให้มันมีแหล่งน้ำ เพื่อที่จะไม่ต้องใช้น้ำประปา เราต้องคิดให้เป็นระบบให้ครบ แต่ตอนนี้ไม่มี"

ทุกวันนี้ ชินชัย มีพื้นที่ที่จะต้องเข้าไปดูแลมากกว่า 1,000 ไร่ และเขายังเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง แม้ว่าจะถูกมรสุมเศรษฐกิจพัดกระหน่ำเข้าให้ เพราะเขายังมีพนักงานที่ไม่มีความผิดอันใดจากความตกต่ำทางเศรษฐกิจนี้ต้องดูแล ให้พวกเขาต้องมีรายได้ในการดำรงชีวิตอยู่ต่อไป แม้ว่าวันนี้เขาจำต้องควักเนื้อตัวเองก็ตาม เพราะงานที่ทำเก็บเงินไม่ได้

"ตอนนี้ผมบริหารเงินสดใช้วิธีชาวบ้านเลย คือตอนนี้ทุกหน่วยงานเราเก็บเงินไม่ค่อยได้เพราะเงินไม่มี เราจะใช้เงินของเราไปก่อน คือตอนนี้ทุกบริษัทที่ล้มไปเพราะเจอปัญหาเรื่อง cash flow แต่ตัวเจ้าของบริษัทที่มีเงินทำไมไม่เข้ามาช่วยกันประคองธุรกิจ คือเอาเงินส่วนตัวเข้ามาช่วยธุรกิจตัวเองไปก่อน ถ้าเรายังมีกำลังและไม่คิดว่าลูกหนี้ที่เรามีอยู่ไม่เป็นหนี้สูญ ในส่วนตัวของผมจะบริหารบริษัทในลักษณะที่ conservative มาก ในช่วงที่เขาบูม ผมก็ไม่บูมมากกว่าที่ผมจะเข้าไปทำตรงจุดหนึ่งได้ ผมต้องสร้างคนก่อน ผมถือว่าเป็นหน้าที่... ผมบอกเลยว่าก่อนนี้เคยขายได้วันละ 100 บาท แต่ตอนนี้ได้วันละ 10-20 บาท มัน slow มาก แต่ที่เราอยู่ได้เพราะเราเน้นคุณภาพ ตอนนี้บอกตรงๆ ผมไม่ได้คิดเรื่องกำไรขาดทุน ผมคิดเพียงว่าคนงานที่อยู่กับผม แล้วเขาฝึกจนมีฝีมือ มีความชำนาญตัดแต่งต้นไม้ได้สวยได้เร็ว เขาก็เหมือนกับทุกคนที่ทำอาชีพ พอตกงานก็ไปเริ่มอาชีพใหม่มันอาจจะสายไป หรือไม่ก็ไม่รู้จะไปทำอะไร ผมว่ามันเป็นการสูญเสียบุคลากรของประเทศ ผมจะพยายามเลี้ยงคนของผมเท่าที่จะเลี้ยงได้"

หากจะกล่าวถึงความรักชาติของชายผู้นี้ ก็คงไม่แพ้ชายชาติทหาร ที่คอยรับคมหอกคมดาบและห่ากระสุนของผู้รุกรานตามแนวชายแดนไกลโพ้นโน่นเป็นแน่ เพราะความรักอันยิ่งใหญ่ที่เขามอบให้แก่แผ่นดินเกิด ได้สะท้อนออกมาจากการกระทำและคำพูดของเขา ให้เราในฐานะคนไทยได้ตระหนักถึงสิ่งนี้ ในยามที่ชาติบ้านเมืองกำลังอยู่ในห้วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้

"พูดจริงๆ ผมตั้งใจว่าผมอยากทำสิ่งแวดล้อม และเข้าไปใน real section ของเกษตร ผมไม่ได้คิดขึ้นมาในวันนี้แต่คิดมา 10 กว่าปีแล้ว เพราะผมมีความรู้สึกว่า ประเทศเราเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารให้โลก แต่เราขาดข้อมูลข่าวสารว่าช่วงไหนเราควรจะผลิตอะไร ไม่ใช่เราจะไปเอาเปรียบประเทศอื่น แต่ในฐานะที่เราเป็นประเทศที่ผลิตอาหารป้อนโลก และพื้นที่เราก็อุดมสมบูรณ์พอที่จะทำได้ เราก็ควรจะผลิตในสิ่งที่โลกต้องการ มันก็เป็นการเพิ่มให้คนในประเทศอยู่ดีกินดีขึ้น และตอนนี้มันเป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร แต่เราไม่ได้นำมาใช้ในเรื่องพวกนี้ และอีกเรื่องที่ผมต้อง ทำคือสิ่งแวดล้อมซึ่งผมไม่เลิกล้มแน่ ยิ่งตอนนี้เรามีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมี อบต. มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ประชาชน มีอำนาจ แต่ถ้าเกิดทุกคนทำกันคนละทิศคนละทางก็ไม่รู้ว่าประเทศเราจะเกิดอะไรขึ้นมา ...

ตอนนี้จะว่ากันไปแล้วทุกคนสับสนไปหมด ตอนนี้ไม่มีสิทธิคิดอะไรเลย สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือว่าตอนนี้เราเจอปัญหาวิกฤตจนคนรู้สึกว่ายังหาทิศทางไม่เจอ เพราะผมรู้ว่าต้นทุนสิ่งแวดล้อมนี่แพงมาก วันหนึ่งถ้ากรุงเทพฯ fail ลองนึกสภาพดูว่ามันจะเป็นอย่างไร ฉะนั้นอย่าไปคิดว่าราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนรายใหญ่ที่เขาคิดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม สำคัญเป็นเรื่องที่เลวร้าย ตอนนี้ผมบอกได้เลยว่าในกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวไม่ถึง 5% ถ้ามองจากภาพทางอากาศแล้ว ถ้าไม่ได้พวกนี้เราจะขาดออกซิเจนไปตั้งเท่าไหร่ ถ้าวันนั้นมาถึงผมเป็นคนหนึ่งที่จะไม่ยอมใส่หน้ากากมีถังออกซิเจน ซึ่งจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศด้วย สิ่งที่ผมอยากจะทำตอนนี้คือบริษัทหรือโรงงานที่มีมลภาวะสูงๆ เช่นพวกปิโตรเคมี พลังงานต่างๆ จริงๆ แล้วธุรกิจนี้มันมีความจำเป็นจริงๆ ผมว่า ณ เวลานี้เราอย่ามาคุยกันว่าธุรกิจไหนจะโตหรือไม่โต คือตอนนี้ผมว่ามันเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะช่วยกันรักษา อย่างตัวผมเองเผอิญผมทำตรงนี้และอยากจะให้คนเข้าใจ เพราะมันต้องช่วยกันคนละด้าน นั่นคือสิ่งจุดประกายให้ผมเข้ามาธุรกิจสวน ผมคิดว่าอย่างเกาะพีพี สิมิลัน ผมว่าให้นักท่องเที่ยวเสียค่าบริการส่วนหนึ่งโดยที่ส่วนราชการไม่ต้องไปเสียภาษีดูแล ให้เขาดูแลรักษากันเองโดยมีคนของราชการตรวจ ผมคิดว่าเราจะสามารถรักษาสิ่งแวดล้อมได้ เพราะตอนนี้เราบริโภคทรัพยากรจนหมด สิ่งแวดล้อมเราก็บริโภคจนหมดเลย ผมมองว่าตรงนี้เป็นจุดที่สำคัญมากกว่า ตอนนี้บอกตรงๆ เลยว่าใครที่คิดเรื่อง trend ประสาท

การที่ผมพูดอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าผมไม่เข้าใจธุรกิจ ผมจบบริหารธุรกิจมา ทฤษฎีตอนนี้ใช้ไม่ได้เลย มีอย่างเดียวก็คือว่าประเทศเราจะอยู่รอดหรือไม่ คนไทยต้องมีจิตสำนึก คนไทยต้องรักแผ่นดินที่ตัวเองอยู่ อย่างผมทำงานที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ผมก็จะดูแลของผม อย่างบุคลากรของผมจะเข้มงวดมากในเรื่องของการทำงาน พวกเขาจะต้องทำงานให้ดีให้มีคุณค่าขึ้นมา ถ้าทุกคนทำกันอย่างนี้ผมว่าบ้านเมืองเราอยู่รอด"

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us