ผ่านไป 1 ปีเต็มของการใช้นโยบายลอยตัวค่าเงินบาท สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศกลับมีแต่ปักหัวดิ่งลง
ปัญหาเดียวที่แก้ไม่ตก คลี่คลายไม่ออก คือเรื่องการขาดสภาพคล่องทางการเงิน
และอัตราดอกเบี้ย ในประเทศสูง ซึ่งทั้งสองประเด็นสัมพันธ์กับเรื่องภาระหนี้สินที่ทางการมีอยู่ในปัจจุบัน
ดร.ธีระ อัชกุลแห่ง IFCT เสนอทางออกในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ เขาต้องการให้แก้ปัญหาเรื่องนี้โดยเร่งด่วน
เพราะแต่ละนาทีที่ผ่านไป ภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลก็พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งเพิ่มปัญหาให้ประชาชนผู้เสียภาษีหนักขึ้นด้วย
แต่ดูเหมือนข้อเสนอของเขาจะไม่ใคร่ได้รับการตอบรับจากทางการสักเท่าใด ! ทำไม?
1 ปีเต็มของการใช้นโยบายลอยตัวค่าเงินบาท หรือที่เรียกว่า managed float
rate กลับมีผลทำให้เศรษฐกิจยิ่งตกต่ำดิ่งวูบลงอย่างน่าใจหาย ธุรกิจ เอกชฟนพังพินาศไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่
ต่างดิ้นไม่หลุดจากวงจรอุบาทว์ของการขาดสภาพคล่องทางการเงิน และอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่สูงลิ่ว
ซึ่งนโยบายประการหลังนี้เป็นการกำหนดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ ไอเอ็มเอฟ
ที่ต้องการรักษาเสถียรภาพค่าเงินในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการตรึงอัตราดอกเบี้ยให้สูงไว้
อย่างไรก็ดี นโยบายอัตราดอกเบี้ยสูงได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศย่านนี้อย่างรุนแรง
เพราะอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่ขอรับการช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ
ล้วนแต่ถดถอยกว่าที่ไอเอ็มเอฟคาดหมาย โดยเฉพาะประเทศไทยนั้น แม้ว่าจะมีความคืบหน้าในการเซ็นหนังสือแสดงเจตจำนงฯ
หรือ letter of intent แล้วถึง 4 ฉบับ แต่ปรากฏว่าในสาระสำคัญของหนังสือแต่ละฉบับนั้น
ต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงตัวเลขการทำนายทางเศรษฐกิจใหม่ในทุกครั้งไป โดยเฉพาะตัวเลขการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
ตัวเลขการส่งออก และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (วัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
หรือ GDP Growth) (ดูตาราง Revised Macroeconomic Framework ประกอบ)
ส่งออกไม่ดี เฉพาะประเทศคู่ค้าในเอเชีย
การที่อัตราการส่งออกลดต่ำลงเรื่อยๆ นั้น หากพิจารณาให้รอบคอบจะเห็นว่า
การส่งออกไปประเทศทางตะวันตกยังขยายตัวดีอยู่มาก แต่มีปัญหาเรื่องการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในเอเชีย
(ญี่ปุ่น และประเทศในกลุ่มอาเซียน - ดูตาราง - Export Growth by Major Market)
เพราะประเทศเหล่านี้ก็มีปัญหาทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับประเทศไทย เช่น สิงคโปร์ก็มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำมากในปีนี้
ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าสาเหตุที่การส่งออกไทยไม่ดีในช่วงที่ผ่านมานี้
เป็นเพราะประเทศคู่ค้าที่สำคัญในแถบเอเชีย ต่างมีปัญหาทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน
ไม่ใช่ปัญหาเรื่องเงินบาทอ่อนตัวไม่พอ แต่เป็นเพราะ "เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ประสบปัญหาอย่างรุนแรงต่างหาก"
การส่งออกของประเทศในกลุ่มอาเซียนต่างไม่ดี (ดูกราฟ - ASEAN: Exports)
ยกเว้น ฟิลิปปินส์ เพราะตลาดส่งออกรายใหญ่ของฟิลิปปินส์ คือสหรัฐฯ ดังนั้นฟิลิปปินส์จึงมีสถานะการส่งออกที่ดีที่สุดในภูมิภาคนี้
ไต้หวันเองก็มีปัญหาเรื่องการส่งออก จีนก็มีปัญหาเช่นกัน ถึงแม้ว่าจีนจะลดค่าเงินหยวนก็อาจจะขายสินค้าไม่ได้
เพราะประเทศคู่ค้าในแถบนี้ล้วนประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจด้วยกันทั้งสิ้น (ดูตาราง
4 - North Asia : Exports)
แนวทางไอเอ็มเอฟถูกแต่การประเมินตัวเลขเศรษฐกิจผิดตลอด
ดร.ธีระ อัชกุล กล่าวว่า "ผมเชื่อว่าแนวทางไอเอ็มเอฟมีหลายอันที่ถูก
แต่จากตารางอันนี้ก็แสดงให้เห็นว่า ไอเอ็มเอฟมีที่ผิดด้วย คือ ไอเอ็มเอฟมีการประมาณการเศรษฐกิจไทยผิดพลาดอย่างคงเส้นคงวา"
กล่าวคือในการประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเพื่อลงนามในหนังสือสัญญาแต่ละครั้งนั้น
ไอเอ็มเอฟก็ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจต่ำลงเรื่อยๆ ขณะที่นักวิเคราะห์อื่นๆ
นั้นได้ประเมินต่ำสุดแต่แรกแล้ว เช่น รอยเตอร์ประเมินว่าไทยจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง
5.5% บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมฯ (ไอเอฟซีที) ก็วิเคราะห์ไว้ที่ 5.5% เช่นกัน
ขณะที่ไอเอ็มเอฟต้องใช้เวลานาน กว่าจะเห็นภาพว่าเศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตลดลงจริงๆ
นอกจากนี้ก็มีข้อน่าสังเกตว่า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดเวลาในหนังสือแสดงเจตจำนงฯ
ทุกฉบับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทางการไทยหรือไอเอ็มเอฟ มีการประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจดีกว่าเป็นจริง
ไม่ทันเกมภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจของไทย และมองภาวะเศรษฐกิจดีกว่าที่เป็นจริง
ทั้งนี้ทางการคิดว่าการส่งออกไทยน่าจะดี (แต่ในความเป็น จริงคือตัวเลขการส่งออกไม่ได้ดีขึ้น
เพราะเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ต่างพังพินาศเหมือนกัน) "อาจกล่าวได้ว่า การเกินดุลเป็นอาการหรือ
symptom ของภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ เมื่อมีภาวะเศรษฐกิจถดถอย จะมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด
เพราะประเทศไม่มีเงินไปซื้อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ดุลบริการจึงเกินดุลมาก
การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดครั้งนี้ ถือเป็นการเกินดุลที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย"
ดร.ธีระตั้งข้อสังเกต
เมื่อทางการไม่เห็นว่าเศรษฐกิจไทยหนักหน่วงกว่าความเป็นจริง ทำให้ตั้งเป้าต่างๆ
ผิดพลาด โดยเฉพาะเป้าหมายทางการเงิน ทั้งนี้ในภาวะที่เศรษฐกิจดี ทางการก็สามารถตั้งเป้าหมายทางการเงินให้ตึงได้
แต่ในยามเศรษฐกิจไม่ดี ควรจะมีการผ่อนคลายเป้าหมายทางการเงินลง
เมื่อทางการคาดหมายเป้าหมายทางเศรษฐกิจผิดพลาด ก็ทำให้ตั้งเป้าหมายนโยบายทางการเงินเข้มงวด
โดยเฉพาะเป้าหมายในเรื่องที่อนุญาตให้ฐานเงินหรือ monetary base มีจำนวนสูงสุดได้เท่าไหร่
(ดูตาราง Targeted and Actual Monetary Base)
อนึ่ง ฐานเงินคือเม็ดเงินสุทธิที่ปล่อยออกไปจากแบงก์ชาติและกองทุนฟื้นฟูฯ
ในช่องทางต่างๆ หรือเงินสดหมุนเวียนในมือภาคเอกชนและเงินฝากของสถาบันการเงินที่แบงก์ชาติ
เมื่อเดือน ธ.ค. 2540 รัฐบาลและไอเอ็มเอฟกำหนดเป้าหมายของฐานเงินไว้ที่ระดับ
489 พันล้านบาท หากไอเอ็มเอฟประมาณการเศรษฐกิจต่ำลงมากว่าที่ทำไว้ตอนนั้น
(ที่คาดว่า GDP Growth จะเท่ากับ 3.5%) ก็จะให้ฐานเงินที่สูงกว่านี้ แต่ที่เป็นมาคือกำหนดฐานเงินให้ต่ำไป
(ซึ่งหากคำนวณปริมาณเงินหมุนเวียนในประเทศ ต้องเอาตัวทวีคูณมาคูณ ซึ่งมีค่าประมาณ
8-10 หากฐานเงินต่ำกว่าที่ควรจะเป็นประมาณหมื่นล้านบาท ก็เท่ากับปริมาณเงินหมุนเวียนมีน้อยกว่าความต้องการจริงถึงแสนล้านบาท)
อีกตัวหนึ่งคือเรื่องการใช้จ่ายของรัฐบาล หากไอเอ็มเอฟยอมให้ทางการมีการขาดดุลงบประมาณได้
ตั้งแต่หนังสือแสดงเจตจำนงฉบับ 2 หรือ 3 ก็จะช่วยเรื่องนี้ได้ นอกจากนี้ฐานเงิน
489 พันล้านบาทค่อนข้างตึงไป แต่ทางการยังเพิ่มได้ไม่เท่าที่ไอเอ็มเอฟกำหนด
คือเพิ่มแค่ 455 พันล้านบาทเท่านั้น จึงยิ่งทำให้เม็ดเงินที่จะไหลเข้ามาสู่ระบบหายไปเป็นจำนวนมหาศาล
เมื่อทางการเพิ่มฐานเงินแค่ 455 พันล้านบาท ดังนั้นในหนังสือแสดงเจตจำนงฯ
ฉบับที่ 3 ไอเอ็มเอฟจึงให้ฐานเงินแค่ 480 พันล้านบาทเท่านั้น หรือเพิ่มให้แค่
25,000 ล้านบาท และทางการก็ปล่อยให้มีฐานเงินต่ำกว่านั้นลงไปอีก เหลือแค่
451 พันล้านบาท ทำให้มีผลสะสมมาจนปัจจุบัน กล่าวคือไอเอ็มเอฟตั้งเป้าฐานเงินหดแคบลงเรื่อยๆ
ขณะที่ทางการก็ปล่อยให้มีเม็ดเงินออกมาน้อยลงไปกว่าที่กำหนดอีก
หากทางการเพิ่มฐานเงินได้ตาม ที่ไอเอ็มเอฟอนุญาตให้ทำ ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาฐานเงินก็น่าจะเป็น
514 พันล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าความเป็นจริงอยู่ในตอนนี้
การกำหนดฐานเงินต่ำกว่าที่ควรจะเป็นและในทางปฏิบัติยังทำให้ต่ำลงไปอีก
ก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาเรื่องสภาพคล่องมากขึ้น ดร.ธีระกล่าวว่า "การกำหนดฐานเงินควรจะมีความอะลุ้มอล่วยมากกว่านี้
เพราะการเดินสะพัดของเงิน (velocity) ในปัจจุบันฝืดเคืองอย่างมาก นี่เป็นเรื่องหนึ่งซึ่งในการกำหนดเป้าหมายต่างๆ
ของไอเอ็มเอฟควรรอบคอบ และทำตัวนี้ให้ดี หากทำตัวนี้ไม่ดี การคาดหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ผิดอยู่เรื่อยๆ"
เกินดุลบัญชีเกือบ 400,000 ล้านบาท
ไม่ได้ช่วยเรื่องสภาพคล่องแม้แต่น้อย!
เมื่อมองไปที่ตัวเลขการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งเป็นเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
และถือเป็นการเกินดุลครั้งที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยนั้น หากจะมีใครหวังว่าเม็ดเงินตัวนี้จะกลับเข้ามาช่วยสภาพคล่องนั้น
คำอธิบายของ ดร.ธีระก็ช่วยทำให้ความหวังนั้นสลายไปในพลัน เพราะแบงก์ชาติประกาศนโยบายออกมาชัดเจนว่า
ภายในปีนี้ต้องการลดภาระการทำ forward obligation ที่ทำไว้เมื่อมีการนำเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ
ไปสู้การเก็งกำไรค่าเงินบาทในตลาดต่างประเทศ
ภาระ forward obligation มีประมาณ 23,000 ล้านเหรียญฯ เมื่อเดือนสิงหาคม
2540 (ดูตาราง - Net Forward Position) ซึ่งในเดือนพฤษภาคม 2541 สามารถลดลงเหลือ
13,400 ล้านเหรียญฯ แบงก์ชาติมีเป้าหมายว่าจะลดภาระตัวนี้ในตลาดออฟชอร์ หรือตลาดซื้อขายเงินตราต่างประเทศในต่างประเทศให้หมดภายในปีนี้
ซึ่งคาดว่าเป็นเม็ดเงินราว 1,800 ล้านเหรียญฯ และจะคงเหลือภาระนี้ในตลาดออนชอร์
หรือตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ในประเทศไว้เป็นจำนวน 9,000
ล้านเหรียญฯ
นั่นเท่ากับว่าเม็ดเงินที่เกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะถูกใช้ไปในการทำ
forward ตามนโยบายดังกล่าว การเกินดุลฯ ที่จะเกิดในปีนี้ประมาณ 7.3% ของ
GDP หรือราว 367 พันล้านบาทนั้น จะไม่ช่วยสภาพคล่องหรือช่วยระบบเศรษฐกิจในปีนี้เลย!
ดร.ธีระให้ความเห็นว่า "ปีนี้เป็นปีที่ต้องล้างบ้านให้สะอาด หรือแก้ไขปัญหาให้ได้"
ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพแล้ว แต่ยังผันผวนได้อีก ขึ้นอยู่ที่เยนกับหยวน
ในช่วงที่เงินเยนมีค่าแข็งขึ้นมากในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา จากที่เคยอยู่ในระดับ
130 เยนต่อ 1 เหรียญฯ ได้อ่อนตัวลงสู่ระดับ 145 เยนต่อ 1 เหรียญฯ เมื่อกลางเดือนมิถุนายน
และเป็นช่วงที่มีค่าผันผวนมากนั้น (ดูกราฟ - USD/JPY Exchange Rate Movement)
ปรากฏว่าเงินบาทมีเสถียรภาพมาก โดยนับแต่เดือนเมษายน 2541 เป็นต้นมา เงินบาทมีค่าอ่อนลงเพียง
2.8% เท่านั้นเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ขณะที่ค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ต่างอ่อนตัวลงมากกว่าค่าเงินบาท
(ดูตาราง -% Change of Exchange Rates)
สกุลเงินที่มีค่าอ่อนลงมากที่สุด คงหนีไม่พ้นเงินรูเปียของอินโดนีเซีย
ที่มีค่าอ่อนลงถึง 42.86% ขณะที่เงินวอนของเกาหลีใต้กลับมีค่าแข็งขึ้นด้วยซ้ำ
ดร.ธีระมองว่าค่าเงินบาทกลายเป็นสกุลที่แข็งมากที่สุด เมื่อดูจากตารางนี้มีการแกว่งตัวน้อยมาก
เพราะมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินมาค่อนข้างถูกต้อง โดยเฉพาะล่าสุดที่มีการประกาศมาตรการปรับโครงสร้างหนี้
เขากล่าวว่า "บันไดขั้นแรก เราสามารถก้าวขึ้นมาได้แล้ว แต่ขั้นต่อไปคือการแก้ปัญหาสภาพคล่อง
ซึ่งตอนนี้ภาคธุรกิจกำลังเผชิญภาวะที่หนักหน่วงที่สุด ภาค real sector อ่อนแอลงทุกที"
การที่ภาคธุรกิจอ่อนเปลี้ยและหมดแรงลง ย่อมส่งผลกระทบต่อประเด็นเรื่องคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์
เมื่อก่อนมีการพูดถึง NPL ของธนาคารพาณิชย์ในระดับ 20%-25% ครั้นมาตอนนี้คาดว่าน่าจะถึงระดับ
30%-35% แล้ว และหากไม่แก้ปัญหาเรื่องสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยที่สูงลิ่ว
ตัวเลข NPL อาจโดดไปถึงระดับ 40% ได้
อย่างไรก็ดี ค่าเงินเยนที่มีเสถียรภาพอยู่ได้ในช่วงนี้เป็นเพราะสหรัฐฯ
ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการแทรกแซงค่าเงิน นักค้าเงินทราบดีว่า โอกาสที่สหรัฐฯ
จะเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนเป็นครั้งคราวยังมีอยู่ โดยเฉพาะเมื่อเยนเคลื่อนแตะระดับ
145 เยนต่อดอลลาร์
การที่เงินเยนจะมีค่าแข็งได้นานแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจภายในประเทศของญี่ปุ่นเองด้วย
มิใช่อยู่ที่การแทรกแซงค่าเงินแต่เพียงอย่างเดียว
ส่วนค่าเงินหยวนของจีนนั้น ทางการจีนก็ได้ประกาศชัดเจนว่าจะไม่มีการประกาศลดค่าเงินเหมือนสกุลอื่นๆ
ในภูมิภาคนี้ และประเด็นสำคัญคือทางการจีนมีทุนสำรองเป็นเงินตราต่างประเทศถึง
155 พันล้านเหรียญ ซึ่งถือเป็นปริมาณที่สูงสุดเป็นอันดับ 2 ในโลก และยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึง
10 พันล้านเหรียญด้วย ฐานะของจีนจึงแข็งแกร่งมั่นคงมาก
แก้ปัญหาสภาพคล่อง
กลายเป็นเรื่องภาระหนี้ของทางการ
การแก้ปัญหาสภาพคล่องเริ่มเป็นประเด็นหลักของทางการในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในเวลานี้
แต่รัฐและภาคเอกชนอาจจะมองแนวทางแก้ปัญหานี้อย่างแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
หากได้พิจารณาตัวเลขที่จะกล่าวต่อไปนี้ จะเห็นว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อมากจริงๆ
ที่ทางการสามารถสร้างภาระหนี้สิน เพื่อแก้ปัญหาในระบบการเงินไทยยุคเศรษฐกิจฟองสบู่แตกได้มากถึงเพียงนี้!
ทั้งนี้ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฟื้นฟูฯ)
ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งในแบงก์ชาติ ได้เข้าไปโอบอุ้มช่วยเหลือสถาบันการเงินไทยนับแต่ก่อนเริ่มวิกฤติเศรษฐกิจ
ซึ่งจนถึงเดือนมีนาคม 2541 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ากองทุนฟื้นฟูฯ มีภาระหนี้อยู่ประมาณ
8.5 แสนล้านบาท ในปัจจุบันอาจเพิ่มขึ้นถึงระดับ 9 แสน- 1 ล้าน ล้านบาทแล้วก็เป็นได้
นอกจากนี้ก็มีการคาดหมายว่า กองทุนฟื้นฟูฯ จะมีภาระขาดทุนจากการขายสินทรัพย์ของ
56 ไฟแนนซ์ เป็นมูลค่าประมาณ 4-5 แสนล้านบาทด้วย
อีกหน่วยงานหนึ่งที่มีภาระการเงินก็คือแบงก์ชาตินั่นเอง ซึ่งนโยบายที่จะลดภาระ
forward obligation ในตลาดออฟชอร์ให้หมดภายในปีนี้ ซึ่งคิดเป็นเงินไทยอาจถึงระดับ
3 แสนล้านบาท ก็เป็นภาระก้อนใหญ่ทีเดียว
ดังนั้น เฉพาะ 2 หน่วยงานนี้อาจนับรวมเป็นภาระหนี้ที่ทางการมีพันธะอยู่คิดเป็นเม็ดเงินถึง
1 ล้านล้านบาทก็เป็นได้
กองทุนฟื้นฟูฯ นั้นมีการกู้เงินในระบบเศรษฐกิจโดยตรง ซึ่งจุดนี้ทำให้ปัญหาลามออกมา
โดยช่องทางที่กองทุนฯ ดูดเม็ดเงินออกไป คือจากตลาด Interbank ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาสภาพคล่องตึงตัว
หากคำนวณเล่นๆ ภาระหนี้ขนาดนี้ในอัตราดอกเบี้ยประมาณ 18% คิดเป็นภาระดอกเบี้ยวันละ
490 ล้านบาท หรือปีละ 1.8 แสนล้านบาทนั่นเอง ซึ่งเม็ดเงินที่จะนำไปจ่ายนั้นก็มาจากภาษีของประชาชน
ตัวเลขเหล่านี้เป็นการคำนวณในสมมติฐานที่ปัจจัยต่างๆ หยุดนิ่ง แต่ในสถานการณ์จริงๆ
ไม่ได้เป็นเช่นนั้น โอกาสที่ประเทศจะออกจากวิกฤติครั้งนี้มีอยู่แน่นอน
หากพิจารณาดูประเทศเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้ซึ่งมีภาระหนี้เหมือนไทย การประกาศแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
พร้อมกับมีการคาดหมายว่าจะได้รับเม็ดเงินมาชำระหนี้ประมาณ 8 แสนล้านบาท เป็นมาตรการชัดเจนที่ช่วยให้ค่าเงินวอนของเกาหลีใต้มีเสถียรภาพอย่างยิ่ง
ในช่วงที่เงินเยนมีการแกว่งตัวอ่อนลงมาก ดังนั้น จึงเห็นได้ว่ามาตรการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
เป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยในการลดภาระหนี้สินของทางการได้ หากมีการดำเนินการอย่างชัดเจนโปร่งใส
ดร.ธีระคาดหมายว่า หากมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในปีนี้ อาจจะได้เม็ดเงินมาประมาณ
40,000 ล้านบาท โดยการลดการถือครองหุ้นในหมวดพลังงานลงเล็กน้อย แต่การทำเช่นนี้จะได้เม็ดเงินมาในจำนวนไม่มากนัก
ทางการต้องมีนโยบายที่ชัดเจนและทำให้เป็นเรื่องเป็นราว มีรายได้เข้ามามากกว่านี้เพื่อการชำระหนี้
วิธีการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องที่ชัดเจนที่สุดในตอนนี้คือ การลดภาระหนี้ของทางการลง
เพื่อไม่ให้หน่วยงานของทางการเข้ามาดูดเม็ดเงินออกจากระบบ และไม่ให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงขนาดนั้น
(18% ซึ่งในตอนนี้ลดลงเหลือ 17% แล้ว และทางการพยายามลดอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ลงเรื่อยๆ)
จูงใจให้สถาบันการเงินนำเงินฝากมาปล่อยกู้ให้ทางการ แทนที่จะไปปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจเอกชน
การลดภาระหนี้ของทางการลงนี้ ไม่ใช่ว่าให้ลดลงให้หมดจนเหลือศูนย์ แต่หมายความว่าให้ลดลงอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้โดยไม่ต้องมีผลกระทบต่อเม็ดเงินในระบบ
เป็นที่คาดหวังว่า การออกพันธบัตรรัฐบาล (Global Bond) ซึ่งเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยดึงเม็ดเงินเข้ามาสู่ระบบได้โดยตรงจะช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องได้
แต่ตอนนี้ก็ยังเป็นที่จับตารอดูอยู่ว่าจะออกพันธบัตรได้เมื่อไหร่และมีความต้องการ
(demand) ในตลาดต่างประเทศมากน้อยเพียงใด ใช้อัตราดอกเบี้ยเท่าไร ฯลฯ
แม้บทสรุปในเรื่องนี้จะอยู่ที่ประเด็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีผู้ให้ความสนับสนุนเห็นด้วยในแง่มุมต่างๆ
กันจำนวนมาก และที่คัดค้านก็มีเป็นจำนวนมากยิ่งกว่า จนหากมีการปะทุประเด็นนี้ขึ้นในรอบใหม่
คงหนีไม่พ้นประเด็นทางการเมืองเป็นแน่ แต่การดำเนินการในเรื่องนี้ของทางการเป็นไปอย่างเชื่องช้ามาก
แม้ว่าล่าสุดจะมีการอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้จัดตั้งหรือยกฐานะหน่วยงาน
ที่ดูแลเรื่องรัฐวิสาหกิจในกระทรวงการคลัง ขึ้นมามีฐานะเทียบเท่ากรมแล้ว
และมีการจัดสรรตำแหน่งบุคลากรให้บางส่วน แต่การดำเนินการงานการแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็ยังมีลักษณะต่างคนต่างทำ
โดยเจ้ากระทรวงแต่ละแห่งต่างพิจารณาไปเรื่อยๆ ขาดเป้าหมายเรื่องกรอบเวลาที่ชัดเจน
ดังนั้น การที่จะใช้มาตรการนี้มาช่วยแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องที่ยังต้องรอดูต่อไป