Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2541
โลกใหม่ธุรกิจข่าว             
 


   
search resources

News & Media




ไม่นานหลังจากเปิดตัว MSNBC ผู้ให้บริการข่าวทางเคเบิลทีวีร่วมกับไมโครซอฟท์ในปี 1996 NBC จัดแจงโยกย้ายหน่วยปฏิบัติงานทำข่าวออก จากร็อกกีเฟลเลอร์ พลาซา ไปยังนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งในรัฐนิวเจอร์ซี ห้องข่าวแห่งใหม่ออกแบบให้เริ่ดไปด้วย เทคโนโลยีอวกาศ โต๊ะผู้อ่านข่าวเป็นแบบหมุนได้ หลังคาทรงโค้งติดตั้งจอภาพไว้ด้านหลัง รองรับภาพฉายจากเครื่องโปรเจ็กเตอร์ 3 เครื่อง บรรยากาศ ของสตูดิโอตกแต่งสไตล์ "ไซเบอร์คาเฟ่" เวลาออกอากาศจะให้อารมณ์แบบการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลนินทากันในเว็บ พร้อมจิบกาแฟคาปุชชิโนอย่างสบายๆ นอกจากนั้นยังมีกลุ่มเมฆที่เคลื่อนตัวข้ามแผ่นฟ้าย่านอุตสาหกรรม เป็นฉากหลังลึกเข้าไปจากฉากหน้าแสนไฮเทคแสนเฟื่องฟุ้งนี้คือขบวนแถวของแรงงาน - ทั้งบรรณาธิการ ผู้สื่อข่าว นักเขียน - ซึ่งบากบั่นทำงานด้วยความเหนื่อยยาก มันคืออาการของโรงงานโรงหนึ่ง ไม่ต่างอะไรไปจากโรงงานอุตสาหกรรมอีกหลายสิบในย่านเดียวกัน

กาลครั้งหนึ่งธุรกิจข่าวเคยเป็นรูปแบบของงานช่างฝีมือ แต่เดี๋ยวนี้มันเปลี่ยนไปเป็นกิจการแบบโรงงาน ลองดูตัวเลขปริมาณผลผลิตของ NBC เป็นตัวอย่าง ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายทีวีแห่งนี้ทะยานจากการมีข่าวโทรทัศน์ 3 ชั่วโมงต่อวัน กลายเป็น 27 ชั่วโมงต่อวัน บวกกับการอัปเดตเว็บไซต์อย่างสม่ำเสมอ ที่เด็ดกว่านั้นคือ ทำกันได้โดยเพิ่มผู้สื่อข่าวเพียงไม่กี่คน ผู้บริหาร NBC ช่างคล้ายกับเจ้าของโรงงานที่อยู่ถัดไป ตรงที่คอยเฝ้าไตร่ ตรองหากลยุทธ์ใหม่ๆ มารีดเอาผลผลิตจากแรงงาน

เหตุการณ์เครื่องบินของสายการบิน ทีดับบลิวเอ ตกเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 1996 หรือ 3 วันหลังการเปิดตัวของ MSNBC เป็นตัวทำให้ระบบใหม่เข้าที่เข้าทาง ก่อนจะมีการขยายผลผลิตนั้น ผู้สื่อข่าวที่ติดตามข่าวใหญ่ จะใช้เวลาทั้งวันปะติดปะต่อข้อมูลสร้างเป็นงานข่าวอันสง่างามระดับช่างฝีมือ เพื่อออกอากาศในรายการข่าวภาคค่ำ แต่สถานการณ์ใหม่จะเป็นตรงกันข้าม ข่าวเครื่องบินทีดับบลิวเอตก ปรากฏบนจอ MSNBC ณ เวลา 21:37 น. ซึ่งเป็นนาทีแรกที่พวกเขาได้ข่าวมา ซ้ำตัดหน้า CNN ได้ 8 นาที (ความเร็วที่เหนือกว่ากัน เป็นอะไรที่ทรงคุณค่ายิ่งสำหรับคนทำข่าว) ทาง ด้าน WNBC สถานีในเครือที่นิวยอร์คของ NBC สามารถส่งภาพทางอากาศช็อตแรกมาให้ได้ภายใน 1 ชั่วโมง และมีผู้สื่อข่าวเข้าไปยังที่เกิดเหตุ โดยอาศัยเรือ MSNBC เสนอข่าวนี้ชนิดถี่ยิบ ขณะที่ CNBC ซึ่งเป็นช่องข่าวธุรกิจที่ประสบความสำเร็จของอเมริกา กับ NBC เอง มีรายงานเพิ่มเติมทุกชั่วโมง การทำงานเช่นนี้เป็นแบบโรงงานผลิตข่าวโดยแท้

NBC เป็นตัวอย่างของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นทั่วทั้งอุตสาหกรรมการผลิตข่าว เพียงเมื่อ 2 ปีก่อน อเมริกามีรายการข่าวภาคค่ำ 3 รายการ, เครือ ข่ายสถานีข่าวที่เป็นเคเบิลทีวี 1 แห่ง, และรายการแมกาซีนข่าวรายสัปดาห์อีก 2-3 รายการ แต่ปัจจุบันมีรายการข่าวภาคค่ำ 3 รายการ, แมกาซีนข่าวรายสัปดาห์ความยาว 1 ชั่วโมง 10 รายการ, เครือข่ายสถานีข่าวเคเบิลทีวี 3 แห่ง, เครือข่ายข่าวกีฬา 2 แห่ง, และเว็บไซต์ข่าวที่สามารถเรียกดูวิดีโอได้อีก 3 แห่ง ส่วนทางฝั่งอังกฤษเมื่อไม่นานมานี้ มีรายการข่าวภาคค่ำ 3 รายการ เวลานี้กลายเป็น 4 รายการ บวกกับช่องข่าวเคเบิลทีวีอีก 2 ช่อง (คือ New24 ของ BBC กับ Sky News จาก Sky TV ของรูเพิร์ต เมอร์ดอค) และ เว็บไซต์ข่าวที่มีวิดีโอให้ดูด้วยอีก 1 แห่ง

ความเปลี่ยนแปลงทำนองนี้กำลังปรากฏขึ้นในส่วนอื่นๆ ของโลกเช่นกัน เพียงไม่นานมานี้ CNN เหมือน กับว่าจะครองโลกไว้แต่ผู้เดียว เดี๋ยวนี้ CNN กำลังถูกท้าทายจาก BBC World ที่เป็นเวอร์ชั่นโทรทัศน์ของวิทยุ BBC World Service นอกจากนั้นยังมีคู่แข่งขันระดับภูมิภาคอีก ในยุโรป CNN กับ BBC ต้องประจันหน้ากับ Euronews ผลิตภัณฑ์ที่บรรดาสถานีทีวีของรัฐบาลชาติต่างๆ ทางยุโรปก่อตั้งขึ้นมา ภายหลังความสำเร็จในการเสนอข่าวสงครามอ่าวเปอร์เซียของ CNN และบัดนี้ถูกซื้อไปโดย ITN สถานีทีวีข่าวภาคเอกชนของอังกฤษ ขณะเดียว กัน Sky News ยังถูกนำไปออกอากาศต่อโดย Telia Informedia Television ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีใหญ่ที่สุดในสแกนดิเนเวีย ทางอินเดีย เมอร์ดอคเพิ่งเปิดตัว Star News ในปีนี้เพื่อแข่งขันกับ TVI โทรทัศน์ท้องถิ่นซึ่งเริ่มออกอากาศในปี 1996 และ India TV ซึ่งทาง Zee TV เพิ่งเปิดตัว ไปในปีนี้เช่นเดียวกัน ในละตินอเมริกา CNN เปิดตัว CNN Espanol เมื่อปีที่แล้ว เพื่อแข่งขันกับ TeleNoticias ของ CBS และ Eco ของกลุ่มเม็กซิกัน เทเลวิซา ในโลกอาหรับก็มีบริการข่าวทีวีท้องถิ่นแห่งใหม่ 2 เจ้า คือ Al Jazira ของกาตาร์ซึ่งเปิดตัวในปี 1996 กับ Arab News Network ที่เริ่มในปีที่แล้ว โดยหลานชายของประธานาธิบดีอัสสาดแห่งซีเรีย

นอกจากนั้น ยังมีพวกทีวีช่องข่าวเจาะเฉพาะประเภทด้วย เป็นต้นว่า CNBC ก็กำลังขยายตัวไปต่างประเทศ Bloomberg ซึ่งกิจการหลักคือขายบริการข้อมูลข่าวสารทางการเงินผ่านคอมพิวเตอร์ เวลานี้กระโดดเข้าไปทำทีวีช่องข่าวธุรกิจกับเขาเหมือนกัน รวม ทั้ง CNN ที่เพิ่งเปิดตัว CNNFN ซึ่งเน้นข่าวการเงิน ถึงแม้คงต้องวางพื้นฐานกันอีกมาก เช่นเดียวกับช่องข่าวกีฬา CNNSI ที่ CNN หมายมุ่งจะใช้ท้าแข่งกับช่องข่าวของ ESPN เครือข่ายเคเบิลทีวีเน้นกีฬาที่ประสบความสำเร็จอย่างมโหฬารของบริษัทดีสนีย์


นำเสนอคลุมหมดทุกคนทุกเวลา

ข่าวกำลังเปลี่ยนแปลงไปส่วนหนึ่งเป็นเพราะนิสัยของผู้คนมีความหลากหลายมากขึ้น เป็นไปได้ยากเสียแล้วที่จะหวังให้ท่านผู้ชมทำตัวพร้อมเพรียงนั่งประจำที่ รอชมข่าวภาคค่ำกันเป็นประจำ "ตอนที่ผมโตขึ้นมา พ่อแม่ผมเสร็จงานกลับมาบ้าน รับประทานอาหารค่ำกันตอนห้าโมงครึ่ง และดูข่าวตอนหกโมง" จอห์น มูดี รองกรรมการผู้จัดการของ Fox News อีกกิจการหนึ่งของเมอร์ดอค "ผมไม่รู้เลยว่ามีใครแถวบ้านผมตอนนี้มั่งที่จะจัดระเบียบชีวิตได้แบบนั้น"

จากการศึกษาของ พิว รีเสิร์ช เซนเตอร์ หน่วยงานวิจัยซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน คนอเมริกันที่ดูรายการข่าวภาคค่ำอย่างเดียวได้ลดลงกว่าครึ่งจากปี 1993 จนเหลือเพียง 15% ในปัจจุบันบริการข่าวเคเบิลทีวี 24 ชั่วโมง ดูสอดคล้องกับแบบแผนการดำรงชีวิต ที่หลากหลายของยุคปัจจุบันมากกว่า และเวลานี้ อินเตอร์เน็ตเริ่มเข้าแย่งยื้อส่วนแบ่งในตลาดข่าวไปได้บางส่วนเช่นเดียวกัน สมัยเมื่อปี 1995 ชาวอเมริกัน 4% เท่านั้นที่ใช้เว็บไซต์ข่าว แต่ปีนี้ขยายขึ้นเป็น 20%

ต้นทุนในการผลิตเป็นอีกด้านหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไป เริ่มต้นตั้งแต่ที่การนำวิดีโอเทปมาใช้แทนฟิล์มภาพยนตร์ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ได้ทำให้การทำข่าวรวดเร็วขึ้น ราคาถูกลง และง่ายดายขึ้นอย่างมาก ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อ 5 ปีที่แล้ว การส่งข้อมูลข่าวสัก 10 นาทีจากออสเตรเลียมายังลอนดอนโดยผ่านทางดาวเทียม เคยเสียค่าใช้จ่ายราว 1,200 ปอนด์ มาในเวลานี้เหลือเพียง 300 ปอนด์ หรือรถถ่ายทอดสดที่สามารถรับส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม หากนำมาใช้ทำข่าวในประเทศ ย่อมมีราคาแพงจนหูฉี่ แต่เมื่อนำผู้สื่อข่าวสักคนมาวางท่าอยู่หน้ารถ เสียบปลั๊กต่อสายเข้าให้ คุณก็จะได้รายงานข่าวถ่ายทอดสดเป็นชั่วโมงๆ ด้วยต้นทุนที่เรียกได้ว่าไม่มีอะไรต้องจ่ายเพิ่มอีกแล้ว

ถึงตอนนี้พัฒนาการการนำเสนอภาพข่าวได้เคลื่อนย้ายจากวิดีโอเทปไปสู่คอมพิวเตอร์ ในห้องข่าวอันก้าวหน้า ทันสมัย คนทำข่าวคนเดียวสามารถจัดการกระบวนการทั้งหมดได้เอง ทั้งเขียน และตัดต่อคัดเลือกภาพไปพร้อมๆ กันเลย และขณะที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนไป แบบแผนกระบวนการทำงานก็ผันแปรไปเช่นเดียวกัน คริส ชอว์ บรรณาธิการ 5 News ของอังกฤษ ผลิตข่าว อัปเดตออกอากาศทุกชั่วโมง โดยใช้พนักงาน 4 คน ทำหน้าที่ทั้งเป็น บรรณาธิการ, เขียน, ควบคุมกล้อง, อัดเสียง, ตัดต่อภาพ, จับเวลา, ควบ คุมเครื่องเทเลพรอมต์, ส่งสัญญาณภาพ และนำเสนอข่าว

ดังนั้น ข่าวโทรทัศน์จึงกำลังมีลักษณะเป็นการแสดงน้อยลงทุกที ค่อนไปเหมือนกับงานหนังสือพิมพ์มากกว่าภาพยนตร์ สภาพเช่นนี้เป็นที่ถูกอกถูกใจบริษัท เพราะต้นทุนลดต่ำลงเรื่อยๆ นอกจากนั้นยังถูกอกถูกใจคนทำข่าวด้วย เพราะพวกเขาสามารถเดินทางไปไหนต่อไหนได้ โดยไม่ต้องขนช่างเทคนิคตามไปเป็นพวง ชอว์ยังจำได้ว่า ตอนเดินทางไปทำข่าวที่อิหร่าน เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ต้องใช้ทีมงานรวม 5 คน และอุปกรณ์หนักครึ่งตันต้องจ่ายค่าขนส่ง 15,000 ปอนด์ บวกค่าปรับน้ำหนักเกินอีก 2,500 ปอนด์ มาตอนนี้ เขาบอกว่า ทีมงานแค่ 2 คนก็ไปได้แล้ว โดยใช้กล้องเล็กๆ ตัวหนึ่ง และอุปกรณ์ตกแต่งตัดต่อขนาดแล็ปท็อปอีกตัวหนึ่ง


ข่าวสาวไส้ชาวบ้าน
ของโปรดท่านผู้ชมแน่หรือ

เนื้อหารายการที่นำเสนอในทีวีมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปมาก แนวข่าวออกจะเน้นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าข่าวระดับโลก ถ้าไม่นับข่าวประเภทหมิ่นเหม่จะก่อสงครามโลก อย่างเช่นข่าวสงครามอ่าว เมื่อปี 1991 ข่าวต่างประเทศที่เสนออยู่บนจอโทรทัศน์ของคนอเมริกันมีจำนวนลดน้อยถอยลงมาก ในขณะที่ข่าวในประเทศที่นำเสนอกันนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นข่าวเกี่ยวกับภาคเอกชนมากกว่าภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข่าวที่ท่านผู้ชมนำไปใช้ได้ ประเภทว่าท่านกำลังถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่อย่างไร หรือท่านสามารถปรับปรุงชีวิตได้อย่างไร อาทิ หัวข้อเกี่ยวกับสุขภาพ ภาษี และการศึกษา นอกจากนั้น ลักษณะข่าวยอดนิยมตลอดกาลคือ ข่าวสาวไส้ชาวบ้าน ตัวอย่างร้อนสุดคลาสสิกคือ ข่าวคดีฆาตกรรมภรรยาของ โอ เจ ซิมป์สัน ซึ่งได้เสียงตอบรับจากท่านผู้ชมหนาแน่นมาก นับตั้งแต่ที่โทรทัศน์เสนอเหตุการณ์ระทึก ตอนที่ซิมป์สันขับรถหนีตำรวจ ไป ตลอดถึงการไต่สวนคดี อีกตัวอย่างเห็นจะเป็นคดีหลุยส์ วู้ดเวิร์ด พี่เลี้ยงเด็กที่ถูกกล่าวหาว่าฆ่าเด็กในความดูแล สีหน้าตื่นตกใจของวู้ดเวิร์ด เป็นที่มั่นอกมั่นใจของคนทำข่าวมากว่าเรื่องแบบนี้ฮิตแน่

ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ ต้องแข่งกันฉีกแนวสินค้าเพื่อแย่งลูกค้า แต่การผลิตข่าวกลับต้องไล่ล่าเรื่องเดียวกันเพื่อแย่งคนดู กรณีการไต่สวนคดีพี่เลี้ยงเด็ก แสดงให้เห็นว่าพอเรื่องนี้ติดตลาด ข่าวทุกช่องแห่ตามกันไล่เจาะ ไล่ตามล่า เอาสารพัดแง่มุมมานำเสนอ สาเหตุที่ทำให้เกิดสถานการณ์แบบนี้เห็นจะเป็นปัจจัยเรื่องเรตติ้งท่านผู้ชมนั่นเอง สิ่งที่ผู้ทำข่าวแคร์ที่สุดคือเรตติ้ง แต่เรตติ้งก็สามารถเป็นภาพลวงได้เช่นกัน ข่าวคาวกรณี โมนิกา เลวินสกี้ ซึ่งดูเสมือนว่าเป็นข่าวร้อนเรตติ้งสูง แต่ไปๆ มาๆ การนำเสนอกลายเป็นเรื่องเฝือ น่าเบื่อ และให้ความรู้สึกสะอิดสะเอียน

ประสบการณ์ตรงที่หนังสือพิมพ์แทบลอยด์ในอังกฤษโดนเข้าแล้วเป็นเครื่องพิสูจน์ราคาแพง แวดวงหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ของอังกฤษแข่งขันดุเดือดกว่า การแข่งขันในวงการโทรทัศน์อเมริกันหลายช่วงตัว แต่ละหัวล้วนนำเสนอสารพัดข่าวคาว ข่าวคุ้ย จริงบ้างยกเมฆบ้าง จนทำให้หนังสือพิมพ์นั้นๆ ดูต่ำชั้น ดูสะเหร่อ

ปรากฏการณ์จริงที่เกิดขึ้นคือ ยอดขายหนังสือพิมพ์แนวข่าวชาวบ้านในอังกฤษกระโจนเข้าสู่ยุคตกต่ำอย่างฮวบฮาบ เรื่องนี้ได้รับการวิเคราะห์ว่า ผู้บริโภครู้สึกเซ็งการนำเสนอข่าวแนวนี้แล้วกระมัง อาจจะรู้สึกเสียภาพลักษณ์ ที่จะหนีบหนังสือพิมพ์ประเภทนี้ติดตัว และบางทีอาจจะปรารถนาข่าวที่มีสาระ ประเภทให้ทั้งความรู้และความบันเทิงอย่างเพียงพอ

บทเรียนราคาแพงอย่างนี้เป็นเครื่องเตือนใจที่สำคัญแก่คนโทรทัศน์ เพราะการทำข่าวให้เป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยังเป็นเรื่องที่พอรับได้สำหรับท่านผู้ชม แต่การนำเสนออย่างระมัดระวังถึงมาตรฐานต่างหากที่เป็นตัววัดความสำเร็จในระยะยาว พื้นฐานที่ขาดไม่ได้ในการทำข่าวคือ ความน่าเชื่อถือของผู้นำเสนอ กับการเคารพภูมิปัญญาของท่านผู้ชม

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us