ความสับสนที่เกิดขึ้นในใจใครกันแน่ที่กุมอำนาจการบริหารของประเทศไทย ระหว่างรัฐบาลชวน
หรือไอเอ็มเอฟ มันได้กลายมาเป็นความขมขื่นแห่งชีวิตของคนไทยวันนี้ เพราะความเป็นอยู่และมาตรฐานของชีวิตเริ่มตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย
เงินทองที่เคยหาได้มาอย่างง่ายๆ เหมือนเก็บเบี้ยใต้ถุนร้านในยุคที่เศรษฐกิจรุ่งเรือง
ไม่มีอีกแล้วในยุคนี้ ทุกคนขอเพียงอยู่รอดไปวันๆ ไม่มีอนาคตให้ต้องคิดถึง
เพราะไม่มีใครรู้ว่าตัวเองจะต้องตกอยู่ในสภาพเป็นคนว่างงานเมื่อไหร่และนานเท่าไหร่
ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ชีวิตจะดำเนินต่อไปอย่างไรถ้าเงินเก็บในธนาคารหมดลง?
บัตรเครดิต ดูเหมือนจะเป็นที่พึ่งในยามยากได้ดีในสถานการณ์เช่นนี้ แต่การณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่
เพราะบรรดาธนาคารเจ้าของบัตร ซึ่งกำลังตกอยู่ในฝันร้ายถูกมรสุมหนี้เสียกระหน่ำจนตั้งตัวแทบไม่อยู่
ต่างพยายามที่จะจำกัดสินเชื่อเพื่อการบริโภคประเภทนี้ตามคำสั่งของแบงก์ชาติ
ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันปัญหาหนี้เสียที่อาจจะเกิดขึ้น โดยมาตรการที่บรรดาแบงก์ผู้ออกบัตรนำมาใช้กับผู้ถือบัตรก็มีหลายระดับขั้น
นับตั้งแต่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ปรับอัตราการชำระเงินขั้นต่ำจาก 5% เป็น
10% ตัดวงเงินสินเชื่อน้อยลง และระงับบัตร ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลสวยหรูว่าไม่ต้องการให้ผู้ถือบัตรใช้เงินฟุ่มเฟือยเกินตัว
แต่ก็ลืมนึกไปว่าก่อนหน้านั้นแทบจะกราบกรานไหว้วานให้ทำบัตรกันเลยทีเดียว
เป็นอันว่าในตอนนี้ธุรกิจบัตรเครดิตต้องหดตัวตามสภาพเศรษฐกิจ และมาตรการของแบงก์ชาติ
แม้แต่วีซ่า เจ้าของแบรนด์บัตรพลาสติกระดับโลกยังต้องปรับกลยุทธ์ตาม หลังจากที่ตัวเลขการเติบโตของบัตรเครดิตเริ่มปรากฏให้เห็นว่าหดตัวลงอย่างชัดเจน
แม้ว่าเมื่อไม่นานมานี้ วีซ่าเพิ่งจะประกาศความสำเร็จจากการได้ยอดบัตรเครดิตครบ
1 ล้านใบไปแล้ว
"1 ล้านใบเป็นจำนวนบัตรวีซ่าที่มีการใช้ไหลเวียนอยู่ในตลาดขณะนี้
ไม่รวมถึงบัตรที่มีการยกเลิกไปแล้ว อย่างไรก็ตามในแต่ละปีหรือแต่ละช่วงเวลา
จำนวนของบัตรจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10% และลดลงประมาณ 3% คือจะเป็นบัตรที่ยกเลิกทั้งแบบสมัครใจและไม่สมัครใจ
ดังนั้นตัวเลขของเราจะเป็นสุทธิ
เมื่อปีที่แล้วจำนวนบัตรเพิ่มขึ้นเกือบถึง 10% และจำนวน 1 ล้านใบนี้ก็ครบเมื่อปลายปีที่แล้ว
บัตรใบแรกของวีซ่าออกเมื่อปี 1979 อันที่จริงแล้วเราคาดหมายว่าเราจะมีบัตรครบ
1 ล้าน เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว แต่ว่าเมื่อเดือนกรกฎาคมมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น
จึงทำให้เราต้องรอมาอีก 4 เดือน ในอนาคตเราคาดว่าเราจะไปได้เร็วกว่านี้เพราะนอกจากบัตรเครดิต
เรายังมีบัตรเดบิตอีกตัวหนึ่ง อัตราการเติบโตของบัตรเครดิตในปีนี้ จะอยู่ในลักษณะเกือบ
flat หรืออาจจะลดลงด้วยซ้ำไป ด้วยเหตุผลที่ว่า คนที่จะมีบัตรเครดิตได้จำเป็นต้องมีรายได้
20,000 บาทต่อเดือน นี่เป็นกฎของแบงก์ชาติ
ในเวลานี้ บัตรเครดิต อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับคนถูกเลิกจ้างงาน แต่ในทัศนะของผม
ถ้าหากคุณไม่มีสภาพคล่อง ไม่มีงานทำ ผมในฐานะที่เป็นแบงก์ที่ออกบัตรให้คุณ
ก็มีปัญหาสภาพคล่องเช่นกัน เพราะถ้าหากคนๆ นี้ไม่มีสภาพคล่อง ไม่มีงาน ความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ก็น้อยลงไปกว่าคนที่เขามีงานทำ
ดังนั้นผมก็ไม่สนใจที่จะให้บัตรคุณ การที่คุณถูกเลิกจ้างแม้จะสามารถจ่ายดอกเบี้ยได้
แต่แบงก์ชาติเป็นผู้กำหนดแบงก์พาณิชย์อีกที ไม่ว่าผมจะเชื่อมั่นในตัวคุณมากน้อยแค่ไหนก็ตาม
สิ่งเดียวที่ผมทำได้ก็คือผมเสียใจ เพราะแบงก์ชาติให้ผมแสดงเอกสารว่าคุณมีรายได้
20,000 บาทต่อเดือน ต่อให้คุณมีเงินในบัญชีมากและสามารถจ่ายดอกเบี้ยได้ก็ตาม
ดังนั้นในฐานะแบงก์ก็ประสบปัญหา 2 ประการคือ แบงก์ชาติกำหนด 20,000 บาทไม่มีข้อยกเว้น
ซึ่งต้องส่งเอกสารไปให้แบงก์ชาติดู ประการที่ 2 ก็คือแบงก์เองก็มีปัญหาสภาพคล่องเช่นกัน
เพราะว่าแบงก์ปล่อยกู้แก่ภาคธุรกิจ ซึ่งมันใหญ่กว่าคุณ ดังนั้นแบงก์จึงตกอยู่ในสภาพที่เรียกว่าหนีเสือปะจระเข้
(dilemma) ที่ยากมาก ดังนั้นแบงก์จึงจำเป็นจะต้องดูที่รายได้และความสามารถในการจ่ายคืนของคุณด้วย
และเหนือกว่านั้นแบงก์ชาติก็จ้องดูอยู่" ริชาร์ด ชาง ผู้จัดการอาวุโสประจำประเทศไทย
สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และอินโดจีน ของบริษัท วีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวถึงแนวโน้มและข้อจำกัดของธุรกิจบัตรเครดิตในช่วงเงินฝืด
กับ "ผู้จัดการรายเดือน"
ในฐานะที่วีซ่าเป็นตัวกลางที่ต้องให้บริการทั้งแบงก์สมาชิกและผู้ถือบัตร
หนทางหนึ่งที่วีซ่าคิดว่าน่าจะเหมาะสมกับยุคสมัยของไทยเวลานี้มากที่สุดก็คือ
ผลิตภัณฑ์บัตรพลาสติกประเภทเดบิต หรือหักจากบัญชี ซึ่งที่ผ่านมา วีซ่า ได้นำบัตรเดบิต
Interlink เข้ามาแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก มีเพียงธนาคารทหารไทย
และกสิกรไทย เท่านั้นที่ออกบัตรชนิดนี้ ทั้งนี้เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างมากในเรื่องของ
Pin Pad ที่จะต้องมีการเปลี่ยนทุกปีและต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศอย่างเดียว
บัตรเดบิต Visa Electron เป็นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ล่าสุดที่วีซ่านำเข้ามาในเมืองไทย
และเห็นว่าผลิตภัณฑ์ตัวนี้น่าจะมีความเหมาะสมกับแบงก์สมาชิก ร้านค้าและผู้ถือบัตรในยุคไอเอ็มเอฟมากที่สุด
เพราะบัตรใบนี้จะใช้วิธีการหักเงินจากบัญชีเงินฝาก ด้วยระบบการเชื่อมโยงทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเครื่องรับ
EDC (Electronic Data Capture) ซึ่งจะมีอยู่ตามร้านค้าที่เป็นจุดขายต่างๆ
โดยระบบดังกล่าวนี้จะเป็นระบบเดียวกับบัตรเครดิตของวีซ่าที่มีใช้กันอยู่
ดังนั้นจึงไม่มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนมากนัก นอกจากแบงก์สมาชิกเท่านั้นที่จะต้องมีการปรับระบบให้สามารถรับรายการอิเล็กทรอนิกส์ให้ได้ด้วย
เพราะปัจจุบันระบบของแบงก์จะรับเฉพาะรายการเอทีเอ็มเท่านั้น
"ผมเชื่อว่าทุกคนต้องมีเงินก้อนหนึ่งอยู่ในมือเพื่อดำรงชีพ แม้จะมีเพียง
500 บาทก็ตาม ในสายตาของวีซ่า กรณีประเทศไทยเรามีทัศนะ 2 ประการคือ
1.คนไม่ต้องการใช้เงิน แต่ต้องการเก็บเงินสดไว้ในแบงก์ให้ได้มากที่สุดและนานที่สุดเท่าที่จะทำได้
สิ่งที่เราต้องการจะทำคือช่วยให้คน โดยเฉพาะคนต่างจังหวัด ให้ออกมาเปิดบัญชีมากขึ้นและใช้บัตรเดบิต
2.ในส่วนของแบงก์เองก็ได้ประชากรที่เข้ามาเปิดบัญชีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในต่างจังหวัด
ประชากรที่เปิดบัญชีน้อยมากราว 8-10% เท่านั้นเอง สิ่งที่เราทำก็คือ เราจะบอกคุณว่ามาเปิดบัญชีในแบงก์ดีกว่า
เก็บเงินของคุณไว้ในแบงก์รับดอกเบี้ย และใช้จ่ายด้วยบัตรเมื่อต้องการที่จะซื้อของ
การที่วีซ่าผลักดันและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ตัวนี้ จะช่วยทั้งผู้บริโภคและระบบธนาคารไทยด้วย
เพราะว่าความสำเร็จในอนาคตของระบบธนาคารไทย ขึ้นอยู่กับอัตราของประชากรที่เข้ามาสู่แบงก์
นอกจากนี้แบงก์ยังสามารถประหยัดเงินในการซื้อและบำรุงรักษาเครื่องเอทีเอ็ม
ไม่ต้องมีการกันเงินสดไว้มาก ส่วนผู้บริโภคยังมีต้นทุนในการถอนเงิน ไม่ว่าจะด้วยเอทีเอ็ม
หรือที่เคาน์เตอร์แบงก์ลดลงด้วย
เมื่อไม่นานมานี้ผมได้ไปที่แบงก์แห่งหนึ่งผมเห็นแถวรอกดเอทีเอ็มยาวมาก
ซึ่งผมเห็นว่ามันเป็นต้นทุนที่แพงมาก ในอนาคตในขณะที่แบงก์ต่างประเทศกำลังจะเข้ามาในไทย
ผมมองว่าแบงก์ที่จะอยู่รอดได้จะต้องสามารถส่งมอบบริการและสินค้า เช่นการฝากเงิน
ถอนเงิน ที่มีต้นทุนถูกที่สุด ทำอย่างไรจึงจะให้ลูกค้าไม่เข้ามาที่สาขา หรือเอทีเอ็มให้ได้"
ชาง อธิบายแนวความคิดของวีซ่าที่ต้องผลักดันบัตรเดบิต วีซ่า อิเลคตรอน เข้าสู่ตลาดไทยในตอนนี้
เขามีข้อสังเกตที่น่าฟังว่าในสถานการณ์เช่นนี้ หากจะมองอีกภาพหนึ่งมันเป็นสัญญาณ
ที่เตือนให้คนไทยได้ตระหนักถึงเรื่องการใช้จ่ายเงินให้มีความรอบคอบ ประหยัด
และใช้ประโยชน์จากสื่อกลางทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต, เดบิต, เช็ค
หรือเงินสดให้ได้มากที่สุด "ตัวไหนอันไหนมีประโยชน์ต้องใช้ประโยชน์จากตรงนั้น
อย่างการใช้บัตรเครดิตก็ต้องสำนึกอยู่ตลอดเวลาและจริงจังเรื่อง matching
แต่อย่าซิกแซ็ก เพราะจะตกหลุมแบงก์ ในอดีตเราอิสระกันหมด เราไม่ได้ดูในเรื่องคุณประโยชน์ของสื่อกลางการเงินเท่าไหร่
ตอนนี้ทุกคนจะต้องกลับมาดู"
สำหรับบัตรเดบิตนี้ วีซ่าคาดหมายว่าภายในสิ้นปีจะสามารถออกบัตรได้ถึง 1
ล้านใบ โดยในส่วนของวีซ่าอิเลคตรอนนั้นมีแบงก์สมาชิกลงนามเป็นธนาคารผู้ออกบัตร
(issuing bank) แล้ว 4 แห่งคือ ธนาคารกสิกรไทย ทหารไทย กรุงศรีอยุธยา และเอเชีย
โดยมีธนาคารสมาชิก 9 แห่งเป็นธนาคารผู้รับบัตร (acquiring bank) ซึ่งดั๊ก
ลอว์สัน ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์หักบัญชี (Deposit Access) ประจำเอเชีย
แปซิฟิก ให้ความเห็นว่านับเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกที่มีแบงก์สมาชิกถึง 4 แห่งลงนามกับวีซ่าเพื่อออกบัตรตัวนี้พร้อมกัน
นั่นก็หมายความว่าแบงก์ไทยมองเห็นถึงศักยภาพของบัตรชนิดนี้
"การมีเงินสดฝากไว้ในแบงก์เป็นเรื่องที่ดี แต่การจ่ายเงินด้วยบัตรพลาสติกเป็นเรื่องที่ดีที่สุด
ผมเห็นด้วยว่าเงินสดเป็นพระเจ้า แต่การที่จะเอาเงินสดใส่กระเป๋าไปด้วยเป็นเรื่องที่ไม่น่ารื่นรมย์นัก
เพราะการที่คุณมีเงินสดแล้วพกพาไปด้วยทุกหนทุกแห่งทุกวันเป็นเรื่องที่เสียผลประโยชน์
สิ่งที่ดีที่สุดก็คือเอาเงินสดใส่ไว้ในแบงก์เอาดอกเบี้ย แล้วใช้บัตรพลาสติกในการจับจ่าย
นี่เป็นวิธีการที่เรียกว่า maximize your earning of cash แม้ผมจะเห็นด้วยว่า
50% cash is king ก็ตาม... หากผมสามารถออกบัตรเดบิต 16 ล้านใบได้ ผมจะมีความสุขมากกว่าที่เราออกบัตรเครดิตได้
3 ล้านใบ เพราะว่าบัตรเดบิต 16 ล้านใบสามารถแทนเงินสดได้มากกว่าบัตรเครดิต
3 ล้านใบ อย่างไรก็ตาม 1 ล้านใบ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับประชากรไทยแล้ว
เล็กน้อยมาก ถ้าหากครึ่งหนึ่งของประชากรไทยมีเดบิตการ์ด และใช้มัน ณ จุดซื้อขาย
และเอทีเอ็ม นั่นคือกลยุทธ์ของบริษัทเราที่ต้องทำ" นี่คือ บทสรุปของชางที่ให้ไว้กับ
"ผู้จัดการรายเดือน" ถึงก้าวต่อไปของวีซ่าในไทย