เมื่อมีเหตุการณ์ไฟฟ้าขัดข้องไม่ว่าจะเป็นไฟเกิน ไฟตก ไฟดับ ย่อมส่งผลกระทบไปสู่อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าโดยตรง
โดยเฉพาะมีผลกระทบต่อระบบคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์เหล่านี้สามารถป้องกันได้
โดยการใช้เครื่องสำรองไฟฟ้าแบบต่อเนื่อง หรือเรียกกันติดหูว่า UPS (Uninterruptible
Power Supply) โดยอุปกรณ์ดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็นแบตเตอรี่ ที่ติดตั้งอยู่ระหว่างแหล่งจ่ายกระแสไฟฟ้าหลักกับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ
ในอดีต UPS คืออุปกรณ์สิ้นเปลืองในความรู้สึกของคนทั่วไป ประกอบกับราคายังอยู่ในระดับสูงพอสมควร
จึงทำให้ความนิยมในการใช้อยู่วงแคบๆ เท่านั้น แต่ในขณะนี้ UPS คืออุปกรณ์เสริมที่ขาดไม่ได้สำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าโดยเฉพาะระบบคอมพิวเตอร์
ปัจจุบัน UPS ที่จำหน่ายกันทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ
เช่น Merlin Gerin, APC, DETEC, SIEMENT, VICTRON ทำให้แบรนด์เนม UPS ที่ผลิตโดยคนไทยล้วนๆ
ถูกบดบังรัศมีไปหมด สาเหตุหลักๆ มาจากการพัฒนายังไม่ถึงขั้นและไม่ต่อเนื่องเมื่อเทียบกับต่างประเทศ
ที่สำคัญผู้บริโภคยังนิยมซื้อ UPS ที่มาจากต่างประเทศกันอยู่
อย่างไรก็ตามมีวิศวกรที่เป็นคนไทยกลุ่มหนึ่งที่ไปศึกษา ณ มหาวิทยาลัยโตเกียว
ประเทศญี่ปุ่น นำโดย เดโช อภิญญาลาวัลย์ ซึ่งหลังจากกลับมาประเทศไทยได้เข้าทำงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่
บมจ.ล็อกซเล่ย์ จนกระทั่งมีแนวความคิดอยากจะก่อตั้งบริษัทผลิต UPS จึงได้ชวนเพื่อนวิศวกร
5 คน มาร่วมวิจัย ออกแบบ พัฒนา ตลอดจนควบคุมการผลิตเอง ในที่สุดบริษัทผลิต
UPS ชื่อ บริษัท ลีโอนิคส์ จำกัด จึงได้ก่อกำเนิดขึ้นในปี 2534
"ในช่วงนั้นเราคิดว่าแต่ละคนต่างมีประสบการณ์กันมามากแล้ว จึงคิดว่าควรทำอะไรได้บ้าง
โดยเฉพาะด้าน power electronics เพราะน่าจะมีอนาคตไกลและ UPS เริ่มแพร่หลายมากขึ้น
ซึ่งใช้เวลาในการวิจัยประมาณ 3 ปี" สำเริง เกรียงปรารถนา ประธานกรรมการ
ลีโอนิคส์ กล่าว ถึงจุดเริ่มต้นของบริษัทฯ
โรงงานแห่งแรกตั้งอยู่แถวบุคคโล โดยช่วงแรกๆ มีทีมงานวิศวกร 6 คน พนักงานอีก
4 คน ทำการผลิต UPS ประมาณ 100 เครื่องต่อเดือน จากนั้นก็นำไปจำหน่ายในสถานที่ต่างๆ
โดยเฉพาะที่พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า
"โชคดีที่ยุคนั้นเราผลิตมาเท่าไหร่ก็ขายได้หมดเนื่อง จากการแข่งขันไม่รุนแรงและสินค้าจากต่างประเทศยังไม่เข้ามามากเช่นในปัจจุบัน"
หลังจากนั้นเมื่อปี 2536 ความต้องการ UPS มีมากขึ้น ลีโอนิคส์ จึงได้ย้ายฐานการผลิตทั้งหมดมาที่นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์
และในปี 2538 โรงงานแห่งใหม่ได้เปิดดำเนินการผลิต UPS ด้วยเงินลงทุน 50 ล้านบาท
มีกำลังการผลิต 10,000 เครื่องต่อเดือน และสามารถขยายกำลังการผลิตได้สูงถึง
30,000 เครื่องต่อเดือน
ปัจจุบัน UPS ภายใต้ชื่อ ลีโอนิคส์ สามารถเข้าไปแย่งส่วนแบ่งตลาดกับแบรนด์เนมต่างประเทศได้มากขึ้นแล้ว
แม้ว่าสำเริงจะยอมรับว่าชื่อเสียงของลีโอนิคส์จะยังไม่เป็นที่คุ้นหูมากนัก
แต่ถ้าเปรียบเทียบด้านราคาและคุณภาพแล้วลีโอนิคส์แข่งขันได้
"ถ้าเทียบราคาขายแล้วเราขายถูกกว่ายี่ห้ออื่นประมาณ 40-50% เพราะฐานการผลิตเราอยู่ใกล้ตลาด
ด้านส่วนแบ่งตลาดเรามีประมาณ 50% มีทั้งลูกค้าประเภทโรงงานและลูกค้าตามบ้านทั่วๆ
ไป" สำเริง กล่าว
อย่างไรก็ตามท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังกระหน่ำประเทศไทยในตอนนี้ ส่งผลให้ลีโอนิคส์
มีอาการซวนเซอยู่พอสมควร โดยเฉพาะยอดขาย เรื่องนี้สำเริงเล่าว่า ปี 2539
คือยุคบูมสุดๆ ของลีโอนิคส์ ยอดขายดีที่สุดตั้งแต่ตั้งบริษัทฯ มาถ้าคิดเป็นเม็ดเงินปรากฏว่า
ยอดขายเกิน 200 ล้านบาท แต่เมื่อผ่านช่วงนั้นไปยอดขายเริ่มหดหายไปเรื่อยๆ
"ปีที่ผ่านมายอดขายประมาณ 200 ล้านบาท ส่วนปีนี้เราคาดว่ายอดขายคงจะไม่ขยายมาก
เนื่องจากสภาพตลาด UPS หายไปประมาณ 50% ในขณะที่ผู้แข่งขันยังมีเท่าเดิมการแข่งขันจึงมีค่อนข้างสูง
แต่ไม่หนักใจเพราะเราได้เปรียบด้านราคา"
ส่งผลให้ลีโอนิคส์ต้องหาทางออกด้วยการเน้นส่งออกมากขึ้น จากปีที่ผ่านมาส่งออกไปจำหน่ายในสัดส่วนประมาณ
20% แต่ขณะนี้สามารถเพิ่มสัดส่วนการส่งออกได้ถึง 30% โดยมีตลาดที่สำคัญ ได้แก่
ลาว เวียดนาม พม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์
"เรายังมีแผนจะรุกให้ครอบคลุมเอเชียทุกประเทศ ล่าสุดได้รับเป็นที่ปรึกษาให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นที่จะเข้าไปสร้างโรงานในพม่า"
สำเริง กล่าว
อีกทั้งแผนการระยะยาวของลีโอนิคส์ในปี 2543 คือ จะนำผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ
ไปจำหน่ายในแถบยุโรปและอเมริกาให้ได้ ปัจจุบันกำลังเจรจากับตัวแทนจำหน่ายในเยอรมนี
อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ เพราะแผนการตลาดของลีโอนิคส์ในต่างประเทศ
คือ เมื่อมีผลิตภัณฑ์จำหน่ายในประเทศไหนจะต้องมีตัวแทนจำหน่ายในประเทศนั้น
สำหรับแผนการตลาดในประเทศไทย ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ตั้งบริษัทลูกขึ้นมา 2
บริษัท คือ บริษัท ลีโอนิคส์ อิเล็คทรอนิกส์ จำกัด ทำหน้าที่ด้านการตลาดและจัดจำหน่ายทุกชนิด
เช่น UPS อุปกรณ์รักษาระดับแรงดันและปรับคุณภาพไฟฟ้า (LEONICS Stabilizer)
อุปกรณ์ ป้องกันแรงดันสูงชั่วขณะจากสายส่ง ฟ้าผ่า (LEONICS Protector) หรืออุปกรณ์ป้องกันและแก้ปัญหาทางไฟฟ้า
เฉพาะการใช้งาน (Industrial power protection products) และบริษัท ลีโอนิคส์
เซอร์วิส เซ็นเตอร์ จำกัด ทำหน้าที่ติดตั้งและให้บริการหลังการขาย
"ขณะนี้เรามีศูนย์บริการ 2 แห่ง และกำลังเปิดอีก 6 แห่งทั้งชลบุรี ระยอง
เชียงราย หาดใหญ่ และภูเก็ต ซึ่งเราตั้งเป้าไว้ว่าจะมีศูนย์บริการ 12 แห่งทั่วประเทศ
นอกจาก นี้ยังมีแผนจะเปิดในต่างประเทศด้วย เช่น ลาว เวียดนาม ฟิลิปปินส์"
สำเริงกล่าว
คงจะต้องติดตามต่อไปว่าผลิตภัณฑ์ UPS ตระกูลลีโอนิคส์ ซึ่งเป็นน้องใหม่ในวงการจะก้าวไปไกลได้ขนาดไหน
เพราะปัจจุบันปัญหาทางด้านเศรษฐกิจเริ่มส่งผลกระทบไปทั่วทุกมุมโลกแล้ว