การล่มสลายทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย ในปี 2540, การทำลายสิ่งแวดล้อม,
ภาวะสังคมตกต่ำ, ช่องว่างของความยากจน, การฉ้อโกงกินทางการเมือง และการจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพ...
สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือ อาการของเศรษฐกิจโลก "หลงทาง" (gone wrong) นักเศรษฐศาสตร์หลายคนออกมาทำนายความย่ำแย่ทางเศรษฐกิจของปี
2540 และหลายคนยอมรับว่าวิถีทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน คือ "พาหนะ" ไปสู่วิกฤติของความมั่นคงทางนิเวศวิทยา และเศรษฐกิจโลกขั้น
"เลวร้าย"ที่สุด
นี่คือ ที่มาของหนังสือ Money Politics, Globalisation, and Crisis : The
Case of Thailand เขียนโดย John Laird ผู้มีประสบการณ์กว่า 23 ปี ในการเป็นนักข่าวต่างประเทศในเอเชีย และแอฟริกาให้กับองค์การสหประชาชาติ
(UN) ซึ่งเขาสนใจในคำถามเกี่ยวกับการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างยั่งยืน โดยเป็นการผสมผสานกันระหว่างการเมือง และเศรษฐกิจภายใต้การคุกคามจากระบบนิเวศน์ของโลก
หากวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการล่มสลาย ต้องพูดถึงความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในช่วงปี
2533 ซึ่งได้นำพาประเทศเติบใหญ่ และขยายตัวเหนือความมั่นคง การผลักดัน เพื่อผลกำไรผ่านนโยบายการสนับสนุนการบริโภค ที่เพิ่มขึ้น
และการโหมกระหน่ำโฆษณาสร้างภาพประชาสัมพันธ์อย่างเต็มที่ก็ต้องเอวังถึง "จุดจบ"
(an end itself) ลบ "คุณภาพชีวิต" (quality of life) ที่มั่นหมายไว้จนเลือนหาย
ซึ่งประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนกว่าประเทศใดๆ ที่เศรษฐกิจแบบเปิดตลาดเสรี เพื่อลดระดับ
"ความยากจน" ของคนไทยในสังคม "ล้มเหลว" อย่างสิ้นเชิง และกระตุ้นให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคมเพิ่มมากขึ้น
ประเทศไทยหลังเกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจได้มีการจัดตั้งสมาชิกวุฒิสมาชิก (ส.ว.)
เป็นครั้งแรก แต่การณ์กลับกลายเข้ารูปรอยเดิม คือ มีการซื้อเสียง การเมือง ที่ใช้อิทธิพลเงินตรา และการฉ้อราษฎร์บังหลวง
เรียกได้ว่าเป็นการเลือกตั้ง ที่ "โคตรโกง" ทั้งประเทศ
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศไทยทำอะไรได้บ้าง ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจกำลังเริ่มฟื้นตัว
เมื่อเป็นเช่นนี้ประเทศไทยจะดิ่งลงเหวจมปลักอีกหรือไม่? นี่คือ คำถาม ที่ Laird
ต้องการ คำตอบ หรือไอ้พวกเสือหิว (status-hungry) ทั้งหลายจะหยุดอยู่ได้นานพอ
ที่จะตั้งคำถามได้ไหมว่า "คุณภาพชีวิต" นั้น จริงๆ แล้วหมายความว่าเช่นไร?
แม้ว่าหลายๆ ฝ่ายจะระดมสมอง และสองมือช่วยแก้ปัญหา แต่การดำเนินงานในเชิงปฏิบัติกลับล้มคว่ำไม่เป็นท่า
หลังจากการประชุม เพื่อการเจรจา ขององค์กรการค้าโลก (WTO) รอบ "Millennium
Round" เมื่อเดือนธันวาคม 2542 เกิดความล้มเหลว รวมทั้งผิดหวังจากการประชุมอังค์ถัด
(UNC- TAD) ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างเรียกร้องเศรษฐกิจแนวทางใหม่
(new economics) คือ ลดปริมาณการบริโภคลง (de-em-phasises consumption) และสร้างสรรค์แนวทาง เพื่อเยียวยาภัยร้ายแรง ที่กำลังคุกคามระบบนิเวศวิทยาของโลกในขณะนี้
Laird มุ่งมองแนวโน้มของปัจจุบัน ที่ประเทศไทยต้านทางไม่ไหว และนำเสนอแนวทางแก้ไข ที่หลากหลายสำหรับปัญหาในประเทศไทยรวมไปถึงในประเทศทั่วโลก