หลังจากที่เริ่มทำโฆษณาเพื่อตอกย้ำภาพพจน์การเป็น The Document Company
ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัท ไทยฟูจิซีร็อกซ์ จำกัด ก็มีการขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ
ในตลาดไทย ภาพพจน์ที่เคยเป็นแค่ผู้จำหน่าย เครื่องถ่ายเอกสารนั้น (copier)
มาบัดนี้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญงานเอกสารทุกประเภท (document) ซึ่งรวมไปถึงงานพิมพ์ด้วย
ชนะวัฒน์ สวัสดิชัย ผู้จัดการแผนก Printing System ของ ไทยฟูจิซีร็อกซ์
เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า "เราเริ่มขยายไลน์ธุรกิจมาขายเครื่องเลเซอร์พรินเตอร์
โดยเริ่มจากระบบใหญ่ตั้งแต่เมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา แต่ส่วนมากเราจะทำระบบการพิมพ์ให้ลูกค้ารายใหญ่
เช่น AIA, Amex, เครือซิเมนต์ไทย, เมืองไทยประกันชีวิต, กลุ่มชินวัตร, ธนาคารอาคารสงเคราะห์
และธนาคารออมสิน เป็นต้น"
เครื่องพิมพ์เลเซอรขนาดใหญ่ของซีร็อกซ์ตอนนี้มีอยู่ 5-6 รุ่น ส่วนเครื่องเล็กสำหรับลูกค้าที่เป็นเจเนอรัล
ออฟฟิศนั้นมี 3 รุ่น ความสามารถของเครื่องขนาดใหญ่คือ พิมพ์ได้ด้วยความเร็วสูง
ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน สามารถพิมพ์ได้แบบสองสี ซึ่งยังไม่มียี่ห้อใดสามารถทำได้
คุณลักษณะเหล่านี้ทำให้งานพิมพ์มีคุณค่าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
หลังจากที่ทำตลาดเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่มาได้ 6 ปีแล้วนั้น บริษัทฯ มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ
25%-30% โดยความต้องการของตลาดสำหรับเครื่องประเภทนี้อยู่ที่ประมาณ 8-10
เครื่องต่อปี
ทั้งนี้บริษัทที่มีฐานลูกค้าจำนวนมากดังที่เอ่ยนามข้างต้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้เครื่องพิมพ์เลเซอร์ขนาดใหญ่ประเภทนี้
เพราะเครื่องดังกล่าวให้ความสะดวกอย่างมากกับการใส่รายละเอียดเฉพาะเจาะจงของลูกค้า
และความรวดเร็วในการพิมพ์ ซึ่งซีร็อกซ์มีเครื่องที่มีความเร็วในการพิมพ์ตั้งแต่
3,000-10,000 หน้าต่อชั่วโมง
ที่สำคัญ ไทยฟูจิซีร็อกซ์ จะเริ่มเปิดบริการ Xerox Business Service ที่จะให้บริการหลากประเภทที่เกี่ยวกับ
งานเอกสารแก่ลูกค้า โดยเล็งเห็นว่าลูกค้าส่วนใหญ่จะชำนาญ ธุรกิจหลักของตัวมากกว่างานเอกสาร
ดังนั้นลูกค้าสามารถใช้บริการของซีร็อกซ์ซึ่งเป็นผู้ชำนาญงานประเภทนี้ดีที่สุดรายหนึ่งของโลก
จะดีกว่าที่จะไปทำเองหรือจ้างผู้อื่นที่ไม่มีความชำนาญเท่าซีร็อกซ์มาทำ
ในกลางเดือนสิงหาคมนี้ ไทยฟูจิซีร็อกซ์จะมีการเปิดตัวศูนย์บริการงานพิมพ์ที่ออฟฟิศใกล้ถนนพัฒนาการ
โดยใช้เครื่อง Docuprint 4635 ซึ่งเป็นเลเซอร์ พรินเตอร์ความเร็วสูงรุ่นหนึ่งของซีร็อกซ์
สามารถพิมพ์งานได้หลากหลาย แบบ ความคมชัดสูงถึง 600 จุดต่อตารางนิ้ว ด้วยความเร็ว
135 หน้าต่อนาที และยังพิมพ์ได้ทั้งสองด้านของกระดาษที่เรียกว่า Duplex อีกด้วย
โดยจะมีการให้บริการพับใส่ซอง ด้วยเครื่องอัตโนมัติความเร็วสูง และจัดส่งไปรษณีย์ให้อีกด้วย
โดยบริษัทฯ จะให้การรับประกันเรื่องความปลอดภัยและความลับทางธุรกิจให้ลูกค้าอย่างเต็มที่
เช่น ใช้ระบบกล้องวงจรปิด ซึ่งตรวจสอบได้ตลอดเวลา เป็นต้น โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการเตรียมการเป็นศูนย์สำรองให้กับงานพิมพ์ของบริษัท
Advance Info Service จำกัด แบบ 24 ชั่วโมงเป็นรายแรก โดยคาดว่าจะดำเนินการได้ในราวเดือนสิงหาคมนี้เช่นกัน
ในอนาคต ชนะวัฒน์เปิดเผยว่าซีร็อกซ์มีแผนที่จะให้บริการลูกค้าแบบ On Site
Printing Service คือ ซีร็อกซ์จะวางระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ในสถานที่ของลูกค้าพร้อมบุคลากร
เพื่อให้ลูกค้าได้มีเวลาในการทำธุรกิจหลักของเขาอย่างเต็มที่
ดูเหมือนชนะวัฒน์จะมีสายเลือดซีร็อกซ์อยู่ในตัวมาก เขาอธิบายงานเรื่องงานเอกสารได้อย่างลึกซึ้งว่า
"งานพิมพ์เป็นงานที่สำคัญ ไม่ใช่แค่การพิมพ์อะไรลงบนกระดาษเท่านั้น
แต่เป็นเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารระหว่างเรากับลูกค้า เนื่องจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ทำให้บริษัทขนาดใหญ่ต่างๆ
แม้กระทั่งธนาคารลดปริมาณการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าโดยตรงลงอย่างมาก โดยเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติเสียมากกว่า
ไม่มีความใกล้ชิดกับลูกค้าเหมือนแต่ก่อน เหลือการติดต่อกันเพียงเดือนละครั้ง
คือการส่งใบแจ้งหนี้หรือแจ้งค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยงานของซีร็อกซ์คือทำอย่างไรให้เอกสารนั้นๆ
ที่ส่งให้ลูกค้ามีคุณค่าสูงสุด คือเอกสารมีประสิทธิภาพ เข้าใจง่าย ชัดเจน
แล้วยังสอดแทรกความสัมพันธ์อันดีไปยังลูกค้าด้วยรูปแบบต่างๆ ในเอกสาร เช่น
ข้อเสนอพิเศษสุด หรือบริการแบบใหม่ๆ ให้ลูกค้า โดยไม่ลืมถึงการสร้างภาพลักษณ์อันดีให้ลูกค้ามั่นใจ
โดยแสดงจากคุณภาพของเอกสารที่เราส่งออกไป ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ใบแจ้งหนี้เท่านั้น"
ด้วยสโลแกน The Document Company บริษัทไทยฟูจิซีร็อกซ์ได้ขยายกิจการออกมาอย่างมาก
แม้ธุรกิจหลักในตอนนี้ยังเป็นเรื่องของเครื่องถ่ายเอกสาร แต่เป้าหมายของซีร็อกซ์คือในปี
ค.ศ.2000 ผลิตภัณฑ์ของซีร็อกซ์จะเป็นดิจิตอลทั้งหมด
ระบบดิจิตอลนั้น รวมไปถึงเครื่องถ่ายเอกสารระบบใหม่ ที่สามารถต่อเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์ต่างๆ
ได้โดยตรง หรือใช้ network card ทำให้เครื่องถ่ายเอกสารตัวนั้นๆ เพิ่มขีดความสามารถในการพิมพ์จากคอมพิวเตอร์ได้
(จากเดิมที่เมื่อเสียบปลั๊กไฟแล้ว ก็ไม่คุยกับใคร ทำหน้าที่ถ่ายเอกสารอย่างเดียว)
ขณะเดียวกันก็มีเครื่องสแกนเนอร์อยู่ในตัวไว้ทำหน้าที่สแกนภาพ และยังสามารถส่งแฟกซ์ได้ในตัวเดียวกัน
ดังนั้นเครื่องถ่ายเอกสารยุคใหม่ของซีร็อกซ์จึงเรียกว่า Digital Copier ที่ทำหน้าที่ได้หลากหลาย
ซึ่งเราเรียกว่าระบบ Multifunction ชนะวัฒน์กล่าว
นอกจากเครื่องถ่ายเอกสารที่ทำหน้าที่ได้หลายประเภท และเครื่องเลเซอร์พรินเตอร์แล้ว
ซีร็อกซ์ยังมีเครื่องระบบสีที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ A color หรือ DocuColor
ซึ่ง เป็นทั้งเครื่องถ่ายเอกสารและพรินเตอร์สี
สำหรับโปรดักส์ไลน์ล่าสุดที่จะนำเข้ามาในไตรมาส 3 ปีนี้คือ DocuTech ซึ่งเป็นได้ทั้งเครื่องพิมพ์และถ่ายเอกสารขนาดใหญ่
โดยสามารถพิมพ์งานออกมาเป็นเล่มได้ในขั้นตอนเดียว ชนะวัฒน์เปิดเผยว่า "ตัวนี้จะรุกตลาดโรงพิมพ์
ไม่ว่าจะของเอกชนหรือโรงพิมพ์รัฐ ใช้เทคโนโลยีคล้าย Production Laser Printer
แต่มีอุปกรณ์เพิ่มเติมทำให้งานพิมพ์ออกมาเป็นเล่ม โดยเป็นระบบ Print on Demand
ซึ่งจะตรงกับความต้องการของตลาดในปัจจุบัน"
บริษัทแม่ของซีร็อกซ์อยู่ในสหรัฐฯ ชื่อ Xerox Corporation แล้วขยายธุรกิจมาเติบโตในยุโรป
มาร่วมกับบริษัท Rank Corporation ก่อตั้งเป็นบริษัท Rank Xerox ดูแลในโซนยุโรป
แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น Xerox Limited โดย Xerox Corporation เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งหมด
ส่วนในเอเชียนั้น ซีร็อกซ์ร่วมมือกับฟูจิฟิลม์ ก่อตั้งบริษัท Fuji Xerox
เพื่อดูแลตลาดเอเชียรวมทั้งออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งก็มีการตั้งบริษัท
ฟูจิ ซีร็อกซ์ ออสเตรเลีย, ฟูจิ ซีร็อกซ์ นิวซีแลนด์, ฟูจิ ซีร็อกซ์ สิงคโปร์,
ฟูจิ ซีร็อกซ์ มาเลเซีย, ฯลฯ รวม 9 ประเทศในเอเชีย ส่วนในไทยนั้น ชนะวัฒน์อธิบายว่า
"เราไม่ได้ใช้ชื่อ ฟูจิ ซีร็อกซ์ ไทยแลนด์ เพราะว่าเราเป็นบริษัทร่วมทุน
ไม่ได้เป็นสาขา โดยคนไทยถือสัดส่วน 51% มีบริษัท ศรีปวิธ จำกัด และ สนง.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นต้น โดยมี ม.ล.อัศนี ปราโมช เป็นประธานกรรมการฯ ส่วนฟูจิ
ซีร็อกซ์ ถือหุ้นที่เหลือ 49% ดังนั้นจะเห็นว่าโครงสร้างการถือหุ้นของเรามีความมั่นคงมาก"
ด้านผลิตภัณฑ์นั้นมีการนำเข้ามาจากหลายทาง เครื่อง ใหญ่จะมาจากยุโรปและอเมริกา
ไม่ได้มาจากญี่ปุ่นเพราะว่าญี่ปุ่นใช้เทคโนโลยีการเก็บข้อมูลแบบ double bite
แต่ไทยใช้ระบบการเก็บข้อมูลเป็น single bite ซึ่งเป็นระบบเดียวกับของอเมริกาและยุโรป
นอกจากนี้ซีร็อกซ์ยังเป็นรายแรกๆ ที่ทำเรื่องภาษาไทย โดยเฉพาะบนเครื่องขนาดใหญ่ที่มีการทำมา
5 ปีแล้ว และก็มีลูกค้ารายใหญ่ๆ ใช้ อย่าง Sony และ Amex ใช้เป็นรายแรกๆ
และในปี 1998 นี้ ซีร็อกซ์จะมีการเปิดตัวเทคโนโลยีการพิมพ์ภาษาไทยของเลเซอร์พรินเตอร์ขนาดเล็ก
ชนะวัฒน์อธิบายว่า "เราพัฒนาเลเซอร์พรินเตอร์ขนาดเล็กที่ต่อเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์
แล้วพิมพ์ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องได้เลย ขณะที่ยี่ห้ออื่นยังต้องอิงวินโดว์อยู่
ซึ่งระบบที่ว่านี้อาจเป็นได้ทั้ง IBM AS/400 หรือระบบ UNIX จริงๆ เราทำวิจัยเรื่องนี้มาเป็นปี
เราติดต่อเรื่อง Font ที่ถูกต้องเอง จดลิขสิทธิ์ตามกฎหมายทุกอย่าง เราทำวิจัยร่วมกัน
3 ประเทศคือไทย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ที่ศูนย์วิจัยของเรา ซึ่งกำลังจะออกวางตลาดในเร็วๆ
นี้" ชนะวัฒน์กล่าวฝากทิ้งท้าย