แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้เข้าร่วมมหกรรมฟุตบอลโลกที่ประเทศฝรั่งเศสโดยตรงก็ตาม
แต่ อาการฟีเวอร์ของคนไทยที่ติดตามชมการแข่งขันฟุตบอลโลกก็ไม่น้อยหน้าไปกว่าชาติไหนๆ
ในโลก นอกจากจะได้ดูการฟาดแข้งกันสดๆ แล้ว ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับฟุตบอลโลกที่ทางผู้จัดการแข่งขันผลิตออกมายั่วน้ำลาย
ก็คึกคักไม่แพ้เกมในสนาม
การผลิตผลิตภัณฑ์ออกมาควบคู่กับการแข่งขันฟุตบอลโลกในแต่ละครั้งนั้น นับว่าเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต
โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เป็นสัญลักษณ์ สำหรับการแข่งขัน ที่สำคัญยังเป็นตัวสร้างเม็ดเงินเข้ากระเป๋า
ให้กับผู้จัดการแข่งขันได้อย่างมหาศาลทีเดียว และปีนี้ก็เช่นเดียวกัน ประเทศฝรั่งเศสได้นำไก่ตัวผู้เป็นสัญลักษณ์ในการแข่งขันและเป็นตัวนำโชคของการแข่งขัน
(Mascot) ซึ่งไก่ตัวนี้มีชื่อเรียกว่า Footix
คนไทยที่เป็นคอฟุตบอลและเป็นนักสะสมตัวยงคงจะรู้จักตัว Footix เป็นอย่างดี
เพราะมีจำหน่ายแทบทุกแห่งทั่วประเทศ แต่เชื่อหรือไม่ว่าผู้ผลิตตัว Footix
คือฝีมือคนไทย
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ!!!
และผู้ผลิตก็คือ บริษัท เอ็ดดู พลัส จำกัด ภายใต้การนำของ ดารณี เหล่าสุนทร
ในฐานะเจ้าของบริษัท และน้องสาว คือ กัลยาภา เลขวณิชธรรมวิทักษ์
"ความจริงแล้วเราไม่เคยประชาสัมพันธ์เลย แต่บังเอิญเราไปติดต่อธุรกิจกับกระทรวงต่างประเทศ
แล้วเล่าเรื่องตัว Footix ให้เขาฟังว่าโรงงานเราเป็นผู้ผลิต เมื่อเขาทราบ
ก็อยากจะโปรโมตว่าคนไทยก็มีฝีมือที่สามารถทำงานในระดับโลกและเป็นที่ยอมรับได้"
กัลยาภา กล่าว
เธอเล่าต่อไปว่าในครั้งแรก เอ็ดดู พลัส ไม่ได้รับให้เป็นผู้ผลิต เพราะทางฝรั่งเศสได้พิจารณาให้บริษัทในเกาหลีใต้เป็นผู้ผลิต
แต่ในช่วงนั้นเกาหลีใต้มีปัญหาด้านต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะค่าแรงงาน จึงต้องหาผู้ผลิตรายใหม่
"ที่เราได้ผลิต เพราะมี connection กับ Sony Creative ของญี่ปุ่น
ซึ่งเป็น Creative ให้กับผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลโลก เขาจึงให้ทดลองผลิตแล้วส่งไปให้พิจาร-ณา
ในที่สุดเขาพอใจในผลงาน เราจึงได้รับว่าจ้างให้ผลิตตัว Footix คิดว่าที่เรารับงานในครั้งนี้
เนื่องจากต้นทุนการผลิตต่ำ วัตถุดิบสามารถหาได้ในประเทศ ส่วนสัญญาว่าจ้างเขาให้ผลิตทั้งสิ้นจำนวน
2 ล้านตัว และได้รับค่าเหนื่อยประมาณ 150 ล้านบาท" กัลยาภา กล่าวอย่างภูมิใจ
และขณะนี้เอ็ดดู พลัส ได้ทำการส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่จะเป็นสัญลักษณ์การแข่งขันกีฬาโอลิมปิค
ปี 2000 ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งกัลยาภาคาดว่ามีความเป็นไปได้สูงมาก
ที่บริษัทจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกีฬาโอลิมปิคครั้งนี้
"เราจะช่วยในแง่การวิจัยและพัฒนา (R&D) และการผลิต แต่ต้องรอดูหลักเกณฑ์ว่าเขาจะพิจารณากันอย่างไร
บางทีเราอาจจะช่วยได้เฉพาะบางส่วนเท่านั้น" กัลยาภา กล่าว
ส่วนการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ที่ประเทศไทยจะจัดขึ้นในปลายปี 2541 ทางเอ็ดดู
พลัส สนใจที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมหรือไม่นั้น กัลยาภา เปิดเผยว่า คงจะลำบากบ้างพอสมควร
เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของบริษัทไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในประเทศ เพราะตลาดส่วนใหญ่จะอยู่ในต่างประเทศ"
เขาเข้ามาติดต่อเหมือนกัน ซึ่งก็แล้วแต่ผู้จัดการแข่งขันว่าจะพิจารณาว่าจะให้เราทำหรือไม่"
สำหรับการก่อกำเนิดของบริษัท เอ็ดดู พลัส เกิดมาพร้อมกับบริษัท เอ็ดดู
ทอย จำกัด เมื่อปี 2530 โดยเอ็ดดู พลัส จะรับจ้างผลิตของเล่นประเภทผ้า หรือเรียกว่า
soft toy ส่วนเอ็ดดู ทอย รับจ้างผลิตของเล่นประเภทไม้ หรือ wood toy ก่อตั้งโดยดารณี
ที่หอบปริญญาด้าน Industrial Design จาก Pratt Institute จากอเมริกา ก่อนหน้านี้เธอทำงานออกแบบด้านบรรจุภัณฑ์ให้กับบริษัทผลิตภัณฑ์น้ำหอม
Carenne
"หลังจากพี่สาวแต่งงานและมีลูกก็เริ่มสนใจอยากจะทำงานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เด็กๆ
และการศึกษา จึงได้ลาออกและมาตั้งบริษัทเอง ซึ่งในช่วงปีแรกๆ จะรับจ้างผลิตของเล่นประมาณ
1,000 ชิ้นต่อเดือน โดยเน้นลูกค้าต่างประเทศ" ส่วนกัลยาภา เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์
ซึ่งเธอจบปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจจาก Boston University
บริษัททั้ง 2 แห่ง มีทุนจดทะเบียนแห่งละ 60 ล้านบาท ล่าสุดสามารถผลิตของเล่นได้ประมาณ
10,000 ชิ้นต่อวัน โดยผลิตภัณฑ์หลักจะเน้นเกี่ยวกับการศึกษา โดยเริ่มจากเด็กอายุตั้งแต่
6 ขวบขึ้นไป ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวดารณีได้รับแนวความคิดมาจากประเทศเยอรมนี
โดยเป็นระบบการศึกษาที่ไม่เหมือนประเทศไทยในปัจจุบัน
"ระบบการศึกษาในต่างประเทศจะใช้อุปกรณ์ เช่น ของเล่นหรือเสียงเพลง ประกอบในการสอนด้วย
และเราก็เชื่อในระบบการศึกษาแบบนั้นมากกว่า และนี่คือจุดเริ่มต้นของบริษัททั้ง
2 แห่ง" กัลยาภา กล่าว
ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยว่าตลาดของเล่นของทั้ง 2 แห่งเกือบทั้งหมดจะอยู่ในต่างประเทศ
โดยเฉพาะอเมริกาและยุโรป ส่วนตลาดเอเชียก็มีฮ่องกงและไต้หวัน ซึ่งที่ผ่านมาสามารถทำยอดขายได้ประมาณ
100-200 ล้านบาทต่อปี โดยบริษัทจะทำการผลิตตามออร์เดอร์เท่านั้น แต่เมื่อปีที่ผ่านมาบริษัทเริ่มผลิตของเล่นโดยใช้แบร์นเนมตัวเองบ้างแล้ว
อย่างไรก็ตามในขณะนี้บริษัทก็เริ่มหันมาสนใจตลาด ในเมืองไทยมากขึ้น โดยเริ่มจากเข้าไปแนะนำพ่อแม่ของเด็กๆ
หรือครูสอนตามโรงเรียนต่างๆ ให้เห็นความสำคัญของระบบการศึกษาด้วยวิธีดังกล่าว
"เราจะเจาะตลาดไทยโดยเริ่มจากการเทรนคนก่อน แต่ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละโรงเรียนด้วยว่าพร้อมแค่ไหน
ซึ่งเราตั้งเป้าหมายในเรื่องรายได้มากพอสมควร ที่สำคัญทางกระทรวงศึกษาธิการเข้ามาช่วยเหลือในด้านการรับรองผลิตภัณฑ์ของเรา"
กัลยาภา กล่าว
นอกจากนี้บริษัทกำลังมีแผนจะขยายไลน์การผลิตออกไป ด้วยการผลิตเฟอร์นิเจอร์สำหรับเด็ก
โดยจะเน้นตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ "ตอนนี้เราลองตลาดแล้ว ปรากฏว่ามีออร์เดอร์มาบ้างแล้ว
ล็อตแรกสั่งมาแล้วประมาณ 50,000 ชิ้น ส่วน soft toy ก็จะมี design ใหม่ๆ
เช่น ที่นอนสำหรับวัยเด็ก"
นอกจากธุรกิจของเล่นแล้ว กัลยาภา ยังได้ก่อตั้งบริษัท พี สแควร์ โฮลดิ้ง
จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจรับจ้างวาง Net Work และทำ Home Page โดยบริษัทดังกล่าวเริ่มเมื่อ
2 ปีที่ผ่านมา มีทุนจดทะเบียน 15 ล้านบาท
"เรารับจ้างทำ Home Page ให้บริษัทเอกชนทั่วๆ ไป แต่ตอนนี้เริ่มมีหน่วยงานราชการมาติดต่อเรามากขึ้น
สาเหตุที่แยกออกมาทำธุรกิจนี้เพราะจะส่งผลดีต่อธุรกิจของเราได้ เพราะถ้ามี
Home Page ของตัวเองสามารถขายของบนอินเตอร์เน็ตได้ หมายความว่าช่องทางการจำหน่ายจะมีมากขึ้น"
กัลยาภา กล่าวทิ้งท้าย
คงจะกล่าวได้ว่าความสำเร็จดังกล่าวของสองพี่น้อง เกิดจากการทำงานด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ
และที่ขาดไม่ได้ที่บุคคลทั้งสองมีสำหรับการดำเนินธุรกิจนั่นก็คือ Connection
นับว่ามีมากพอสมควร