Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2541
เสี้ยวชีวิตอันขื่นขม : เบื้องหลังความสำเร็จของ พนม ฉัตรานนท์             
 


   
search resources

พนม ฉัตรานนท์




เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เด็กหนุ่มไฟแรงอย่าง พนม ฉัตรานนท์ ดีกรีนอกจากฟิลิปปินส์ ได้เริ่มต้นชีวิตการทำงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน GTE DIRECTORIES CORP. ผู้จัดพิมพ์สมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์รายแรกของประเทศไทย โดยได้รับสัมปทานจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) เป็นเวลา 17 ปี และ GTE นี่เองที่ทำให้คนไทยได้รู้จักกับสัญลักษณ์เยลโล่เพจเจจ หรือที่เรียกกันติดปากมาจนถึงปัจจุบันว่าสมุดหน้าเหลือง ซึ่งเป็นสมุดรายชื่อผู้เช่าโทรศัพท์ที่แบ่งเป็นหมวดธุรกิจประเภทต่างๆ นอกเหนือจากสมุดหน้าขาวที่มีรายนามผู้เช่าโทรศัพท์ทั่วไป

พนมจับงานขาย ซึ่งเป็นหัวใจของบริษัทนี้เป็นงานแรก เขาเริ่มไต่เต้าจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายขาย เป็นหัวหน้าฝ่ายขายเป็นผู้จัดการฝ่ายขาย และผู้อำนวนการฝ่ายขาย รวมทั้งรักษาการกรรมการผู้จัดการ ในยามที่กรรมการผู้จัดการซึ่งเป็นชาวอเมริกันเดินทางกลับประเทศ ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนที่บริษัทจะปิดตัวลงเมื่อปี 2530

เป็นเวลากว่า 20 ปี ที่เขาได้เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ด้านงานขายจาก GTE ทำให้เขามีความผูกพันและรักองค์กรนี้มาก จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่งหัวใจของพนมแทบจะสลาย เมื่อบริษัทเขาถูกคำสั่งฟ้าผ่าให้ปิดการดำเนินงานสืบเนื่องมาจากเมื่อสิ้นปีที่ 17 ตามอายุสัมปทานที่ได้จาก ทศท. จะต้องมีการเปิดประมูลใหม่ โดยการประมูลครั้งนั้นมี AT&T ซึ่งเป็นบริษัทเทเลคอมยักษ์ใหญ่ของอเมริกาเข้าร่วมประมูลแข่งด้วย ในเงื่อนไขผลประโยชน์ที่สูงกว่า GTE ถึง 3 เท่า แต่พนมก็ไม่หวั่นวิตกใดๆ เพราะสเป็กการทำสมุดรายนามของ AT&T ไม่ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ เขาจึงเดินหน้าการประมูลต่อไป แต่แล้วการประมูลครั้งนั้นก็ต้องมีการยกเลิกไปด้วยเหตุผลอันใดไม่มีใครทราบ และหลังจากนั้นก็ได้มีการจัดประมูลขึ้นใหม่ โดยมีคณะกรรมการพิจารณาชุดใหม่รวมทั้งได้มีการแก้ไข สเป็กให้เป็นไปตามที่ AT&T เสนอมา เป็นเหตุให้ AT&T ชนะการประมูลในครั้งนั้นไปอย่างง่ายดาย

เมื่อเหตุการณ์ออกไปในรูปนั้น มีทางเลือกสำหรับ GTE 2 ทาง คือ ปิดบริษัทม้วนเสื่อกลับบ้าน หรือดำเนินธุรกิจอื่นต่อ ซึ่งในขณะนั้น GTE มีพนักงานร่วม 300 ชีวิต ทางคณะผู้บริหารจึงเลือกที่ดำเนินธุรกิจในเมืองไทยต่อไป โดยหันไปทำ BUSINESS DIRECTORIES แทน คือ เป็นสมุดธุรกิจอิสระ มีแต่รายชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของร้านค้าไม่เกี่ยวกับสมุดรายนามโทรศัพท์ที่ ทศท.ให้สัมปทาน

หลังจากที่ GTE ดำเนินงานต่อไปได้ 3 ปี ปรากฏว่า AT&T ประสบกับปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ไม่สามารถจ่ายค่าสัมปทานให้แก่ ทศท. ได้ตามกำหนด โดยให้เหตุผลว่า GTE เป็นคู่แข่งที่ทาง AT&T ไม่รู้มาก่อน ทำให้มีการแย่งลูกค้าลงพื้นที่โฆษณาในสมุดหน้าเหลือไป เนื่องจากลูกค้าสมุดหน้าเหลืองส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับ GTE มากกว่า และในที่สุดเพื่อเป็นการยุติปัญหานี้ ทาง ทศท.จึงได้ออก พ.ร.บ.องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยในปี 2530 โดยมีใจความสำคัญว่า "...ผู้ใดก็ตามที่นำรายชื่อของผู้เช่าโทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์ไปตีพิมพ์ จะต้องได้รับอนุญาตจากองค์การโทรศัพท์ก่อน

ไม่ต้องมีคำอธิบายใดๆ สำหรับ GTE อีกต่อไป ผู้คนกว่า 300 ชีวิตต่างต้องแยกกันเดินตามเส้นทางของตนเอง พนมในฐานะหัวเรือใหญ่ หรือเบอร์ 2 ในขณะนั้นถึงกับช็อก

"เป็นเหตุการณ์ที่เศร้าสุดในชีวิต ที่จำใจต้องจากบริษัทซึ่งผมทำงานมาด้วยนานถึง 21 ปี เพราะบริษัทต้องปิดตัวลง มิใช่เพราะการทำงานที่ล้มเหลวหรือผิดพลาด แต่เป็นเพราะไม่สามารถท้าทายอำนาจรัฐใจขณะนั้นได้ ช่วงนั้นผมเสียใจมาก เบลอไปหมด ชนิดที่ขับรถไปตามทางยังไม่รู้เลยว่าอยู่บนถนนเส้นไหน ต้องขับตามเขาไป และทุกวันนี้เวลาที่คิดถึงวันเก่าๆ ก็มีสะกิดใจบ้างเหมือนกัน เหมือนมันเพิ่งเกิดเมื่อปีที่แล้วนี้เอง แต่วันเวลาผ่านไปก็เป็นเครื่องเยียวยาพอให้เราลืมไปได้บ้าง "พนมเล่าถึงเหตุการณ์ฝังใจเมื่อครั้งอดีตด้วยน้ำเสียงที่ขมขื่น

แม้ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นจะเกิดมานานกว่า 10 ปีแล้วแต่ยังคงอยู่ในความทรงจำของ พนม จวบจนทุกวันนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่มีความผูกพันกับองค์กรแรกที่ตนเข้าไปทำงาน โดยไม่มีอุปสรรคไม่มีคู่แข่งและการเปลี่ยนแปลงมาร่วม 20 ปี พอเกิดเหตุการณ์ฟ้าผ่าขึ้นมาย่อมขวัญกระเจิงไปบ้าง

อย่างไรก็ดี ในช่วงปีแรกหลังจากวันวิปโยคของเขาเขาได้เข้าไปร่วมงานกับบริษัท ฟิลิป มอริส ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภครายใหญ่ของโลก สินค้าเด่นดังที่รู้จักกันทั่วโลก อาทิ บุหรี่มาร์ลโบโร ช็อกโกแลต ทรอเบอโรน เป็นต้น โดยในช่วงนั้นเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจาก พล.อ. เปรมมาเป็น พล.อ.ชาติชาย ซึ่งกำลังมีกรณีพิพาทเรื่องมาตรา 301 กับอเมริกาที่หาว่าไทยกีดกันสินค้าของอเมริกา คือ บุหรี่มาร์ลโบโรที่อเมริกาพยายามจะผลักดันเข้ามา และอเมริกาขู่จะตัด GSP ไทย ในที่สุดรัฐบาลไทยก็ต้องยอมเปิดเสรีนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศ พนมได้เฝ้ามองเหตุการณ์นั้นอย่างใกล้ชิด โดยมีความคิดว่าต้องเข้าไปทำงานกับฟิลลิป มอริสให้ได้ ซึ่งที่สุดความหวังเขาก็เป็นจริง ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายขายคนแรกของฟิลลิป มอริส (ประเทศไทย)

"ตอนนั้นผมมีความคิดว่า อะไรที่รัฐบาลไม่ชอบผมจะทำ คุณปิด GTE ได้แล้วคุณมีปัญญาปิดบุหรี่นี่ไหม นั่นเป็นสาเหตุหลักที่ผมตัดสินใจเข้าไปขายบุหรี่ ทั้งๆ ที่ผมเกลียดบุหรี่ที่สุด" นี่คือความคิดของพนมในช่วงที่ยังทำใจไม่ได้กับอดีตของเขาและหลังจากทำได้หนึ่งปี อาการแค้นก็เริ่มทุเลาลงเขาเริ่มกลับมามองโลกในแง่ดีขึ้นว่า "จะแค้นอะไรกันนักหนา" เพราะรัฐบาลชุดนี้ก็ไม่รู้เรื่องกับรัฐบาลชุดเก่า ทุกอย่างที่ทำไปก็เพื่อประโยชน์ของประเทศไทย เขาจึงไม่อยากฝืนใจตนเองที่ต้องมาขายของที่ตนเองเกลียด และเท่ากับเป็นผู้หยิบยื่นสิ่งที่ไม่ดีต่อสังคม ด้วยการขอลาออกจากฟิลลิป มอริส ซึ่งพนมยอมรับว่า แม้จะทำงานกับฟิลลิป มอริสแค่ปีเดียว แต่เขาก็ได้เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ด้านการขายคอนซูเมอร์โปรดักส์มากทีเดียว

จากการที่พนมอยู่ในสายงานการขาย การตลาดมาเป็นเวลานาน ประกอบกับชื่อเสียงและฝีมืออันเป็นที่ยอมรับของต่างชาติ จนทำให้เขากลายเป็นนักขายมืออาชีพที่หลายบริษัทต่างจ้องจะฉกตัวเขาไปทำงานให้

ในปีถัดมาเขาได้รับการชักชวนให้ไปร่วมกับเดอะเนชั่นในตำแหน่งผู้อำนวยกรฝ่ายพัฒนาตลาด และในปีเดียวกันเขาก้ได้รับการโปรโมตให้เป็นกรรมการผู้จัดการคนแรกของเนชั่น บุ๊คส์ และสองปีต่อมาเครือเนชั่นได้มีการปรับโครงสร้างบริษัทใหม่ โดยกลายเป็น โฮลดิ้ง คอมพานี เขาได้ถูกดึงตัวไปรับหน้าที่เป็นรองกรรมการอำนวยการ ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายที่เนชั่น

เป็นความบังเอิญอย่างหนึ่งของพนมที่เขามักจะเป็นผู้บุกเบิกบริษัทใหม่ๆ โดยเข้าไปเป็นผู้บริหารของบริษัทนั้นๆ ใน DAY ONE ที่แพรนด้า จิวเวลรี่ก็เช่นเดียวกับ 3 บริษัทแรก โดยที่บริษัทนี้สามารถเรียกได้ว่าเขาเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งบริษัทพีม่าโกลด์ เลยย่อมได้ เพราะเขาเข้ามาส่วนในผลิตภัณฑ์ใหม่ของกลุ่มแพรนด้าตั้งแต่ช่วงที่ทำงานอยู่ที่ เดอะ เนชั่นแล้วในตำแหน่งที่ปรึกษาของแพรนด้า เนื่องจากในช่วงนั้นแพรนด้าได้รับสิทธิพิเศษ BOI และในรัฐบาลยุคนั้นมีนโยบายให้บริษัทที่ได้รับ BOI ผลิตสินค้าขายในประเทศได้ 20% ซึ่งแพรนด้าได้เปรียบในแง่ของต้นทุนสินค้าที่ถูกมากอยู่แล้ว ขาดแต่เพียงประสบการณ์ในการขายและทำการตลาดในประเทศเท่านั้น พนมจึงเป็นคนหนึ่งที่ถูกจับตามองมาตั้งแต่สมัยที่เริ่มงานที่ GTE และเขาเองที่เป็นคนริเริ่มโครงการพรีม่า โกลด์ขึ้นมากับมือ

พนม นั่งเป็นที่ปรึกษาให้กับแพรนด้าฯ จนกระทั่งสินค้าของพรีม่าโกลด์ได้ออกวางตลาดเมื่อปี 2535 จากนั้นสิ้นค้าตัวใหม่นี้ได้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก จากที่เริ่มต้นเพียง 1-2 สาขา และมีพนักงานไม่ถึง 10 คน ได้เพิ่มขึ้นเป็น 100 คนในช่วงเวลาเพียงสองปีครึ่งเท่านั้น นอกจากนั้นทาง แพรนด้าฯ ยังมีแผนที่จะขยายตลาดพรีม่าโกลด์ไปสู่ต่างประเทศอีกด้วย ผู้บริหารของแพรนด้าจึงมีความต้องการให้พนมมานั่งทำงานให้อย่างเต็มตัว จนในที่สุดเมื่อปลายปี 2537 พนมยอมสละเก้าอี้ที่เดอะ เนชั่น มานั่งเก้าอี้ตัวใหม่ที่แพรนด้าฯ สำนักงานใหญ่ โดยรับผิดชอบตลาดในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกก่อน รวมทั้งดูแลนโยบายและการบริหารให้กับพรีม่าโกลด์ด้วย จากนั้นเขาก็ได้รับการโปรโมตให้เข้ารับผิดชอบพรีม่าโกลด์เต็มตัว ในตำแหน่งของกรรมการผู้จัดการบริษัทพรีม่าโกลด์ จำกัด จนถึงปัจจุบัน

สำหรับสาเหตุที่พนมตัดสินใจมาทำงานที่แพรนด้าฯ คือ การที่เขามีส่วนสร้างพรีมาโกลด์มากับมือ ซึ่งในตอนนั้นเขาไม่คิดว่าทางแพรนด้าจะจดทะเบียนตั้งเป็นบริษัทพรีม่าโกลด์ขึ้นมา เพื่อให้เขาดูแลโดยเฉพาะ เพราะแพรนด้าฯ มีสินค้าตัวอื่นอีกตั้งมากมาย และที่สำคัญกว่านั้นคือ "ตลาดต่างประเทศ" ที่ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันของชายหนุ่มเลือดนักขายผู้นี้หลังจากที่คลุกคลีกับตลาดในประเทศมานาน

"ในความคิดของผม ตลาดในประเทศเหมือนการจับปลาในอ่าวไทย ซึ่งตอนนี้ไม่มีปลาให้จับแล้ว ผมว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องออกไปจับปลาในมหาสมุทรบ้าง เพราะน่านน้ำสากลมีปลาให้จับเยอะแยะไม่มีที่สิ้นสุด และประเทศชาติจะเจริญได้ ต่อเมื่อเรามีการค้าระหว่างประเทศที่เข้มแข็ง เราต้องก้าวไปสู่ตลาดสากลได้แล้ว" นี่คืออีกมุมมองหนึ่งของพนม

"พรีม่าโกลด์" เกิดจากตลาดในประเทศ โดยเปิดเอ๊าท์เล็ตขายแห่งแรกที่ไทม์สแควร์เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา จากนั้นมีการขายตัวอย่างต่อเนื่องจนมีถึง 30 แห่งในปัจจุบันส่วนตลาดต่างประเทศนั้น ได้เริ่มบุกอย่างจริงจังเมื่อประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา โดยรุกไปที่อินโดนีเซียเป็นตลาดแรก ตามมาด้วยมาเลเซีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ดูไบ และตลาดในตะวันออกกลางอีกปลายประเทศ และปัจจุบันมีเอ๊าท์เล็ตพรีม่าโกลด์เกือบ 200 ใน 10 ประเทศ โดยเฉพาะในเอเชียและตะวันออกกลาง

นอกจากนั้น พนมได้วางนโยบายระยะยาวที่ชัดเจนอีกว่า ต้องการสร้างชื่อของ "พรีม่าโกลด์" ให้เป็นแบรนด์ระดับนานาชาติ เฉกเช่นแบรนด์ระดับโลก เช่น คริสเตียนดิออร์ กุชชี่ โรเล็กซ์ หรือบัลลี่ เป็นต้น โดยเขามองเห็นลู่ทางว่า ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการผลิตและประดิษฐ์สินค้าทองรูปพรรณ 24K ได้อย่างประณีตสวยงามไม่แพ้ประเทศอื่น ยิ่งกว่านั้น พรีม่าโกลด์ยังมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดดูไบที่กำลังมาแรง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะสร้างให้ "พรีม่าโกลด์" กลายเป็นพรีเมียมแบรนด์ระดับนานาชาติที่ระบุว่า "เมด อิน ไทยแลนด์"

"คิดดูสิ คนที่ซื้อกระเป๋ายี่ห้อดังๆ ใบละ 3-4 หมื่นบาทอย่างหน้าตาเฉย ทั้งที่มีต้นทุนสินค้าจริงๆ ไม่กี่พันบาทนอกนั้นบวกเป็นค่าแบรนด์ และคนที่ซื้อนาฬิกายี่ห้อดังๆ ราคาเป็นแสนเป็นล้านก็มีให้เห็นเยอะไป ต้นทุนพวกนี้ก็อาจไม่ถึง 20% คิดเอาเองว่า เจ้าของสินค้าจะได้กำไรจากการขายสินค้าของตนขนาดไหน เราเองก็อยากได้อย่างนั้นกับเขาบ้าง" พนมกล่าว

ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมาก ทำให้กำลังซื้อในประเทศลดลง ส่งผลให้ยอดขายในประเทศของพรีม่าโกลด์ลดลงไปอย่างฮวบฮาบ แต่โชคยังดีที่พรีม่าโกลด์มีตลาดต่างประเทศมาช่วยไว้ โดยสัดสว่นรายได้ต่างประเทศต่อในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 70:30

เวลาที่เหลือต่อจากนี้ เป็นเวลาของพนมที่จะต้องเร่งสร้างบุคลากรที่มีความสามารถ ที่จะมานั่งทำหน้าที่แทนเขาได้ในวันที่เขาเกษียณตัวเองจากพรีม่าโกลด์ ซึ่งพนมได้ให้เหตุผลว่า "ผมทำงานมาเป็นเวลานานร่วม 30 ปี ถึงเวลาที่จะเกษียณตัวเองได้แล้ว ให้คนรุ่นใหม่ได้ขึ้นมาทำหน้าที่แทนผมจะได้ไปทำในสิ่งที่อยากทำให้กับตัวเองบ้าง โดยเฉพาะงานเขียนหนังสือ ซึ่งเป็นผลงานที่ผมรักมาก"

แม้ว่า พนมมีแผนจะวางมือจากงานมือปืนรับจ้างที่ทำให้กับคนอื่นมาตลอดทั้งชีวิต แต่ใช้ว่าหลังจากนั้นเขาจะไม่ทำอะไรเลย เพราะธรรมชาติของเขาไม่สามารถที่จะอยู่นิ่งเฉยได้ การเขียนและการสอนหนังสือจะกลายมาเป็นงานในบั้นปลายชีวิตของเขาต่อไป และบาดแผลในวันเก่าๆ ของเขา ยังเป็นเครื่องเตือนใจให้เขาใช้สอนคนรุ่นหลัง ให้ไม่ยอมแพ้กับโชคชะตาที่มาเล่นบทร้ายบ้างในช่วงของชีวิต เพื่ออนาคตที่ดีในวันข้างหน้า

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us