กาลครั้งหนึ่งอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยเจิดจรัสไปทั่วโลก สามารถสร้างรายได้กลับเข้าประเทศแต่ละปีเป็นจำนวนเม็ดเงินมหาศาล
แต่วัฏจักรเศรษฐกิจมีขึ้นก็ต้องมีลง ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจทำให้ธุรกิจนี้เริ่มมีปัญหาและอุปสรรคขวางกั้น
หลายๆ บริษัทเริ่มขาดทุน ในที่สุดต้อง ปิดตัวเองลง หลายคนเชื่อว่าถ้าไม่รีบแก้ไข
โอกาสที่จะเห็นความหายนะของสิ่งทอไทยยังมีอยู่อีกต่อไป
16 กรกฎาคม 2541 วงการสิ่งทอไทยต้องเจอเหตุการณ์ประเภท"ช็อกซีนีม่า"
กันทั้งประเทศ เมื่อบริษัทไทย แมล่อนเท็กซ์ไทล์ จำกัด (TMT) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ
บมจ.ไทยแมล่อน โปลีเอสเตอร์ (TMP) ของสุกรี โพธิรัตนังกูร เจ้าพ่อสิ่งทอไทยได้ประกาศปิดกิจการแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย
ส่งผลให้พนักงานจำนวนเกือบ 5,000 คน ถูกลอยแพและไม่รู้ชะตากรรมของตัวเองในอนาคต
หลายคนยังมึนงงกับสาเหตุของผู้บริหารบริษัทฯ ที่สั่งปิดกิจการเพราะขาดสภาพคล่องทางการเงินจริงๆ
หรือว่าปิดเพื่อจะล้มบนฟูก เนื่องจากการบริหารงานผิดพลาดและความขัดแย้งกันของบรรดาเครือญาติ
ที่แน่ๆ ตัวที่ฉุดกระชากให้ TMP ดิ่งหัวลง คือ ผลการดำเนินงานที่เริ่มซวนเซมาตั้งแต่ปี
2536 โดยมีผลขาดทุนสุทธิ 137.83 ล้านบาท เนื่องจากราคาเส้นใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์ในตลาดโลกตกต่ำลง
ขณะที่ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น ทำให้บริษัทต้องประสบปัญหาด้านราคาจำหน่ายและรายได้ไม่เป็นไปตามเป้า
แต่มาในปี 2537 และ 2538 บริษัทมีผลกำไรสุทธิ 104.26 ล้านบาท และ 45.65 ล้านบาท
ตามลำดับ เนื่องจากราคาโพลีเอสเตอร์ในตลาดโลกฟื้นตัวและมีการขยายกำลังการผลิต
หลังจากนั้นเป็นต้นมาบริษัทมีผลประกอบการย่ำแย่มาตลอด ในปี 2539 บริษัทมีรายได้จากการขาย
1,311.22 ล้านบาท ต้นทุนขาย 2,112.51 ล้านบาท สินทรัพย์ รวม 9,221.96 ล้านบาท
หนี้สินรวม 7,520.84 ล้านบาท ขณะที่สินทรัพย์หมุนเวียน มีจำนวน 1,365.12
ล้านบาท แต่บริษัทมีหนี้สินหมุนเวียน 5,217.02 ล้านบาท ซึ่งบ่งบอกถึงการขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก
ส่งผลให้บริษัทขาด ทุนสุทธิ 1,311.73 ล้านบาท และขาดทุนสะสม 1,191.11 ล้านบาท
มาถึงปี 2540 สถานการณ์ยิ่งหนักมากขึ้น เมื่อรายได้จากการขายลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน
8.53% เหลือ 1,199.31 ล้านบาท ต้นทุนขายลด ลงจากปีก่อน 34.23% เหลือ 1,389.33
ล้านบาท สาเหตุมาจากบริษัทลดกำลังการผลิตลงเป็นการชั่วคราว
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนจาก งบการเงิน คือ บริษัทมีสินทรัพย์หมุนเวียน
834.21 ล้านบาท ขณะที่หนี้สินหมุนเวียนมีสูงถึง 7,815.64 ล้านบาท (มากกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน
6,981.43 ล้านบาท) ส่วนสินทรัพย์รวม มีจำนวน 8,753.71 ล้านบาท หนี้สินรวม
11,366.64 ล้านบาท (มากกว่าสินทรัพย์รวม 2,612.93 ล้านบาท เกิดจากการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยน
รวมทั้งดอกเบี้ยที่ค้างชำระและมียอดขาดทุนสะสมเกินทุน) ทำ ให้ขาดทุนสุทธิ
4,314.05 ล้านบาท และขาดทุนสะสม 5,505.16 ล้านบาท
ด้านสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท ปรากฏว่าอาการหนักมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี
2538-2540 อัตราหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น (D/E) 1.94 เท่า, 4.42 เท่า และ
(4.35 เท่า) ตามลำดับ Loan liquity 1.87 เท่า, 4.19 เท่า และ (3.99) เท่า
ตามลำดับ Gross Profit Margin 12.20%, (61.11%) และ (15.84%) ตามลำดับ Net
Profit Margin 1.76%, (100.04%) และ (359.71%) ตามลำดับ
สาเหตุที่ทำให้ TMP ออกอาการได้ถึงขนาดนี้เกิดจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก
โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย จึงทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอโดยรวม และอุตสาหกรรมเส้นใยสังเคราะห์ประสบภาวะขาดทุนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ปัญหาดังกล่าวมีผลต่อบริษัท ซึ่งเริ่มเรื้อรังมาตั้งแต่ปี 2538 ประกอบกับปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมากในภูมิภาคนี้
ส่งผลกระทบต่อราคาขายผลิตภัณฑ์เส้นใยสังเคราะห์ทุกชนิดลดลง ขณะที่ราคาวัตถุดิบไม่ว่า
จะเป็น PTA, DMT หรือ EG ไม่ได้ลดลงตามไปด้วย
เมื่อบริษัทไม่สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตเอาไว้ได้ ประกอบกับความต้องการและราคาเส้นใยโพลีเอสเตอร์ตกต่ำลงตั้งแต่ปี
2539 เป็น ต้นมา TMP จึงตัดสินใจหยุดการผลิตเส้นใยสั้น (Polyester Stable
Fiber) ลงตั้งแต่กลางปี 2540 ทั้งๆ ที่เส้นใยชนิดนี้เป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทด้วยกำลังการผลิต
200 ตันต่อวัน และกำลังมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 350 ตันต่อวัน แต่บริษัทยังคงเหลือการผลิตไว้เฉพาะเส้นใยยาว
(Polyester Filament Yarn) วันละ 70 ตันต่อวัน
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวแม้ว่า TMP จะมีส่วนแบ่งตลาด 16.70% ก็ตาม
แต่จากการปิดบริษัทลูกอย่าง TMT เชื่อกันว่าบริษัทแม่ย่อมกระทบด้วย อีกทั้งจากภาวะทางด้านเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น
จะส่งผลต่อเนื่องต่อไปอีกในอนาคตได้ แม้กระทั่งในรายงานผู้ตรวจสอบบัญชี ณ
วันที่ 31 ธันวาคม 2540 ยังให้ความเห็นเอาไว้ว่า จากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจอาจจะมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน
ตลอดจนความสามารถในการคงสภาพหนี้สิน หรือความสามารถในการจ่ายชำระหนี้เมื่อถึงกำหนดชำระ
"ปัจจัยเหล่านี้อาจจะมีผลกระทบต่อความดำรงอยู่ได้ และการดำเนินธุรกิจต่อไปของบริษัท
ขึ้นอยู่กับความสามารถที่จะหาเงินทุนให้เพียงพอเพื่อชำระหนี้ที่ถึงกำหนด
การเพิ่มทุนและการจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม" นี่คือความเห็นสั้นๆ ของผู้สอบบัญชี
ซึ่งเมื่ออ่านแล้วน่าจะทำให้ผู้บริหาร TMP สะดุ้งได้พอสมควร
ปัจจุบัน TMP กำลังเข้าข่ายอาจจะถูกเพิกถอนออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน
ซึ่งบริษัทกำลังหาที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อทำแผนฟื้นฟู คาดว่าจะลงตัวต้นปี
2542
บริษัทในเครือ ร่อแร่พอกัน
นอกเหนือจาก TMP ที่มีผลการดำเนินขาดทุน ยังมีบริษัทในเครือที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมทั้งผู้ถือหุ้นและการตลาด
ต่างมีผลการดำเนินงานไม่หนีจากบริษัททั้งสองเท่าใดนัก โดยเฉพาะ TMT ที่ได้ปิดกิจการไปแล้ว
ขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2536 ขาดทุนสุทธิ 126.55 ล้านบาท และปีล่าสุดปี
2539 ขาดทุนสุทธิ 970.72 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมี บริษัท ไทยทริ คอต จำกัด มีผลการดำเนินงานปี 2537-2539
ขาดทุนสุทธิ 63.98 ล้านบาท, 88.80 ล้านบาท และ 116.73 ล้าน บาท ตามลำดับ
บริษัท ไทยซินเทติค เท็กซ์ไทล์ จำกัด มีผลการดำเนินปี 2538-2539 ขาดทุนสุทธิ
111.42 ล้านบาท และ 89.95 ล้านบาท บริษัท ไทย คอตตอนมิลล์ จำกัด ขาดทุนสุทธิ
ปี 2536-2538 จำนวน 53.97 ล้านบาท, 14.85 ล้านบาท และ 88.80 ล้านบาท ส่วนปี
2539 มีกำไรสุทธิ 146.55 ล้านบาท ส่วนบริษัท ไทยอเมริกันเท็กซ์ไทล์ จำกัด
ก็มีผลการดำเนินงานขาดทุนมาตลอดแต่ไม่เปิดเผยตัวเลข
ซึ่งบริษัทในเครือเหล่านี้ต่างก็เป็นลูกค้าของบริษัทแม่ทั้งนั้น โดย TMP
มีปริมาณจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้บริษัทในเครือประมาณปีละ 5-30% ของกำลังการผลิตทั้งหมด
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าความล้มเหลวของการบริหารงานของบรรดาผู้บริหารในบริษัท
คือจุดเริ่มต้นของการถดถอย ยิ่งเมื่อมาเจอกับพายุเศรษฐกิจในปัจจุบันยิ่งส่งผลให้
TMP และบริษัทในเครืออาจจะเหลือเพียงแค่ความทรงจำเท่านั้น
TDT-TUNTEX น่าเป็นห่วง
หลังจากข่าวกลุ่มสิ่งทอของตระกูลโพธิรัตนังกูรปิดตัวไปแล้ว บรรดาเกจิอาจารย์วงการสิ่งทอได้ตั้งข้อสงสัยต่อไปว่าใครจะเป็นรายต่อไป
แต่อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน ดังนั้นคำถามนี้จึงยังไม่มีคำตอบในขณะนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อมองไปยังบริษัทที่ประกอบธุรกิจใกล้เคียงกับ
TMP คือ อุตสาหกรรมต้นน้ำ ได้แก่ เส้นใยสังเคราะห์ เส้นใยและเส้นด้ายยืดหยุ่นไนล่อนก็มีชะตากรรมที่ไม่ต่างกันเท่าใดนัก
บมจ.ไทยเกรียงสิ่งทอ (TDT) ผู้ผลิตและจำหน่ายด้ายทอและด้ายถักและถักผ้ามาเป็นเวลา
38 ปี หลังจากได้รับความสำเร็จอย่างมากครั้งในอดีต จนกระทั่งสามารถนำพาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ในปี 2535 ด้วยผลกำไรสุทธิสูงถึง 2,789 ล้านบาท แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาบริษัทไม่เคยได้ลิ้มลองกับคำว่ากำไรสุทธิอีกเลย
โดยในปี 2536-2539 ขาดทุนสุทธิ 216.75 ล้านบาท, 63.88 ล้านบาท, 249.86 ล้านบาท
และ 306.06 ล้านบาท ตามลำดับ ขาดทุนสะสม 442.08 ล้านบาท
ล่าสุดผลการดำเนินงานในปี 2540 ขาดทุนสุทธิ 243.24 ล้านบาท ขาดทุนสะสม
685.32 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขาย 1,141.26 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีที่แล้ว
14.18% ส่วนด้านฐานะทางการเงินบริษัทมีสินทรัพย์หมุนเวียน 434.35 ล้านบาท
ลดลงจากปีก่อน 30.11% หนี้ สินหมุนเวียน 725.88 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 6.84%
ส่วนสินทรัพย์รวมมีจำนวน 881.74 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 27.23% หนี้สินรวม
725.88 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 10.68%
สำหรับสภาพคล่องทางการเงินในช่วงปี 2538-2540 ปรากฏว่า D/E อยู่ที่ระดับ
0.93 เท่า, 2.04 เท่า และ 4.06 เท่า ตามลำดับ Gross Profit Margin (7.74%),
(9.18%) และ 1.21% ตามลำดับ Net Profit Margin (15.07%), (22.09%) และ (20.69%)
ตามลำดับ ROA (16.02%), (20.62%) และ (23.24%) ตามลำดับ ROE (30.10%), (55.43%)
และ (87.66%) ตามลำดับ
ตัวเลขดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของบริษัท เนื่องจากหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน
291.53 ล้านบาท และมีหนี้สินที่เกินกำหนดชำระเป็นจำนวน 380 ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ
ปัจจัยเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าอาจจะมีต่อการดำรงอยู่ของกิจการ
"ดังนั้นการดำเนินงานต่อไปของบริษัทขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำกำไร และการจัดหาเงินทุนมาชำระหนี้เมื่อถึงกำหนด"
คือความเห็นผู้สอบบัญชีของ TDT ซึ่งไม่ต่างจาก TMP เท่าไหร่นัก
จากภาวะเศรษฐกิจในปี 2540 จนกระทั่งการปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว ทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินงานอย่างมาก
โดยเฉพาะบริษัทที่ทำการสั่งซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่ง TDT คือหนึ่งในบริษัทเหล่านั้น
เนื่องจากไม่มีสภาพคล่องทำให้ธนาคารต่างๆ ไม่สามารถปรับวงเงินเพื่อที่จะทดแทนกำลังซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศที่ลดลง
ยิ่งไปกว่านั้นตลาดในประเทศไม่สามารถปรับราคาสินค้าให้เพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนที่มีผลมาจากการลอยตัวของค่าเงิน
ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดของบริษัท จึงลดการนำเข้าฝ้ายซึ่งทดแทน โดยทำการซื้อเส้นใยโพลีเอสเตอร์และเส้นใยเรยอนจากในประเทศ
และได้พยายามเพิ่มการส่งออกให้มากขึ้นจาก 15% เป็น 52% ในปลายปี 2540 ส่วนการขาดแคลนเงินสดนั้นบริษัทได้แก้ปัญหาโดยการหันมารับจ้างผลิตทั้งปั่นด้ายและทอผ้า
เพื่อบริหารเงินสดในกิจกรรมอื่นที่ต้องใช้เงินสด และเพื่อลดค่าใช้จ่ายของต้นทุนคงที่
และรักษากำลังการผลิตให้เหมาะสม นอกจากนี้จุดยืนของผู้บริหาร คือ การปรับลดพนักงานลงอีกประมาณ
25% ให้ได้ภายในปี 2541 โดยอาศัยการอาสาสมัครของพนักงานเอง
ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาวในเรื่องการขาดแคลนเงินสด ขณะนี้บริษัทกำลังพยายามพิจารณาเพิ่มทุนจดทะเบียน
(ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 700 ล้านบาท) อีกทั้งยังหาลู่ทางขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงถูกกว่า
โดยการถ่ายเทเครื่องจักรเก่าออกไป
จากผลกระทบที่มีต่อสภาพคล่องในขณะนี้ ทำให้ธนาคารต่างๆ ยังไม่สามารถให้ความช่วยเหลือต่อบริษัทที่ทำการส่งออกไปยังต่างประเทศ
จึงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการลดค่าเงินบาทได้เต็มที่ เมื่อเป็นเช่นนี้สิ่งที่บริษัทเร่งดำเนินการ
คือ การจัดโครง สร้างทางการเงินใหม่ ด้วยการปรับเปลี่ยนจากหนี้ระยะสั้นให้เป็นหนี้ระยะยาวและการเพิ่มทุนของผู้ถือหุ้น
ซึ่งสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว คือ เปลี่ยนผู้บริหารและทีมงานในช่วงครึ่งหลังปี
2540 ซึ่งคาดว่าแผนงานต่างๆ จะแล้วเสร็จภายในปี 2541
ปัจจุบันบริษัทกำลังให้ บล.เอบี เอ็น แอมโร เอเชีย เป็นที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อทำแผนดำเนินการแก้ไขเหตุที่หุ้นสามัญของบริษัท
อาจถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน
จากแผนงานดังกล่าวผู้บริหารมั่นใจว่าจะสามารถฟื้นฟูบริษัทได้ และสามารถทำกำไรให้ผู้ถือหุ้นเห็นในปี
2541 อย่างแน่นอนหลังจากขาดทุนมาเป็นเวลานานหลายปี
ด้าน บมจ.ทุนเท็กซ์ (ประเทศไทย) หรือ TUNTEX ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเอสเตอร์รายใหญ่ที่สุดในประเทศ
ที่มีกำลังการผลิต 300 ตันต่อวัน และกำลังจะขยายออกไปอีก 360 ตันต่อวัน มีส่วนแบ่งการตลาดภายในประเทศ
คือ DTY (Draw Textured Yarn) 30%, POY (Partially Oriented Yarn) 30% และ
PSF (Staple Fiber) 33% นอกจากนี้ส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ คือ DTY 67%,
POY 33% และ PSF 10%
จากความปั่นป่วนทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้บริษัทประสบปัญหาด้านผลการดำเนินงานอย่างมาก
แม้ว่าในปี 2537-2538 บริษัทจะมีกำไรสุทธิ 329.35 ล้านบาท และ 289.33 ล้านบาท
ตามลำดับ แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาบริษัทขาดทุนสุทธิมาโดยตลอดแม้ว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นก็ตาม
โดยในปี 2539 มีรายได้จากการขาย 3,487.55 ล้านบาท ต้นทุนขาย 3,176.98 ล้านบาท
ด้านสินทรัพย์หมุนเวียน 1,705.05 ล้านบาท หนี้สินหมุนเวียน 2,403.03 ล้านบาท
ส่วนสินทรัพย์รวมมีจำนวน 8,840.98 ล้านบาท หนี้สินรวม 5,750.41 ล้านบาท ทำให้บริษัทขาดทุนสุทธิ
787.71 ล้านบาท
มาถึงปี 2540 รายได้จากการขายมีจำนวน 4,172.50 ล้านบาท ต้นทุนขาย 3,413.90
ล้านบาท ขณะที่มีสิน ทรัพย์หมุนเวียน 1,906.23 ล้านบาท หนี้สินหมุนเวียน
5,233.99 ล้านบาท ด้านสินทรัพย์รวม 22,891.57 ล้านบาท และหนี้สินรวม 15,791.66
ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทขาดทุนสุทธิสูงถึง 4,346.77 ล้านบาท และขาดทุนสะสม
3,823.59 ล้านบาท
ด้านสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทในปี 2539-2540 ปรากฏว่า D/E อยู่ที่ระดับ
1.86 เท่า และ 2.22 เท่า ตามลำดับ ROA เท่ากับ (8.91) และ (0.03) ตามลำดับ
ROE เท่ากับ (25.49) และ (9.10) ตามลำดับ ส่วน Net Profit Margin อยู่ที่ระดับ
(21.26%) และ (15.36%) ตามลำดับ
สาเหตุการขาดทุนมหาศาลในครั้งนี้ TUNTEX ให้เหตุผลว่าส่วนใหญ่มาจากค่าเงินบาทลอยตัว
ซึ่งหากยกเว้นผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนบริษัทจะมีกำไรจากการดำเนินงานในปี
2540 เป็นเงิน 305.35 ล้านบาท
ส่วนการแก้ปัญหาสภาพคล่อง ขณะนี้ได้ทำการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินต่างประเทศ
3 แห่ง ได้แก่ เซ็นทรัล ไฟแนนซ์ (BVI) จำนวน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ, ธนาคารแกรนด์
คอมเมอร์เชียล จำนวน 8.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และธนาคารคอสมอส จำนวน 12 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยเม็ดเงินจำนวนดังกล่าวจะนำมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนและชำระหนี้เงินกู้ระยะสั้น
ส่วนหนี้ที่บริษัทออกในลักษณะหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในเดือนกันยายน 2541 จำนวน
70 ล้านเหรียญสหรัฐ บริษัทได้แต่งตั้ง เครดิต อกริโกล อินโด สุเอซ (ฮ่องกง)
เป็นที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อเจรจาขยายอายุหุ้นกู้ออกไปอีกประมาณ 2 ปี
สำหรับบริษัทในเครือที่เป็นความหวังของ TUNTEX ที่จะเป็นตัวสร้างรายได้หลักให้ในอนาคต
คือ บมจ.ทุนเท็กซ์ ปิโตรเคมีคอลส์ (ประเทศไทย) ที่ดำเนินการผลิต PTA (Pure
Terephthalic Acid) โดยมีกำลังการผลิต 400,000 ตันต่อปี ซึ่ง PTA ยังเป็นวัตถุดิบที่สำคัญ
ของ TUNTEX ในการผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ทำให้ไม่ต้องซื้อ PTA จากต่างประเทศอีกต่อไป
นอกจากจะผลิตใช้เองแล้วที่เหลือยังจำหน่ายให้กับผู้ผลิตเส้นใยประดิษฐ์ ทั้งในและต่างประเทศอีกประมาณ
80% ของกำลังการผลิตทั้งหมด
เหมือนเทวดาตกสวรรค์ เพราะ ในอดีตราคา PTA อยู่ที่ระดับประมาณ 1,300 เหรียญสหรัฐต่อตัน
ซึ่งถ้าคิดเป็นเม็ดเงินที่จะสามารถสร้างรายได้ให้ TUNTEX ต่อปีนั้นมหาศาลทีเดียว
แต่ในขณะนี้ราคา PTA ตกรูดลงมาเหลือ ประมาณ 400 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่งผลให้ในปี
2540 ทุนเท็กซ์ ปิโตรเคมีคอลส์ มีผลขาดทุนสุทธิ 1,488 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ความที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่และมีบริษัทในเครือที่เป็นความหวังได้ในอนาคต
ผู้บริหารจึงมั่นใจว่าผลการดำเนินงานในปี 2541 จะปรากฏผลกำไรแทนการขาดทุนเช่นในอดีต