Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2541
ศึกนักการเมือง VS ดอกเตอร์ที่ขุมทรัพย์ "เนคเทค"             
 

   
related stories

จากไพรัชถึงทวีศักดิ์
แกะรอยขุมทรัพย์เนคเทค

   
search resources

เนคเทค




อันที่จริงแล้ว หน่วยงานงานวิจัยและพัฒนาทางวิชาการอย่าง "เนคเทค" ไม่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษในยุคสมัยของ "พรเทพ เตชะไพบูลย์" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์

จะว่าไปแล้วหน่วยงานนี้ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจการเมืองมาแล้วหลายยุคหลายสมัย โดยผ่านคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศ (NATIONAL INFORMATION TECHNOLOGY COMMITTEE หรือ NITC)

ด้วยเหตุที่ภารกิจของ NITC คือผู้คุมนโยบายในเรื่องแผนพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศ

เท่ากับว่า หากใครได้เข้าไปนั่งในคณะกรรมการ NITC ก็หมายถึงการเข้าไปอยู่ใน "ขั้นตอน" ของการกำหนดนโยบายทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศทั้งหมด โดยมีศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องของการวิจัยและพัฒนา และให้บริการในเรื่องไอทีโดยตรง เป็นผู้รับสนองนโยบายจากคณะกรรมการ NITC ไปปฏิบัติอีกครั้งหนึ่ง

ยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาประเทศ การอัดฉีดเงินจากภาครัฐเพื่อทำให้นโยบายเหล่านี้เป็นรูปธรรมก็ย่อมมีมากขึ้น

เช่นกรณี โครงการซอฟต์แวร์ปาร์ค และโครงการบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ (GINET) ก็เกิดขึ้นมาจากนโยบายของคณะกรรมการ NITC ที่มอบหมายให้เนคเทคไปปฏิบัติอีกครั้งหนึ่ง

ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีก็เคยอนุมัติงบประมาณในโครงการซอฟต์แวรปาร์ค 1,800 ล้านบาท และอนุมัติงบประมาณให้กับโครงการ GINET ไป 2,000 ล้านบาท

เมื่องบประมาณที่มีมากนับพันล้านบาท หน่วยงานเล็กๆ อย่างเนคเทคก็เริ่มหอมหวนขึ้นมาทันที

ครั้งหนึ่งทักษิณ ชินวัตร ในสมัยที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี ก็เคยนั่งเป็นประธานคณะกรรมการ NITC มาแล้ว แต่ยังไม่ทันได้ทำงานไปเท่าไหร่ เกิดเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทักษิณ ก็ต้องย้ายมาอยู่ในฟากของฝ่ายค้าน

พอมาในยุครัฐบาลของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ที่ได้ชื่อว่ามีไอเดียกระฉูดในเรื่องไอที ไม่ว่าจะเป็นโครงการดาวเทียมทหาร รวมทั้งการที่จะให้องค์การทหารผ่านศึกให้บริการโทรศัพท์มือถือ จะด้วยเหตุที่เคยมีพื้นความรู้ดั้งเดิมเนื่องจากเป็นอดีตนายทหารสื่อสาร หรือจะเพราะมีกุนซืออย่างภูษณ ปรีย์มาโนช แห่งค่ายยูคอม มาเป็นกรรมการบริหารพรรคฯ และนั่งในตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีด้วยก็ตามแต่

ยุครัฐบาลของพลเอกชวลิต ก็ทำให้กลุ่มทุนสื่อสารข้ามแดนจากฟากคมนาคม มาอยู่ในฟากของคณะกรรมการ NITC

โดยได้มีการแก้ไขระเบียบสำนักนายกฯ ให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการ NITC แทนที่จะเป็นรองนายกฯ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้เกิดความคล่องตัวยิ่งขึ้น

พลเอกชวลิตก็ไม่ได้มานั่งเก้าอี้ประธานกรรมการ NITC เอง แต่มอบหมายให้สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สังกัดพรรคความหวังใหม่มาดำรงตำแหน่งนี้แทน

สมพงษ์ อมรวิวัฒน์นั้น ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่พลเอกชวลิตไว้ใจที่สุดคนหนึ่ง ได้เสนอชื่อของภูษณ ปรีย์มาโนช แห่งค่ายยูคอม ซึ่งเวลานั้นมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และยังเป็นถึงกรรมการพรรคความหวังใหม่ มานั่งเป็นคณะกรรมการ NITC ด้วยอีกตำแหน่ง

ในช่วงนั้นเองก็ได้มีโครงการสำคัญ 4 โครงการเกิดขึ้น ภายใต้การศึกษาและจัดทำของคณะกรรมการ NITC เพื่อยื่นเสนอของบประมาณไปยัง ครม. มาใช้ในการดำเนินโครงการดังกล่าว

ประกอบไปด้วย
1. ซอฟต์แวร์ปาร์ค หรือ สวนอุตสาหกรรมทางด้านซอฟต์แวร์
2. โครงการจัดตั้งระบบสารสนเทศแห่งรัฐ GOVERNMENT INFORMATION NETWORK-GINet) หรือ จีเน็ท
3. สถาบันมัลติมีเดีย และ
4. โครงการทางด่วนสารสนเทศเพื่อสังคมการศึกษาวิจัย (ไทยสาร 3)

ว่ากันว่า ภูษณ เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการชงเรื่องโครงการเหล่านี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการ NITC เพื่อเสนอไปยัง ครม.ขออนุมัติงบประมาณอีกครั้งหนึ่ง

ในช่วงเวลานั้น ภูษณ ก็ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการซอฟต์แวร์ปาร์คว่าได้ทำการศึกษา โดยได้ไปดูงานทางด้านนี้ในหลายๆ ประเทศ และเห็นว่ามีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของเมืองไทย จึงควรผลักดันให้เกิดเช่นเดียวกับโครงการ GINET ที่จะเป็นประโยชน์สำหรับภาครัฐ

จุดมุ่งหมายของยูคอมอยู่ที่โครงการ GINET ซึ่งเป็นโครงการบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ ที่มีเนคเทคเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ โครงการนี้มีขึ้นเพื่อเป็นบริการเครือข่ายสารสนเทศให้กับหน่วยงานรัฐ ไม่ให้มีการลงทุนซ้ำซ้อน และเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดเป็นเครือข่ายเดียวกัน และให้มาตรฐานเดียวกัน นับเป็นโครงการสำคัญอย่างยิ่งของรัฐบาล เหมือนกับกรมถนนไว้ให้กับหน่วยงานราชการใช้งานร่วมกัน ทั้งในด้านของข้อมูลและบริการต่างๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคต

แน่นอนว่า โครงการในลักษณะนี้ย่อมเป็นที่สนใจของบรรดาผู้ให้บริการโครงข่าย เพราะยูคอมนั้นมีสัมปทานให้บริการวงจรเช่าความเร็วสูงให้บริการอยู่ทั่วประเทศ ในนามของบริษัทลูกที่ชื่อ ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด หรือ ยูไอเอช ภายใต้ชื่อทางด่วนข้อมูลเชอรี่ และผู้ผลิตซอฟต์แวร์ด้านเครือข่ายที่จะนำไปใช้บนโครงข่ายนี้

มาชัดเจนที่สุด ก็เมื่อคราวยูคอมเซ็นสัญญากับบริษัทโลตัส ดีเวลลอปเม้นท์ บริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์เครือข่ายจากสหรัฐอเมริกา ที่มีสำนักงานสาขาในไทย เพื่อทำโครงการ NET SERVICE PROVIDER ซึ่งเป็นการนำเอาโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงของยูคอม มาใช้ประโยชน์ร่วมกับความรู้ความสามารถของโลตัส

แม้ในวันเซ็นสัญญาจะยังไม่มีการเปิดเผยชัดเจนนัก ว่าจะมีสินค้าหรือบริการใดเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือนี้

แต่ที่แน่ๆ ทั้งสองมีเป้าหมายร่วมกันที่จะอาศัยศักยภาพของแต่ละฝ่าย ร่วมจูงมือกันเข้าไปในโครงการ GINET ซึ่งโลตัสนั้นก็นำร่องเข้าไปในโครงการนี้แล้ว โดยเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบเครือข่ายเชื่อมโยงไปตามหน่วยงานต่างๆ

พอมาถึงยุคสมัยของพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ยิ่งพันธ์ มนะสิการ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศษสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม อยู่ในโควตาพรรคกิจสังคม และมี พรเทพ เตชะไพบูลย์ สส.บุรีรัมย์ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และมีสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี ในสังกัดพรรกิจสังคม ได้รับมอบหมายจากนายกชวน หลีกภัย ให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ คณะกรรมการ NITC

ละครฉากใหญ่ของเนคเทคก็เริ่มขึ้น และครั้งนี้ดูเหมือนจะเข้มข้นกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา!

ยิ่งพันธุ์นั้นรับเอางานทางด้านสิ่งแวดล้อมไปดู ส่วนพรเทพรับผิดชอบงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอที ซึ่งจะต้องดูแลงานในส่วนของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ที่มีศูนย์เนคเทค, ศูนย์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)

ในบรรดาทั้ง 3 ศูนย์นี้ ดูเหมือนว่าเนคเทคจะอยู่ในความสนใจของ รมช.พรเทพเป็นพิเศษ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการขนาดใหญ่ทั้ง 3 โครงการ คือ ซอฟต์แวร์ปารค์ จีเน็ท และสคูลเน็ท ที่ทำท่าว่าจะไม่ขยับเขยื้อนต่อไปได้ เนื่องจากรัฐบาลไม่มีงบประมาณ

ก่อนหน้านี้ ครม.สมัยของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้เคยอนุมัติงบประมาณจำนวน 4,198 ล้านบาท ให้กับโครงการทั้งสาม ซึ่งเป็นงบต่อเนื่อง 5 ปี คือ (2541 - 2545) เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2540 ต่อมาเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลต้องลดงบประมาณใช้จ่ายลง งบประมาณที่เคยอนุมัติไว้ 516 ล้านบาทสำหรับ 3 โครงการในปี 2541 ถูกชะลอไป

ขณะเดียวกัน งบกลางที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยื่นขอไปที่สำนักงบประมาณเพื่อใช้สำหรับโครงการนี้ จำนวน 391 ล้านบาท ก็ติดขั้นตอนการเบิกจ่าย ทำให้งบก้อนดังกล่าวถูกโอนคืนกระทรวงการคลังไป

ต่อมารัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณปี 2541 ให้กับเนคเทค 613 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการวิจัยพัฒนา 347 ล้านบาท และโครงการพิเศษ 266 ล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็นงบที่ใช้สำหรับ 3 โครงการนี้จำนวน 43 ล้านบาท

แต่เนคเทคได้รับเงินประจำงวดที่มาใช้จ่ายจริงแค่ 148 ล้านบาทและจัดสรรให้กับ 3 โครงการ 9 ล้านบาท แบ่งเป็น GINET 750,000 บาท และไทยสาร 3 จำนวน 4.4 ล้านบาท เรียกได้ว่าเงินที่ได้รับมานั้นน้อยมาก เมื่อเทียบกับประมาณการที่ต้องใช้ลงทุน

กระทั่งกองทุนไอเอ็มเอฟเจ้าหนี้รายใหญ่ของไทย ยอมให้รัฐบาลไทยขาดดุลได้ 3.5% รัฐบาลจึงจัดสรรคืนงบประมาณที่ตัดไป กลับคืนไปให้กระทรวงต่างๆ โดยให้อำนาจรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณา ว่าจะนำเงินไปใช้กับโครงการใดบ้าง ซึ่งกระทรวงวิทย์ฯ ได้รับจัดสรรงบประมาณคือมา 544.70 ล้านบาท ในจำนวนนี้จัดสรรให้กับโครงการซอฟต์แวร์ปาร์ค 262.73 ล้านบาท เพื่อนำมาซื้ออาคารสำหรับใช้ในโครงการนี้

โดยผู้ที่ผลักดันยื่นเสนอของบก้อนนี้ ก็คือ รมช.พรเทพ

หากมองดูอย่างนี้แล้ว เรื่องก็น่าจะเดินไปด้วยดี เพราะซอฟต์แวรปาร์คในครั้งนั้นจึงสร้างความคลางแคลงใจให้กับเจ้าหน้าที่ของเนคเทคค่อนข้างมาก เพราะส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการสรรหาอาคารจัดตั้งโครงการซอฟต์แวร์ปาร์ค

โครงการซอฟต์แวร์ปารค์ เป็นโครงการที่ทำในเรื่องการสนับสนุนให้มีอุตสาหกรรมการผลิตซอฟต์แวร์ขึ้นในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าและสนับสนุนให้มีส่งออกซอฟต์แวร์ไปจำหน่ายต่างประเทศ โดยเนคเทคเป็นผู้ผลักดันผ่านคณะกรรมการ NITC แนวทางของโครงการนี้จะให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนในเรื่องของสถานที่และอุปกรณ์ ที่ใช้ในการพัฒนาและฝึกอบรม เพื่อให้เอกชนทั้งรายเล็กรายใหญ่มาเช่าใช้สถานที่ ที่แล้วมา ครม.สมัยของพลเอกชวลิตก็ได้อนุมัติงบประมาณลงทุน 1,800 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ เนคเทคได้ยื่นเสนอต่อ ครม.ว่าจะลงทุนสร้างอาคารเอง แต่ต่อมาเมื่องบประมาณถูกตัดลงไปมาก เนคเทคจึงหาทางออกใหม่ โดยจะหันไปใช้วิธีเช่า หรือซื้ออาคารที่ว่างอยู่แทน เพราะในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้มีอาคารว่างเหลืออยู่จำนวนมาก

บอร์ดซอฟต์แวร์ปาร์ค จึงได้จัดทำการประกวดราคาขึ้น โดยให้ผู้เข้าประมูลยื่นข้อเสนอราคา ทั้งในลักษณ์ของการให้เช่าและที่เป็นการขายพื้นที่

ปรากฏว่า หลังจากคณะกรรมการซอฟต์แวร์ปาร์คชุดใหม่เข้ามา ได้มีการแก้ไขสเป็กในการประมูลสรรหาอาคารซอฟต์แวร์ปาร์คใหม่ โดยเปิดโอกาสให้อาคารในเขตปริมณฑลมีสิทธิ์ยื่นข้อเสนอเข้ามาได้ แตกต่างไปจากสเป็กเดิมที่ระบุว่า จะต้องเป็นอาคารที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง อยู่ใกล้สถาบันการศึกษาที่สอนทางด้านวิทยาศาสตร์ และสิ่งอำนวยความสะดวกเท่านั้น

ผลจากการเปลี่ยนแปลงสเป็กในครั้งนั้น หากมองในด้านดี ก็จะเห็นว่าเป็นสเป็กที่เปิดกว้างมากขึ้น แทนที่จะจำกัดอยู่เขตกรุงเทพฯ เท่านั้น ซึ่งกรรมการบางคนที่เข้ามาใหม่ระบุว่า สเป็กเดิมนั้นเฉพาะเจาะจงเกินไป และมีเพียงเฉพาะบางอาคารเท่านั้น ที่มีคุณสมบัติตรงตามสเป็กเดิมที่ตั้งไว้คือ อาคารของจุฬาไฮเทค

แต่ในทางกลับกันก็เป็นการเปิดโอกาสให้กับเอกชนบางกลุ่ม เพราะเป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากเปิดสเป็กใหม่ มีกลุ่มทุนสื่อสารที่เข้ามาร่วมประกวดราคาในครั้งนี้ด้วยหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มจัสมิน, กลุ่มสามารถ และชินวัตร ซึ่งล้วนแต่มีอาคารที่ตั้งอยู่ในเขตปริมณฑลทั้งสิ้น

ปรากฏว่า หลังจากการพิจารณาผู้เข้าประกวดราคาทั้ง 9 ราย ผู้ที่ชนะการประมูลคัดเลือกในครั้งนี้ก็เป็น 1 ใน 3 ของกลุ่มทุนสื่อสาร นั่นก็คือ อาคารวิไลลักษณ์ของกลุ่มสามารถ ซึ่งกรรมการระบุว่าเสนอราคามาต่ำที่สุด และเหมาะสมทุกอย่าง ทั้งตัวอาคาร ที่ตั้ง และสภาพของอาคาร

ว่ากันว่า สาเหตุของการเลือกอาคารวิไลลักษณ์ เป็นเพราะพรเทพมีความสนิทสนมกับกลุ่มสามารถเป็นพิเศษ อันเนื่องมาจากกลุ่มสามารถเป็นพันธมิตรธุรกิจกับธนาคารศรีนครของตระกูลเตชะไพบูลย์มานาน ต่างฝ่ายก็ถือหุ้นของกันและกันอยู่ นอกจากนี้ยังผ่านมาทางพิชัย วาศนาส่งประธานกรรมการกลุ่มสามารถ ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการในการแก้ไขกฎระเบียบ และกฎหมายของเนคเทค

มีการตั้งข้อสังเกตไว้ว่า โครงการซอฟต์แวร์ปาร์คนั้นไม่ต่างไปจากลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เพราะงบประมาณที่ได้รับจัดสรร 262.73 ล้านบาทนี้ แทนที่จะนำบางส่วนไปซื้ออุปกรณ์ แต่กลับไปใช้ในการพื้นที่อาคารวิไลลักษณ์ทั้งหมด ซึ่งเงินจำนวนนี้พอสำหรับการซื้อพื้นที่ได้ 8,000 ตารางเมตร ซึ่งแผนเดิมที่คาดว่าจะใช้พื้นที่ทั้งหมด 50,000 ตารางเมตร

คณะกรรมการซอฟต์แวร์ปาร์ค และพรเทพให้เหตุผลว่า งบประมาณ 262.73 ล้านบาทนั้น เป็นงบประมาณจัดสรรคืน รัฐบาลกำหนดว่าจะต้องใช้ให้หมดภายในเดือนกันยายน 2541 ไม่เช่นนั้นจะต้องส่งคืนกระทรวงการคลัง จึงต้องนำเงินไปซื้อเนื้อที่ทั้งหมดก่อน ส่วนอุปกรณ์ที่จะใช้ในโครงการจะรองบประมาณในปี 2542 มาใช้จัดซื้ออีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม แม้เจ้าหน้าที่เนคเทคไม่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านในทางเปิดเผย ก็เพราะเหตุผลว่าราคาที่อาคารวิไลลักษณ์เสนอมาต่ำกว่าผู้เสนอราคารายที่ 2 ค่อนข้างมาก และเนคเทคก็กลัวว่าโครงการนี้จะต้องสะดุดและทำให้ล่าช้าออกไปอีก จึงไม่ได้ออกมาคัดค้านการตัดสินแต่อย่างใด

แต่ก็สร้างความไม่พอใจให้กับเจ้าหน้าที่ของเนคเทค ซึ่งมีสภาพไม่ต่างกับคลื่นใต้น้ำที่รอปะทุ!

ความน่าสนใจในอีกด้านหนึ่งก็คือ ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของเนคเทค ที่เป็นทั้งผู้สนองตอบนโยบายของรัฐในเรื่องของไอที และการเป็นผู้ริเริ่ม ซึ่งเนคเทคสามารถดำเนินการได้ โดยไม่ติดกรอบในเรื่องระเบียบราชการเหมือนกับหน่วยงานอื่นๆ

พรเทพเองก็รู้ดีถึงข้อนี้ และนี่จึงเป็นสาเหตุให้พรเทพไปรื้อเอาโครงการเขตประมวลผลอุตสาหกรรมหรือ ดีพีแซท (DATA PROCESSING ZONE) ขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่

โครงการดีพีแซทนี้ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2531 สืบเนื่องมาจากข้อคิดเห็นของกลุ่มที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีชาติชาย ชุณหะวัณ ให้มีการศึกษาเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม และได้มอบหมายให้ประจวบ ไชยสาส์น ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รับไปดำเนินการ และเวลานั้นพรเทพก็ทำหน้าที่เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

รูปแบบของโครงการจะเป็นเขต หรือ เทเลพอร์ต ซึ่งเป็นศูนย์รวมในการติดตั้งคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์โทรคมนาคม การวางโครงข่าย เชื่อมโยงไปยังจุดต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ่านเครือข่ายขององค์การโทรศัพท์ฯ และการสื่อสารฯ

ข้อมูลที่ให้บริการจะเป็นข้อมูลทางด้านสินค้าที่จำหน่ายให้กับต่างชาติ ข้อมูลทางด้านการค้า ท่องเที่ยว ปริวรรคเงินตรา โดยลูกค้าที่ใช้บริการ อาทิ สายการบิน บริษัทเดินเรือ เทรดดิ้งเฟิร์ม สื่อมวลชน ผู้ประกอบธุรกิจ และหน่วยงานราชการ โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุน 11,400 ล้านบาท เป็นค่าที่ดิน 7,000 ล้านบาท โครงสร้างพื้นฐาน 800 ล้านบาท อุปกรณ์ประมวลผลข้อมูลและโทรคมนาคม 1,800 ล้านบาท อาคาร 1,800 ล้านบาท

หลังจากว่าจ้างที่ปรึกษามาศึกษาโครงการ จัดสัมนากันอยู่หลายรอบ ในที่สุดโครงการนี้ก็ต้องมีอันพับไป เพราะติดพระราชบัญญัติโทรเลขโทรศัพท์ ที่กำหนดให้ผู้ที่จะวางโครงข่ายโทรศัพท์ได้จะต้องเป็นองค์การโทรศัพท์ฯ และการสื่อสารฯ เท่านั้น รัฐบาลชวน หลีกภัย ในช่วงปี 2537 จึงมีมติให้ดีพีแซทอยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคม และให้กระทรวงวิทย์ฯ เข้ามาร่วมถือหุ้น และตั้งแต่นั้นโครงการดีพีแซทก็เงียบหายไป เพราะกระทรวงคมนาคมเองก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีโครงการนี้เท่าไหร่ เพราะไปซ้ำซ้อนกับโครงการเทเลพอร์ตที่ทำอยู่แล้ว จนกระทั่งมาถึงยุคพรเทพ

พรเทพออกมาจุดกระแสให้สัมภาษณ์ว่า ต้องการดึงกลับมาให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นผู้ดำเนินงานเอง และเตรียมยื่นเรื่องให้ ครม.ขอเปลี่ยนมติใหม่

โดยให้เหตุผลว่า ดีพีแซทนั้นเป็นโครงการต่อเนื่องจากซอฟต์แวร์ปาร์ค แต่จะมีขอบเขตการให้บริการกว้างกว่า ซึ่งซอฟต์แวร์ปาร์ค และ GINET จะเป็นแค่ส่วนหนึ่งของดีพีแซทเท่านั้น โดยจะขยายผลไปถึงการส่งออกซอฟต์แวร์ไปต่างประเทศ และยังใช้เป็นแหล่งวิจัยและพัฒนาสินค้าอื่นๆ ในอนาคตด้วย

นอกจากนี้ระบบโครงข่ายโทรคมนาคมในปัจจุบันก็มีความพร้อมอยู่แล้ว มีเอกชนที่ให้บริการเพิ่มขึ้นอีกหลายราย ไม่เหมือนกับในอดีต 8 ปีที่ ทศท.และ กสท. ให้บริการอยู่แค่ 2 รายเท่านั้น

ส่วนในเรื่องของเงินลงทุน พรเทพบอกว่า แม้ว่ารัฐบาลจะไม่มีงบประมาณลงทุนก็จะไม่เป็นปัญหา เพราะจะให้เอกชนเข้ามาลงทุนแทน ซึ่งเวลานี้มีเอกชน 2 รายจากต่างประเทศติดต่อเข้ามา ส่วนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อาจจะลงทุนในส่วนที่เป็นซอฟต์ไซท์เท่านั้น เช่น ซอฟต์แวรที่ใช้ในด้านของเครือข่าย และแอพพลิเคชั่น และกำลังคนซึ่งมีความพร้อมอยู่แล้ว ในด้านของฮาร์ดไซท์จะให้ ทศท.และ กสท. เป็นผู้ดำเนินการ

การออกมาหยั่งกระแสเรื่องโครงการดีพีแซทของพรเทพนั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกับทีโออาร์เพื่อคัดเลือกเอกชนที่จะมาร่วมลงทุนในโครงการนี้เสร็จสิ้นลงพอดี ซึ่งก่อนหน้านี้องค์การโทรศัพท์ฯ ได้ว่าจ้างให้สถาบันทรัพย์สินทางปัญญา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษา และจัดทำทีโออาร์

รูปแบบของโครงการดีพีแซทที่จุฬาฯ ศึกษามา ยังยึดแนวทางเดิมที่ทำไว้ คือ จะเป็นการลงทุนที่ดิน 300 ไร่ และมีการวางโครงสร้างพื้นฐาน ลงทุนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และโทรคมนาคม เพื่อให้สามารถบริการด้านโทรคมนาคมได้เอง

เงื่อนไขตามทีโออาร์ ก็คือ ทศท. และกสท. จะถือหุ้นฝ่ายละ 10% และ กระทรวงวิทย์ โดยสวทช. จะถือหุ้น 6 % ที่เหลืออีก 74% ให้เอกชนเป็นผู้ถือหุ้น

ดร.ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ ผู้อำนวยการใหญ่สถาบันทรัพย์สินทางปัญญาของจุฬาฯ กล่าวว่า โครงการนี้จะมีขนาดโครงการ 5,000 ล้านบาท จะแบ่งเป็นการลงทุนที่ดินราว 300 ไร่ และต้องใช้เงินลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 400 ล้านบาท ดังนั้นเอกชนที่เข้าประมูลจะต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท

ผู้ที่สนใจจะเข้าประมูล อาจจะเป็นเจ้าของนิคมอุตสาหกรรม บริษัทโทรคมนาคม ที่มีที่ดินอยู่แล้ว และบริษัทที่ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และเอกชนจากต่างประเทศ

ในส่วนหุ้น 74% ของเอกชนนั้น ทีโออาร์ได้ระบุว่า จะเปิดให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นได้ไม่เกิน 25% ซึ่งมีต่างชาติที่สนใจจะลงทุน 4 ราย คือ เอ็นที ที อิโตชู ชงหวาเทเลคอม และโตเมน

ดร.ประสิทธิ์ กล่าวว่า จุดเด่นของโครงการนี้ คือ จะเป็นเขตที่รัฐบาลจะให้สัมปทานในการลงทุนด้านเครือข่ายโทรคมนาคม โดยไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทาน แต่ก็มีเงื่อนไขว่าจะต้องให้บริการภายในเขตของดีพีแซทเท่านั้น และหลังจากรัฐบาลเปิดเสรีด้านสื่อสาร เอกชนผู้ลงทุนในโครงการดีพีแซทจะได้รับการพิจารณาเป็นรายแรกๆ ในการเป็นผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมรายหนึ่ง

นั่นก็หมายความว่า หากเอกชนรายใดได้โครงการดีพีแซทก็เท่ากับเป็นใบเบิกทางของผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม หลังจากที่เมืองไทยเปิดเสรีเป็นรายแรกๆ

หากสำเร็จจริง เท่ากับว่า ดีพีแซทก็จะกลายเป็นโครงการใหญ่อีกชิ้นที่ไม่แพ้โปรเจกต์สื่อสารอื่นๆ

และนี่คือสิ่งที่พรเทพมองเห็น

แต่ในห้วงเวลาเช่นนี้ พรเทพก็อาจยังไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก เพียงแต่ต้องรอเวลาไปก่อน เพราะพรรคประชาธิปัตย์ยังมีเรื่องของร้อนๆ โครงการประมูลอุปกรณ์สื่อสัญญาณความเร็วสูง (เอสดีเอช)

และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ "เนคเทค" ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองเห็นช่องทางของโอกาสนี้ก่อนกันเท่านั้น

ทว่า การแทรกแซงเข้าสู่เนคเทคไม่ได้ทำได้ง่ายๆ เมื่อเทียบกับหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจอื่นๆ

เนคเทคนี้ ได้ชื่อว่าเป็นองค์กรที่คลาคล่ำไปด้วยนักวิชาการระดับดอกเตอร์และปริญญาโท และเป็นองค์กรบริหารงานอย่างอิสระมายาวนาน โดยไม่มีใครเข้ามายุ่งเกี่ยว ดร.ไพรัชอยู่ในตำแหน่งผู้อำนวยการมานาน และเป็นอธิการบดีเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง มีลูกศิษย์อยู่จำนวนมาก

แต่พรเทพเองก็มีดีกรีปริญญาด้านธุรกิจจากบอสตัน ยูนิเวอร์ซิตี้ เคยเป็นเลขานุการ ประจวบ ไชยสาส์น สมัยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และพรเทพเองก็มีทีมที่ปรึกษาอยู่เป็นจำนวนมาก

วิธีเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงองค์กรนี้ได้ก็คือ การเข้าสู่ใจกลางของอำนาจบริหาร

บังเอิญว่า การมาของพรเทพเป็นจังหวะเดียวกับตำแหน่งผู้อำนวยการเนคเทค ที่ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์นั่งอยู่ในตำแหน่งนี้มาแล้ว 2 วาระ กินเวลายาวนานถึง 8 ปี หมดอายุลงพอดี ในวันที่ 15 กรกฎาคม และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่บอร์ดเนคเทค เอ็มเทค และไบโอเทค หมดอายุลงเช่นกัน

ก่อนจะพ้นจากตำแหน่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ดร.ไพรัช ก็ทำการคัดเลือกผู้อำนวยการคนใหม่ของเนคเทคทันที โดยจัดตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้น และก็ได้มีการเสนอชื่อ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล รองผู้อำนวยการเนคเทคหนุ่มที่สุดขึ้นมา ซึ่ง ดร.ไพรัชให้เหตุผลว่า ทวีศักดิ์มีความรู้รอบด้านทั้งไอที อิเล็กทรอนิกส์

เนคเทคเองก็รู้ดีว่า กำแพงที่มีอยู่อย่างแน่นหนากำลังถูกทลายลง ดร.ไพรัชจึงเสนอชื่อของ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ไปยังบอร์ด กวทช. ก่อนที่จะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมีพรเทพเป็นประธานเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน เรื่องดังกล่าวมีความเห็นว่าควรรอให้บอร์ดเนคเทคใหม่เป็นผู้พิจารณา

"เรื่องแต่งตั้ง ผอ.เนคเทค นี้ไม่มีอยู่ในวาระการประชุมของกวทช.เลย จู่ๆ ก็เสนอมา ต้องให้เกียรติบอร์ดใหม่ของเนคเทคเป็นผู้พิจารณาจะดีกว่า" พรเทพให้เหตุผล

ในช่วงนั้นเองก็มีกระแสข่าวออกมาว่า พรเทพได้ทาบทามคนนอกเข้ามาชิงตำแหน่งผู้อำนวยการเนคเทคด้วย ไม่ว่าจะเป็น ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน, วิชิต หรือ รวมทั้งไกรสร พรสุธี ซึ่งพรเทพเองก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าอยากให้มีการเสนอชื่อคนนอก ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาให้พิจารณาบ้าง เพราะกฎหมายก็เปิดกว้างให้สามารถทำได้อยู่แล้ว ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นคนของเนคเทคเท่านั้น

นอกจากนี้ ในส่วนของบอร์ดเนคเทค ไอโอเทค และเอ็มเทคจะหมดอายุลง และต้องมีการแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่ขึ้นมาทำงาน ซึ่งพรเทพให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ถึงเวลาที่บอร์ดทั้ง 3 ชุดนี้ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ควรเปิดโอกาสให้ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านเข้ามานั่งในบอร์ด และเป็นประธานบอร์ดเพื่อที่จะได้นำเอาความรู้เหล่านั้นมาพัฒนาปรับปรุงให้ทั้ง 3 ศูนย์

เป้าหมายของพรเทพ ก็คือต้องการแยกศูนย์ทั้ง 3 ออกเป็นศูนย์แห่งชาติ และแปรรูปให้องค์กรทั้ง 3 สามารถเลี้ยงตัวเองได้ โดยไม่ต้องของบประมาณจากทางรัฐบาล

แม้จุดมุ่งหมายจะดี แต่แนวคิดของพรเทพนั้น เท่ากับไปล้างระบบเดิมของเนคเทค เพราะที่ผ่านมาหลายปีธรรมเนียมปฏิบัติของเนคเทคก็คือ ผู้อำนวนการ สวทช.จะไปนั่งเป็นประธานบอร์ดของทั้ง 3 ศูนย์ เรียกว่าเป็นทั้งผู้ควบคุม วางนโยบาย และปฏิบัติแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งก็เท่ากับว่า ดร.ไพรัชซึ่งเป็นผู้อำนวยการ สวทช. ในขณะนี้ก็จะนั่งเป็นประธานบอร์ดทั้งสามนี้ด้วย

"ผู้อำนวยการสวทช. ก็มีหน้าที่ดูแลวางนโยบายให้กับ 3 ศูนย์นี้อยู่แล้ว และยังนั่งเป็นประธานบอร์ดของ 3 ศูนย์นี้ด้วย ผมอยากเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้มีฝีมือภายนอกเข้ามาบ้าง และคนๆ นั้นจะต้องสามารถสื่อสารกับคนอื่น พูดให้คนอื่นๆ รู้เรื่องได้ด้วย" พรเทพชี้แจง

"เราไม่ได้อยู่นาน แต่อย่างน้อยก็อยากสร้างวีรกรรมให้เขาจดจำในทางที่ดี" ถ้อยคำของพรเทพ

ก็ไม่รู้ ฝ่ายเนคเทคจะจดจำในทางที่ดีอย่างที่พรเทพหวังหรือไม่

แต่ที่แน่ๆ นโยบายของพรเทพในครั้งนั้นก็ยิ่งสร้างความขัดแย้งมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ พรเทพก็ได้นำเอาคนนอกเข้ามานั่งในบอร์ดซอฟต์แวร์ปาร์ค คณะกรรมการกำหนดสเป็กที่ตั้งโครงการ, คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก รวมทั้งคณะกรรมการ กวทช. ด้วย

และก่อนที่จะมีการอนุมัติรายชื่อบอร์ดใหม่ของทั้ง 3 ศูนย์ ดร.ไพรัช ต้องขอเข้าพบ รมช.พรเทพเป็นการด่วน เพื่อเจรจาต่อรองรายชื่อของบอร์ดใหม่อีกครั้ง และงานนี้ยิ่งพันธ์ที่แยกตัวไปดูเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็ต้องออกมาหย่าศึกครั้งนี้ด้วยตัวเอง

ในที่สุดต่างฝ่ายต่างยอมถอยกันไปคนละก้าว โดย ดร.ไพรัช ได้นั่งเป็นประธานบอร์ดเนคเทค ส่วนอีก 2 ศูนย์นั้นมาจากคนนอกตามนโยบายของพรเทพ คือ ดร.กอปร กฤตยารณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต นั่งเป็นประธานเอ็มเทค ดูแลงานทางด้านโลหะ และ ดร.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล นั่งเป็นประธานบอร์ดไบโอเทค

ส่วนกรรมการในบอร์ดเนคเทคก็มีคนนอก ที่พรเทพเลือกเข้ามาด้วยส่วนหนึ่ง และล่าสุดบอร์ดเนคเทคก็ได้รับรองให้ ดร.ทวีศักดิ์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวนการเนคแทค

ว่ากันว่า ส่วนหนึ่งที่พรเทพยอมถอย ก็เพราะถูกพรรคประชาธิปัตย์ตักเตือน เนื่องจากในช่วงนั้นพรรคประชาธิปัตย์ กำลังถูกโจมตีอย่างหนัก ในเรื่องของโครงการประมูลจัดซื้ออุปกรณ์สื่อสัญญาณความเร็วสูง (เอสดีเอช) จึงเกรงว่า จะมาซ้ำรอยที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นี้อีก

แต่เหตุการณ์ในครั้งนั้น ก็กลายเป็นการเปิดศึกย่อยๆ ระหว่างนักการเมืองและนักวิชาการของเนคเทค แม้จะไม่อึกทึกครึกโครมมากนัก แต่ก็สร้างสีสันบนหน้าหนังสือพิมพ์เกือบ 1 เดือนเต็ม

ในอีกด้านหนึ่งก็ได้มีแฟ็กซ์ลึกลับร่อนไปตามสื่อมวลชนฉบับต่างๆ ถึงความไม่ชอบมาพากลของเจ้าหน้าที่เนคเทค ที่ทำงานไม่โปร่งใส มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกกันภายใน ใช้งบประมาณไม่เหมาะสม และหาประโยชน์กันในกลุ่มภายใน

อีกฝ่ายหนึ่งก็ใช้วิธีไฮเทคหน่อย โดยไปโจมตีในเว็บไซต์ที่เปิดขึ้นสำหรับตั้งกระทู้ถามกันในเรื่องต่างๆ ที่เป็นที่สนใจกันอยู่ โดยหัวข้อก็เป็นการโจมตีพรเทพ การไม่ชอบมาพากลในการประมูลจัดหาอาคารซอฟต์แวร์ปาร์ค

แม้พระเทพจะถูกมองว่า เข้ามาแทรกแซงเนคเทค เพื่อต้องการเข้ามาหาประโยชน์จากโครงการขนาดใหญ่ของเนคเทค โดยอาศัยช่องว่างทางด้านกฎระเบียบ อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของนักการเมืองส่วนใหญ่นิยมทำกัน

แต่เนคเทคเองก็เสียรังวัดกับเรื่องเหล่านี้ไปไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถูกโจมตีเรื่องผลงานของเนคเทคที่ไม่คุ้มกับงบประมาณ ซึ่งไม่เป็นที่ประทับใจ รมช.พรเทพ ที่ได้หยิบยกการประเมินผลงานของเนคเทคที่ทำขึ้นโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ที่ประเมินผลงานของเนคเทคที่ต่ำกว่าเป้าหมายไว้มากถึง 20%

ความเห็นของพรเทพ ก็ยังไปสอดคล้องกับแนวคิดของสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้แยกบทบาทของสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการ NITC ที่เคยอยู่ในความดูแลของเนคเทค ออกมาตั้งเป็นสำนักงานอิสระที่ให้คำปรึกษาทางด้านไอทีกับนายกรัฐมนตรี

"เนคเทคนั้นเป็นหน่วยงานปฏิบัติ ไม่ควรจะมาอยู่ในด้านนโยบาย ซึ่งควรจะแยกออกจากกัน เพราะไม่อย่างนั้นเนคเทคอยากทำเรื่องอะไร ก็ชงเรื่องเข้าไปที่ NITC เพื่อออกนโยบายมาและเนคเทคก็เอาไปทำ จริงๆ แล้วไม่ควรเป็นแบบนั้น" พรเทพให้ความเห็น

บังเอิญเหลือเกินว่า ข้อกล่าวหาของพรเทพไปโดนใจบรรดานักวิชาการในหน่วยงาน ที่เคยเกี่ยวข้องกับเนคเทคเป็นอันมาก ไม่ว่าจะเป็นจากทีดีอาร์ไอ หรือสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ที่มีการเรียนการสอนระดับวิศวกรรม

ปราการของเนคเทคที่เคยมีอยู่อย่างแน่นหนาก็เริ่มสั่นคลอน

"เป็นเพราะสภาพที่แล้วมาของเนคเทค ไม่ต่างจากแดนสนธยาที่ไม่มีใครเข้าไปยุ่งเกี่ยว ไม่มีใครตรวจสอบ เพราะพระราชบัญญัตินั้นให้อิสระอย่างเต็มที่ ก็ไม่ได้บอกว่าเนคเทคไม่มีผลงานเลย แต่หลายอย่างก็แก้ไข" นักวิชาการรายหนึ่งให้ความเห็น

ข้อตำหนิติเตียนจากบรรดานักวิชาการข้างนอกนั้น มีตั้งแต่การให้ทุนวิจัยและพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และมักจะให้ทุนกับอาจารย์หรือนักวิชาการบางกลุ่มที่ผู้บริหารของเนคเทคมีสายสัมพันธ์ดีอยู่แล้ว

รวมทั้งควรมีการทบทวนบทบาทของเนคเทคใหม่ว่า จะเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนทางด้านวิชาการ หรือจะทำในเชิงพาณิชย์ และมีการยกกรณีตัวอย่างของบริษัทอินเตอร์เน็ตประเทศไทย ที่ถูกโจมตีว่าการที่เนคเทคลงมาแข่งชันกับเอกชน จึงทำให้มีความได้เปรียบ ทั้งในเรื่องของเงินทุนที่ได้รับอุดหนุนจากรัฐบาล นอกจากนี้บางโครงการยังขาดประสบการณ์ทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้น

แม้กระทั่งในโครงการขนาดใหญ่อย่าง GINET เหตุใดตอนให้ทีดีอาร์ไอวิจัย ใช้งบประมาณแค่ 200 ล้าน แต่พอมาถึงมือเนคเทคกลับเพิ่มงบประมาณได้ถึง 2,000 ล้าน ทั้งๆ ที่โครงการเหมือนกัน คือ ใช้วิธีเช่าโครงข่ายคู่สายเช่าที่ ทศท.และ กสท. เพียงแต่เพิ่มเติมอุปกรณ์ในเรื่องของการเชื่อมโยงสัญญาณ เช่น อุปกรณ์เราท์เตอร์ เท่านั้น

แหล่งข่าวจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยทีดีอาร์ไอ เล่าว่า ทีดีอาร์ไอ ได้รับมอบหมายจากอนุกรรมการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของรัฐ ให้ทำการศึกษาโครงการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการพัฒนาระบบเครือข่ายสารสนเทศของภาครัฐ หรือ โครงการ GINET

ผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอ ได้ระบุถึงความจำเป็นในการพัฒนา การเสนอรูปแบบที่เหมาะสมของระบบระดับการลงทุน และประเมินความเป็นไปได้ ตลอดจนเสนอรูปแบบในการบริหารจีไอเน็ท

จากผลการศึกษาระบุว่า เห็นด้วยที่จะมีโครงการ GINET เพราะจะทำให้รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านสื่อสารข้อมูลระยะไกลได้ถึง 20 ล้านบาทต่อปีในช่วง 5 ปีแรก และประมาณ 200 ล้านบาทต่อปีในช่วง 5 ปีถัดมา แต่ควรมีองค์กรกลางขึ้นมารับผิดชอบดำเนินโครงการ

ส่วนค่าใช้จ่ายในการลงทุนนั้นค่อนข้างสูง โดยทีดีอาร์ไอคิดเป็นเงินลงทุนราว 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าเช่าคู่สายความเร็วสูงจากองค์โทรศัพท์ฯ ที่จะใช้แลกเปลี่ยนข้อมูลของหน่วยงานราชการ ที่จะร่วมใช้จำนวน 9 หน่วยงาน

แหล่งข่าวกล่าวว่า รูปแบบโครงการที่เนคเทคจัดทำขึ้น และยื่นเสนองบประมาณกับ ครม. เหมือนกับผลศึกษาที่ทีดีอาร์ไอจัดทำขึ้น แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมเนคเทคถึงระบุว่าต้องใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ใช้วิธีการเช่าคู่สายโทรศัพท์เหมือนกัน

"จุดสำคัญของโครงการนี้อยู่ที่ค่าใช้จ่ายในเรื่องคู่สายโทรศัพท์ ซึ่งโครงการที่เนคเทคเสนอก็ใช้วิธีการเช่าเหมือนกับที่ทีดีอาร์ไอเสนอ แต่ก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมค่าเช่าถึงพุ่งสูงขนาดนี้"

ดร.ทวีศักดิ์ชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า ผลการศึกษาของทีดีอารืไอไม่ได้ลงลึกถึงรายละเอียดของโครงการ ซึ่งไม่ตรงกับปริมาณการใช้งานที่ใช้จริงในแต่ละหน่วยงานราชการแต่ละแห่ง จึงทำให้มีความแตกต่างกันในเรื่องของต้นทุนค่าเช่าคู่สายที่จะใช้งาน

รวมทั้งในเรื่องของบริษัทอินเตอร์เน็ตประเทศไทย ก็เป็นการลงทุนเพื่อการสนับสนุนให้มีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้น ซึ่งเนคเทคก็ทำตามนโยบาย พ.ร.บ. และปัจจุบันบริษัทนี้ก็เลี้ยงตัวเองได้โดยเนคเทคไม่ได้จ่ายเงินช่วยเหลือมาหลายปีแล้ว

ดร.ไพรัช ก็ยอมรับว่า องค์กรที่ตั้งมาถึง 8 ปี ย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสภาพในปัจจุบัน โดยเนคเทคยังคงยึด 3 นโยบายเดิม คือ งานวิชาการ, สังคม และเศรษฐกิจ

เช่นเดียวกับ ดร.ทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการเนคเทคคนใหม่ กล่าวว่า ที่แล้วมาเนคเทคพยายามปฏิบัติตาม พ.ร.บ.พัฒนาวิทยาศาสตร์ ที่ผ่านมาเนคเทคก็ทำได้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีหลายอย่างที่ต้องปรับปรุง

แนวทางที่ต้องปรับปรุง คือ การประสานงานระหว่างหน่วยงานด้วยกันจะต้องทำมากขึ้น และเนคเทคจะต้องกำหนดบทบาทของตัวเองให้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งอาจจะต้องลดบทบาทตัวเองลงในบางเรื่อง โดยเนคเทคจะเป็นผู้สนับสนุนให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ และจะทำให้ส่วนที่เอกชนไม่ทำ

ภาพความขัดแย้งระหว่างฝ่ายการเมืองและเจ้าหน้าที่ของเนคเทค ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ภายในหน่วยงานนี้เท่านั้น แต่ก็ถึงเวลาแล้วที่เนคเทคจะต้องปรับปรุงตัวเองเสียที่ หลังจากที่ได้ชื่อว่าเป็นแดนสนธยามาถึง 8 ปีเต็ม

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us