คำพูดข้างต้นฟังดูน่าจะเป็นความเห็นของนักการทหาร มากกว่านักการธนาคารหัวใหม่อย่าง
บัณฑูร ล่ำซำ แห่งธนาคารกสิกรไทย ซึ่งสถานะของธนาคารของเขาในเวลา แม้จะเพิ่มทุนสำเร็จ
แต่หากสถานการณ์โดยรวมของระบบธนาคารและเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะ "ควงสว่าน"
ลงทุกวันเช่นนี้ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารอื่นๆ ที่เพิ่มทุนได้แล้ว ก็ไปไม่รอดเหมือนกัน!
บัณฑูรแสดงทัศนะส่วนตัวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า "ขณะนี้ยังไม่มีใครพูดออกมาชัดเจนว่าบรรยากาศของประเทศไทยปัจจุบันนั้น
เปรียบเทียบไปก็เหมือนประเทศเข้าสู่ภาวะสงคราม มันต้องมีความเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
นี่เป็นสถานการณ์สงคราม บ้านเมืองจะล่มในเชิงเศรษฐกิจ"
แน่นอนว่าไม่มีใครกล้าพูดวาจาเช่นนี้แน่ โดยเฉพาะผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
เพราะคำพูดเช่นนี้สามารถทำให้เจ้าตัวเดือดร้อนอย่างหนักได้โดยไม่ยาก
สถานการณ์ของประเทศในเวลานี้ บัณฑูรมองว่า "การเพิ่มทุนของสถาบันการเงินเป็นประเด็นหมายเลขหนึ่งในตอนนี้
ไม่มีประเด็นอะไรสำคัญไปกว่านี้ ประเด็นรองๆ คือ จัดกติกาของกฎหมายให้ชัดเจน"
ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะระบบการเงินเป็นหัวใจหลักของระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน
หากสถาบันการเงินเพิ่มทุนไม่ได้ ระบบเศรษฐกิจก็ไม่มีวันฟื้น เพราะตัวจักรกลไม่มี
"มันต้องมีการหมุนเวียนของเงิน ของสภาพคล่อง ของเครดิต มันถึงจะมีการผลิต
มันถึงจะมีการจ้างงาน การใช้เงิน ใช้จ่าย"
ในการเพิ่มทุนของธนาคารพาณิชย์นั้น ในเมื่อนักลงทุนต่างชาติในเวลานี้เกิดความไม่มั่นใจที่จะนำเงินมาลงทุน
ก็มีอยู่หนทางเดียวเท่านั้นคือต้องเอาเงินจากรัฐบาลซึ่งก็คือเงินประชาชนนั่นเอง
ซึ่งในการใช้เงินประชาชนนั้น มันมีเงื่อนไขและความเปราะบางในทางการเมืองสูงมาก
และเรื่องเช่นนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ รมว.คลังตัดสินได้คนเดียว แต่เป็นเรื่องที่สภาฯ
ต้องตัดสิน ก็คือประชาชนเป็นผู้ตัดสิน
ทั้งนี้เงินที่จะนำมาใช้เพื่อการเพิ่มทุนของธนาคารพาณิชย์นั้นคิดเป็นเม็ดเงินมหาศาล
ซึ่งก็มีวิธีที่จะหามา 3 ทาง คือ
(1) ต้องกันจากเงินงบประมาณ ที่ก็ไม่ค่อยจะมีใช้อยู่แล้ว หรือ
(2) มิเช่นนั้นก็ต้องขยายรัฐวิสาหกิจออกไป ซึ่งก็เป็นประเด็นทางการเมืองอย่างยิ่ง
ไม่ใช่เรื่องที่จะตกลงกันได้ง่ายๆ หรือ
(3) อีกทางหนึ่งก็คือการออกพันธบัตรที่รัฐบาลได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการได้แล้ว
แต่กระทรวงการคลังยังรีรออยู่ เพราะมันก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ เช่นกัน
หากใช้ทางเลือกแรก คือใช้เงินประชาชน ซึ่งอาจจะไม่ได้กันออกมาจากเงินงบประมาณโดยตรง
แต่ในที่สุดประชาชนก็ต้องเป็นผู้รับภาระนั้น ในเมื่อใช้เงินประชาชนใส่เข้าไป
ผู้ถือหุ้นเดิมก็ต้องเหลือ 1 สตางค์ ซึ่งการใช้วิธีการนี้ก็สร้างความเจ็บปวดแก่ผู้ถือหุ้นเดิมอย่างแสนสาหัส
แม้ว่าจะเกิดขึ้นแล้วกับ 4 แบงก์ที่ทางการเข้าไปยึด แต่การที่จะทำกับแบงก์ที่เหลือนั้น
ก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเกี่ยวกับกลุ่มผู้ถือหุ้น และนี่อาจจะเป็นปัญหาที่ทำให้การแก้ปัญหาของรัฐโดยวิธีนี้ทำได้อย่างล่าช้ามาก
บัณฑูรกล่าวว่า "ผมในฐานะที่เป็นคนไทย ผมก็หวังว่าผู้ที่มีอำนาจในอดีตจะสามารถตกลงหาวิธีการที่เหมาะสมได้โดยเร็ว"
เขากล่าวอีกว่า "สิ่งที่ประเทศไทยมีน้อยในตอนนี้ยิ่งกว่าเงินคือเวลา
ผ่านมา 4 เดือนนี่ก็ถือว่าเสียเวลาไปมากพอสมควร 4 เดือนนี่เหมือนพายเรือในอ่าง
มันถึงมีการ์ตูนออกมาเห็นนายกฯ พายเรือในอ่าง คือไม่ใช่ว่าไม่พยายามพายนะ
พาย พาย พาย จะขาดใจตาย ก็วนอยู่อย่างนี้ เพราะมันจบไม่ลง คุณธารินทร์ นี่ก็พายทั้งวันทั้งคืน
แต่ทีนี้เขาไม่ใช่คนที่ตัดสินใจได้คนเดียว ทั้งประเทศไทยมันก็มีคนอื่นเป็นเจ้าของเหมือนกัน
ที่จะมาร่วมตัดสิน"
การที่ประเทศไทยมีเจ้าของประเทศมากมายนั้น ทำให้ต้องผ่านขั้นตอนการเจรจาต่างๆ
นานาซึ่งรัฐบาลก็ต้องไปทำตรงจุดนี้ให้เสร็จ เพื่อที่จะได้เดินหน้าต่อไป
บัณฑูรกล่าวว่า "คำตอบเบ็ดเสร็จนั้นมีอยู่แล้ว แต่มันก็ต้องก่อให้เกิดความสะเทือน
ความเจ็บปวดในหลายๆ จุดในสังคมไทย มันก็ต้องเจรจากันให้เสร็จ ไปเจรจากันให้เสร็จก่อน
ไม่อย่างนั้นก็ตอบไม่ได้ จะไปตอบในเชิงทฤษฎีได้อย่างไร มันต้องเอาไปปฏิบัติได้ด้วย
เช่น บอกว่าจะขายรัฐวิสาหกิจ แล้วมันไม่ผ่านการลงคะแนนเสียง แล้วจะขายได้อย่างไร
ก็ขายได้ในฝันเท่านั้นเรื่องจริงมันขายไม่ได้"
ทั้งนี้ บัณฑูรหมายความว่าหากรัฐบาลตกลงกันได้แล้ว และได้รับความเห็นชอบเรื่องแนวทางการแก้ปัญหา
โดยเฉพาะปัญหาของระบบสถาบันการเงินแล้ว ก็สามารถที่จะไปบอกนักลงทุนต่างประเทศได้
โดยเฉพาะการอธิบายกังวลก็คือคำตอบเรื่องการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีคำตอบเบ็ดเสร็จออกมา
รัฐบาลก็แกรงว่าจะเจอดอกเบี้ยสูง
"คุณธารินทร์ต้องออกไปทำโรดโชว์ รับรองได้ว่า (นักลงทุน) ลับมีดคำถามรออยู่แล้ว
ซึ่งจะไม่ตอบได้อย่างไร ยิ่งตอบคลุมเครือไม่ชัดเจน ความเชื่อมั่นก็จะลดลง
ซึ่งความเชื่อมั่นน้อยลงก็ออกมาใน 2 รูปแบบ คือ ดอกเบี้ยแพงมหาศาล แทนที่จะเป็น
450 basis points ก็อาจจะเป็น 500 กว่า อีกอันคือขายไม่หมด"
บัณฑูรรู้ดีว่าการเผชิญหน้ากับความเกรี้ยวกราดของเจ้าของเงินนั้น เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจเพียงใด
อย่างไรก็ดี เมื่อรัฐบาลออกมาตรการแก้ปัญหาด้วยแผนการฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินเมื่อ
14 ส.ค.ที่ผ่านมา ธารินทร์ก็น่าจะมีข้อมูลไปตอบคำถามนักลงทุนต่างประเทศได้บ้าง