โครงการนี้จะมีผลบังคับเฉพาะธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุน ที่จดทะเบียนในประเทศไทยเท่านั้น
ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า "สถาบันการเงิน" ทั้งนี้ไม่รวมถึงสาขาของธนาคารต่างประเทศ
เงินกองทุนชั้นที่ 1
- รัฐบาลจะเพิ่มเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของสถาบันการเงินในรูปของการถือหุ้นบุริมสิทธิโดยชำระเป็นพันธบัตรรัฐบาลที่เปลี่ยนมือได้
อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยอิงตามอัตราตลาด
- เงื่อนไข
(1) การเพิ่มเงินกองทุนจะมีจำนวนมากพอที่จะรองรับวงเงินกันสำรองจากการจัดชั้นลูกหนี้
นับตั้งแต่บัดนี้จนถึงปี 2543
(2) ผู้ถือหุ้นเดิมจะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง และ
(3) แผนการประนอมหนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย
- รัฐบาลจะซื้อหุ้นบุริมสิทธิของสถาบันการเงินนั้น ซึ่งสามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่
1 ได้ จนกว่าสถาบันการเงินนั้นจะมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นจนถึงระดับร้อยละ
2.5 หลังจากนั้นรัฐบาลจะซื้อหุ้นบุริมสิทธิสมทบเงินทุนจากผู้ร่วมทุนภาคเอกชนรายใหม่
ในจำนวนเท่ากัน จนกว่าสถาบันการเงินจะมีเงินกองทุนเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่าขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย
- ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากสินทรัพย์ที่มีอยู่เดิมจะเป็นภาระของผู้ถือหุ้นเดิมเป็นอันดับแรก
เงินกองทุนชั้นที่ 2
- เงินกองทุนชั้นที่ 2 จะอยู่ในรูปของการแลกเปลี่ยนหุ้นกู้ของสถาบันการเงินกับพันธบัตรรัฐบาลที่เปลี่ยนมือไม่ได้
- การเพิ่มทุนจะขึ้นอยู่กับขนาดของ
(1) ส่วนสูญเสียที่เกิดจากการประนอมหนี้ ส่วนเกินจากเงินสำรองที่กันไว้แล้ว
อนึ่ง จำนวนเงินกองทุนชั้นที่ 2 ที่ทางการจะให้ตามโครงการจะลดจำนวนลงเรื่อยๆ
เพื่อกระตุ้นให้สถาบันการเงินเร่งทำการประนอมหนี้และให้กู้ใหม่ และ
(2) จำนวนเงินให้กู้ยืมแก่ภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นสุทธิ
- รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือเพียงไม่เกินร้อยละ 2 ของสินทรัพย์เสี่ยงของสถาบันการเงินนั้น
ซึ่งในวงเงินร้อยละ 1 จะคิดตามสัดส่วนวงเงินให้กู้ยืมใหม่
- รัฐบาลสงวนสิทธิที่แปลงหุ้นกู้เป็นหุ้นที่คิดเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1
ได้หากอัตราความเพียงพอของเงินกองทุนของสถาบันการเงินนั้นลดลงจนต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ
ที่มา : เอกสารแผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน โดย กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย