Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2541
ปลูกอวัยวะทดแทน หม้อทองคำแห่งอนาคต             
 





เด็กชายฌอน แมกกอร์แมคถือกำเนิดมาในโลกโดยไม่มีซี่โครงข้างซ้าย นั่นเป็นอาการผิดปกติของทารกที่เรียกกันว่า โปแลนด์ส์ ซินโดรม มันหมายถึงว่าหัวใจของเขานั้นขาดปราการป้องกันขั้นพื้นฐาน อาการบีบเต้นของหัวใจสามารถมองเห็นอยู่ภายใต้ผิวหนังชัดๆ คุณหมอปลอบคุณพ่อคุณแม่ว่าเมื่อฌอนอายุครบ 21 ปี ซึ่งมั่นใจได้ว่ากระดูกหยุดการเจริญเติบโตแล้ว คุณหมอจะผ่าตัดเอาแผ่นวัสดุสังเคราะห์สอดใส่ใต้ผิวหนังบริเวณนั้นให้

12 ปีต่อมา น้องฌอนกลายเป็นนักเบสบอลดวงเด่นของโรงเรียนไปแล้ว โดยไม่ต้องห่วงว่าการเล่นกีฬาจะเป็นอันตรายแต่อย่างใด เหตุก็เพราะว่า คุณหมอได้ทราบข่าวการปลูกอวัยวะมนุษย์ในห้องแล็บ และแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่พาน้องฌอนไปหาทีมนักวิทยาศาสตร์และศัลยแพทย์ ที่โรงพยาบาลเด็กที่บอสตัน ซึ่งขึ้นชื่อเด่นที่สุดในวิทยาการดังกล่าว

กระดูกซี่โครงของน้องฌอนส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งถูกเฉือน และนำเซลล์ที่ยังมีชีวิตดีอยู่มาเพาะปลูกภายในแม่พิมพ์ แม่พิมพ์นี้ทำขึ้นด้วยวัสดุที่จะสลายในเนื้อเยื่อสิ่งมีชีวิต (ทำนองเดียวกับไหมละลายที่ใช้เย็บผิวหนัง) และถูกหล่อรูปทรงขึ้นมาตามรูปทรงลำตัวของพ่อหนู ในการเพาะปลูกซี่โครงให้น้องฌอนนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์แช่เซลล์ไว้ในองค์ประกอบกระตุ้นการเติบโตของเซลล์ และจัดทำอาหารเลี้ยงเซลล์ขึ้นมาในเครื่องปฏิกิริยาชีวภาพ

เวลาผ่านไปหลายสัปดาห์ เซลล์ขยายตัวทวีคูณขึ้นเป็นเนื้อเยื่อสามมิติ แล้วซี่โครงก็งอกเติบโตจนได้ที่ จากนั้นจึงเป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายเข้าสู่ร่างกายของน้องฌอน แน่นอน โครงการนี้ได้รับอนุญาตพิเศษจากสำนักงานอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (เอฟดีเอ) แล้ว เมื่อซี่โครงได้รับการติดตั้งเข้าไปเป็นที่เรียบร้อย เซลล์ทั้งหลายของซี่โครงก็ฉลาดรู้งาน จัดแจงทำบทบาทของตัวได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งการผนวกเข้ากับบรรดาหลอดเลือดในบริเวณใกล้เคียง เซลล์ดั้งเดิมและเซลล์ใหม่สามารถผสานตัวเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่นานให้หลัง แม่พิมพ์สลายตัวไป ขณะที่เนื้อเยื่อซี่โครงที่เพาะงอกขึ้นในห้องแล็บก็สามารถไปกันได้กับร่างกายทั้งมวล ไม่ได้เป็นสิ่งแปลกปลอมที่จะถูกระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อต้าน

ภายในเวลา 1 ปี ทรวงอกของน้องฌอนก็เหมือนคนทั่วไป เพราะกระดูกซี่โครงที่ถูกปลูกถ่ายเข้าไปนั้น สามารถผนึกตัวเองรวมเข้ากับร่างกายของน้องฌอนเป็นอันดี หนำซ้ำยังสามารถเจริญเติบโตไปเรื่อยๆ สอดคล้องกับการเจริญวัยของร่างกายของน้องฌอนโดยรวม

นับถึงปัจจุบันนี้ สิริได้ 4 ปีแล้วที่น้องฌอนมีซี่โครงปกป้องหัวใจเหมือนใครต่อใคร หนุ่มน้อยคนนี้เติบใหญ่แข็งแรง สมวัย 16 ปีเต็ม และสูงชะลูดเกือบ 180 ซม. เจ้าตัวบอกว่า "เจ๋งมากครับ เหมือนเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ติดตัวผมมาแต่เกิดประมาณนั้น"

ความก้าวหน้าทางการแพทย์แขนงนี้เป็นความหวังแก่ผู้คนที่มีปัญหาสุขภาพและคุณภาพชีวิต ไม่ว่าจะแบบเกิดมาไม่ครบสามสิบสอง หรือแบบที่อวัยวะของร่างกายเสื่อมเสียไป ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนากระบวนการเพาะปลูกเซลล์ จนกระทั่งว่าวิศวกรรมเพาะสร้างเนื้อเยื่อมีความก้าวหน้าในระดับใช้งานได้บ้างแล้ว

เท่าที่ผ่านมา มีการทดลองปลูกและผ่าตัดติดตั้งอวัยวะประเภทกระดูก เอ็น หลอดเลือด ตลอดจนผิวหนังให้กับร่างกายมนุษย์ไปแล้ว ส่วนอวัยวะประเภทตับ ตับอ่อน หัวใจ เนื้อทรวงอก หู นิ้ว อยู่ในขั้นทดลองเพาะเลี้ยงในห้องแล็บ ยิ่งกว่านั้น พัฒนาการในสาขานี้ยังไปไกลกว่าการเพาะสร้างอวัยวะที่ทำหน้าที่ปกติ ด้วยการข้ามช็อตไปสู่การเพาะอวัยวะอัจฉริยะ อาทิ อวัยวะแบบเดียวกับหลอดเลือดแต่มาทำหน้าที่ลำเลียงยาเข้าสู่ร่างกาย, ต่อมน้ำลายที่สามารถขับโปรตีนต่อต้านเชื้อราเพื่อต่อสู้ป้องกันการติดเชื้อในลำคอ, ผิวหนังที่สามารถปลดปล่อยฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโต ไปจนถึงอวัยวะที่สามารถนำมาดัดแปลงเชิงพันธุกรรม เพื่อแก้ปัญหาความผิดปกติในพันธุกรรมของตัวคนไข้แต่ละราย

พร้อมกับที่วิทยาการพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วนั้น ช่องทางธุรกิจก็ก่อตัวขึ้นมารวดเร็วไม่แพ้กัน บริษัทธุรกิจด้านการแพทย์และเภสัชกรรมจำนวนไม่น้อยหันมาจับบทบาทผู้ผลิต ผู้วิจัยทดลอง และผู้ค้าอวัยวะทดแทนแก่มนุษย์ ตลาดแห่งอวัยวะทดแทนมีอัตราขยายตัวในระดับสูงเพราะอุปสงค์มีอยู่ล้นเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่อวัยวะบริจาคจากมนุษย์มีไม่เพียงพอกับความต้องการ และการปลูกถ่ายอวัยวะของบุคคลหนึ่งให้แก่อีกบุคคลหนึ่งยังมีความเสี่ยงสูงมากที่จะล้มเหลว เนื่องจากร่างกายของผู้รับทำปฏิกิริยาต่อต้านเซลล์เนื้อเยื่อใหม่

ธุรกิจการผลิตอวัยวะทดแทนบางประเภทก้าวหน้าขึ้น จากการสั่งทำเฉพาะราย มาเป็นการผลิตเป็นปริมาณมากสำหรับเรียกใช้ได้ทันใจ อาทิ อวัยวะผิวหนัง หรือที่เรียกชื่อในวงการ แพทย์ว่า แอปลิกราฟ ซึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เอฟดีเอได้อนุมัติให้แพทย์นำแอปลิกราฟ ที่เกิดจากการเพาะสร้างจากห้องแล็บมาปลูกถ่ายแก่คนไข้โรคแผลพุพองที่ขา โรคยอดฮิตในหมู่ผู้สูงอายุ

บริษัทออร์แกนโนยีเนซิส อิงค์ ผู้ผลิตแอปลิกราฟ เผยคร่าวๆ ว่า การผลิตแอปลิกราฟนั้นทำขึ้นมาจากเซลล์ส่วนหนังหุ้มปลายลึงค์ของทารกสองสามเซลล์ แล้วมาเพาะปลูกให้เป็นผิวหนังสดๆ ขนาดใหญ่โตหลายตารางกิโลเมตร เวลาใช้นั้นสามารถหยิบฉวยไปตัดแต่งรูปทรงและขนาดตามความเหมาะสมแล้ว จึงปะติดเข้ากับร่างกายคนไข้ โดยไม่ต้องเกรงปัญหาภูมิคุ้มกันสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย หรือปัญหาแผลเป็นแต่อย่างใด

โปรเจกต์ต่อไปของออร์แกนโนยีเนซิส คือ การเพาะสร้างกระดูกอ่อนเพื่อเสริมความแข็งแรงของทางเดินปัสสาวะ กับเพื่อซ่อมแซมหัวเข่า ไปจนถึงเพื่อผ่าตัดปลูกถ่ายทดแทนกระดูกหน้าแข้ง โครงการเหล่านี้ใกล้สำเร็จแล้ว และกำลังจะยื่นขออนุมัติจากเอฟดีเอในปีหน้า หรือช้าสุดก็ในปี 2000

ในอีกที่หนึ่ง คือ มหาวิทยาลัยแมสซาชูเสต วิทยาเขตวอร์เชสเตอร์ ทีมของชาร์ลส์ วาแคนตี กำลังเพาะสร้างกระดูกนิ้วหัวแม่มือให้ช่างเครื่องสองรายที่ประสบอุบัติเหตุนิ้วขาด วาแคนตีบอกว่าในประมาณเดือนนี้เดือนหน้า จะดำเนินการผ่าตัดปะติดนิ้วให้แก่คนไข้ทั้งสองรายนี้ อวัยวะอันนี้จะได้รับองค์ประกอบช่วยเร่งความเจริญเติบโต ที่จะช่วยกระตุ้นให้เส้นประสาทและเอ็นงอกใหม่ออกมา สร้างความต่อเนื่องระหว่างตัวนิ้วกับส่วนโคนนิ้ว ตามการคำนวณของวาแคนตี ประมาณการว่าภายใน 12 สัปดาห์นิ้วหัวแม่มือจะใช้งานได้ตามปกติ ในเวลาเดียวกัน โรงพยาบาลเด็กที่บอสตัน นำโดยดร.แอนโธนี อาตาล่า กำหนดจะผ่าตัดปลูกถ่ายกระเพาะปัสสาวะที่ปลูกสร้างขึ้นในแล็บ ให้แก่คนไข้ในช่วงประมาณเดือนตุลาคมนี้

แม้แต่การเพาะปลูกอวัยวะที่ซับซ้อนที่สุดก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นไปได้ในอีกประมาณ 5 ถึง 10 ปี ข้างหน้า นั่นคือการเพาะปลูกหัวใจมนุษย์ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บรรดานักวิจัยทั่วโลกได้ประชุมกันไปรอบหนึ่งที่โตรอนโต แคนาดา จัดทำโครงการ 10 ปีเพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ ไมเคิล เซฟตัน ศาสตราจารย์ทางวัตถุชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต กล่าวว่า "แนวโน้มความสำเร็จของโครงการมีสูงทีเดียว"

ส่วนสำหรับอวัยวะที่ซับซ้อนมากๆ รายการอื่นๆ ได้พัฒนาเป็นรูปเป็นร่างกันไปบ้างแล้ว ลินดา กริฟฟิธซีม่า วิศวกรเคมีแห่งแมสซาชูเสต อินสติติว ออฟ เทคโนโลยี กำลังพัฒนาปลูกตับมนุษย์ แอน อาร์เบอร์ แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน กำลังปลูกทรวงอกสำหรับสตรีที่ถูกผ่าตัดหน้าอก

ทิ้งทีมวิจัยที่สวีเดนและแคลิฟอร์เนียสามารถปลูกเส้นประสาทไขสันหลังขึ้นใหม่ในหนู ถึงขนาดว่าหนูพิการที่ขาสามารถกลับเดินได้ แต่ไม่ถึงกับคล่องแคล่วนัก

ความก้าวหน้าของวิทยาการปลูกเพาะอวัยวะทดแทนที่เป็นมาอย่างมากมายในเวลาอันสั้น ย่อมไม่ใช่อะไรที่น่าฉงนฉงาย เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงว่าตลาดด้านมีนี้ศักยภาพการขยายตัวอย่างมหาศาล รายงานการวิจัยเมื่อปี 1993 พบว่า เงินมากกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีในสหรัฐอเมริกา ถูกใช้จ่ายไปกับการรักษาผู้ป่วยเนื่องจากอวัยวะของร่างกายบกพร่องเสียหาย

ตัวเลขดังกล่าวหมายถึงโอกาสอันมิอาจคณานับถ้วน ทั้งในเชิงพาณิชย์และในเชิงมนุษยธรรม ดร.ปิเตอร์ ซี. จอห์นสัน ประธานของหน่วยงานร่วมเพื่อการวิจัย พิตสเบิร์ก ทิสชู เอนจิเนียริ่ง อินนิชิเอทีฟ ประมาณว่า ตลาดของเนื้อเยื่อจากการวิศวกรรมและการปลูกถ่าย รวมทั้งหมดแล้วน่าจะสูงถึงระดับ 80,000 ล้านดอลลาร์ ด้วยเหตุนี้เองวงการวิศวกรรมเนื้อเยื่อ จึงมีพวกบริษัทตั้งใหม่โดดเข้ามายึดพื้นที่ความเป็นเจ้ายุทธจักรกันอย่างคึกคัก

ตัวอย่างเช่น โนวาร์ทิส ฟาร์มา ซูติคอลส์ คอร์ป ได้ลงทุนตั้งบริษัทวิศวกรรมเนื้อเยื่อ 4 แห่ง รวมทั้ง ออแกโนเจเนซิส ยิ่งเมื่อเอฟดีเออนุมัติให้ใช้แอปลิกราฟได้ด้วยแล้ว ธุรกิจตรงนี้ก็ยิ่งคึกคักขึ้นเป็นไหนๆ โนวาทิสมิใช่บริษัทเดียวที่มีวิสัยทัศน์แห่งอนาคต บริษัทอังกฤษ สมิธ แอนด์ เนฟิว ก็กำลังลงทุนราว 70 ล้านดอลลาร์ใน แอดแวนเซ็ด ทิชชู ซายส์ ขณะที่ แอมเจนทำข้อตกลงมูลค่าสูงถึง 465 ล้านดอลลาร์กับกิลฟอร์ด ฟาร์มาซูติคอลส์ เพื่อพัฒนาส่วนประกอบสำหรับการปลูกถ่ายเส้นประสาท ด้าน สตรายเกอร์ก็ให้เงินทุนอุดหนุนการวิจัยการปลูกถ่ายกระดูก ของบริษัท ครีเอทีฟ ไบโอโมเลกุลส์ ส่วน เมดโทรนิกนั้นสัญญาที่จะลงทุน 26 ล้านดอลลาร์ในโครงการเพาะปลูกลิ้นหัวใจในห้องแล็บของไลฟ์เซลล์

ตลาดเฉพาะกลุ่มที่ขยายตัวล่วงหน้าก่อนใครๆ และเป็นตัวที่ดูจะมีอนาคตมากที่สุดในเฉพาะหน้านี้ ตามคำบอกเล่าของ ไมเคิล เออร์เรนไรช์ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพประจำบริษัทที่ปรึกษาทางการลงทุน เทคเวสต์แห่งนิวยอร์ก คือ กระดูกอ่อนสำหรับทดแทนของเดิมตรงหัวเข่าที่เสียหายไป ซึ่งวิธีที่ใช้ในปัจจุบันคือนำวัสดุทำเทียมมาใส่เปลี่ยนให้ "ทุกๆ ปีจะมีการผ่าตัดเกี่ยวกับข้อต่อหัวเข่าราว 250,000 ราย และไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าการเอาของเทียมใส่ให้เลย"

เมื่อการปลูกสร้างอวัยวะทดแทนกลายเป็นที่ต้องการอย่างกว้างขวาง พัฒนาการในแง่การปลูกสร้างอวัยวะตระเตรียมไว้ล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้ทันทีที่เรียกหา จึงกลายเป็นเป้าหมายสำคัญสำหรับผู้ผลิต ซึ่งนอกจากจะดีสำหรับการขายแล้ว ยังเป็นการดีสำหรับผู้บริโภคด้วย เพราะคนไข้ไม่จำเป็นต้องนำเซลล์ของตนมาค่อยๆ เพาะไม่จำเป็นต้องรอให้อวัยวะโตพร้อมแก่การใช้ แต่นั่นหมายความว่า นักวิทยาศาสตร์จะต้องแก้ปัญหาเรื่องระบบภูมิคุ้มกัน ที่ร่างกายคนไข้อาจต่อต้านกับอวัยวะทดแทน

เท่าที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ผิวหนังทดแทน หรือ แอปลิกราฟ ได้กลายเป็นแมสโปรดักส์ไปอย่างเต็มตัว เพราะระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์สามารถยอมรับเซลล์ผิวหนังแปลกหน้าบางอย่างได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วการนำเอาอวัยวะที่เพาะปลูกเตรียมไว้ล่วงหน้ามาปลูกถ่ายให้คนไข้ ยังมีปัญหากับระบบต่อต้านอัตโนมัติอยู่ ในขณะนี้ยังจำเป็นต้องให้ยาลดภูมิคุ้มกันแบบเดียวกับที่จ่ายให้กับคนไข้ ซึ่งผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะที่ได้รับบริจาคจากร่างกายของผู้อื่น

สิ่งที่วิศวกรเนื้อเยื่อกำลังเร่งพัฒนาอยู่ในขณะนี้คือ การเพาะสร้างเซลล์ที่สามารถบริจาคให้คนไข้ได้ทั่วหน้า โดยไม่กระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันแสดงปฏิกิริยา หากแนวคิดนี้ประสบความสำเร็จ ผู้ผลิตอวัยวะทดแทนย่อมสามารถตั้งโรงผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ของร่างกายเป็นจำนวนมากๆ ได้

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นี้ ในทางทฤษฎีมองกันว่าต้องใช้วิธีดึงโปรตีน ที่กระตุ้นให้เกิดการไม่ยอมรับออกจากเซลล์นั้น ด้วยวิธีการทางพันธุศาสตร์ หรืออีกวิธีหนึ่งคือนำเซลล์นั้นห่อหุ้มไว้ในเยื่อหุ้มชนิดที่ร่างกายจะยอมรับไว้ วิธีหลังนี้กำลังใกล้ถึงขั้นการทดลองใช้กับร่างกายของสิ่งมีชีวิตแล้ว อาทิ กรณีการรักษาผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานที่ตับอ่อนไม่ทำงาน ทางบริษัทไบโอไฮบริด เทคโนโลยีส์ อิงค์ แห่งเมืองชริวส์เบอรี รัฐแมสซาชูเสตต์ กับ บริษัทนีโอคริน แห่งเมืองเออร์ไวน์ รัฐแคลิฟอร์เนีย กำลังปลูกเซลล์ผลิตอินซูลิน อันได้จากตับอ่อนของหมู แล้วนำมาห่อด้วยเยื่อหุ้มที่จะป้องกันปฏิกิริยาจากภูมิคุ้มกัน ขณะที่ยินยอมให้เซลล์ทำงานของมันได้ เยื่อหุ้มบรรจุเซลล์เหล่านี้จะถูกฉีดเข้าไปในช่องท้อง จากนั้นมันก็จะเข้าไปทำงานผลิตอินซูลิน

แม้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในวงการอวัยวะทดแทนดูจะพึงพอใจกับพัฒนาการที่ผ่านมา แต่ความวิตกถึงผลระยะยาวของอวัยวะทดแทนไม่ใช่จะไม่มี อาทิว่า อีกหลายสิบปีในอนาคต หลังจากที่ปลูกถ่ายอวัยวะที่เพาะสร้างจากแล็บเข้าไปนั้น อาจเกิดอะไรขึ้นบ้าง ยังไม่มีใครสามารถรับประกัน แม้เนื้อเยื่อที่เพาะสร้างขึ้นในแล็บต้องผ่านกระบวนการชำระให้บริสุทธิ์ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เป็นพาหะนำเชื้อ แต่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสที่อวัยวะจากเนื้อเยื่อเหล่านี้ จะไม่สร้างปัญหาได้เหมือนกับเซลล์ดั้งเดิมที่นำมาเพาะ ยิ่งกว่านั้น ยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่าเนื้อเยื่อจากการเพาะปลูกจากในแล็บจะไม่กลายเป็นเนื้อร้ายขึ้นมา

กระนั้นก็ตาม ของอย่างนี้เป็นใครก็ยอมเสี่ยง คนไข้ย่อมอยากรับการรักษาโดยเร็ว หากไม่ประสบอันตรายแบบทันตาเห็น แพทย์ย่อมอยากทำงานถ้าไม่ถึงกับเสี่ยงมาก แต่ที่สำคัญที่สุด ยามน้ำขึ้น บริษัทผู้ผลิตย่อมต้องรีบตัก และรีบยึดพื้นที่ความเป็นเจ้าตลาดไว้ก่อนใคร เพราะมันคือหม้อทองคำแห่งอนาคตกาลที่ตักได้ไม่มีหมด ตราบเท่าที่มนุษย์ยังอ่อนแอต่อกาลเวลาและสังขาร

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us