Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2541
เทเลไฟว์ ของร้อนของคนทีวี             
 


   
search resources

เทเลไฟว์




เอนก วัชระสุขศิลป กรรมการผู้จัดการ เทเลไฟว์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของคนในแวดวงทีวี เขาจึงเหมาะอย่างยิ่งในฐานะของผู้ประสานงานของทุกฝ่าย

ในช่วงเวลานี้ของสถานีโทรทัศน์คงไม่มีอะไรร้อนแรงเกินการถือกำเนิดของบริษัท "เทเลไฟว์"

ที่มาของบริษัทนี้มาจากก๊วนกอล์ฟ ในชื่อชมรม "ยูเอฟโอ" ของคนในแวดวงทีวีที่เจอะเจอกันเป็นประจำจนนำไปสู่การปรึกษาหารือ เพื่อหาทางออกร่วมกันในสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ และกลายมาเป็นบริษัทเทเลไฟว์

บริษัทนี้ไม่เพียงเป็นการผนึกกำลังของบรรดาผู้ผลิตรายการต่างๆ นำทีมโดยจาฤก กัลย์จาฤก แห่งค่ายกันตนา ถือหุ้นในบริษัทนี้ 30% ที่เหลือก็เป็น ปัญญา นิรันดร์กุล และประภาส ชลศรานนท์ แห่งเวิร์คพ้อยต์, เกียรติ กิจเจริญ แห่งทริปเปิ้ลทู, วิลลี่ แมคอินทอช แห่งลักส์ 666 และพิษณุ นิลกลัด แห่งสปอร์ตทิป ซึ่งทั้งหมดนี้ถือหุ้นกันคนละ 10%

เทเลไฟว์ยังได้รับสิทธิจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ให้ร่วมวางผังรายการในช่วงไพรม์ไทม์ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ตั้งแต่ 5 โมงเย็นจนถึงเที่ยงคืน เรียกว่าเป็นการเหมาเวลาในช่วงไพร์มไทม์ของช่อง 5 ไปแบบเบ็ดเสร็จ แถมยังได้ประเดิมใช้ระบบไทม์แชริ่งของช่อง 5 เป็นรายแรกด้วย

ทั้งนี้ระบบไทม์แชริ่งนั้นเป็นระบบการขายเวลาที่ช่อง 3 นำมาใช้จนประสบความสำเร็จอยู่ในปัจจุบัน เพราะเป็นระบบที่ยกเว้นค่าเช่าเวลาให้กับผู้ผลิตรายการ แต่จะใช้วิธีแบ่งรายได้จากค่าโฆษณา และปกติที่ใช้กันอยู่จะเป็น 60:40 คือ ผู้ผลิตรายการเอาไป 60% สถานีเอาไป 40% ซึ่งข้อตกลงระหว่างเทเลไฟว์และช่อง 5 อยู่ที่ 70:30

การมาของเทเลไฟว์จึงทำเอาสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั้งวงการทีวี เพราะหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดช่อง 5 จึงไม่ใช้วิธีการเปิดประมูล และการได้รับสิทธิ์เช่นนี้เทเลไฟว์ผูกขาดเวลาในช่วงไพรม์ไทม์ของช่อง 5 ไปโดยปริยายหรือไม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้ผลิตรายการเจ้าเก่าที่เช่าเวลาในช่วงไพรม์ไทม์ของช่อง 5 อยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นมีเดีย ออฟมีเดียส์, แกรมมี่เอ็นเตอร์เทนเม้นท์, เจเอสแอล และผู้ผลิตรายการอื่นๆ

แม้ว่าแกรมมี่และเจเอสแอลจะได้รับการยืนยันจากพลเอกแป้ง มาลากุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ว่ายังได้ผลิตรายการในเวลาช่วงไพรม์ไทม์ได้ดังเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เหมือนกับเจ้าเก่าแก่ที่ค้าขายกับช่อง 5 มานานอย่างมีเดียออฟมีเดียส์ ซึ่งยังมีกรณีติดค้างค่าเช่าสถานีจึงไม่มีชื่ออยู่ในโผมาตั้งแต่แรก ถ้าอยากทำรายการต้องยื่นข้อเสนอมาอีกครั้ง

แต่ก็ยังสร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม แห่งค่ายแกรมมี่ ที่ได้ชื่อว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ที่มีทั้งเงินทุนและบุคลากรที่พร้อมจะผลิตรายการป้อนอยู่แล้ว และแกรมมี่ก็่เคยยื่นข้อเสนอไปที่ช่อง 5 เหมือนกันแต่กลับไม่ได้รับเลือก จนทำให้เป็นสงครามน้ำลายย่อยๆ อยู่ในเวลานี้

ส่วนเจเอสแอลนั้นยังไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ออกมา สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะเจเอสแอลผลิตรายการในช่วงไพรม์ไทม์เพียงรายการเดียวคือ รายการเจาะใจ และบริษัทเองก็ไม่มีนโยบายที่จะลงทุนทำรายการอะไรเพิ่ม เพียงต้องการประคับประคองตัวเองให้รอดพ้นจากปัญหาเศรษฐกิจที่ซัดกระหน่ำอยู่ก็พอ

ยิ่งไปกว่านั้น การมาของเทเลไฟว์ยังเป็นที่จับตามองของช่อง 3 และช่อง 7 เพราะบรรดาผู้ถือหุ้นของเทเลไฟว์ ก็ล้วนแต่ผลิตรายการป้อนทีวีทั้งสองช่องอยู่แล้ว แม้ช่อง 5 จะอยู่ในอันดับที่ 3 ที่โดนทีวีช่อง 3 และ 7 ทิ้งห่างไปหลายช่วงตัว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีสำหรับช่อง 3 หรือ 7

เทเลไฟว์ จึงตกเป็นเป้าสายตาของคนในวงการทีวีทุกคู่ ซึ่งบางคนอาจฝันถึงผลสำเร็จที่รออยู่ข้างหน้า ตรงข้ามกับบางคนที่รอลุ้นอยู่กับทางวิบากของเทเลไฟว์

สำหรับผู้บริหารของเทเลไฟว์แล้ว นี่คือ จุดเริ่มของเปลี่ยนแปลงจากระบบการเช่าเวลาไปสู่ระบบไทม์แชริ่งของช่อง 5 ที่จะเป็นผลดีต่อผู้ผลิตรายการทุกๆ รายที่จะไม่ต้องแบกรับต้นทุนค่าเช่าสถานีเหมือนในอดีต

"คนอื่นๆ คิดว่า เราจะเข้ามาผูกขาดช่วงเวลาไพรม์ไทม์ของช่อง 5 และจะต้องกีดกันคนอื่น แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อำนาจสิทธิขาดทุกอย่างก็ยังเป็นของช่อง 5 เป็นของพลเอกแป้งอยู่เหมือนเดิม เทเลไฟว์เป็นเหมือนกับบริษัทลูกของช่อง 5 เท่านั้น โจทย์ของเราที่ได้จากช่อง 5 คือ การวางระบบการขายเวลาแบบไทม์แชริ่ง ซึ่งระบบมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะไม่ได้ทำได้ง่ายๆ " เอนก วัชระสุขศิลป์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเทเลไฟว์ กล่าว

เอนก เป็นกรรมการบริหารของบริษัททริปเปิ้ลทู ที่รับผิดชอบในเรื่องของงานทางด้านการวางโปรเจกต์ ถนัดในเรื่องการวางโครงสร้างงบประมาณ วางแผนการขาย และยังเป็นประธานชมรม ก๊วนกอล์ฟ "ยูเอฟโอ" เอนกจึงได้รับมอบหมายจากทุกฝ่ายให้นั่งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของเทเลไฟว์ เพราะจำเป็นต้องประสานงานกับทุกๆ ฝ่าย

เขาเล่าว่า การร่วมกันระหว่างช่อง 5 และเทเลไฟว์นั้นเป็นโครงการทดลองขั้นแรกเท่านั้น โดยมีการทำสัญญาร่วมกันมีอายุสัญญาที่ทำไว้ 1 ปี แต่ก็มีสิทธิ์จะต่อสัญญาได้อีกหากมีผลงานเป็นที่น่าพอใจ ในทำนองเดียวกันช่อง 5 ก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตลอดเวลาหากผลงานไม่เป็นที่น่าพอใจ

ภารกิจของเทเลไฟว์ ก็คือ จะต้องร่วมกับผู้บริหารของช่อง 5 วางผังรายการในช่วงไพรม์ไทม์ และผลิตรายการป้อนให้กับช่อง 5 ซึ่งเอนกเล่าว่า จะใช้วิธีว่าจ้างผู้จัดรายการมาผลิตรายการป้อนให้ โดยเทเลไฟว์นั้นจะได้รับสิทธิในการไปจัดหาผู้จัดรายการจากภายนอกได้ เช่นเดียวกับช่อง 5 ก็จะทำหน้าที่นี้เหมือนกัน เพียงแต่เมื่อหามาได้แล้วจะต้องนำมาพิจารณาคัดเลือกโดยผู้บริหารของช่อง 5 และเทเลไฟว์อีกครั้งหนึ่ง

ในขั้นต้นนั้น รายการที่ผลิตในช่วงไพรม์ไทม์จะมาจากการว่าจ้างบริษัทที่เป็นผู้ถือหุ้นเทเลไฟว์ และว่าจ้างผู้จัดรายการจากภายนอกอีกประมาณ 7 ราย ซึ่งเทเลไฟว์จะเป็นผู้ลงทุนว่าจ้างทั้งหมด เวลานี้มีทุนจดทะเบียนแล้ว 60 ล้านบาท และคาดว่าจะต้องลงเงินในช่วงแรก 100 ล้านบาท และจะต้องใช้เงินลงทุนในช่วง 1 ปีประมาณ 700-800 ล้านบาท

นอกจากนี้ เทเลไฟว์จะต้องร่วมกับสถานีช่อง 5 ในการวางระบบไทม์แชริ่ง และขายโฆษณาร่วมกับเจ้าหน้าที่ของช่อง 5 นำรายได้ค่าโฆษณามาแบ่งกันในสัดส่วน 70:30 คือ เมื่อขายโฆษณาได้สถานีหักไปทันที 30% ที่เหลือจึงเป็นของเทเลไฟว์ ซึ่งเทเลไฟว์นั้นจะต้องรับผิดชอบต่อรายได้ของสถานีด้วย คือ ในกรณีที่ขายโฆษณาไม่ได้ เทเลไฟว์ก็ยังต้องจ่ายเงินรายได้ให้กับช่อง 5 ในอัตรา 372 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นรายได้ขั้นต่ำที่ช่อง 5 เคยได้มา

เดิมพันของเทเลไฟว์ในครั้งนี้ จึงอยู่ที่รายได้โฆษณาและเรตติ้งของผู้ชมเป็นสำคัญ ซึ่งเอนกเชื่อว่าจะใช้เวลา 6 เดือนหลังจากผังรายการใหม่ เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไปก็จะเริ่มเห็นผลในเรื่องรายได้และเรตติ้ง โดยคาดว่าจากผังรายการใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะประกอบไปด้วยรายการเกมโชว์ ละคร ข่าว และรายการบันเทิงต่างๆ ที่จะปรับให้ตรงกับความนิยมของคนดูมากยิ่งขึ้น จะทำให้บริษัทมีรายได้ประมาณ 1,200 ล้านบาท

จะว่าไปแล้วนับว่าเป็น เดิมพันที่คุ้มค่ายิ่งนักสำหรับเทเลไฟว์ เมื่อเทียบกับเงินลงทุนก้อนใหญ่ เพราะหากทำสำเร็จ เทเลไฟว์ก็จะไม่ได้มีฐานะเป็นแค่ผู้ผลิตรายการทีวีเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ยังอยู่ในฐานะของผู้ถือหุ้นในบริษัทร่วมทุนร่วมกับสถานีโทรทัศน์ช่อง 5

เพราะเป้าหมายของพลเอกแป้ง ไม่ใช่แค่การวางระบบไทม์แชร์ริ่งเท่านั้น แต่ยังต้องการนำไปสู่การจัดตั้งบริษัท ททบ.5 โปรดักชั่นขึ้น เพื่อรับผิดชอบในเรื่องของรายการทั้งหมด ซึ่งในอนาคตจะมีการผลิตรายการเองด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับระบบไทม์แชริ่ง ที่จะต้องนำมาใช้ในเวลาทั้งหมดของช่อง 5 ในทุกช่วงเวลา

แน่นอนว่า หากทำสำเร็จเทเลไฟว์ก็จะเป็นบริษัทแรกๆ ที่จะได้รับพิจารณาให้เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นในบริษัท ททบ.5 โปรดักชั่น บริษัทลูกของช่อง 5 ที่มีหน้าที่ไม่แตกต่างจากบีอีซีเวิลด์ของช่อง 3 ที่ได้รับสัมปทานจาก อ.ส.ม.ท.

เพราะข้อกำหนดในสัญญาที่ช่อง 5 ทำไว้กับเทเลไฟว์ ก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เทเลไฟว์จะต้องให้ความร่วมมือกับ ช่อง 5 ในการสร้างระบบไทม์แชริ่ง และจัดตั้งบริษัท ททบ.5 โปรดักชั่น ซึ่งช่อง 5 มีสิทธิ์เลิกสัญญาทันทีเมื่อการศึกษาและการพัฒนาระบบไทม์แชริ่ง และการจัดตั้งบริษัท ททบ.5 โปรดักชั่นเสร็จสิ้นลง

ทุกอย่างก็ต้องขึ้นอยู่กับเทเลไฟว์ว่าจะเป็นแค่ของร้อนๆ ที่มาสร้างสีสันชั่วคราว หรือเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับวงการทีวีเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม !

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us