Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2541
ดร.ประทิต สันติประภพ ยุคไอทีเฟื่องนักวิชาการก็ต้องทำธุรกิจ             
 


   
search resources

ประทิต สันติประภพ




ดร.ประทิต สันติประภพ ลูกชายของอดีตอธิบดีกรมตำรวจ ที่ไม่ยอมเดินตามรอยผู้เป็นพ่อ เพราะความชอบวิทยาศาสตร์และคำนวณ แต่วันนี้เขากำลังเพิ่มบทบาทของนักวิชาการมาเป็นนักธุรกิจไอที ที่กำลังฝากผลงานไว้ในหลายหน่วยงานราชการ

ถึงแม้ว่าชื่อของบริษัทฟอร์ยู อินโฟร์ซิส และบริษัทฟอร์ยูซิสเท็กซ์ อาจจะไม่คุ้นหูเหมือนกับบริษัทคอมพิวเตอร์รายใหญ่ๆ ที่ทำธุรกิจค้าขายและให้บริการกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

แต่หากดูรายชื่อของลูกค้าที่อยู่ในมือของบริษัทแห่งนี้แล้ว คงต้องบอกว่าไม่ธรรมดาไล่เลียงมาตั้งแต่โครงการซี 3 ไอ และโพลิส สองโครงการอันโด่งดังของกรมตำรวจ ซึ่งบริษัทฟอร์ยูอินโฟร์ซิสได้รับเลือกให้เป็นที่ปรึกษาในการกำกับดูแล และตรวจรับระบบงานทั้งสองให้กับกรมตำรวจ นอกจากงานในการเป็นที่ปรึกษาแล้ว บริษัทฟอร์ยูซิสเท็กซ์ ซึ่งทำธุรกิจให้บริการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ ยังได้รับเลือกให้เป็นผู้ติดตั้งระบบไอทีที่ใช้ในศูนย์บัญชาการของกรุงเทพมหานคร (กทม.) และงานติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ให้กับโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน

ล่าสุด บริษัทฟอร์ยูอินโฟร์ซิสยังได้รับเลือกให้เป็นที่ปรึกษา ในการจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับกระทรวงยุติธรรมและศาล

แผนแม่บทไอทีของกระทรวงยุติธรรมเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดของรัฐบาล ที่ต้องการให้ส่วนงานราชการระดับกระทรวงมีแผนแม่บทไอที เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับหน่วยงานในสังกัด ซึ่งกระทรวงยุติธรรมนับว่าเป็นกระทรวงแรกๆ ที่มีแผนแม่บทไอทีใช้

สำหรับแผนแม่บทที่บริษัทฟอร์ยูอินโฟร์ซิสจัดทำขึ้นนี้ใช้เวลาทำ 8 เดือน ครอบคลุมงานทางด้านโครงสร้างและหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมและศาล การศึกษาโครงสร้างและหน้าที่ของขบวนการและวิธีการปฏิบัติของหน่วยงานต่างๆ การออกแบบและวางมาตรฐานของไอทีที่จะใช้ในกระทรวงยุติธรรมและศาล นอกจากนี้ยังต้องกำหนดรายละเอียดทางเทคนิคและระบบงานทางไอทีและเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และลำดับความสำคัญของระบบงาน ระยะเวลา และค่าใช้จ่าย และการใช้งบประมาณ ตามความเหมาะสมของงบประมาณที่จะได้รับ

เรียกได้ว่า หากแผนแม่บทชิ้นนี้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจรับของกระทรวงยุติธรรม จะกลายเป็นผลงานชิ้นโบแดงที่จะสามารถใช้การันตีงานอื่นๆ ที่จะมีขึ้นอีกในอนาคต

ไม่เพียงแต่กระทรวงยุติธรรม หรือ กระทรวงมหาดไทย ที่ได้ชื่อว่าเป็นกระทรวงยุคไฮเทคที่ให้ความสำคัญกับไอที ยังมีหน่วยงานราชการระดับกระทรวงอีกหลายแห่ง ที่อยู่ระหว่างเตรียมการที่จะนำไอทีไปใช้

ในยุคที่ไอทีเฟื่องฟูไม่ว่ารัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองใดก็ล้วนแต่ให้ความสำคัญกับไอทีกันทั้งสิ้น แม้จะถูกตัดงบประมาณไปเกือบหมด แต่ก็ยังพอมีงบประมาณหลงเหลืออยู่บ้างในบางหน่วยงาน ที่ยังได้รับความช่วยเหลือทางด้านเงินกู้จากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นงานทางด้านการศึกษาและบริการสังคม คือ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข และยังมีบางโครงการที่เป็นโครงการต่อเนื่อง

จะว่าไปแล้วบริษัทฟอร์ยูอินโฟร์ซิส และฟอร์ยูซิสเท็กซ์เดินมาถูกทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาของบริษัททั้งสองแห่งนี้ก็สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าไปได้ระดับหนึ่ง เพราะผู้ถือหุ้นของสองบริษัทนี้ล้วนแต่เป็นอาจารย์ที่มีดีกรีดอกเตอร์ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ หรือ เอแบค ลงขันทำธุรกิจเป็นที่ปรึกษาทางด้านไอที

"การเป็นอาจารย์ก็อาจมีส่วนอยู่บ้าง แต่อีกส่วนหนึ่งก็มาจากงานที่เรารับจะเป็นงานเฉพาะด้านที่ต้องอาศัยความรู้ และเราก็มีหลักที่ชัดเจน มีการวิเคราะห์และออกแบบที่ถูกต้อง เป็นส่วนที่ทำให้ผู้ว่าจ้างได้รับความเชื่อถือ" ดร.ประทิต สันติประภพ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเอแบค ซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งบริษัทกล่าว

เขาเชื่อว่า การเป็นนักวิชาการและนักธุรกิจสามารถไปด้วยกันได้ เพราะสามารถเอาประสบการณ์จริงไปใช้สอนลูกศิษย์ได้ แทนที่จะสอนแต่ภาคทฤษฎี ในทำนองเดียวกัน การวิเคราะห์อย่างเป็นระบบในแง่วิชาการก็เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจที่ทำอยู่เช่นกัน

ดร.ประทิตนั้นเป็นบุตรชายคนโตของพลเอกประทิน สันติประภพ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ด้วยความชอบวิชาคำนวณและวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็กๆ ทำให้ ดร.ประทิต เลือกที่จะเป็นวิศวกรและนักคอมพิวเตอร์มากกว่าจะเดินตามรอยผู้เป็นพ่อ เช่นเดียวกับน้องชายของเขาที่เลือกเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ของไอเอ็มเอฟ และปัจจุบันถูกยืมตัวมาประจำอยู่กระทรวงการคลัง ส่วนน้องสาวเป็นอาจารย์แพทย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล

"คุณพ่อไม่เคยบังคับเลย ให้เลือกเรียนเลือกอาชีพของตัวเองได้อย่างอิสระ พี่น้องและตัวผมเองก็ไม่มีใครมีอาชีพตำรวจเลย" ดร.ประทิตเล่า

หลังจากศึกษาในระดับปริญญาตรีคณะวิศวะเครื่องกลจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.ประทิตบินลัดฟ้าไปต่อปริญญาโทวิศวะฯ ทางด้านระบบงานผลิตที่มหาวิทยาลัยโตโยฮาชิที่ประเทศญี่ปุ่น และคว้าดีกรีดอกเตอร์ทางด้านคอมพิวเตอร์ไซน์จากฟลอริด้ายูนิเวอร์ซิตี้ สหรัฐอเมริกา ก่อนจะกลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรังสิตได้เพียง 6 เดือน และย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ หรือ เอแบค

"พอมาอยู่ได้เดือนเดียว คณบดีคนเก่าลาออกไป ผมก็เลยได้รับมอบหมายให้เป็นคณบดีแทน และก็เป็นมาจนถึงเวลานี้รวมเวลากว่า 5 ปี"

5 ปีเต็มที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขยายตัว จากที่มีเพียงภาควิชาเดียว จนเวลานี้มีทั้งหมด 5 ภาควิชา อาทิ คอมพิวเตอร์ไซน์, อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี เทเลคอม มิวนิเคชั่นไซน์ สถิติประยุกต์ และเคมีคัลเทคโนโลยี และเพิ่มขึ้นทั้งในระดับปริญญาโทและเอก ทางด้านสาขาวิชาการเหล่านี้ด้วย

จะว่าไปแล้ว มหาวิทยาลัยเอแบคในช่วงหลังๆ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของอินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยีไม่น้อย ไม่เพียงเฉพาะงานด้านวิชาการเท่านั้น แต่ยังเพิ่มบทบาทของการเป็นนักลงทุนในธุรกิจทางด้านไอที ที่เห็นได้ชัดคือ การเป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ภายใต้ชื่อเคเอสซี ที่อยู่ภายใต้การนำของ ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน และ ศ.ดร.กนกวรรณ ว่องวัฒนสิน สองอาจารย์จากเอแบค ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการสร้างเคเอสซี

ทางด้าน ดร.ประทิตเองก็ไม่น้อยหน้า นำมหาวิทยาลัยเอแบคไปร่วมทุนกับบริษัทโรโซเวีย ประเทศสวีเดน จัดตั้งเป็นศูนย์วิจัย "เซนต์มาร์ติน วีอาร์ เซ็นเตอร์" ทำเรื่องการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ใช้กับเทคโนโลยี ซีมูเลเตอร์ ในการจัดทำภาพจำลองที่สามารถแสดงภาพได้เสมือนจริง (VIRTUAL REALITY) มาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ

ศูนย์วิจัยเซ็นมาร์ติน วีอาร์ เซ็นเตอร์ ตั้งขึ้นด้วยเงินทุนจดทะเบียนขั้นต้น 2 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการลงทุนของบริษัทโรโซเวียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเอแบคนั้นจะสนับสนุนในด้านของสถานที่และบุคลากร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาเอแบคเกือบทั้งหมด

เป้าหมายของศูนย์นี้ ไม่เพียงแต่งานด้านการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเท่านั้น แต่ยังมีไว้เพื่อให้บริการในเชิงพาณิชย์ สำหรับลูกค้าในแวดวงอุตสาหกรรม เรียกว่า เป็นการใช้ประโยชน์ทั้งด้านวิชาการและทำธุรกิจไปในตัว

"ระบบนี้มีคนนำมาใช้แล้ว แต่ยังไม่มีใครนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีนี้ทำได้หลายอย่าง เช่น การฝึกอบรม ก็จะเป็นคอนเซ็ปต์คล้ายๆ กับศูนย์ซีมูเรเตอร์ของการบินไทย หรืองานด้านการแพทย์ ที่ใช้ไปช่วยในการผ่าตัดแบบไม่ต้องเปิดแผล หรือ การฝึกอบรมของตำรวจ ที่ใช้ฝึกในเรื่องของการยิงปืน ใช้ในการวางแผนโรงงานอุตสาหกรรม"

แอพพลิเคชั่นแรกที่พัฒนาออกมาประเดิมใช้ที่เอแบคเป็นแห่งแรก โดยใช้กับงานแสดงภาพจำลองแคมปัสใหม่ของเอแบคที่ถนนบางนาตราดที่จะเปิดใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้า

เมื่อไอทีเป็นของใหม่ และยุคเฟื่องของไอทียังไม่หมดลง โอกาสของผู้รู้ในเรื่องเหล่านี้จึงมีอยู่ตลอดเวลา แม้แต่นักวิชาการก็ต้องมาทำธุรกิจกันบ้าง

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us