ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ระดับบริหารของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
หรือ ไอเอฟซีที ต้องเผชิญกับความยากลำบากครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าบรรษัทฯ
จะผ่านหนาวร้อนมาหลายครั้งหลายหนก็ตาม แต่เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้เป็นครั้งที่รุนแรงมากในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบรรษัทฯ ในช่วงต้นปีจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง
เหตุการณ์ที่ว่าคือการถูกเรียกคืนเงินกู้ หลังจากที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
Moody's Investors Service ลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยลงนั้น บรรดาเงินกู้ระยะสั้นในไทยถูกเจ้าหนี้เรียกคืนกลับหมด
ซึ่งรวมทั้งของบรรษัทฯ ที่ไปออกแยงกี้บอนด์จำนวน 500 ล้านเหรียญเมื่อเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม
ปี 2540 ซึ่งมีเงื่อนไขว่าหากความน่าเชื่อถือของบรรษัทฯ อยู่ต่ำกว่าระดับลงทุนได้
ผู้ลงทุนมีสิทธิ์ที่จะไถ่ถอนได้ก่อนกำหนด และบอนด์จำนวนนี้ก็ถูกไถ่ถอนไปเมื่อเดือนมกราคม
2541 ซึ่งบรรษัทฯ ก็ได้รับความช่วยเหลืออย่างดีจากผู้ถือหุ้นคือกระทรวงการคลังและธนาคารออมสิน
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในเวลานี้เริ่มคลี่คลายลงบ้างแล้ว เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินนโยบายที่ถูกต้องในเรื่องของตลาดซื้อคืนฯ
(Repo market) รวมทั้งการที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง
การบริหารเงินทุนในยามนี้เริ่มเป็นปัญหาของสถาบันการเงินแล้ว เพราะตลาด
Repo ที่เคยเป็นแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงและไม่มีความเสี่ยงนั้น ตอนนี้ก็เริ่มเหือดหาย
เพราะแบงก์ชาติลดปริมาณการดูดเงินและลดดอกเบี้ยในตลาดนี้ลงมาก
แต่สำหรับบรรษัทฯ ศิริชัย สาครรัตนกุล รองผู้จัดการทั่วไป บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวกับ
"ผู้จัดการรายเดือน" ว่า "กรณีบรรษัทฯ ไม่เดือดร้อนอะไร เนื่องจากเรามีแหล่งเงิน
เราก็พยายามเจรจากับพวกเขาว่าที่เราเคยยืมมา เพราะมีปัญหาสภาพคล่องนั้น ตอนนี้ไม่จำเป็นแล้ว
เราขอคืน ตอนนี้สภาพคล่องเราเหลือ หรือไม่เช่นนั้นก็ขอเปลี่ยนการกู้ไปปล่อยระยะยาวให้อุตสาหกรรมขนาดกลาง
ขนาดย่อม ซึ่งการกู้สั้นจะไปปล่อยไม่ได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราต้องปรับตัว"
นอกจากนี้ ทางฝ่ายระดมทุนของบรรษัทฯ ก็ได้รับนโยบายใหม่ว่าให้ดึงเงินกู้ให้ยาวขึ้น
"ผมลดดอกเบี้ยสั้นไปดึงดอกเบี้ยยาวและพยายามที่จะดึงเงินที่เราระดมให้ไปยาวขึ้น
ซึ่งก็ทำให้เราสามารถเอางินนี้ไปปล่อยได้บ้าง ซึ่งจริงๆ แล้ว แบงก์ชาติก็น่าจะทำอย่างนี้ตั้งแต่ต้น
ทุกคนก็จะได้อย่างนี้ตั้งแต่ต้น ทุกคนก็จะได้ทำอย่างนี้ตั้งแต่ต้นเหมือนกัน
เพราะไม่อย่างนั้นก็ไม่มีใครกล้าปล่อย เนื่องจากมีแต่เงินกู้ระยะสั้น ซึ่งก็ต้องไปปล่อยระยะสั้นเช่นกัน"
อดีตเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกลางให้ความเห็น
นโยบายการบริหารเงินของบรรษัทฯ นั้นมีการเตรียมการไว้เป็นอย่างดี ศิริชัยเล่าว่า
"บรรษัทฯใช้นโยบายว่าไม่รับความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ผมเตรียมไว้ตั้งแต่ผมเข้ามาบรรษัทฯ
เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผมพยายามเตือนว่า แม้ตัวเราไม่รับความเสี่ยง มันก็จะมีความเสี่ยงทางอ้อมอยู่"
ทั้งนี้นโยบายไม่รับความเสี่ยงของบรรษัทฯ ก็คือ กู้สกุลใด ก็ปล่อยออกไปในสกุลนั้น
เช่น กู้บาทปล่อยบาท กู้ยูเอสดอลลาร์ปล่อยยูเอสดอลลาร์ กู้เป็นดอยซ์มาร์ก
หรือสวิสฟรังก์ หรือสกุลแปลกๆ นั้น บรรษัทฯ ก็จะสวอปเป็นยูเอสดอลลาร์แล้วปล่อยเป็นยูเอสดอลลาร์
นโยบายนี้คือทำ perfectly match ใน term of currency management "เราจะบริหารอย่าง
match 100% ไม่มีความเสี่ยง ไม่มีการ open exposure เลย"
เมื่อมีความระมัดระวังในเรื่องการปล่อยกู้ในสกุลต่างประเทศ ลูกค้าที่มาขอกู้ก็ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด
เช่น ลูกค้าที่กู้เป็นยูเอสดอลลาร์นั้นต้องมีขีดความสามารถในการบริหารความเสี่ยง
เช่น เป็นสำนักงานใหญ่ เพราะจะมีรายได้เป็นยูเอสดอลลาร์ และจะมี natural
hedge ในตัวเอง เพราะลูกค้ามีรายได้เป็นยูเอสดอลลาร์ ก็มีขีดความสามารถที่จะ
service debt เป็นยูเอสดอลลาร์ได้ หรืออาจจะเป็นคนที่สามารถปรับราคาขายได้ตามค่าของเงิน
เพราะผลิตสินค้าแข่งกับสินค้านำเข้า คือราคาสินค้าของเขานั้นปรับตัวโดยอัตโนมัติตามค่าเงิน
ตัวอย่างเช่น ลูกค้าประเภทที่ทำโรงไฟฟ้า IPP หรือ SPP เป็นต้น
ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีนี้ บรรษัทฯ มีสัดส่วนเงินกู้ต่างประเทศลดลงมาเหลือเพียง
38.29% ที่เหลือเป็นเงินบาทคือ 67.71% เทียบกับเมื่อสิ้นปีที่แล้ว (ที่ลดค่าเงินลงมาแล้ว)
มีเงินกู้ต่างประเทศ คือ 56.13% ส่วนสกุลบาทอยู่ในระดับ 43.87%
ยอดเงินกู้ยืมทั้งหมดในสิ้นปี 2540 มีจำนวน 46,931 ล้านบาท โดยมีส่วนซึ่งเป็นเงินกู้ยืมในประเทศ
3,614 ล้านบาท และเป็นเงินกู้ยืมต่างประเทศ ทั้งระยะสั้นและระยะยาวรวม 43,317
ล้านบาท (ดูตารางเงินกู้ยืม) ซึ่งศิริชัยยอมรับว่า "การกู้เงินต่างประเทศในยามนี้เป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก
เป็นเรื่องที่กระเสือกกระสนมาตลอด และหาได้ยากเย็นแสนเข็ญ"
นอกจากนี้ต้นทุนการกู้เงินต่างประเทศก็พุ่งสูงขึ้นมาก "ก็เป็นที่เข้าใจว่าหลังจากเรตติ้งเรากลายมาเป็น
junk แล้วนอกจากหายาก ต้นทุนยังสูงขึ้น ไอ้ที่จะกู้ถูกๆ libor บวกต่ำๆ หรือลบ
นั้นก็ผ่านไปแล้ว ตอนนี้ก็ต้องบวกเยอะหน่อยจะ 2 หรือ 3 ก็แล้วแต่แหล่งเงิน
ต้องยอมรับว่าเหนื่อยมากขึ้นสมัยก่อนนั้นเราเนื้อหอมมาก คนมารุมจีบให้กู้กันจ้าละหวั่น
เราก็เลือกต่อรองกันสนุกสนาน ตอนนี้ก็มีมาเหมือนกันแต่ไม่ค่อยมีผลสำเร็จเท่าไหร่"
ในปี 2540 บรรษัทฯ ได้ระดมเงินทุนจากตลาดทุนต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นการออกจำหน่ายตราสารทางการเงินสกุลต่างประเทศระยะปานกลางและระยะยาว
ภายใต้โปรแกรม Global Medium Term Program (GMTN) ซึ่งโปรแกรมนี้เดิมมีวงเงิน
1,000 ล้านเหรียญ และขยายเพิ่มเป็น 3,000 ล้านเหรียญ และได้ใช้จนหมดแล้ว
ตอนนี้บรรษัทฯ อยู่ระหว่างการทบทวนเพิ่มเติมข้อมูลเพื่อเปิดโปรแกรมนี้ใหม่
และคาดว่าจะมีการเพิ่มวงเงินเข้าไปด้วย
ในการเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนา ซึ่งการระดมทุนเป็นกิจกรรมที่สำคัญพอๆ
กับการปล่อยสินเชื่อนั้นความน่าเชื่อถือหรือ credit rating ถือเป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งที่ใช้ในเรื่องการระดมทุน
หลังจากที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศและความน่าเชื่อถือของประเทศถูกสถาบันจัดอันดับฯ
หลายแห่งลดอันดับความน่าเชื่อถือลงนั้นบรรษัทฯ ก็ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงเช่นกัน
ศิริชัยกล่าวว่า "บรรษัทฯ ถูกลดเครดิตตามเครดิตของประเทศ ก็คือเราด้อยไปพร้อมประเทศ
เราเป็น junk พร้อมประเทศ แต่เขาก็ยังดูเราว่าดีที่สุดในประเทศนี้อยู่ดังนั้นไม่ว่าจะดูเรตติ้งขององค์กรไหน
เขาก็จะให้เราเท่ากับประเทศ ในขณะที่องค์กรอื่นในภาคเอกชนนั้นจะด้อยกว่าเรา"
Standard&Poor's Rating Group ปรับลดเครดิตตามเครดิตของประเทศในด้านสกุลเงินตราต่างประเทศหรือ
foreign currency rating เป็น BBB- ซึ่งบรรษัทฯ ได้อันดับเท่ากับประเทศ และยังถือเป็น
investment grade หรืออันดับลงทุนระดับต่ำสุด (ถ้าหลุดอันนี้ก็เป็น speculative
grade หรือภาษาชาวบ้านเรียก junk status)
ส่วน moody's investors Service จัดอันดับฯ ประเทศเท่ากับ Ba1 คืออันดับแรกของ
junk status ซึ่งบรรษัทฯ ก็ได้อันดับนี้เช่นกัน รวมไปถึงเครดิตของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในประเทศที่ได้อันดับเดียวกันกับบรรษัทฯ
อย่างไรก็ดี S&P จะให้เครดิตบรรษัทฯ หน่อยหนึ่ง "ในขณะที่บรรษัทฯ
ติดเท่าประเทศ พวกแบงก์หลุดหล่นไปหมด เป็น junk ต้นๆ กรณีแบงก์กรุงเทพ ก็ยังเป็น
BB+ ดังนั้นบรรษัทฯ เท่าประเทศ แบงก์กรุงเทพต่ำกว่าประเทศ 1 notch"
ด้านแนวโน้มการหางเงินกู้เพิ่มอีกในปีนี้นั้น ศิริชัย รอดูว่ารัฐบาลจะออก
Global bond เมื่อไหร่ ทั้งนี้บรรษัทฯ หวังว่าจะได้เงินส่วนหนึ่งจากการระดมทุนของรัฐบาลมาใช้ในการปล่อยกู้
แต่หากมีหน่วยงานที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินนั้นก่อน บรรษัทฯ ก็จะแสวงหาทางอื่นๆ
"เราเสนอตัวเข้าไปร่วมในโครงการนี้ ซึ่งรัฐบาลก็ให้ความหวังมาบ้างนิดๆ
หน่อย แต่ไม่ได้เป็นการ commit เพราะอาจจะมีคิวที่จำเป็นกว่า รัฐบาลก็ต้องให้ไปก่อน"
สิ่งที่บริษัทฯ ต้องการคือขอให้รัฐบาลช่วยค้ำประกันเงินกู้ที่บรรษัทฯ จะทำ
ซึ่งรัฐบาลก็เคยค้ำประกันให้แล้วเมื่อตอนต้นปี มูลค่า 300 ล้านเหรียญอายุ
1 ปี แต่บรรษัทฯ ยังไม่ได้ใช้ ก็อาจจะขอยืดอายุ 1 ปี ให้ยาวขึ้นโดยอาจคงวงเงินไว้เท่าเดิม