แนวทางของแผนฟื้นฟูระบบสาบันการเงินของรัฐบาลที่ประกาศออกมาเมื่อ 14 ส.ค. 2541
ซึ่งธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รมว.คลังย้ำแล้วย้ำเล่าว่าไม่ใช่ "มาตรการเบ็ดเสร็จ"
และชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีก็ขอให้สื่อมวลชนอย่าใช้คำนี้ แม้ว่าสื่อสิ่งพิมพ์
โทรทัศน์ และคอลัมน์นิสต์หลายคนจะยังคงใช้คำนี้ก็ตามนั้น ถือเป็นมาตรการที่ได้รับคำชื่นชมจากหลายๆ
วงการ แม้กระทั่งผู้นำฝ่ายค้านอย่าง พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ห้วหน้าพรรคความหวังใหม่ก็ยังประกาศเห็นด้วย!
(แต่ไม่ทราบว่ายกมือให้ผ่านสภาฯ หรือไม่)
แผนฟื้นฟูฯ ฉบับนี้ถือเป็นมาตรการ "ที่มีความสำคัญมาก" ตามที่รมว.พูดกับผู้สื่อข่าว
เพราะแผนดังกล่าวได้ปรับเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ไทยในอนาคต
ผู้ที่เคยใหญ่ในอดีต กลับมีทุนที่ลดน้อยถอยลงในพริบตา ขณะที่ผู้ที่จะใหญ่ต่อไปในอนาคตนั้น
ยังไม่แน่ว่าเป็นลักษณะ "ข้างนอกสุกใส ข้างในต๊ะติ๊งโหน่ง" หรือไม่
ผู้เขียนมีข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ ต่อมาตรการดังนี้
- ไม่มีการอัดฉีดเงินสดสู่ระบบสถาบันการเงินจากแผนฉบับนี้ แต่ใช้พันธบัตร
300,000 ล้านบาท ที่จะให้สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือด้านเงินกองทุน
(tier I ประมาณ 200,000 ล้านบาทและ tier II ประมาณ 100,000 ล้านบาท) ขณะที่กองทุนฟื้นฟูฯ
ได้ปล่อยสินเชื่อแก่สถาบันการเงิน 7 แห่งที่ถูกรัฐบาลประกาศแทรกแซงในครั้งนี้จำนวน
44,000 ล้านบาท
พันธบัตรจำนวนนี้เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าที่มีการคาดหมายกันไว้มาก คือสื่อบางฉบับคาดหมายตัวเลขในระดับ
800,000 ล้านบาท (ซึ่งคิดเป็น 19,500 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่าเงินกู้ไอเอ็มเอฟ)
แต่ รมว.ธารินทร์กล่าวว่า "มีสถาบันการจัดอันดับแห่งหนึ่ง วิเคราะห์ง่ายๆว่าประเทศไทยต้องการเงินทุนประมาณ
7-8 แสนล้านบาท ซึ่งสำรองหนี้สูญที่เรามีอยู่ขณะนี้ประมาณ 389,700 ล้านบาทเมื่อสิ้น
มิ.ย. 2541 เฉพาะธนาคารพาณิชย์ไทย ไม่รวมธนาคารต่างประเทศ เมื่อลบตัวนี้ออกไปก็เหลือประมาณ
400,000 ล้านบาท ตัวเลขที่เราวางไว้ก็คือ 300,000 ล้านบาท เราก็เชื่อว่าจะพอ
แต่ต้องคำนวณกลับว่าถ้าต้องการให้แบงก์โตกว่านี้ คือปัจจุบันก็สามารถให้สินเชื่อได้แล้ว
แต่ถ้าต้องการให้แบงก์โตและหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยได้ยาวไปถึงปี ค.ศ. 2000
เราก็คำนวณว่า 300,000 ล้านบาทบวกเงินเอกชนน่าจะพอ"
ซึ่งเท่ากับว่ารัฐบาลคาดหมายว่าจะต้องมีเงินต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
โดยเฉพาะในกลุ่มสถาบันการเงิน เพื่อที่จะให้สถาบันเหล่านี้อยู่รอดและเติบโตได้
นอกจากนี้การใช้พันธบัตรดังกล่าวก็กำหนดไว้สำหรับโครงการช่วยเหลือเรื่องเงินกองทุน
ซึ่งเป็นโครงการตามความสมัครใจ และเปิดไว้ถึงปี พ.ศ. 2543
- โครงการช่วยเหลือเรื่องเงินกองทุน ไม่ได้เป็นการบีบบังคับให้สถาบันการเงินที่รัฐไม่ได้ประกาศแทรกแซง
ต้องเข้าโครงการทุกรายแม้ว่า รมว.ธารินทร์เห็นว่าหากมองระยะยาวในเรื่องการเติบโตและการแข่งขันของธนาคารในอนาคตนั้น
ทุกรายควรเข้าโครงการนี้ขณะที่ผู้ว่า ธปท. ม.ร.ว.จัตุมงคล เห็นว่ายังไม่จำเป็น
เพราะธนาคารที่รัฐไม่ได้แทรกแซงนั้น ไม่มีปัญหาหนัก และยังสามารถอยู่รอดได้จนถึงสิ้น
มิ.ย. 2542 โดยไม่ต้องทำการเพิ่มทุนก็ตาม โครงการนี้เป็นเรื่องของการสมัครใจ
ซึ่งก็สะท้อนแนวคิด 2 ด้านคือ
หากสถาบันการเงินใดมั่นใจว่ามีเงินทุนและมีการกันสำรองเพียงพอ และมองเศรษฐกิจในแง่ดี
ตัวเลข NPL จะไม่ทรุดหนักไปกว่านี้ ก็อาจจะไม่ต้องเข้าโครงการก็เป็นได้ เพราะหากมาตรการต่างๆ
ที่รัฐบาลนำออกมาใชได้ผลตามที่ต้องการ เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น NPL หยุดโต
ธนาคารก็อยู่รอดได้
แต่สถาบันใดที่ไม่มีความมั่นใจในเรื่องนี้ ก็ควรจะเข้ารับโครงการเสียแต่ต้น
ผลสรุปที่ออกมาเป็นโครงการนี้ได้ เข้าใจว่าอยู่ที่ผลการตรวจสอบของฝ่ายตรวจสอบของแบงก์ชาติ
ซึ่งได้เข้าไปตรวจสอบตัวเลขต่างๆ ของสถาบันการเงินทุกแห่งอย่างละเอียดเป็นตัวเลขล่าสุดคือของงวดครึ่งปีแรก
2541 และผลการตรวจสอบนั้น ผู้ว่าแบงก์ชาติกล่าวว่า "ที่ผ่านมา มีความแตกต่างระหว่างธนาคารอยู่สูงมาก
ระหว่างธนาคารที่มีหนี้เสียสูงกับธนาคารที่มีหนี้เสียต่ำและมีความแข็งแกร่งมาแต่เดิม
ก็ได้สำรองมาแต่เดิมเป็นจำนวนมาก ฉะนั้นระบบสถาบันการเงินไม่ได้หนักเหมือนกับเวลาดูตัวเลขยอดรวม
เพราะมีสถาบันหลายแห่งที่ไม่มีปัญหาเลย"
แนวทางประนีประนอมที่ออกมาระหว่าง 2 สถาบันคือคลังและแบงก์ชาติ จึงไม่ได้มีการบีบบังคับให้ทุกแบงก์ต้องเข้าโครงการฯ
ซึ่งก็ต้องรอดูผลต่อไปว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ประเมินสถานการณ์ชัดเจนกว่ากัน
- มีผู้วิจารณ์กันมากว่ามีความเหลื่อมล้ำหรือเลือกปฏิบัติของรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือแก่
ธ.ศรีนคร และ ธ.นครหลวงไทย ในการเพิ่มทุนของสองแบงก์นี้ ขณะที่ยุบ ธ.มหานคร
และ ธ.กรุงเทพฯ พาณิชย์การ (บีบีซี) ให้ไปรวมกับ ธ.กรุงไทย โดยบีบีซีนั้นให้คงหนี้เสียไว้ให้ผู้บริหารปัจจุบันดำเนินการแก้ไข
และพนักงานของธนาคารนี้ก็ไม่พอใจมาตรการของรัฐที่แก้ปัญหาเช่นนี้ และรู้สึกว่ามีความเหลื่อมล้ำในมาตรการ
รมว.ธารินทร์ให้เหตุผลในเรื่องนี้ว่า "หลักเกณฑ์ในการเข้าไปดำเนินการแต่ละแบงก์ก็คือสถานะทางการเงินของแบงก์ทั้งหมด
ความจริงบีบีซีก็เป็นแบงก์ที่น่าเห็นใจ มีภาระหนี้สินเยอะ มีเงินฝาก 100,000
ล้านบาท มีหนี้ประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท ด้านสินเชื่อมีลูกค้าที่ดีประมาณหมื่นกว่าล้านบาทเท่านั้นเอง
ที่เหลือก็เป็นเรื่องที่กองทุนฟื้นฟูฯช่วยซื้อออกมาฉะนั้น จริงๆ แล้วบีบีซีฟื้นยากที่สุด
เมื่อฟื้นยาก โอกาสในการปรับปรุงทางการเงินคงมีจำกัด เราก็พยายามหาทางที่ดีที่สุดที่จะสร้างบีบีซีให้เป็นประโยชน์
ก็คือเปลี่ยนให้เป็น AMC ก็เท่านั้นเองไม่มีเหตุผลอื่น"
นี่เป็นถ้อยแถลงของรมว.ธารินทร์ที่คนบีบีซียากจะเข้าใจ แม้จะเป็นความจริงก็ตาม!!
- อย่างไรก็ดี น่าสังเกตว่า ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดอีกรายหนึ่งจากการแทรกแซงสถาบันการเงิน
7 แห่งโดยรัฐบาลในวันศุกร์ที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมาคือ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือ
ไอเอฟซีที เพราะมีไฟแนนซ์ในเครือถูกปิด 2 รายโดยให้โอนเข้าไปอยู่กับ บงล.กรุงไทยธนกิจ
คือ บงล.ไอเอฟซีทีไฟแนนซ์ และ บง.เอฟซีไอ หรือ "อดีตฟ้าใส" ที่โด่งดังของชาวหุ้นเมื่อหลายปีก่อน
นอกจากนี้ก็คือ แบงก์บีบีซีเองซึ่งผู้บริหารไอเอฟซีทีเข้าไปช่วยดูแลบริหารงานอยู่ในตอนนี้
นำโดย อัศวิน คงศิริ, ศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์ และอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ พร้อมกับลูกทีมอีกจำนวนหนึ่งที่เข้าไปตามหนี้เสีย
ตามเงื่อนไขสัญญาความร่วมมือในการเข้าบริหารและฟื้นฟูกิจการ ที่ไอเอฟซีทีทำไว้กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินและบีบีซีเมื่อ
7 พ.ค. 2541
ซึ่งเมื่อ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา ทีมผู้บริหารปัจจุบันนำโดยอัศวินก็เปิดแถลงข่าวด่วนด้วยความมั่นใจ
(เล็กน้อย) ว่าแบงก์ชาติจะปล่อยให้ธนาคารดำเนินงานไปตามแผนที่ทำไว้กับไอเอฟซีที
แต่มาบัดนี้หากจะทำหน้าที่ต่อไป อัศวินก็คงทำแค่เรื่องบริหารหนี้ตามกรอบที่
รมว.คลังกำหนดขณะที่ความเสียหายจำนวนมากจะตกอยู่กับไอเอฟซีที เพราะสูญทั้งเงินลงทุน
ความอุตสาหะของบุคลากร และที่สำคัญน่าจะเป็นการสูญเสียความมั่นใจกับหน่วยงานรัฐด้วย
กระนั้นก็ดี เราจะมองแนวทางการจัดการกับ 4 แบงก์รัฐ (มหานคร, บีบีซี, ศรีนครและนครหลวงไทย)
ว่าเป็นเรื่องการเลือกปฏิบัติก็ดูเป็นสิ่งกระไรอยู่ เพราะทั้งหมดก็ตกเป็นธนาคารของรัฐไปแล้ว
และรัฐบาลในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ก็สามารถจัดการตามที่เห็นสมควรกับสินทรัพย์เหล่านี้
ยังมีความจริงที่ต้องทราบและมีผู้ต้องเจ็บปวดอีกมากกับความจริงเหล่านั้น
มาตรการ "เบ็ดไม่เสร็จ" นี้เป็นส่วนเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น!!