Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2541
ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล กระตุ้นรัฐ ชายตามองส่งออก             
 


   
search resources

EXIM BANK
ปรีดิยาธร เทวกุล, ม.ร.ว.




ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กรรมการผู้จัดการ เอ็กซิมแบงก์ : "ปัจจุบันค่าเงินบาทแข็งดี แต่เป็นปัจจัยที่ไม่ได้ช่วยในเรื่องการส่งออก สถานการณ์ส่งออกของไทยยังเหมือน เดิมก่อนลดค่าเงินบาท"

ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพดี แต่ไม่ช่วยการส่งออก เม็ดเงินมีแล้ว แต่ปล่อยกู้ไม่ได้ มีสินค้า แต่ไม่มีผู้ซื้อ เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่อุตสาหกรรมการส่งออกของไทยประสบอยู่ในปัจจุบัน ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเตือนทุกฝ่ายเร่งจัดการก่อนสายเกินแก้

สถานการณ์ส่งออกไทยในปัจจุบันเหมือนกับมิ.ย.ปีที่แล้วก่อนที่จะมีการลดค่าเงินบาท ในแง่ของความสามารถในการแข่งขันด้านค่าเงินที่มีอิทธิพลต่อราคาสินค้า นี่คือภาพที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทช่วง 1 ปีที่ผ่านมา" เป็นความเห็นของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กรรมการ ผู้จัดการ เอ็กซิมแบงก์ ที่แสดงให้เห็น ว่า การเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนของไทยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อภาคส่งออกของไทยอย่างแท้จริง แม้ว่าค่าเงินบาทจะลดลงกว่า 50% ในช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลง และในปัจจุบันอยู่ในอัตราประมาณ 41-42 บาทต่อดอลลาร์ ต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายเดือน

สาเหตุเนื่องจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจและค่าเงิน มิได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น หากส่งผลกระทบต่อประเทศในภูมิภาคเอเชียอีกหลายประเทศ ที่เป็นทั้งลูกค้าและคู่แข่งในการส่งออกของไทยให้มีค่าเงินที่ตกต่ำไปด้วย ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิป ปินส์ และล่าสุดคือ รัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่คาบเกี่ยวระหว่างทวีปยุโรป กับ ทวีปเอเชีย ได้ประกาศลดค่าเงินรูเบิลไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนอีก 3 ประเทศ ได้แก่ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ยังอยู่ในฐานะที่คาบลูกคาบดอกอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ คู่แข่งในด้านของราคาสินค้าส่งออกในภูมิภาคนี้จึงมีมากขึ้น

"เรื่องของราคาหรืออัตราแลกเปลี่ยนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการส่งออก แต่ถ้าเราเผลอปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนเราแข็งไป การส่งออกเราก็เหนื่อย ขณะเดียวกันถ้าอัตราแลกเปลี่ยนเราอ่อนไปก็จะมีปัญหาเรื่องความเชื่อมั่น เรื่องเสถียรภาพของเศรษฐกิจตามมา ความยากอยู่ตรงนี้เองว่า ทำอย่างไรถึงจะวางระดับของอัตราแลกเปลี่ยนให้ได้ประโยชน์ และไม่เสียประโยชน์มากเกินไปทั้ง 2 ด้าน ผมคิดว่าผู้บริหารประเทศ บริหารด้วยความยาก เท่าที่ผ่านมาก็มุ่งเน้นด้านเสถียรภาพเต็มที่ก่อน แต่ด้านเรียลเซ็กเตอร์มีปัญหา ดังนั้นเขาควรจะชายตามาดูด้านส่งออกด้วย" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทย ส่วนปัจจัยอื่นที่เขามีความเห็นว่า รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องกับการส่งออกทุกฝ่าย ควรจะให้ความสำคัญกับปัญหาต่อไปนี้ควบคู่ไปด้วย ได้แก่ ปัญหาเรื่องตลาด ซึ่งมีกำลังซื้อลดลง ปัญหาเรื่องสภาพคล่องสำหรับผู้ส่งออกบางรายที่ยังไม่ได้รับอนุมัติวงเงิน รวมทั้งปัญหาการแก้ไขอุปสรรคและมาตรการส่งเสริม เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

การที่พิษเศรษฐกิจได้ลุกลามไปถึงประเทศผู้ซื้อในภูมิภาคเอเชีย ทำให้กำลังซื้อในภูมิภาคนี้ลดลงทั้งหมด โดยเฉพาะผู้ซื้อรายใหญ่ของไทยอย่างประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ นอกจากนั้นตลาดในตะวันออกกลางและยุโรปตะวันออกก็ลดลงด้วย เนื่องจากมีผู้แข่งขันรายใหม่เกิดขึ้น ซึ่งมีความได้เปรียบทางด้านต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าที่ถูกกว่า เหลือเพียงตลาดในอเมริกาและยุโรปตะวันตกเท่านั้นที่ยังพอประคับประคองไปได้ อย่างไรก็ดี ผู้ส่งออกไทยจะนิ่งนอนใจไม่ได้ เนื่องจากอเมริกามีตัวเลขขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มมากขึ้นจนน่าเป็นห่วง

"เราต้องยอมรับความจริงก่อนว่า เรากำลังอยู่ในสภาวะที่กำลังซื้อลดลง ทางเลือกทางเดียวที่มีคือ ลดอุปสรรค ที่เป็นโซ่ตรวนผูกขาผู้ส่งออกให้ได้มากที่สุด โดยหามาตรการส่งเสริมชนิดแหวกแนว ล้ำหน้า และล้ำยุคทุกรูปแบบ สำหรับใช้ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ อาทิ มาตรการคืน VAT ต้องรวดเร็วกว่านี้ และทั่วถึงกันหมด กรุงเทพมหานครอาจจะต้องทำแกรนด์เซลครั้งยิ่งใหญ่กว่าที่เคยพยายามทำกันก่อนหน้านี้ โดยต้องช่วยกันทั้งภาครัฐและเอกชน" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว พร้อมทั้งชี้แจงถึงปัญหาเรื่องสภาพคล่องของผู้ส่งออกที่แยกเป็น 2 ประเด็นคือ ประเด็นเม็ดเงินสำหรับการปล่อยกู้ และประเด็นวงเงินสำหรับผู้ส่งออก

ซึ่งเมื่อย้อนกลับไป 6 เดือนหลังจากการลดค่าเงินบาทเมื่อปีที่แล้ว ภาคส่งออกของไทยประสบกับปัญหาสภาพคล่องทั้งสองคือ มีเม็ดเงินให้กู้น้อยมาก ทำให้ผู้ส่งออกไม่ได้วงเงิน ซึ่งสภาพเงินตึงนี้ได้ส่งผลมาถึงในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ด้วย แต่ ณ 30 มิ.ย.41 มีเม็ดเงินกว่าแสนล้านบาท สำหรับปล่อยกู้ให้แก่ผู้ส่งออก (ดูตาราง 1 ประกอบ) โดยแบ่งเป็นวงเงินที่เอ็กซิมแบงก์จัดสรรเรียบร้อยแล้วให้แก่ธนาคารพาณิชย์ สำหรับปล่อยต่อจำนวน 93,300 ล้านบาท และวงเงินที่ทางเอ็กซิมแบงก์ ปล่อยตรงให้ผู้ส่งออกจำนวน 58,333 ล้านบาท โดยอนุมัติไปแล้ว 31,610 ล้านบาท คงเหลือ 26,723 ล้านบาท รวมทั้งวงเงินสินเชื่อพาณิชย์นาวี (สำหรับธุรกิจพาณิชย์นาวีและอู่ต่อเรือโดยเฉพาะ) อีก 4,000 ล้านบาท อนุมัติไปแล้ว 2,419 ล้านบาท คงเหลือ 1,581 ล้านบาท

โดยจำนวนวงเงินดังกล่าว ยังไม่รวมถึงเม็ดเงินที่เอ็กซิมแบงก์จะได้จาก ADB อีก 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และวงเงินจาก US EXIM ที่ช่วยประกัน LC ของผู้นำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาอีก 1,000 ล้านเหรียญฯ ในกรณีที่ LC ที่ออกจากธนาคารพาณิชย์ไทยไม่เป็นที่ยอมรับของสหรัฐอเมริกา

ซึ่งในส่วนของเม็ดเงินที่ได้จาก ADB ยังอยู่ระหว่างการจัดเตรียมการเซ็นสัญญากู้เงินอยู่ สาเหตุที่ล่าช้าเนื่องจากทาง ADB ต้องการให้เอ็กซิมแบงก์ตั้ง RECEIVABLE TRUST ด้วยการเอาตั๋วเงินของธนาคารพาณิชย์ที่มากู้เงินจากเอ็กซิมแบงก์ไปใส่ในบัญชีนี้ไว้ เพื่อความมั่นใจว่าจะได้รับการชำระคืนหนี้ ทางเอ็กซิมแบงก์จึงต้องไปขอความยินยอมจากเจ้าหนี้เดิม ซึ่งเจ้าหนี้เดิมก็ยินยอม แต่ขอมีส่วนร่วมในเงื่อนไขดังกล่าวด้วย หากเกิดเหตุการณ์ นี้ขึ้นจริงในอนาคต ปรากฏว่าทาง ADB กลับไม่ยินยอม ขอให้ยกเลิกเงื่อนไขดังกล่าว และเลื่อนระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้จาก 5 ปีมาเป็น 4 ปีครึ่ง และ หลังจากที่เซ็นสัญญายกเลิกการตั้ง RECEIVABLE TRUST เรียบร้อยแล้ว ทางเอ็กซิมแบงก์ก็สามารถทยอยเบิกเงินมาทีละก้อน เพื่อปล่อยกู้ผ่านธนาคารพาณิชย์ต่อไปได้ โดยในเบื้องต้นทาง ADB ได้อนุมติให้เบิกเงินจำนวน 25 ล้านเหรียญฯ เข้ามาก่อนแล้ว เพื่อเป็นการประกันว่าดีลนี้จะไม่ล้ม ส่วนวงเงินในการเบิกงวดต่อไป ขึ้นอยู่กับความสามารถในการที่ธนาคารพาณิชย์จะสามารถปล่อยกู้ต่อไปได้ ทางเอ็กซิมแบงก์จะไม่เบิกมาจำนวนมากๆ เพื่อเป็นการลดภาระเรื่องดอกเบี้ย

ส่วนวงเงินจาก US EXIM มูลค่า 1,000 ล้านเหรียญฯ เป็นวงเงินสำหรับธนาคารพาณิชย์ไทยที่เปิด LC ในการซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ โดยผู้นำเข้าสามารถเปิด LC ผ่านโครงการนี้ได้ โดยทาง US EXIM จะเป็นผู้ประกัน LC นั้นให้ ซึ่งหากธนาคารไทยไม่สามารถชำระเงินนั้นได้ เจ้าหนี้ก็สามารถไปเรียก คืนจาก US EXIM ได้ และทาง US EXIM ก็จะมาเรียกเก็บจากเอ็กซิมแบงก์ประเทศไทยอีกที และทางเอ็กซิมแบงก์ก็จะไปเรียกเก็บจากกระทรวงการคลัง ในฐานะที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเอ็กซิมฯ อีกต่อหนึ่ง

"การที่ US EXIM ยอมมาเซ็นสัญญากับเราเพราะว่า กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเรา ซึ่งกระทรวงการคลังไม่สามารถค้ำประกันเอกชนได้ จึงผ่านมาที่เรา เอ็กซิมแบงก์ก็เท่ากับเป็นตัวเชื่อมในการเซ็นสัญญาโปรแกรมนี้เท่านั้น"

จากตัวเลขเม็ดเงินข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ในครึ่งปีหลังต่อจากนี้ ภาคธุรกิจส่งออกมีสภาพคล่องในแง่ของเม็ดเงินแล้ว โดยวงเงินต่างๆ จะกระจายและจัดสรรตามการให้บริการของเอ็กซิมแบงก์ อาทิ สินเชื่อเพื่อเตรียมการส่งออก สินเชื่อแพ็กกิ้งเครดิตแบบกู้ตรง สินเชื่อเพื่อขยายกำลังการผลิต ซึ่งรวมสินเชื่อเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรด้วย สินเชื่อประกันการส่งออก สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศ และสินเชื่อพาณิชย์นาวีที่มีวงเงินเฉพาะ

ซึ่งผู้ส่งออกที่มีฐานะทางการเงินปกติไม่มีปัญหาจะได้รับอนุมัติวงเงินตามปกติ แต่สำหรับผู้ส่งออกที่มีปัญหาเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน เช่น ขาดทุนติดต่อกันหลายปี หรือเริ่มจะขาดทุน, มียอด NPL สูง, มีคดีความอยู่กับธนาคารพาณิชย์ที่เคยปล่อยกู้ เป็นต้น จะไม่ได้รับอนุมัติวงเงิน ผู้ส่งออกต้องหาทางเพิ่มทุนเอง หรือหาผู้ถือหุ้นเข้ามาใหม่ ซึ่งตัวเลขของผู้ส่งออกที่ไม่ได้รับอนุมัติวงเงินมีจำนวนค่อนข้างมาก โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีผู้ส่งออกเข้ามาติดต่อขอวงเงินกู้จากเอ็กซิมแบงก์แบงก์จำนวนประมาณ 1,000 รายจากจำนวนผู้ส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์บันทึกตัวเลขไว้ 4,000-5,000 ราย และจาก 1,000 รายนั้นได้รับการอนุมัติวงเงินจากเอ็กซิมแบงก์ ไปเพียง 300 รายเท่านั้น

"สำหรับ 1,000 รายนี้เราต้องขอดูงบการเงินทุกรายและตั้งคำถามเบื้องต้นว่า มีหนี้คงค้างที่ใดที่ค้างชำระอยู่ ปรากฏว่า 1 ใน 3 ไม่ตอบกลับมา ก็เหลือประมาณ 600 กว่าราย เราก็อนุมัติไปประมาณ 300 ราย ตัวเลขนี้เราไม่เคยชี้แจง ทั้งที่เราเป็นศูนย์ที่ผู้ส่งออกวิ่งมาหาเรามาก รายที่เราไม่อนุมัติเป็นรายที่มีปัญหามาก บางรายเป็นหนี้ที่กำลังถูกฟ้องอยู่กับธนาคารพาณิชย์ บางรายก็อยู่ระหว่างการทวงถามจากสำนักกฎหมาย เพราะค้างทั้งต้นและดอกเบี้ย เราก็ได้บอกเขาไปว่า ถ้าเขาสามารถตกลงประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ทั้งหลายได้ เราก็พร้อมที่จะให้เงินเขาไปค้าขาย ไม่ใช่ไปหมุนจ่ายดอกเบี้ย สำหรับรายที่ยังคงปล่อยได้เราก็เร่งพิจารณาอนุมัติอยู่ และเราเชื่อว่าสถานการณ์อย่างนี้คงเป็นไปอย่าง ต่อเนื่อง และคงมีคนวิ่งมาหาเราอีก เราก็จะรับเท่าที่รับได้ ขณะนี้เราก็มีวงเงินเตรียมไว้รับมือในส่วนนี้เหลืออยู่อีก 20,000 กว่าล้านบาท" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรชี้แจง

ประเด็นปัญหาทั้งหลายนั้นจำเป็นต้องได้รับการดำเนินการแก้ไขพร้อมกันทุกด้าน เท่าที่ผ่านมาปัญหาด้านสภาพคล่องได้แก้ไขไปจนปัจจุบันมีเม็ดเงินเพียงพอแล้ว แต่ยังขาดการแก้ไขในแง่ของวงเงินที่ผู้ส่งออกควรจะได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เอกชนจะต้องพยายามหาหนทางแก้ไขเอง เนื่องจากเป็นปัญหาที่ส่วนใหญ่เกิดจากการบริหารงานที่ขาดประสิทธิภาพของผู้ส่งออกเอง รวมทั้งไม่มีการพัฒนาการผลิตและรูปแบบ ของสินค้าให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ส่งผลให้เกิดการขาดทุนจนไม่สามารถชำระคืนหนี้เก่าได้ ฉะนั้นต้องมีการประนอมหนี้ให้เสร็จสิ้นก่อน ในขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนในการหาวิธีส่งเสริมอย่างเต็มที่


ครึ่งปีแรก'41 เอ็กซิมแบงก์ กำไรลดลง
ผลจากตั้งสำรองตามแบงก์ชาติ

ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของเอ็กซิมแบงก์มียอดสินทรัพย์ รวมทั้งสิ้น 82,202.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120% จากงวดเดียวกันของปีที่แล้วที่อยู่ที่ 37,387.5 ล้านบาท แต่กำไรสุทธิลดลงต่ำกว่างวดเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากธนาคารได้กันสำรองหนี้สงสัยจะสูญไว้สูงถึง 734.6 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในช่วงครึ่งปีแรกของปี'40 ที่ตั้งสำรองเพียง 31 ล้านบาทเท่านั้น เป็นเหตุให้กำไรหลังการสำรอง จึงเหลือเพียง 156.1 ล้านบาท จาก 333.8 ล้านบาทในงวดเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่มียอด NPL ประมาณ 13.6%

"ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของแบงก์ชาติ แต่คณะกรรมการของธนาคารได้อนุมัติให้ใช้กฎเกณฑ์เดียวกับที่แบงก์ชาติประกาศออกมา ปีนี้ยอดกันสำรองของเราจึงสูง แต่ยังคงมีกำไรอยู่ ธนาคารพาณิชย์อื่นจะเริ่มใช้กฎเกณฑ์ใหม่นี้ในงวดหน้า แต่เราเริ่มใช้ตั้งแต่งวดแรกนี้เลย เพราะเรามีกำไรเพียงพอที่จะรองรับหนี้สูญได้ โดยแบ่งเป็นงวดละ 50% พอครบปีก็สำรองครบเต็มที่ 100%" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ชี้แจง

สำหรับตัวเลขวงเงินที่คงเหลือ และยอดปริมาณการใช้ของแต่ละบริการ ยังอยู่ในอัตราที่น่าพอใจ (ดูตาราง 2 ประกอบ) โดยการบริการสินเชื่อประกันการส่งออกยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งปีแรกนี้ วงเงินประกันการส่งออกเพิ่มขึ้น 47.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมียอดการใช้บริการสินเชื่อประเภทนี้ (วัดจากมูลค่ารับแจ้ง ประกันการส่งออก) 4,564.3 ล้านบาท คิดเป็นขยายตัวในอัตราสูงถึง 133.1%

ส่วนบริการสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศ การอนุมัติวงเงินใหม่มีการชะลอตัวลงบ้าง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ซบเซาลง ทำให้ความต้องการลงทุนในต่างประเทศของนักธุรกิจไทยชะลอลงได้ด้วย อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีแรกนี้เอ็กซิมแบงก์ได้มีการอนุมัติสินเชื่อประเภทนี้ไปอีก 2 รายคือ โรงงานน้ำตาลในพม่า ของบริษัท เมียนมาร์ ซูเทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน โดยนำเข้าเครื่องจักรในการผลิตน้ำตาลจากประเทศไทย ในวงเงิน 21.06 ล้านเหรียญฯ และบริษัท เจมส์ อินดัสตรี้ คอร์ปอเรชั่น ธุรกิจเหมืองพลอยของคนไทยในมากากัสการ์ ในวงเงิน 200 ล้านเหรียญฯ นอกจากนั้นยังมีอีกประมาณ 2-3 โครงการที่รอการอนุมัติวงเงินอยู่ คาดว่าจะเสร็จสิ้นได้ภายในปีนี้

"นโยบายในอนาคตของเราคือ ช่วยเหลือผู้ส่งออกเท่าที่จะช่วยได้ แต่ต้องคำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเท่าที่ผ่านมาอัตราหนี้เสียในอดีตยังไม่สูงกว่ากำไร เราไม่ใช่สถาบันที่ตั้งขึ้นเพื่อหวังกำไรสูงสุด เอาแค่พออยู่ได้ แต่จะปล่อยให้ขาดทุนเละเทะก็คงไม่ได้ เพราะเราไม่มีงบประมาณเผื่อไว้สำหรับการขาดทุน" เป็นนโยบายของเอ็กซิมแบงก์ในยุคสมัยของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us