Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2541
ธ.ก.ส. บทพิสูจน์ฐานรากภาคเกษตร             
 


   
search resources

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร - ธ.ก.ส.




หนี้ ปัญหาตลอดกาลของเกษตรกรและเป็นปมเขื่องของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยจนป่านนี้ก็ยังแก้ไม่ตก ยิ่งเศรษฐกิจเฟื่องฟูหนี้ยิ่งพอกพูนแต่เมื่อเศรษฐกิจฟุบ เสียงร้องขอความช่วยเหลือก็ดังกระหึ่มกึกก้องไปทั่ว ธ.ก.ส.ในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ของเกษตรกรต้องตกเป็นจำเลยครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะสถานภาพแบงก์แห่งรัฐที่มีหน้าที่ต้องจัดการเรื่องนี้โดยตรง แต่บัดนี้ ธ.ก.ส.ตกอยู่ในสภาพเตี้ยอุ้มค่อม ลำพังตัวเองก็ต้องดิ้นเอาตัวรอดในภาวะที่รัฐไม่มีเงินให้และดอกเบี้ยกระฉูด แต่ยังต้องสนองนโยบายรัฐช่วยอัดฉีดสภาพคล่องสู่ภาคเกษตรในราคาถูกๆ ในสถานการณ์เช่นนี้ ธ.ก.ส.จะพลิกผันตัวเองอย่างไร ยิ่งเมื่อถูกไอเอ็มเอฟกดดันให้สำรองหนี้เสียตามกฎแบงก์ชาติ แต่สุดท้าย ธ.ก.ส.ต้องอยู่เพื่อค้ำจุนฐานรากของประเทศต่อไป

เมื่อฟองสบู่แตก สัจธรรมก็ปรากฏ ความหวังที่จะเห็นประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้า และการเงินของภูมิภาคอย่างฮ่องกง หรือสิงคโปร์ กลายเป็นความฝันอันนิรันดร์ไปเสียแล้ว เพราะสุดท้ายไทยก็ต้องยอมถอยหลังกลับสู่สามัญอย่างไม่มีทางเลือก

ภาคเกษตรกรรม เป็นโอกาสและความหวังอันเดียวที่ยังมีศักยภาพพอที่จะดึงเงินตราจากต่างประเทศ เข้ามาฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจไทยที่ยอบแยบในตอนนี้ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะทำได้ไม่เต็มร้อยนัก เพราะที่ผ่านมาการพัฒนาประเทศมุ่งเน้นภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก จนมองข้ามความสำคัญของภาคเกษตรกรรม ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วการเกษตรเป็นรากฐานสำคัญ ที่คอยค้ำจุนประเทศไทยให้ดำรงอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้

การประท้วงในรูปแบบต่างๆ ของเกษตรกรที่เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัยเป็นภาพที่เจนตา แต่สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในการกำหนดทิศทางและวิธีการในการแก้ไข จนเกิดสะสมและเรื้อรังมาจนถึงทุกวันนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลมักจะใช้วิธีแก้ปัญหาที่ปลายเหต ุโดยการอัดฉีดเงินงบประมาณเข้ามาช่วยเหลือในรูปของการให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ แต่ผลที่ได้ยิ่งทำให้เกษตรกรมีหนี้สินพอกพูนกลายเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว และมีทัศนคติมักคิดว่าเงินที่รัฐบาลนำมาช่วยเหลือ รวมทั้งเงินกู้ของ ธ.ก.ส.นั้นฟรี ไม่จำเป็นต้องใช้คืนก็ได้ สุดท้ายก็นำมาซึ่งการยกขบวนประท้วงหน้าทำเนียบอีกเช่นเคย

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. หน่วยงานที่รัฐบาลเมื่อ 32 ปีที่แล้วก่อตั้งขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบของเกษตรกรโดยเฉพาะ ซึ่งได้ดำเนินการสำเร็จลุล่วงไปแล้ว ทว่าหนี้ของเกษตรกรหาได้ลดลงไม่ กลับเพิ่มสูงขึ้น แต่ต่างกันตรงที่หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบ ซึ่งเรื่องนี้ได้กลายเป็นภารกิจอันหนักหน่วงที่ ธ.ก.ส.ในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่จำเป็นจะต้องหาทางแก้ไข เพื่อมิให้ปัญหานี้กัดกร่อนภาคเกษตรมากไปกว่านี้

"จากผลการวิจัยของทีดีอาร์ไอพบว่า เกษตรกรกู้นอกระบบน้อยลง เพราะธ.ก.ส.ได้เข้ามาแทนที่ ณ วันนี้ หนี้นอกระบบมีแค่ 8% อยู่ในระบบ 92% แต่อย่างไรก็ตามปัญหานี้กลับรุนแรงมากขึ้น เพราะแม้จำนวนลดลงแต่มูลค่าของเงินเพิ่มขึ้น เมื่อปีที่ กบส.(คณะกรรมการบริหารสินเชื่อเกษตรแห่งชาติ) ทำตัวเลขเสนอรัฐบาลเมื่อปี 2536 มีเม็ดเงินหนี้นอกระบบ 15,400 ล้านบาทแต่วันนี้ กบส.กำลังรวบรวมตัวเลขเท่าที่สำรวจได้หนี้นอกระบบเพิ่มเป็น 31,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนน้อยแต่เม็ดเงินมันมากขึ้น เพราะจำนวนเกษตรกรมากขึ้น อัตราการกู้ต่อหัวมากขึ้น และจากการสำรวจของเราพบว่า หนี้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องของสินค้าเงินผ่อน จะเห็นได้ว่าตอนนี้ทุกบ้านมีทีวี ตู้เย็น มอเตอร์ไซค์ ปิกอัพ เพราะชาวบ้านถูกค่านิยมของสังคมเมืองเข้าครอบงำ แต่อย่างไรก็ตามหนี้บางส่วนก็มาจากการเกษตรด้วย ซึ่งเราจะลงไปช่วยแต่เฉพาะในรายที่เราพิสูจน์ได้จริงๆ ว่าทำการเกษตรเสียหาย ต้องสูญเสียที่ดินให้กับนายทุน เนื่องจากการเกษตรไม่ใช่ไปเล่นการพนัน ถ้าเป็นเหตุที่ไม่สุจริตและไม่จำเป็น เราคงไปช่วยเหลือไม่ได้ คงต้องมีการสอบสวนแต่ละรายไป เราต้องแยกแยะเหตุ ต้องไปสัมภาษณ์เจ้าหนี้ ว่าเมื่อตอนที่เขามาขอกู้เขาบอกว่าอย่างไร


เกษตรกรก็เหมือนคนทั่วไป เมื่อเศรษฐกิจดี ทุกคนก็มีความสุข ใช้จ่ายกัน ในยามที่เศรษฐกิจดี ลูกค้าผมเยอะมาก เพราะขายที่ แต่ ณ วันนี้ก็กลับมาบอกว่าที่ขายหมดเกลี้ยงแล้ว เอา เงินไปซื้อรถกระบะ มอเตอร์ไซค์ แล้ว ก็กลับมาหาเราว่าจะทำอย่างไร ตอนนี้ไม่มีที่ดินทำเกษตรมาขอกู้จะให้เราทำอย่างไร มีแต่ที่บ้าน ไม่มีอาชีพ กรณีอย่างนี้ยามที่เศรษฐกิจดี ทุกคนฟู่ฟ่าหมด ซึ่งมีเยอะมากและก็กลายเป็นปัญหาที่ทับถมกันมา เมื่อตอนที่เราทราบเรื่องนี้ ก็ได้เตือนไปที่สาขาและพนักงานว่าเมื่อไหร่ที่ลูกค้ามาบอกว่าจะขายที่ดิน บอกเขาด้วยว่าอย่าขายหมด ก็มีคนเชื่อบางส่วน บางส่วนก็ไม่เชื่อ เพราะบางคนเขาคิดว่าทำไร่ทำนากี่ปีถึงจะได้เงินมากขนาดนี้ บางส่วนที่เชื่อก็กันที่เอาไว้หน่อยเผื่อเกิดอะไรขึ้น ก็พอมีที่ทำกิน แต่ส่วนใหญ่ไม่เชื่อ ขายหมด ตรงนี้เราไม่สามารถที่จะช่วยเหลือได้" เอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวถึงแนวทางในการแก้ปัญหาเพื่อสนองต่อแนวนโยบายของรัฐ ที่พยายามผลักดันให้ภาคเกษตรกรรมเป็นแกนหลักในการกอบกู้ชาติ

"ปัญหาเกษตรกรทั่วประเทศ เป็นปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องดูแลแก้ไขอย่างใกล้ชิด และมีเป้าหมายโดยตรงที่สุดเพื่อให้การช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด ผมในฐานะรมช.ที่ดูแล ธ.ก.ส.และเป็นประธานในคณะกรรมการบริหารของ ธ.ก.ส. ก็ได้นำเรื่องนี้เข้าไปหารือในที่ประชุมกันหลายครั้ง และก็ได้เรียกผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายสินเชื่อ ธ.ก.ส.ทั่วประเทศเข้ามาร่วมสัมมนา เพื่อมอบหมายให้ผู้จัดการกลับไปมอบหมายให้พนักงาน ธ.ก.ส.ทุกคน ซึ่งมีประมาณหมื่นกว่าคนทั่วประเทศ มุ่งเน้นไปที่ชนบท ดูแลเกษตรกรอย่างใกล้ชิดและถึงตัว เพื่อหวังผลในการช่วยในภาวะวิกฤติอย่างนี้" คำกล่าวของพิเชษฐ์ พันธุ์วิชาติกุล ถึงภารกิจหลักของ ธ.ก.ส.ที่จะต้องทำ หลังสมัชชาคนจนจากอีสานบุกทำเนียบบีบรัฐบาลให้ช่วยปลดหนี้จาก ธ.ก.ส.เมื่อไม่นานมานี้

สินเชื่อการเกษตร เปรียบเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงที่คอยเกื้อหนุนให้ภาคเกษตรของไทยก้าวต่อไปได้อย่างไม่หยุดยั้ง ทว่าในความเป็นจริงมีเพียง ธ.ก.ส.เท่านั้นที่เป็นแหล่งใหญ่ในการสนับสนุนเงินทุนให้แก่เกษตรกร โดยเมื่อปี 2540 ปริมาณเงินสินเชื่อในระบบ มีประมาณ 368.9 พันล้านบาท ซึ่ง มากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นสินเชื่อของธ.ก.ส. ส่วนที่เหลือเป็นสินเชื่อที่มาจากธนาคารพาณิชย์ สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และหน่วยงานของรัฐ ขณะที่สินเชื่อนอกระบบมีปริมาณเพียง 15.4 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังมีแหล่งเงินกู้จากหน่วยงานของรัฐ ที่ได้ดำเนินการช่วยเหลือด้านการเงินในรูปของสินเชื่ออีกประมาณ 2 พันล้านบาท อาทิกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เป็นต้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการและกระจายได้ไม่ทั่วถึง ดังนั้น ธ.ก.ส. ในฐานะแหล่งเงินทุนใหญ่ของเกษตรกร จึงต้องระดมทุนเพื่อนำมาปล่อยให้เกษตรกรให้ได้มากขึ้น ท่ามกลางสภาวะต้นทุนที่ปรับตัวแพงตามภาวะเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูง


มอบงานใหญ่แต่ทุนจำกัด
งานนี้ธ.ก.ส.จึงต้องรับไปเต็มๆ

ในห้วงที่สถาบันการเงินส่วนใหญ่กำลังซวนเซ เพราะพิษเศรษฐกิจ แต่ ธ.ก.ส.กลับเป็นสถาบันการเงินที่มีความแข็งแกร่งที่สุดในตอนนี้ ทั้งๆ ที่ต้องให้ความช่วยเหลือสินเชื่อแก่เกษตรกรชั้นเล็กและยากจนในชนบท ในอัตราดอกเบี้ยต่ำอันถือเป็นเจตนารมณ์ของรัฐบาล ในการจัดตั้งหน่วยงานแห่งนี้ แต่ที่ผ่าน มาความช่วยเหลือของรัฐบาลต่อหน่วย งานแห่งนี้มีไม่เต็มที่นัก ดังนั้นภาระทั้งหมดจึงตกอยู่กับธ.ก.ส.ในการจัดหาเงินทุนเพื่อนำมาปล่อยสินเชื่อ ตามนโยบายปัจจุบันเงินทุนในการดำเนินงานส่วนใหญ่ของ ธ.ก.ส.มาจากประชาชน และเงินกู้ทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่เงินจากรัฐบาลที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่มีไม่ถึง 3% จากจำนวนสินทรัพย์ที่มีอยู่มากกว่า 2 แสนล้านบาท

"เมื่อตอนที่ตั้ง ธ.ก.ส.ใหม่ๆ เราอาศัยงบประมาณแผ่นดิน ทุนจดทะเบียนครั้งแรก 1 พันล้านบาท เพราะลูกค้าเราน้อย แต่ปรากฏว่าความต้องการสินเชื่อเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2518 ดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน จนกระทั่งวันนี้เราได้ปล่อยเงินกู้ไป 193,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2509-18 เราเริ่มมีปัญหาคนมากู้มากแต่เราไม่มีเงิน เพราะใช้งบประมาณที่รัฐทยอยให้ประมาณปีละ 600-700 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียนไว้ล่วงหน้า 1 พันล้านบาท ตอนแรกให้มาร้อยกว่าล้านบาท แล้วขยับขึ้นนิดหน่อย บางปีก็ได้แค่ 70 ล้านบาท มันไม่พอและไม่ทันกับความต้องการของคน" เอ็นนู กล่าวถึงที่มาของข้อจำกัดที่กลายเป็นอุปสรรคในการกระจายสินเชื่อให้ทั่วถึง

เพื่อแก้ปัญหาเงินทุนไม่พอ รัฐบาลโดยธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ให้ความช่วยเหลือ ด้วยการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งปล่อยสินเชื่อการเกษตรในสัดส่วน 5% ของวงเงินสินเชื่อทั้งหมดของปีก่อนหน้า หากทำได้ไม่ถึงเป้าต้องนำเงินจำนวนนี้มาฝากไว้ที่ ธ.ก.ส.โดยได้รับดอกเบี้ยเงินฝากปกติ ต่อมาในปี 2520 ได้เพิ่มสัดส่วนเป็น 7% และต่อมาอีก 2 ปีเพิ่มเป็น 9% และ 11% ตามลำดับ ทว่าในปี 2530 ธปท.มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใหม่เป็นนโยบายสินเชื่อสู่ชนบท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายสินเชื่อให้มีขอบเขตกว้างมากขึ้น แต่หารู้ไม่ว่านโยบายนี้ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อโครงสร้างเงินทุนของธ.ก.ส.

นับตั้งแต่นั้นมา โครงสร้างเงินทุนของ ธ.ก.ส.จึงเปลี่ยนจากเดิมที่อาศัย เงินฝากธนาคารพาณิชย์สูงประมาณ 49% ของเงินทุนทั้งหมด ปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 7-8% เป็นเงินประมาณ 4 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากแบงก์ต่างชาติที่ยังไม่สามารถเปิดสาขาในต่างจังหวัดได้

และเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ธ.ก.ส.ได้ปรับ กลยุทธ์หันมาระดมทุนจากประชาชน และกลายเป็นที่มาของเงินทุนแหล่งใหญ่ของ ธ.ก.ส.มีสัดส่วนประมาณ 60% ของเงินทุนทั้งหมด โดยมีประชาชนทั่วไป วัด มูลนิธิ โรงเรียน ครู ข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจ เป็นลูกค้าหลัก

"จะเห็นได้ว่าเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2518 เป็นแหล่งใหญ่ที่สุดเกือบครึ่งหนึ่ง แต่เมื่อนโยบายเปลี่ยน เราก็เปลี่ยนตาม เพราะเขามีการทยอยถอน เขาสามารถทำเองได้แล้ว คำว่าสินเชื่อชนบทปล่อยเงินกู้ให้พ่อค้าก็ได้ ที่จริงเขาไม่ปล่อยก็ได้ แต่จะมีผลต่อการขอเปิดสาขา เพราะถือว่าไม่ให้ความร่วมมือ ที่เหลือเป็นเงินกู้ต่างประเทศสมัยแรกๆ ก็จะเป็นเงินอเมริกัน USAID เข้ามาช่วยแต่ไม่มาก และก็มาราวปี 2525 รัฐบาลก็บอกว่าทุนจดทะเบียน 1 พันล้านบาทน้อยไปควรเพิ่มเป็น 4 พันล้านบาท เพื่อรัฐบาลจะได้เอาเงินมาลงมากขึ้น ต่อมาราวปี 2533 ก็ให้เพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านบาท และในปี 2539 ให้เพิ่มเป็น 2 หมื่นล้านบาท โดย 1 หมื่นล้านบาทที่เพิ่มขึ้นมา ก็มีมติ ครม.ว่าจะเพิ่มให้ปีละ 2 พันล้านบาท เป็นเวลา 4 ปี ที่เหลือให้ระดมจากสหกรณ์การเกษตรและเอาเงินปันผลที่กระทรวงการคลังได้ แต่ผลก็คือปี 2539 ที่สัญญาไว้ ก็เจอไอเอ็มเอฟเข้ามา เราก็ถูกตัดงบเหลือแค่ 500 ล้านบาท ปีนี้ก็คาดว่าจะได้เพียง 500 ล้านบาท ตอนนี้เรามีทุนที่ชำระแล้วเพียง 9,600 ล้านบาทเท่านั้น แต่มีเงินสินเชื่อตั้ง 2 แสนล้านบาท" เอ็นนู ชี้แจงฐานะ ซึ่งรัฐมีพันธะสัญญาที่จะต้องนำเงินอีก 10,400 ล้านบาทมาเติมให้ ครบ 2 หมื่นล้านบาทที่รับปากไว้

เงินกู้ทั้งในและต่างประเทศเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญอีกแห่งหนึ่งของ ธ.ก.ส. โดยเงินกู้ในประเทศส่วนใหญ่มาจากธนาคารออมสิน ซึ่งนำมาใช้ในการจำนำข้าว นอกจากนี้ยังมีธนาคาร แห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง และพันธบัตร ซึ่งอายุเฉลี่ยของเงินเหล่านี้ประมาณ 1-2 ปี ดอกเบี้ยตามอัตราตลาด ส่วนเงินกู้ต่างประเทศก็มี ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเล (โออีซีเอฟ) จากญี่ปุ่น เป็นแหล่งเงินกู้หลัก ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ระยะยาวประมาณ 25-30 ปี และมีดอกเบี้ยต่ำ

อย่างไรก็ตามเงินกู้ต่างประเทศ ยังมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับเงินทุนในประเทศ เพราะเงินนอกที่กู้มา จะมีเงื่อนไขให้ปล่อยกู้โครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาและการลงทุนเป็นสำคัญ ซึ่งไม่สอดคล้องกับลักษณะการกู้เงินของเกษตรกรซึ่งประมาณ 80% จะนิยมกู้ระยะสั้นและหมุนเวียนประจำทุกปี ดังนั้นเงินกู้ต่างประเทศ จึงนำมาปล่อยกู้ให้แก่เกษตรกรได้ไม่เต็มที่ แต่ในภาวะที่ต้นทุนเงินสูงขึ้นเงินกู้ต่างประเทศที่ให้ดอกเบี้ยต่ำ ได้กลายเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญในการสานต่อภารกิจของ ธ.ก.ส.

"เงินกู้นอกที่มีอยู่ตอนนี้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ปี 41 เรามีแผนที่จะกู้ต่างประเทศ ขอวงเงินไว้ประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ตอนนี้เรากำลังเจรจาอยู่กับโออีซีเอฟ ซึ่งเราตั้งใจจะกู้จากเขา 100 ล้านเหรียญ แต่เขาจะให้เรา 150 ล้านเหรียญ ก็เป็นไปได้ที่จะกู้มากกว่า 200 ล้านเหรียญตามที่ขอไว้ เพราะในประเทศเราระดมทุนยากมาก ในส่วนของ 150 ล้านเหรียญ ที่เจรจากันในเบื้องต้นจะแบ่งกันออกเป็น 2 ล็อต จะเป็นเงินด่วน ซึ่งโดยปกติโออีซีเอฟเมื่อเจรจาแล้วเป็นปีถึงจะได้เงิน แต่ตอนนี้เราขอเงินเร็วขึ้นเขาก็ให้ เพราะเราเป็นลูกค้าชั้นดี โดยให้ก่อน 60 ล้านเหรียญ ที่เหลือประมาณ 90 ล้านเหรียญ ก็จะมาปลายปี อัตราดอกเบี้ยเราต่อรองเหลือแค่ 1% แต่ยังไม่ได้สรุปกัน แต่ที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นก็ให้ความกรุณาแก่ ธ.ก.ส.มาเป็นอย่างดี ฉะนั้นโอกาสที่จะได้ดอกเบี้ยถูกลงจึงมีมาก แต่สิ่งที่ยากก็คืองานที่เราต้องทำ" รองผู้จัดการกล่าว

เมื่อสิ้นงวดบัญชีปี 2540 (31 มีนาคม 2541) ธ.ก.ส.มีทุนการดำเนินงานทั้งสิ้น 235,412 ล้านบาท แยกเป็นส่วนของผู้ถือหุ้น 6,692 ล้านบาท (2.84%) เงินรับฝากจากประชาชนทั่วไปจำนวน 132,172 ล้านบาท (56.14%) เงินรับฝากจากธนาคารพาณิชย์ 3,611 ล้านบาท (1.53%) เงินกู้ในประเทศและต่างประเทศ 46,614 ล้านบาท (19.80%) เงินกู้จากธนาคารแห่งประเทศไทย 4,000 ล้านบาท (1.70%) เงินกู้ยืมจากการออกพันธบัตร 29,000 ล้านบาท (12.3%) และหนี้สินอื่นๆ 13,323 ล้านบาท (5.67%)

ด้านของการให้บริการสินเชื่อ ธ.ก.ส.ได้สนับสนุนเงินทุนแก่เกษตรกร และสถาบันการเกษตรรวม 125,255 ล้านบาทในรูปของเงินกู้ แบ่งเป็นเงินกู้แก่เกษตรกรจำนวน 107,126 ล้านบาท (85.5%) เงินกู้สหกรณ์การเกษตร 18,083 ล้านบาท (14.4%) และเงินกู้กลุ่มเกษตร กรจำนวน 46 ล้านบาท (0.1%)

ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การหาเงินทุนมิใช่เรื่องง่าย แม้แต่การจัดเก็บภาษีของรัฐก็ยังไม่เข้าเป้า ทว่า ธ.ก.ส.เป็นกลไกของรัฐในการกระจายเงินทุน ด้วยเงื่อนไขที่เป็นธรรมดอกเบี้ยต่ำกว่าแบงก์พาณิชย์ทั่วไปแก่ภาคเกษตร ดังนั้น รัฐบาลจึงแก้ปัญหาด้วยการให้ ธ.ก.ส.ปรับโครงสร้างต้นทุน โดยให้หาแหล่งเงินทุนนอกประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งระดมเงินฝากจากภาครัฐ อาทิ เงินกองทุน และเงินทุนหมุนเวียนขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และสภาตำบล เป็นต้น

เมื่อเร็วๆ นี้ ธ.ก.ส.ได้เสนอขอโอนเงินกู้ปรับโครงสร้างหนี้ (Structure Asset & Loan : SAL) ที่กระทรวงการคลังกู้จากเอดีบีและนำมาปล่อยต่อ ธ.ก.ส. จำนวน 9 พันล้านบาทในอัตราดอกเบี้ย 11% เพื่อแก้ปัญหาเงินเพิ่มทุนที่รัฐบางค้างชำระ และเพื่อทดแทนเงิน 1 หมื่นล้านบาท ที่รัฐบาลรับปากจะจัดสรรให้จาก Global Bond ซึ่งตอนนี้ชะลอออกไป เพราะตลาดนอกประเทศผันผวนมาก โดย 3 พันล้านแรกได้แปลงไปเรียบร้อยแล้ว และอีก 3 พันล้านจะแปลงในเดือนกันยายนนี้ ที่เหลืออีก 3 พันล้าน คาดว่าจะโอนได้ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง หากผ่านก็หมายความว่า ธ.ก.ส. จะมีทุนที่ชำระแล้วจำนวน 18,600 ล้าบาท แต่ยังไม่ครบ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ธ.ก.ส.ที่จะต้องเร่งดำเนินการต่อไป

การเพิ่มทุนเป็นแนวทางหนึ่งที่ ธ.ก.ส.นำมาใช้ในการระดมทุน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของผู้จัดการใหญ่ พิทยาพล นาถธราดล ที่ให้เน้นในส่วนทุนเจ้าของมากกว่าการก่อหนี้ โดยต้องคงอัตราส่วนหนี้ต่อทุนให้อยู่ที่ระดับ 2:1 ธนาคารจึงสามารถยืนอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง คาดว่าในวันที่ 1 พฤศจิกายน ธ.ก.ส. จะสามารถกระจายหุ้นเพิ่มทุนได้ โดยจะกระจายให้แก่เกษตรกร สหกรณ์การเกษตร และกลุ่มเกษตรกรได้จำนวน 1,100 ล้านบาท และกระจายให้ประชาชนทั่วไปและพนักงานอีก 400 ล้านบาท โดยจะจำหน่ายเป็น package ประกอบด้วย 4 หุ้นบุริมสิทธิกับอีก 1 หุ้นสามัญ ในราคา 500 บาท และเนื่องจากภาวะตลาดตอนนี้ค่อนข้างซบเซา ทาง ธ.ก.ส. จึงได้ออกแบบผลตอบแทนให้เป็นที่ดึงดูดใจ โดยเฉพาะหุ้นบุริมสิทธิที่ได้ออกแบบให้คล้ายกับหุ้นกู้ คือมีอายุไถ่ถอนภายใน 5 ปี และได้ดอกเบี้ยเท่ากับดอกเบี้ยเงินฝากประจำของ ธ.ก.ส. ณ วันแรกที่เปิดจำหน่าย ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ก.ล.ต.

"ก่อนหน้าที่ไอเอ็มเอฟจะเข้ามา เราถูกขอร้องจากรัฐบาลให้ลดดอกเบี้ยลง ก่อนหน้านี้อัตราต่ำสุดของเราคือ 11% ถือว่าถูกที่สุดไม่ถึง 1% ต่อเดือนด้วยซ้ำไป ก็ปรากฏว่ารัฐบาลขอร้องให้ลดลงเหลือ 9% เพื่อช่วยคนจน คือคนที่กู้ไม่เกิน 6 หมื่นบาท ถือว่าเป็นคนจน จึงให้ลดดอกเบี้ยจาก 11% เหลือ 9% เราก็ขอให้รัฐบาลช่วยลดภาระของเรา รัฐบาลจึงได้มีมติให้เงินเพิ่มทุนอีก 1 หมื่นล้านบาท แต่ก็ไม่ได้ และที่บอกว่าจะให้ปีละ 2 พันล้านบาท แต่ดอกเบี้ยที่เราลดไปนั้นคิดเป็นเงินแล้วเยอะมาก รัฐบาลจึงสัญญาว่าจะให้ อบต. ทั่วประเทศเอาเงินมาฝากกับ ธ.ก.ส. เพื่อจะได้ไม่ต้องหาเงินฝากให้เหนื่อย ก็ได้เงินมาเยอะทีเดียวตอนนั้นรายละ 2 ล้านบาท ทั้งหมด 6,000 แห่ง และก็มีมติให้คณะกรรมการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ที่ได้งบประมาณปีละ 8 พันล้านบาท มีกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ได้ไปกระทรวงละ 4 พันล้านบาทมาฝากกับ ธ.ก.ส. ตลอดจนถึงให้ ธปท.เข้ามาสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งเรื่องนี้ทันทีที่เราทำ เราก็มีปัญหาขาดทุนเลย แต่บังเอิญว่าอยู่ระหว่างปี เมื่อมีมาตรการพวกนี้เข้ามาช่วย เราก็อยู่ได้ ไม่ขาดทุน ถ้าทำได้ครบหมด ตอนนี้เราทำไปแค่ปีเดียว เงินเพิ่มทุนได้มาแค่ 500 ล้านบาท และ อบต.ก็เริ่มเข้ามาฝากกับเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่า อบต.มีกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นลูกค้าของเรา เราไปติดต่อได้ไม่ยาก แต่ตรงนี้เราทำได้แค่ขอร้อง ไม่ใช่การบังคับ ต่อมาปรากฏว่าเงิน คชก.ที่ว่า 8 พันล้านบาท ก็ถูกตัดเหลือเพียง 6 พันล้านบาท เขามาฝากอยู่แค่ปีเดียวก็เลิก เพราะปีนี้เขาไม่มีงบก็ถอนไปที่อื่น เพราะที่อื่นให้ดอกเบี้ยดีกว่า ผมยังแปลกใจว่าเงินเหล่านี้คือเงินราชการ แต่ทำไมถึงต้องไปฝากที่อื่น เพื่อที่จะได้ดอกเบี้ยมากกว่า แทนที่จะฝากกับเราลงไปหาเกษตรกร ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการที่รัฐบาลขอร้อง เขาคิดแต่เพียงว่าแบงก์ก็ต้องแข่ง แต่เขาไม่มองว่าเราถูกบังคับขายสินค้าแล้ว เราจะไปให้เท่ากับแบงก์อื่นได้อย่างไร ดอกเบี้ยเงินฝากของเราตอนนี้ก็เท่ากับกรุงไทย ยิ่งตอนนี้มีแบงก์รัฐเพิ่มขึ้นใหม่อีก ดอกเบี้ยสูงมาก เราจะไปทำอย่างนั้นได้อย่างไร แต่ของ อบต.ยังไม่มีถอน อย่างปีที่แล้วมีหมื่นกว่าล้าน ปีนี้ก็ยังเหลือเท่าเดิมอยู่" เอ็นนูอธิบาย

ในปี 2540 ยอดเงินฝากของ ธ.ก.ส.เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 9 พันล้านบาทขณะที่ตั้งเป้าไว้ 12,000 ล้านบาท ทำให้เมื่อสิ้นงวดบัญชีเงินฝาก รวมเพิ่มขึ้นจาก 126,271 ล้านบาท เป็น 132,172 ล้านบาท แม้จะได้ไม่ตรงตามเป้า แต่ถือว่าประสบความสำเร็จทีเดียวในยุคนี้ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ ธ.ก.ส.ได้คิดค้น ทั้งบัตรออมทรัพย์ทวีโชคและทวีสิน ที่เน้นกลุ่มเป้าหมายคนฐานะปานกลางลงไปถึงคนจน

"คนฐานะปานกลางถึงคนจนจะไม่คำนึงถึงเรื่องดอกเบี้ยมากนัก เพราะเงินเขาน้อยดอกเบี้ยต่างกันแค่ 0.25-0.50% ไม่เป็นไร ดังนั้นผลิตภัณฑ์เงินฝากที่เราคิดขึ้นมาใหม่เราจะเน้นที่รายย่อย เช่น เงินฝากออมทรัพย์ทวีโชค ที่เน้นในชนบทคนจนมากๆ ตั้งแต่ 50 บาทขึ้นไป ถ้าสะสมครบทุก 2 พันบาทเราจะให้คูปอง 1 ใบปีหนึ่งเราจับฉลาก 2 ครั้ง มีสิ่งของเป็นรางวัลแล้วแต่สาขาจะหามา ถือเป็นวันขอบคุณลูกค้า เราทำมา 2 ปีกว่าได้ 2 พันล้านบาท แสดงว่ารายย่อยนี้ดีมากๆ เขาไม่สนใจดอกเบี้ย แต่เขาได้เงินออมเก็บไว้และได้โชค เมื่อตอนรัฐบาลสมัยที่แล้ว เงินฝากเราหาย เงินเพิ่มทุนจากรัฐบาลก็ได้ไม่ถึง 2 พันล้านตามสัญญา เงิน คชก.ก็หายไป เราก็เลยคิดว่าถ้าเราออกฉลากแบบฉลากออมสิน แต่เราพัฒนาให้มันดีขึ้นกว่าเดิม ก็เลยออกมาเป็นเงินฝากทวีสิน ให้รางวัล จูงใจเป็นเงินสูงสุด 10 ล้านบาท เจตนาของเราไม่ได้เน้นเรื่องรางวัลมากนัก แต่เราจะเน้นเรื่องให้คนรู้จักการออมเงิน เพราะประเทศเรายากจน และคนของเราไม่ชอบเก็บออมเงินชอบกู้เงิน พอวันที่เจ้าหนี้เขามาทวงคืนเราก็ตาย สิ่งที่เราทำก็คือกู้ใหม่มาใช้หนี้ อย่างตอนนี้เราก็กู้ไอเอ็มเอฟ เราคิดแต่คอนเซ็ปต์กู้ตลอด ไม่เคยมีคอนเซ็ปต์ออม แต่ ธ.ก.ส.เรามีทั่วประเทศ เรามั่นใจว่าเราสามารถจูงใจให้เขามาออมได้ แต่ต้องมีเครื่องจูงใจให้เข้ากับนิสัยของคนไทย ให้คิดว่าเขาควรจะได้ออม ถ้าอยู่ๆ เราไปเชิญชวนให้เขามาออม อย่าง 500 บาทปีหนึ่งได้ดอกเบี้ย 50 บาทเพิ่มขึ้น คนก็ไม่อยากจะทำ กลุ่มเป้าหมายของเราก็คือคนที่เขามีเล็กมีน้อย ไม่ใช่คนที่มีเงินมากๆ" เอ็นนู มันสมองสำคัญในการคิดค้นผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ของ ธ.ก.ส. โดยอาศัยประสบการณ์ ที่คลุกคลีกับชาวบ้านมาประยุกต์ใช้อย่างได้ผล

ในปี 2541 ธ.ก.ส. ตั้งเป้าที่จะขยายเงินฝากเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วอีก 19,000 ล้านบาท เพื่อรองรับกับเป้าสินเชื่อที่ตั้งไว้ 12,000 ล้านบาท พร้อมทั้งได้ระงับแผนการออกพันธบัตร 7,500 ล้านบาทไป เพราะดอกเบี้ยสูง โดยในส่วนของเงินฝาก ธ.ก.ส.จะระดมจากกลุ่มลูกค้าที่มีอยู่ประมาณ 300,000 กลุ่มทั่วประเทศ โดยนำแนวความคิดกองทุนมูลภัณฑ์กันชน (Buffer Fund) ซึ่งจะเป็นกองทุนที่สามารถนำเงินออกมาใช้ได้ในภาวะจำเป็น หรือเกิดวิกฤติ ดังเช่นตอนนี้มาประยุกต์ใช้ โดยให้กลุ่มลูกค้า ธ.ก.ส.จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ลูกค้า ธ.ก.ส.กู้ภัยเศรษฐกิจ เพื่อให้สมาชิกได้ออมเงินและสามารถกู้ไปใช้ได้ในยามจำเป็น โดย ธ.ก.ส.จะทำหน้าที่บริหารกองทุน เพื่อเป็นการลดภาระของ ธ.ก.ส. ขณะเดียวกันยังช่วยเสริมสร้างนิสัยให้เกษตรกรรู้จักช่วยเหลือตัวเองอีกทางหนึ่งด้วย

พร้อมกันนั้น ธ.ก.ส.ยังต้องเพิ่มสัดส่วนเงินกู้ต่างประเทศ ซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่ามาเจือจางต้นทุนในประเทศ ให้ต่ำลงเพื่อให้เกษตรกรสามารถกู้ยืมได้โดยไม่แพงมากนัก แม้ว่าขณะนี้ ธ.ก.ส.ได้ดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยลอยตัว จากเดิมแบบคงที่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพื่อลดภาระของ ธ.ก.ส.ให้สามารถอยู่รอดและแข็งแรงพอที่จะพยุงภาคเกษตรได้ต่อไป แม้ว่าที่ผ่านมา ธ.ก.ส.จะแยกเงินที่ได้จากการกู้ต่างประเทศออกจากเงินในประเทศ และให้อัตราดอกเบี้ยที่ต่างกันตามต้นทุนที่แท้จริง "เขาหาว่าเราเลือกปฏิบัติ เพราะไม่เข้าใจว่าเงินพวกนี้มีเงื่อนไข ตอนนี้เราไม่ได้ทำแล้ว และนี่ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เราอยู่ได้ เพราะต้นทุนเงินนอกที่เราได้มาต่ำกว่าเงินทุนในประเทศ เราก็ต้องอาศัยใส่ถังและคลุกเข้าด้วยกัน เพราะมันมีแต่ของแพงเข้ามา ถ้าไม่ได้ญี่ปุ่นเข้ามา มันยิ่งแพงกันใหญ่ ขนาดได้เงิน SALจากกระทรวงคลังซึ่งเอามาจากเอดีบี และเอามาปล่อยให้ ธ.ก.ส.เป็นเงินบาท เพื่อไม่ให้เราต้องไปเสียความเสี่ยงก็ได้มา 11% แล้วเราจะต้องไปปล่อยเท่าไหร่ถึงจะคุ้มค่าการบริหารด้วย ฉะนั้นเราต้องใช้วิธีนี้แล้วเฉลี่ยไป ซึ่งเราก็ไปเจรจากับเขาขอความอนุเคราะห์จากเขาเพื่อให้เราอยู่ต่อไปได้ งานนี้ฝ่ายจัดการของ ธ.ก.ส. ก็เหนื่อยที่จะไปหาของถูก" เอ็นนู ให้เหตุผล และปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธ.ก.ส.อยู่ที่ 11.5% สำหรับวงเงินไม่เกิน 60,000 บาท 12.5% สำหรับวงเงิน 60,000-1.5 แสนบาท และ 13.5% สำหรับวงเงิน 1.5-3 แสนบาท ขณะที่ต้นทุนเฉลี่ยของ ธ.ก.ส. ประมาณ 8% บวกต้นทุนการดำเนินงานอีก 3.5% และกำไรอีก 1% ก็หมายความว่า ธ.ก.ส.จะปล่อยกู้ได้ที่อัตราดอกเบี้ย 12.5% จึงไม่ขาดทุน

เมื่อเงินกู้ต่างประเทศจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมากหลัง ธปท.เปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเป็นระบบลอยตัว โดยเฉพาะเงินเยนที่เป็นเงินกู้หลัก ดังนั้น ธ.ก.ส.จำเป็นต้องจัดการกับความเสี่ยงตรงนี้ให้ได้ เพื่อมิให้กระเทือนต่อสถานะของแบงก์ ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.ได้รับซื้อในอัตราเพียง 1% เท่านั้น แต่ในช่วงที่ค่าเงินมีความผันผวนมาก ธปท.ได้ปรับค่าธรรมเนียมขึ้นเป็น 3.5% และต่อมาได้ล้มเลิกไปหลังจากที่ไอเอ็มเอฟเข้ามากุมนโยบายการเงินการคลังของประเทศไทย และยังกำหนดเงื่อนไขให้ ธ.ก.ส.ต้องสำรองหนี้ตามกฎของแบงก์ชาติอีกด้วย

"มาปีนี้ตั้งแต่แบงก์ชาติถูกไอเอ็มเอฟเข้ามาคุม เขาไม่รับเลย ให้ ธ.ก.ส.ดูแลตัวเอง เราก็ใช้วิธีของแบงก์ชาติ ตอนแรกเราก็ไปเจรจาให้แบงก์พาณิชย์ทั้งกรุงไทย ไทยพาณิชย์ กรุงเทพ กสิกรไทย ให้ซื้อฝากเราเหมือนที่แบงก์ชาติทำเขาคิด 10% เพราะตอนนี้ผันผวนมากและเป็นเงินยาว 25-30 ปีไม่มีใครกล้าเสี่ยงทำ แต่มันแพงมาก เราก็เลยมาทำเองด้วยการตั้งกองทุนขึ้นมาในแบงก์กันเงินไว้ 3.5% ของเงินที่ได้รับ ปีที่แล้วเยนไม่ผันผวนมาก แต่ปีนี้ผันผวนมากเราก็เพิ่มเป็น 5% เราจะดูที่สถานการณ์ถ้าดีขึ้นเราก็กันน้อยลง ถ้าแย่ลงเราก็ต้องกันมากขึ้น เราใช้วิธี Hedge ตัวเอง เราจะหักเงินไว้เลยทันทีล่วงหน้าเมื่อเราได้รับเงินเข้ามา เพราะเราค่อนข้างเชื่อว่าเงินกู้ระยะยาว 20-30 ปี ไม่ค่อยน่ากลัว แต่ที่คนกลัวเพราะว่ามันผันผวนมากในช่วง 3-6 เดือนที่ผ่านมา และส่วนใหญ่เงินที่เรากู้มาเป็นเงินยาวในช่วง 5-6 ปีแรก เราจะได้ระยะปลอดหนี้ไม่ต้องส่งเงินต้น ส่งแค่ดอกเบี้ย เพราะฉะนั้นการจะกำไร หรือขาดทุนอยู่ที่ตรงนี้ และการที่เรากันไว้ 3-5% เราก็อยู่ได้แล้ว" เอ็นนู อธิบายวิธีการจัดการความเสี่ยงค่าเงิน ที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน


แบงก์สีเขียว
เปิดศักราชใหม่ธ.ก.ส.

การประท้วงของกลุ่มเกษตรกรที่เกิดขึ้นทุกปีและส่อเค้าความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ ได้ส่งผลกระทบต่อภาพพจน์และภาพลักษณ์ของ ธ.ก.ส. โดยเฉพาะในสายตาของคนทั่วไป เพราะที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ขาดการประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปเข้าใจถึงฐานะขององค์กร "แต่ก่อนไม่มีใครสนใจ ธ.ก.ส. ตอนนี้ถือเป็นโอกาสดี ยิ่งปัญหามีมากเท่าไหร่ คนก็ยิ่งมาสนใจ ธ.ก.ส.มากขึ้น เราก็มีโอกาสได้อธิบายมากขึ้น" เอ็นนูชี้แจง

หลายคนยังสงสัยและคาใจกับฐานะของ ธ.ก.ส. โดยเฉพาะหนี้เสียที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของสถาบันการเงินไทยขณะนี้ ยิ่งลูกค้า ธ.ก.ส.มากกว่า 80% เป็นเกษตรกรรายย่อย กอปรกับกระแสการเรียกร้องปลดและพักชำระหนี้ของเกษตรกร จึงเป็นมูลเหตุให้คนส่วนใหญ่เชื่อว่า ธ.ก.ส.กำลังแบกรับภาระหนี้เสียอยู่เป็นจำนวนมาก

ทว่า ในความเป็นจริงตรงกันข้าม เพราะอัตราการชำระหนี้คืนของลูกหนี้ ธ.ก.ส.มีสัดส่วนสูงถึง 80% ของหนี้เงินกู้ทั้งหมด ซึ่งในรอบปีบัญชี 2540 ธ.ก.ส.ได้รับการชำระหนี้เงินกู้คืน จำนวน 108,844 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ของเกษตรกรรายย่อย 92,221 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 84.7% สหกรณ์การเกษตร 15.2% เป็นเงิน 16,566 ล้านบาท และกลุ่มเกษตรกรอีก 57 ล้านบาท หรือ 0.1% ขณะที่การรับชำระคืนเงินกู้ต่อต้นเงินที่ถึงกำหนดชำระของเกษตรกรรายย่อยมีสัดส่วนสูงถึง 82.62% ลดลงจากปีบัญชีก่อนหน้าเล็กน้อยจากที่ระดับ 87.17%

สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ธ.ก.ส.จะมีระบบที่แตกต่างจากแบงก์พาณิชย์ทั่วไป เนื่องจากลักษณะอาชีพการเกษตรจะเป็นฤดูกาล และมีความเสี่ยงสูงมากกว่าอาชีพอื่น เพราะการทำเกษตรส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ ธ.ก.ส.จึงยืดเวลาการตัดหนี้สูญออกไปถึง10 ปี โดยในแต่ละปี ธ.ก.ส.จะตั้งสำรองหนี้ไว้ 10% ทุกปีจนกว่าจะครบ 100% ฉะนั้นปริมาณหนี้เสียของ ธ.ก.ส.จึงมีต่ำมาก

"การตัดหนี้สูญของ ธ.ก.ส.ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของลูกค้า ปกติเราจะยืดให้จนถึง 10 ปี แต่บางราย 1 ปีเราก็ฟ้อง, 10 ปีเราไม่ฟ้อง เพราะมันขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของกลุ่ม ถ้าดีเราก็ไม่ฟ้อง เราถึงต้องคัดเสียแต่ทีแรก เราจะฟ้องทั้งกลุ่ม เพราะส่วนใหญ่จะค้ำประกันกันเอง เราจะดูที่ความจำเป็นเป็นหลัก จะไม่ใช้กฎเกณฑ์เดียวกับแบงก์พาณิชย์ เพราะจะเห็นได้ว่ายอดหนี้ค้างจ่ายเพียงปีเดียวมันลดลง แสดงว่ายังไม่ได้เป็นหนี้เสียไม่ใช้คืน แต่ของเราจะลดลงตลอดอย่างปี 38 มีหนี้ค้าง 8,400 ล้านบาท ปีถัดมาเหลือ 1,168 ล้านบาท อีกปีเหลือ 843 ล้านบาท มันลดทุกปี แต่ถ้าเราเอาเวลาจับรีดนาทาเร้น เขาก็แย่ เราทำไม่ได้ เพราะว่าเกษตรกรรายได้ปีหนึ่งมีครั้งเดียว อย่างทำนาเขาทำครั้งเดียว แต่บางคนปลูก 3 ครั้งได้เกี่ยวเพียงครั้งเดียว แล้วจะไปว่าเขาเบี้ยวได้อย่างไร

ที่เราต้องการจะอธิบายก็คือว่า คนส่วนใหญ่มักมองว่าหนี้ของ ธ.ก.ส. แย่ แต่อยากจะให้เห็นว่า เมื่อสิ้นปีบัญชี 38 หนี้เกิดใหม่ อายุ 1 ปี มีจำนวน 8,440 ล้าน พอปี 39 ก้อนนี้ลดลงได้ 86% แต่มีหนี้ใหม่เกิดขึ้นอีก 9,500 ล้านบาทและปี 40 หนี้ก้อนใหม่นี้ลดลง 81% เหลือ 1,700 ล้านบาท แต่ก็มีของ ใหม่เกิดอีก 15,000 ล้านบาทและก็ลดลงเร็วมาก คนมักจะคิดว่าเกษตรกรเดินขบวนบ่อย สงสัยหนี้คงจะแย่ จริงๆ แล้วเขาซื่อสัตย์ มีส่วนน้อยเท่านั้นที่เกเร ที่มันช้าไม่ใช่เพราะเขาไม่อยากส่ง แต่เพราะเราปิดบัญชีวันที่ 31 มีนาคม คุณช้าไปวันเดียวก็ถือว่าเป็นพวกค้างหนี้แล้ว เพราะฉะนั้นภายใน 3-6 เดือน หลังจากวันปิดบัญชีของ ธ.ก.ส. เขาก็จะเอามาส่งจะเห็นได้ว่ามันลดลงเร็วมาก แต่ที่ยังไม่ส่งอาจจะเอาเงินไปใช้อย่างอื่นก่อน อย่างเช่นส่งค่าเทอมให้ลูกก่อน แต่เขาก็มาส่งทันทีที่เขามี"

สภาพคล่องที่ล้นเหลือในช่วงที่แบงก์อื่นขาดยังเป็นเครื่องชี้วัดถึงความแข็งแกร่งของ ธ.ก.ส. ด้วยสินทรัพย์กว่า 2 แสนล้านบาท และความสามารถปล่อยกู้ได้ราวเดือนละ 2 หมื่นล้านบาท แต่เนื่องจากการเกษตรต้องทำตามฤดูกาล ดังนั้นในช่วงที่ยังไม่มีการเพาะปลูก สภาพคล่องของ ธ.ก.ส. จะมีสูงมาก เพราะเกษตรกรจะนำเงินมาชำระหนี้ เป็นผลให้ในช่วงนี้ ธ.ก.ส.มีเงินเข้ามาถึงแสนล้านทั้งปี โดยเงินส่วนนี้ ธ.ก.ส. นำไปหาดอกผลที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ก่อนฤดูการกู้ของเกษตรกรจะเวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีนาคมที่ผ่านมา ธ.ก.ส.มีเงินที่เหลือ หลังการเก็บสำรองเงินสดตามหลักเกณฑ์ ธปท. 7% หรือสภาพคล่องส่วนเกินประมาณ 20,000 ล้านบาท ธ.ก.ส.จึงใช้วิธีเก็บครึ่งหนึ่งไว้สำรอง รอผู้ฝากมาถอน ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งได้นำเข้าตลาดเงินด้วยการปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์ และบางส่วนนำเข้าไปในตลาดรีโป หรือตลาดซื้อคืนพันธบัตรของแบงก์ชาติ ซึ่งตลาดนี้มีกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นลูกค้ารายใหญ่

การที่ ธ.ก.ส.จะอยู่รอดหรือไม่นั้น นอกเหนือจากการบริหารจัดการเงินที่ดีแล้ว ยังต้องขึ้นอยู่กับเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ ที่จะต้องเข้าใจว่าเงินที่ได้จาก ธ.ก.ส.ไปนั้น ไม่ใช่เงินของรัฐบาล และต้องนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด อันจะช่วยให้ปัญหาหนี้สินที่เผชิญอยู่ทุกวันนี้บรรเทาเบาบางลงไปได้ ซึ่งเรื่องนี้ ธ.ก.ส.ได้มอบหมายให้พนักงานสาขาสร้างความเข้าใจ และปลูกจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินของผู้อื่นให้แก่เกษตรกรไปแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้โครงสร้างเศรษฐกิจของครัวเรือนเกษตรได้มีการเปลี่ยนแปลงไป อาชีพเสริมที่นอกเหนือการเกษตรได้กลายเป็นแหล่งรายได้หลักของเกษตรกร ขณะเดียวกันปัญหาหนี้สินนอกระบบส่วนหนึ่ง ยังเป็นผลมาจากคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ซึ่ง ธ.ก.ส.ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ ธ.ก.ส.จึงได้เสนอรัฐบาลให้มีการแก้ไขกฎหมาย ให้ครอบคลุมถึงคุณภาพชีวิตและการศึกษาของเกษตรกรให้ดีขึ้น ทัดเทียมกับคนในสาขาอาชีพอื่นได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

"เป้าหมายหลักก็เพื่อขยายขอบเขตการให้กู้เงิน เดิมเราปล่อยเฉพาะเรื่องเกษตร เกี่ยวเนื่องเกษตร แต่เราจะขอแก้ให้มีสินเชื่อเพื่ออาชีพอื่นเสริมรายได้ให้เกษตรกร อันนี้จะไปรองรับแรงงานตกงานที่กลับคืนถิ่น ซึ่งส่วนหนึ่งจะต้องกลับไปเป็นแรงงานของพ่อแม่ แต่จะมีประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้น เพราะว่าถ้าเขารักจะทำ เขาคงไม่เข้าเมืองหรอก แล้วยิ่งมาอยู่ในเมืองนาน เขาก็จะไม่อยากจับจอบจับเสียม แต่เขาจะมีวิชาความรู้ที่ได้ไปจากเมือง เขาอาจจะมาทำอะไร ก็ได้ที่จะเป็นอาชีพเสริมที่เขามีรายได้ นี่คือสิ่งที่เราเสนอ ไม่ใช่เราจะต้องบังคับว่าคุณจะต้องมาไถนาอย่างเดียวอย่างนี้ไม่ถูก แต่อะไรก็ตามที่ทำในชนบทแล้ว เขาไม่ต้องกลับเข้ามาในเมืองอีกเราจะทำ ตรงนี้หลักใหญ่ที่เราต้องการแก้

อีกประการหนึ่งที่เราพบคือ ปัญหาของชาวบ้านที่ไปเป็นหนี้นอกระบบ เพราะเรื่องที่จำเป็น อย่างไม่สบายเจ็บไข้ได้ป่วยต้องเข้ารักษาตัวเสียเงินเป็นจำนวนมาก ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่าย แล้ววันหนึ่งก็ต้องสูญเสียที่ดิน เพราะดอกเบี้ยแพง เราก็พร้อมที่จะพัฒนาสินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต อย่างเช่นเจ็บป่วย การศึกษา ในข้อกฎหมายที่พูดถึงคุณภาพชีวิต มีส่วนหนึ่งที่เราจะให้กู้เพื่อการศึกษาบุตรหลาน นอกจากนี้ก็มีเงินกู้เพื่อเคหะสงเคราะห์ เราอยากให้เขามีบ้านที่ดีพอเพียงต่อการดำรงชีพ แล้วคุณก็ไม่จำเป็นต้องไปแจกผ้าห่มเวลาหน้าหนาว 2 ตัวนี้เป็นหลักที่เราอยากจะทำมาก แต่ก็มีคนกลัวว่าเราจะออกจากเรื่องเกษตร แต่ใน ก.ม.เราได้เขียนไปว่าอาชีพอื่นเพื่อเสริมรายได้ กับคุณภาพชีวิตเราจะให้สินเชื่อไม่เกิน 20% ของเงินกู้แต่ละปี อย่างเราจะปล่อย 150,000 ล้านบาท ก็ประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปีเท่านั้นเอง ส่วนอีก 80% เราเอาไปให้เพื่อการเกษตรเหมือนเดิม และใน ก.ม.ยังยืนยันตัวบุคคลที่จะมากู้จากเราว่าต้องเฉพาะเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร เท่านั้น และเน้นการกู้แบบใช้กลุ่มค้ำประกันเป็นหลัก" เอ็นนู กล่าวอธิบายถึงบทบาทใหม่ของ ธ.ก.ส. โดยหวังว่าก้าวใหม่นี้ จะสามารถช่วยให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อเป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของสังคมไทย

ในปีนี้ ธ.ก.ส.ได้ประกาศตัวเองเป็นธนาคารสีเขียว (Green Bank) ที่ให้สินเชื่อสีเขียว (Green Credit) แห่งแรกของไทย และเป็นปีแรกที่ ธ.ก.ส.นำเงินจากโออีซีเอฟจำนวน 150 ล้านเหรียญสหรัฐ และเอดีบีจำนวน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นตัวชูโรง ซึ่งเงินเหล่านี้มีเงื่อนไขเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม โดยเงินจากโออีซีเอฟมีข้อกำหนดให้กู้เฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับการปลูกป่าและบ่อก๊าซชีวภาพ ซึ่งที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ยังไม่เคยปล่อยกู้สินเชื่อทางด้านนี้ และในช่วงวิกฤตเช่นนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะนำโครงการเหล่านี้เข้ามา เพื่อให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม

"เรามองว่าสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทุกคนต้องดูแลรักษา ในเมื่อเราดูแลภาคเกษตรอะไรที่เราทำให้ภาคเกษตรไม่สร้างภาระ และความเดือดร้อนเราควรจะทำ อย่างสมมติการปล่อยกู้ให้ปลูกไม้ ทั้งไม้โตเร็ว และไม้เศรษฐกิจ เราจะให้กู้ประมาณ 15 ปี 5-8 ปีแรกเราจะให้เป็นช่วงปลอดหนี้ เพราะต้นไม้ยังไม่โต และต้องปลูกเป็นล็อตๆ แล้วเขาก็จะมีช่วงตัดฟัน ล็อตแรกที่ปลูกไปแล้ว 8 ปีตัดฟันได้ก็ตัด ล็อตที่ 2 ตัดได้ในปีที่ 9 ก็จะหมุนเวียนไปอย่างนี้แล้ว แต่ชนิดของต้นไม้ ขึ้นอยู่กับเกษตรกร เราจะร่วมงานกับกรมป่าไม้ ขณะนี้เราก็ได้ขอให้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญของกรมป่าไม้มาช่วยคิดเรื่องนี้ รวมทั้งปีนี้โออีซีเอฟก็พอใจที่เราประกาศตัวเป็นกรีนแบงก์ ในปีใหม่นี้เราจะขอกู้ไปอีกเราจะทำทางด้านวนเกษตร เพราะว่าการปลูกสวนป่าเกษตรเราคิดว่าคนจนก็ทำได้ เราก็ได้เสนอโครงการวนเกษตรให้ชาวบ้านปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น ปกติแล้วก็ปลูกไม้ป่าแซม หรือว่าปลูกผักแล้วปลูกต้นไม้แซมเข้าไป เราเรียกว่าไร่นาป่าผสม เพื่อให้เขาขายได้มีรายได้ซึ่งจะช่วยในการลดช่องว่างให้เขาสามารถนำพืชเหล่านี้ไปขายได้ เราจะให้กู้ มันจะมีลักษณะเหมือนกระปุกออมสินที่ออมไว้ในตัว เพราะอีก 5 ปี ก็ได้ตัดก็เป็นเงินขึ้นมา ก็จะทำให้คนจนมีส่วนร่วมในการปลูกป่า ธกส.ถือว่าเป็นลูกหนี้ชั้นดีมากของโออีซีเอฟ เพราะเรามีการพัฒนาที่ดีขึ้นทุกโครงการ" เอ็นนูกล่าว

นอกจากนี้ยังมีโครงการยาสมุน ไพร ที่ทาง ธ.ก.ส.ได้ริเริ่มและเข้าไปทำร่วมกับโรงพยาบาลชุมชน และได้เริ่มโครงการนำร่องไปแล้วที่ อ.บางกระทุ่ม ระยอง โดยให้เกษตรกรปลูกพืชสมุนไพร และนำไปส่งให้กับโรงพยาบาลเพื่อผลิตออกมาเป็นยา ขณะที่ ธ.ก.ส.จะเป็นผู้ที่คอยสนับสนุนด้านการเงิน และหาตลาดให้อีกทางหนึ่งด้วย และเมื่อไม่นานมานี้ทาง ธ.ก.ส.ร่วมกับองค์การเภสัชกรรมได้ทำการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นชื่อ บริษัทผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย จำกัด มีโรงงานอยู่ที่อำเภอวังน้อย อยุธยา

นับจากนี้ไปภารกิจของ ธ.ก.ส.ใหญ่หลวงนัก แบงก์แห่งนี้จะสามารถเดินทางไปถึงเป้าหมายที่หวังหรือไม่ ในภาวะที่ถูกบีบรัดจากไอเอ็มเอฟ ที่บังคับให้ธ.ก.ส.ต้องสิ้นสภาพของแบงก์อภิสิทธิ์ ต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ของแบงก์ชาติ นั่นย่อมหมายความว่าเงินที่ลงไปสู่ภาคเกษตรกรรมต้องหดหายไปไม่น้อย ธ.ก.ส.จะกรายสภาพเป็นเตี้ยอุ้มค่อมหรือไม่ หากรัฐยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนในเรื่องนี้ แล้วอนาคตของไทยจะเป็นอย่างไรในศตวรรษที่ 21 ถ้าฐานรากของประเทศไม่แน่นพอที่จะต้านกระแสทุนโลกที่พัดแรงขึ้นทุกที

"เราน่าจะเลิกพูดว่าเกษตรกรเป็นกระดูกสันหลังของชาติ เราพูดมานานมากและเราก็ให้เขาเป็นกระดูกจริงๆ ไม่มีเนื้อติดเลย การเกษตรเป็นแกนหลักของประเทศไทยควรเป็นประเทศเกษตรกรรม รัฐบาลควรให้ความสนใจในภาคเกษตรอย่างจริงจัง เพราะสภาพดินฟ้าอากาศ พื้นที่การทำกินเรา ไม่เหมือนประเทศตะวันตกที่เขาพัฒนาอุตสาหกรรม เพราะประเทศเหล่านั้นหนาวถึงกว่า 6 เดือน บ้านเราแดดออกทั้งปี ประเทศเราเป็นประเทศที่ปลูกพืช ผัก ผลไม้ได้ทั้งปี แล้วเราเป็นประเทศที่ปลูกข้าวได้ดีที่สุดในโลก แต่เราลืม ไปคิดว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องล้าหลัง เพราะว่าคนที่วางแผน เขาก็อยากจะเปลี่ยนที่ราบลุ่มที่ปลูกข้าวได้ดีที่สุดในโลกเป็นโรงงานอุตสาหกรรม อย่างตอนนี้กรุงเทพฯ ปริมณฑล สมุทรปราการ นนทบุรี อยุธยา พื้นที่สีเขียวที่เป็นแหล่งปลูกข้าวกลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมหมดแล้ว ซึ่งพื้นที่ตรงนั้นเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมตลอด เราพยายามไปเลียนแบบเขา โดยไม่ได้ดูว่าทำไมเขาถึงพัฒนาไปอย่างนั้น ควรจะพัฒนาอีกอย่าง

แต่วันนี้เรายังไม่สาย หลังจากบาดเจ็บแล้วก็หันมาสำนึกตนเองเสีย ก่อนที่พื้นที่ทำการเกษตรจะลดลงไปมากกว่านี้ แล้วแรงงานภาคเกษตรก็ไปเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม ตอนนี้เราต้องมานั่งนับหนึ่งใหม่ ต้องมานั่งดูว่าจุดดีจุดเด่นของประเทศอยู่ที่ไหน ตอนนั้นถ้าประเทศเรามีจุดแข็งที่ภาคเกษตรเราสามารถผลิตอาหารเลี้ยงโลกได้ เป็น 1 ใน 4 ของโลกสามารถส่งออกสินค้าเกษตรไปขายทั่วโลก ข้าวไทยขายเป็นอันดับหนึ่งมากี่ปี ทำไมเราไม่มาเติมจุดตรงนี้ให้เต็มในเมื่อมันยังขายได้ ทำไมไม่เพิ่มผลผลิตตรงนี้ในพื้นที่เดิม หาเทคโนโลยีที่จะสามารถผลิตได้มากขึ้น แต่บ้านเราไม่สนใจเรื่องการพัฒนาวิจัยเทคโนโลยีทางการเกษตร เราปล่อยให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิต โดยวิธีถางป่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ป่าเราก็หายไปเรื่อยๆ ตรงนี้เป็นจุดที่ต้องแก้ไขซึ่งในเมืองนอก R&D เขาลงทุนมหาศาล ถ้าจะทำให้ถูกต้องทำวิจัยในเรื่องเหล่านี้ และทุ่มเททรัพยากรมาทำภาคเกษตร แต่ไม่ใช่ทุกพืช เราต้องใช้เงินทุกบาทให้คุ้มค่า เราต้องมาเลือกว่าอาชีพใดที่เราควรทำแล้วก็ส่งเสริม ผมเชื่อว่าเราสามารถทำได้ 2 อย่างไปพร้อมๆ กันคือ 1. เกษตรเพื่อการแข่งขัน 2. เกษตรพอเพียง" บทสรุปของเอ็นนูที่สะท้อนถึงความเป็นจริงในปัจจุบัน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us