Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2541
สตาร์บล็อค เหตุเดิมๆ ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์             
 

   
related stories

สตาร์บล็อค จะรั้งเอาไว้หรือปล่อยให้ตายดีกว่า?




ความผิดพลาดอันใหญ่หลวงของผู้บริหารสตาร์บล็อคอยู่ที่ขยายการลงทุนมากเกินไป ในธุรกิจพัฒนาที่ดินบทสรุปของมันจึงใกล้จะถึงจุดจบ เหมือนอีกหลายบริษัททั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์

เหตุการณ์ในสตาร์บล็อคกรุ๊ป ปรากฏภาพความรุนแรงขึ้นเมื่อปลายปี 2539 เมื่อปรากฏผลขาดทุนสูงถึง 2,123 ล้านบาท มีหนี้สินรวมประมาณ 3,000 ล้านบาท ในขณะที่ทรัพย์สินรวมเหลือเพียง 2,011 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นยังคงมีตัวเลขกำไรถึง 89 ล้านบาทปี 2538 และยิ่งทวีอาการสาหัสจนกระทั่งต้องยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลในที่สุด

สตาร์บล็อค ถูกก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2525 โดยสุเทพ บูลกุล จุดเด่นอยู่ในเรื่องสร้างพันธมิตรและเป็นผู้มองการณ์ไกล เช่นดึงเอาเทคนิคการก่อสร้างที่ใช้วัสดุสำเร็จรูปมาใช้ในโครงการ ทำให้การก่อสร้างเร็วขึ้น และต้นทุนการผลิตต่ำลง สร้างกำไรให้กับบริษัทเป็นกอบเป็นกำในยุคแรกๆ และกลายเป็นบริษัทรับสร้างบ้านยักษ์ใหญ่รายหนึ่งของเมืองไทย และเข้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อประมาณปี 2531 เป็นรายแรก

ธุรกิจหลักที่รับสร้างบ้านอย่างเดียวนั้นได้สร้างผลกำไรให้เพียงปีละไม่กี่สิบล้าน หรือสูงสุดเมื่อปี 2533 เพียง 95 ล้านบาทนั้น ไม่สะใจสุเทพและกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่แน่นอน และมีแนวโน้มกำไรอาจจะลดลงด้วยซ้ำ เมื่อมีโครงการบ้านจัดสรรที่นับวันจะเกิดเพิ่มขึ้นมากมาย ในราคาต่ำกว่ามาเป็นคู่แข่งที่สำคัญ

สุเทพเลยเริ่มหาช่องทางในการหารายได้เพิ่มในการขยายตัวไปทำธุรกิจพัฒนาที่ดิน ซึ่งเป็นต้นเหตุของจุดจบในเวลาต่อมา ปล่อยให้บริษัทคู่แข่งสำคัญอย่างซีคอน ซึ่งบริหารงานในสไตล์อนุรักษนิยม ไม่ยอมขยายการลงทุน และไม่ยอมเข้าตลาดหลักทรัพย์ ยังคงอยู่ได้อย่างลอยตัว

บริษัทพัฒนาที่ดินมีส่วนสำคัญในการกระชากลากถู ให้บริษัทแม่อย่างสตาร์บล็อคมีปัญหาอย่างหนักคือ อีสเทอร์นสตาร์ เรียลเอสเตท ซึ่งสตาร์บล็อคได้เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นในระยะแรกๆ อยู่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี 2531 ร่วมกับผู้ถือหุ้นใหญ่คือกลุ่มสหยูเนี่ยน อานันท์ ปันยารชุน และไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ ซึ่งรายชื่อกลุ่มผู้ถือหุ้นแต่ละคนในช่วงเวลานั้น ล้วนแต่สร้างความมั่นใจว่า สตาร์บล็อคต้องเป็นดาวรุ่งที่พุ่งแรงแน่นอน

สุเทพ ใช้เงินลงทุนในอีสเทอร์นสตาร์ไปหลายร้อยล้านด้วยความหวังว่าจะคืนทุน มีเม็ดเงินไหลกลับสตาร์บล็อคอย่างช้าไม่เกินปี 2536 แต่ในเมื่อเป้าหมายสำคัญของอีสเทอร์นสตาร์ก็คือ การพัฒนาที่ดินชายฝั่งทะเลตะวันออก ในเขตอำเภอบ้านฉางประมาณ 2,000 ไร่ ให้เป็นบ้านจัดสรร สนามกอล์ฟ คอนโดมิเนียม และอาคารสำนักงาน เพื่อเป็นการรองรับโครงการอีสเทรินส์ ซีบอร์ดของรัฐบาล

ความหวังตรงจุดนี้ก็คว่ำลงอย่างไม่เป็นท่า เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนนโยบายเปลี่ยน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ปักหัวดิ่งลงตลอดเวลา ทำให้โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด โครงการที่จะสร้างให้เมืองไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมสมัยใหม่ กลับล้มเหลว และเป็นเรื่องที่ลืมไปได้เลยในรัฐบาลชุดปัจจุบันนี้

อีสเทอร์นสตาร์ ซึ่งลงทุนอยู่ในพื้นที่เดียว ยังไม่ทันได้กระจายความเสี่ยงไปที่อื่นๆ ก็เลยเจอปัญหาอย่างหนัก โครงการบางส่วนกำลังสร้างยังค้างคา ที่เหลือยังขายไม่ได้ และคงไม่ได้ไปอีกนาน ในขณะที่ยอดหนี้ที่ทวีเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่มีทางออก

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันสตาร์บล็อคก็ได้ตั้งบริษัท ต้นปิงวาเลย์ เข้าไปซื้อที่ดินประมาณ 2,000 ไร่ที่จังหวัดเชียงราย วาดหวังไว้อย่างสวยหรูว่า จะพัฒนาเป็นศูนย์สุขภาพ (เป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่เอามาทำแผนฟื้นฟู) ถึงแม้ราคาจริงที่ซื้อมาตอนนั้นไม่น่าจะเกิน 400 ล้านบาท แต่ในงบการเงินเมื่อปลายปี 2540 มูลค่าของที่ดินแปลงนี้รวมดอกเบี้ยราคาขึ้นไปถึง 800 ล้านบาท ในขณะที่ราคาประเมินระบุไว้เพียง 175 ล้านบาทเท่านั้น

เป็นการลงทุนที่ขาดทุนดอกเบี้ยอย่างย่อยยับอีกโครงการหนึ่ง เมื่อพัฒนาโครงการของตนยังไม่ได้ สตาร์ บล็อคยังได้ใช้เงินก้อนใหญ่เข้าไปลงทุนในหุ้นของบริษัทพัฒนาที่ดินอีกหลายโครงการเช่น การเข้าไปซื้อหุ้นในบริษัทบ้านฉาง หุ้นในบริษัทแผ่นดินทองพร็อพเพอร์ตี้ส์ บริษัทขอนแก่นแลนด์ดีเวลลอปเม้นท์ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลขาดทุนทั้งสิ้น

นอกจากนั้นยังมีอีกหลายบริษัทที่สตาร์บล็อคตั้งขึ้นมา ดำเนินการไป 1-2 ปีขาดทุนพอหอมปากหอมคออีกบริษัทละ 20-30 ล้านบาท แล้วก็ปิดไป เช่นบริษัทสตาร์ เรียลเอสเตท มาร์เก็ตติ้ง ซึ่งเป็นบริษัทขายบ้านมือสอง บริษัทสตาร์รีเสิร์ชแอนด์คอนซัลท์เพื่อรับเป็นที่ปรึกษาทางด้านพัฒนาที่ดิน

และนี่คือที่มาของมูลหนี้กว่า 3,000 ล้านบาท ในขณะที่ทรัพย์สินที่เหลืออยู่ ก็มีมูลค่าลดน้อยลงทุกที เช่น ที่ดินและอาคารสำนักงานใหญ่บนถนนพระราม 4 เนื้อที่ 3 งาน 53 ตารางวานั้นราคาเมื่อสิ้นปี 2540 ประมาณ 67 ล้านบาท ประเมินใหม่เหลือเพียง 40 ล้านบาท อาคารพาณิชย์ 2 คูหา ที่โครงการสมประสงค์พลาซ่า (เดิม) ที่จอมเทียน ราคาเดิม 5.6 ล้านบาทเหลือเพียง 3 ล้านบาท เงินลงทุนในหุ้นของบริษัทต่างๆ ทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ปัจจุบันก็เหลือเพียง 37 ล้านบาท(อ่านรายละเอียด ในตารางทรัพย์สิน)

ในขณะเดียวกันเงินที่เคยให้บริษัทในเครือกู้ยืมเกือบ 1,000 ล้านบาทนั้นตอนนี้ก็คงเป็น NPL หมดแล้ว

และถ้าหากคราวนี้ สุเทพยื่นอุทธรณ์ไม่ผ่าน หนทางสุดท้ายก็คือเจ้าหนี้ต่างคนต่างก็ใช้สิทธิ์ของตนเองรุมทึ้งทรัพย์สินที่เหลือ และก็คงต้องปิดฉากบริษัทสตาร์บล็อค กรุ๊ป กันเสียที!!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us