อดีตที่เคยเกรียงไกรของบริษัทผาแดงฯ ในฐานะที่เป็นบริษัทที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วแห่งหนึ่ง
และสามารถขยายการลงทุนออกไปอย่างมากมาย ราคาหุ้นพุ่งกระฉูดและถือเป็นหุ้นขวัญใจนักลงทุนในช่วงหนึ่ง
ความรุ่งเรืองเหล่านั้นสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นอย่างมหาศาล การขยายการลงทุนครั้งนั้นได้ทำให้ผาแดงฯ
บาดเจ็บสาหัส ก่อนโดนกระหน่ำด้วยวิกฤติเศรษฐกิจล่าสุด มาวันนี้ผาแดงฯ ต้องปรับตัวทุกด้านเพื่อความอยู่รอด
ล่าสุดได้ทุนต่างชาติเข้ามาช่วยชุบชีวิต ผาแดงฯ ซึ่งได้รับการสนับสนุนค้ำจุนจากภาครัฐมาโดยตลอด
จะกลับมายิ่งใหญ่และรุ่งเรืองเหมือนในอดีตได้อีกหรือไม่ ?
ปี 2524 เป็นยุคที่มีพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องการเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
และนำทรัพยากรภายในประเทศมาพัฒนาและใช้ให้คุ้มค่า รวมทั้งเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศและกระจายราย
ได้ลงไปสู่ระดับภูมิภาค ดังนั้นโรงงานถลุงแร่สังกะสีแห่งแรกและแห่งเดียวของไทยจึงเกิดขึ้น
ภายใต้ชื่อ บริษัท ผาแดง อินดัสทรี จำกัด โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ด้วยทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท ซึ่งโรงถลุงสังกะสีตั้งอยู่ที่ จ.ตาก โดยอาศัยแหล่งแร่สังกะสีที่
อ.แม่สอด ป้อนเข้าสู่โรงถลุง
อย่างไรก็ตามในยุคนั้นผาแดงฯ จำเป็นต้องหาผู้ร่วมทุนต่างประเทศที่มีความชำนาญในเรื่องเทคโนโลยีด้านต่างๆ
เข้ามาดำเนินการ ในที่สุดก็ได้ บริษัท เวียงมองตาน จำกัด (Vielle Montagne
S.A.) ประเทศเบลเยียมเข้ามาร่วมทุน นี่คือจุดกำเนิดของผาแดงฯ ท่ามกลางความยินดีของรัฐบาลไทย
และนับจากนั้นเป็นต้นมา ผาแดงฯ ได้ เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ ทั้งประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ
จนกระทั่งสามารถขยายการลงทุนในแต่ละโครงการเป็นมูลค่านับหมื่นล้านบาท
ปี 2530 เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 800 ล้านบาท พร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากด้วยผลประกอบการ ชนิดผู้ถือหุ้นปลื้มไปตามๆ
กัน โดยในปี 2530-2533 แสดงกำไรสุทธิ 278.26 ล้านบาท, 802.05 ล้านบาท, 1,806.86
ล้านบาท และ 1,486.47 ล้านบาทตามลำดับ เนื่องจากราคาสังกะสีโลกได้ไต่ไปอยู่ที่ระดับ
2,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ต้นทุนการผลิตของผาแดงฯ ไม่ถึง 1,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน
ส่งผลให้ราคาหุ้นของผาแดงฯ พุ่งทะยานติดลมบนไปสูงถึง 2,000 บาท (ราคาพาร์
100 บาท) ทำให้มูลค่าการซื้อขายหุ้นในแต่ละวันติดท็อปเทนโดยตลอด ในที่สุดได้รับโปรโมตให้เป็นหุ้น
"บลูชิป"
ในยุคฟองสบู่ดังกล่าว ผาแดงฯ สามารถสร้างผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้นชนิดบริษัทอื่นๆ
มองไม่เห็นฝุ่น สร้างความอิจฉาให้กับบรรดานักลงทุนที่ไม่มีหุ้นผาแดงฯ ในพอร์ตตัวเอง
มีการคำนวณกันอย่างคร่าวๆ ว่าตั้งแต่ดำเนินการธุรกิจมาจนถึงประมาณปี 2533
สร้างกำไรคืนให้กับผู้ถือหุ้นเป็นเม็ดเงินกว่า 3,000 ล้านบาท โดยในปี 2530-2533
มีอัตราผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นอยู่ที่ระดับ 23.96%, 44.87%, 64.66% และ 46.44%
ตามลำดับ และกำไรสุทธิต่อหุ้น 3.48 บาท, 10.03 บาท, 22.59 บาท และ 18.58
บาท ตามลำดับ
เมื่อผลประกอบการดีทำให้ผาแดงฯ เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่มีเงินสดหมุนเวียน
(cash flow) มากแห่งหนึ่ง นั่นหมายความว่าโครงการขยายการลงทุนแทบไม่ต้องพึ่งพาสถาบันการเงินเลย
ถ้าดูอัตราหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น (D/E) ในรอบปี 2530-2533 อยู่ที่ระดับ
1.77 เท่า, 0.91 เท่า, 0.50 เท่า และ 0.37 เท่า ตามลำดับ ซึ่งบ่งบอกถึงศักยภาพและการก่อหนี้ของบริษัทที่สถาบันการเงินไม่อาจปฏิเสธได้
ในรอบทศวรรษแรกของผาแดงฯ ถือว่าเป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วอีกแห่งหนึ่ง
ส่วนหนึ่งมาจากเป็นแห่งเดียวที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยและยังมีรัฐบาลเป็นกองหลังชั้นเยี่ยม
ที่สำคัญราคาสังกะสีโลกยังอยู่ที่ระดับสูง พร้อมทั้งความต้องการยังมีอย่างล้นเหลือ
และถ้าดูผลงานนอกจากจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการดำเนินงานที่เหมืองแม่สอดและโรงงานถลุงแร่ที่
จ.ตาก ยังได้ขยายการลงทุนไปสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งในรูปบริษัทย่อยและการร่วมลงทุน
ยุคแห่งความซวนเซ
ย่างเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 ดูเหมือน ว่าจะเป็นก้าวย่างที่ผาแดงฯ ไม่อยากให้เกิดขึ้น
เมื่อผลประกอบการเริ่มลดลง ตั้งแต่ปี 2534-2537 ทำกำไรได้เพียง 686.10 ล้านบาท,
725.57 ล้านบาท, 215.65 ล้านบาท และ 13.33 ล้านบาท ตามลำดับ สาเหตุเกิดจากราคาสังกะสี
ในตลาดโลกเริ่มลดลงมาและผลิตภัณฑ์สังกะสีที่ผาแดงฯ ผูกติดอยู่กับภาวะตลาดโลกเพียงอย่างเดียว
ทำให้ยากต่อการคาดการณ์เป็นอย่างมาก เนื่องจากความไม่แน่นอนของราคาแร่สังกะสี
เพราะผลต่างราคาสังกะสีขึ้นลงอยู่ในช่วงที่กว้างมาก คือ ประมาณ 300-500 เหรียญสหรัฐต่อตัน
เมื่อราคาสังกะสีในตลาดโลกซวนเซ ส่งผลกระเทือนมาสู่ผลประกอบของผาแดงฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยเฉพาะปี 2537 ราคาสังกะสีตลาดโลกลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน
อีกทั้งยังเป็นช่วงที่ผาแดงฯ กำลังขยายการลงทุนอย่างหนักเพราะ นโยบายทศวรรษที่
2 คือ จะดำเนินธุรกิจไม่พึ่งอุตสาหกรรมเหมืองแร่เพียงอย่างเดียว แต่จะขยายธุรกิจแบบ
conglomerate ซึ่งเป็นการผลิตแบบครบวงจรมีอุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมถลุงแร่
จนถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากโรงถลุง ตลอดจนขยายการลงทุนไปสู่อุตสาหกรรมเคมีที่เกี่ยวเนื่อง
และอุตสาหกรรมบริการที่รองรับโครงการต่างๆ ของบริษัท ซึ่งแต่ละโครงการล้วนแล้วแต่ใช้เงินจำนวนมหาศาล
นอกจากนี้ยังเบนเข็มสู่อินโดจีน เนื่องจากแหล่งแร่ในประเทศเริ่มหายากขึ้น
เช่น แร่สังกะสีซิลิเกต ประกอบกับศักยภาพทางด้านทรัพยากรธรรมชาติในประเทศเพื่อนบ้านของไทยยังมีอยู่อีกมาก
ทำให้ผาแดงฯ เล็งเป้าหมายการสำรวจและหาแหล่งแร่ใหม่ไปยังพม่า ลาว และเวียดนาม
จากความพยายามของผาแดงฯ ในการที่จะขยายการลงทุนเพื่อกอบกู้ผลประกอบการกลับมาให้ดีดังกล่าว
กลับต้องเจออุปสรรคขวางกั้น นั่นก็คือ cash in hand เริ่มหดหาย โดยเดือนมิถุนายน
2536 บริษัทไม่มีเงินสดและเงินฝากธนาคารอยู่ในมือเลย ต่างจากปี 2535 ที่มี
109.94 ล้านบาท สาเหตุเกิดจากนำไปชำระหนี้เงินกู้และนำไปใช้ลงทุนในโครงการต่างๆ
ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ รวมทั้งการสำรวจหาแหล่งแร่สังกะสี ทองแดง และทองคำเป็นจำนวนมาก
จากสภาพที่เกิดขึ้นดังกล่าวส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุนในอนาคตของผาแดงฯ อย่างมาก!!
เมื่อมาถึงปี 2538 เป็นปีแรกที่ผาแดงฯ ขาดทุนสุทธิ 476.60 ล้านบาท เนื่องจากราคาสังกะสีโลกยังไม่กระเตื้องขึ้น
และประสบกับปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบภายในประเทศ จำเป็นต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างมาก
อีกทั้งยังได้สร้าง โรงผลิตแคลไซน์ จ.ระยอง เพื่อแปรรูปหัวแร่สังกะสีซัลไฟต์เป็นแคลไซน์ก่อนส่งไปถลุงที่
จ.ตาก และปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตใหม่ด้วยเงินลงทุน 2,000 ล้านบาท
ปี 2539 สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นเมื่อขาดทุนสุทธิ 433.47 ล้านบาท เนื่องจากรัสเซียทุ่มตลาดอย่างหนัก
ทำให้ราคาสังกะสีตลาดโลกดำดิ่งอยู่ต่อไป โดยอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 1,025 เหรียญสหรัฐต่อตัน
ซึ่งต่ำกว่าปี 2538 ประมาณ 6 เหรียญสหรัฐต่อตัน
อย่างไรก็ตามปี 2539 ถือว่าเป็น นิมิตหมายที่ดีของผาแดงฯ เมื่อสามารถเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก
2,260 ล้านบาท เป็นผลสำเร็จ ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวได้นำไปปรับโครงสร้างการผลิตการจัดการใหม่
เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและวางรากฐานการเติบโตในอนาคตและเสริมสภาพคล่องอีกด้วย
แม้ว่าการปรับตัวของผาแดงฯ จะดำเนินการมาโดยตลอด แต่เมื่อมาเจอกับปีแห่งความเลวร้ายของเศรษฐกิจ
ไทย คือ ปี 2540 ส่งผลให้ขาดทุนสุทธิ 2,218.40 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน
2,314 ล้านบาท และจากความวิตกกังวลในวิกฤติการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย
โดยเฉพาะเกาหลีและญี่ปุ่น ซึ่งมีผลทำให้ปริมาณความต้องการสังกะสีทั้งภูมิภาคลดลง
และความไม่มั่นใจเกี่ยวกับปริมาณการส่งออกโลหะ สังกะสีจากจีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น
เป็นปัจจัยที่ส่งผลราคาในตลาดโลกเฉลี่ย ในปี 2540 อยู่ที่ระดับ 1,237 เหรียญสหรัฐต่อตัน
ปี 2540 ถือว่าเป็นปีที่ยากต่อการปรับตัวอย่างมาก เพราะบางอย่างอยู่เหนือการควบคุม
เพื่อให้บาดเจ็บน้อยที่สุด ผาแดงฯ ก็ทำทุกอย่าง ถ้าพิจารณาดูแล้วไม่ต่างจากองค์กรอื่นๆ
นอกจากการปรับลดสวัสดิการลงบางส่วนแล้ว ที่สำคัญได้ขยายกำลังการผลิตโลหะสังกะสีจาก
73,800 ตัน เป็น 91,588 ตัน ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลง และยังได้เพิ่มสัดส่วนใช้แร่ซิลิเกตที่มีต้นทุนต่ำกว่าแร่สังกะสีซัลไฟด์มาถลุงร่วมด้วย
ยุคแห่งการปรับตัว
แม้ว่าผาแดงฯ จะประกาศผลประกอบการครึ่งปีแรก ของปี 2541 ออกมาด้วยการโชว์กำไรสุทธิสูงถึง
465.29 ล้านบาท แต่การปรับตัวก็ยังมีอยู่ต่อไปและดูเหมือนว่าเป็นการปรับครั้งใหญ่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์
ถ้าจะไปหวังพึ่งราคาสังกะสีในตลาดโลกกระเตื้องขึ้น ดูจะเป็นเรื่องเลือนลางพอสมควร
แม้ว่าบรรดานักวิเคราะห์ยังมีความเชื่อมั่นว่าแนวโน้มจะสูงขึ้นในครึ่งปีหลัง
และอาจจะปรับตัวไต่ขึ้นไปอยู่ในระดับ 1,200 เหรียญ สหรัฐต่อตัน และคาดว่าราคาเฉลี่ยทั้งปียังคงอยู่ที่ระดับประมาณ
1,100 เหรียญสหรัฐต่อตัน เนื่องจากปริมาณ ความต้องการใช้ในยุโรปและอเมริกายังคงสูงอยู่
ซึ่งอาจจะสามารถทดแทนความต้องการที่ลดลงในภูมิภาคเอเชียได้ ประกอบกับสต็อกโลหะสังกะสีในตลาดโลกเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง
โดย ขณะนี้ (สิ้นเดือนกรกฎาคม 2541) ปริมาณโลหะสังกะสีอยู่ที่ระดับ 371,175
ตัน ลดลงเมื่อเทียบกับต้นปี 113,375 ตัน
นโยบายการปรับตัวของผาแดงฯ ที่เด่นๆ และกำลังดำเนินการอยู่ คือ จัดทำแผนธุรกิจระยะยาว
10 ปี เพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของบริษัทอย่างมีเป้าหมาย โดยมุ่ง
เน้นพัฒนายกระดับองค์กรสู่มาตรฐานสากลเป็นบริษัทนานาชาติ (international
company) ด้วยการปรับโครงสร้างองค์กรและระบบการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ซึ่งประสบความสำเร็จไปแล้วระดับหนึ่งเมื่อได้ บริษัท เวสเทิร์น เมทัลส์ จำกัด
เป็นบริษัททำธุรกิจเหมืองแร่ในออสเตรเลีย เข้ามาเป็น partner ผลดีก็คือ เวสเทิร์นฯ
มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำแห่งหนึ่งของโลกและผลิตแร่สังกะสีซัลไฟด์ และมีปริมาณสำรองแร่ไม่ต่ำกว่า
10 ปี ข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ผาแดงฯ มีแหล่งวัตถุดิบที่มั่นคงในระยะยาว ซึ่งเงินที่เวสเทิร์นฯ
นำเข้ามาซื้อหุ้นครั้งนี้จำนวน 1,142 ล้านบาท ส่งผลให้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในผาแดงฯ
ทันที และเม็ดเงินดังกล่าวจะนำไปชำระหนี้ของบริษัท ที่มีอยู่ 4,000 ล้านบาท
จะทำให้ภาระหนี้สินลดลงเหลือ 2,300 ล้านบาท และทำให้ฐานะการเงินดีขึ้นโดยมีหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น
(D/E) ลดลงจาก 2 ต่อ 1 เหลือ 1 ต่อ 1
ด้านนโยบายบริหารการเงินบริษัทจะไม่สร้างภาระหนี้เพิ่มขึ้นหรือลงทุนในโครงการใหม่
และพยายามลดต้นทุนทางด้านการเงินให้ได้มากที่สุด ที่เห็นๆ คือได้เพิ่มทุนไปแล้วตั้งแต่ปี
2539 และขณะนี้กำลังหาแหล่งเงินกู้ต่างประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ และมีระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ที่ยาวมากขึ้นเพื่อ
re-finance ในอนาคต ส่วนโครงการลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากแหล่งเงินทุนที่ได้จากการดำเนินงานของบริษัท
ในด้านการตลาดปี 2541 บริษัท ตั้งเป้าส่งออกต่างประเทศ 53% และจำหน่ายในประเทศ
47% เพราะเชื่อว่าสถานการณ์ภายในประเทศจะไม่ดีขึ้น เป้าหมายในต่างประเทศจะเน้นภูมิภาคเอเชีย
ได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเชีย นิวซีแลนด์ และเจาะตลาดใหม่ๆ อีก เช่น อินเดีย
พม่า
สำหรับทิศทางดำเนินงานในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าจะมุ่งเน้นธุรกิจโลหะสังกะสีเป็นหลัก
และหยุดดำเนินธุรกิจบริษัทในเครือ ที่ไม่สามารถทำกำไรเพื่อลดภาระทางด้านการเงิน
(ดูตารางบริษัทในเครือและบริษัทอื่นที่เข้าไปถือหุ้นประกอบ) เพื่อเร่งสร้างกระแสเงินสดให้ได้มากที่สุดและกลับมามีกำไรเช่นเดิม
สิ้นปี 2541 หยุดกิจการบริษัท ผาแดง พุงซาน เมททัลส์ จำกัด รวมไปถึงบริษัท
ผาแดงสยามอุตสาหกรรม จำกัด บริษัท ผาคำเอ็กซ์พลอเรชั่น แอนด์ ไมนิ่ง จำกัด
และบริษัท ผาทองเอ็กซ์พลอเรชั่น แอนด์ ไมนิ่ง จำกัด บริษัท เอเชีย อินเวสเมนท์
(1995) และ บริษัท เอราวัณไมนิ่ง จำกัด
การปรับกลยุทธ์ทุกกระบวนท่าของผาแดงฯ จะสามารถนำพาบริษัท กลับไปเป็นกิจการที่สร้างรายได้และความมั่งคั่งให้ผู้ถือหุ้นและประเทศอย่างมหาศาลได้อีกครั้งหรือไม่
อีกทั้งจะกลับไปเป็นหุ้นบลูชิปได้เหมือนเดิมได้อีกหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องรอเวลาพิสูจน์กันต่อไป
เพราะหุ้นกลุ่มเหมืองแร่เหลือเพียง ผาแดงฯ เท่านั้นที่เหลือให้นักลงทุนซื้อขายกันอยู่ในปัจจุบัน