การคว้าลิขสิทธิ์รายการถ่ายทอดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกฤดูกาลของปี 2541-2542
ของช่อง 9 เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย ที่ใครต่อใครก็คาดไม่ถึง
อย่างที่รู้ว่า ลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกตกเป็นของช่อง 7 มาตลอดหลายปี โดยมีสถานีโทรทัศน์ช่อง
3 คู่แข่งตัวฉกาจคอยไล่กวดมาติดๆ เรียกว่า หากช่อง 7 เผลอเมื่อไหร่ก็มีสิทธิ์โดนช่อง
3 คว้าไปกินได้ทันทีเหมือนกัน
พอในช่วงหลังเมื่อช่อง 7 มาถือหุ้นในไอบีซี ก็ควงคู่กันไปซื้อลิขสิทธิ์ร่วมกัน
มาถ่ายทอดทั้งในฟรีทีวี และเคเบิลทีวี จนผูกขาดเป็นเจ้าประจำกันมาหลายปี
แล้วจู่ๆ มาในปีนี้ ลิขสิทธิ์นี้มาตกเป็นของช่อง 9 โดยช่อง 7 ยืนมองตาปริบๆ
ได้แต่นึกในใจว่าอย่างน้อยก็ดีกว่าให้ช่อง 3 คว้าไป
ดร.กันทิมา ชี้แจงว่า ลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกที่ช่อง 9 ได้รับมานี้เป็นของยูบีซี
เป็นผู้ไปติดต่อมาแพร่ภาพได้ทั้งในเคเบิลทีวี และฟรีทีวี เรียกว่า เป็นลิขสิทธิ์พ่วง
และหลังจากนั้นก็นำมาเปิดประมูลให้ฟรีทีวียื่นข้อเสนอมา
"ช่อง 9 เขาให้ข้อเสนอมาดีที่สุด เราก็ต้องให้เขาไป" ดร.กันทิมากล่าว
แต่เธอก็ไม่ได้บอกว่า ข้อเสนอของช่อง 9 นั้นดีกว่าช่องอื่นอย่างไร และไม่ได้บอกถึงสาเหตุว่า
ทำไมจึงเปลี่ยนจากการซื้อลิขสิทธิ์ร่วมกับพันธมิตรอย่างช่อง 7 ซึ่งก็ยังถือหุ้นอยู่ในไอบีซี
เหมือนอย่างที่เคยเป็นมา แต่มาใช้วิธีการประมูลแทน
มีการวิเคราะห์กันว่า สาเหตุที่ช่อง 7 ไม่สามารถคว้าลิขสิทธิ์มาได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่แล้วมาช่อง
7 นั้น มักจะไม่ได้ถ่ายทอดสดการแข่งขัน แต่เป็นการนำเอาบันทึก การแข่งขันมาแพร่ภาพอีกครั้งหนึ่ง
ทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่พอใจ เพราะช่วงเวลาที่ถ่ายทอดสดของพรีเมียร์ลีกไปตรงกับละคร
ซึ่งเป็นช่วงที่ได้เงินค่าโฆษณาได้มากกว่า
แต่ลึกๆ แล้ว ดูเหมือนว่า งานนี้ยูบีซีจะมีใจให้กับช่อง 9 มากเป็นพิเศษ
เพราะค่าลิขสิทธิ์ที่ยูบีซีขายให้กับช่อง 9 นั้น มีมูลค่า 50 ล้านบาท โดยช่อง
9 จะถ่ายทอดสดทุกวันเสาร์ เริ่มตั้งแต่ 12 กันยายน รวม 30 นัด แหล่งข่าวจาก
อ.ส.ม.ท.เล่าว่า เป็นราคาตุ้นทุนที่ยูบีซีไม่ได้บวกกำไรเลย และยังยอมให้แบ่งจ่ายเป็นงวดๆ
ได้อีกด้วย
"เจ้าหน้าที่ช่อง 9 เองก็ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าจะได้รับลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก
มารู้ก่อนหน้าหนังสือพิมพ์นิดเดียวเอง" แหล่งข่าวจากอ.ส.ม.ท.กล่าว
จะว่าไปแล้วการรวมกิจการระหว่างไอบีซี และยูบีซี หากไม่ใช่เพราะ อ.ส.ม.ท.เปิดไฟเขียวให้
ก็คงสำเร็จได้ยาก หรือคงเกิดปัญหายุ่งยากไม่น้อย เพราะก็เป็นเรื่องเสี่ยงสำหรับ
อ.ส.ม.ท.อย่างมาก ที่จะต้องโดนโจมตี ในฐานะของผู้ให้สัมปทาน หากการรวมกิจการครั้งนี้ทำให้ผู้บริโภคได้รับบริการน้อยลง
ซึ่งยูบีซีก็เจอไปเต็มๆ ทันทีที่ปรับผังรายการใหม่
แหล่งข่าวบอกว่า ไม่เพียงแต่ลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกเท่านั้น ในอีกไม่นานผู้ชมช่อง
9 ก็อาจได้ดูภาพยนตร์ซีรีส์ของยูบีซีเพิ่มขึ้นอีกด้วย
แม้ว่า อ.ส.ม.ท.จะให้เหตุผลว่า หากไม่ให้รวมกิจการ ทั้งสองรายต้องเลิกกิจการไปย่อมส่งผลกระทบต่อสมาชิก
และ อ.ส.ม.ท.เองที่ต้องขาดรายได้
แต่อ.ส.ม.ท.เอง ก็ต้องวิตกกับปัญหาเรื่องของการถูกโจมตีในเรื่องการผูกขาดของยูบีซี
ดังนั้นไม่เพียงพยายามให้ไทยสกายทีวีต่อลมหายใจไปเรื่อยๆ โดยให้ติดค้างค่าสัมปทานไปได้เรื่อยๆ
เท่านั้น แต่ยังเปิดช่องให้ไทยสกายทีวีพยายามหาพันธมิตรใหม่มาร่วมทุน เพื่อให้รับรู้ว่ายังมีผู้ให้บริการเคเบิลทีวีมากกว่า
1 ราย ที่ให้บริการอยู่ แม้จะรู้ว่าจะไปรอดหรือไม่รอดก็ตาม
แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ยูบีซีมีใจกับช่อง 9 ได้อย่างไร
งานนี้คนดูช่อง 9 จึงส้มหล่นไปเต็มๆ !