เปิดแผนยูบีซีทะยานพ้นผิวน้ำ หลังรวมกิจการส่งผลให้ต้นทุนลดลงเกือบครึ่ง
แถม ได้เงินจากการขายหุ้น 2,200 ล้านบาทมาอัดฉีดสภาพคล่องจนถึงสิ้นปีหน้า
กำหนดเป้าหมายสิ้นปี 2542 ถึงจุดคุ้มทุนแน่ แต่ท่ามกลางแสงสว่างที่รออยู่ข้างหน้า
ยูบีซีอาจต้องเจอกับกระแสต่อต้านการเป็นผู้ผูกขาด ที่คอยเป็นบ่วงรัดคอ ที่ทำให้ยูบีซีไปไม่ถึงดวงดาว
เพิ่มทุนสองพันล้านอัดฉีดถึงสิ้นปีหน้า
การรวมกิจการระหว่างไอบีซีและยูทีวีเป็นการแลกเปลี่ยนหุ้นระหว่าง กัน ไม่มีการจ่ายเงินสดเพื่อซื้อหุ้น
ทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาทที่มีอยู่ก็ใช้ลงทุนไปหมดแล้ว นั่นเท่ากับว่าหากไอบีซีต้องการดำเนินธุรกิจต่อไป
จำเป็นต้องหาเงินมาใช้จ่าย
การกู้เงินจากสถาบันการเงินนั้นไม่เคยมีอยู่ในโมเดลการทำธุรกิจเคเบิลทีวีเมืองไทย
เพราะการขาดทุนต่อเนื่อง จึงไม่มีเจ้าหนี้รายใดปล่อยสินเชื่อให้ง่ายๆ วิธีระดมทุนแบบเดียวที่ไอบีซีใช้มาตลอดก็คือ
การเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนมาใช้ในธุรกิจ
เมื่อการรวมกิจการเริ่มลงตัว ยูบีซีขายหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงให้กับผู้ถือหุ้นเดิม
มีเพียงบริษัทมัลติช้อยส์ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง จำกัด (MIH) รายเดียวเท่านั้นที่ซื้อหุ้น
เพิ่มทุน 60 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 25 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,500 ล้านบาท
ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของ MIH เพิ่ม จาก 16.42% เป็น 26.11% ส่วนชินวัตร
และเทเลคอมโฮลดิ้ง (ทีเอช) ทั้งสองรายไม่ซื้อหุ้นเพิ่มทุน ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของทั้งสองรายลดลงไปตามส่วน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทีเอชนั้นไม่เพียงแต่ไม่ซื้อหุ้นเพิ่มทุน แต่ยังต้องการขายหุ้นในยูบีซีที่ถืออยู่ในมือ
เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือบริษัทแม่ (อ่านล้อมกรอบ ทีเอถอยดีกว่า)
ทีมผู้บริหารของไอบีซี ภายใต้การนำของเนวิลล์ ไมเยอร์ส รองประธานบริหารฝ่ายปฏิบัติการ
และสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานบริหาร ก็พากันบินไปโรดโชว์ขายหุ้นเพิ่มทุนถึงต่างประเทศ
เที่ยวบินครั้งนั้น นอกจากตีตั๋วไปประเทศในแถบเอเชียอย่าง ฮ่องกง สิงคโปร์
ยังไปถึงสหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลี
"ช่วงที่เราไปจัดว่าเป็นรถไฟขบวนสุดท้ายจริงๆ เพราะหลังจากนั้นวิกฤติการณ์เศรษฐกิจทั้งภูมิภาคนี้ก็หนักขึ้นกว่าเดิม"
สุภกิต กล่าว
หุ้นเพิ่มทุนของไอบีซีจำนวน 90 ล้านหุ้น ถูกขายให้กับนักลงทุนต่างประเทศ
ในราคาหุ้นละ 24 บาท รวม เป็นเงิน 2,200 ล้านบาท โดยมีบริษัท PARIBAS เป็นผู้จัดจำหน่าย
"ราคา 24 บาทจึงถือว่าเป็นราคาที่ดี สาเหตุที่ต่างชาติให้ความสนใจเพราะเขามองว่าการรวมกิจการถือว่าเป็นโมเดลธุรกิจที่ดี
เขามั่นใจในเรื่องของทีมบริหารงาน แต่ภาพลบก็มี เขาก็ยังไม่มั่นใจว่าเมืองไทยจากนี้จะเป็นอย่างไร
และกฎหมายคุ้มครองการลงทุนจากต่างชาติก็ยังไม่มี" สุภกิตชี้แจง
แม้ราคาหุ้นที่ขายได้จะไม่เหมือนในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ แต่โชคยังเข้าข้างไอบีซี
เพราะถัดจากนั้นมาไม่กี่เดือนราคาหุ้นของไอบีซีที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย
หล่นลงมาเหลือแค่สิบกว่าบาทเท่านั้น
สุภกิต บอกว่า เงิน 2,200 ล้าน บาทที่ได้มานี้ จะเป็นออกซิเจนถังแรกที่จะใช้ต่อชีวิตให้กับยูบีซีไปจนถึงสิ้นปีหน้าเท่านั้น
"แม้เราจะได้เงินมา แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะรอดตาย เรายังต้องจ่ายค่าซอฟต์แวร์รายการ
จ่ายเงินเดือนให้พนักงาน เงินก้อนนี้จึงเป็นเพียงถังออกซิเจนมาใช้หล่อเลี้ยงธุรกิจ"
สุภกิตชี้แจง
เปิดแผนยูบีซี
ลดต้นทุนลงเกือบครึ่ง
นับจากนี้ไปจนถึงสิ้นปีหน้า จะ เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เพราะยูบีซีจะต้องนำเงินที่ได้มา
2,200 ล้านบาทมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มยอดสมาชิกให้ถึงจุดคุ้มทุนภายในสิ้นปีหน้า
ซึ่งเป็นช่วงที่สุภกิต ระบุไว้ว่า เงินที่ได้มาจะใช้ไปได้จนถึงสิ้นปีหน้าพอดี
ยูบีซีได้จัดทำแผนธุรกิจขึ้นมาอย่างละเอียด และนำไปชี้แจงให้กับสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ
ถึงเป้าหมายธุรกิจ โครงสร้างต้นทุนและรายได้ ผลกระทบเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน
ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ระบุถึงผลดีที่เกิดขึ้นจากการวมกิจการทั้งสิ้น
ยูบีซี ระบุไว้ว่า การรวมกิจการจะเสร็จสมบูรณ์ทั้งในเรื่องของกำลังคน การย้ายไปอยู่อาคารทิปโก้
ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับส่งสัญญาณ ระบบสื่อสารทั้งหมดนี้จะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี
2541
ที่สำคัญคือ หลังการรวมกิจการทำให้ต้นทุนของการทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนซอฟต์แวร์รายการนั้นลดลงไป
40% ภายในเดือนสิงหาคมปีนี้ ภายหลังจากที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงผังรายการใหม่ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ยูบีซีได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า ต้นทุนที่ลดลงนี้ ประกอบไปด้วยต้นทุนคงที่
(FIX COST) เช่น ต้นทุนทางด้านซอฟต์แวร์รายการแบบเหมาจ่าย, ค่าเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมจะลดลงไปถึง
40% (ดูตารางที่ 2) ส่วนต้นทุนแบบไม่คงที่ ลดลงไป 30-40%
ความน่าสนใจของการรวมกิจการของทั้งสองอยู่ตรงจุดนี้เอง
โครงสร้างรายได้และกำไรของยูบีซีหลังการรวมกิจการ หากไม่รวมต้นทุนคงที่แล้ว
ยูบีซีมีกำไรทันทีในปีนี้ (ดูตารางที่ 5)
แต่เมื่อนำต้นทุนคงที่ไปคำนวณ แล้ว ยูบีซีจะต้องใช้เวลาไปอีกระยะหนึ่ง
คือ ระบบ CATV จะใช้เวลาคืนทุน 17 เดือน ส่วนลูกค้าที่เลือกใช้ระบบ DSTV
จะต้องใช้ระยะเวลาคืนทุน 20 เดือน ซึ่งนานกว่าเพราะต้นทุนค่าอุปกรณ์ SET
TOP BOX ของ DSTV แพงกว่า (ดูตารางที่ 1 )
"ในช่วงแรกที่ได้ลูกค้ามา ยูบีซี จะขาดทุนทันที เพราะต้องแบกรับต้นทุนในเรื่องของซอฟต์แวร์รายการ
และค่าอุปกรณ์ให้กับลูกค้าไปก่อน จนกระทั่งเลยระยะเวลาช่วงหนึ่งไปแล้วจะถึงจุดคุ้มทุน
ดังนั้นจะต้องมีลูกค้าเพิ่มขึ้นมาจนถึงระดับหนึ่ง ซึ่งจะเป็นจุดที่ยูบีซีจะถึงจุดคุ้มทุนพอดี"
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งวิเคราะห์
ดร.กันทิมา ธนะโสภณ บอกว่า ต้นทุนของแพ็กเกจมาตรฐาน 890 บาท อยู่ที่ 1,500-1,800
บาท ส่วนแพ็กเกจ 400 บาท คือ 600 บาท (ไม่รวม HBO)
จุดคุ้มทุนที่ยูบีซีประมาณการไว้ก็คือ จะต้องมีสมาชิก 430,000 ราย
จำนวนสมาชิก 430,000 ราย คือ จุดที่จะทำให้ยูบีซีมีรายได้ที่สอดคล้องกับต้นทุนพอดี
(ดูตารางที่ 3 )
ดังนั้นยูบีซีจะต้องเพิ่มยอดสมาชิกจากที่มีอยู่ 290,000 ราย ให้ได้อีก
140,000 ราย เพื่อให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ ภายในสิ้นปีหน้า ซึ่งสุภกิตระบุไว้ว่า
จะเป็นช่วงที่เงินทุน 2,200 ล้านบาทที่ระดมหามาได้จะหมดลง!
สุภกิต และผู้บริหารของยูบีซีเชื่อว่า หลังจากจากนั้นยูบีซีก็จะทะยานขึ้นสู่พื้นผิวน้ำไปสู่จุดของการทำกำไร
หากเป็นไปได้ตามคาดหมายก็จะเป็นครั้งแรก ที่ธุรกิจเคเบิลทีวีในเมืองไทยไปสู่จุดของการคุ้มทุน
หลังจากขาดทุนมานานปี
ทั้งนี้ก็มาจากสาเหตุเดียว นั่นก็คือ การรวมกิจการ และกลายเป็นผู้ให้บริการรายเดียวในตลาด
นอกเหนือจากการลดต้นทุนในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนคงที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไอบีซีและยูทีวีเฝ้ารอคอยมาตลอด
อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของยูบีซี ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเคเบิลทีวี
เพราะซอฟต์แวร์รายการและอุปกรณ์รับสัญญาณ ล้วนต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงทำให้ต้นทุนในส่วนนี้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
จนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไอบีซีและยูทีวีต้องเร่งรวมกิจการกัน
ยูบีซี ประมาณการในเรื่องความเสี่ยงของค่าเงินไว้ดังนี้ ในส่วนของซอฟต์แวร์รายการที่นำเข้าจากต่างประเทศ
คาดว่า ในปีแรกที่รวมกิจการ อัตราความเสี่ยงของค่าเงินจะอยู่ที่ 31% แต่เมื่อดำเนินธุรกิจไปจนถึงปีที่
5 อัตราการเสี่ยงในเรื่องค่าเงินจะลดลงเหลืออยู่เพียงแค่ 16.6% ส่วนค่าเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมในปีแรกจะมีค่าความเสี่ยงอยู่
11.8% แต่เมื่อดำเนินการมาจนถึงปีที่ 5 ควมเสี่ยงของค่าเงินจะลดลงเหลืออยู่เพียง
6.2% ( ดูตารางที่ 4 )
ทั้งนี้เป็นผลมาจากการเป็นผู้ให้บริการรายเดียว ทำให้อำนาจต่อรองในการซื้อดีขึ้น
การเจรจากับเจ้าของลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ เช่น การซื้อเป็นเงินบาท ทำให้ความเสี่ยงในเรื่องของอัตราค่าเงินบาทลดลงไปเรื่อยๆ
ยกเลิก MMDS อุดรูรั่ว
ปัญหาใหญ่ที่เป็นรูรั่วขนาดใหญ่และไอบีซีเฝ้ารอการแก้ไขมาตลอด นั่นก็คือ
การถูกลักลอบดูรายการจากอุปกรณ์เถื่อนของระบบ MMDS ที่มีขายกันเป็นล่ำเป็นสันแถวคลองถม
ที่แล้วมาไอบีซีก็เพียรแก้ไขปัญหา แต่กฎหมายก็เอื้อมไปไม่ถึง ถึงแม้ว่าต้องทุ่มเงินลงทุนก้อนใหญ่เปลี่ยนไปใช้ระบบส่งสัญญาณด้วยระบบดาวเทียม
DSTV เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ก็เหมือนมีกรรมมาบัง เมื่อระบบ DSTV ไม่ได้รับการตอบรับจากลูกค้า
เพราะอุปกรณ์แพงกว่าระบบ MMDS หลายเท่า แถมยังรับชมได้จุดเดียว
ไอบีซีต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะสร้างให้ตลาดเรียนรู้การยอมรับในประสิทธิภาพของระบบ
DSTV แต่ด้วยต้นทุนของอุปกรณ์ของ DSTV ที่มีราคาแพง ทำให้ไอบีซีต้องแบกรับต้นทุนมาตลอด
ที่แล้วมาไอบีซียังไม่สามารถเก็บเงินลูกค้าตามราคาต้นทุนที่ซื้อมาได้ เพราะต้องแข่งขันกับยูบีซีที่มีต้นทุนในเรื่องค่าอุปกรณ์
SET TOP BOX ถูกกว่า ไอบีซีก็ยังไม่สามารถยกเลิกระบบ MMDS ได้ เพราะกลัวว่าลูกค้าจะหันไปใช้บริการของยูบีซีแทน
จึงต้องยอมทน
แต่เมื่อวันนี้เวทีการแข่งขันล่มสลายไปแล้ว และได้เงินมาต่อลมหายใจ ไอบีซีจึงอุดรูรั่วในเรื่องนี้ทันที
ด้วยการยกเลิกระบบ MMDS ลง และเปิดโอกาสให้ลูกค้าเดิมที่ใช้ระบบ MMDS ซึ่งมีอยู่ประมาณ
2-3 หมื่นราย เปลี่ยนมาเลือกใช้ระบบ DSTV หรือ CATV ฟรี
แม้ว่า ยูบีซีจะต้องควักเงินลงทุนอีกมาก ต้นทุนค่าอุปกรณ์ SET TOP BOX
ของระบบ DSTV มีต้นทุนอยู่ที่เครื่องละ 11,200 บาท ส่วน CATV มีต้นทุนเครื่องละ
5,800 บาท แต่ถือว่าก็จะคุ้มค่าในระยะยาว เพราะยิ่งเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้
เป็นธรรมดาที่จะมีคนหันไปหาของเถื่อนที่ดูฟรีแทน
ในด้านของยูทีวีนั้น ก็มีจุดอ่อนอยู่ที่โปรแกรม 400 บาท อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการตลาดที่ได้ชื่อว่าเคยสร้างชื่อให้กับยูทีวี
ในการขยายฐานลูกค้าให้มีทางเลือกได้มากขึ้น แต่กลับกลายเป็นบ่วงรัดคอให้กับยูบีซีในวันนี้
เพราะอยากเลิกแต่ก็ทำไม่ได้
ในสายตาของผู้บริหารของ MIH และไอบีซีแล้ว โปรแกรม 400 บาท คือ การที่ต้องแบกรับต้นทุนอย่างมหาศาล
"เราจะไม่เพิ่มยอดสมาชิกโปรแกรม 400 บาทอีกแล้ว ที่เราจะทำต่อไปก็คือ
ให้สมาชิกเปลี่ยนไปซื้อโปรแกรม 890 บาท และวันหนึ่งเราก็คงต้องเลิก เพราะมันไม่คุ้ม"
ดร.กันทิมากล่าว
ระวังจะแพ้ภัยตัวเอง
แม้การรวมกิจการ จะเป็นโมเดลของธุรกิจที่ดียิ่งในสายตาของนักลงทุน เพราะทำให้ต้นทุนธุรกิจลดลง
แม้เมืองไทยเผชิญปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ จะเป็นภาพลบในสายตาของนักลงทุน เพราะจะส่งผลกระทบโดยตรงกับธุรกิจเคเบิลทีวี
แต่ในทางกลับกันก็ทำให้คนพักผ่อนอยู่กับบ้านมากขึ้น เคเบิลทีวีจึงกลายเป็นความบันเทิงภายในบ้านที่มีราคาถูกมากกว่าการไปหาความบันเทิงนอกบ้าน
ที่มีต้นทุนแพงกว่า
แต่ยูบีซีก็ต้องไม่ลืมว่า การรวม กิจการในครั้งนี้ เท่ากับว่ายูบีซีได้กลายเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่รายเดียว
ในตลาด ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่ทำให้ยูบีซีถูกจับตามองมาโดยตลอด
แม้ว่าในทางกฎหมายแล้ว ยูบีซี จะไม่ใช่ธุรกิจผูกขาดก็ตาม เพราะกรมประชาสัมพันธ์ก็ให้ใบอนุญาตกับเอกชนไปสิบกว่าราย
องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) ก็ยังมีสัมปทานที่ให้กับไทยสกายทีวี
และยังทนออกอากาศอยู่จนถึงทุกวันนี้
แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในทางปฏิบัติแล้ว ยูบีซี ก็คือ ผู้ให้บริการรายเดียวในตลาด
เพราะไทยสกายทีวีของกลุ่มวัฏจักรก็มีอาการร่อแร่ ติดค้างค่าสัมปทานกับ อ.ส.ม.ท.มาหลายปีแล้ว
และพร้อมที่จะหยุดให้บริการได้ตลอดเวลา หากไม่เป็นเพราะ อ.ส.ม.ท. ประคับประคองให้ไทยสกายทีวียังคงแพร่ภาพอยู่
ในสภาพที่ไม่เหลือรายการ และไม่มีคนดูแล้ว
ยิ่งผู้ให้บริการรายเล็กๆ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ไม่มีรายใดเข้ามาแข่งขันแน่
ช่อง 3 และยูคอม ยังต้องล้มเลิกความตั้งใจไปแล้ว
ยูบีซีย่อมหนีไม่พ้นภาพของการเป็นธุรกิจผูกขาดในสายตาของคนทั่วไป เพราะในแง่ของผู้บริโภคแล้ว
ตลาดที่มีการแข่งขันย่อมดีกว่าตลาดผูกขาด ซึ่งยูบีซีก็คงคาดไม่ถึงว่ากระแสต่อต้านยูบีซีในเรื่องนี้จะส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาได้ถึงเพียงนี้
และยังส่งผลต่อแผนธุรกิจที่ยูบีซีวางไว้อย่างเลี่ยงไม่ได้ด้วย
ทันทีการรวมกิจการเสร็จสิ้นลง สิ่งแรกที่ยูบีซีต้องทำ คือ การปรับผังรายการเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง
เพราะที่แล้วมาในภาวะที่ยังมีการแข่งขันอย่างดุเดือด ทั้งไอบีซี และยูบีซีต่างก็ต้องทุ่มซื้อรายการจากต่างประเทศมาให้เหนือกว่าคู่แข่ง
และยังต้องแบกรับต้นทุนค่าอุปกรณ์รับสัญญาณไว้เอง จัดโปรโมชั่นติดตั้งฟรีเป็นระยะๆ
แม้ในช่วงปกติก็ไม่สามารถเก็บเงินค่าอุปกรณ์ตามต้นทุนจริงได้เพราะมีราคาแพง
เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับลูกค้าในการขยายฐานสมาชิกให้เพิ่มขึ้นมากๆ
สิ่งเหล่านี้คือความเคยชินที่ลูกค้าเคยได้รับมาตลอด
แต่เมื่อเวทีการแข่งขันล่มสลายลง สิ่งแรกที่ทั้งไอบีซี และยูทีวีอยากทำมานานแล้วก็คือ
การปรับผังรายการให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง
ทางเลือกของยูบีซีมีอยู่ 2 ทาง ข้อแรก - ขึ้นราคา ข้อสอง - ตัดบางรายการทิ้ง
"ขึ้นราคาคงเป็นไปไม่ได้เพราะจะต้องโดนโจมตีแน่ ภาพจะออกมาว่า พอรวมกิจการเสร็จ
ก็ขึ้นราคาทันที เราจึงเลือกวิธีตัดรายการทิ้งให้อิงกับต้นทุนที่แท้จริง"
ผู้บริหารในยูบีซีกล่าว
การยึดต้นทุนจริงๆ นั้น ก็จำเป็นต้องตัดรายการออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
รายการดังๆ ที่คิดค่าลิขสิทธิ์ในอัตราต่อหัว ซึ่งการคิดในลักษณะนี้จะมีต้นทุนมากกว่าการคิดในอัตรารายการแบบเหมาจ่าย
เพราะยิ่งสมาชิกมาก ก็ยิ่งต้องจ่ายเงินมากขึ้น และรายการที่คิดในอัตราต่อหัว
ก็มักจะเป็นซอฟต์แวร์รายการยอดนิยมอย่าง ภาพยนตร์ HBO, ซีนีแม็กซ์, รายการ
กีฬา ESPN, รายการสารคดีดิสคัฟเวอรี่
โปรแกรมแบบ 400 บาท ถูกหั่นรายการออกเกือบหมด เหลืออยู่เพียงไม่กี่รายการ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดภาพยนตร์ HBO ทิ้ง ซึ่งถือเป็นหัวใจของโปรแกรมนี้ทำให้ลูกค้าที่เลือกโปรแกรมนี้ไม่พอใจมาก
"ค่าบริการสำหรับคนไทยต่ำกว่าต่างประเทศอย่าง HBO ในต่างประเทศนั้น
จัดเป็นโปรแกรมพิเศษ จะต้องจ่ายเงินซื้อเพิ่มหากต้องการดู ไม่มีประเทศไหนหรอกที่เขาเอาไว้ในโปรแกรมพื้นฐาน"
ดร.กันทิมา ชี้แจง
ส่วนโปรแกรมมาตรฐานแบบ 890 บาท เพิ่มเงื่อนไขเข้ามาว่า หากสมาชิกต้องการดูช่องรายการ
ซุปเปอร์สปอร์ต ซึ่งจัดเป็นช่องยอดนิยม เพราะในช่องนี้จะบรรจุรายการถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก
จะต้องเสียเงินเพิ่มอีก 100 บาท
ผู้บริหารของยูบีซี ชี้แจงว่า ช่องซุปเปอร์สปอร์ตทั้ง 2 ช่อง ที่ทำขึ้นมานี้
ต้องใช้เงินลงทุนค่าลิขสิทธิ์ ค่าดาวเทียม ค่าพากย์ ประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี
ยูบีซีประมาณการไว้ว่า จะเก็บรายได้เพิ่มเข้ามาในช่วงแรก 24 ล้านบาท จากยอดสมาชิกประมาณ
60,000 ราย ในช่วง 4 เดือนแรก
แต่จากการที่สมาชิกเคยได้ดูแบบเต็มที่ มีสารพัดช่องให้เลือก พอมารวมกิจการกันก็เหลือเพียงไม่กี่ช่อง
ย่อมต้องสร้างความไม่พอใจให้กับสมาชิกจำนวนมาก
กระแสความไม่พอใจของสมาชิก จึงหนักขึ้นทุกที ในสื่อทุกแขนง หนังสือพิมพ์
วิทยุ และโทรทัศน์ คอลัมน์ ที่เกี่ยวกับการร้องเรียนของผู้บริโภคไม่เคยว่างเว้นเรื่องปัญหาของยูบีซี
ซึ่งทุกคนพุ่งเป้าว่าปัญหานี้เกิดจากการเป็นธุรกิจผูกขาดรายเดียว
เรื่องบานปลายถึงขั้นถูกโยงไปเป็นปัญหาทางการเมือง และกลายเป็นข่าวหน้า
1 ในหนังสือพิมพ์รายวันติดต่อกัน กระทั่งอ.ส.ม.ท.ต้องออกมาแก้ปัญหาในฐานะของเจ้าของสัมปทาน
และเป็นผู้เซ็นอนุมัติให้มีการรวมกิจการของทั้งสองบริษัท
ผลสรุปหลังจากประชุมร่วมกันระหว่างผู้บริหารอ.ส.ม.ท.และผู้บริหารของยูบีซี
ก็คือ ยูบีซียังต้องเพิ่มรายการลงในโปรแกรม 400 บาท ซึ่งยูบีซีก็เลือกเอาหนังซีรีส์ชุดใหม่มาใส่เพิมเติม
แต่ยังไม่ยอมนำรายการ HBO มาใส่ ซึ่งสุภกิต ชี้แจงว่า ลิขสิทธิ์ ของ HBO
แพงมาก เพราะคิดราคาต่อหัว จึงเป็นไปไม่ได้ที่นำมาใส่ในช่อง 400 บาท แต่เลือกเอาซีรีส์ใส่แทน
HBO เพราะมีต้นทุนถูกกว่า
ส่วนโปรแกรม 890 บาท ก็ให้สมาชิกดูรายการซุปเปอร์สปอร์ตฟรีต่อไปจนถึงสิ้นปีนี้
จากเดิมที่ให้ดูฟรีแค่เดือนเดียว เพราะไม่อย่างนั้นยูบีซีต้องตอบปัญหาลูกค้า
และสื่อมวลชนอีกนาน
ในแง่ของแผนธุรกิจ แทนที่ยูบีซีจะได้เงินมา 24 ล้านบาทเข้ากระเป๋า กลับกลายเป็นว่า
ยูบีซีต้องแบกรับต้นทุนในส่วนนี้อีก 60 ล้านบาทจนถึงสิ้นปี
แน่นอนว่า งานนี้ทำเอายูบีซีต้องปรับแผนธุรกิจกันยกใหญ่ เพราะนี่เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจนถึงสิ้นปีนี้เท่านั้น
ปีหน้ายูบีซีต้องเตรียมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นอีกแน่ หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
การรวมกิจการแม้จะส่งผลในเชิงธุรกิจ ทำให้ลดต้นทุนได้มากมายในตลาดที่ไร้การแข่งขัน
แต่ยูบีซีจะสลัดภาพลักษณ์ของการเป็นผู้ผูกขาดในตลาดได้อย่างไร ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับยูบีซีในเวลานี้
เพราะสิ่งสำคัญของยูบีซี ต้องตระหนักเป็นอย่างมากก็คือ การที่ต้องรักษาฐานสมาชิกเดิมเอาไว้ให้ได้
และต้องเพิ่มสมาชิกให้เพิ่มขึ้นตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้
ก็ขึ้นอยู่กับว่ายูบีซีจะทำอย่างไร ที่จะถึงจุดคุ้มทุนได้โดยไม่เอาเปรียบลูกค้า
เพราะไม่เช่นนั้นยูบีซีก็อาจต้องแพ้ภัยตัวเองได้เหมือนกัน !