Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2541
ธนาคารไทยพาณิชย์ยัง O.K. ดีอยู่หรือ?             
 

   
related stories

SCB Club หรือเป็นแค่ crazy idea

   
search resources

ธนาคารไทยพาณิชย์, บมจ.




แผนแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินที่กระทรวงการคลังร่วมกับแบงก์ชาติประกาศออกมาเมื่อ 14 ส.ค.นั้นช่วยยืดลมหายใจให้แก่ธนาคารหลายแห่งที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการเพิ่มทุน การแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) รวมทั้งการดำรงเงินกองทุน ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นหนึ่งในอีกหลายธนาคารที่รับโบนัสพิเศษก้อนนี้จากรัฐบาล เพราะมาตรการเรื่องการจัดชั้นเงินกองทุน ทำให้ธนาคารมีเม็ดเงินใช้ถึง 16,000 ล้านบาท สามารถรับภาระการขาดทุนได้ถึง 2 งวด!!

แต่แล้ว เหมือนฟ้าไม่เป็นใจ การรับรองงบดุลของผู้สอบบัญชีงวดครึ่งแรกปี 2541 พบว่าแบงก์มีการขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้น และตัวเลข NPL ล่าสุดคือสิ้นเดือน ส.ค.นั้นก็เพิ่มขึ้นอีก 6,900 ล้านบาท ขณะที่วิกฤตการเงินในต่างประเทศ ฮ่องกง-รัสเซีย-มาเลเซีย-และอาจจะต่อเนื่องถึงจีน ย่อมส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของไทย ไม่แน่ว่ามาตรการ 14 ส.ค.จะใช้รับมือวิกฤตรอบใหม่นี้ได้หรือไม่ โบนัสพิเศษที่ไทยพาณิชย์ได้มานั้นจะช่วยต่อลมหายใจธนาคารไปได้นานแค่ไหน แผนดำเนินการต่างๆ ของธนาคารนั้นจะรองรับผลกระทบระลอกใหม่ได้พอเพียงหรือไม่ SCB Club อาจเป็น crazy idea จริงๆ เมื่อเจอวิกฤตระลอกนี้!!


ปรับสัดส่วนเงินกองทุน
ทำให้แบงก์มีช่องหายใจ

หลังจากที่รัฐบาลประกาศแผนแก้ไขปัญหา ระบบสถาบันการเงินเมื่อ 14 ส.ค.2541 ที่ผ่านมา หลายแบงก์ที่ไม่ถูกทางการเข้าแทรกแซงคงจะถอนหายใจอย่างโล่งอก และปลอดโปร่ง ได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็เอ่ยปากรับรองด้วยว่า แบงก์ที่ทางการไม่ได้เข้าแทรกแซงในคราวนี้ สามารถอยู่รอดได้โดยไม่ต้องเพิ่มทุนเลย อย่างน้อยก็จนถึงเดือน มิ.ย. 2542

คำกล่าวของผู้ว่าแบงก์ชาติตรงกับการประเมินของผู้บริหารระดับสูงธนาคารไทยพาณิชย์ ที่คิดว่าแม้จะยังไม่สามารถเพิ่มทุนได้ แบงก์ก็ยังพออยู่ได้จนถึงเดือนมิถุนายน 2542 โดยประเมินจากฐานะเงินกองทุนของแบงก์ที่เมื่อเข้าสู่เกณฑ์การจัดชั้นเงินกองทุนใหม่ของแบงก์ชาติแล้ว ธนาคารฯจะมีเงินเหลือประมาณ 16,000 ล้านบาท ซึ่งหากธนาคารฯแสดงตัวเลขการขาดทุนงวดละ 8,000 ล้านบาท ก็สามารถอยู่ไปได้อีก 2 งวด

ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า "แบงก์ที่ทางการไม่ได้เข้าแทรกแซงในงวดนี้สามารถอยู่ได้จนถึงกลางปีหน้า ก็เพราะท่านลดสัดส่วนให้จาก 6% เป็น 4.25% ซึ่งก็หลายสตางค์ เพราะของเรานี่ก็ตั้ง 16,000 ล้านบาท ไม่ทำอะไร อย่างน้อยก็อยู่ได้อีก 6-7 เดือน หมายความว่าเราสามารถรับผลขาดทุนได้อีก 16,000 ล้านบาท อย่างน้อย 2 งวดถ้าเอาอัตราเท่ากับงวดที่แล้ว ก็มีเวลาหายใจไปอีกนาน"

อย่างไรก็ดี การประเมินข้างต้นเป็นการพูดคุยกันกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ก่อนที่แบงก์จะรายงานงบการเงินครึ่งปีแรก ฉบับที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชี ซึ่งคือสำนักงานดีลอยท์ ทู้ชโธมัทสุ ไชยยศ ที่ลงนามการตรวจสอบเมื่อ 21 สิงหาคม 2541 ซึ่งปรากฏว่าในฉบับที่ผ่านการตรวจสอบแล้วนี้ ธนาคารมีผลขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 11,001 ล้านบาท (ดูตารางงบการเงิน) ไม่ใช่ 8,516 ล้านบาทดังที่รายงานแต่แรก ด้วยเหตุนี้การประเมินของผู้บริหารข้างต้นก็ต้องเปลี่ยนไป

ธนาคารไทยพาณิชย์ดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คิดเป็นร้อยละ 9% แบ่งออกเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือ Tier I 7% หรือคิดเป็นจำนวน 36,980.92 ล้านบาทและชั้นที่ 2 หรือ Tier II 2% หรือคิดเป็นจำนวน 11,094.85 ล้านบาทรวมเป็นเงินกองทุนตามกฎหมาย 48,075.78 ล้านบาท ทั้งนี้ธนาคารฯ มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 เพิ่มขึ้น เนื่องมาจากการเพิ่มทุนและส่วนเกินมูลค่าหุ้นที่ได้รับจากการเพิ่มทุนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2540

ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกล่าวเปรียบเทียบโครงการช่วยเหลือเรื่องเงินกองทุนของแบงก์ชาติ ว่าเป็นเหมือน "ของแถมของรัฐบาล" "เรื่องโครงการเงินกองทุนชั้นที่ 2 นั้นทุกคนคงอยากจะเข้า เพราะได้ประโยชน์มาก จะได้เรื่องการปรับโครงสร้างหนี้กับการปล่อยสินเชื่อใหม่ด้วย"

ผู้บริหารท่านนี้ยังมองด้วยว่าเมื่อเงินกองทุนชั้นที่ 1 ลดลงและยังสามารถเพิ่มเงินกองทุนชั้นที่ 2 ได้อีก ซึ่ง "Tier II นั้นเพิ่มไม่ยาก เพราะเป็น subordinated debt มีดอกเบี้ยให้ผู้ลงทุนและมีโอกาสที่จะไปใช้การปรับโครงสร้างหนี้และการปล่อยสินเชื่อใหม่ cap Tier II เข้าไปได้ คิดว่าขายให้เอกชนก็คงจะได้ มันง่ายกว่าการออกหุ้นสามัญเยอะ เพราะถ้าเราใส่ convertible feature เข้าไป คือให้ดอกเบี้ยและในอนาคตก็สามารถแปลงเป็นทุนได้ มันก็จะทำให้ทางเลือกมีมากขึ้นอีก เพราะฉะนั้นมาตรการนี้เปิดทางเลือก (option) มาก" อันนี้จึงเป็นเสมือนของแถมจากรัฐบาล

อย่างไรก็ดี ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งเคลิบเคลิ้มกับไอเดียของผู้บริหารระดับสูงท่านนี้ เพราะเมื่อจะออก Subordinated debt ขายจริงๆ นั้นคงไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด มิเช่นนั้นคงจะมีผู้ออกมาหลายรายแล้ว

ทั้งนี้ ธนาคารอยู่ระหว่างการเพิ่มทุนจดทะเบียน (จำนวน 40,000 ล้านบาท) ทั้งที่เป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 และ 2 โดยคาดว่าจะดำเนินการให้แล้ว เสร็จภายในเดือน ธ.ค. นี้ ซึ่งในช่วงนี้ธนาคารจะช่วยเหลือตัวเองก่อน โดยการหาพันธมิตรต่างประเทศ 2-3 รายขึ้นไปเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ยังคงเป็นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ด้านการเข้ารับความช่วยเหลือ ในโครงการความช่วยเหลือเรื่องเงินกองทุนของแบงก์ชาติและกระทรวงการคลังนั้น ดร.โอฬาร ไชยประวัติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า "ต้องขอดูกฎเกณฑ์กติกากันก่อน แต่ในวันนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องทำอะไร"

ส่วน ชฎา วัฒนศิริธรรม รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวยืนยัน ดร.โอฬารด้วยว่า "ขอรอดูรายละเอียดของโครงการก่อน เพราะตอนนี้รู้แต่หลักกว้างๆ ถ้าถามว่าวันนี้เราจำเป็นไหมที่จะต้องกระโดดไปขอเข้าวันนี้ คำตอบก็คือไม่จำเป็น เพราะว่าเงินกองทุนของเราก็ยังเหลืออีก 3% "

แต่ในสถานะปัจจุบันของธนาคารที่ยังไม่ได้เพิ่มทุนนั้น ธนาคารก็มีข้อจำกัดเรื่องการเติบโต เพราะมีเพดานการปล่อยสินเชื่อได้เท่าที่ทำอยู่ในปัจจุบัน คือมีวงเงินปล่อยสินเชื่อประมาณ 556,845.23 ล้านบาท

ชฎากล่าวว่า "สถานะของเราจะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน ก็ต้องขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจว่าจะเลวลงอีกเท่าไร ถ้ามันเป็นเท่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ มันอยู่ได้ แต่ว่าเราจะไม่ขยายสินเชื่อ กำไรเราก็คงไม่ค่อยเพิ่ม เพราะเราไม่มีทุนพอ เรามีทุนเท่าที่จะทำได้ทุกวันนี้ 560,000 ล้านบาทก็จบแล้ว ขยายไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว เพราะเราไม่มีทุนพอ"

รองผู้จัดการใหญ่มั่นใจกับสถานะของธนาคารมากว่าสามารถอยู่ได้โดยไม่ขยายตัว แต่นั่นย่อมไม่ใช่ทิศทางของแบงก์แน่นอน


เพิ่มทุน 34,112 ล้านบาท
ใครจะลงทุนในหุ้นแบงก์?

ธนาคารประกาศลดทุนเพิ่มทุนของธนาคาร ซึ่งได้รับอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2540 เมื่อ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2540 ให้ลดทุนและเพิ่มทุนได้ ซึ่งอันที่จริงการลดทุนในครั้งนั้นหมายถึง ลดทุนในส่วนที่ยังไม่ได้เรียกชำระเพิ่ม ซึ่งดำเนินไปตามกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ฯ

ธนาคารประกาศลดทุนจดทะเบียนจาก 4,000 ล้านบาทเป็น 3,810.9 ล้านบาท (เป็นจำนวนที่เรียกชำระแล้ว) และเพิ่มทุนจากจำนวนนี้ขึ้นเป็น 10,000 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 618.9 ล้านหุ้น ซึ่งธนาคารขายหุ้นได้เพียง 164.5 ล้านหุ้น ทำให้มีทุนที่ออกและเรียกชำระจริงรวม 545.6 ล้านหุ้น (เมื่อ ธ.ค. 2540 และเพิ่มอีกเล็กน้อยเป็น 588.7 ล้านหุ้นในงวด มิ.ย. 2541- จำนวนที่เพิ่มนี้เกิดจากการขายหุ้นให้แก่ธนาคารลองเทอมเครดิตแห่งประเทศญี่ปุ่น และธนาคารซันหว่าในช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. 2541)

ในครั้งที่ธนาคารประกาศออกไป ตลาดขานรับกันจนราคาหุ้นร่วงไม่เป็นท่าต่ำกว่าราคาพาร์ จนในตอนนี้ แม้รัฐบาลจะมีการประกาศแผนแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงิน 14 ส.ค. แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีแบงก์ใดมีท่าทีจะเดินหน้าแก้ปัญหาตามแผนการนั้นได้อย่างเต็มที่

ในเรื่องนี้ ดร.โอฬาร กล่าวแบ่งรับแบ่งสู้ว่า "ต้องดูกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่จะออกมาเพิ่มเติมก่อน" ส่วนชฎากล่าวว่า "หากเราสามารถเพิ่มทุนได้ด้วยตัวเอง ก็ถือว่ารัฐบาลทำสำเร็จ ก็คงจะชอบใจ แต่เขาก็มีมาตรการไว้รองรับเหมือนเป็น back up ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนย่อมรู้สึกว่าการเพิ่มทุนสามารถทำได้โดยที่พวกเขาไม่เจ็บตัว เพราะการเพิ่มทุนนี้มีส่วนหนึ่งด้วยที่มาจากรัฐบาล ถ้ามีความจำเป็น"

กรณีที่ชฎาพูดถึงคือการเข้าโครงการช่วยเหลือเรื่องเงินกองทุนชั้นที่ 1 ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ไม่ต้องการเข้าร่วมโครงการฯ เพราะในโครงการฯนี้มีเงื่อนไขว่า "รัฐบาลและนักลงทุนใหม่จะสามารถเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร/คณะกรรมการบริหารของธนาคารพาณิชย์ได้ รัฐบาลสงวนสิทธิที่จะแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการบริหารได้..." ซึ่งทั้ง ดร.โอฬารและชฎากล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า "เราไม่ใช่เจ้าของ เราเป็นลูกจ้าง หากเจ้าของเขาอยากปลดก็สามารถทำได้ ไม่ต้องรอรัฐบาลมาปลดออกหรอก ทำไม่ดีเขาก็ปลดเอง"

เจ้าของในที่นี้หมายถึงผู้ถือหุ้นธนาคารรายใหญ่ ซึ่งในเวลานี้คือ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ถือหุ้นอยู่ 28.14% เมื่อ 11 มีนาคม 2541 (ดูตารางผู้ถือหุ้นใหญ่ 10 ราย แรกธนาคารไทยพาณิชย์)

หลังจากนั้น ธนาคารก็ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2541 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2541 ให้ลดทุนจดทะเบียนของธนาคารจาก 10,000 ล้านบาท ให้เหลือเท่ากับจำนวน หุ้นที่มีการเรียกชำระแล้วคือ 5,887.6 ล้านบาท และเพิ่มทุนจดทะเบียนจากจำนวนนี้เป็น 40,000 ล้านบาท โดยการออกเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 3,411,239,927 หุ้น เป็นจำนวนเงิน 34,112.4 ล้านบาท

หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนนี้ ธนาคารมีการจัดสรรโดยการสำรองไว้ เพื่อการใช้สิทธิแปลงสภาพของหุ้นกู้ด้อยสิทธิแปลงสภาพที่เสนอขายในต่างประเทศ (20 ล้านหุ้น), สำรองเพื่อรองรับการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะใช้ซื้อหุ้นสามัญ (116 ล้านหุ้น), สำรองเพื่อการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะขอซื้อหุ้นสามัญของพนักงาน (30 ล้านหุ้น) และสำรองเพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงสภาพและ/หรือหุ้นกู้ด้อยสิทธิแปลงสภาพ จำนวน 200 ล้านหุ้น ซึ่งธนาคารจะออกภายในวงเงิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ยังไม่ได้ออก)

หุ้นจำนวนที่เหลือ 3,045.23 ล้าน หุ้นให้เสนอแบบเฉพาะเจาะจงแก่ผู้ลงทุนฯ ซึ่งจำนวนนี้เองที่ธนาคารกำลังแสวงหานักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อ โดยที่หากมีผู้เข้ามาซื้อแล้ว สำนักงานทรัพย์ สินฯ อาจต้องซื้อเพิ่มเพื่อรักษาฐานะการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่

อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า ในช่วงต้นปี ธนาคารลองเทอมเครดิตแห่งญี่ปุ่นและธนาคารซันหว่า ได้เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนไปจำนวนหนึ่ง ในราคาที่ค่อนข้างสูงมากคือ 67, 60.26 และ 80 บาท ซึ่งในงวดนี้ ธนาคารฯ คงไม่สามารถขายได้ในราคาสูงเช่นนั้นแล้ว และไม่แน่ว่าสถาบันการเงินจากญี่ปุ่นจะสามารถซื้อหุ้นเพิ่มได้อีกหรือไม่ หรือต้องการที่จะซื้อเพิ่มอีกหรือไม่ ทั้งจากการที่สถาบันการเงินในญี่ปุ่นประสบปัญหาวิกฤติ และความน่าสนใจลงทุนของสถาบันการเงินไทย ก็มีลดน้อยลงตามภาวะปัญหาเศรษฐกิจของไทยด้วย

และแม้จะมีธนาคารต่างชาติเข้ามาถือหุ้นธนาคารฯ รวมกันราว 17.4 % แต่ไม่มีธนาคารใดได้เข้ามาเป็นผู้แทนในคณะกรรมการธนาคารแม้แต่รายเดียว ทั้งนี้คณะกรรมการธนาคารจำนวน 11 ท่านได้รับผลตอบแทนรวม 42.92 ล้านบาทเมื่อปี 2540


ขาดทุนเพิ่มอีก 2,000 กว่าล้านบาท
เหตุจากภาระภาษี tax deferrals

ในงบการเงินเมื่อ 31 ธันวาคม 2540 ธนาคารไทยพาณิชย์รายงานผลการดำเนินงานว่ามีกำไรสุทธิอยู่ 3,194.3 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดูดีมาก แม้จะมีอัตราลดลงถึงร้อยละ 64.6 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่แล้วในไตรมาสแรกของปี 2541 คือ ในงวดสิ้นเดือนมีนาคมนั้น กำไรสุทธิของธนาคารลดลงเหลือเพียง 116.74 ล้านบาทเท่านั้น

และแน่นอนว่าในไตรมาส 2 ถัดมากลายเป็นขาดทุน ซึ่งในงบการเงินก่อนได้รับการสอบทานจากผู้ตรวจสอบบัญชี ธนาคารรายงานผลดำเนินงานขาดทุนสุทธิของงวดครึ่งปีแรก 8,516.3 ล้านบาท แต่เมื่อผู้ตรวจสอบบัญชีรับรองงบดุลแล้ว กลับเพิ่มขึ้นเป็น 11,001.2 ล้านบาท

ทั้งนี้ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ล้วน รายงานผลการดำเนินงานขาดทุนกันอย่างมโหฬารเช่นกัน และเป็นตัวเลขรวมที่มากกว่าที่มีการประมาณกันไว้มาก

ผลการดำเนินงานขาดทุนนั้นเป็นเรื่องที่คาดหมายได้อยู่แล้ว แต่ผลขาดทุนที่เพิ่มขึ้นก็มีผลกระทบต่อประมาณการของผู้บริหารในเรื่องเงินกองทุน ซึ่งจะลดลงไป 2,000 กว่าล้านบาท และหากธนาคารยังไม่สามารถเพิ่มทุนได้ก็คาดว่าจะมีปัญหา

ในรายการขาดทุนงวดนี้ รายการใหญ่สุดคือ ค่าเผื่อการลดราคาหลักทรัพย์ เพื่อการลงทุนในหุ้นทุนที่เป็นการลดลงอย่างถาวร เป็นจำนวน 8,890.6 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้มีเงินลงทุนใน บงล.ธนสยามจำนวน 1,959.8 ล้านบาทที่สูญไปด้วย เพราะ บงล. แห่งนี้ถูกสั่งให้ควบโอนกิจการกับ บงล. กรุงไทยธนกิจ ตามนโยบายของแบงก์ชาติและกระทรวงการคลัง

อีกรายการหนึ่งเป็นเรื่องภาระภาษี หรือ Tax Deferrals ที่ผู้ตรวจสอบบัญชีขอให้ย้ายจากข้างงบดุลมาบันทึกเป็นการขาดทุนในงวดนี้ทันทีจำนวน 2,000 ล้านบาท (ดูตาราง รายการหลักในผลขาดทุน)


แค่ 2 เดือน NPL เพิ่ม 6,900 ล้านบาท

ในงบการเงินฉบับที่ผ่านการตรวจสอบงวด มิ.ย. 2541 ธนาคารมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรากฏขึ้นมา 6,900 ล้านบาท ซึ่งหนี้จำนวนนี้ยังไม่ได้ตั้งสำรองหนี้จัดชั้นตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งธนาคารชี้แจงว่า วันที่ 30 มิ.ย. ธนาคารได้ตั้งสำรอง NPL ตามเกณฑ์ของแบงก์ชาติ 100% (NPL เมื่อ 30 มิ.ย. 2541 เท่ากับ 23%) แต่บริษัทตรวจสอบบัญชีได้เข้ามาตรวจสอบในเดือน ส.ค. ซึ่งภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้มี NPL โผล่ขึ้นมาอีก 6,900 ล้านบาท

ทั้งนี้การตั้งสำรองที่ผ่านมา ธนาคารได้ปฏิบัติตามคำสั่งของแบงก์ชาติ ซึ่งวงเงินดังกล่าวธนาคารยังไม่ได้ถูกแบงก์ชาติสั่งให้ตั้งสำรอง

ชั่วเวลาเพียง 2 เดือน ธนาคาร ก็มีหนี้ NPL เพิ่มขึ้นถึง 6,900 ล้านบาท นับเป็นอัตราที่สูงไม่น้อย

ธนาคารฯ มีวงเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น 556,845 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินเบิก เกินบัญชี 105,364 ล้านบาท เงินให้กู้ยืม 379,162 ล้านบาท ตั๋วเงิน 66,928 ล้านบาท และอื่นๆ 5,390 ล้านบาท โดยสินเชื่อเหล่านี้มีสัดส่วนของระยะสั้น (อายุ 1 ปี) และยาว (อายุเกินกว่า 1 ปี) ในอัตรา 50:50

ธนาคารฯ มีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นลูกค้าบ้านหรือสินเชื่อเคหะประมาณ 90,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ไม่ได้สร้างปัญหากับธนาคารมากนัก เพราะหากลูกค้าขาดผ่อนชำระ ธนาคารฯ ก็มีกลไกที่จะขายสินทรัพย์ออกไปผ่านโครงการ "สำนักงานขายอสังหาริมทรัพย์" หรือ Property Corner ที่เปิดทำการไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา รวมทั้งผ่านทางบริษัทบริหารสินทรัพย์เสี่ยง (AMC) ที่ชื่อ "ไทยพาณิชย์พัฒนาอสังหาริมทรัพย์" ที่ทำหน้าที่บริหารสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่โอนจากธนาคารไทยพาณิชย์

และล่าสุดคาดว่า บริษัทแห่งนี้ โดยธนาคารฯ จะทำหน้าที่บริหารสินเชื่อ ที่อยู่อาศัยที่ ปรส.ขายออกมาจำนวน 17,260 สัญญา ซึ่งเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย จากสถาบันการเงิน 53 แห่งที่ ปรส. ประมูลขายไปล่าสุดในราคาที่มีส่วนลดถึง 53% และบริษัท เลห์แมน บราเธอร์เป็นผู้ประมูลได้ไป โดยเจรจาให้ธนาคารฯ ทำหน้าที่บริหารติดตามเก็บรายได้ให้

นอกจากนี้คาดว่าจะมีสินเชื่อโครงการที่มีมูลค่ามากกว่าสินเชื่อเคหะอีกมาก ที่เป็นตัวแปรสำคัญทำให้ตัวเลข NPL ของธนาคารเพิ่มสูงขึ้น เช่น โครงการเวิลด์เทรด โครงการของสยามสินธร บริษัทคริสเตียนี่ แอนด์ นีลเส็น เป็นต้น

ธนาคารฯ รายงานว่าหากใช้เกณฑ์เงินให้สินเชื่อที่ค้างชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 3 เดือน ธนาคารจะมีเงินให้สินเชื่อที่ระงับการรับรู้รายได้ (NPL) จำนวน 130,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 23.43 ของเงินให้สินเชื่อ

ธนาคารฯ มีสินทรัพย์จัดชั้น (สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้) เมื่องวดมิ.ย. 2541 จำนวน 133,187.6 ล้านบาท ซึ่งธนาคารได้ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 28,775.1 ล้านบาท (ดูตารางค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ)

อย่างไรก็ดี ในรายงานผู้สอบบัญชีระบุว่า "ธนาคารมีเงินให้กู้ยืมแก่บริษัทบางแห่งเป็นจำนวนเงินรวม 9,656 ล้านบาท บริษัทเหล่านี้อยู่ระหว่างการชำระบัญชีหรือหยุดดำเนินกิจการ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับสภาพคล่อง และหลักประกันของบางบริษัทมีมูลค่าต่ำกว่ายอดเงินให้กู้ยืมคงเหลือตามบัญชี จึงอาจจะต้องมีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นสำหรับเงินให้กู้ยืมดังกล่าว และมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนเงินที่จะได้รับจากการเรียกชำระหนี้"

นอกจากนี้ ผู้สอบบัญชียังให้ความเห็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่หากไม่สามารถแก้ให้คืนสู่ภาวะปกติได้ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของระบบธนาคารพาณิชย์และของธนาคารไทยพาณิชย์ก็อาจจะเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องบันทึกค่าเผื่อหนี้สูญเพิ่มขึ้น และการตั้งค่าเผื่อหนี้สูญเพิ่มขึ้นก็มีผลกระทบต่อเรื่องการดำรงเงินกองทุนด้วย

แม้ธนาคารจะได้รับ "ของแถม" เรื่องเงินกองทุนจากแผนแก้ไขฯ 14 ส.ค. ดังที่กล่าวข้างต้น แต่ธนาคารก็ยังต้องแก้ปัญหาเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และการเพิ่มทุน ดังที่รองผู้จัดการใหญ่กล่าวว่า "เราไม่รอไปจนลมหายใจเฮือกสุดท้ายหรอก ทันทีที่กฎเกณฑ์ออกมาชัดเจน เราจะเริ่มทำ"


แก้ปัญหา NPL ด้วยการปรับ
โครงสร้างหนี้และตั้ง SCB Club

ธนาคารไทยพาณิชย์มีบทบาทที่โดดเด่นมากในเรื่องการแก้ปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะสินเชื่อเคหะ ด้วยการทำโครงการต่างๆ ร่วมกับลูกหนี้ โดยเฉพาะโครงการตลาดบ้านพร้อมอยู่ ซึ่งมีการจัดทั้งในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ซึ่งยังมีลูกค้า ที่ให้ความสนใจยื่นเรื่องขอสินเชื่อเคหะอยู่มากพอสมควร และบ้านที่ยึดมาก็สามารถขายได้บ้าง

นอกจากนี้ธนาคารฯ ก็ได้ตั้ง "สำนักงานขายอสังหาริมทรัพย์" เพื่อดำเนินการขายอสังหาฯ ที่ยึดมาจากลูกค้าที่มีปัญหา โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามียอดขายได้รวมแล้ว 100 กว่ายูนิต

หากโครงการของธนาคารมีความคืบหน้าได้มาก ก็จะช่วยตัวเลขหนี้ NPL ลดลงได้บ้างเล็กน้อย

ธนาคารฯ มีแนวทางที่จะแก้ปัญหา NPL ด้วยการตั้งหน่วยงานประเภทบริษัทบริหารสินทรัพย์เสี่ยงหรือ บบส. (AMC) ซึ่งตอนนี้ธนาคารตั้งไปแล้ว 1 แห่งเพื่อจัดการเรื่องสินเชื่อโครงการคือ บริษัทไทยพาณิชย์พัฒนาอสังหาริมทรัพย์

แต่มีอีก 5 กลุ่มที่ธนาคารอยู่ระหว่างพิจารณาตั้ง อาจตั้งแห่งเดียว ดูแลทั้ง 5 กลุ่มหรือแยกกันไปเลยก็เป็นได้ "รูปแบบการตั้งขึ้นอยู่กับการบริหาร อาจจะอยู่ในบริษัทเดียวแต่เป็น 5 ฝ่าย ต้องดูกฎเกณฑ์ก่อน ในเชิงบริหารไม่จำเป็นต้องตั้งหลายบริษัท" ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มสินเชื่ออุตสาหกรรม, โรงแรม, โรงพยาบาล, โครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) และการค้า โดยมีแนวคิดว่า AMC ที่จะตั้งนั้นเป็นเพียงที่พักฟื้นของผู้ป่วย ไม่ใช่ห้องดับจิต

ดร.โอฬารกล่าวว่า "หนี้ที่ตายสนิทของเรามีประมาณ 20% ของพอร์ตสินเชื่อของเรา แต่ที่เป็น NPL นั้น ยังไม่ตาย มีประมาณ 80% ดังนั้นAMC ในความหมายนี้คือโรงพยาบาล ไม่ใช่โกดังเก็บศพ"

มีผู้ให้ความเห็นแย้งเรื่องการที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งจะตั้ง AMC ด้วยตัวเองเพื่อรับซื้อหนี้ออกไปจากตน ว่าเป็นเสมือนการผ่องถ่าย เพราะ AMC ใหม่นั้นก็ต้องกู้เงินจากแบงก์ออกไปซื้อหนี้แบงก์ ก็เป็นเสมือนย้ายหนี้จากกระเป๋าซ้ายไปขวานั่นเอง

ดร.โอฬารยอมรับว่า AMC ของแบงก์ก็ต้องกู้เงินแบงก์ออกไปก่อน "ในช่วงแรกนี่ธนาคารต้องให้กู้แก่ AMC เพราะว่า AMC ยังยืนอยู่บนขาตัวเองไม่ได้ทันที ช่วงแรก แต่ไม่ได้ตลอดไป กู้ไปเพราะลูกหนี้ยังจ่ายเงินไม่ได้"

เรื่องนี้ก็คงต้องรอดูจากกฎหมาย ล่าสุดในเรื่องการตั้ง AMC ว่าจะให้หาเงินมาจากแหล่งใดได้บ้าง

อีกด้านหนึ่ง ดร.โอฬารได้ออกข่าวเรื่องการตั้ง SCB Club ซึ่งเริ่มพูดกับนักข่าวมาเป็นระยะๆ เมื่อมีการสอบถามมากขึ้น จึงได้มีการจัดแถลงพร้อมร่างแนวทาง และกรอบความคิดทางทฤษฎี (Theoretical Framework) โดยดร.โอฬารใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงอธิบายเรื่องนี้ (ดูล้อมกรอบ) พร้อมฉายสไลด์ประกอบ ซึ่งเมื่อบรรยายจบ ปรากฏว่าในเรื่องของรายละเอียดนั้นมีน้อยมาก

กล่าวคือ กลุ่มผู้ผลิตที่จะเข้าร่วมสโมสรนี้มีรวม 350 ราย (ผู้ผลิตวัตถุดิบขั้นต้นจำนวน 100 ราย + ผู้ผลิตขั้นสุดท้าย 200 ราย +ผู้สนับสนุน อื่นๆ 50) ซึ่งในแต่ละรายจะต้องเป็นลูกค้าของธนาคาร มีส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าที่จะเข้าร่วมรายการประมาณ 10%-20% ของตลาดรวม ปัจจัยทุนที่ใช้ดำเนินการคือ คูปอง ที่ธนาคารจะออกแบบขึ้นเป็นพิเศษ ในรูปของบัตรอิเล็กทรอนิกส์ โครงการนี้มีลักษณะ self-destructive programme คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี วงจรนี้จึงจะสามารถสร้างกำลังการผลิตให้ขึ้นมาถึงระดับที่มีอยู่ในช่วงก่อนการประกาศลดค่าเงินบาท 2 ก.ค. 2540

ดร.โอฬาร เน้นจุดมุ่งหมายของการตั้งสโมสรนี้ว่า "เพื่อทำให้เกิดการบริโภค ที่จะไปสร้างให้เกิดการผลิตและเพิ่มการจ้างงานในประเทศ เพื่อมาสู่การบริโภคซ้ำอีก"

เขาคาดหมายว่าโครงการนี้จะได้ผลประมาณ 15% ของระบบทั้งหมด เพราะมีการคัดเลือกเอาผู้ผลิตที่มีส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าที่จะเข้าร่วมรายการ 10%-20% ของตลาด

ส่วนเงินกู้ที่จะปล่อยให้ลูกค้าไปผลิตสินค้านั้น จะให้ในรูปของคูปองส่วนหนึ่ง เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ในอัตราดอกเบี้ย MLR+0.25%-0.50% ซึ่ง ดร.โอฬารไม่กังวลว่าสินเชื่อที่จะปล่อยใหม่นี้จะทำให้แบงก์มี NPL เพิ่ม เพราะเป็นสินเชื่อที่มีอายุไม่นานนัก "มันหมุนเวียนกลับมาหาแบงก์ภายใน 1 เดือน" ซึ่งก็คิดอยู่กับประเภทของวงจร สินค้าที่มีการผลิตแต่ละชนิด

หลายคนมองว่า ดร.โอฬารออก จะประหลาดไม่น้อยที่มาทุ่มเทความคิดและพลังงานให้กับเรื่องสโมสรนี้

เขาใช้เวลามากในการพูดคุยกับ ลูกค้า ซึ่งตอนนี้มีผู้เข้าร่วมโครงการ 60 ราย แต่เขาตั้งเป้าหมายถึง 350 ราย ซึ่งยังไม่ทราบว่าอีกนานเท่าไหร่จึงจะได้ครบตามจำนวน และหากไม่ได้ครบ จะเดินหน้าต่อหรือไม่ และโครงการนี้ต้องมีลักษณะที่เรียกว่าโครงการทดลอง ก่อนหรือไม่ จะประเมินผลเมื่อไหร่... เขายังไม่มีคำตอบ

เขาเคยกล่าวด้วยเจตนาดีว่าสิ่งที่เขาคิดนั้น ซึ่งเริ่มคิดกันตั้ง 1 ปีมาแล้วและเริ่มทำตอนนี้ "มันเป็นเรื่องที่มี potential เพราะว่ากำลังการผลิตยังมีเหลือเฟือ แต่ว่าสภาพทั่วไปไม่เอื้ออำนวย หากเราจะช่วยกันคนละไม้คนละมือ ให้มันเอื้ออำนวยขึ้นมันก็จะดี แต่ว่าเราก็ไม่รอจนสภาพมันดีจึงจะเข้าไปฉกฉวยผลประโยชน์ เราต้องการเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมที่แอคทีฟในการทำให้เศรษฐกิจมันดีขึ้น ดังนั้น SCB Club เราก็มีวัตถุประสงค์นี้ แต่ก็ไม่การันตีนะ"

เท่าที่ดร.โอฬาร คุยกับ "ผู้จัดการรายเดือน" คือ ให้เวลา 6 เดือนในการตัดสินเรื่องนี้

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us