Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2541
โมโตโรล่า' ทวงตำแหน่งเจ้าตลาดในจีน             
 


   
search resources

Motorola Inc.




โทรศัพท์มือถือกลายเป็นปัจจัยที่ 5 สำหรับผู้คนในแผ่นดินจีนไปแล้ว ทั้งๆ ที่สนนราคาของมันตกเท่ากับรายได้ตลอดปีของชาวบ้านย่านเมืองซีอาน หรือประมาณเครื่องละ 300 ดอลลาร์

ระหว่างการเดินทางบนรถไฟมุ่งหน้าสู่มณฑลซินเจียง ให้บังเอิญว่าปลายของโทรศัพท์มือถือโผล่พ้นขอบกระเป๋าเสื้อของหนุ่มวิศวกรก่อสร้างนายหนึ่ง คนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งแม่บ้าน นักศึกษา และผู้ใช้แรงงาน จึงได้โอกาสเปิดประเด็นเม้าท์สนุกปาก วิพากษ์บริการโทรศัพท์มือถือสองสามยี่ห้อที่กำลังแข่งขายอยู่ในจีน

ตลาดโทรศัพท์มือถือในจีนกำลังแข่งเดือดทีเดียว ระหว่าง 3 ค่ายยักษ์ ได้แก่ ค่ายอีริคสัน, ค่ายโนเกีย และค่ายโมโตโรล่า สองเจ้าแรกจากย่านสแกนดิเนเวียนั้นดูว่าจะครองใจขาเม้าท์กลุ่มนี้พอๆ กัน แต่โมโตโรล่าจากสหรัฐฯ กลับต่ำด้อยไปกว่า กง ฟานกี นักศึกษาวัย 22 ปี บอกว่า "ผมได้ยิน มาว่ามือถือเจ้านี้เค้ามีปัญหาน่าดู"

เมื่ออดีตกาลหมาดๆ ยี่ห้อโมโตโรล่าเคยเฟื่องจัด ขนาดที่ว่าชื่อยี่ห้อนี้เป็นคำทับศัพท์สำหรับเรียกตัวโทรศัพท์มือถือ ในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนแผ่นดินใหญ่ แต่แล้วคู่แข่งหลายเจ้าดาหน้ากันเข้ามาแย่งทึ้งส่วนแบ่งตลาด เป็นการสนุกมือ โดยนำเสนอเทคโนโลยีดิจิตอลเป็นจุดขาย ซึ่งก็ประสบความสำเร็จสมใจ

ด้วยความที่พวกบิ๊กโมโตโรล่ามัวลังเลไม่ยอมพัฒนาเทคโนโลยีของตนให้เข้าสู่ระบบดิจิตอล มาถึงปีนี้ยอดขายโทรศัพท์มือถือภายใต้โลโกตัวเอ็มอันคุ้นตา (เดี๋ยวนี้ เปลี่ยนการตีความเป็นปีกไปแล้ว) ต้องตกฮวบอย่างเห็นได้ชัด หนำซ้ำรายได้จากผลิตภัณฑ์หมวดอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านเซมิคอนดักเตอร์ก็คาดการณ์ได้ว่าจะหดตัวลงมาก สืบเนื่องจากอิทธิฤทธิ์ของวิกฤตการเงินที่บั่นทอนกำลังซื้อในย่านเอเชีย สำทับด้วยปัญหาสินค้าล้นตลาดอีกหนึ่งโสตตลาดจีนคือถังข้าวสารคนขายมือถือ

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม โมโตโรล่าไม่อาจถอนตัวออกจากภูมิภาคเอเชียได้ ด้วยว่าตลาดทั้งหมดของโมโตโรล่าประกอบขึ้นด้วยตลาดเอเชียเป็นสัดส่วนถึงหนึ่งในสี่ทีเดียว แต่ในภาวะที่กำลังซื้อในเอเชียส่วนใหญ่ถดถอยลงไปมากนี้ หนทางชดเชยที่โมโตโรล่าต้องเลือก ย่อมหนีไม่พ้นการลุยหนักในประเทศที่เศรษฐกิจยังขยายตัวไม่หยุดยั้ง ซึ่งจะเป็นถิ่นอื่นใดไปไม่ได้เลยนอกจากประเทศจีน นอกจากแนวโน้มที่ว่าเศรษฐกิจของจีนมีโอกาสขยายตัวฝ่ากระแสวิกฤตเอเชียแล้ว จีนยังเป็นขุมทองแหล่งใหญ่ของอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือโดยแท้

รอสส์ โอไบรอัน ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยด้านโทรคมนาคมในจีน แห่งค่าย พิรามิด รีเสิร์ช ฟันธงไว้ว่า จีนนั้นคือตลาดโทรคมนาคมซึ่งขยายตัวเร็วที่สุดในโลก เพราะผู้บริโภคในจีนนับวันแต่จะคลั่งไคล้โทรศัพท์มือถือหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ด้วยตัวเลขศักยภาพการขยายตัวที่ชวนน้ำลายหก ในชุมชนนูโวริชแห่งนี้จะมีผู้ใช้มือถือเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ล้านรายต่อเดือน เมื่อถึงปลายปีนี้ จำนวนผู้จดทะเบียนใช้มือถือทั้งหมดน่าจะทะลุหลัก 22 ล้านราย อันจะทำให้จีนขึ้นแท่นตลาดมือถือใหญ่อันดับ 3 ของโลก เป็นรองอยู่แค่เพียง สหรัฐฯ และญี่ปุ่นเท่านั้น

แต่นั่นยังไม่เพียงพอที่จะอธิบายได้ว่าทำไมโมโตโรล่าจึงให้น้ำหนักแก่ตลาดจีนเสียนักหนา สาเหตุสำคัญอยู่ที่ว่าจีนเคยเป็นทั้งหมูในอวย และเป็นทั้งถังข้าวสารให้แก่โมโตโรล่ามานานกว่าหนึ่งทศวรรษ ล่าสุดเมื่อปี 1997 รายได้ของโมโตโรล่าในจีนเคยมีสัดส่วนเป็น 11% ของรายได้รวมทั้งโลกของค่ายทีเดียว แต่แล้วโมโตโรล่ากลับสูญเสียตลาดสำคัญแหล่งนี้ ไปสู่อ้อมกอดของคู่แข่งสแกนดิเนเวียนอย่างอีริคสันไปอย่างไม่น่าให้อภัย

เป้าหมายของโมโตโรล่าจึงขีดเส้นเด่นชัดไว้ได้เลยว่า โมโตโรล่าจะต้องดึงตลาดจีนกลับคืนมาเพื่อประคองตัว ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจในยุคนี้ให้ได้ ขณะที่โมโตโรล่ายอมลดการลงทุนในที่อื่นๆ แต่โมโตโรล่ากลับเดินหน้าลงทุนเพิ่มในจีนถึง 1,300 ล้านดอลลาร์ งบประมาณตัวนี้ครอบคลุมถึง โครงการสร้างโรงงานผลิตโทรศัพท์มือถือและเซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่ด้วย "เราถือว่าจีนเป็นตลาดใหญ่สุดอันดับสองของโลกสำหรับเราครับ อันนี้นับเฉพาะตลาดส่วนที่อยู่นอกสหรัฐฯ นะครับ" ริค ยูนต์ส รองกรรมการ ผู้จัดการฝ่ายภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของโมโตโรล่าเปิดเผย และบอกด้วย "ผมขอเรียนอย่างนี้เลยครับว่า จีนคือตลาดที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้แก่รายรับยอดรวมของเราครับ"

ทว่า ตอนปฏิบัตินั้นมักไม่ง่ายดังสร้างมโนภาพ โมโตโรล่าต้องเผชิญการท้าทายใหญ่หลวงที่เกิดขึ้น หลังจากที่ตนเพลี่ยงพล้ำครั้งสำคัญในเมืองจีน เรื่องนี้สะท้อนอยู่ในข้อเท็จจริงที่ว่า ทุกวันนี้ถ้าถามคนจีนว่า โทรศัพท์มือถือเรียกเป็นภาษาจีนว่าอะไร คำตอบที่ได้รับคือ 'อ้ายลี่ซิน' อนิจจา ศัพท์คำนี้ที่แท้ก็คือยี่ห้ออีริคสันที่เรียกขานกันในภาษาจีนนั่นเอง

พวกคู่แข่งของโมโตโรล่าสามารถแซงหน้าโมโตโรล่า โดยนำเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาเผยแพร่ในจีนได้ก่อนถึงกว่า 1 ปี ตอนนี้โมโตโรล่าอยู่ล้าหลังห่างไกลอีริคสันหลายขุม อีริคสันกลายเป็นผู้นำตลาดเจ้าใหม่ ทั้งในด้านยอดจำหน่ายเครื่องมือถือ และในด้านยอดขายอุปกรณ์สถานีเครือข่าย ซึ่งรองรับศักยภาพการให้บริการโทรศัพท์มือถือ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมโทรคมนาคมประมาณว่า ส่วนแบ่งตลาดโทรศัพท์มือถือของโมโตโรล่าหดตัวฮวบฮาบจาก 70% เหลือราว 26%


โมโตโรล่าตั้งเป้า : ผงาดใหม่ใหญ่กว่าเดิม

ยูนต์สกับผู้บริหารอื่นๆ ของโมโตโรล่า ยอมรับว่า บริษัทเผชิญความลุ่มๆ ดอนๆ ในเมืองจีน ส่วนหนึ่งเนื่องจากตัวเองก้าวผิดนั่นแหละ อย่างไรก็ดี ขวัญกำลังใจของทีมงานยังดีอยู่มาก ด้านหนึ่งพวกเขาเดินนโยบายลดต้นทุน จนสามารถบอกได้ว่า โมโตโรล่ายังมีศักยภาพการทำกำไรอยู่ไม่น้อยภายในดินแดนแห่งนี้ ในอีกด้านหนึ่งพวกเขามองอนาคตอย่างเปี่ยมหวังว่าถ้าทุกอย่างเดินไปตามแผน (ซึ่งก็ดูจะเป็น "ถ้า" ที่ออกจะหนักหนาอยู่เหมือนกัน) โมโตโรล่าจะหวนกลับคืนสู่ความเป็นเจ้าตลาดมือถือ ภายในปลายปีนี้ด้วยการเปิดตัวเครือข่ายระบบดิจิตอลระบบใหม่

ความมุ่งมั่นของโมโตโรล่าดูจะน่าจับตาเอาจริงๆ ด้วยว่า แม้แต่บริษัทคู่แข่งเองก็ต้องยอมรับว่าบริษัทคงสามารถตีคืนส่วนแบ่งกลับไปได้บ้าง เพียงแต่มันหมายถึงการฟันฝ่าอุปสรรคสาหัส ประเภทสวรรค์แกล้งระคนนรกสาปหลายประการ อาทิ คุณภาพในอดีตสร้างความเสียหายแก่ตัวแบรนด์เนมไปไม่ใช่น้อย, ผลกำไรหดหาย, และพวกบริษัทคนจีนที่เน้นกลยุทธ์ตัดราคา ได้แห่กันแจ้งเกิดอย่างมหาศาลราวกับดอกเห็ดหน้าฝน เหล่านี้จะทำให้ช่วง 2-3 ปีข้างหน้า กลายเป็นระยะเวลาลำบากยากเย็นทีเดียว สำหรับการหวนกลับมาผงาดใหม่ใหญ่กว่าเดิมดังที่โมโตโรล่าตั้งเป้าไว้

โมโตโรล่า ช่างเป็นกรณีศึกษาที่มองข้ามไม่ได้ในเรื่องการลงทุนของต่างชาติในประเทศจีน และที่น่าจับตากว่านั้นคือ ลีลาไหวพลิ้วอย่างไรที่บริษัทรายนี้จะใช้เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาตัวเอง โมโตโรล่านับเป็นบริษัทอเมริกันรายแรกๆ ที่เข้าลงทุนในจีน เมื่อปี 1986 โมโตโรล่ากำเงินก้อนโตร่วม 100 ล้านดอลลาร์ ไปเจรจาตกลงกับทางการจีน เพื่อจะพาโลโกตัวเอ็มอันเลื่องลือของตนเข้าบุกตลาดจีน นับแต่นั้นบริษัทประสบความสำเร็จน่าประทับใจ สามารถจ้ำพรวดๆ ขยายตัวได้อย่างสม่ำเสมอ และมีฐานะเป็นนักลงทุนอเมริกันใหญ่อันดับ 2 ในจีน รองจาก เจเนอรัล มอเตอร์ส นอกจากนั้น โมโตโรล่ายังเป็นบริษัทอเมริกัน เจ้าแรกที่ได้รับอนุญาตให้ถือหุ้นเต็ม 100% ในกิจการของตนที่เมืองจีน ภายในสิ้นทศวรรษนี้ การลงทุนของโมโตโรล่าในจีนจะทะลุหลัก 2,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าที่อื่นใดในโลกนอกปริมณฑลประเทศแม่

ตัวเลขเช่นนี้เป็นพยานยืนยันได้ว่า ผู้บริหารโมโตโรล่าเชื่อมั่นเหลือเกินว่ายังมีหนทางทำเงินอีกมหาศาลนักในเมืองจีน และถึงแม้ต้องประสบความลำบากกับเรื่องโทรศัพท์มือถือซึ่งเป็นธุรกิจหลักของตัวเอง แต่โมโตโรล่ายังมีกิจการด้านอื่นอีกหลายหลากในประเทศนี้ที่ทำกำไรได้ดี ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์วิทยุสื่อสาร ที่ขายดิบขายดีอย่างระเบิดเถิดเทิง โดยมีกระทรวงรักษาความปลอดภัยสาธารณะของจีนนี่แหละเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดรายหนึ่ง หรือไม่ว่าจะเป็นเครื่องเพจเจอร์ที่โมโตโรล่าผลิตเองก็สามารถครองตลาดในจีนได้ราวครึ่งหนึ่ง ทั้งๆ ที่มีเพจเจอร์ราคาถูกกว่าจากฮ่องกง เกาหลีใต้ ตลอดจนที่ทำในจีน เบียดแย่งส่วนแบ่งอยู่อย่างไม่ลดละ


มั่นใจขยายตัวด้านเซมิคอนดักเตอร์

เมื่อโมโตโรล่าเข้าทำธุรกิจในเอเชีย โมโตโรล่าประสบความสำเร็จสูงมากกับการขยายตัว ในสไตล์แผ่ซ่านออกไปเท่าที่สายสัมพันธ์จะเอื้ออวยถึง ธุรกิจที่อยู่ในประเทศจีนของโมโตโรล่าจึงใช่ว่าจะจำกัดวงอยู่แต่เฉพาะด้านโทรคมนาคม อันเป็นธุรกิจแกนกลางของบริษัท ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของบริษัทที่แพร่หลายทั่วจีนมีหลายหลากประเภทกว้างขวาง ตั้งแต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกติดตั้งในรถยนต์ ไปจนถึงบัตรสมาร์ทการ์ด, เครื่องเซรามิก, ควอตซ์, เครื่องคริสตอล และแน่นอนว่ารวมทั้งเซมิคอนดักเตอร์ หรือ "ชิป" เจ้าสมองและความจำขนาดจิ๋ว ซึ่งซ่อนอยู่ข้างในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกทั้งหลาย ไล่ตั้งแต่กล้องถ่ายภาพไปจนถึงคอมพิวเตอร์ เซมิคอนดักเตอร์ทำรายได้คิดเป็นกว่า 20% ของยอดขายทั่วโลกของโมโตโรล่า หรือประมาณครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์ด้านโทรศัพท์มือถือ

ภายในยุทธศาสตร์การผลิตที่โมโตโรล่าวาดไว้ ธุรกิจหมวดเซมิคอนดักเตอร์นั้นเป็นเสี้ยวส่วนสำคัญขององค์รวมระดับโลก ขณะนี้บริษัทกำลังก่อสร้างโรงงานมูลค่า 720 ล้านดอลลาร์ที่เมืองท่าเทียนสิน เพื่อผลิตแผ่น "เวเฟอร์" ซึ่งเป็นตัวแผ่นวัสดุสำหรับทำเซมิคอนดักเตอร์ โรงงานแห่งนี้จะเป็นโรงงานผลิตแผ่นเวเฟอร์แห่งแรกของโมโตโรล่า ที่ตั้งอยู่นอกสหรัฐฯ และคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ในต้นปีหน้าเท่านั้นยังไม่พอ บริษัทยังมีแผนจะขึ้นโรงงานเซมิคอนดักเตอร์อีกอย่างน้อย 1 แห่งในจีน ภายในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ตลอดจนจะตั้งโรงงานด้านออกแบบด้วย

แผนขยายตัวด้านเซมิคอนดักเตอร์ของโมโตโรล่านับว่าอาจหาญนัก เมื่อคำนึงถึงว่าภาวะตลาดเซมิคอนดักเตอร์ของโลกกำลังทรุดตัวฮวบฮาบอยู่ในเวลานี้ และเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ว่าคนโมโตโรล่าจะไม่รู้ เล่ากันว่าแต่เดิมนั้นทางโมโตโรล่าประมาณการไว้ว่า ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกจะขยายตัว 15% ในปี 1998 แต่ ณ วันนี้ โมโตโรล่ายอมรับแล้วว่าดีมานด์ดังกล่าว นอกจากจะไม่ขยายแล้ว ยังซ้ำจะหดตัวลงหลายเปอร์เซ็นต์ทีเดียว

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่พวกนายใหญ่ของโมโตโรล่ากล้าสวนกระแส เป็นเพราะการวิเคราะห์ว่าสถานการณ์จะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ต้นปีหน้า ยิ่งกว่านั้นทางโมโตโรล่าวิเคราะห์ไว้แล้วว่า ในที่สุดแล้วจีนจะกลายเป็นผู้ซื้อเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลก และโมโตโรล่าก็เตรียมรับความสำเร็จไว้อย่างแข็งขัน "มันจะเกิดขึ้นในปีไหนนั้นขึ้นอยู่กับว่าคุณไปคุยกับใคร แต่แน่นอนว่ามันน่าจะเป็นช่วงต้นๆ สหัสวรรษหน้านี่แหละ" ยูนต์สฟันธงอย่างมั่นอกมั่นใจ

โมโตโรล่ากำลังจัดทำแผนขั้นสุดท้าย เพื่อนำเงินลงทุนใหม่อีกจำนวนหนึ่งเข้าลงในโรงงานแห่งหนึ่งที่เมืองซูโจว ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกของจีน ยูนต์สกล่าวว่า โรงงานนี้จะผลิตทั้งวิทยุสื่อสาร อุปกรณ์พื้นฐานสำหรับระบบโทรศัพท์มือถือ เครื่องเพจเจอร์ และเครื่องมือถือ เป้าหมายปลายทางสำหรับโรงงานแห่งนี้วาดวางไว้ว่าในอีกสัก 10 ปี โรงงานแห่งนี้จะกลายเป็นคู่แข่งของโรงงานปัจจุบัน ที่ตั้งอยู่ทางเทียนสิน

บริษัทได้เริ่มงานปฏิรูปโครงสร้างภายในองค์กรของตนครั้งสำคัญในระดับโลก เพื่อหนุนเสริมการกลับขึ้นผงาดภายในประเทศจีน โมโตโรล่าประกาศในเดือนกรกฎาคมว่า จะหั่นต้นทุนและลดการแข่งขันภายในระหว่างแผนกงานต่างๆ ซึ่งเป็นจุดอ่อน และภาพด่างพร้อยของตัว อีกทั้งเป็นจุดที่นักวิเคราะห์บางคนกล่าวโทษว่า คือต้นเหตุของการตัดสินใจผิดพลาดฉกาจฉกรรจ์หลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การชะลอไม่ยกระดับเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือขึ้นสู่ระบบดิจิตอล


งัดทุกกลยุทธ์พลิกฟื้นฐานะ
เจ้าตลาดแห่งระบบ CDMA

แคมเปญโฆษณาระดับโลกเพื่อเร่งเสริมภาพลักษณ์ตัวเอง เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่โมโตโรล่าจะนำมาใช้ อย่างไรก็ตาม ไอเดียแคมเปญที่วางกันไว้ได้รับการวิจารณ์จากหลายฝ่าย รวมทั้งจากผู้บริหารของบริษัทบางคนว่า ออกจะสะเหร่อปนเชยไปหน่อย เรื่องนี้อาจเป็นการเสียมากกว่าได้สำหรับ ตลาดจีน ซึ่งมีระดับความเห่อเหิมในเรื่องแบรนด์สูงมาก แคมเปญโฆษณาชุดใหม่นี้ จะเล่นกับโลโกรูปตัวเอ็มของบริษัท ซึ่งออกแบบให้มีสไตล์แลดูคล้ายกับปีกค้างคาว หนังโฆษณานี้มีทั้งช็อตท้องฟ้าที่เมฆลอยเลื่อน แล้วก็มีเสียงพูดขึ้นว่า "เขาว่ากันว่าคนเราบินไม่ได้ โมโตโรล่าติดปีกให้กับคุณ"

เมื่อเอาไอเดียแคมเปญนี้ไปเทียบกับของทางอีริคสันแล้วออกจะน่าห่วง เมื่อเร็วๆ นี้เอง อีริคสันเพิ่งเปิดแคมเปญโปรโมชั่นจ๊าบสุดๆ ในจีน โดยใช้ดารานักร้องนักแสดงฮ่องกงระดับซูเปอร์สตาร์อย่าง หลิวเต๋อหัว เป็นพรีเซ็นเตอร์ ขณะที่ทางโมโตโรล่ายังไม่ได้สร้างสรรค์โฆษณาพิเศษอะไร เพื่อใช้ในจีนเป็นการเฉพาะเลย

ความหวังของโมโตโรล่าที่จะฟื้นฟูที่ทางของตนในตลาดโทรศัพท์มือถือจีน ฝากไว้กับการเปิดตัวเครือข่ายระบบดิจิตอลระบบใหม่เป็นสำคัญ บริษัทหวังไว้ว่าจะสามารถทำได้ตอนปลายปีนี้ ทว่าบริษัทจีนที่จะต้องเป็นผู้บริหารเครือข่ายนี้ คือ ไชน่า เทเลคอมส์ เกรท วอลล์ ยังไม่ได้กำหนดเวลาแน่นอนชัดเจน และกำลังรอให้รัฐบาลปักกิ่งอนุมัติเสียก่อน อย่างไรก็ตาม โมโตโรล่ามิได้นิ่งนอนใจ หากกำลังจะเริ่มเดินเครื่องการผลิตในโรงงานใหม่ 2 แห่งที่เมืองหางโจว ซึ่งจะผลิตเครื่องมือถือและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับสนับสนุนเครือข่ายใหม่ที่ว่านี้

เครือข่ายใหม่ของโมโตโรล่าจะอาศัยเทคโนโลยีที่เรียกว่า CDMA ซึ่งโมโตโรล่ายืนยันว่าให้คุณภาพเสียงดีเยี่ยมกว่าระบบอื่น "เชื่อมั่นมากครับว่า CDMA จะเป็นพลังที่สำคัญมากในประเทศจีน" เค.พี. โต หัวหน้าผู้แทนในประเทศจีนของโมโตโรล่าบอก

CDMA นั้นใช้กันกว้างขวางในสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ อีกทั้งกำลังเริ่มเจาะเข้าไปตามประเทศอื่นๆ ในเอเชีย แต่เมื่อเปรียบเทียบ CDMA กับ GSM ซึ่งเป็นคู่แข่งรายสำคัญภายใต้มาตรฐานดิจิตอลอีกระบบหนึ่งแล้วออกจะน่าเป็นห่วง ทั้งนี้ GSM เริ่มใช้กันในยุโรปเมื่อปี 1992 และคุยว่ามีผู้ใช้ทั่วโลกอยู่ 100 ล้านราย ขณะที่ CDMA ยังมีเพียง 12 ล้านราย จึงทำให้ GSM ได้เปรียบในแง่ที่ใช้สะดวกกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหมู่ผู้ที่ต้องเดินทางบ่อย

จนถึงเวลานี้ มีเครือข่ายทดลองของระบบ CDMA ปรากฏขึ้นในเมืองใหญ่ของจีนอย่างน้อย 4 แห่งแล้ว ทว่าการให้บริการเชิงพาณิชย์แก่ลูกค้ายังไม่เรียบร้อย ต้องรอให้มีการเปิดตัวเครือข่ายเสียก่อน ปัญหาคงจะมีอยู่แน่ๆ เพราะไชน่า เทเลคอมส์ เกรท วอลล์ ได้ดำเนินการทดลองมาปีครึ่งแล้ว โดยไม่ได้มีข่าวคราวว่ามีความติดขัดบกพร่องอะไร ผู้สังเกตการณ์บางรายจึงสงสัยว่า พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบด้านโทรคมนาคมกำลังพิจารณาทบทวนเรื่องนี้อยู่หรือเปล่า

การณ์กลับจะน่าเป็นห่วงซ้ำซ้อนเข้าไปอีก เมื่อมีข่าวออกมาว่าประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินเพิ่งมีคำสั่งเมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้เอง ให้หน่วยงานของกองทัพถอนตัวจากธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่ภาระหน้าที่ทางทหาร เรื่องนี้ย่อมกระทบไชน่า เทเลคอมส์ เกรท วอลล์ โดยตรง เพราะบริษัทมีกองทัพปลดแอกประชาชนเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ครึ่งหนึ่ง (อีก 50% ที่เหลือเป็นของไชน่า เทเลคอม ยักษ์ใหญ่รัฐวิสาหกิจด้านโทรศัพท์) ความเปลี่ยนแปลงในข้อนี้จุดประกายคำถามขึ้นเกี่ยวกับอนาคตของบริษัทนี้ และอาจจะทำให้บริษัทเกิดอุปสรรคในการหาเงินทองมาใช้จ่ายก็ได้

ทั้งหมดนี้กลายเป็นขวัญกำลังใจแก่บรรดาคู่แข่งหลักๆ ของโมโตโรล่า ซึ่งยังคงยึดมั่นอยู่กับมาตรฐาน GSM จอห์น กิลเบิร์ตสัน กรรมการผู้จัดการ ของอีริคสันในประเทศจีน บอกว่าเทคโนโลยี CDMA นั้น "ตาย" แล้วในเมืองจีน และดักคอไว้ว่าป่วยการที่พวกผู้บริหารโมโตโรล่าจะยังพูดไปเป็นอย่างอื่น เพราะมันคือการหลอกตัวเอง

ปัญหาที่รอเล่นงานโมโตโรล่ายังมีแง่มุมอื่นอีกหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นความแพร่หลายทั่วโลกซึ่งเป็นจุดแข็งของ GSM ที่โมโตโรล่ามองข้ามละเลยไปด้วยว่า โมโตโรล่าตั้งเป้าหมายว่าจะกระโดดเลยข้าม GSM ไปสู่ CDMA นอกจากนั้น ในการตั้งเครือข่าย CDMA ขึ้นมาใหม่ จะต้องกินเวลาร่วม 2-3 ปีจึงจะถึงจุดคุ้มทุน ซึ่งอาจเข้าตำราที่ว่ากว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ เพราะกว่าจะถึงตอนนั้น คาดได้ว่าเทคโนโลยีของมือถือก็จะก้าวกระโดดไปอีก เข้าสู่สิ่งที่เรียกว่า "รุ่นที่สาม" ซึ่งจะทำให้มาตรฐานที่มีกันอยู่เวลานี้ล้าสมัยไปแบบยกแผง

แน่นอนว่า โมโตโรล่าไม่ได้ฝากผีฝากไข้ไว้กับเครือข่าย CDMA เพียงอย่างเดียว บริษัทยังผลิตและจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์มือถือระบบ GSM ทั้งในเมืองจีนและทั่วโลกด้วย มือถือ GSM รุ่น StarTAC ของโมโตโรล่าซึ่งเปิดตัวเมื่อปีที่แล้วเป็นที่นิยมกันมาก แม้บริษัทไม่ยอมเปิดเผยว่าทำรายได้จากเสี้ยวส่วนนี้ไปสักกี่มากน้อย แต่นักวิเคราะห์คาดว่าโมโตโรล่าคงจะได้ส่วนแบ่งตลาด GSM ไปในราว 20-25% ซึ่งไล่เลี่ยกับค่ายโนเกีย แต่น้อยกว่าอีริคสันราว 10%

ปัจจัยด้านเทคโนโลยีกับคุณภาพดูจะลดความสำคัญในเชิงการตลาดลงเรื่อยๆ สำหรับผู้บริโภคในจีน เพราะพูดกันหนาหูว่า คนย่านนี้ออกจะแคร์กับภาพลักษณ์และความโด่งดังของยี่ห้อมากกว่าอื่นใด เพอร์ตี ไซโมวารา ซึ่งบริหารงานให้แก่ค่ายโนเกียในจีนให้ความเห็นว่า "ตลาดที่นี่แฟชั่นจ๋ามากอย่างน่าอัศจรรย์ใจ แค่คุณมองดูสไตล์การแต่งตัวของผู้คนตามท้องถนน คุณจะเห็นได้เลยว่าคนที่นี่แฟชั่นจัดขนาดไหน พอมาถึงเรื่องของโทรศัพท์มือถือ คนที่นี่จะยิ่งเน้นแฟชั่นมากเข้าไปใหญ่"


ระวังการแข่งขันจากบริษัทท้องถิ่น

แม้ขณะนี้ คู่แข่งที่น่ากลัวที่ สุดของโมโตโรล่ายังเป็นพวกฝรั่งด้วยกัน แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ คู่แข่งจากท้องถิ่นจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจุดแข็งของกลุ่มนี้มักอยู่ที่เงื่อนไขราคา

ในการทำตลาดที่มีการแข่งขันรุนแรงอย่างเช่นในจีนนี้ โมโตโรล่าต้องใช้กลยุทธ์แบบเดียวกับใครต่อใคร คือการลดราคาตัวเครื่องจนเหลือส่วนของกำไรบางเฉียบเหลือเกิน แม้ตลาดในจีนปัจจุบันนี้จะมีผู้ผลิตเครื่องโทรศัพท์มือถือที่เป็นบริษัทชาวจีนอยู่เพียงรายเดียว แต่สำหรับอนาคตแล้วย่อมหนีไม่พ้นว่า จะมีผู้ผลิตที่เป็นบริษัทชาวจีนทยอยกันแจ้งเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ และผู้ผลิตกลุ่มนี้มักจะมุ่งจับแต่ผู้บริโภคประเภทรสนิยมสูงแต่รายได้ต่ำ

"ปัญหาที่ทั้งโมโตโรล่าและอีริคสันล้วนแต่ต้องขับเคี่ยวภายในตลาดจีน ช่างเป็นปัญหาแบบเดียวกับที่บริษัทต่างชาติในจีนล้วนต้องเจออยู่เวลานี้ ถ้าราคาของคุณสูงเกินไป คุณก็เตะตัวเองออกไปจากตลาด แต่ถ้าคุณไม่มีจุดแข็งด้านบริการ หรือคุณภาพมาเสนอให้ต่างไปจากบริษัทจีน คุณก็จะตกที่นั่งว่าลำบากที่จะทำธุรกิจที่นี่ให้ตลอดรอดฝั่ง" กรูเอซเนอร์ บอกอย่างนั้น

กระนั้นก็ตาม ความวิตกต่อภาวะการแข่งขันด้านเครื่องโทรศัพท์มือถือจะจืดไปเลย หากนำไปเทียบกับการแข่งขันจากบริษัทท้องถิ่นในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานของโทรคมนาคม ซึ่งรวมถึงการผลิตอุปกรณ์ชุมสายและสถานีฐาน บริษัทของจีนอย่าง หวาเว่ย เทคโนโลยี ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเซินเจิ้น และ ต้าถัง เทเลโฟน คอร์ป แห่งเมืองซีอาน คว้าส่วนแบ่งในตลาดโครงสร้างพื้นฐานไปได้แล้วราว 6% ในปีนี้ จากที่ไม่มีเอี่ยวอะไรเลยเมื่อปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ศักยภาพของบริษัทจีนที่จะก้าวกระโดดตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ยังเป็นเรื่องที่ไม่ชัดเจน กิลเบิร์ตสันแห่งอีริคสันวิจารณ์ว่า เมื่อ เทคโนโลยีโทรคมนาคมก้าวกระโดดไปสู่ยุคใหม่อีกยุคหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการรับส่งข้อมูล หวาเว่ยอาจ ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะกระโจนตามไปไหว

ตลาดด้านอุปกรณ์ชุมสายและสถานีฐานนับว่าโหดหินสำหรับโมโตโรล่า บริษัทเสียรังวัดด้านโครงสร้างพื้นฐานไปแยะจากการก้าวเข้ามาของ GSM ใน ปี 1997 บริษัทอยู่ในอันดับ 4 ตามหลัง อีริคสัน โนเกีย และ อัลคาเทล โดย ได้ส่วนแบ่งเพียง 11% จากคู่สายมือถือระบบดิจิตอล 20.2 ล้านคู่สายที่ให้บริการกันอยู่ ที่ร้ายกว่านั้นคือ แม้กระทั่งในตลาดโครงสร้างพื้นฐานระบบอนาล็อก โมโตโรล่ากลับล้าหลังคู่แข่งจากสวีเดน กล่าวคือเป็นผู้ซัปพลายราว 38% ของคู่สายที่ใช้กันอยู่ 7.4 ล้าน คู่สาย เปรียบเทียบกับอีริคสันซึ่งคว้าเอาไป 55%

ฐานะของ โมโตโรล่า ออกจะย่ำแย่เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่า บริษัทผลิตเพียงแค่สถานีฐาน ซึ่งทำหน้าที่รับสัญญาณวิทยุเมื่อมีเครื่องมือถือเรียกเข้ามา ทว่าไม่ได้ซัปพลายชุมสาย อันเสมือนเป็นมันสมองคอยประสานจัดแบ่งเส้นทางติดต่อให้แก่เครื่องที่เรียกเข้ามา, คิดคำนวณค่าบริการ, และอื่นๆ ดังนั้น โมโตโรล่า จึงต้องยอมเชื่อมต่อกับคู่แข่ง อาทิ ซีเมนส์ ให้คนอื่นเขาซัปพลายชุมสายให้ ทั้งที่บริษัทพวกนี้เองก็ผลิตสถานีฐานอยู่เช่นกัน

อีกไม่นาน ผู้บริหารของโมโต-โรล่าจะต้องเผชิญการทดสอบอันสำคัญ ยิ่งยวดอีกรอบหนึ่ง เมื่อจะต้องเร่งเครื่องก้าวกระโดดไปสู่เทคโนโลยีมือถือ "รุ่นที่สาม" ซึ่งคาดหมายกันว่าจะเข้าแทนที่มาตรฐานดิจิตอลที่มีอยู่เวลานี้ภายในเวลา 3-4 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม โมโตโรล่าเจ็บปวดมาเกินพอแล้วสำหรับบทเรียนว่าด้วย "ผลิตภัณฑ์ของวันนี้คือขยะของวันพรุ่งนี้" ขณะนี้สายตาของยูนต์ส นายใหญ่ฝ่ายเอเชียแปซิฟิกของโมโตโรล่าเฝ้าแต่สอดส่ายหาสิ่งที่เรียกว่าจังหวะโอกาส เขายอมรับว่า "จังหวะเวลานั่นแหละคือทุกสิ่งทุกอย่าง"

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us