ในบรรดาโทรศัพท์มือถือที่ครองตลาดอยู่ในไทย หลายคนคงนึกถึงแต่ยี่ห้อโนเกียแห่งฟินแลนด์
อีริคสันจากสวีเดน โมโตโรล่า จากอเมริกา นอกนั้นก็เป็นของจากค่ายยุโรป อย่างซีเมนส์
อัลคาเทล ที่ทำตลาดอยู่ประปราย
แต่สำหรับควอคอมม์แล้ว หลายคนคงแทบไม่เคยได้ยินมาก่อน ทั้งๆ ที่ควอคอมม์เองก็เพียรพยายามแจ้งเกิดในเมืองไทยมาหลายต่อหลายครั้ง
แต่ดูเหมือนก็ยังไปไม่ถึงเป้าหมายเสียที
ควอคอมม์ นั้นเป็นบริษัทผู้พัฒนาและผลิตโทรศัพท์มือถือระบบซีดีเอ็มเอ (CODE
DIVISION MULTIPLE ACCESS) ในสหรัฐอเมริกา ตั้งขึ้นในปี 2528 มีเป้าหมายอยู่ที่การพัฒนาไปสู่ระบบดิจิตอล
ซีดีเอ็มเอ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือระบบดิจิตอลระบบใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีการส่งสัญญาณด้วยรหัส
ที่มุ่งแก้ไขในเรื่องความคมชัดของสัญญาณ และสามารถประหยัดความถี่ได้มากกว่าส่งสัญญาณด้วยเวลา
(TIME DIVISION MULTIPLE ACCESS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของระบบดิจิตอลจีเอสเอ็ม
และพีซีเอ็น
ควอคอมม์ จัดว่าเป็นเจ้าตำรับของระบบซีดีเอ็มเอ เพราะเป็นทั้งผู้ผลิตพัฒนาระบบ
และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ชิปที่ใช้กับโทรศัพท์มือถือระบบซีดีเอ็มเอ ซึ่งอุปกรณ์ที่ผลิตออกมาก็มีทั้งโทรศัพท์มือถือ
โทรศัพท์พื้นฐานแบบไร้สาย ซึ่งควอคอมม์นั้นก็ทำตลาดเป็นล่ำเป็นสันอยู่ในสหรัฐอเมริกา
และพยายามขยายไปยังตลาดอื่นๆ นอกประเทศ ตามแบบฉบับของผู้คิดค้นเทคโนโลยี
ในเอเชียก็เช่นกัน ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงของการบุกตลาดอย่างแท้จริง
เพราะควอคอมม์เข้ามาเปิดสำนักงานทั้งในจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี ฟิลิปปินส์
สิงคโปร์ และไทย โดยเริ่มทำตลาดที่ฮ่องกงเป็นประเทศแรกที่นำระบบซีดีเอ็มเอไปใช้
ตามด้วยเกาหลี ซึ่งควอคอมม์ นั้นก็เป็นทั้งซัปพลายเออร์ระบบเครือข่ายให้กับผู้ให้บริการ
และจำหน่ายโทรศัพท์มือถือระบบซีดีเอ็มเอ
สำหรับตลาดในไทย ควอคอมม์พยายามเข้าสู่ตลาด ในไทยมาตลอดในช่วง 2-3 ปีมานี้
เริ่มตั้งแต่การเปิดตัวกับการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ซึ่งมีแนวคิดที่จะเปลี่ยน
จากระบบแอมป์ 800 แบนด์เอ มาเป็นระบบดิจิตอลซีดีเอ็มเอ
จนกระทั่ง กสท.ได้มอบสิทธิการทำตลาดระบบซีดีเอ็มเอ ให้กับบริษัทตะวัน โมบายเทเลคอม
ควอคอมม์ก็ได้เข้ามาตั้งสำนักงานในไทยทันทีในเดือนตุลาคม 2540 เพื่อรอท่าบริษัท
ตะวัน โมบาย เทเลคอม ที่จะเปิดให้บริการในช่วงต้นปี 2541
ตะวันโมบายฯ ไม่เพียงแต่จะเปิดให้บริการล่าช้าไปกว่ากำหนด คือ เปิดให้บริการในช่วงเมษายน
2541 เท่านั้น แต่ดูเหมือนว่าความกระตือรือร้นของควอคอมม์ ซึ่งเป็นผู้ขายเครื่องลูกข่ายจึงดูจะมากกว่า
ผู้ได้รับสิทธิให้ทำตลาดอย่างตะวันโมบายเทเลคอมเสียอีก
ก่อนหน้าที่ตะวันโมบายเทเลคอมจะเปิดให้บริการ ควอคอมม์ก็นำผู้บริหารระดับสูงบินมาเมืองไทย
เพื่อเปิดตัวเครื่องลูกข่ายรุ่นแรกของควอคอมม์ ที่จะทำตลาดในเมืองไทย พร้อมกับประกาศตัวถึงความมุ่งมั่นในการทำตลาดซีดีเอ็มเอในไทย
แต่ความหวังของควอคอมม์ดูจะสวนทางกับสภาพที่เกิดขึ้นกับระบบซีดีเอ็มเอในเมืองไทย
จากการเปิดเผยของเธียร ปฏิเวชวงศ์ ประธานกรรมการบริษัทตะวันโมบาย เทเลคอม
ที่ระบุไว้ว่า จากที่เปิดให้บริการมาเกือบ 4 เดือน มียอดจดทะเบียนลูกค้าในระบบซีดีเอ็มเออยู่เพียงแค่
2,000-3,000 รายเท่านั้น
4 เดือนกับยอดลูกค้าจำนวนเท่านั้น ย่อมไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีนักสำหรับทั้งตะวันโมบายฯ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งควอคอมม์เอง ที่ดูจะกระตือรือร้นมากกว่าผู้ให้บริการเสียอีก
จะว่าไปแล้วระบบซีดีเอ็มเอจัดได้ว่า เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับจากคนในวงการโทรคมนาคมว่ามีประสิทธิภาพ
โดยเฉพาะในเรื่องของความคมชัดของสัญญาณ "ปัญหาสำคัญอยู่ที่ความไม่พร้อมของเครือข่าย
ที่ให้บริการได้เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และเขตรอบนอกเท่านั้น จะไปใช้ต่างจังหวัดนั้น
หมดสิทธิเลย เครื่องลูกข่ายก็มีราคาแพง" แหล่งข่าวในวงการโทรศัพท์มือถือให้ความเห็น
ยอดจดทะเบียน 2,000-3,000 รายที่ได้มานั้น ล้วนแต่เป็นลูกค้าใหม่ทั้งหมด
ทั้งๆ ที่เป้าหมายของตะวันโมบาย คือ ลูกค้าเก่าแอมป์ แบนด์เอจำนวน 39,000
ราย ที่จะเปลี่ยนมาใช้ระบบซีดีเอ็มเอ ซึ่งในช่วงเริ่มเปิดให้บริการ ตะวันโมบายฯ
ก็ทำแคมเปญให้นำเครื่องเก่ามาแลก เครื่องใหม่ใน ราคา 23,900 บาท จากราคาปกติ
ที่จำหน่ายอยู่ 29,900บาท แต่พอมาเจอข้อจำกัดเรื่องเครือข่ายที่มีเฉพาะในกรุงเทพฯ
และปริมณฑลเท่านั้น ซึ่งหากต้องการไปใช้ต่างจังหวัดต้องเอาไปใช้ 2 เครื่อง
ทั้งเครื่องเก่าและเครื่องใหม่ ทำให้ไม่มีลูกค้าเก่ารายใดหันมาใช้ระบบซีดีเอ็มเอเลย
ยิ่งไปกว่านั้นในจำนวนลูกค้า 2,000-3,000 ราย นั้นก็เป็นพวกตั้งโต๊ะเถื่อน
ที่แอบซื้อเครื่องไปและนำไปให้บริการอีกต่อหนึ่ง แคมเปญโทรฟรีตลอดปีแบบไม่จำกัด
แทนที่จะร้อนแรงในหมู่ผู้ซื้อ แต่กลับกลายเป็นที่ชื่นชอบของบรรดาตั้งโต๊ะเถื่อนไปแทน
ซึ่งคนส่วนใหญ่เองก็ยังไม่รู้จักหรือเข้าใจระบบนี้เท่าไหร่นัก
ยกแรกของซีดีเอ็มเอ จึงดูแพ้น็อกไปตั้งแต่ขึ้นเวทีไม่เท่าไหร่ แต่ควอคอมม์เองก็ไม่มีทางเลือกมากนัก
"เราแน่ใจว่า ตะวันโมบาย เทเลคอมทำให้ระบบซีดีเอ็มเอ เกิดได้ เพราะ
กสท.ได้เลือกมาแล้ว และเราก็พร้อมที่จะสนับสนุนตะวันโมบายเทเลคอมในการทำตลาดต่อไป
ซึ่งเป็นนโยบายที่ควอคอมม์ในการทำตลาดในทุกประเทศอยู่แล้ว" ไมเคิล ดับเบิ้ลยู
วอลเลซ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่บินมาเมืองไทย พร้อมกับ
ดร.พอล อี. จาคอบส์ ประธานกรรมการฝ่ายผลิตภัณฑ์เครื่องลูกข่าย เพื่อเปิดตัวเครื่องลูกข่ายใหม่
รุ่นคิวโฟน ซึ่งเป็นลูกข่ายรุ่นที่สอง เพื่อตอกย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นต่อการแจ้งเกิดในไทย
ส่วนการอัดฉีดในเรื่องการสนับสนุนให้กับตะวันโมบายเทเลคอม เป็นตัวเลขเท่าไหร่และจะใช้วิธีใดนั้น
ผู้บริหารของควอคอมม์ไม่ได้บอกรายละเอียด เพียงแต่บอกว่าขึ้นอยู่กับโอเปอเรเตอร์ของแต่ละประเทศ
ทางด้านเธียร กล่าวว่า จะใช้งบประมาณ 20-30 ล้านบาท ในการโฆษณาและประชาสัมพันธ์
ในการสร้างชื่อระบบซีดีเอ็มเอให้เป็นที่รู้จัก โดยจะเน้นไปที่รูปแบบของการให้ความรู้
ซึ่งงบจำนวนนี้ตะวัน โมบาย และควอคอมม์จะออกคนละครึ่ง
แต่ที่แน่ๆ ราคาเครื่องรุ่นเก่าของควอคอมม์ และยี่ห้อโซนี่ จะลดราคาลงมา
30% เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องราคาเครื่องลูกข่ายที่มีราคาแพง พร้อมกันนี้ควอคอมม์ก็จะนำเครื่องรุ่นใหม่
Q-800 มาทำตลาด ซึ่งคล้ายกับเครื่องสตาร์ แทคของโมโตโรล่า จำหน่ายในราคา
30,000 บาท เพื่อสร้างความหลากหลายของเครื่องลูกข่าย ขณะเดียวกันทางด้านตะวันเทเลคอมเอง
จะแก้ไขปัญหาปิดจุดอ่อนในเรื่องเครือข่ายในต่างจังหวัด ด้วยการโรมมิ่งใช้ระบบแอมป์
800 แบนด์เอ ของ กสท. ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ตามจังหวัดใหญ่ๆ ไปก่อนโดยเครื่องที่มีอยู่นี้เป็นระบบ
DUO MODE คือสามารถใช้ได้ทั้งระบบแอมป์ และดิจิตอลซีดีเอ็มเออยู่แล้ว
"ตอนนี้เราต้องรอระบบ PIN ซึ่งเป็นระบบป้องกันการจูนเลขหมาย ที่ กสท.ติดตั้งอยู่เสร็จก่อน
คาดว่า 1-2 เดือนก็คงเปิดใช้ได้ ซึ่งจะแก้ปัญหาในเรื่องเครือข่ายในช่วงที่
กสท.ยังไม่ได้ขยายเพิ่มไปได้ก่อน" เธียรกล่าว
แน่นอนว่า แคมเปญโทรฟรี ก็ยังเป็นจุดขายที่เธียรยังยึดเป็นคัมภีร์การตลาด
เพียงแต่เขายังไม่ได้บอกว่าจะเป็นระยะเวลากี่ปี
ยกที่สองของตะวันโมบายโฟน และควอคอมม์จะสามารถพลิกสถานการณ์ให้กับระบบซีดีเอ็มเอได้เพียงใด
ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็คงมีคำตอบ
แต่ที่แน่ๆ ควอคอมม์ก็คงได้ประสบการณ์เพิ่มเติม แล้วว่า แม้จะมุ่งมั่นกับการแจ้งเกิดในไทยเพียงใด
แต่ก็ยังมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่ควอคอมม์ต้องรู้ว่าเมืองไทยไม่เหมือนกับประเทศอื่นๆ