Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2541
ลีนุกซ์' ความร้อนแรงของซอฟต์แวร์ฟรี             
 


   
search resources

Software




ครั้งหนึ่งบิลเกตต์ ก็คงไม่นึกว่าตัวเองจะกลายเป็นมหาเศรษฐีติดอันดับโลก จากการคิดค้นซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการ ที่เครื่องพีซีเกือบทุกเครื่องจะต้องมีผลิตภัณฑ์ ของไมโครซอฟท์ติดตั้งอยู่

เช่นเดียวกับลีนุส โทรวัลด์ส นักศึกษาหนุ่มจากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ที่คิดค้นซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ ขึ้นมาในช่วงที่เขาทำวิทยานิพนธ์ส่งอาจารย์เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว เพียงแต่ลีนุสไม่ได้กลายเป็นมหาเศรษฐีติดอันดับท็อปเทนของโลก เหมือนกับเจ้าพ่อซอฟต์แวร์อย่างบิล เกตต์ เพราะทุกวันนี้เขายังเป็นลูกจ้างในบริษัทออกแบบชิปแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา

แต่บังเอิญว่า ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ ที่ลีนุสคิดค้นขึ้นมา และแจกจ่ายไปให้ใช้ฟรีบนอินเตอร์เน็ต มีผู้นำไปใช้แล้วอย่างเป็นล่ำเป็นสัน บ้างก็ว่ามีอยู่ 7-8 ล้านคน ในขณะที่ผู้ผลิตซอฟต์แวร์บางรายระบุว่า มียอดผู้ใช้พุ่งไปถึง 20 ล้านคนแล้วในเวลานี้

ลีนุสไม่ได้เพียงแจกฟรีตัวโปรแกรมลีนุกซ์เท่านั้น แต่ยังแจกจ่าย "ซอสโค้ด" อันเป็นส่วนสำคัญของการเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์ ที่บอกถึงที่มาของการเขียนซอฟต์แวร์ว่าเขียนอย่างไรไปให้ด้วย เพราะต้องการให้มีการนำไปหาข้อบกพร่องพัฒนาโปรแกรมลีนุกซ์นี้เพิ่มเติม

ว่ากันว่ามีโปรแกรมเมอร์มากกว่า 2,000 รายที่นำโปรแกรมลีนุกซ์ไปพัฒนาส่งผลให้มีแอพพลิเคชั่นต่างๆ บนลีนุกซ์เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่นที่ใช้งานบนอินเตอร์เน็ต รวมทั้งการพัฒนาให้ใช้งานได้กับฮาร์ดแวร์หลายแพลตฟอร์ม ทั้งอินเทล ดิจิตอล อัลฟ่า,โมโตโรล่า พาวเวอร์-พีซี, MIPS

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีบริษัทหลายแห่งที่หันมาให้ความสนใจสร้างมาตรฐานให้กับลีนุกซ์ โดยทำในลักษณะของการเป็น "ดิสทริบิวชั่น" คือเป็นผู้กำหนดขั้นตอนวิธีใช้งานโปรแกรมลีนุกซ์ และรวบรวมแอพพลิเคชั่นบนลีนุกซ์ เช่น บริษัท RED HAT, Caldera S.u.S.E, SLACK WARE

ขณะเดียวกันบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ของโลก เริ่มให้การยอมรับและหันมาสนับสนุนโอเอสลีนุกซ์นี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น อินฟอร์มิกซ์, คอมพิวเตอร์แอสโซซิเอท, เนสเคป และออราเคิล

บริษัทคอมพิวเตอร์หลายราย เริ่มมองเห็นว่า ลีนุกซ์ คือ ทางเลือกใหม่ของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ ที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ ไม่จำเป็นต้องผูกติดอยู่กับไมโครซอฟท์แต่เพียงเจ้าเดียวอีกต่อไป จนมีผู้นำเอาลีนุกซ์ ไปเทียบกับวินโดว์เอ็นทีของไมโครซอฟท์อยู่ตลอดเวลา

ถึงแม้ว่าไมโครซอฟท์จะเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มคนที่คุ้นเคยกับโปรแกรมวินโดว์มาตลอดชีวิต แต่ก็มีกลุ่มคนที่รู้สึกตรงกันข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหรืออย่างน้อยก็รู้สึกหมั่นไส้ว่า อะไรๆ ในโลกคอมพิวเตอร์นี้ก็เป็นของไมโครซอฟท์ไปทั้งหมด การมีโปรแกรมลีนุกซ์เกิดขึ้น และเป็นของฟรี บังเอิญว่าใช้งานได้ดี ย่อมมีเสียงเชียร์อย่างอื้ออึงไม่น้อย

"ลีนุกซ์ เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ สำหรับซอฟต์แวร์ฟรี และซอฟต์แวร์นี้ก็วิ่งบนเครื่องของอินเทลด้วย" เอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัทอินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

สำหรับในไทย คลื่นความแรงของลีนุกซ์ก็พัดพาเข้ามาไม่น้อยหน้าประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากบรรดาผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) ของไทยจะนำระบบปฏิบัติการของลีนุกซ์มาใช้งานกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันแล้ว และมีชมรมไทยลีนุกซ์ แห่งประเทศไทย ทางด้านศูนย์เทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (เนคเทค) ก็หันมาให้ความสนใจ และนำโปรแกรมลีนุกซ์ไปพัฒนา

จุดเด่นของลีนุกซ์ ที่เนคเทคมองเห็น นอกเหนือจากเป็นของฟรีแล้วประสิทธิภาพของตัวซอฟต์แวร์ ซึ่งเขาบอกว่า มันสามารถรีดเอาประสิทธิภาพของเครื่องพีซีได้อย่างเต็มที่ โดยไม่สิ้นเปลืองความสามารถของตัวฮาร์ดแวร์

แต่พื้นฐานมาจากระบบยูนิกซ์ หลายคนคงนึกถึงภาพความยุ่งยากในการใช้งานที่ต้องมีคำสั่งมากมาย ผู้ใช้จึงต้องมีพื้นความรู้ด้านซอฟต์แวร์ ไม่เหมือนกับโปรแกรมวินโดว์ ที่เพียงแค่คลิ๊กเมาส์เข้าไปที่ไอคอนเท่านั้น

"ลีนุกซ์ พัฒนามาจากยูนิกซ์ ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้งานยาก หน้าที่ของเราก็คือ พัฒนาให้มีการใช้งานง่ายขึ้น มีกราฟิกเข้ามาช่วย" เจ้าหน้าที่ของเนคเทคเล่า

เนคเทค เริ่มต้นด้วยการทำเครื่องมือ (TOOL) ที่จะใช้โปรแกรมลีนุกซ์ให้มีการใช้งานง่ายขึ้น และให้เหมาะสำหรับการใช้กับแม่ข่ายสำหรับการต่อเชื่อมกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งเนคเทคเรียกเครื่องมือนี้ว่า LENUX SIS (SCHOOLNET INTERNET SERVER)

แน่นอนว่า ดูจากชื่อแล้ว สถาบันการศึกษาในเมืองไทยจะเป็นผู้ใช้กลุ่มแรกๆ ของลีนุกซ์ ทั้งที่เป็นในระดับมหาวิทยาลัย และนำไปใช้ในโครงการสคูลเน็ท อันเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ระหว่างโรงเรียนต่างๆ ทั่ว ประเทศของเมืองไทย ที่เนคเทคเป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้อยู่

ช่วงแรกเนคเทคใช้วิธีให้สถาบันการศึกษาต่างๆ ให้นำเครื่องเข้ามาและดาวน์โหลดโปรแกรมลีนุกซ์พร้อมกับคู่มือให้ ต่อมาเมื่อความต้องการเพิ่มขึ้น เนคเทคจึงทำแผ่นซีดีรอม บรรจุตัวโปรแกรมลีนุกซ์ และคู่มือในการติดตั้งและใช้งาน จำหน่ายในราคา 200 บาทให้ไปติดตั้งเอง

สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเสียเงินซื้อ ก็สามารถไปดาวน์โหลดในโฮมเพจของเนคเทค ที่ชื่อ www.schoolnet.net.th ที่เนคเทคจัดทำขึ้น ซึ่งจะสามารถคลิ๊กไปที่ปุ่ม ที่เขียนว่า LENUX SIS ก็สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมลีนุกซ์ ไปใช้พร้อมกับคู่มือ และเครื่องมือในการใช้ซอฟต์แวร์นี้

LENUX SIS ที่เนคเทคพัฒนาขึ้นมานี้ จะใช้ได้กับเครื่องในระดับเซิร์ฟเวอร์ เพื่อใช้เป็นแม่ข่ายสำหรับต่อเชื่อมกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเท่านั้น เป้าหมายต่อไปที่เนคเทคจะทำเป็นเฟสที่ 2 ก็คือ การพัฒนาเครื่องมือที่จะนำระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ไปใช้กับเครื่องพีซี ซึ่งเท่ากับเป็นการขยายกลุ่มผู้ใช้ในระดับวงกว้างมากขึ้น

เช่นเดียวกับขวัญชัย เลิศจุลัศจรรย์ กรรมการผู้จัดการ แห่งอินฟอร์มิกซ์ ประเทศไทย ที่ยอมรับในพลังของ ลีนุกซ์ เขามองว่า ลีนุกซ์ไม่ใช่ซอฟต์แวร์ฟรีที่ผู้ผลิตซอฟต์แวร์จะละเลยอีกต่อไป โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ กำลังซื้อของคนลดลง โปรแกรมลีนุกซ์น่าจะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ใช้ ที่ไม่มีงบในการซื้อซอฟต์แวร์ราคาแพงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและเล็ก สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการต่างๆ

อินฟอร์มิกซ์จึงได้ชื่อว่า เป็นผู้ผลิตซอฟต์แวร์ฐานข้อมูล (ดาต้าเบส) รายแรกๆ ที่ออกมาสนับสนุนลีนุกซ์ โดย มีซอฟต์แวร์ที่ชื่อว่า อินฟอร์มิกซ์ เอสอี (STAR ENTERPRISE)

อินฟอร์มิกซ์ เอสอี เป็นซอฟต์แวร์ฐานข้อมูลทางด้าน SQL ที่ใช้งานได้กับผู้ใช้หลายรายและใช้สำหรับแอพพลิเคชั่นขนาดกลางและเล็ก และได้ถูกพัฒนาให้เป็นภาษาต่างๆ รวมทั้งภาษาไทย โดยสามารถเลือกใช้กับโปรแกรมลีนุกซ์ที่เป็นมาตรฐานของบริษัท RED HAT, CALDERA และ S.u.S.E ซึ่งเป็น 3 ค่ายที่มีผู้ใช้มากกว่า 90%

อินฟอร์มิกซ์ พุ่งเป้าไปที่สถาบันการศึกษาและบรรดาโปรแกรมเมอร์เป็นกลุ่มเป้าหมายแรก ซึ่งจะแจกฟรีชุดซอฟต์แวร์ที่ทำขึ้นมาในราคาชุดละ 250,000 บาท ให้กับสถาบันการศึกษา 10,000 คน และจัดทำชุด DEVELOPER Kit สำหรับให้กับโปรแกรมเมอร์นำไปพัฒนาต่อ

แต่จุดขายที่อินฟอร์มิกซ์จะใช้ในการทำตลาด ก็คือ ในเรื่องของราคา ซึ่งขวัญชัยเปรียบเทียบให้เห็นถึงค่าใช้จ่ายในการเลือกใช้ซอฟต์แวร์ฐานข้อมูลของอินฟอร์มิกซ์ บนโอเอสของลีนุกซ์ ถูกกว่าการใช้ซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์บนโอเอสวินโดว์เอ็นที ที่สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายรวมได้ถึง 70%

"ลูกค้าไม่ต้องเสียเงินซื้อโอเอสของลีนุกซ์ แต่จะเสียเงินซื้อซอฟต์แวร์ฐานข้อมูลของเรา ซึ่งจะกำหนดราคาไว้ให้ต่ำกว่าของไมโครซอฟท์ 20% ตลอด เราอยากให้เป็นทางเลือกใหม่ของผู้ใช้" ขวัญชัยกล่าว

แม้กระแสความร้อนแรงของลีนุกซ์จะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ แต่ลีนุกซ์ก็ยังมีจุดอ่อนสำคัญในเรื่องของการซัปพอร์ต หรือบริการหลังการขาย และความยากของโปรแกรมที่มีพื้นฐานมาจากระบบยูนิกซ์ ที่จะเป็นข้อจำกัดการเติบโตของลีนุกซ์ ให้อยู่เฉพาะในแวดวงของสถาบันการศึกษา หรือกลุ่มโปรแกรมเมอร์ และนี่เองที่ทำให้ลีนุกซ์ไม่อยู่ในสายตาของไมโครซอฟท์เท่าใดนัก

แต่ไมโครซอฟท์ก็ไม่อาจมองข้ามลีนุกซ์ได้ตลอดไป ตราบใดที่โปรแกรมวินโดว์ เอ็นที เวอร์ชั่น 5 ที่ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดเช่นนี้ ไม่แน่ว่าความร้อนแรงของลีนุกซ์ อาจทำให้ไมโครซอฟท์ต้องหันมาเหลียวบ้างไม่มากก็น้อย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us