มองเข้าไปในธุรกิจของ บมจ. บ้านปู (BANPU) คือ เหมืองถ่านหินและแร่ ถือว่าเป็นรายได้หลักของบ้านปูมาตั้งแต่อดีต
มาวันนี้รายได้จากส่วนนี้เริ่มลดลง เนื่องจากความต้องการภายในประเทศลดลงอย่างมาก
จากที่เคยเติบโตขึ้นกว่า 10% ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา แต่วันนี้การเติบโตแบบนั้นหายากมาก
ยิ่งลูกค้าถ่านหินและแร่ของบ้านปูส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ และอุตสาหกรรมที่ใช้หม้อต้มไอน้ำแล้วรายได้ยิ่งหดหายไปมากพอสมควร
เนื่องจากทั้งสองอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบันโดยตรง
ผลประกอบการปี 2541 (สิ้นสุด 30 มิ.ย.) มีรายได้จากการขาย 3,238 ล้านบาท
ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2540 19.1% รายได้อื่นอีก 1,001 ล้านบาท เพิ่มขึ้น
87% จาก ปีก่อน ซึ่งเกิดจากการขายเงินลงทุนบางส่วน 7,423.08 ล้านบาท รวมรายได้ทั้งสิ้น
4,238 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2540 6.5% ด้านต้นทุนขายลดลงจาก 3,169
ล้านบาท ในปี 2540 เป็น 2,455 ล้านบาท
ด้านกำไรจากการดำเนินงานก่อนได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ปรากฏว่ามีกำไร
719 ล้านบาท แต่จากผลของการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ส่งผลให้ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
2,292 ล้านบาท และเมื่อรับรู้การขาดทุนจากบริษัทร่วมอีก 1,193 ล้านบาท ทำให้ขาดทุนสุทธิ
2,766 ล้านบาท ขณะที่งวดเดียวกันปี 2540 มีกำไรสุทธิ 817.3 ล้านบาท
โครงสร้างรายได้ของบ้านปู มาจากการ ขายถ่านหินและแร่ในประเทศ 37% ของรายได้รวม
เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 9% ขายถ่านหินจากต่างประเทศ 20% ของรายได้รวม ลดลงจากปีที่แล้ว
15% รายได้จากงานวิศวกรรม บริการ 39% เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 7% ที่เหลือมาจากธุรกิจบริการขนส่งในท่าเรือ
ซึ่งเป็นปีแรกที่ทำรายได้ให้บ้านปู
เมื่อมองไปในอดีตของบ้านปู พบว่ารายได้หลักมาจากการขายถ่านหินและแร่ แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มผันผวนรายได้ส่วนนี้เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง
โดยในปี 2536-2540 มีสัดส่วนลดลงจาก 65%, 53%, 54%, 48% และ 37% ตามลำดับ
และปริมาณการขายลดลงจากที่เคยเติบโตสูงถึง 12.90% ในปี 2538 เหลือ 3.10%
ในปี 2539 และ 3.57% ในปี 2540 เนื่องมาจากความซบเซาด้านเศรษฐกิจ ที่สำคัญลูกค้าส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และอุตสาหกรรมที่ใช้หม้อต้มไอน้ำ
ซึ่งขณะนี้อัตราการเติบโตแทบจะนิ่งสนิทส่งผลกระทบต่อบ้านปูโดยตรง
อย่างไรก็ตามรายได้ที่มาทดแทนถ่านหินและแร่ นอกจากธุรกิจสายวิศวกรรมบริการธุรกิจขนส่งในท่าเรือแล้ว
ที่สำคัญและจะขาดไม่ได้ในอนาคต คือ ธุรกิจไฟฟ้าและไอน้ำ ปัจจุบันดำเนินการโดย
บมจ. เดอะ โคเจเนอเรชั่น (COCO) ที่บ้านปูถือหุ้นอยู่ 34% ทำให้บ้านปูมีรายได้จากส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นับตั้งแต่ปี 2538-2540 มีสัดส่วนจาก 13%, 28% และ 46% ตามลำดับ
ปัจจุบัน COCO ได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าระบบผลิตพลังงานร่วม (Cogeneration)
ระยะที่ 2 กำลังการผลิตไฟฟ้า 300 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 320 ตันต่อชั่วโมง น้ำสะอาด
900 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง และปราศจากแร่ธาตุ 280 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง
ขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
(กฟผ.) ส่วนโครงการระยะที่ 3 มีกำลังการผลิต ไฟฟ้า 470 เมกะวัตต์ และไอน้ำ
360 ตันต่อชั่วโมง ปัจจุบันสามารถผลิตไฟฟ้าได้แล้ว 70 เมกะวัตต์ และไอน้ำ
160 ตันต่อชั่วโมง ขุมกำลังใหม่
แม้ว่าธุรกิจถ่านหินและแร่จะลดบทบาทเรื่องรายได้ลง แต่บ้านปูดูไม่ค่อยจะได้รับผลกระทบเท่าไหร่
เนื่องจากมีรายได้จากไฟฟ้าและไอน้ำเข้ามาและในอนาคต ธุรกิจนี้คือรายได้หลักของบ้านปู
โดยเฉพาะถ้าสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่กระเตื้องขึ้นยิ่งมีความสำคัญอย่างมาก
ล่าสุดได้ก่อตั้ง บริษัท ไตร เอนเนอจี้ จำกัด (TECO) เพื่อทำการผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมขนาด
700 เมกะวัตต์ ขายให้กับ กฟผ. ตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตอิสระ (Independent
Power Producer : IPP) โดย TECO มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีผู้ถือหุ้น
3 ราย ได้แก่ บ้านปู จำนวน 37.5%, Texaco Inc. จำนวน 37.5% และ Edison Mission
Energy จำนวน 25%
"เงินลงทุนโครงการนี้ 427.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเงินตัวเอง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ
ที่เหลือเป็นการกู้จากต่างประเทศ ทั้งจากอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น โดยเงินจำนวน
405 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเงินสดเพื่อใช้ในการก่อสร้าง ที่เหลือจะเป็น credit
facility และยังมีเงินกู้ในประเทศอีก 750 ล้านบาท จากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม,
ธนาคารนครหลวงไทย และซิตี้แบงก์ เพื่อเป็น working capital โดยจะใช้ก็ต่อเมื่อเดินเครื่องแล้ว"
ระวิ คอศิริ กรรมการผู้จัดการ TECO กล่าว
การจัดหาแหล่งเงินกู้สำหรับโครงการในภาวะถดถอย เช่นนี้นับว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก
เนื่องจากได้รับความไว้วางใจจากบรรษัทเพื่อการลงทุนโพ้นทะเลโดยเอกชน (OPIC)
ของอเมริกา และกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น (MITI)
เป็นผู้ประกัน ความเสี่ยงให้กับผู้ให้เงินกู้ในโครงการนี้ นอกจากนี้ความเสี่ยงในด้าน
financing ไม่มีเพราะได้ swap เงินกู้ทั้งหมด 100% "MITI เป็นผู้ประกันเงินกู้ของญี่ปุ่นในวงเงิน
263.25 ล้านเหรียญสหรัฐ และ OPIC ประกันเงินกู้ของอเมริกาและยุโรปในวงเงิน
40.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเวลา 15 ปี โดยมีอัตราดอกเบี้ย Libor+4.05% มีระยะปลอดเงินต้น
2 ปี จะเริ่มจ่ายตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นไป" ระวิ กล่าว
โครงการนี้ตั้งอยู่ที่ จ.ราชบุรี ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง หรือก๊าซ
Turbine Combined Cycle ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะทำให้การใช้พลังงานคุ้มค่ามาก
โดยวิธีการดังกล่าว ระวิอธิบายว่า การปั่นไฟฟ้าครั้งแรกจะใช้ก๊าซธรรมชาติเข้าไปใน
Turbine จะได้ไอร้อนออกมา จากนั้นนำไอร้อนที่ได้ไปต้มน้ำต่อแล้วจะได้ไอน้ำ
และนำไอน้ำที่ได้ไปปั่นไฟฟ้า ทั้งหมดนี้เรียกว่า Combined Cycle
"Turbine ที่ว่านี้ 2 gas turbine ขนาดตัวละ 224 เมกะวัตต์ ซึ่งไอร้อนจาก
2 ตัวนี้ จะนำไปในหม้อต้มน้ำแล้วผลิตไอน้ำไปปั่นไฟฟ้าได้อีก 252 เมกะวัตต์
รวมกัน ทั้งสิ้น 700 เมกะวัตต์ โครงการนี้จะส่งไฟฟ้าให้กับ กฟผ. ในเดือนกรกฎาคม
2543 โดยมีระยะเวลาสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปี"
จากความผันผวนด้านเศรษฐกิจทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศขยายตัวลดลง
ซึ่งหลายคนสงสัยว่าจะส่งผลกระทบต่อโครงการนี้หรือไม่ เนื่องจาก กฟผ. อาจจะลดปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจาก
IPP ลง เรื่องนี้ได้รับคำยืนยันจากระวิว่า โครงการนี้ได้รับการประกันจาก
กฟผ. และโครงการนี้ได้รวมเข้าไปในแผนการเพิ่มปริมาณไฟฟ้าสำรองของ กฟผ. แล้ว
สำหรับค่าเงินบาทที่ลดลงทำให้ต้นทุนของโครงการ TECO เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนของโครงการ
(IRR) พอสมควร จากเดิมตั้งไว้ประมาณ 18-19% ลดลงเหลือ 14-15%
"IRR เท่านี้ถือว่าคุ้มทุนและอยู่ในระดับมาตรฐานในแง่ของผู้ลงทุน
เพราะโครงการมีรายได้เป็นดอลลาร์เทอม ที่คาดว่าจะมีรายได้ประมาณปีละ 7,000-8,000
ล้านบาทต่อปี ถ้าคิดที่ระดับ 40 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ เริ่มรับรู้ในปี 2543"
ระวิ กล่าว
นอกจากโครงการของ TECO แล้ว บ้านปูยังได้ร่วมทุนกับ บมจ. ล็อกซเล่ย์, Powergen
Plc. และ Rio Tinto Investment Holding (BV) ร่วมกันตั้งบริษัท บีแอลซีพี
เพาเวอร์ เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนขนาด 1,400 เมกะวัตต์ โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าให้กับ
กฟผ. เครื่อง แรกได้ในเดือนตุลาคม 2545 และเครื่องที่ 2 ในเดือนกุมภาพันธ์
2546
นี่คือบทบาทใหม่ของธุรกิจไฟฟ้าและไอน้ำของกลุ่มบ้านปู จากอดีตที่เป็นแค่ตัวสำรองของธุรกิจถ่านหินและแร่
ในปัจจุบันและอนาคตคือพระเอกตัวจริงที่จะสร้างฐานะให้กลุ่มบ้านปูแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น