แนวคิดเรื่อง ฐานเงิน เกิดขึ้นมาใน แบงก์ชาติเมื่อ 20 กว่าปีก่อน โดยหลังจากที่มีการตั้งตลาดซื้อคืนเสร็จ
(repurchase market) ก็มีคำถามขึ้นมาว่าแบงก์ชาติมีเครื่องมือที่จะดูดเงิน-ปล่อยเงินที่เรียกว่า
open market operation แล้ว แต่คำถามคือแล้วจะดูดเท่าไหร่ ปล่อยเท่าไหร่
ซึ่งคำถามนี้นำมาสู่ที่มาของแนวคิดเรื่องฐานเงิน
(แนวคิดเรื่องฐานเงินเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวแบงก์ชาติมากกว่าแนวคิดเรื่องปริมาณเงิน
แนวคิดหลังคือปริมาณเงินของแบงก์พาณิชย์ทั้งระบบ แต่ฐานเงินเป็นปริมาณเงินของแบงก์ชาติ
หรืออาจจะเรียกว่า central bank money-ภาษา Bundes Bank, reserve money-ภาษา
IMF, monetary base หรือ base money-ภาษาวิชาการ)
ทั้งนี้ฐานเงินเป็นเงินที่แบงก์ชาติปล่อยออกไปมี 3 ทาง คือ ด้านต่างประเทศ
หากเราเกินดุลการชำระเงิน เอกชนก็จะมีเงินเหรียญ ซึ่งก็จะนำมาแลกเงินบาทที่ธนาคาร
ระบบธนาคารก็จะปล่อยเงินบาทออก และหากเราขาดดุลการชำระเงิน ก็กลับกัน คือดูดเงินบาทเข้า
และเงินเหรียญก็ออกไปนอกประเทศหมด ที่แบงก์ชาติก็เหมือนกัน แบงก์พาณิชย์ก็มาทำกับแบงก์ชาติเช่นเดียวกัน
เช่น ทำ สวอป เป็นต้น ตัวนี้คือ net foreign asset
อีกตัวหนึ่งด้านรัฐบาล หากรัฐบาลใช้จ่ายเงินมาก ก็จะเป็นคนปล่อยเงิน โดยใช้เงินคงคลังที่ฝากไว้ที่แบงก์ชาติ
หรือหยิบยืมจากแบงก์ชาติ ดังนั้น net claim on government จะลดลง ตัวที่
IMF โดดเข้ามาคุมคือ government deposit หรือ surplus ใน LOI1 บอกว่าต้องมีการเกินดุล
1% ซึ่งรัฐบาลก็ทำได้ตามเป้า (โดยไม่ยอมจ่ายเงินออก เพื่อให้ได้เกินดุลตามที่
IMF กำหนด) ต่อมาเมื่อมีการเจรจาใน LOI ฉบับต่อๆ มาจึงมีการผ่อนคลายตรงจุดนี้
ตัวที่สามคือที่แบงก์ชาติปล่อยในตลาดซื้อคืน หรือดูดในตลาดซื้อคืน ปล่อยผ่านแพ็คกิ้งเครดิต
ผ่าน EXIM Bank เป็นต้น นี่คือทั้งหมดที่มาเป็นการดูดเงินหรือปล่อยเงินของแบงก์ชาติ
แล้วมาสรุปรวมเป็นฐานเงิน ซึ่งทุกตัวมีบทบาททั้งสิ้น
ทีนี้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเกิดเงินไหลออกมาก เท่ากับเงินบาทถูกดูดออกจากระบบ
เพราะไทยขาดดุลการชำระเงิน ทุกคนก็ต้องเอาเงินบาทไปซื้อเงินเหรียญจากแบงก์ชาติเพื่อที่จะชำระหนี้
ดังนั้นเงินบาทก็ถูกแบงก์ชาติดูดเข้ามา หรือออกจากระบบ
และอีกตัวหนึ่ง รัฐบาลบอกว่าต้องเกินดุล (ตามที่ทำสัญญากู้เงินจาก IMF)
แทนที่รัฐบาลจะปล่อยเงินออก ก็กลับเป็นตัวดูดเก็บภาษีเข้ามา แต่ไม่ปล่อย
ก็ทำให้เกินดุลได้ 1% พอขาดดุล 2% (ใน LOI ฉบับต่อๆมา) แทนที่จะปล่อยมาก
ก็ปล่อยนิดหน่อย เพราะภาษีก็เก็บไม่เข้า รายการที่ต้องจ่ายก็ไม่จ่าย นี่คือสภาพที่ผ่านมา
มิหนำซ้ำยังคุมตัวฐานเงินโดยรวมอีก สิ่งที่เกิดขึ้นคือแบงก์ชาติและรัฐบาลต่างคนก็ไม่อยากทำเป้าผิด
แบงก์ชาติก็ต้องคุมตัวรวม รัฐบาลต้องคุมงบประมาณของตัวเอง คุม government
deposit ที่กรมบัญชีกลาง แต่ทางแบงก์ชาติก็ไม่ทราบว่ารัฐบาลจะทำได้แค่ไหน
จึงเล่นเกินไปหน่อย ทำไปทำมา ผลคือฐานเงินหายไปหลายตังค์ คือเขาตั้งเป้าไว้เท่านี้
แต่เราทำดีเกินเป้า และทำเช่นนี้มาตลอด
การดูดเงิน-ปล่อยเงินที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีนั้น มีปัญหา อยู่ว่าควรจะดูดเท่าไหร่
ในแต่ละวัน แต่ละเดือน เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่ IMF กำหนด ซึ่งตรงจุดนี้
แบงก์ชาติต้องมีเครื่องมือวิเคราะห์ออกมาว่าตัวเลขควรจะเป็นเท่าไหร่
แบงก์ชาติ โดยฝ่ายวิชาการได้มีการศึกษาเรื่องการทำเป้าฐานเงิน โดย ดร.ศิริ
การเจริญดี เป็นผู้ศึกษาและได้ข้อสรุปออกมาจนได้ตัวเลขเป้าฐานเงินและนำมาใช้จนทุกวันนี้
อย่างไรก็ดี การทำตัวเลขเป้ารายเดือนยังไม่เพียงพอในแง่ของการปฏิบัติงาน
จำเป็นที่จะต้องมีตัวเลขเป้ารายวันไว้ใช้ด้วย เพราะการดำเนินการต่างๆ นั้นทำแบบรายวัน
ณ สิ้นวันมีการปิดงบ และรู้ยอดตัวเลขว่ามีการปล่อยเงินเท่าไหร่ ดูดเงินเท่าไหร่
ดังนั้นจึงต้องมีเป้าตัวเลขรายวันที่จะต้องรู้ด้วยว่าควรจะทำเท่าไหร่ในแต่ละวัน
เพื่อให้ได้เป้าหมายรายเดือนตามที่ต้องการ
การทำตัวเลขเช่นนี้ต้องใช้ความรู้ทางสถิติเข้าไปศึกษา เพื่อให้รู้แบบแผนของฐานเงินในแต่ละวันละเดือน
ในตอนนั้น (20 กว่าปีที่แล้ว) ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ไปทำรายงานการศึกษา
เรื่องการทำเป้ารายวันนี้ขึ้นมาคือ ศิริชัย สาครรัตนกุล ซึ่งเขาได้เสนอขอไปดูงานที่
บุนเดสแบงก์ ที่แฟรงเฟิร์ต และที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED ที่นิวยอร์ก
แต่เมื่อศิริชัยกลับมา ยังไม่ได้ทันลงมือทำเรื่องนี้ ก็ถูกย้ายไปอยู่ฝ่ายวิชาการ
เป็นหัวหน้าหน่วยวิจัยเศรษฐกิจการเงิน จึงยังไม่ได้ทำในเรื่องนี้ และเขาก็ไม่ทราบว่าจนถึงทุกวันนี้
ได้มีการทำเรื่องเป้ารายวันของฐานเงินหรือไม่ แต่เขายืนยันว่าตัวเลขนี้เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้ในการบริหารเงิน
อย่างไรก็ดี เมื่อ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เข้ามาเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว
เข้าใจว่าน่าจะมาดูในเรื่องนี้อยู่มากพอสมควร เพราะได้เริ่มมีการผ่อนคลายในเรื่องการดูดเงินอยู่มาก
รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยก็เริ่มลดลง ทั้งในตลาดซื้อคืนและของธนาคารพาณิชย์
แต่ก็ไม่ทราบว่าการทำตัวเลขเป้าฐานเงินรายวัน มีผู้ใดมาสานต่อหรือไม่ หรือแบงก์ชาติเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีตัวเลขรายวันดังกล่าวไว้ใช้หรือไม่