เริ่มต้นจากธุรกิจอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง TUF กำลังย่างเข้าสู่มือของ generation
ที่ 2 ต่อจากไกรสร จันศิริ โดยมี ธีรพงศ์ จันศิริ บุตรชายคนโตเป็นผู้กุมบังเหียน
ธุรกิจยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้เศรษฐกิจจะดิ่งเหว ด้วยปรัชญาการทำงานแบบเรียบง่ายไม่หวือหวา
เพียงแต่ผสมผสานวัฒนธรรมการทำงานรุ่นบิดากับแนวคิดทฤษฎีสมัยใหม่ยุคไร้พรมแดนเข้าด้วยกัน
แค่นี้ TUF ก็สามารถเดินทางต่อไปได้อีกหลายแสนลี้
ก่อนที่ TUF จะก้าวขึ้นมาเป็นเจ้ายุทธจักรด้านอาหารทะเลแช่แข็ง และธีรพงศ์
จันศิริ ชายวัยเพียง 34 ปีจะขึ้นมานั่งแท่นเป็นผู้บริหาร บิดาของเขา ไกรสร
จันศิริ ต้องทำงานอย่างหนัก ด้วยตอนนั้นฐานะครอบครัวไม่สู้จะดีนัก ในช่วงวัยรุ่น
ไกรสรต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดขณะที่เพื่อนๆ รุ่นเดียวกันเรียนหนังสือ
เริ่มจากการเป็นเด็กรับใช้ในสำนักงาน มีหน้าที่ทำความสะอาด หุงข้าว วิ่งซื้อของตามแต่ใครจะเรียกใช้
ขยับเป็นเสมียน บัญชี เป็นเซลล์แมนขายยาตามโรงพยาบาลและคลินิกต่างๆ
ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น เป็นคำกล่าวที่ใช้ได้อย่างดีกับไกรสร
เพราะในช่วงปี 2508 เขามีกิจการเป็นของตนเองครั้งแรกเป็นบริษัทนำเข้าสีพ่นรถยนต์
ยาขัดเงารถจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่าย และเปิดอู่ซ่อมรถยนต์ แถมยังได้โชคชั้นที่สองเมื่อบุตรชายคนแรกถือกำเนิด
ขึ้น ต่อมาในปี 2516 ได้เปิดร้านขายผ้าที่สำเพ็ง แม้ว่าชีวิตนี้ลมหายใจเข้าออกคือการทำงานแต่เขาก็ไม่เคยลืมที่จะศึกษาหาความรู้ใส่ตัวเองทั้งภาษาไทย
และอังกฤษ โดยอาศัยพจนานุกรมไทย-อังกฤษเป็นครู
จดหมายของเพื่อนจากฮ่องกงให้ช่วยหากุ้งแช่แข็งส่งไปให้ได้กลายเป็นชนวนที่ทำให้ชีวิตของไกรสรถึงจุดหักเห
แต่ด้วยความไม่คุ้นเคยกับธุรกิจนี้มาก่อน เขาจึงลงทุนศึกษาธุรกิจส่งออกกุ้งและลงมือทำอย่างจริงจัง
ในที่สุดก็เริ่มเห็นกำไร สุดท้ายจึงตัดสินใจเปิดบริษัทประกอบกิจการแพปลาส่งออกกุ้งและปลา
และต่อมาเพื่อนๆ ได้ชักชวนให้ไปซื้อโรงงานปลาทูน่าที่มหาชัยโดยรวบรวมเงินทุนกันได้
10 ล้านบาทจัดเป็นทุนจดทะเบียน แล้วตั้งบริษัทไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด
หรือ TUM ทำธุรกิจอาหารทะเลบรรจุกระป๋องมี กุ้ง ปูและปลาทูน่า ส่งออกไปอเมริกา
จากจุดเริ่มต้นไทยรวมสินพัฒนา จนกระทั่งวันนี้ นับได้ 22 ปีแล้วที่ไกรสร
พร้อมด้วยสองขาและสองแขน ของเขาสามารถนำพากิจการตัวเองขึ้นมา อยู่แถวหน้าในวงการได้อย่างภาคภูมิใจและ
มีบมจ. ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด หรือ TUF เป็นแกนนำ ในวันนี้ด้วยวัย
64 ปี ประธานกรรมการ ของ TUF เขาไม่ต้องกังวลอะไร เพราะ ได้ธีรพงศ์ จันศิริ
ทายาทคนแรกมาสืบทอดกิจการของ "จันศิริ" สานต่อเจตนารมณ์ของเขาเพื่อให้
TUF เจิดจรัส ในวงการอาหารทะเลแช่แข็งต่อไป
รอยต่อของ TUF รุ่นที่ 2
ธีรพงศ์ จันศิริ ปัจจุบันขึ้นมารั้งตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและกรรมการของ
TUF แต่ก่อนที่จะขึ้นมานั่ง ณ จุดนี้ได้ ธีรพงศ์ ก็ต้องเรียนรู้กิจการของตนเองมาตั้งแต่เด็ก
ด้วยการติดตามผู้เป็นบิดาไปโรงงานเสมอ ทำให้เขาซึมซาบลักษณะงานของธุรกิจนี้อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว
"ตอนเด็กๆ ถ้าช่วงไหนปิดเทอมจะตามคุณพ่อไปโรงงาน ไปเล่นบ้าง แต่โตขึ้นมาก็ไปช่วยพิมพ์เอกสาร
เป็นพนักงานเทเล็กซ์ถือว่าเป็นการฝึกงานเพราะรู้ว่าต้องได้ทำงานในนี้แน่ๆ"
ธีรพงศ์ ระลึกความหลังกับ" ผู้จัดการ รายเดือน" ซึ่งในตอนนั้นเขาก็เริ่มรู้ตัวเองแล้วว่าจะต้องเป็นผู้สืบทอดกิจการ
ของบิดาต่ออย่างแน่นอน ซึ่งตรงกับการบอกเล่าของไกรสรเมื่อครั้งให้สัมภาษณ์นิตยสารเอ็กเซ็กคิวทีฟ
(ธันวาคม 2538) ว่า "ธีรพงศ์ ลูกชายคนแรกผมต้องการที่จะให้สืบทอดงานของผมต่อไป
จึงเข้มงวดกับเขามากตั้งแต่เด็กๆ หลังกลับจากอเมริกาให้ไปฝึกงานในโรงงานเหมือนเริ่มจากงานพื้นๆ
แล้วค่อยไต่เต้าขึ้นมา ฝึกหนักมากเพราะอยากให้เรียนรู้เรื่องงานและคนอย่างแตกฉาน"
หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาจนสำเร็จปริญญาตรีบริหารธุรกิจ
ด้านการตลาดที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) และบินไปศึกษาต่อระดับมหาบัณฑิต
MBA ด้าน Management ที่มหาวิทยาลัยซาน ฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา แม้จะเรียกได้ว่าเป็นลูกคนมีเงิน
แต่การใช้ชีวิตก็มิได้สบายอย่างที่คิดเพราะผู้เป็นบิดาของธีรพงศ์ จะเข้มงวดในการใช้จ่ายเงินและเขาก็ถูกบังคับให้เดินไปโรงเรียนในสมัยที่เรียนมัธยม
และต้องโหนรถเมล์ไปเรียนที่ ABAC และด้วยวิธีนี้ได้สอนให้ธีรพงศ์กลายเป็นคนติดดินไปโดยปริยาย
หลังสำเร็จการศึกษา ธีรพงศ์ก็เหินฟ้ากลับเมืองไทยเพื่อมาช่วยงานบิดา ซึ่งเขาเปิดเผยความรู้สึกตอนนั้นว่า
"คิดอย่างเดียวว่าจบแล้วจะรีบกลับ มาหาคุณพ่อ เป็นคนไม่มีความฝันอะไร
อยากกลับมาทำงานที่บ้านและไม่เคยคิดว่าจะได้ทำงานที่อื่น ทำอะไรก็ได้ที่มันมีกำไรและรู้ว่าธุรกิจที่คุณพ่อตั้งขึ้นมีความน่าสนใจ
มีการเติบโต"
ด้วยความที่เป็นคนง่ายๆ และติดดินทำให้เขาสามารถปรับตัวเข้ากับบรรยากาศการทำงานแบบโรงงานได้ไม่ยากนัก
"ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ต้องทำงานหนัก มือต้องเลอะ ไม่มีความสวยงาม
ดังนั้นถ้าคุณฝันไว้มักจะไม่ตรงกับใจ ผมจึงไม่ฝัน ผมทำเป็นทุกกระบวนการและเคยนอนในโรงงานมาแล้ว
3 ปี เพื่อฝึกให้เข้าใจธุรกิจและความอดทน" ธีรพงศ์ กล่าวถึงลักษณะ งานที่เขาจะต้องผ่านด่านนั้นมาให้ได้
และจนวันนี้เขาสามารถขูดปลา ผ่าท้องปลา และแกะกุ้งได้อย่างชำนาญ
นับตั้งแต่ปี 2531 ธีรพงศ์ เริ่มขยับขึ้นมานั่งอยู่ในระดับบริหาร เริ่มต้นที่ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป
บริษัทไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด ก่อนที่จะย้ายเข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการ
ฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซี่ยน แปซิฟิค ไทยทูน่า จำกัด เมื่อปี 2532 และให้หลังอีกเพียงปีเดียวบริษัทนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น
บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด หรือ TUF ซึ่งบริษัทนี้ไกรสรจัดตั้งขึ้นเมื่อปี
2531 เพื่อขยายไลน์การผลิตจากอาหารทะเลบรรจุกระป๋องให้คลุมถึงการผลิตอาหาร
ทะเลแช่แข็ง รวมทั้งธุรกิจนำเข้าส่งออกและแปรสภาพผลิตภัณฑ์อาหาร และปัจจุบัน
TUF ผลิตปลาทูน่าสุกแช่แข็ง ปลาหมึกแช่แข็ง กุ้งแช่แข็งและอาหารแมวกระป๋อง
จังหวะที่ธีรพงศ์เข้ามาจับงานบริหารเป็นช่วงที่ฟองสบู่เศรษฐกิจไทยกำลังจะถึงจุดอิ่มตัว
และยังเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องทั่วโลกไม่สดใสเท่าไหร่ แต่ถ้ามองย้อนกลับไปดูยอดขายของ
TUF (รวมบริษัทย่อย) ช่วงปี 2533-2538 กลับเติบโตสวนทางกับสภาพแวดล้อมในขณะนั้น
โดยทำได้ 250 ล้านบาท, 1,006 ล้านบาท, 1,319 ล้านบาท, 2,003 ล้านบาท, 7,124
ล้าน บาท และ 8,329 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งสามารถสร้างกำไรสุทธิเพิ่มสูงขึ้นปีต่อปี
โดยตั้งแต่ปี 2534-2538 ทำได้ 69 ล้านบาท, 73 ล้านบาท, 83 ล้านบาท, 219 ล้านบาท
และ 451 ล้านบาท ตามลำดับ
TUF เติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจวิกฤตอย่างในวันนี้
TUF ก็ยังสามารถสร้างกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้นได้อย่างไม่ขาดตอน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาการบริหารงานของ
TUF ที่ค่อนข้างจะรอบคอบ รัดกุม และมีความอนุรักษนิยมสูง ส่งผลให้การลงทุนเพื่อขยายกิจการของ
TUF ประสบความสำเร็จ อย่างเช่นเมื่อปี 2533 ได้เข้าไปร่วมลงทุนในบริษัท ลัคกี้
ยูเนี่ยน ฟูดส์ จำกัด ของกลุ่มบริษัทเกาหลีใต้เพื่อผลิตปูอัด ปัจจุบันถือหุ้นอยู่
25% ต่อมาในปี 2535 ลงทุนในบริษัท มิตซูบิชิ จำกัด ซึ่งเป็นผู้สั่งซื้อปลาทูน่า
สุกแช่แข็ง ปลาแล่แช่แข็ง กุ้งแช่แข็ง รวมทั้งเป็นซัปพลายเออร์ปลาทูน่าและปลาอื่นๆ
อีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้เข้าไปลงทุนในบริษัท ฮาโกโรโม่ ฟูดส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้สั่งซื้อปลาทูน่าสุกแช่แข็ง
ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการจัดหาวัตถุดิบ และในเวลาเดียวกันทั้งมิตซูบิชิ
และฮาโกโรโม่ ยังได้ถือหุ้นใน TUF จำนวน 5.40% และ 3.60% ตามลำดับ ณ วันนี้
TUF มีกำลังการผลิตปลาทูน่าสุกแช่แข็ง 31,200 ตันต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 15,600
ตันต่อปี ทั้งนี้ก็เพื่อสนองตอบความต้องการของตลาดที่เพิ่มมากขึ้น
ในปี 2537 TUF มีการปรับโครง สร้างผู้ถือหุ้น และการบริหารงานใหม่ ทั้งนี้ก็เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและมีความเป็นมืออาชีพให้มากขึ้น
และขจัดปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างบริษัทที่เกี่ยวข้องที่ได้เข้า
ไปร่วมลงทุน ดังนั้น ทาง TUF จึงตัดสินใจเข้าไปถือหุ้นในไทยรวมสินฯ จำนวน
58.08% พร้อมๆ กับในปลายปี แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ตลอดระยะเวลา 6 ปีในตำแหน่ง ผู้จัดการการตลาด ซึ่งฝ่ายการตลาดถือเป็นหัวใจหลักของ
TUF ในการสร้างรายได้ให้กับบริษัท ธีรพงศ์ได้พิสูจน์ฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของบิดาและผู้บริหารใน
TUF แล้วว่าเขามีความสามารถพอที่จะขึ้นมานั่งบริหารในตำแหน่งสูงสุดของบริษัทได้
ดังนั้นในปี 2538 เขาจึงได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการบริหาร
"กลุ่มบริษัทเราจะ focus ในธุรกิจที่เราเข้าใจ จะเห็นว่า 20 ปีที่ผ่านมา
ถึงแม้ว่าเราจะขยายตัวมากแต่จะขยายเฉพาะธุรกิจอาหารทะเลเท่านั้น เพราะเรามีความเชื่อในเรื่องของธุรกิจและวงจรของสินค้า
ถ้าต้องการรักษาการเติบโตเอาไว้เรามีกลยุทธ์อยู่ 3 อย่าง คือต้องเพิ่มสินค้าให้มากขึ้น
ขยายตลาดให้กว้างขึ้นและทำธุรกิจใหม่ๆ แต่ยังอยู่ในภาคอาหารทะเลแช่แข็ง"
แนวคิดหลักของ TUF ภายใต้การนำของธีรพงศ์ แต่ทุกก้าวย่างยังคงไว้ซึ่งวิธีการ
slow but sure
การลงทุนในบริษัท ไทยยูเนี่ยน กราฟฟิกส์ จำกัด ซึ่งปัจจุบันน้องชายคนรองของธีรพงศ์เป็นผู้ดูแลเมื่อปี
2538 เพื่อลดภาระต้นทุนในการพิมพ์ฉลากติดผลิตภัณฑ์ทั้งหมดในเครือของ TUF
นอกจากนี้ยังได้เข้าไปซื้อหุ้นใน บมจ. สงขลาแคนนิ่ง (SC) จำนวน 20.03% เพื่อขยายไลน์ธุรกิจให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
อนาคตของ TUF ที่ธีรพงศ์กำลัง แผ้วทางไปให้ถึงนั้นก็คือเป็นบริษัทในระดับอินเตอร์
(international company) มากขึ้น ซึ่งเขาได้เริ่มปูทางมาได้มากกว่าครึ่งทางแล้วเวลานี้
โดยเมื่อปี 2539 เขาได้นำ TUF ฝ่าด่านเข้าไปตั้งฐานที่มั่นในอเมริกาซึ่งเป็นตลาดหลักด้วยการเข้าไปตั้งบริษัท
ไทยยูเนี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพื่อเป็นตัวแทนบริษัทในการดำเนินการจัดการลงทุนต่างๆ
ในอเมริกา โดยเริ่มแรกได้ ลงทุนจัดตั้งบริษัท Tri-Union International, LLC
ร่วมมือกับ Tri-Marine International และเจ้าของกองเรือจับปลา The Gann Family
Trust ในสัดส่วน 50:25:25 ดำเนินการผลิตปลาทูน่าและอาหารทะเลอื่นๆ และได้เข้าซื้อกิจการของบริษัท
Van Camp Sea-foods ในอเมริกาซึ่งเป็นผู้ผลิตปลาทูน่า ปลาแซลมอน ภายใต้เครื่อง
หมายการค้า "Chicken of the Sea" ซึ่งเป็นยี่ห้อยอดนิยมอันดับสองในอเมริกา
"เราไม่คิดว่าจะให้เป็นบริษัทข้ามชาติ แต่พยายามทำให้ดีเท่าที่จะทำได้
เพราะยึดหลักว่าต้องสามารถดูแลทั่วถึง เพราะทุกครั้งที่ขยายตัว นอกจากจะพิจารณาเรื่องการเงินต้องดูเรื่องบุคลากรด้วย"
ธีรพงศ์ กล่าวถ่อมตัวเล็กน้อย
จุดแข็งประการหนึ่งของ TUF ก็คือการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นช่วงเศรษฐกิจดี
หรือช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ และมีการประเมินสถานการณ์อย่างรอบด้าน เพื่อรับมือกับการค้าเสรีที่กำลังจะเกิดขึ้น
โดยเฉพาะเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟตา ที่กำลังจะมาถึงในปี ค.ศ. 2000
ธีรพงศ์ ได้เตรียมพร้อมด้วยการออกผลิตภัณฑ์ปลาซาร์ดีนบรรจุกระป๋องภายใต้ชื่อ
"ซีเล็ค" รวมทั้งลงทุนในบริษัท ธีร์ โฮลดิ้ง จำกัด เพื่อประกอบธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ซีฟู้ดในชื่อ
"คาลิโก แจ็ค" ลงทุนในบริษัท ไอเอฟซี อินเตอร์ฟู้ด จำกัด เพื่อจำหน่ายอาหารว่างประเภทพายชื่อ
"พัฟฟี่ พาย" และ ขนมปังสอดไส้ และตั้งบริษัท ไทยยูเนี่ยน ซีฟู้ด
จำกัด ผลิตและส่งออกกุ้งแช่แข็ง ในสัดส่วน 51% ทั้งนี้เพื่อเป็นการปูทางสร้างฐานตลาดให้คนได้คุ้นเคยรู้จัก
ก่อนที่ตลาดจะขยายกว้างขึ้นตามกำแพงภาษีที่ถูกปรับลดลง
"เราต้องการพัฒนาสินค้าในประเทศ สิ่งที่จะได้กลับมาคือ แบรนด์ เนม
หรือระบบการจัดจำหน่าย เช่น แฟรนไชส์ คอนวีเนียน สโตร์ โดยหวังว่าธุรกิจเหล่านี้จะมีโอกาสขยายตัว
อย่างน้อยในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ธีรพงศ์ กล่าว
โตเมื่อไหร่ก็ยังไม่สาย
TUF ภายใต้การนำของธีรพงศ์ดูจะสยายปีกออกไปอย่างกว้างขวาง ทว่าการขยายตัวแต่ละครั้งเป็นไปด้วยความระมัดระวังและใช้เวลายาวนานมาก
สาเหตุหนึ่งเกิดจากธุรกิจเขาเป็นระบบครอบครัว ดังนั้นการที่จะใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ออกไปดูค่อนข้างพิถีพิถันเป็นพิเศษ
อย่างเช่นการลงทุนใน Chicken of the Sea ต้องใช้เวลานานเป็นปีในการต่อรองราคาจนกระทั่ง
มาจบลงที่ 97 ล้านเหรียญสหรัฐหรือเมื่อครั้งที่ซื้อโรงงานรับจ้างผลิตปลาทูน่ากระป๋อง
Pan Pacific Fishery ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ก็ซื้อได้ในราคาเพียง 6 ล้านเหรียญสหรัฐ
ซึ่งขณะ นั้นเงินบาทยังอยู่ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์ โดยธีรพงศ์บอกว่าที่นานเพราะไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
"จะรุกหรือรับ เรา conservative มากโดยเฉพาะเรื่องการวิเคราะห์ การพิจารณาการลงทุน
แต่เมื่อไหร่ที่ตัดสินใจลงทุนไปแล้วเวลานั้นจะ aggeressive มาก นโยบายการลงทุนของเรา
คือ ต้องเป็นธุรกิจที่เราเข้าใจและขนาดของการลงทุนไม่ใหญ่จนเกินไป"
ธีรพงศ์ กล่าว
ความหมายของคำว่าขนาดการลงทุนที่มีขนาดไม่ใหญ่ของธีรพงศ์ก็คือ จำนวนเม็ดเงินที่ต้องทุ่มลงไปในการลงทุน
ถึงแม้ว่าธุรกิจนั้นจะดีมากเพียงใดแต่ถ้าต้องใช้เงินลงทุนอย่างมหาศาลแล้ว
TUF จะไม่เข้าไปแตะต้อง และการกู้เงินเพื่อมาลงทุนก็ไม่ใช่แนวทางการลงทุนของ
TUF อย่างแน่นอน แต่ที่ทำกันมาก็คือ ใช้เงินที่ได้จากการขาย มาใช้ในการลงทุนขยายกิจการเป็นส่วนใหญ่
หรือไม่ก็ใช้วิธีการหาเงินลงทุนผ่านทุนเรือนหุ้นเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า
TUF ไม่มีหนี้ระยะยาวเลยในครึ่งปีแรกปี 2541 ขณะที่หนี้สินหมุนเวียนมีถึง
1,404.05 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเงินเบิกเกินบัญชี
"ถ้าจำเป็นต้องกู้จะกู้เข้ามาเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน พูดง่ายๆ
คือ หากต้องไปกู้เงินมาล็อตใหญ่ๆ เพื่อลงทุน ไม่ใช่วิธีการของเรา แต่ที่ผ่านมาค่อนข้างโชคดีที่เข้าไปลงทุนแล้วไม่จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก
โดยเฉพาะธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง"
จุดแข็งอีกอย่างหนึ่งของ TUF คือ ทีมงานบริหาร ถือเป็นความโชคดีของธีรพงศ์ที่ได้ทีมงานเก่าแก่
ตั้งแต่รุ่นบิดามาทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นการผสมผสานที่ค่อนข้างลงตัว
"รุ่นผมถือว่าเป็น generation ที่ 2 และทีมเราจะรับฟังความคิดเห็นจากรุ่นก่อน
ที่สำคัญเรื่องความขยันเพราะ ทุกวันนี้ทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ ปรัชญา การทำงานใน
TUF ต้องซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน และเราไม่เชื่อว่าทำธุรกิจนี้ต้องเป็นคนอัจฉริยะ
เพราะนี่คือธุรกิจใช้แรงงานเป็นหลัก"
นอกจากนี้ ธีรพงศ์ยังวางหลักการบริหารงานให้มีลักษณะผสมผสานระหว่างตะวันตกกับตะวันออก
แม้เป้าหมายของ TUF จะต้องเป็นองค์กรระดับอินเตอร์ มีระบบการบริหารได้มาตรฐานโลก
แต่ในเรื่องวัฒนธรรมองค์กรแล้วยังเน้นวิถีแบบตะวันออก กล่าวคือถ้าเรื่องการทำงานระบบทุกอย่าง
ต้องทันสมัย ชัดเจน แต่ยังคงรูปแบบ เรื่องความกระชับและรวดเร็วเหมือนเป็นบริษัทเล็กๆ
เอาไว้ และวันนี้ด้วย หลักการทำงานดังกล่าวได้ทำให้ TUF กลายเป็นหุ้นบลูชิปของตลาดหลักทรัพย์
จากแต่ก่อนที่แทบจะไม่มีใครเหลียวแลเลย
"ถ้าทำเต็มที่มันก็จะไปเอง ใครจะไปเชื่อว่าผมมายืนตรงจุดนี้ได้ ตัวเองยังไม่เชื่อเลยแต่เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
ดูจากอดีตที่ผ่านมาธุรกิจอาหารทะเลกระป๋องช่วงปี 2534-2536 เป็นยุคตกต่ำ
เพราะการแข่งขันรุนแรงเกิดภาวะ over supply ทำให้ผู้ผลิตลดการผลิต บางแห่งปิดกิจการ
ดังนั้นเราแข่งกับทั่วโลกไม่ใช่แข่งในประเทศ เราต้องกลับมาดูตัวเองว่ามีจุดแข็งตรงไหนเพราะในอนาคตมีที่ให้เรายืนน้อยมาก
ดังนั้นเราจะต้องยืนอยู่ในระดับต้นๆ ไม่เช่นนั้นต้องออกจากธุรกิจนี้ไป เพราะธุรกิจนี้ต่อไปใครแพ้คัดออก"
แม้ว่าคำกล่าวของธีรพงศ์ดูจะถ่อมตัวไปบ้าง แต่ถ้าย้อนหลังไปดูผลงานในอดีตของเขา
นับตั้งแต่ที่เข้ามากุมบังเหียนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เขายังไม่ทำให้ไกรสรผู้เป็นบิดาที่ฝากฝัง
TUF ไว้กับเขา ต้องผิดหวังเลย เพราะยอดขายที่เขาทำได้เป็นเม็ดเงินถึง 15,000
ล้านบาท
SC บทพิสูจน์ฝีมือของชายชื่อธีรพงศ์
การสวนกระแสของ TUF ด้วย การเข้าซื้อหุ้น บมจ.สงขลาแคนนิ่ง (SC) ทั้งหมดประมาณ
80% ในขณะที่บริษัทไทยอื่นๆ กำลังตกอยู่ในสภาพการเงินย่ำแย่ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงสถานะความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน
และการบริหารงานของ TUF และยิ่ง SC ไม่ใช่คนอื่นคนไกลการที่จะเข้าไปขอซื้อบริษัทและให้
delist ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งในความรู้สึกของคนเอเชียยังยึดติดเป็นเรื่องของหน้าตา
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะหาหนทางและวิธีการที่นุ่มนวล เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งมองเห็นความสำคัญและอนาคตของบริษัทมากกว่าเรื่องอื่น
และสิ่งที่ปรากฏในตอนนี้ต้องยอมรับในฝีมือของธีรพงศ์แบบปฏิเสธไม่ได้
"ผมรู้จักคุณเชง นิรุตตินานนท์ ที่เป็นประธานกรรมการ SC เหมือนญาติผู้ใหญ่
นอกจากนี้เขายังถือหุ้นใน TUF ถึง 5.96% และการที่เราทำอย่างนี้ได้เกิดจากเรามีทัศนคติคล้ายๆ
กัน เราอยู่ด้วยกันมาตลอดและผมยังเคยเป็นกรรมการใน SC มาก่อน เราเป็นกลุ่มผู้ก่อตั้ง
SC มา แต่หลังจาก TUF เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อขจัดความเกี่ยวข้องกันทางธุรกิจจึงจำเป็นต้องออกมา
คือทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของบริษัทเป็นหลัก ไม่ยึดหน้าตา ชื่อเสียง แต่เรารวมกันเพื่อความเข้มแข็งขึ้น
ถ้าสมมติว่า TUF เล็กกว่า SC เราอาจจะไปรวมกับเขาก็ได้" ทั้งนี้ในช่วงที่ก่อตั้ง
SC ไกรสร เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท
"เราใช้วิธีการสวอปหุ้น เมื่อผู้ถือหุ้น SC มาถือ TUF แล้วจะไม่เสียหาย
เพราะหุ้นเรามีมูลค่าใหญ่กว่า สภาพคล่องก็ดี การยอมรับจากตลาดทั่วโลกมีมากกว่า
เชื่อว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่อยู่ด้วยกันและผู้บริหารมาทำงานร่วมกันมีแต่ดีกับดี"
ธีรพงศ์ อธิบาย
การรวมกิจการในครั้งนี้ต้องยอม รับว่าเป็นไปอย่างเหมาะสมและลงตัวเข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจ
เพราะจะทำให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย ซึ่งธีรพงศ์บอกว่าเป็น win-win situation
และหลังจากที่รวมกิจการกันแล้ว สิ่งที่ธีรพงศ์ต้องทำก็คือต้องเข้าไปปรับองค์กรใหม่เพื่อให้เกิดความกระชับและไม่ซ้ำซ้อนกับ
TUF
"เราจะมีการทำการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ การจัดการบริหาร นโยบายการผลิตจะเป็นแบบรวมศูนย์
แต่การทำงานการผลิตจะแยกกันทำ เพราะดีลนี้ถือว่าเป็น case พิเศษ เราซื้อไม่ใช่เพื่อให้เขาออกจากธุรกิจแต่ซื้อเพื่อจะอยู่ร่วมกัน
เราเข้าไปถือหุ้น 100% " ธีรพงศ์ กล่าว
ธีรพงศ์ จันศิริ เลือดใหม่ของ TUF จะสามารถประคับประคอง TUF ให้แข็งแกร่งต่อไปได้อีกนานแค่ไหน
เวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ และคงต้องจับตากันต่อไปว่าทายาทรุ่นที่สามที่จะมารับช่วงต่อจากเขาจะเป็นใคร
และเขาจะสามารถปั้นให้ได้เหมือนดั่งที่ไกรสรปั้นตัวเขาได้หรือไม่ ตุลาคมนี้จะเป็นวันเริ่มต้นที่เขาจะต้องลงมือทำงานหินชิ้นนี้