Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2541
LEHMAN BROTHERS เลแมน บราเดอร์ส ว่าด้วยเรื่องปรส. ปริศนาที่ยังคาใจ             
 


   
search resources

องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน - ปรส.
เลแมน บราเดอร์ส




จากที่ไม่มีใครสนใจอยากจะรู้จัก แต่มาวันนี้ชื่อของเลแมน บราเดอร์ส กลายเป็นที่กล่าวขวัญถึงนับจากวันที่ชนะการประมูลพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยจาก ปรส. เพราะอีกภาคหนึ่งสวมหัวโขนเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วย งานแห่งนี้ คำถามทั้งหลายจึงพรั่งพรูออกมาถึงความโปร่งใสในการใช้ข้อมูลภายในและลามไปถึง ปรส. เกี่ยวกับการเปิดเผยรายชื่อผู้ที่เข้าร่วมประมูลในพอร์ตนั้น และยิ่งเหมือนเป็นการตอกย้ำเมื่อเลแมนยืนยัน เข้าร่วมประมูลสินทรัพย์หลัก ปรส. 4.6 แสนล้านบาท คำเฉลยที่ยังไม่กระจ่างชัดได้กลายเป็นปริศนาคาใจของคนไทยจนถึงบัดนี้

การประมูลสินทรัพย์หลักครั้งที่ 2 ประเภทสินเชื่อที่อยู่อาศัยขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) จำนวน 17,747 สัญญาจาก สถาบันการเงิน ที่ถูกปิดกิจการ 53 แห่ง ผลปรากฏว่า บริษัท เลแมน บราเดอร์ส โฮลดิ้งส อิงค์ จากสหรัฐฯ เป็นผู้ชนะการประมูลด้วยราคา 11,520 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าราคาตามยอดหนี้คงค้าง 24,600 ล้านบาท 53% จากจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลทั้งสิ้น 4 ราย

ผลครั้งนั้นได้ทำให้ชื่อของ เลแมนเป็นที่กล่าวขานถึงและหลายคนสงสัยว่า เลแมน บราเดอร์ส คือใคร?

เลแมน บราเดอร์ส เป็นธนาคารเพื่อการลงทุน หรือที่เรียกว่า Investment Bank สัญชาติอเมริกัน ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 150 ปีที่แล้ว โดยทำธุรกิจด้านการจัดหาเงินทุนและการลงทุนเป็นหลัก ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 151,705 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 17.9% มีรายรับจากการดำเนินการทั้งสิ้น 16,883 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12% จากปี 1996 คิดเป็นกำไรสุทธิ 647 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 56% ขณะที่ฐานเงินทุนรวมทั้งสิ้น 24,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยฐานะที่แข็งแกร่งเช่นนี้ทำให้เลแมนก้าวขึ้นมาเป็น Investment bank อันดับ 4 ของโลก

ปีที่ผ่านมาถือเป็นปีแห่งความสำเร็จของเลแมน บราเดอร์ส เพราะสามารถทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายขยายสายงานทางธุรกิจ ที่หันมาเน้นในธุรกิจทางการเงินที่ให้มาร์จินสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจด้านการบริหารกลยุทธ์ (strategic management) และยังได้มีการกระจายเครือข่ายในลักษณะของแฟรนไชส์ออกไปทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะไปให้ถึง Top-Tier Investment Bank ของโลก

ปัจจุบัน เลแมน บราเดอร์ นิยามตัวเองเป็น one-stop service เพราะสามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้ครอบคลุม นับตั้งแต่การให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์ ไปจนถึงธุรกรรมการจัดหาเงินในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่เป็นหนี้และส่วนของทุน

ในปีที่แล้ว เลแมนได้ลงทุนเพิ่ม ศักยภาพและความสามารถของตนเองเป็นเงิน 100 ล้านเหรียญสหรัฐในส่วนธุรกิจทางด้านควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) ธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง (high yield) และการจัดหาเงินกู้ (leveraged finance) ทั้งนี้ก็เพื่อสนองความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดเกิดใหม่ ที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและมีความต้องการบริการประเภทนี้สูง ทั้งนี้เลแมนคาดว่าในปี 1998 จะสามารถทำกำไรได้ทะลุเป้าเหมือนเช่น ปีที่ผ่านมาได้อย่างไม่ยากนัก

ด้วยประวัติที่ยาวนานเกือบ 2 ศตวรรษ ทำให้ชื่อเสียงของเลแมนเป็นที่ยอมรับกันในวงการการเงินระดับโลก แม้แต่ในเมืองไทยซึ่งเลแมนได้เข้ามาทำธุรกิจตั้งแต่ปี 2532 ทว่าในช่วงนั้นยังใช้เพียงสำนักงานในฮ่องกงเป็นฐานรับงานจากลูกค้าไทย ซึ่งตอนนั้นผู้บริหารของเลแมนเคยบอกไว้ว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาตั้งสำนักงานในเมืองไทย เพราะต้นทุนจะสูง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยขณะนั้นกำลังเติบโต จนกระทั่งปีนี้เศรษฐกิจฟุบ เลแมนได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในนามของบริษัทเลแมน บราเดอร์ส (ไทยแลนด์) จำกัด โดยมี ริชาร์ด เอส โฟลด์ จูเนียร์ (Richard S. Fuld, Jr.) ประธานและ CEO แห่งเลแมน บราเดอร์ส โฮลดิ้งส อิงค์ และเลแมน บราเดอร์ส อิงค์ บินตรงจากนิวยอร์กมาเป็นประธาน พร้อมทั้งจัดแถลงข่าวแสดงความจริงใจที่จะเข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทย และมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยว่าจะต้องฟื้นตัวโดยเร็ว

ผลงานโดดเด่นที่ผ่านมาของเลแมนในเมืองไทย ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐวิสาหกิจ และบริษัทขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาเป็นที่ปรึกษาทางด้านการเงิน และการปรับโครงสร้างในโครงการทางด่วนขั้นที่สอง เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับการสื่อสารแห่งประเทศไทย เป็นที่ปรึกษาให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตในการขายหุ้นโรงไฟฟ้าขนอม เป็นที่ปรึกษาให้กับกระทรวงการคลัง และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมในการออกหุ้นกู้จำหน่ายในสหรัฐฯ หรือแยงกี้ บอนด์ นอกจากนี้ยังได้เป็นที่ปรึกษาการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้กับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย และเป็นที่ปรึกษาปรับโครงสร้างหนี้ให้กับบริษัท Total Access Communication (TAC) ล่าสุดก็ได้รับคัดเลือกจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส.ให้เป็นที่ปรึกษาหลักในการขายสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ 56 แห่ง

"นี่เป็นช่วงที่สำคัญยิ่งสำหรับประเทศไทย เพราะจำเป็นจะต้องมีการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงินให้ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยความระมัดระวัง การที่เลแมน บราเดอร์ส เข้ามาในเมืองไทย ก็เพื่อช่วยเหลือในการให้คำแนะนำและสนับสนุนโครงการการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลไทย เพื่อที่จะปรับรูปแบบของระบบเศรษฐกิจใหม่ ด้วยการนำประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมาใช้... เลแมน บราเดอร์สจะทำทุกอย่างที่จะสามารถช่วยภาคธุรกิจไทย ด้วยการนำนักลงทุนใหม่ๆ เข้ามาลงทุนในเมืองไทย โดยผ่านเครือข่ายความสัมพันธ์ของเลแมน เพราะประเทศไทยมีความแข็งแกร่งพอเพียงที่จะทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ในระยะยาว ซึ่งผมอยากจะบอกคุณว่า นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะให้เลแมนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ เลแมนยังได้ระดมทุนในรูปของกองทุนเพื่อการลงทุนมูลค่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย 25% หรือ 500 ล้านเหรียญจะนำมาลงทุนนอกสหรัฐฯ และด้วยเงินกองทุนและเงินทุนของเลแมนก้อนนี้ ทำให้เรามองหาโอกาสที่จะลงทุนในประเทศไทยเป็นเงิน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ" สุนทรพจน์ตอนหนึ่งของโฟลด์ เมื่อคราวที่เปิดสำนักงานในเมืองไทยอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกของเลแมนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

การเข้าร่วมประมูลสินทรัพย์ของ ปรส.ถือเป็นก้าวที่สามของเลแมนที่เข้ามาลงทุนในเมืองไทย หลังจากที่ซื้อ บงล.เพริกรีน จำกัด ซึ่งประสบปัญหาจากการที่บริษัทแม่ในฮ่องกงปิดกิจการ แต่ไม่เปิดเผยตัวเลขเงินลงทุนว่าเท่าไหร่ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น บงล.โกลบอลไทย จำกัด (Global Thai Finance & Securities : GTFS) และกลายเป็นแขนขาของเลแมนในการเข้ามาลงทุนซื้อสินทรัพย์ในประเทศไทยตอนนี้

อาจจะเป็นความบังเอิญที่ครั้งหนึ่ง บงล.นิธิภัทร เคยเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ และถือหุ้นอยู่ใน บงล.เพริกรีน 30% ซึ่งตอนนั้นใช้ชื่อว่าเพริกรีน นิธิ ก่อนที่จะขายคืนแก่กลุ่มเพรีกรีนก่อนที่จะถูกแบงก์ชาติสั่งปิดกิจการในส่วนของ บง. และอดีตผู้บริหารของนิธิภัทรคือ ณรงค์ ปัทมะเสวี ก็เข้ามานั่งเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ ปรส. ขณะที่พอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เลเแมนเข้าประมูลนั้นยอดหนี้คงค้างของ บง.นิธิภัทร มีสัดส่วนมากที่สุดในบรรดา 53 แห่งที่ถูกนำออกมาจำหน่ายคือ 5,250.5 ล้านบาท หรือ 21.54% จากจำนวนสัญญา ทั้งสิ้น 3,126 ฉบับ หรือ 17.74% รองลงมาเป็นของบง.เอกธนกิจ 3,200 ล้าน บาท หรือ 13.13% จำนวนสัญญา 2,418 ฉบับ หรือ 13.72%

การที่เลแมนสวมหมวก 2 ใบในเวลาเดียวกันได้กลายเป็นประเด็นที่ทำให้ทั้งเลแมน บราเดอร์ส และ ปรส. ถูกตั้งข้อสงสัยในเรื่องของความไม่โปร่งใสในการประมูลสินเชื่อที่อยู่อาศัยครั้งที่สองนี้ เพราะเลแมน บราเดอร์ส เป็นทั้งที่ปรึกษาของปรส.และเป็นทั้งผู้ประมูล

หากเลแมนทำหน้าที่เพียงอย่างเดียวปัญหานี้คงไม่ยืดเยื้อและยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งต่างจากกรณีของ จีอี แคปปิตอล ที่ประมูลพอร์ตเช่าซื้อรถยนต์ได้

เสียงเรียกร้องให้ ปรส.เปิดเผยข้อมูลของผู้ที่ยื่นซองประกวดราคาอีก 3 แห่งเพื่อแสดงความโปร่งใสว่าเลแมนไม่ได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในจริงๆ มีมากขึ้น เป็นระยะๆ ในขณะที่ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง คือเลแมน ก็มิได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทันท่วงที แต่กลับทิ้งช่วงเวลานานเป็นเดือน กว่าการแถลงการณ์ครั้งแรกของเลแมนจะเกิดขึ้น เมื่อไบรอัน ปรินซ์ (Brian Prince) ผู้อำนวยการกลุ่ม Principle Transaction Group ซึ่งมีสำนักงานในญี่ปุ่น เดินทางมาเมืองไทย ก่อนวันรับโอนสัญญาลูกหนี้จาก ปรส. ที่กำหนดไว้ 1 ตุลาคม โดยได้เปิด แถลงข่าวถึงแนวทางการลงทุนและวิธีปฏิบัติของเลแมนของเมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา

"เมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมาทางกลุ่ม Principle Transaction Group ของ เลแมน บราเดอร์ส ได้เข้าซื้อ บงล. เพริกรีน จำกัด ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น โกลบอลไทย จำกัด ภายใต้บริษัทนี้เรามุ่งมั่นที่จะสร้างสภาพคล่องให้กับภาคการเงินของไทยในฐานะเป็นผู้จัดหาเงินทุน ซื้อสินทรัพย์ และแปลงสินทรัพย์หลายประเภทให้เป็นหลักทรัพย์ การเข้าซื้อและดำเนินธุรกิจภายใต้ บงล. โกลบอลไทยนี้ เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่เรามีต่อประเทศไทยอย่างชัดเจน ซึ่งขณะนี้ โกลบอลไทย อยู่ระหว่างการประสานงานและร่วมมือกับหุ้นส่วนทั้งในและต่างประเทศ และมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนพนักงานจาก 35 คน ตามการขยายตัวของธุรกิจ

คุณกิติวลัย เจริญสมบัติอมร เป็นกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าสำนักงานบริษัทเลแมน บราเดอร์ส (ไทยแลนด์) จำกัด และจะรับทราบเรื่องราว และกิจกรรมทั้งหมดของเราที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมหรือผลักดันให้เกิดธุรกรรม หรือการตั้งราคากับการทำธุรกิจของกลุ่มเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการซื้อขายธุรกิจที่เราดำเนินการ มาจนสำเร็จ หรือขั้นตอนการตั้งราคาประมูลของเรา

ทั้งนี้ หน้าที่ของคุณกิติวลัยจะเน้นทางด้านวาณิชธนกิจ และที่ปรึกษาทางการเงินแก่สถาบันการเงินในประเทศไทย รวมถึง ปรส.ด้วย ดังนั้น กลุ่ม Principle Transaction Group กับกลุ่มธุรกิจด้านวาณิชธนกิจของเลแมน บราเดอร์ส จึงทำงานแยกจากกันอย่างเด็ดขาดและไม่ขึ้นต่อกัน ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าไม่มีการนำข้อมูลความลับทางธุรกิจมาแบ่งปันกัน เพราะทั้งสองกลุ่มจะยึดถือและปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนสากลในการทำธุรกิจการเงิน และสอดคล้องกับแนวคิด 'กำแพงเมืองจีน' อย่างเคร่งครัดด้วย"

หลักการกำแพงเมืองจีน หรือ Chinese wall ที่กล่าวถึงก็คือว่าเลแมน ที่ทำหน้าที่สวมหัวโขนเป็นที่ปรึกษาให้กับ ปรส.นั้นจะเป็นหน้าที่ของเลแมน บราเดอร์ส ไทยแลนด์ ขณะที่กลุ่ม Principle Transaction Group ทำหน้าที่ในการประมูล โดยใช้ฐานธุรกิจในโตเกียวซึ่งมีปรินซ์เป็นหัวหน้า รายงานตรงต่อสำนักงานใหญ่ที่นิวยอร์ก และในเมืองไทยกลุ่มธุรกิจนี้มี บงล.โกลบอล ไทยหรือเพริกรีนเดิมเป็นเครือข่ายในการต่อยอดกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มนี้

โครงสร้างของเลแมน บราเดอร์สทั่วโลกจะแบ่งออกเป็นกลุ่มธุรกิจอิสระ 4 กลุ่มตามลักษณะของงาน คือกลุ่มที่ปรึกษาด้านวาณิชธนกิจ (Investment Banking Advisory Group) ซึ่งเลแมน บราเดอร์ส ไทยแลนด์ จะสังกัดในกลุ่มนี้ กลุ่มสถาบันการเงิน (Financial Institution Group) กลุ่มธุรกิจซื้อขายตราสารหนี้และตราสารทุน (Fixed Income Trading & Equity Trading) และกลุ่มธุรกิจเพื่อการลงทุน (Principle Transactions Group)

สำหรับกลุ่มที่ปรึกษาด้านวาณิช ธนกิจได้เข้ามาเมืองไทยนานเกือบ 10 ปี แล้ว ส่วนกลุ่ม Principle Transaction Group เพิ่งจะเข้ามาโดยมี เพริกรีนเป็น ผลงานชิ้นแรก ตามด้วยการประมูลพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัย ปรส. ที่สร้างชื่อให้เลแมนกลายเป็นที่รู้จักของคนไทยอย่างกว้างขวางและมีคำถามตามมาอย่างมากมาย

"มันเป็นเรื่องยากมากที่จะพิสูจน์ ข่าวด้านลบๆ ที่ว่านั้นว่ามันเป็นเรื่องอะไร ผมอยากจะให้คุณมั่นใจว่าที่ผมมาที่นี่ เพราะได้ยินเสียงบ่นจากทั้งสองฝ่าย ทั้งคนที่ทำงานให้ผมด้วย บางครั้งเราก็รู้สึกว่าเราไม่ได้รับการปฏิบัติเหมือนกับที่ที่อื่นได้รับการปฏิบัติ บางครั้งก็ดูจะแย่มากกว่าด้วยซ้ำไป เพราะในสถานะของเราทำให้ทุกคน concern มากและ ไม่มีใครที่แสดงความเท่าเทียมออกมาจริงๆ ในเรื่องที่ต้องช่วยเหลือกลับไม่ได้รับความช่วยเหลือ และสิ่งที่เราร้องขอก็คือว่าให้ปฏิบัติกับเราเช่นเดียวกับคนอื่นๆ นั่นก็คือสิ่งที่เราคาดหวัง

เรามีการเปิดเผยตั้งแต่วันแรกว่า เราแยกกันทำงาน และเรามีนโยบายชัดเจนที่จะยังคง maintain ทั้งสองกรุ๊ปแยกออกจากกัน และผมก็รู้สึกสบายใจกับนโยบายนี้ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับเลแมน ประเทศไทยจะเป็นเรื่องของการประสานงานกับทางผู้บริหารของเลแมนในเรื่องให้คำแนะนำ หรือว่าเข้ามามี local contract หรือความสัมพันธ์ที่เลแมนมีอยู่แล้วในเอเชีย ซึ่งเป็นเรื่องการประสานงาน

สำหรับเรื่องราคาที่เสนอเข้าไป ผมไม่รู้ว่าราคาที่ประมูลต่ำเกินไป แต่เป็น ราคาที่เราต้องการและราคาที่สูงที่สุดเท่าที่เราเห็น เวลานี้เป็นเวลาที่ยากที่จะรู้ว่ามูลค่าของสินทรัพย์ควรจะตกลงไปในระดับใด แต่ในความคิดของผมไม่คิดว่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะตราบใดที่การแก้ไขปัญหาเดินไปถูกทางผมเชื่อว่าราคาสินทรัพย์จะต้องสูงขึ้น และเราก็เชื่อมั่นในเมืองไทยและกำลังจะเข้าประมูลสินทรัพย์ ปรส.ในครั้งต่อไป" คำตอบของปรินซ์ต่อกรณีข้อสงสัยถึงความ ไม่ชอบมาพากลในการประมูล

สำหรับการตั้งราคาประมูล ปรินซ์ บอกว่าเป็นความลับทางธุรกิจไม่สามารถที่จะเปิดเผยได้ แต่โดยหลักการก็จะดูที่อัตราผลตอบแทนที่คิดว่าน่าจะได้รับจากเงินที่ลงไป และระยะเวลาที่จะตามเก็บหนี้ได้ โดยคำนวณกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน ซึ่งตอนนี้พอร์ตสินเชื่อได้แปรสภาพเป็นกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้การบริหารและจัดการของ บลจ. วรรณอินเวสเมนต์ ในนาม กองทุนรวม โกลบอลไทย พร็อพเพอร์ตี้ (Global Thai Property Fund : GTPF) พร้อมทั้งมอบหมายให้ธนาคารไทยพาณิชย์ทำหน้าที่ในการติดตามและจัดเก็บหนี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่กองทุนนี้จะเข้าประมูลสินเชื่อหลักของ ปรส.ครั้งต่อไปในนามเลแมน

ขณะเดียวกันปรินซ์ก็ยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่เลแมนจะนำสินทรัพย์ส่วนหนึ่งไปแปลงเป็นหลักทรัพย์ หรือทำซีเคียวริไทเซชั่นประเภท MBS (Morgage-Backed Securities) ซึ่งจากข้อมูลที่เผยแพร่ของ ปรส.ในพอร์ตนี้ มีหนี้ที่ไม่ค้างชำระเลยหรือหนี้ดีถึง 40.6% หนี้ที่ค้างชำระตั้งแต่ 31-60 วัน และ 61-90 วัน มีสัดส่วน 13.3% และ 7.3% ตามลำดับ และในจำนวนนั้นเป็นสินทรัพย์ประเภทบ้านเดี่ยวถึง 32.6% รองลงมาเป็นทาวน์เฮาส์ 21.6% ที่เหลือก็เป็นที่ดินเปล่า คอนโดมิเนียม สำนักงานขนาดเล็ก และอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ

หากเป็นจริงเช่นนั้น พอร์ตสิน เชื่อนี้จะสามารถออกดอกออกผลให้กับเลแมน บราเดอร์ส โฮลดิ้งส ถึง 3 ต่อทีเดียว หากไม่นับรวมกำไรส่วนลดที่ติดมาทอดแรกจากการประมูล กล่าวคือได้กำไรจากดอกเบี้ย (1) ได้ผลตอบแทนจาก กองทุนที่ บลจ.วรรณ อินเวสเมนต์ บริหาร (2) และเงินที่ได้จากการขายหลักทรัพย์ ที่มีสินทรัพย์จากพอร์ตนี้ค้ำประกัน หรือ ที่เรียกว่าทำซีเคียวริไทเซชั่นนั่นเอง (3)

และก็ต้องเป็นเหตุให้บังเอิญอีกครั้งที่การเลือก บลจ.วรรณ อินเวสเมนต์ ซึ่งมีวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ นั่งเป็นกรรมการผู้จัดการ ครั้งหนึ่งเคยเป็นเสมือนบริษัทลูกของเอกธนกิจก่อนที่จะถูกปิดกิจการ และก็เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า เลแมน บราเดอร์สเป็นพันธมิตรทางธุรกิจอยู่กับ บงล.เอกธนกิจ ในสมัยที่บริษัทแห่งนี้ยังรุ่งเรืองอยู่ เช่นเดียวกับการที่ได้ตัวกิติวลัย เจริญสมบัติอมร อดีตวาณิชธนากรหญิงมือหนึ่งจากค่ายเอกฯ มานั่งเป็นเอ็มดีในเลแมน บราเดอร์ส ไทยแลนด์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกนัก เพราะในธุรกิจนี้จำเป็นต้องได้คนที่รู้จักมักคุ้นกันมาทำงานด้วย

อีก 2 วันให้หลังและตรงกับวัน ที่เลแมนต้องมารับมอบโอนลูกหนี้จาก ปรส.ตามกำหนด 1 ตุลาคม กิติวลัย เจริญสมบัติอมร ก็ได้เปิดแถลงข่าวอีกครั้ง เพื่อยืนยันถึงความโปร่งใสถึงการทำงานของเลแมน บราเดอร์ส ไทยแลนด์ ในฐานะที่ปรึกษาของ ปรส. โดยก่อนอื่นเลแมน บราเดอร์ ไทยแลนด์ จะเข้าไปดูความต้องการของลูกค้าหลังจากนั้น ก็จะจัดหาทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในการ structure package ให้ข้อมูลที่ผู้ลงทุนสามารถเข้ามาทำ due diligence และเข้าใจ ว่า ปรส.ต้องการจะขายอะไร แต่จะไม่ได้เข้าไปดูการทำงานของ ปรส. เพราะ mandate ที่ได้คือดูแลเรื่องการขายสินทรัพย์หลัก คือส่วนที่เป็น loan เท่านั้น แต่ส่วนที่ไม่ใช่ loan ปรส. จะเป็นเจ้า ของและดำเนินการเองทั้งหมด "จริงๆ แล้ว ปรส.เป็นองค์กรที่เราให้ความนับ ถือมาก ในสหรัฐฯ RTC ใช้เวลานานกว่า ปรส.ในการเริ่มจำหน่ายสินทรัพย์ออกเป็นครั้งแรก... เราจะให้คำแนะนำ ปรส. ว่าเขาควรจะขายอะไรเมื่อไหร่ ลูกค้าสนใจอะไร ควรจะ package กันแบบไหน ซึ่งการที่เลแมน ประเทศไทยจะให้คำแนะนำตรงนี้ บริษัทฯ ก็ต้องรู้ด้วยว่าลูกค้าต้องการอะไร อย่างไร และบริษัทฯ ก็ต้องลงไปศึกษาตลาดในเมืองไทยด้วย ว่าผู้ที่สนใจจะลงทุนในเมืองไทยเป็นอย่างไร มากน้อยแค่ไหน จริงๆ แล้วคน ที่ดูงานรับผิดชอบตรงนี้ชื่อ Steven Theobald ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการ (MD) ของกลุ่ม Financial Institution Group" กิติวลัย อธิบายถึงขอบเขตงานที่ปรึกษา ปรส.พร้อมทั้งเสริมว่า แต่ละกลุ่มธุรกิจจะเป็นอิสระและแยกจากกันเด็ดขาด และหน้าที่ของเลแมน ประเทศ ไทย ก็คือประสานงานเมื่อมีกลุ่มธุรกิจของเลแมนเข้ามาเมืองไทย เพื่อให้แน่ใจว่าทำแล้วไม่ได้ขัดกับ ก.ม. ไม่ทำให้ลูกค้าเดือดร้อน นอกจากนี้ยังช่วยในการฟอร์มทีมงานที่จะเข้ามาทำงานให้ กับลูกค้าในเมืองไทยด้วย

"เช่นกรณี ปรส.เนื่องจากว่าหน่วยงานนี้เป็นของใหม่ในเมืองไทย พนักงานในเมืองไทยไม่เคยมีประสบการณ์ ฉะนั้นต้องใช้ความเชี่ยวชาญในระดับของฝรั่งเป็นหลัก จึงเป็นทีมงานฝรั่งทั้งหมด ซึ่งบางช่วงก็ใช้ทีมด้าน real estate เข้ามาแนะนำ บางช่วงก็เป็นทีมสินเชื่อพวก corporate finance เข้ามาปรึกษาทีมงานเหล่านี้ประจำอยู่ที่ ปรส.เลย เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลรั่วไหลออกมาแล้วอีกอย่าง คือทางเลแมน ประเทศไทยก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในการปล่อยสินเชื่อ ถ้าหน่วยงานอื่นของเลแมนต้องการซื้อ loan ของ ปรส.ก็จะต้องไปจ้างพนักงานที่มีความรู้ ความเข้าใจ มันก็จะเป็น combination ระหว่างฝรั่งกับไทยซึ่งก็ผ่านการคัดเลือกมาอย่างดี ซึ่งพวกนี้เขาก็ทำงานอยู่ที่ โกลบอลไทย ที่ทาง Principle Transaction Group เป็นคนเข้าไปซื้อมา"

อย่างไรก็ตาม การไปปรากฏตัวในงานวันรับโอนสินเชื่อของกิติวลัย เมื่อ วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ยิ่งเพิ่มความคลางแคลงใจมากขึ้น

"พี่ไปในฐานะที่เป็น country manager ซึ่งเลแมน บราเดอร์ส ไทยแลนด์ มีหน้าที่ดูแลให้ธุรกรรมใดๆ ที่ทางเลแมนบราเดอร์สเข้ามาในเมืองไทย ว่าเขาจะไม่เข้ามาทำอะไรที่เสียหายต่อลูกค้า และเราก็จะให้คำแนะนำว่าลูกค้า เป็นใคร อะไรที่เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่เขาควรจะทำ สมมติว่าเข้ามาแล้วอยากรู้เรื่องก.ม.เราก็จะบอกเขาว่าบริษัทก.ม.ชั้นนำในเมืองไทยมีกี่บริษัท เขาก็จะเป็นคนไปติดต่อไปคัดเลือกเอง หน้าที่ของเราก็คือบอกเขาว่าอะไรคือ Thai culture อะไรคือลูกค้าคนไทยสำหรับเลแมนไทยบ้าง แต่คนที่เป็นเจ้าของ Business Group เขาจะเป็นคนมาดูเองว่าเขาควรจะทำธุรกิจนั้นๆ หรือไม่ แต่หน้าที่ของเราก็คือ จะดูว่าเข้ามาแล้วจะไม่ไปว่าบริษัทนั้นๆ หรือไปจ้างบริษัทที่ไม่ได้มาตรฐาน และนั่นก็เป็นนโยบายที่เขาวางเอาไว้ในการทำงาน" กิติวลัย ไขข้อข้องใจและได้อธิบายเพิ่มเติมว่า

เมื่อครั้งที่ Principle Transaction Group จะเข้ามาประมูลจะต้องแจ้งให้เลแมน ไทยแลนด์ ทราบก่อน ส่วนการอนุมัติที่จะให้ประมูลหรือไม่อยู่ที่ ปรส. "จริงๆ แล้วมาตรฐานในการทำงานต้องมีสูงมาก หน้าที่ของพี่จะทำหน้าที่ประสานงาน ดูว่าจะไม่ไปเหยียบเท้าคนอื่นนะ ไม่ไปทำอะไรที่ผิดๆ นะ อย่างเช่นเขาบอกมาว่าเขาต้องการที่จะไปลงทุนในพอร์ตสินเชื่อเมืองไทย เขาก็คงไม่ใช่จะมาลงทุนเฉพาะใน ปรส.เท่านั้นหรอก เขาก็คงสนใจจะลงทุนสินเชื่อในสถาบันการเงินอื่นๆ ด้วย พี่ก็ไปแนะนำให้เขารู้จัก agency ไปบริษัท หรือธนาคารอื่นๆ ด้วย ส่วนเขาจะซื้อได้หรือไม่ เจรจากันเป็นหน้าที่เขาสองคนที่เขาจะคุยกัน พี่ไม่ได้เพียงแนะนำ ปรส.เท่านั้น แต่ยังแนะนำธนาคาร สถาบันการเงินอื่นให้เขาได้รู้จัก ให้เขารู้จัก organization ในเมืองไทยที่มีอยู่ทั้งหมด เพื่อให้เขารู้ว่าในเมือง ไทยมี organization อะไรบ้าง"

ถึงตรงนี้ ก็มีข้อสงสัยตามมาอีกว่า เป็นไปได้ไหมที่เลแมน ไทยแลนด์ อาจจะเป็นผู้ชี้ช่องจนชนะการประมูลในที่สุด ซึ่งกรณีนี้กิติวลัย อธิบายว่า

"อย่างเช่น เขาจะไป ปรส.เราก็บอกว่าคนที่เป็นประธานคือคุณอมเรศ คุณวิชรัตน์ ถ้าเขาอยากได้ข้อมูลของ ปรส. เขาควรจะไปติดต่อ 2 ท่านนั้น ถ้าเขาอยากไปธนาคารไทยพาณิชย์ ก็มี ดร. โอฬาร มีคุณชฎา นะ ถ้าเขาอยากจะไป ธนาคารกรุงเทพ ก็จะมีคุณชาติศิริ นะ เพราะว่าฝรั่งพวกนี้เวลาที่เขาเข้ามาในเมืองไทย เขาไม่รู้ว่าจะไปคุยกับใคร เพราะฉะนั้นหน้าที่ของพี่ก็จะบอกว่า Who is who? และก็ what is what? มากกว่า"

ส่วนการตัดสินใจการดำเนินการหลังจากที่แนะนำให้รู้จักกันแล้ว เป็นสิ่งที่ทาง Business Group จะตัดสินใจดำเนินการเอง ฉะนั้น office ของ เลแมน บราเดอร์ส ไทยแลนด์ จึงเป็นเพียง office ประสานงาน integrate expertise จากต่างประเทศให้เข้ากับลูกค้าในเมืองไทย และในฐานะที่เป็น Country Manager กิติวลัยก็มีหน้าที่แค่ดูว่าธุรกรรมที่ทำในเมืองไทยประสบความสำเร็จ และทำไปอย่างถูกต้อง

ต่อข้อถามถึงค่าจ้างที่เลแมน ไทยแลนด์ได้รับจาก ปรส.ซึ่งมีการพูดกันหนาหูว่าเป็นเงินจำนวนไม่น้อย เพราะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ตามมูลค่าราคาประมูลชนะ ว่ากันว่า 1% นั้น กิติวลัยกล่าว defend ตัวเองว่า

"ไม่ได้มีหน้าที่ในการตัดสินใจของแต่ละ Business Group เลย อย่างเช่น advisory พี่ก็ไม่มีอำนาจตัดสินใจว่าคิดค่า fee เท่าไหร่ รายได้เท่าไหร่ และพี่ก็ไม่รู้ว่าต้นทุนในการดำเนินการของเขาเท่าไหร่ และพี่ก็ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจเพราะว่าพี่ไม่ได้เป็นคนบริหารงานนั้นๆ"

อย่างไรก็ตาม กิติวลัย ยอมรับว่าการที่เลแมนถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ ย่อมส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ของบริษัทอย่างแน่นอน เพราะธุรกิจนี้ชื่อเสียงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง "สื่ออะไร ที่ออกมาไม่ดีย่อมทำให้ภาพเสียหาย เพราะว่าการทำงานของเราต้องมี high reputation ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เราอยู่ภายใต้กรอบระเบียบที่เข้มงวดของสหรัฐฯ เพราะฉะนั้นเราต้องมี integrity การทำงานที่ค่อนข้างสูง เรามีความมุ่งมั่นที่จะทำงานในเมืองไทยระยะยาว"

คำถามเรื่องความโปร่งใสนี้ไม่เพียงแต่เลแมน บราเดอร์ส เท่านั้นที่ต้องออกมาชี้แจง แต่คำถามนี้ได้ถูกเหวี่ยงกลับมาที่ ปรส.ด้วยเช่นกันในฐานะผู้ดูแลสินทรัพย์ และยิ่งเมื่อมีข่าวคราวการสั่งพักงานผู้จัดการพิเศษบางคน และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องการนำข้อมูลภายในออกไปให้กับบุคคลภายนอก ยิ่งเป็นการตอกย้ำความโปร่งใสในการจัดการของ ปรส.มากยิ่งขึ้น และเป็นเหตุให้เกิดเสียงเรียกร้องให้มีการเปิดเผยรายชื่อผู้เข้าร่วมประมูลทั้งหมดด้วย ซึ่งในวันรุ่งขึ้น อมเรศ ศิลาอ่อน ประธาน ปรส.ก็ได้เปิดฟลอร์ให้ผู้สื่อข่าวได้ซักถามข้อข้องใจ

"ต้องมองเรื่องนี้จาก 2 มุมมอง หนึ่งก็คือว่าถ้าเผื่อ ปรส.เปิดเผยข้อมูล ทั้งหมดจะเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนหรือเป็นโทษ ถ้าเผื่อเราให้ข้อมูลละเอียดไป แน่นอนว่าสาธารณชนได้ประโยชน์ในการเปิดเผย แต่ว่าอาจจะทำให้การประมูลครั้งต่อไปของเราได้ราคาเลวลง ถ้าเป็นอย่างนั้นถือเป็นประโยชน์หรือโทษกับสาธารณชน เราต้องเป็นคนตัดสิน เราไปพึ่งคนอื่นไม่ได้ โอเคถ้าเผื่อปล่อยออกไปการประมูลครั้งต่อไปราคาจะดีขึ้นหรือเลวลง หรือจะเท่าเก่า ต้องดูประเด็นนั้นประเด็นหนึ่ง

ประเด็นที่สองก็คือว่าเรื่องของการให้ข้อมูล มันก็มีการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนอย่างที่ผมให้แบบนี้ แต่มีข้อมูลบางอย่างที่มันยังไม่ถึงเวลาที่จะให้ ถ้าให้ไปแล้วอาจจะเป็นโทษมากกว่าประโยชน์ แต่ถ้ามีผู้หวังดีต่อสาธารณชนเห็นว่าการตัดสินของเราไม่ถูก ก็มีสิทธิที่จะใช้กฎหมายเรื่องข้อมูลข่าวสารได้ ถ้าเผื่อการตัดสินใจของ ปรส.ผิดพลาดเราก็ต้องรับผิดชอบ ก็ฟ้องมา เราก็ต้องสู้

แต่ว่าสิ่งที่เราทำยืนยันได้ว่าในการตัดสินในระดับของเจ้าหน้าที่ ฝ่ายจัดการ ฝ่ายเลขาธิการ ระดับคณะกรรมการก็ดี ตัดสินทุกอย่างไปด้วยความต้องการที่จะทำอะไรที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ที่สุดสำหรับสังคมไทย ถ้าเผื่อเราเปิดเผยไป แล้วจะทำให้การประมูลครั้งต่อไปทำให้ราคามันดีขึ้น ผมก็ทำแน่ๆ คุณการันตีผมมาซิว่าถ้าผมให้เรื่องการประมูลครั้งที่ 1 แล้วครั้งที่ 3 ได้ราคา 60% ผมให้ แต่ถ้าคุณการันตีไม่ได้ผมจะให้คุณทำไม ถ้ามันมีโอกาสเหลือ 30% เรื่องอะไรผมถึงจะให้คุณ และมันเป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือ ผมพร้อมที่จะรับผิดชอบเรื่องนี้"

อมเรศได้อธิบายบทบาทของเลแมน ใน ปรส.ว่า จะดูแลเฉพาะเรื่องกรรมวิธีในการขายว่าจะต้องมีการรวบรวมข้อมูลอย่างไร มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างไร จะต้องมีขั้นตอนอะไร เพราะการที่เลแมนมีประสบการณ์ด้านนี้ทั้งใน RTC ของอเมริกาและที่เม็กซิโก จะช่วยให้การทำงานของ ปรส.รวดเร็วยิ่งขึ้น "มันเหมือนกับเราจะสร้างท่าเรือ นานๆ เราจะสร้างท่าเรือทีหนึ่ง เรื่องอะไร เราต้องใช้สถาปนิก และวิศวกรไทยหมด แล้วคนที่เขาสร้างท่าเรือมา 20 ท่า เราก็ไปเอาแบบและวิธีการของเขามา อันนี้ก็คือเรื่องที่เราจ้างเลแมนมา" อมเรศ อธิบายเชิงเปรียบเทียบ

เป็นไปได้หรือไม่ที่เลแมนจะไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่นั้น ซึ่งอมเรศเห็นว่าประเด็นที่ควรจะถามคือ ใครเป็นคนกำหนดราคากลาง? คำตอบคืออนุกรรมการของ ปรส. โดยวิธีการและมารยาท เมื่ออนุกรรมการกำหนดราคากลางแล้วจะเก็บไว้เป็นความลับมีเพียงบอร์ดเท่านั้นที่ทราบ และการคัดเลือกกรรมการเพื่อเข้ามาเป็นอนุกรรมการก็ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนั้น เช่นบ้านจัดสรร ปรส.ก็ต้องเป็นคนเก่งเรื่องบ้านจัดสรรมา ภาพศิลป์ก็ไปเอาศิลปินมา เป็นต้น

"พวกนี้ประชุมกัน น่าเห็นใจนะ บางกลุ่มต้องประชุม 10-20 ครั้งถึงจะได้ราคากลางมา เขาทำงานหนักมาก เมื่อออกมาแล้วเราก็เอาตัวนี้เป็นตัวหลัก ไม่บอกใคร เมื่อประมูลเข้ามา ถ้าสูงกว่า ราคากลางเราก็ปล่อย ถ้ามันต่ำกว่าราคากลางก็ต้องให้กรรมการของ ปรส. ตัดสินว่าจะปล่อยหรือไม่ปล่อย เพราะฉะนั้นเรื่องราคากลางคนอื่นไม่รู้เลย มีกรรมการของ ปรส.และอนุกรรมการเท่านั้นที่รู้" เขาอธิบายต่อเนื่องและให้การปกป้องเลแมนต่อไปว่า

"ผมไม่เห็นว่าจะต้องมีมาตรการ อะไรเป็นพิเศษในเรื่องเลแมน คือเรื่องอย่างนี้ที่มันมีข่าวออกมาว่าไม่โปร่งใสเพราะว่าเลแมนได้เปรียบ ถ้าเผื่อเขาทำเฉพาะเรื่อง sale process เขาไม่มีความได้เปรียบเลย เพราะเขาไม่รู้ว่าข้อมูลเป็นอย่างไร เขาทำแต่วิธีการเท่านั้น เขาไม่มีข้อมูลอะไรเป็นพิเศษที่จะส่งให้ญาติเขาได้ พูดง่ายๆ และก็เป็นหน้าที่ของ ปรส.ที่จะต้องดูว่าการให้ข้อมูลกับผู้เข้าประมูลเสมอหน้าเสมอภาคกัน ถ้าครั้งที่แล้วเขาเข้าประมูลได้ ครั้งต่อไปมันก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องไปห้าม ไม่ใช่ว่าถ้าเราถูกด่า 3 ทีแล้วเราต้องเปลี่ยนกติกา ปรส.ไม่น่าจะเป็นองค์กร อย่างนั้นเพราะอีกหน่อยก็ตายแล้ว ต้องไปเป็นห่วงทำไม ผมไม่ต้องการที่จะครองอำนาจยึดเก้าอี้ ปรส.ไว้อีก 3 ปี ก็ต้องทำให้ถูกต้อง คราวนี้เป็นโอกาสที่คนไทยจะทำทุกอย่างให้ถูกต้อง และแสดงให้ทั่วโลกได้เห็นว่ามีองค์กรบางองค์กรที่ไม่โกงไม่กินและไม่กลัว"

ก่อนหน้านี้ ณรงค์ ปัทมะเสวี ผู้ช่วยเลขาธิการ ปรส. ก็เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ทำนองเดียวกันว่า "ในแง่ของเลแมนผมคิดว่า ปรส.เองได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการที่เขาเสนอยื่นประมูลเข้ามาด้วย บุคคลที่เขาเข้ามาดูข้อมูลและทำงานมันเป็นคนละกลุ่มกับคนที่เขาเข้ามาปรึกษาจริงๆ เราก็ได้ให้เขาให้คำมั่นสัญญาทุกอย่างถูกต้องว่าจะต้องทำงานแยกกัน และไม่มีการให้ข้อมูล และฮั้วกัน นั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่ง

อีกเหตุผลหนึ่งที่เราดูถ้าเขาจะได้ ไปจริงๆ จากการที่เขาคุยกันจริงก็คงเป็น ข้อมูลชุดเดียวกันกับที่เราให้คนอื่นไป และการได้เปรียบเสียเปรียบก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น แล้วปรากฏว่าในการยื่นราคาเข้ามา ราคาเขาก็สูงด้วย เพราะฉะนั้นถ้าให้ ปรส.ชั่งน้ำหนักดูระหว่างการที่อาจจะมีคำครหาว่า อาจจะมีความขัดแย้งกับผลประโยชน์เกิดขึ้นกับประเทศชาติ ผมคิดว่า ปรส.ก็ต้องตัดสินแบบนี้ว่าใครให้ ราคาสูงก็ต้องให้คนนั้นไป แต่ก็รู้เบื้องลึก ด้วยตัวเองอยู่แล้วว่าเขาไม่ได้ทำงานด้วยกัน เป็นคนละชุดกัน

เป็นเหตุผลของ ปรส.เองที่ไม่ต้อง การเปิดเผยข้อมูลว่าใครมาประมูลบ้าง ซึ่งผมไม่ได้รับผิดชอบในเรื่องนี้และไม่ทราบว่าเหตุผลจริงคืออะไร แต่ถ้าถามว่าไม่เปิดเผยเพราะอะไรในการประมูลสินทรัพย์ธรรมดา เรากลัวว่าข้อมูลที่ออกไปจะสร้างประโยชน์ให้กับผู้ประมูลบางราย ในการที่เขาจะกลับมาประมูลให้ราคาที่ไม่ดี"

ประเด็นนี้ได้ขยายวงกว้างไปถึงห้องประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา ด้วยเกรงว่าราคาสินทรัพย์ที่ถูกนำออกจำหน่ายนั้นจะถูกกดราคาต่ำมากจนเกินไป และเป็นที่มาของคำถามว่าทำไม ปรส.จึงไม่แยกหนี้ดีออก จากหนี้เสียเพื่อให้ราคาสะท้อนความเป็นจริงมากที่สุด แทนที่จะใช้วิธีคละอย่างที่ทำอยู่ในตอนนี้ ซึ่งอมเรศได้ชี้แจงเชิงเปรยว่า

"การแยกสินทรัพย์ในการประมูลอันนี้มันอยู่ที่แนวคิด ถ้าตลาดรู้ว่าสินทรัพย์อันนั้นดีเขาก็ให้ราคาดี ถ้าตลาดไม่รู้ว่าสินทรัพย์อันนี้ดี แยกกันไป แล้วเขาก็ยังไม่รู้ว่าสินทรัพย์อันนี้ดีมันก็จะได้ราคาเลว มันขึ้นอยู่ที่ว่าคนที่แยกมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน ถ้าเอาคนที่เขาไม่เชื่อมาแยก เขาก็บอกว่าแยกมาเพื่อที่จะอุ้มคนนั้นคนนี้ไช่ไหม ความจริงดีแล้วบอกว่าไม่ดี แล้วบางคนก็บอกว่าไอ้ที่แยกที่บอกว่าไม่ดีเพื่อที่จะไปกระซิบ พรรคพวกให้มาซื้อถูกๆ ใช่ไหม ซึ่งมันก็เป็นไปได้ และทำให้เกิดความไม่แน่นอนสูง ทำให้พวกคนที่จะลงจริงๆ เข้า ใจผิด เราเป็นห่วงอันนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเผื่อเรามีข้อมูลเต็มที่ เราให้ข้อมูลเท่าที่เราจะหาได้เขาก็จะตัดสินเองว่าอันไหนดีไม่ดี ถ้าอันไหนดีเขาก็ให้ราคาดี อันไหนไม่ดีเขาก็ให้ราคาไม่ดี ถ้าอย่างนั้นมันก็ถือว่าผู้ลงทุนผู้ที่เอาเงินมาเสียบ เป็นผู้ที่ตัดสินว่าอันนี้เป็นสินทรัพย์ดีหรือไม่ดี อันนี้เป็นแนวคิดที่ไม่เหมือนกัน

ผมก็ไม่แน่ใจว่าคนไทยที่มีความ น่าเชื่อถือได้เหลืออยู่อีกกี่คน คนที่เหลือ อยู่อีกไม่กี่คนก็กำลังจะถูกทำลาย มันก็ ไม่เหลือ วิธีที่เราบอกให้ทำก็คือไม่ต้องไปเชื่อใคร ให้เชื่อตลาด เราก็เอามาวางให้ดู คุณก็เลือกเอาเองว่าอันไหนเท่าไหร่แล้วแต่คุณ ซึ่งราคาที่ได้มาก็น่าพอใจ เพราะได้ราคาเกือบครึ่งขณะที่คนอื่นเขาได้ 10-20% เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำมาไม่ผิดหรอก แล้วมีใครบอกได้ว่าถ้าแยกทรัพย์สินดีออกจากทรัพย์สินไม่ดีจะได้ราคาดีได้ ใครการันตีได้"

อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของนักวิชาการ ผศ.ดร.พัชราวลัย ชัยปาณี อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อสังเกตว่า ในช่วงนี้ตลาดขาดราคาอ้างอิงที่จะนำมาใช้เป็นมาตรฐานในการวัดราคาของสินทรัพย์ในประเทศ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ตัดสินยาก

"มันเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลยที่ไม่มีอะไรเป็นตัวอ้างอิงให้เราเลย นี่เป็นสิ่งที่ดิฉันเข้าใจว่า ปรส. และกระทรวงการคลังก็คงจะทราบอยู่แล้ว ว่าประเด็นนี้อาจจะมีการคอมเมนต์มากในเรื่องของราคา แต่เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าเมื่อมันไม่มีราคา ตลาดมันก็เป็นราคาที่ดีที่สุดในขณะนั้น และต้องถือว่าเป็น benefit of the doubt เพราะคุณไม่มีข้อมูลอื่น คุณอย่าไปมองโลกในแง่ร้ายก็มองโลกในแง่ดีว่ามันคงจะเป็น best deal ทีนี้มันก็อยู่ที่ว่าข้อมูลมันไม่ได้ออกมาเลย เราไม่ได้ซีดีรอมเพราะเราไม่ได้มีเงินไปให้ ปรส. แล้วเขาก็ไม่ได้ให้วงการศึกษามาศึกษาในเรื่องนี้ ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องที่พูดยากเพราะมันไม่เห็นข้อมูล เราก็ได้ยินแต่ข่าวลือว่าเขาทำกำไรได้มาก แต่ตัวข้อมูลจริงก็ไม่มีใครรู้และมันก็ไม่ได้หลุดออกมาให้เราได้ดูเลย เราจะได้ช่วยวิเคราะห์ได้ว่ามันควรจะเป็นอย่างไร"

ไม่ว่าผลสะท้อนกลับหลังการ ชี้แจงของทั้งสองฝ่าย คือเลแมนและ ปรส.จะออกมาอย่างไร แต่ประเด็นนี้ถือเป็นการก้าวพลาดครั้งใหญ่ของเลแมน บราเดอร์ส ที่ปล่อยให้เรื่องบานปลายเหมือนไฟลามทุ่ง และแม้เลแมน บราเดอร์ส จะมองเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก แต่สำหรับคนในสังคมไทย มันเป็นเรื่องใหญ่ที่ยังเป็นปริศนาคาใจจนถึงวันนี้...

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us