สัจธรรมที่ว่า ราคาอสังหาริมทรัพย์นับวันที่จะเพิ่มสูงขึ้นนั้น ถูกพิสูจน์ออกมาแล้วในวันนี้ว่าไม่เป็นความจริง
เพราะปัจจุบันราคาที่อยู่อาศัยกำลังลดลง และลดลงอย่างมากเสียด้วย แต่จะเป็นเท่าไหร่นั้นยังไม่มีคำตอบ
ตัวอย่างหนึ่งที่กำลังถูกจับตามองก็คือผลของการประมูลอสังหาริมทรัพย์ของปรส.ในวันที่
8 พ.ย.ที่จะถึงนี้ รายการดังกล่าวถึงจะมีมูลค่าทางบัญชีเพียง 10,000 ล้านบาท
ถูกกำหนดราคากลางไว้เพียง 4,000 ล้านบาท และปรส.เองก็หวังว่าน่าจะขายได้ในราคาที่ไม่ต่ำกว่า
4,200 ล้านบาทเท่านั้น
แม้ว่าราคาที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่ตัวชี้เป็น ชี้ตายให้กับราคาอสังหาริมทรัพย์ทั้งระบบที่มีมูลค่านับแสนล้านบาทนั้น
แต่สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาก็คือถ้าเมื่อไหร่ตลาดการประมูลเติบโตขึ้น
เพราะบรรดาธนาคารพาณิชย์ไม่มีทางเลือก ต้องเอาหนี้เสียออกมาประมูลขายมากกว่านี้
มันก็ย่อมส่งผลถึงราคาขายของตลาดโดยรวมแน่นอน
ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2541 นี้ จะมีงานใหญ่ของปรส. - องค์กรดังแห่งยุคนี้อีกครั้งที่หลายฝ่ายกำลังเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิด
คราวนี้ ปรส. ได้จัดให้มีการประมูลอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของสถาบันการเงินทั่วประเทศออกมาขาย
ก่อนจะถึงรายการประมูลครั้งใหญ่ มูลค่า 4.6 แสนล้านบาท ในเดือนธันวาคมนี้
ถึงแม้ทรัพย์สินที่ถูกนำมาประมูลในครั้งนี้มีมูลค่าทางบัญชีประมาณ 10,000
ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับทรัพย์สินที่จะนำมาประมูล
ในปลายปี แต่น่าสนใจตรงที่ว่าเมื่อมามองดูถึงตัวเลขของราคากลางที่กำหนดไว้นั้น
พบว่ามันได้ลดลงมาต่ำมาก เหลือเพียงประมาณ 4,000 ล้านบาท ในขณะ เดียวกันทางปรส.เองก็คาดหวังไว้ว่า
น่าจะทำยอดขายได้จริงในราคาที่ไม่ต่ำกว่า 4,200 ล้านบาท คือน่าจะสูงจากราคากลางประมาณ
5% เท่านั้น ซึ่งเท่ากับเป็นการยอมว่าราคาของที่อยู่อาศัยมันได้หล่นฮวบลงมาถึง
60%
ถ้าพลิกดูตามแค็ตตาล็อกซึ่งทาง ปรส.ไปถ่ายมาจากสถานที่จริงแล้ว จะเห็นได้ว่าทรัพย์สินเหล่านั้นส่วนใหญ่ไม่ใช่ของเก่าเก็บที่ทรุดโทรมลงเท่าไหร่เลย
บ้านบางหลัง ออฟฟิศบิลดิ้งบางโครงการที่นำออกมาประมูลนั้นค่อนข้างใหม่ด้วยซ้ำไป
ราคากลางหรือราคาเริ่มต้นในการประมูลนี้ จะถูกกำหนดให้ต่ำกว่าราคาประเมินใหม่
ที่ทางบริษัทประเมินราคาทรัพย์สิน ซึ่ง ปรส.คัดเลือกมา 8 บริษัทเป็นผู้กำหนดราคาไว้
(รายชื่อในตาราง) เพื่อเป็นการจูงใจให้มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลมากขึ้น ส่วนผู้ที่มีบทบาทสำคัญในกำหนดราคากลางของสินค้า
หรือราคาเริ่มต้นประมูลของสินค้าแต่ละรายการคือสิริวัฒน์ พรหมบุรี กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์
ชึ่งเข้ามาเป็นประธานอนุกรรมการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ครั้งนี้ให้กับทาง
ปรส. และผู้ที่มีบทเรียนอย่างดีในการตั้งราคากลาง เพราะอย่างน้อยทาง ธอส.เองก็กำลังนำที่อยู่อาศัยออกมาประมูลขายเช่นกัน
ส่วนราคาที่เป็นจริงที่สุดซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 8 พ.ย.นั้นอาจจะสูงหรือ
ต่ำกว่าราคาประเมินก็ได้
"ผมจะเน้นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ ก็คือการประมูลของ ปรส.ในครั้งนี้น่าจะเป็นตัวที่ช่วยทำให้มีราคาอ้างอิงเกิดขึ้นในตลาด
ซึ่งจะเป็นราคาต่ำลงมามากหรือต่ำลงมาน้อย ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่จะเป็นราคาตลาดที่ผู้ที่จะซื้อขายกันในระบบต่อไป
ใช้เป็นราคาอ้างอิงได้ และเราเชื่อว่าจะทำให้มีกิจกรรมทางด้านซื้อขายเพิ่มมากขึ้นภายหลังจากที่
ปรส.ได้ประมูลเสร็จสิ้นลงแล้ว"
นั่นคือสิ่งที่อมเรศ ศิลาอ่อน ประธานกรรมการของ ปรส.คาดหวังเอาไว้ ในขณะเดียวกันก็ยังมีคำถามต่อเนื่องว่า
ราคาประเมิน และราคากลางที่กำหนดนั้นเป็นราคาที่ต่ำลงมากหรือไม่
โสภณ พรโชคชัย กรรมการผู้จัดการบริษัทเอเยนซี่ ฟอร์ เรียล เอสเตท แอฟแฟร์ส
ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่ทำหน้าที่ประเมินราคาให้กับทาง ปรส.ได้ให้ความเห็นว่า
เป็นสิ่งที่บริษัทประเมินได้ทำหน้าที่ตามความเป็นจริงที่สุด โดยอิงกับภาวะตลาดในปัจจุบัน
ซึ่งปัจจุบันยังมีการซื้อขายจริงเกิดขึ้นอยู่
ณรงค์ ปัทมะเสวี ผู้ช่วยเลขาธิการของปรส. ยังได้ย้ำจุดนี้เพิ่มเติมอีกว่า
เรื่องของสภาพคล่อง เรื่องของอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งเรื่องของปริมาณ ความต้องการที่จะใช้ซึ่งลดน้อยลงมากนั้น
ทำให้ราคาตกลงมากขนาดนี้ผู้ประเมินก็ต้องสะท้อนความเป็นจริงในตลาดที่เป็นจริงที่สุด
ถ้าเราจะดูถึงตลาดของการประมูลที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน อย่างเช่นในงานประมูลของบริษัทสหการประมูล
เมื่อเดือนกันยายน 2541 ที่ผ่านมานั้นจะพบว่า ราคาเปิดประมูล หรือราคากลางนั้น
ทางบริษัทได้ตั้งไว้ต่ำกว่าราคาตลาดประมาณ 50% ใน ขณะที่ราคาที่ประมูลได้ไปนั้น
บางหลังต่ำกว่าราคากลางด้วยซ้ำ แต่บางหลังจะสูงกว่าราคาประเมินไม่มากนัก
ตัวอย่างเช่น ทาวน์เฮาส์ 4 ห้อง นอน 4 ห้องน้ำ ราคา 2 ล้านบาท กำหนดราคาเริ่มต้นไว้ที่
900,000 บาท ปรับลดลงมา 51% ราคาที่ประมูลได้ไปก็คือราคาเดิมที่เริ่มต้นประมูล
หรือบ้านเดี่ยวชั้นเดียว 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ เนื้อที่ 100 ตารางวา ราคา
3 ล้าน บาท กำหนดราคาเริ่มต้นไว้ที่ 1,250,000 บาท เป็นราคาที่ปรับลดลง 58%
ส่วนราคาที่ขายได้คือ 1,620,000 บาท
ในการประมูลครั้งนั้นสหการประมูลมีบ้านมาประมูลทั้งหมด 60 หลัง ประมูลได้ไป
20 หลัง ราคาเปิดประมูล 22,570,000 บาท แต่ราคาที่ประมูลได้ไปคือ 23,770,000
บาท
เช่นเดียวกับผลการประมูลบ้านของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซึ่งจะตั้งราคากลางไว้สูงกว่าของบริษัทสหการประมูลเลย
ยิ่งทำให้มีผู้สนใจร่วมประมูลน้อยมาก จนทำให้ทางธนาคารอาคารสงเคราะห์จะหยุดทำการประมูลบ้านในเดือนธันวาคมนี้
แล้วการประมูลของปรส.ในครั้งนี้ จะส่งผลให้กับราคาตลาดของอสังหาริมทรัพย์โดยรวมได้หรือไม่
รวมทั้งจะสร้างความปั่นป่วนให้กับวงการตลาดบ้านมือสอง ซึ่งยังคงค้างแน่นตลาดมากแค่ไหน
นี่คือคำถามที่เกิดขึ้น
"ไม่กระทบแน่นอนเพราะจำนวนมันน้อยมากเมื่อเทียบกับตลาด สมมุติว่าราคาทางบัญชีหมื่นล้าน
เมื่อเทียบกับราคาทรัพย์สินที่ถูกครอบครองอยู่ รวมทั้งระบบของธนาคารมันมีตั้งประมาณ
1 ล้านล้านบาท"
สิริวัฒน์ พรหมบุรี ยืนยัน และ อธิบายต่อว่าการขายด้วยวิธีนี้เป็นสิ่งที่เจ้าของโดนบังคับขาย
คนที่จะซื้อเคาะได้ในราคาเท่าไหร่ก็ต้องยอมตามราคานั้น เป็นราคาที่ขาย ณ
ขณะใดขณะหนึ่งให้ขายได้ คือขายในนาทีนั้นให้ออก ราคามันก็ต้องปรับสภาพคล่องลงมา
ราคานี้จะไม่ใช่ราคาตลาด ให้ได้
"ทุกๆ วันที่กรมบังคับคดีมีการ ขายทอดตลาด ซึ่งก็ได้ราคาต่ำกว่าตลาด แต่มันก็ไม่ได้เป็นตัวกดดันให้ราคาของในตลาดต่ำลงมา
ไม่เกี่ยวเลย เพราะมันเป็นคนละตลาดกัน"
ดังนั้นตลาดที่น่าจะกระทบต่อการประมูลครั้งนี้ของปรส.ก็คือ ตลาดการประมูลของสถาบันการเงินต่างๆ
ถ้าราคาประมูลของปรส.ขายได้ 60% ราคาของแบงก์ที่นำออกมาขายก็น่าจะได้ราคานี้
แต่ไม่ใช่ราคาในพอร์ตทั้งหมด
"ผมว่าเป็นการประมูลในราคาที่น่าสนใจ และตลาดของอสังหาฯ ที่โอเวอร์ซัปพลายอยู่นี้
กลางปีหน้าก็จะหมดแล้ว ที่หมดรวดเร็วหน่อยในช่วงหลังเป็นเพราะผู้ขายมีการลดราคาลงมาจริงจังแล้ว
และช่วงนี้นับเป็นช่วงที่เริ่มต้นดีแล้ว ดอกเบี้ยเงินฝากอ่อนตัวลงจนต้องเริ่มมองหาการลงทุนแบบใหม่ๆ
ขึ้นมาแล้ว เพราะฉะนั้น ก็ไม่อยากจะฝากเพราะผลตอบแทนติดลบก็อาจจะถอนมาลงทุน
เช่น มาซื้ออสังหาริมทรัพย์ไว้แทนการฝากเงิน ถ้าดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ ผมถืออะไรที่ราคาต่ำๆ
เอาไว้ในทำเลที่พอใจ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียว"
สิ่งที่สิริวัฒน์กล่าวนี้ดูราวกับเป็นการชี้ช่องทางให้พวกมีเงินทอง มองการณ์ไกลเริ่มมองตลาดเก็งราคาอีกครั้งหนึ่ง
แต่ทางตลาดบ้านมือสองนั้น โกสินธ์ โกเมน กรรมการผู้จัดการบริษัทอี.อาร.์เอ.
ประเทศไทย ให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า "ตลาดการประมูลบ้านที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อตลาดบ้านมือสองอย่างหนัก
ลูกค้าที่ต้องการต่างรอดูราคาบ้านที่กำลังประมูล เพื่อมาเทียบกับบ้านมือง
สองที่กำลังจะซื้อ ในขณะเดียวกัน คนที่ต้องการซื้อบ้านมือสองที่ยังมีตลอดเวลานั้นก็ไม่มีบ้านให้ซื้อ
เพราะผู้ขายก็รอดูราคาของการประมูลเช่นกัน"
เมื่อธุรกิจบ้านมือสองถึงทางตัน โอกาสที่จะเปิดเป็นบริษัทการประมูลขึ้นก็มีความเป็นไปได้อย่างมาก
ในขณะเดียวกัน ถ้าภายในปีนี้สถาบันการเงินหลายๆ แห่งพร้อมใจกันเอาสินค้าที่เป็นเอ็นพีแอลออกมาเทขายพร้อมๆ
กัน จนตลาดการประมูลเพิ่มสูงขึ้นกว่า 30% ก็ได้วิเคราะห์กันว่ามันจะมีผลต่อราคาที่อยู่อาศัยโดยรวมทันทีเหมือนกัน
สิริวัฒน์เองก็ยอมรับถึงความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ และอธิบายให้เห็นถึงกลยุทธ์ทางหนีทีไล่ของ
ธอส.ว่า
"อย่างของธอส.จะไม่มาขายในช่วงเดียวกันแน่เพราะผมใช้วิธีหักกลบลบหนี้ไปแล้ว
ด้วยวิธีการโอนทรัพย์ ชำระหนี้และขอเช่าทรัพย์ มันไม่ใช่บัญชีลูกหนี้ แต่มันเป็นทรัพย์สินของแบงก์
เพราะงั้นมันไม่มีดอกเบี้ยวิ่งขึ้นอีกแล้วไม่มีเอ็นพีแอลอีกแล้ว มันเป็น
0 ทันที ถ้าผมทำอย่างนี้ 5% เอ็นพีแอล ก็จะหายไป 5% เหมือนกัน ผมก็จะไม่มีเอ็นพีแอลที่จะมาบังคับให้ผมต้องขายบ้านอีกแล้ว
ผมจึงไปรอว่าคนอื่นเขาขายกันหมดแล้วอีก 3 ปีผมจึงจะขาย เพราะผมมีออปชั่นถึง
3 ปี ที่ใช้ 3 ปี เพราะไม่คิดจะขายก่อน 3 ปีถ้าผมไม่ใช้วิธีให้เช่า ผมต้องเสียค่าดูแล
เดือนละประมาณ 1,500 บาทต่อหลัง"
หากผลของการตั้งราคาประเมิน ไม่ผิดพลาด และราคาปิดการประมูลของบริษัทเอกชนที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ได้ผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง
มันก็ถึงเวลาต้องยอมรับความจริงที่เจ็บปวดว่า ราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยที่นักลงทุน
สถาบันการเงิน และประชาชนทั่วไปเคยปักใจเชื่อกันมาตลอดว่า ไม่มีทางที่ราคาจะลดลงมีแต่จะเพิ่มขึ้นตลอดนั้น
วันนี้ปรากฏภาพชัดเจนแล้วว่า ไม่จริง เป็นเรื่องหลอกลวง ราคาอสังหาริมทรัพย์ลดลงได้
และลดลงมากด้วย แต่จะถึงระดับไหน ยังคงมืดมนไม่มีใครตอบได้