เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่แบรนด์สุขภัณฑ์ "COTTO" ได้ก่อกำเนิดมาจากการร่วมทุนระหว่างบริษัท
ปูนซิเมนต์ ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท โตโต จำกัด เจ้าของสุขภัณฑ์แบรนด์
"TOTO" ประเทศญี่ปุ่น จนกลายมาเป็นบริษัท สยามซานิทารีแวร์ อินดัสทรี
จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกสุขภัณฑ์ บริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทย
รูปแบบของสุขภัณฑ์ COTTO แทบจะทุกรุ่นเป็นการพัฒนาและออกแบบร่วมกันระหว่างคนไทยกับคนญี่ปุ่น
แต่สุขภัณฑ์ COTTO รุ่น GRAND ATLANTIS เป็นการออกแบบโดยคนไทยล้วนๆ ภายใต้การนำทีมของสรรพางค์เอี่ยม
เกรียงไกร หัวหน้าหน่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ของสยามซานิทารีแวร์ ที่เริ่มออกแบบมาตั้งแต่ปี
35 และเริ่มออกจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศในปี 38 และเป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมมากในต่างประเทศ
โดยเฉพาะประเทศจีน
สุขภัณฑ์รุ่นนี้เป็นรุ่นใหญ่ที่มีครบชุด ตั้งแต่ โถสุขภัณฑ์ชิ้นเดียว โถสุขภัณฑ์ชิ้นเดียวชนิดท่อออกผนัง
โถสุขภัณฑ์สองชิ้น โถชำระหญิง อ่างล้างหน้าพร้อมขาตั้ง อ่างล้างหน้าชนิดฝังบนเคาน์เตอร์
และอุปกรณ์ในห้องน้ำ ประกอบด้วย ที่วางสบู่ ที่ใส่กระดาษชำระ ราวแขวนผ้าและห่วงแขวนผ้า
สำหรับแรงบันดาลใจในการออกแบบสุขภัณฑ์ชุดนี้ สรรพางค์เอี่ยมเล่าว่า ได้มาจากเส้นโค้งเว้าที่สวยงามของ
สรีระมนุษย์ (ERGO DESIGN) ทำให้ ATLANTIS เป็นสุขภัณฑ์ที่มีผิวสัมผัสที่เรียวมนและอ่อนช้อยงดงาม
จากความสมบูรณ์ของสุขภัณฑ์ชุดนี้ ทำให้สยามซานิทารีแวร์ฯ ตัดสินใจส่งให้คณะกรรมการพิจารณารางวัล
PM AWARD พิจารณา ซึ่งทีมงานทั้งหมดของบริษัทก็ไม่ผิดหวัง เนื่องจาก บริษัท
สยามซานิทารีแวร์ ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้รับรางวัล PM AWARD ประเภทผู้ส่งออกดีเด่นที่มีการออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นของตนเอง
ประจำปี 41 นี้ และการได้รับรางวัลนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ของบริษัทแล้ว เนื่องจากเมื่อปี
40 ที่ผ่านมา ทางบริษัทก็ได้รับรางวัลนี้ในประเภทผู้ส่งออกดีเด่นที่มีแบรนด์เป็นของตนเอง
"พอเราทราบว่าเราได้รับรางวัลนี้ เราก็คุยให้ลูกค้าฟังได้ และสุขภัณฑ์รุ่นที่ได้รับรางวัลก็เป็นรุ่นที่เราขายดีมาก
เคยมีออร์เดอร์สูงถึง 1,000-1,200 ชิ้นต่อเดือน เรียกได้ว่าเป็นดีไซน์ที่ยอมรับกันในตลาดโลก
ทำให้เราสามารถแข่งขันได้"
ปัจจุบัน บริษัทฯ มีสัดส่วนการส่งออกและการจำหน่ายในประเทศประมาณ 50:50
ในแง่ของมูลค่า โดย ปี 40 มียอดขายรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,400 ล้านบาท และในปีนี้จะยังคงรักษาตัวเลขนี้ไว้อยู่
"ยอดขายรวมของเราในปีนี้น่าจะอยู่ในระดับเดียว กับปีที่แล้ว แม้ว่ายอดขายในประเทศจะลดลงถึง
30% แต่เนื่องจากมีรายได้จากการส่งออกเข้ามาช่วย ทำให้เราสามารถรักษาไว้ได้"
ภัสสร สวัสดิ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ชี้แจง
อย่างไรก็ดี แม้ว่ายอดขายภายในประเทศจะลดลงอย่างต่อเนื่อง และจำเป็นต้องขึ้นราคาอีกประมาณ
10% เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ทางบริษัทก็พยายามงัดกลยุทธ์ต่างๆ มาใช้ในการจำหน่ายให้ได้มากที่สุด
อาทิ อาศัยชื่อว่าเป็นสินค้าในเครือปูนซิเมนต์ไทย โฆษณา ประชาสัมพันธ์ และจำหน่ายร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่นของปูนฯ
รวมทั้งให้ตัวแทนจำหน่ายต่างๆ จัดแคมเปญเพื่อดึงดูดลูกค้า
"ปีนี้ ตลาดในประเทศสู้กันดุเดือด แต่ยังดีที่อุตสาหกรรมนี้ยังไม่ถึงกับฟาดฟันราคากันมาก
ส่วนใหญ่จะสู้กันด้วยรูปแบบ ดีไซน์ และโปรโมชั่น โดยส่วนใหญ่จะใช้กลยุทธ์
"จับเซท" คือ แทนที่จะขายเพียงชิ้นเดียวก็จัดเป็นแพ็กเกจ 1 ห้องน้ำเลย
เรามีความได้เปรียบที่มีความหลากหลายในตัวสินค้า ตั้งแต่กระเบื้องปูพื้น
ปูผนัง จนถึงสุขภัณฑ์ครบชุด" ภัสสรกล่าวถึงแผนการตลาดที่นำมาใช้
ในขณะที่ผู้จัดการฝ่ายส่งออกเผยถึงแผนในการบุกตลาดต่างประเทศว่า "ในตลาดต่างประเทศจะไม่มีคำว่า
ปูนซิเมนต์ไทย มีแต่สิ่งที่ลูกค้าเห็นคือ คุณภาพและดีไซด์เท่านั้น ซึ่งผมต้องย้ำกับตัวแทนของเราทุกรายในเรื่องนี้
เพราะในตลาดต่างประเทศเราต้องแข่งขันกันที่คุณภาพและรูปแบบของสินค้าเท่านั้น
จากนั้นค่อยพูดกันถึงเรื่องแบรนด์เป็นลำดับต่อมา"
ยิ่งไปกว่านั้น มาตรฐานคุณภาพ และรูปแบบดีไซน์ของในแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างหลากหลาย
ดังนั้น หน่วยงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ จึงเป็นหน่วยงานที่สำคัญมากในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก
ให้ตรงตามความต้องการของตลาดในประเทศนั้นๆ ทางบริษัท จึงได้ให้ความสำคัญกับหน่วยงานนี้เป็นพิเศษ
ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานนี้กำลังพัฒนาสินค้าใหม่อยู่ประมาณ 50 โมเดล ซึ่งแต่ละโมเดลต้องใช้เวลานานเป็นปีกว่าจะสำเร็จ
แม้ว่าสุขภัณฑ์คอตโต้จะเริ่มดำเนินการมาเกือบ 15 ปีแล้ว และเป็นบริษัทส่งออกมาตั้งแต่ต้น
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ผลิตตามออร์เดอร์ของบริษัท โตโต ส่งไปขายที่ญี่ปุ่นและยุโรปในส่วนของตลาด
OEM ซึ่งทางบริษัทไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำการตลาดและเวลาในการพัฒนาสินค้าเลย
เพราะเป็นการผลิตตามโมเดลที่ลูกค้าสั่งมา และยอดขายจากส่วนนี้เองที่ช่วยพยุงฐานะของบริษัทไม่ให้ตกลงจากปีที่แล้ว
แต่จากนี้ไป บริษัทจะหวังพึ่งพาแต่รายได้จากตลาดนี้อย่างเดียวไม่ได้แล้ว
ต้องพยายามมองหาช่องทางในการเข้าไปจำหน่ายเองให้มากขึ้นด้วย ซึ่งบริษัทฯ
ได้เริ่มส่งออกสุขภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของตัวเองคือ คอตโต้มาได้ประมาณ 7 ปีแล้ว
แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างเต็มที่ จนกระทั่งหลังเกิดวิกฤตการณ์ค่าเงินบาทครั้งนี้
ทางบริษัทฯ จึงเริ่มหันมาใส่ใจอย่างจริงจัง โดยดึงตัวไผท ปรปักษ์ขาม ผู้ชำนาญการส่งออกที่เคยดูแลผลิตภัณฑ์เซรามิก
ซึ่งเป็นบริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทยเช่นเดียวกัน เข้ามารับผิดชอบด้านการส่งออก-นำเข้า
และด้านต่างประเทศของบริษัทสยามซานิทารีแวร์ อย่างเต็มตัว
"เราพยายามใช้พาร์ตเนอร์ญี่ปุ่นของเราให้เป็นประโยชน์ในการส่งออก
เพราะเขามีช่องทางที่แข็งแกร่ง รวมทั้งพยายามจะเปิดตลาดใหม่เองด้วย แต่ต้องยอมรับว่าคู่แข่งรายอื่นเขาเก่งกว่าเรา
และทำมานานกว่าเรา แต่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรียนกันทันได้ ตอนนี้เราเริ่มดูตลาดสิงคโปร์
ฮ่องกง ออสเตรเลีย และอเมริกา ซึ่งยังไม่เคยขายมาก่อน เนื่องจากมีมาตรฐานที่ต่างกัน
ส่วนตลาดในจีน เวียดนาม และตะวันออกกลาง กำลังไปได้ดี คอตโต้กำลังเป็นที่นิยมของกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงระดับบน
เพราะเป็นสินค้าค่อนข้างแพง" ไผทเผย
"คอตโต้" จะเป็นความภูมิใจในการสร้างรายได้ให้ แก่ปูนซิเมนต์ไทยได้มากน้อยแค่ไหน
ขึ้นอยู่กับฝีมือของ ทีมงานทั้งหมดของบริษัท สยามซานิทารีแวร์ฯ เท่านั้น