ชิต พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ อาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท ประกันชีวิตศรีอยุธยา
ซีเอ็มจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแนวทางการทำการตลาดประกันชีวิตในปัจจุบันว่า
"ทางบริษัทจำเป็นต้องสร้างผลิตภัณฑ์ ใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
และพยายามเข้าไปจับกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่มีใครจับมาก่อน"
ทีมงานของประกันชีวิตศรีอยุธยา ซีเอ็มจี จึงได้เริ่มทำการสำรวจตลาด และพบว่า
อัตราการเจริญเติบโตของกลุ่มผู้สูงวัยที่มีอายุระหว่าง 55-74 ปี มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า
อัตราการเจริญเติบโตของจำนวนประชากรทั้งหมดอย่างต่อเนื่องจนถึงปี ค.ศ. 2005
(พ.ศ.2548) โดยอยู่ในอัตราประมาณ 10-12% ของจำนวนประชากรทั้งหมดที่คาดว่าจะอยู่ระหว่าง
61-65 ล้านคน หรือประมาณ 1.5 ล้านคนที่จะกลายมาเป็นลูกค้าเป้าหมายของอยุธยา
ซีเอ็มจี
และผลการสำรวจวิจัยครั้งนี้พบว่า มีประชากรที่มีอายุมากกว่า 55 ปีเพียง
14% เท่านั้นที่มีการทำประกันชีวิตไว้ และส่วนใหญ่เป็นคนที่มีรายได้จากเงินบำนาญเฉลี่ยเดือนละประมาณ
10,000 บาท ซึ่งถือเป็นเม็ดเงินที่น้อยมากหากเทียบกับรายได้อื่น แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะไม่มีปัญหาในเรื่องรายได้ที่จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
แต่ค่าใช้จ่ายสุดท้ายในการจากไปของชีวิตย่อมมีผลกระทบต่อการเงินอย่างแน่นอน
หากไม่มีการออมไว้สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้
"ค่าใช้จ่ายในการจัดพิธีศพโดยเฉลี่ยทั่วไปจะประมาณ 30,000 บาท แต่ถ้าหากต้องการงานพิธีที่ดูดีสำหรับคนระดับกลางและระดับสูงจะอยู่ที่ระดับแสนบาทขึ้นไป
ซึ่งการเก็บเงินสะสมสำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะต้องใช้เวลานานหลายปี และเงินก้อนนี้จะยังไม่เป็นที่ต้องการจนกว่าวันนั้นจะมาถึง
และนี่คือสาเหตุที่ตอบว่า ทำไมผู้สูงวัยจำเป็นต้องมีการประกันชีวิตที่เหมาะสมกับความต้องการนั้นๆ"
วิชิตชี้แจง
"ผู้สูงอายุ" จึงเป็นเป้าหมายที่ทางประกันชีวิตศรีอยุธยา ซีเอ็มจี
ให้ความสำคัญด้วยการออกแผนประกันใหม่ชื่อ "โครงการอยุธยาผู้สูงวัย"
ขึ้นในปลายเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งแผนประกันใหม่จะให้ความคุ้มครองผู้สูงวัยยาวนานถึงอายุ
90 ปี ด้วยอัตราเบี้ยประกันในวงเงินที่ลูกค้าสามารถจะรับได้ตามระดับของความคุ้มครอง
ที่มีระยะการจ่ายเบี้ยเพียง 10 ปีเท่านั้น
หากยังไม่มีทางออกในการออม กรมธรรม์ "โครงการอยุธยาผู้สูงอายุ"
เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการออมที่จะสร้างหลักประกันในวาระสุดท้ายของชีวิต
ว่าจะไม่ถูกทอดทิ้งจากบุตรหลาน รวมทั้งไม่เป็นการสร้างภาระให้แก่พวกเขาในอนาคต
ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นโอกาสที่ลูกหลานจะแสดงความกตัญญู ด้วยการซื้อกรมธรรม์นี้สำหรับญาติผู้ใหญ่อันเป็นที่รักของเขาอีกด้วย
โครงการใหม่ของอยุธยา ซีเอ็มจีนี้จึงเป็นการยิงนัดเดียวได้นก 2 ตัว เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของกรมธรรม์
ใหม่นี้ไม่ได้มีเพียงแต่กลุ่มผู้สูงวัย (อายุ 55-70 ปี) เท่านั้น ที่ตระหนักดีว่า
ค่าใช้จ่ายในการจัดพิธีการต่างๆ นับวันจะมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นมาก จึงมีความต้องการซื้อแผนการประกันนี้เพื่อเตรียมพร้อมให้กับตัวเอง
เนื่องจากไม่ต้องการให้ภาระต่างๆ ตกอยู่กับบุตรหลานมากเกินไป แต่บริษัทยังมุ่งเป้าไปที่กลุ่มของบุตรหลาน
(อายุ 25-40 ปี) ที่ต้องการซื้อแผนการประกันนี้ เพื่อเป็นการตอบแทนพระคุณของญาติผู้ใหญ่ของเขา
"แผนนี้เป็นแผนที่เราออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มพิเศษคือ
กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งสอดคล้อง กับการที่ในปี 2542 เป็นปีผู้สูงอายุสากล และบริษัทเราได้มีการจัดโครงการ
"รักในหลวง ห่วงผู้สูงวัย" ร่วมกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
กระทรวงสาธารณสุข เพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้สูงวัยถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเจริญพระชมพรรษาครบ
6 รอบในปี'42 พอดี ด้วยการบริจาคเงิน 72 บาทจากทุกกรมธรรม์ที่อนุมัติตั้งแต่
วันที่ 1 พ.ค. 41-13 เม.ย. 42 เข้าสมทบโครงการนี้ โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ
จากผู้ถือกรมธรรม์ 24 บาท จากตัวแทน 24 บาท และบริษัทสมทบให้อีก 24 บาท"
วิชิตอธิบาย โดยโครงการ "รักในหลวง ห่วงผู้สูงวัย" นี้ตั้งเป้าไว้ที่ 4 ล้านบาท
จากยอดขายกรมธรรม์ใหม่ประมาณ 60,000 กรมธรรม์ ซึ่งรวมถึงกรมธรรม์ "อยุธยาผู้สูงวัย"
ด้วย โดยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-30 ก.ย.ที่ผ่านมา บริษัทมียอดกรมธรรม์ใหม่ทั้งสิ้น
15,845 กรมธรรม์ รวมเป็นเงินที่บริจาคแล้วประมาณ 1,100,000 บาท ส่วนเบี้ยประกันภัยรวมตั้งแต่ต้นปี'41
ถึง 31 ส.ค. มีกว่า 1,800 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้ทำให้บริษัทยังคงส่วนแบ่งการตลาดไว้ที่ประมาณ
5% และยังคงเป็น 1 ใน 5 ของบริษัทประกันชีวิตชั้นนำของไทยอยู่
"เราหวังว่า การเติบโตจะอยู่ในระดับเดียวกับปีที่แล้ว ไม่เพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ลดลง
และในช่วงนี้เป็นโอกาสที่เราดูแลลูกค้าเก่ามากขึ้น รวม ทั้งพัฒนาระบบต่างๆ
มากยิ่งขึ้น ล่าสุดเราเพิ่ง เซ็นสัญญาซื้อระบบ GRACE SY-STEM ซึ่งเป็นระบบแรกในเมืองไทยที่ให้ความคล่องตัวในการที่จะชดเชยสินไหมให้เร็วยิ่งขึ้น"
วิชิตกล่าว นอกจากนั้นเขายังแสดงความเห็นต่อแนวทางการทำการตลาดในภาวะปัจจุบันด้วยว่า
"ยิ่งภาวะเศรษฐกิจลำบากมากเท่าไร หรือการแข่งขันยิ่งมากเท่าไร ยิ่งเป็นโอกาสในการทำงานของเรา
ในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ต้องมีการคิดสร้างสรรค์ให้มากกว่าปกติ รวมทั้งต้องพยายามทำในสิ่งใหม่ๆ
ผมและทีมงานจึงสนุกกับงานมากขึ้น และท้ายสุด ลูกค้าจะได้รับสิ่งที่ดีมากที่สุด
คือได้รับการดูแล ใส่ใจมากที่สุด เพราะในภาวะเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูลูกค้าอาจจะไม่ได้รับการเอาใจใส่เท่าที่ควร
เพราะยังไงก็ขายได้ไม่ต้องง้อ แต่ในภาวะเช่นนี้ การทำอะไรก็ตามต้องเน้นไปที่ลูกค้าเป็นสำคัญ
ฉะนั้นลูกค้าจะได้รับแต่การบริการที่ดี"