ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะรุ่งเรืองหรือถดถอย ผู้คนก็ยังต้องใส่ใจเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพ
คนที่ทำงานหนักมากๆ ไม่ว่าจะใช้พลังแรงงานหรือแรงสมอง หากได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอหรือไม่ครบถ้วน
เรี่ยวแรงพลังงานก็ย่อมจะลดทอนลงได้เหมือนๆ กัน
คนส่วนมากมักจะได้รับสารอาหาร ไม่ถูกต้องครบถ้วน โดยเฉพาะวิตามิน ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย
แต่มีความจำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย อาการเจ็บไข้ได้ป่วยที่เกิดจากการขาดวิตามิน
หรือภาวะพร่องวิตามินนั้นไม่ใช่โรคร้ายที่เห็นชัดเจน แต่มันมีผลบั่นทอนสุขภาพร่างกายในระยะยาว
มีการค้นคว้าวิจัยจำนวนมากที่จะนำเอาวิตามินและสารสำคัญตัวอื่นๆ ที่มีผลออกฤทธิ์เพื่อบำรุงร่างกายและจิตใจ
สกัดออกมาเป็นแคปซูลเม็ดผลิตจำหน่าย ซึ่งหนึ่งในผลิตภัณฑ์ในตลาด multi vitamin
ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดตัวหนึ่งคือ ฟาร์มาตอน แคปซูล ซึ่งเป็นเวชภัณฑ์
ที่ใช้บำรุงร่างกายสำหรับคนที่ทำงานหนักโดยเฉพาะ
ฟาร์มาตอน แคปซูล มีสารสำคัญ 4 กลุ่ม 23 ชนิด คือ วิตามินและเกลือแร่ 20
ชนิด ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ช่วยในขบวนการเปลี่ยนสารอาหารเป็นพลังงาน
วิตามิน เอ, ซี, อี ช่วยชะลอ ความเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย นอกจากนี้ก็มี
โสมสกัด จี 115 ซึ่งเป็นโสมสกัดสูตรมาตรฐานที่ใช้ในห้องแล็บ มีคุณสมบัติช่วยเพิ่มการดูดซึมออกซิเจนเข้าสู่เซลล์
21% เพิ่ม ความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า เพิ่มพลังงาน ช่วยให้การทำงานของสมองดีขึ้น
เพิ่มสมาธิ ความจำ ช่วยต่อต้านความเครียด และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความแก่
ตัวถัดมาคือเลซิติน ซึ่งเป็นแหล่งของ "โคลีน" ที่นำไปสร้างสื่อประสาท
(โคลีนเป็นสารที่สร้างสื่อนำประสาท ทำให้ประสาทมีความว่องไว ไม่หลงลืม) ช่วยให้ความจำ
สมองดี ช่วยให้ร่างกายเผาผลาญไขมันดีขึ้น และช่วยลดการเกาะตัวของไขมันกับผนังเลือด
และตัวสุดท้ายคือดีนอล ที่ช่วยเพิ่มระดับ "โคลีน" ในสมอง ช่วยให้ความจำสมองดีขึ้น
และช่วยให้การทำงานของระบบประสาทดีขึ้น
ในตลาด multi vitamin ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวม 400-500 ล้านบาทนั้น ธีระ โตวิถีเลิศกุล
ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทเบอริงเกอร์ อินเกลไฮม์ (ไทย) จำกัด ให้คำยืนยันว่า
ผลิตภัณฑ์ฟาร์มาตอนของเบอริงเกอร์ฯ เป็นเวชภัณฑ์ตัวเดียวที่มีเอกสารทางการแพทย์รับรองประสิทธิภาพมากกว่า
30 รายงาน
ธีระกล่าวว่า "เบอริงเกอร์แนะนำฟาร์มาตอนเข้าสู่ตลาด ตั้งแต่เมื่อปี
1993 และเพียง 2 ปีให้หลังเท่านั้น ฟาร์มาตอน ก็สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดมัลติ-ไวตามิน
ได้ด้วยสัดส่วน 12% ซึ่งถือว่าสูงสุดในตลาดนี้" ทั้งนี้ตลาดมัลติ-ไวตามินนั้นมีผลิตภัณฑ์ยาจำหน่ายอยู่ประมาณ
200 กว่าตัว จึงไม่มีผลิตภัณฑ์ตัวใดที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 10% ยกเว้นฟาร์มาตอน
ตลาดยาโดยรวมมีมูลค่าลดลงมากกว่า 20% ในช่วงปีที่แล้วอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจ
ซึ่งเป็นเหตุให้บริษัทยาทั้งหลาย ต่างต้องลดงบประมาณการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการขายและให้ความรู้ต่อสาธารณะ
ครั้นมาในกลางปีนี้ บริษัทยาเริ่มมองว่าแนวโน้ม ตลาดจะฟื้นตัวกลับมาดีขึ้นในปีหน้า
โดยเฉพาะในช่องทางการจำหน่ายผ่านร้านขายยา และบริษัทยาเหล่านี้ก็ได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนนานาประการ
จากบริษัทแม่ในสหรัฐและยุโรป จึงเริ่มกลับมารณรงค์ทำการส่งเสริมการขายกันอีกครั้ง
ธีระกล่าวว่าในช่องทางร้านขายยานั้น "ผมเชื่อว่าเป็นการหดตัวระยะสั้น
เพราะเราสังเกตเห็นการเคลื่อนไหวในสินค้ายาของเราบางตัวเริ่มดีขึ้น เช่น
ยาในกลุ่มรักษาอาการไอ เช่น ไบโซลวอน ที่เรามีโฆษณาทางทีวี เริ่มมีการเคลื่อนไหวที่ดี
เราจึงเชื่อมั่นว่าการหดตัวในภาคร้านขายยาที่คนไข้เป็นคนจ่ายเงินเองนั้น
เป็นการหดตัวระยะสั้น ต่างจากการหดตัวของภาครัฐบาล ที่งบประมาณในปีหน้าแทบไม่มีอัตราการเพิ่มขึ้นเลย"
เบอริงเกอร์ฯ เริ่มเพิ่มงบประมาณสำหรับการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์มากกว่า
10 ล้านบาทในปีนี้ หลังจากที่เมื่อปีที่แล้วลดลงเหลือ 5-6 ล้านบาท ธีระกล่าวว่า
"ที่ปีนี้เราเพิ่งมาทำแคมเปญฟาร์มาตอนเพราะเพิ่งได้รับการอนุมัติจาก
อ.ย. ราคาขายตอนนี้เม็ดละประมาณ 9 บาท ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทแม่ก็ต้องการให้เราขึ้นราคา
จึงมีการเจรจากันและเราขึ้นเพียง 1%-2% เท่านั้น หรือแค่ 5-10 บาทต่อขวด"
ราคาฟาร์มาตอนเดิมขายขวดละ 355 บาท ตอนนี้ปรับเป็น 380 บาท
สาเหตุที่ต้องขึ้นราคาเพราะค่าเงินบาทอ่อนตัวลง จึงต้องมีการขึ้นราคาเพื่อชดเชยอัตราแลกเปลี่ยน
ซึ่งจริงๆ แล้วต้องขึ้นอย่างน้อย 20% จึงจะชดเชยได้ แต่บริษัทอั้นไว้ ขอปรับราคาเพิ่มเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
และนโยบายนี้ก็ใช้กับสินค้าตัวอื่นๆ ด้วย คือปรับราคาเพิ่มเพียงเล็กน้อย
นอกจากจะปรับราคาขึ้นได้ไม่มากนัก บริษัทยังต้องเผชิญภาวะที่ยอดขายลดลง
ซึ่งเมื่อปีที่แล้วลดลงถึง 20% ขณะที่สภาพตลาดเวชภัณฑ์ก็ลดลง 20%-30% ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นกับบริษัทในครั้งนี้
บริษัทแม่ต้องยอมรับไปโดยปริยาย
ธีระกล่าวว่า "บริษัทขาดทุนเนื่องมาจากสาเหตุเรื่องต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้นประมาณ
20% ซึ่งในส่วนนี้บริษัทแม่จะรับภาระไป"
เบอริงเกอร์ อินเกลไฮม์ (ไทย) เป็นสาขาของบริษัทแม่ที่เยอรมนี ก่อตั้งขึ้นในไทยเมื่อปี
ค.ศ. 1971 เริ่มจำหน่าย เวชภัณฑ์ให้โรงพยาบาลและร้านขายยา โดยขายผ่านโรงพยาบาล
60% ที่เหลือผ่านช่องทางร้านขายยา บริษัทมียอดขายเป็นอันดับ 5 ในช่องทางร้านขายยา
และเป็นอันดับ 15 ของช่องทางโรงพยาบาลและร้านขายยารวมกัน บริษัทมียอดขาย
461 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว และปีนี้คาดว่ายอดขายจะลดลง 20%
เวชภัณฑ์ที่ทำชื่อเสียงให้บริษัทและเป็นที่แพร่หลายในประเทศมี 3 กลุ่มได้แก่
สินค้าในกลุ่มยารักษาโรคทางเดินหายใจ ซึ่งมียอดขายประมาณ 40% ของยอดขายรวมของบริษัท
ยารักษาเกี่ยวกับระบบเลือดและความดัน และยาในกลุ่มวิตามินและโสม
เบอริงเกอร์มีสินค้าด้านสารเคมีด้วย แต่เวชภัณฑ์เป็น ตัวที่ทำรายได้หลักให้
84% ของยอดขายรวม ตัวฟาร์มาตอน นั้นทำรายได้ให้ 15% ของยอดขายรวม
ฟาร์มาตอนเป็นสินค้านำเข้า ซึ่งบริษัทก็มีแผนที่จะนำมาผลิตในประเทศในอีก
2 ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนลงได้ 10%-20% ส่วนเวชภัณฑ์ตัวอื่นๆ นั้นบริษัทผลิตในประเทศหลายตัว
คิดเป็น 60%-70% ได้ โดยมอบหมายให้บริษัท Olic เป็นผู้ผลิต
บริษัทมีแผนที่จะนำเวชภัณฑ์ในกลุ่มอาหารเสริมเข้ามาจำหน่ายเพิ่มอีกในปีหน้า
เช่น ผลิตภัณฑ์จากต้นแปะก๊วย สมุนไพรจากสารสกัดจากองุ่น เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าบำรุงสุขภาพที่สกัดจากธรรมชาติ
ธีระคาดหมายว่าภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยลงนั้น ช่องทางการจำหน่ายผ่านโรงพยาบาลคงจะยังไม่ฟื้นตัวโดยง่าย
"คาดว่าจะใช้เวลานาน 3-5 ปี ส่วนช่องทางร้านขายยานั้นจะฟื้นตัวได้เร็ว
อย่างน้อยปีหน้าก็คาดว่าจะดีแล้ว"