Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2541
ไวอากร้ามาแล้ว อ.ย.อนุมัติแพทย์ 4 สาขาเป็นผู้สั่ง             
 





อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศหรือที่ใช้ ศัพท์อย่างเป็นทางการคือ Erectile Dysfunction (ED) หรือเรียกง่ายๆ อีกคำว่า Impotent นั้น เป็นอาการป่วยที่ไม่ค่อยมีการเก็บสถิติผู้ป่วยสักเท่าใด เหตุเพราะผู้ป่วยที่มาปรึกษาแพทย์ด้วยอาการนี้โดยตรงนั้นมีไม่มาก ผู้ป่วยไม่ได้คิดว่านี่เป็นอาการป่วย (โดยข้อเท็จจริง อาการนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ) และมักไม่ใคร่มาพบแพทย์ในโรงพยาบาล แต่จะไปปรึกษาแพทย์ตามคลินิกที่รักษาโรคนี้โดยเฉพาะ

การรักษาโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศนั้นมีวิธีรักษาหลายรูปแบบ แต่ที่ฮือฮามากในเวลานี้คือ การทานยาเม็ดไวอากร้า ซึ่งเป็นเวชภัณฑ์ล่าสุดของบริษัท ไฟเซอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และเพิ่งได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อ.ย.ให้ขายได้แล้วเมื่อ 18 ส.ค. โดยให้แพทย์ 4 สาขาเป็นผู้สั่งผ่านช่องทางขายโรงพยาบาลเท่านั้น

แพทย์ 4 สาขาที่ว่านี้ได้แก่ แพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ แพทย์ระบบต่อมไร้ท่อ แพทย์โรคหัวใจ และจิตแพทย์ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 700 คนจากจำนวนแพทย์ทั่วประเทศ 20,000 กว่าคน คาดว่าในอนาคตน่าจะมีแพทย์สาขาอื่นๆ สามารถสั่งยาไวอากร้าได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอายุรแพทย์ ทั้งนี้ในสหรัฐนั้นแพทย์ทุกสาขาสามารถสั่งยานี้แก่คนไข้ได้ ไม่มีข้อจำกัด

เหตุที่มีข้อจำกัดอย่างมากในการขายและการสั่งยา ก็เนื่องจากมีข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิต และข่าวเรื่องผลข้างเคียงที่ไม่พึงปรารถนาเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ อันเนื่องมาจากการใช้ยานี้ จึงทำให้ อ.ย.ระมัดระวังในการอนุมัติการขายยาไวอากร้าในประเทศอย่างมาก และการอนุมัติให้แพทย์ 4 สาขาข้างต้นเป็นผู้สั่งได้เท่านั้น เพราะโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคเครียดและโรคซึมเศร้า ซึ่งโรคเหล่านี้อยู่ในความดูแลของแพทย์ 4 สาขาดังกล่าว

ด้านสรรพคุณของยาและการศึกษาวิจัยทางคลินิก (clinical trial) ทั้งในและนอกประเทศนั้นก็สามารถรับรองประสิทธิผลของการใช้ยานี้ว่าได้ผลสูงมาก ในสหรัฐนั้นผลการทดลองทางคลินิก 21 โครงการ มีผู้ชายที่ป่วยเป็นโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศเข้าร่วมจำนวนกว่า 4,500 คน ปรากฏว่า ยาไวอากร้าใช้ได้ผลกับผู้ป่วย 7 คนจากจำนวน 10 คน

ด้านการศึกษาวิจัยทางคลินิกในภูมิภาคเอเชียนั้น ได้จัดทำขึ้นในประเทศไทย ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการ 690 คน จากศูนย์รักษาโรค 23 แห่ง ผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการเป็นชาย อายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งมีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศมาเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และยังคงมีความสัมพันธ์กับคู่ครองที่เป็นเพศหญิงอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับในประเทศไทยนั้นมีผู้ป่วยที่เข้าโครงการรวม 125 คน ผลการวิจัยทางคลินิกในเอเชียพบว่า ยาไวอากร้ามีประสิทธิภาพในการรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ผลดี และชายชาวเอเชียทนต่อการใช้ยาได้ดี

ยาไวอากร้าเป็นเวชภัณฑ์ของบริษัท ไฟเซอร์ อินเตอร์ เนชั่นแนล ซึ่งเป็นสาขาของบริษัทไฟเซอร์แห่งสหรัฐ ดำเนิน ธุรกิจดูแลสุขภาพสำหรับคนและสัตว์ เวชภัณฑ์ยาสำหรับคนที่นำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมี 8 กลุ่ม มียาหลักๆ เช่น เฟลดีน(ยาโรคข้อ), ไดฟลูแคน (ยาฆ่าเชื้อราในคนไข้เอดส์), นอร์วาส (ยาลดความดันโลหิตสูง), โซลอฟ (ยาลดอาการซึมเศร้า) และไวอากร้า (ยารักษาโรค ED) เป็นต้น

ทั้งนี้ ยาที่ขายดีมากที่สุดในไทยคือ นอร์วาส รองลงมาเป็นไดฟลูแคน ไฟเซอร์มียอดขายรวมทุกผลิตภัณฑ์ในปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับ 500 ล้านบาท ส่วนการคาดหมายยอดขายไวอากร้านั้น ยังทำไม่ได้ ขึ้นอยู่กับคนไข้ว่าจะออกมาพบแพทย์มากน้อยแค่ไหน

บริษัทไฟเซอร์มียอดขายในทั่วโลกเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 1997 ยอดขายพุ่งสูงถึงระดับ 12.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดย 6.8 พันล้านมาจากตลาดสหรัฐ 2.8 พันล้าน มาจากตลาดในยุโรปและ 1.67 พันล้านมาจากตลาดเอเชีย บริษัทฯมีการลงทุนด้าน R&D มากปัจจุบันมีงานวิจัยและพัฒนาที่ดำเนินการ อยู่กว่า 170 โครงการ ค่าใช้จ่ายด้าน R&D เพิ่มสูงทุกปี ในปีนี้ค่าใช้จ่ายอยู่ในระดับ 2 พันล้านเหรียญแล้ว

เนื่องจากมีข่าวในทางลบเกี่ยวกับยาไวอากร้าออกมาอยู่เนืองๆ ทำให้การขายยาตัว นี้ถูกจำกัดให้ขายผ่านทางโรงพยาบาลเท่านั้น ไม่มีจำหน่ายตามคลินิก ทั้งนี้บริษัทไฟเซอร์จะขายไวอากร้าให้กับองค์การเภสัชกรรม และองค์การฯ จะส่งต่อให้กับโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 4 สาขาข้างต้นเป็นผู้สั่งยา องค์การเภสัชกรรมจะเป็นผู้รับผิดชอบในการบันทึกข้อมูลการจำหน่าย และส่งรายงานนี้ให้ อ.ย.หรือกระทรวงสาธารณสุข

ร.ศ. น.พ.อภิชาติ กงกะนันท์ ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงข้อจำกัดเรื่องการสั่งและใช้ยาว่า "ตอนนี้ทุกคนระมัดระวังเรื่องการมีอันตราย ดังนั้นก็ต้องมีการควบคุมกัน แต่ก็มีการให้ความรู้ข้อมูลกัน เพื่อให้คนมีความเข้าใจมากขึ้น ซึ่งในอนาคตเมื่อคนมีความเข้าใจแล้ว ยานี้ก็อาจจะออกมาจำหน่ายผ่านร้านขายยา และให้แพทย์สาขาอื่นสั่งได้มากขึ้นด้วย"

วิธีการจำหน่ายยาที่รัดกุมเช่นนี้ถูกกำหนดขึ้น เพื่อป้องกันการใช้ยาในทางที่ผิดหรือด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะยานี้มีข้อห้ามในการนำไปใช้กับผู้ป่วยที่รับประทานยาประเภทไนเตรตทุกรูปแบบ ซึ่งรวมถึงยาที่ใช้รักษาโรคหัวใจที่มีไนโตรกลีเวอรีน และยาที่มีสารไนเตรต ซึ่งมักใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอก

ยาไวอากร้ามี 3 ขนาดคือ 25, 50 และ 100 มิลลิกรัม แต่ในไทยนั้นมีการนำเข้ามาใน 2 ขนาดคือ 25 และ 50 มิลลิกรัม สนนราคาเม็ดละ 400 บาทสำหรับขนาด 50 มิลลิกรัม

นอกจากมีข้อกำหนดเรื่องการจำหน่ายและการสั่งยาแล้ว ไฟเซอร์ยังต้องทำการรณรงค์เผยแพร่ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการใช้ยาไวอากร้าตามนโยบายของ อ.ย. ซึ่งเรียกว่า educational programme โดยผ่าน 2 ช่องทางคือ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญโรค ED ที่ให้คำแนะนำและฝึกอบรม EDACTT และศูนย์ข้อมูลสุขภาพเพศชาย

EDACTT ย่อมาจาก Educational Dysfunction Advisory Council and Training (Thailand) เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้น เพื่อช่วยสร้างความรับรู้ความเข้าใจและการรักษาที่ถูกต้อง เกี่ยวกับโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและคู่ครองของพวกเขา EDACTT จะเผยแพร่ข้อมูลให้แก่ทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและประชาชนทั่วไป

ด้านศูนย์ข้อมูลสุขภาพเพศชายนั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและบริษัทไฟเซอร์ได้ร่วมมือกันจัดตั้งขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งเป็นกรรมการของ EDACTT และรับหน้าที่เป็นคณะที่ปรึกษาของศูนย์ข้อมูลฯ ร่วมกับแพทย์สาขาอื่นๆ ในจำนวน 4 สาขากิจกรรม หลักของศูนย์ฯ คือการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ในเรื่องสุขภาพของเพศชาย ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคเพศชายและโรคอื่นๆ ที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของเพศชาย

ในเบื้องต้น ศูนย์ฯ จะให้คำปรึกษาผ่านทางจดหมาย โดยผู้ป่วยสามารถเขียนมาสอบถามปรึกษาได้ที่ ตู้ ป.ณ. 2513 กรุงเทพฯ 10501 ในอนาคตจะเพิ่มให้คำแนะนำทางโทรศัพท์ และจะเริ่มเพิ่มงบประมาณเพื่อการจัด public seminar และกิจกรรมอื่นๆ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us