Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2541
กระจกไทยดิ้นเพื่อความอยู่รอด             
 





ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ในยุคฟองสบู่แตก ที่ทุกวงการธุรกิจต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ด้วยการนำยุทธวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลดเงินเดือน ลดพนักงาน ลดกำลังการผลิต และถ้าไม่ไหวจริงๆ ต้องงัดไม้เด็ดมาใช้ คือปิดกิจการ

อุตสาหกรรมกระจกก็ไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับความบอบช้ำจากวงจรอุบาทว์ ทั้งๆ ที่อุตสาหกรรมกระจกในอดีต คือ ธุรกิจที่สร้างความร่ำรวยให้กับผู้ประกอบการเป็นกอบเป็นกำ เพราะมีผู้ประกอบการไม่มากและนโยบายรัฐบาลเอื้ออำนวย ในการทำธุรกิจ ก่อนปี 2506 ไทยต้องนำกระจกเข้าจากยุโรป โดยเฉพาะกระจกฝรั่งเศส หลังจากนั้นปริมาณการนำเข้าจึงได้ลดลง เมื่อบริษัท กระจกไทย จำกัด เป็นบริษัทแรกที่เริ่มผลิตใช้เองได้ และปีต่อมาได้ร่วมทุนกับบริษัท อาซาฮีกลาส จำกัด ประเทศญี่ปุ่น จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท กระจกไทยอาซาฮี จำกัด (TAG)

ยุคแรกๆ อุตสาหกรรมกระจกไทยมีโครงสร้างการผลิตและการตลาดเป็นแบบผูกขาด (Monopoly) ส่งผลให้ผู้ผลิตมีอำนาจในการกำหนดราคาได้อย่างเต็มที่ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากรัฐบาลต้องการมีนโยบายให้ความคุ้มครอง มาตรการที่รัฐนำมาใช้ คือ ภาษีศุลกากร โดยตั้งไว้ที่ระดับ 50% และการจำกัดจำนวนโรงงานเพื่อต้องการรักษาระดับปริมาณ การผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการภายในประเทศเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุ่ม ตลาดจากต่างประเทศ

ต่อมาในปี 2533 รัฐบาลได้เปิดเสรีในการผลิตและตั้งโรงงานกระจก ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนจากบริษัท บางกอกโฟลทกลาส จำกัด (เริ่มผลิตตุลาคม 2534) และบริษัท กระจกสยาม จำกัด (เริ่มผลิตตุลาคม 2534) บริษัท สยามการ์เดียน จำกัด (เริ่มผลิตตุลาคม 2535) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC)

นับจากนั้นเป็นต้นมา โครงสร้างตลาดกระจกไทยได้เปลี่ยนจากตลาดผูกขาดเป็นตลาดที่มีผู้แข่งน้อยราย (Oligopoly) การแข่งขันเริ่มมีสูงมากขึ้น อีกทั้งการลดอัตราภาษีนำเข้าเหลือ 30% อย่างไรก็ตาม ราคาจำหน่ายยังไม่สามารถ ลดลงได้ เพราะยังผูกติดกับผู้ผลิตรายใหญ่อยู่และการนำเข้ากระจกจากต่างประเทศ ก็ไม่สามารถสั่งโดยตรงได้ ต้องผ่านผู้ผลิตภายในประเทศอยู่

ยุคโชติช่วงของกระจกไทย เริ่มในช่วงที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ความต้องการกระจกภายในประเทศมีสูง เฉลี่ยอัตราการเติบโตกระจกไทยปี 2534-2539 มีสูงถึง 10.15% ถือว่าเป็นยุคทองของอุตสาหกรรม กระจกไทย

สูงสุดสู่สามัญเมื่อสถานการณ์ตลาดกระจกเริ่มสั่นคลอนเพราะภาวะเศรษฐกิจในปี 2540 ชะลอตัวลงอย่างรุนแรง อีกทั้งปัญหาทางการเงินที่ขาดสภาพคล่อง ส่งผลให้สภาพการแข่งขันเกิดขึ้นอย่างรุนแรง เนื่องจากอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจกระจก โดยเฉพาะธุรกิจก่อสร้างอาคาร สำนักงาน ปัจจุบันแทบจะไม่มีการก่อสร้าง เชื่อว่าธุรกิจก่อสร้างหดตัวลงไปมากกว่า 80% แล้ว ทำให้กระทบต่อตลาดกระจกโดยตรง ดังนั้นบรรดาผู้ผลิตกระจกต้องแก้ปัญหาด้วยการลดกำลังการผลิตบางส่วนลง

จากข้อมูลของกระจกไทยอาซาฮีปรากฏว่าปี 2540 ประเทศไทยมีกำลังการผลิตกระจกแผ่นทั้งสิ้น 640,200 ตันเพิ่มขึ้นจากปี 2539 จำนวน 102,800 ตัน ขณะนี้ความต้องการมีเพียง 302,400 ตัน ลดลงจากปี 2539 จำนวน 43,400 ตัน ส่วนปี 2541 มีกำลังการผลิต 687,000 ตัน ด้านความต้องการมีจำนวน 199,200 ตัน ลดลงจากปีที่แล้ว 103,200 ตัน

นอกจากนี้ผู้ผลิตกระจกยังต้องเจอปัญหากระจกจากต่างประเทศ ได้เข้ามาทุ่มตลาดกันอย่างคึกคัก เนื่อง จากกระทรวงการคลังได้ลดภาษีนำเข้ากระจก โดยเฉพาะกระจกแผ่น เรียบจาก 50% ในปี 2538 เหลือ 40% ในปี 2539 และ 30% ในปี 2540 ประกอบกับในข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) กระจกแผ่นอยู่ในกลุ่มสินค้า fast track ซึ่งไทยต้องลดภาษีนำเข้าจากกลุ่มประเทศอาเซียนให้เหลือ 0-5% ภายในปี 2543 ทำให้มีการนำเข้ากระจกแผ่นเรียบราคาถูกจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า เข้ามาแข่งขันเพิ่มขึ้น แต่ในปี 2540 เศรษฐกิจไทยเริ่มตกต่ำทำให้มูลค่าการนำเข้ากระจกมีเพียง 1,004.7 ล้านบาท หรือลดลงจากปี 2539 ถึง 22.3% ส่วนครึ่งแรกปี 2541 มูลค่าการนำเข้ากระจกมี 418.1 ล้านบาท

สำหรับภาวะตลาดกระจกปี 2541 คาดว่าปริมาณความต้องการจะลดลงเกินกว่า 30% เมื่อเทียบกับปี 2540 โดยความต้องการจะอยู่ในระดับไม่เกิน 300,000 ตัน ทำให้ปริมาณกระจกที่ผลิตได้ในปัจจุบันเกินความต้องการ (over supply) ประมาณ 306,900 ตัน หรือ 50.6% ของกำลังการผลิตรวม ซึ่งกระจกที่เกินความต้องการดังกล่าวยังไม่รวมถึง ปริมาณการนำเข้าจากต่างประเทศ

จากอุปสรรคของผู้ผลิตกระจกไทยที่เจอทั้งศึกในศึกนอก จำเป็นต้องรีบหาทางแก้ปัญหาเพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไป เพราะคาดว่าสภาพการแข่งขันในอนาคตจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากปริมาณการผลิตเกินความต้องการภายในประเทศ และอัตราการขยายตัวของกระจกนำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการแข่งขัน หนทางการแก้ปัญหาในช่วงนี้ คือ การปรับราคาจำหน่ายให้ใกล้เคียงกับกระจกนำเข้ามากที่สุด แต่วิธีนี้ทำได้ในช่วงสั้นๆ เท่านั้นเพราะต้นทุนการผลิตกระจกไทยสูงกว่าจากต่างประเทศ เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งจะไม่สามารถอยู่ต่อไปได้

นอกจากนี้ก็หันไปขยายตลาดส่งออกมากขึ้น จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่าในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกกระจกไทยสามารถสร้างมูลค่าได้มากกว่าการนำเข้าอย่างเห็นได้ชัด ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นการส่งออกกระจกไทยมักจะมีมูลค่าน้อยกว่าการนำเข้ากระจกมาโดยตลอด โดยตลาดการส่งออกในช่วงครึ่งแรกปี 2541 สามารถส่งออกคิดเป็นมูลค่ารวม 1,207.7 ล้านบาท ขยายตัวขึ้น 87.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2540 ตลาดหลักอยู่ที่ญี่ปุ่น มีมูลค่า 188.0 ล้านบาท สิงคโปร์ 100.2 ล้านบาท ฮ่องกง 94.9 ล้านบาท ไต้หวัน 91.3 ล้านบาท และออสเตรเลีย 51.6 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็พยายามเจาะตลาดใหม่ๆ เช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว

อีกทั้งยังหันมาปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อลดต้นทุนด้วยการหันมาใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เช่น โซดาแอช และโซเดียมคาร์บอเนต และยังมีผู้ผลิตบางแห่งได้ปรับสูตรหรือส่วนผสมวัตถุดิบ ให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ที่จะผลิตให้ได้จำนวนมากขึ้น หรือหันไปสร้างมูลค่าให้กระจกมากขึ้นด้วยการผลิตกระจกโค้ง กระจกนิรภัย กระจกเงา เป็นการกระตุ้นผู้บริโภคให้มีเพิ่มมากขึ้น

สำหรับสิ่งที่ผู้ผลิตกระจกไทยต้องการให้ภาครัฐบาล เข้ามาช่วยโดยด่วน คือ ให้ยืดการลดภาษีนำเข้าตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ออกไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น รวมทั้งพยายามหาทางกีดกันไม่ให้กระจกจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาดได้ง่าย ด้วยวิธีเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น (surcharge)

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้รัฐบาลยังไม่มีคำตอบเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตกระจก ราวกับจะตัดหางปล่อยวัดไปเลย แม้ว่าจะมีการเรียกร้องอยู่เรื่อยๆ แต่คำตอบที่ได้จากรัฐบาล คือ ความว่างเปล่า ดังนั้นผู้ผลิตแต่ละรายจำเป็นต้องช่วยเหลือตัวเองไปก่อน จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ซึ่งไม่รู้ว่าทิศทางของธุรกิจกระจกในประเทศในอนาคตจะออกหัวหรือออกก้อย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us