Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2541
สืบเนื่องจากมาตรการ 14 สิงหาฯ (1)             
 

   
related stories

สืบเนื่องจากมาตรการ 14 สิงหาฯ (2)




เมื่อต้นเดือนกันยายน มีนักวิชาการหลายท่านได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ "แผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน 14 สิงหาฯ" ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นความเห็นที่มีสาระน่าสนใจ จึงขอนำเนื้อหาบางส่วนมาตีพิมพ์เผยแพร่เพื่อเป็นแง่คิดแก่ท่านผู้อ่านทุกท่าน

ดร.อัมมาร์ สยามวาลา นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญเสนอความเห็นดังต่อไปนี้

เป้าหมายที่เราจะมาประเมินระบบหรือมาตรการ 14 สิงหาคม ต้องคำนึงถึง 3 ประเด็น :-

1. เราได้ให้ guarantee ไปแล้ว
2. เราต้องรีบให้มีกลไกทางการเงินให้เร็ว โดยมีเงื่อนไขเป็นปลีกย่อยลงมา คือ เราจะต้องทำให้งบดุลของบริษัทดีขึ้นเร็วที่สุด
3. เราจะต้องดึงปริมาณ NPL ที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆนั้น ดึงลงมาให้ได้

จะเห็นว่ามาตรการ 14 สิงหาฯ ไม่ได้ทำทุกอย่างให้สำเร็จที่เขาเรียกว่า "เบ็ดเสร็จ" จำเป็นที่จะต้องนึกถึงสิ่งปลีกย่อยต่างๆ เหล่านี้ ด้วย ต้องนึกถึงว่ามาตรการในการปรับปรุงงบดุลของบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงินจะทำอย่างไร ส่วนหนึ่งที่ผมพูดถึงเรื่องการเบี้ยวหนี้ ก็เป็นเรื่องที่พาดพิงถึงมาตรการอีก 2 มาตรการ ที่รัฐบาลนำมาใช้หรือพยายามนำมาใช้ คือ การแก้ไขปรับปรุงกระบวนการในการที่จะให้บริษัทล้มละลาย

กระบวนการล้มละลายของไทยในอดีตนั้นมีวิธีเดียว คือ ล้มละลายจริงๆ คือล้มแล้วละลาย บริษัทจะหายไป แต่ว่าสิ่งที่รัฐบาลจะนำเข้ามา คือ ล้มโดยไม่ละลาย หมายความว่า ล้มแล้ว กิจการก็ยังจะดำเนินงานต่อไปได้

คำว่าล้มแล้วละลาย ต้องขายกิจการออกไป เช่น ขายคอมพิวเตอร์ โต๊ะ โรงงานก็เอาไปขายเป็นชิ้นส่วนไปหมด เป็นเศษเหล็กไปหมด ซึ่งแน่นอนมูลค่าที่ได้กลับมาย่อมน้อยกว่าการขายกิจการในรูปแบบอื่นๆ

ถ้าอย่างนั้นแล้วคุณมีสิทธิ์ว่าโรงงานแห่งนี้ที่มันปรากฏอยู่ในงบดุล สมมติว่า มีมูลค่า 300 ล้านบาท ตีราคา 50 ล้านบาท สิ่งต่างๆ เหล่านี้เปิดโอกาสให้เราทำอะไรต่ออะไรได้ ฉะนั้นการจัดงบดุลของบริษัทเหล่านั้นจะทำได้ง่ายขึ้น

นี่คือความคิดที่มีอยู่ในใจของรัฐบาลเมื่อมีการแก้กฎหมายล้มละลาย คือให้ธุรกิจนั้นไม่อยู่ในขั้นที่ว่าไม่ให้ล้มจากการดำเนินการกิจการ ให้เดินหน้าต่อไป แต่ไม่ได้หมายความว่าเจ้าของเดิมจะได้รับการอุ้มชูเป็นพิเศษ อาจจะต้องขับออกจากบริษัท แต่ธุรกิจยังอยู่และจัดการกันใหม่ และคนงานก็ทำงานต่อไป โดยระหว่างที่เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้น บริษัทเหล่านี้จะได้รับการคุ้มครองจากเหล่าฝูงเหยี่ยวฝูงกาทั้งหลายที่จะมาทึ้งศพนี้ แล้วให้ธุรกิจเดินไปข้างหน้าต่อไปได้ อันนี้จะทำให้ธุรกิจมีความสมบูรณ์ในตัว เงินไม่ละลาย ซึ่งเมื่อไม่ละลายก็อาจจะขายได้ราคา อันนี้เป็นเครื่องมือที่จะเอาเงินกลับคืนมา อย่าลืมว่าหนี้สินทั้งหมดของสถาบันการเงินทั้งระบบนั้น ปัจจุบันเป็นของประชาชนทั้งหมดแล้ว ประชาชนมีผลประโยชน์ในการที่จะรีดไถ หน้าเลือดกับบรรดาเหล่าลูกหนี้ทั้งหลาย เพราะพวกนี้ได้ก่อกรรมทำเข็ญกับเราไว้และจะทำอย่างนี้ไปอีกนาน

วิธีหน้าเลือดอีกอันหนึ่งที่คิดว่ารัฐบาลจะนำมาใช้ คือการเปลี่ยนกระบวนการที่จะยึดจำนอง

ผมเคยถามนายแบงก์ทั้งหลายว่า เวลาจะยึดจำนองใช้เวลานานเท่าไหร่? เขาบอกว่า 3-5 ปี ให้นึกถึงว่ามี NPL อยู่ อย่างบริษัทพัฒนาที่ดิน มี NPL อยู่ในแบงก์ คุณรู้แล้วว่า equity ในโครงการนั้นได้หมดเกลี้ยงลงแล้ว และรู้ว่าแบงก์จะมายึดจำนองแล้ว คุณจะร่วมมือไหม? เรื่องอะไรจะร่วมมือ equity ก็หมดแล้ว ขณะนี้ถ้ายึดจำนองแล้วไปขายทอดตลาดคงจะไม่มีใครซื้อ

แต่ถ้าเศรษฐกิจบูมขึ้นมาอีกก็อาจจะได้บ้าง อย่างน้อยไม่เสีย ถ้ายื่นไปในศาล ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น คือ การยึดจำนองกินเวลาไปเรื่อยๆ และกลไกการยึดจำนองของเรานั้นมันเอื้ออำนวยอย่างมากต่อการยุ่งเหยิง บางทีมันชัดเจนมาก มีการเซ็น มีจำนอง มีหลักฐานครบถ้วน แต่ต้องขึ้นถึง 3 ศาล

สิ่งเหล่านี้ควรหรือไม่ที่จะเกิดขึ้น? และขอเน้นอีกครั้งว่าพวกที่เป็นลูกหนี้ของแบงก์นั้น ปัจจุบันเป็นลูกหนี้ของประชาชนไปแล้ว ขอให้หน้าเลือดต่อไปและหน้าเลือดมากยิ่งขึ้น เพราะว่าเราจะต้องรีบทำอะไรอีกหลายๆ อย่าง

ทีนี้มาถึงว่า เราทำอย่างไรที่จะทำให้มาตรการอันนี้ถ้ามองจากประเด็นหลักๆ ผ่านการทดสอบหรือไม่? ถ้าจะให้ผมบ่นบ้างก็คือ รัฐมนตรีการคลังคนนี้เป็นรมว.ที่ดี ท่านขี้เหนียวมาก แต่ขี้เหนียวช่วงนี้ คือ ไม่ยอมควักกระเป๋า ไม่ยอมใช้เงิน

ผมกำลังพูดถึง 8 ธนาคารที่เหลืออยู่ (อันที่ควบรวมหรือได้ทำมาแล้วอย่าไปสนใจ) ซึ่งเวลานี้อยู่ในฐานะที่ล่อแหลมมากต่อการที่ในที่สุดแล้วรัฐบาลต้อง take over และปัญหาคือว่าถ้า NPL ขึ้นไปเรื่อยๆ และถ้าหากเศรษฐกิจถึงแม้ว่าจะดี (ผมบอกแล้วว่าเศรษฐกิจมีองค์ประกอบอยู่ 3 ตัวในตอนนี้ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับระดับเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยและขึ้น อยู่กับการเบี้ยวหนี้) ถ้าหากว่าผมเป็นนายแบงก์และมองไปข้างหน้า เพราะอย่างไรเสียแบงก์จะต้องหลุดจากมือผม เพราะอย่าลืมว่าการให้กู้นั้นแบงก์จะให้กับบรรดาพรรคพวกบริวารมาก ฉะนั้นก็จะกลายเป็นหนี้เสียเร็ว ผมจะไม่มีแรงจูงใจที่จะทำให้หนี้เสียลดลง

เมื่อเวลาดูข้อมูลที่อย่างน้อยพวก finance ทั้งหลายที่เขาทำวิจัยมานานไว้แล้ว (ไม่ทราบไปเอาข้อมูลมาได้อย่างไร) สังเกตดูว่ามันแปลกดี ว่าแบงก์ที่ยังดีอยู่ 8 แบงก์ (อาจจะยกเว้น ธนาคารกรุงไทย) อัตรา NPL ที่นำมาเสนอ (ประมาณสิ้นเดือนมิถุนายน) อยู่ที่ระดับ 25-30% ส่วนพวกที่มันเน่าอยู่ที่ระดับ 70-80% ซึ่งมันไม่ได้อยู่ในระดับที่ไล่เลี่ยกัน แต่จะอยู่คนละขั้วกัน โดยฝั่งหนึ่งต่ำ อีกฝั่งหนึ่งสูง ค่อนข้างแยกออกจากกันมาก หมายความว่าเวลาที่เกิดปัญหาแล้ว มันจะกลายเป็น bad bank ได้เร็วมาก หมายความว่ามันมีปรากฏการณ์บางอย่างเกิดขึ้น อันนี้เป็นเรื่องที่ผมวิตก คือการที่รัฐมนตรีคลังที่ขี้เหนียวมากในตอนนี้ ไม่ยอมใช้เงิน ยกเว้นการสะสางงานเก่าที่ต้องใช้เงินอยู่แล้ว แต่ว่าในด้านเงินใหม่ที่จะลงไปสะสางใน 8 แบงก์นี้เพื่อให้มันดีขึ้น ถ้ารอให้ถึงสิ้นปีหรือรอให้เพิ่มทุนเอง ผมกลัวว่า 1 ใน 8 แบงก์หรืออาจมากกว่านั้นอาจจะมีปัญหาจนรัฐต้องเข้าควบคุม ผมจึงอยากให้มีมาตรการที่เฉียบขาด แต่ผมไม่แน่ใจว่ารัฐบาลมีอำนาจหรือไม่?

มาถึงตรงนี้ก็ต้องพูดถึงการจัดการ การบริหาร ว่าใครจะมาเป็นเจ้าของใหม่ เพราะในที่สุดแล้วการที่จะเพิ่มทุนหมายความว่าต้องเอาตัวละครเข้ามาใหม่ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นต่างชาติมากกว่า ซึ่งในตัวมันเองผมไม่ได้ติดใจอะไร แต่มันมีแรงจูงใจอะไรที่จะมีนักลงทุนใหม่จะเข้ามา

สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อต้นปีนี้ เมื่อ BBL และ TFB สามารถเพิ่มทุนสำเร็จ นั่นคือจุดจบของแบงก์อื่นๆ เพราะว่าความสำเร็จของ 2 แบงก์ คือความล้มเหลวของแบงก์อื่น เพราะว่านักลงทุนที่เข้ามาลงทุนใน 2 แบงก์นี้ขาดทุนย่อยยับ เพราะเขาคาดการณ์อะไรบางอย่าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น มันตรงกันข้าม เช่น NPL ที่สูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง

แต่มันมีประเด็นหนึ่งที่ไม่ค่อยมีพูดถึงกัน ผมจะยกตัวอย่าง คือ บริษัท ซิทก้า ซึ่งมีบริษัทย่อย คือ เอสทีซี ลิสซิ่ง ตอนที่คนมาซื้อ ปรส.บอกว่าถ้าเข้ามาซื้อแล้วจะต้องบริหารหนี้ประมาณ 400 ล้านบาท แต่พอเข้าไปบริหารจริง ปรากฏว่าหนี้เพิ่มเป็น 2,000 ล้านบาท เขากลุ้มใจมากเรื่องนี้ เพราะงบดุลบริษัทเป็นแบบ "นวนิยาย" งบดุลของสถาบันการเงินไทยก็เป็นแบบ "นวนิยาย" คือมีหนอนเต็มไปหมด นวนิยายที่หนอนกินด้วย ซึ่งมันเป็นปัญหาอย่างมาก

ผมเคยคุยกับญี่ปุ่นคนหนึ่งว่าระหว่างการทำ due diligence ระหว่างแบงก์ไทยกับแบงก์ญี่ปุ่น เป็นอย่างไร? เขาบอกว่าแบงก์ญี่ปุ่นใช้เวลาประมาณ 2-3 อาทิตย์ก็เสร็จแล้ว แต่แบงก์ไทย 2-3 เดือน และหลังจากนั้นถึงจะมีการตกลงราคากัน กฎของ due diligence อันหนึ่ง คือ ถ้าหากเข้าไปเจออะไรที่ไม่ชอบมาพากล (หมายความว่าเป็นของที่ไม่ชอบมาพากลของเก่า แต่ไปบอก ว่าบริษัทนี้ดีมาก) มันน่าจะบอกตรงๆ ไปเลยว่าข้างในมีอะไรบ้าง แต่ถ้าไปหลบซ่อนอยู่ต่อไปก็ไม่ดี จะมีปัญหา ซึ่งเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ มันจึงยากพอสมควรและนักลงทุนต่างชาติเวลานี้ขยาดที่จะเข้ามา

มีปรากฏการณ์ที่ผมสงสัยอยู่อย่างหนึ่ง คือ บริษัทการเงินที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารก็คือ bad bank ของธนาคาร ก็มีการโยกย้ายถ่ายเทหนี้เสียไปที่บริษัทลูก ก่อนที่จะยื่นให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ หรือยื่นให้กับรัฐบาล ซึ่งมีปรากฏการณ์อย่างนี้มากพอสมควร แต่ผมไม่กล้ายืนยัน

การดำเนินการอะไรต่างๆ เหล่านี้ผมอยากให้ทำอย่างรวดเร็ว

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือว่าถ้าประเมิน NPL ตามมูลค่าที่แท้จริง ส่วนใหญ่นั้นก็มีการสำรองอยู่บ้าง แต่หากประเมินทั้งหมดแล้ว ผมไม่แน่ใจว่าจะมีสถาบันการเงินไหนที่ไม่ล้มละลายเหลืออยู่เท่าไหร่

ดังนั้นผมอยากให้มีมาตรการที่แยกหนี้เสียออกไปจากหนี้ดี เพราะถ้าเกิดทิ้งเอาไว้ก็จะกลายเป็นหนี้เสียในที่สุด เมื่อแยกออกจากกันแล้วก็เทออกขายกับคนอื่นให้เร็วที่สุด

ตอนนี้ไม่ค่อยมีใครกล้ามาแตะแบงก์ไทย เพราะว่าตอนนี้หยิบไปก็มีแต่ของน่าขยะแขยงขึ้นมา มันเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เวลานี้รัฐบาลมีความเชื่อว่าสถาบันการเงินเหล่านี้ไม่ได้ย่ำแย่ขนาดนั้น เชื่อว่าสถาบันการเงินจะอยู่ต่อไปได้และจะสามารถเพิ่มทุน โดยมีการร่วมทุนของนักลงทุนจากต่างชาติ

เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว รัฐบาลก็พยายามสร้างแรงจูงใจให้ดำเนินงานต่อไป จะเห็นได้ว่าตอนช่วงที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธเป็นรัฐบาลนั้น มีข่าวออกมาว่านักลงทุนต่างประเทศต้องการ guarantee ซึ่งผมแปลกใจมากว่าแบงก์ชาติคิดได้อย่างไรว่าจะ guarantee ว่าไม่ขาดทุน

อันนี้แสดงความได้เปรียบของนักลงทุนต่างชาติ เพราะการ guarantee ไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้

แต่คิดว่ารัฐบาลน่าจะมีเงื่อนไขอะไรบางอย่าง และอาจจะสามารถดึงดูดบรรดาเจ้าสัวเก่าของแบงก์ให้สนใจที่จะไปจัดการกับ NPL อย่างมีระบบ

ดังนั้นมาตรการที่รัฐบาลใช้ในตอนนี้คือรอไปจนกว่าจะหาเงินมาได้ ผมก็อยากจะดูว่ามีใครสนใจที่จะนำเงินเข้ามาซื้อบ้าง จนบัดนี้ยังไม่มีข่าวออกมา และบังเอิญในต่างประเทศก็มีวิกฤติการณ์ต่างๆ มากมาย ซึ่งเวลานี้ก็รอคิวอยู่หลายประเทศ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว หากเราไม่รีบทำตอนนี้ ก็ไม่รู้จะไปทำตอนไหน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us