Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2541
ก้าวสำคัญปูนใหญ่ปรับโครงสร้างธุรกิจใช้ยุทธศาสตร์ถอยและรุก             
 

 
Charts & Figures

โครงสร้างเครือซีเมนต์ไทยใหม่
ตัวเลขที่สำคัญทางการเงินของเครือซีเมนต์ไทย


   
www resources

โฮมเพจ เครือซิเมนต์ไทย
โฮมเพจ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

   
search resources

เครือซิเมนต์ไทย
ปูนซิเมนต์ไทย, บมจ.
ชุมพล ณ ลำเลียง
อวิรุทธ์ วงศ์พุทธพิทักษ์
Chemicals and Plastics
Cement




ปูนใหญ่เตรียมตัวออกโรดโชว์ครั้งแรกหลังปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ เพื่ออธิบายให้นักลงทุนนานาชาติเข้าใจเครือข่ายธุรกิจของปูนใหญ่แจ่มชัดขึ้น และให้เกิดความมั่นใจในการร่วมลงทุนกับปูนใหญ่ด้วย ชุมพล ณ ลำเลียง ประกาศรุกและถอยในบางธุรกิจระหว่างการปรับโครงสร้างครั้งนี้ ส่วนบริษัทร่วมทุนนั้นต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป

ด้านผลดำเนินงาน มีการลดกำลังการผลิตในหลายอุตสาหกรรมลง แต่ชุมพลยืนยันไม่มีการปรับลดพนักงานลงอย่างแน่นอน แม้ว่าค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นสูงมาก แต่เมื่อเงินบาทมีเสถียรภาพดี ก็ทำให้มีกำไรอัตราแลกเปลี่ยนกลับเข้ามา นับถึงเดือนก.ย.ก็เกือบ 20,000 ล้านบาท ขณะที่กำลังซื้อในประเทศตกต่ำลงมาก แต่อัตราการส่งออกดีขึ้น ทว่าแม้ยอดขายจะเพิ่มแต่ราคากลับไม่ดีเพราะมีการแข่งขันสูงมาก โฉมหน้าปูนใหญ่ในปีหน้า ยังจะมีการเปลี่ยนแปลงรออยู่อีกมาก!!


ปรับโครงสร้างธุรกิจ
จ้างที่ปรึกษา 4 ราย
บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือที่เรียกกันคุ้นหูว่า ปูนใหญ่ประกาศชัดเจนเรื่องการปรับโครงสร้างธุรกิจ ซึ่งดำเนินงานมาใกล้จบแล้ว (ปูนใหญ่เริ่มศึกษาเรื่องการปรับโครงสร้างธุรกิจตั้งแต่เมื่อเดือน ก.ค.2540 ซึ่งมีการประกาศใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราแบบลอยตัวภายใต้การจัดการ และปูนใหญ่ได้รับผลกระทบอย่างมากในปีนั้น โดยบริษัทฯ และบริษัทร่วมมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสูงถึง 85,179 ล้านบาท) โดยจ้างที่ปรึกษาทั้งหมด 4 รายคือบริษัทแมคคินซี่ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจสหรัฐฯ ซึ่งดำเนินงานจบไปแล้ว แต่คิดเป็นงานครึ่งหนึ่งของการปรับโครงสร้างธุรกิจ ส่วนอีกครึ่งที่เหลือ ปูนใหญ่มอบหมายให้ ที่ปรึกษาทางการเงิน 2 รายดำเนินการต่อคือ ดอยช์แบงก์จากเยอรมนี และเชสแมนฮัตตันแบงก์จากสหรัฐฯดำเนินการต่อ

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังจ้างบริษัทโกลด์แมนแซคส์-บริษัทวาณิชธนกิจสหรัฐฯ มาช่วยเผยแพร่แผนการปรับโครงสร้างของบริษัทฯ ให้สถาบันการเงินและนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศได้ทราบความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปูนใหญ่ด้วย ซึ่งบริษัทฯ มีแผนที่จะไปจัดโรดโชว์หรือเผยแพร่ข้อมูลในตลาดสำคัญทางการเงินของโลกในต้นเดือน ธ.ค. หรือถ้าไม่ทันก็ต้องขยับไปเป็นต้นปีหน้า

เรื่องการโรดโชว์นี้ อวิรุทธ์ วงศ์พุทธพิทักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่การเงินและบริหารกลาง เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า "เรื่อง road show ครั้งนี้ฝรั่งเรียกว่า non deal road show คือไม่เกิดธุรกรรม ไปเล่าให้ฟัง เป็นครั้งแรกของปูนใหญ่ที่ทำ เราจะไปเล่าแผนการปรับโครงสร้าง ทำ restructuring ไปเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ไม่ได้ขายหุ้น ครั้งก่อนเป็นการจัดกลุ่มการบริหารงาน เราไม่จำเป็นต้องทำโรดโชว์ แต่งวดนี้มากกว่านั้น มันเป็นการบอกว่าธุรกิจ ไหนเราจะเดินหน้าต่อไป ธุรกิจใดเราไม่เอา คนละเรื่องกัน และมันก็มีความเป็นไปได้ว่า หากเขารู้ว่าธุรกิจใดเราอยากจะลดส่วนของเราลง เขาก็อาจจะติดต่อเข้ามาก็เป็นไปได้ แต่จริงๆ เราไม่มี agenda ที่เป็น specificly ว่าเราจะไปขายอะไร เพียงแต่ไปเล่าให้เขาฟัง ส่วนหลังจากเล่าให้เขาฟังแล้วจะเกิดอะไรตามมานี่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง"

ส่วนการดำเนินงานตามแผนปรับโครงสร้างครั้งนี้จะเริ่มในต้นปีหน้า แต่ในตอนนี้บริษัทฯ ก็ได้ดำเนินการบางอย่างรองรับไว้แล้ว เช่น การจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ แต่ยังไม่มีการโอนย้ายทรัพย์สินเข้าสู่บริษัทใหม่ที่ตั้งขึ้น เพราะบริษัทฯ อยู่ระหว่างการรออนุมัติจากทางการเพื่อขอยกเว้นภาษีการโอน (หากมีการโอนแล้วได้กำไร ก็ต้องไม่คิดภาษีจากกำไรตัวนั้น เพราะไม่ใช่การโอนจากการขายสินทรัพย์ แต่เป็นการโอนเพื่อจัดกลุ่มธุรกิจ)

ชุมพล ณ ลำเลียง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปูนใหญ่ กล่าวถึงวัตถุประสงค์การปรับโครงสร้างธุรกิจว่า "เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการบริหารธุรกิจต่างๆ ของเครือฯ ที่มีหลายธุรกิจมากมาย และทำให้ผลประกอบการของธุรกิจต่างๆ สามารถเสนอทั้งตัวเลขและผลชัดเจนยิ่งกว่าปัจจุบัน เพราะว่าเราจะทำการจัดหมวดหมู่ให้ชัดเจนยิ่งกว่าที่เป็นอยู่"


เผยโฉมหน้าโครงสร้างใหม่ปูนใหญ่

เดิมบริษัทฯ มีกลุ่มธุรกิจ 9 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจกระดาษและบรรจุภัณฑ์, ธุรกิจผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและโลหะ, ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง, ธุรกิจตลาดและการค้า, ธุรกิจซิเมนต์, ธุรกิจเหล็ก, ธุรกิจเซรามิก, ธุรกิจจักรกลและอุปกรณ์ยานยนต์ และธุรกิจปิโตรเคมี

หลังการปรับโครงสร้างแล้ว ก็จะมี 9 บริษัทโฮลดิ้งดูแลแต่ละธุรกิจ (ดูตารางโครงสร้างเครือซิเมนต์ไทยใหม่) โดยจะมีการจัดพวกกันใหม่อีก เช่น บริษัทเหล็กซิเมนต์ไทย ที่ตั้งขึ้นใหม่จะดูเฉพาะเหล็กก่อสร้าง ไม่รวมเหล็กโครงสร้าง หรือการแยกระหว่างยิปซั่ม กับรูฟวิ่งโปรดักส์หรือผลิตภัณฑ์หลังคานั้น ก็เป็นการแยกเพราะผู้ค้าในอุตสาหกรรมเหล่านี้อยู่คนละกลุ่มกัน ส่วนกิจการปูนทั้งหมดก็เอาเข้าไปอยู่ในบริษัทใหม่ชื่อ ปูนซิเมนต์ไทยอุตสาหกรรม ขณะที่บริษัท SCG Holding จะเป็นเจ้าของเงินลงทุนใน 9 โฮลดิ้งและกิจการอื่นๆ ที่ไม่เข้าพวก ใน 9 แห่งนี้

บริษัทที่ตั้งสำเร็จแล้วมี 6 แห่ง อวิรุทธ์กล่าวว่า "แนวทางคือเอาธุรกิจต่างๆ มาไว้ใต้โฮลดิ้งเหล่านี้ โฮลดิ้ง ทำหน้าที่ลงทุนกับต่างชาติด้วย แต่บริษัทที่เป็นการร่วมลงทุน เราคงจะเปลี่ยนไม่ได้ คงต้องถามพาร์ตเนอร์ ก่อนว่ายอมหรือไม่"

แม้ปูนใหญ่โดยชุมพลจะปฏิเสธแข็งขันว่าการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งนี้ "ไม่ใช่การเลหลังขายธุรกิจ เพราะว่าเรายังไม่ถึงขั้นนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เจ้าหนี้มาบังคับ และไม่ใช่แบบที่ปรส.ทำคือการเปิดประมูล แต่เป็นเรื่องที่เราต้อง มาดูว่าแต่ละธุรกิจขาดอะไร และหากต่างชาติเข้ามา เขาจะเสริมจุดที่เราขาดได้ไหม หากเป็นธุรกิจที่เราไม่ขาดอะไร เราก็คงไม่ดึงต่างชาติเข้ามา เพราะว่าเขามีแต่เอาเงินมาให้ อันนั้นไม่ใช่วัตถุประสงค์"

แน่นอนว่ามันไม่ใช่การเลหลังขายธุรกิจ แต่แนวคิดที่จะให้มีการร่วมลงทุนในบางธุรกิจนั้นมีอยู่ หรือกระทั่งการขายบางธุรกิจที่ปูนใหญ่ไม่ถนัด และไม่ต้องการแบกภาระในยามนี้ออกไป ก็มีความเป็นไปได้สูงมาก แม้ จะเป็นการขายในบริษัทร่วมทุนก็ตาม


ยุทธศาสตร์ปูน :
ถอยและรุกตามปริมาณเงินที่มี

ปูนใหญ่ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่เดินแนวทางอนุรักษ์อย่างมากๆ ไม่ใคร่มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ บ่อยนัก ไม่มีการลงทุนอย่างหวือหวา การตัดสินใจลงทุนต่างๆ แม้จะดูเชื่องช้าแต่เต็มไปด้วยความสุขุมรอบคอบ และไม่ทำอะไรเกินขอบเขตของกำลังที่มีอยู่

ชุมพลกล่าวถึงแนวทางการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งนี้ของปูนใหญ่ว่า มีทั้งถอยและรุกตามกำลังเงินที่มี การปรับโครงสร้างของปูนใหญ่ไม่ได้มีการถอยอย่างเดียว "ผมขอเรียนว่าการปรับโครงสร้างที่จะรุกนั้นมีมากกว่าที่จะถอยด้วยซ้ำ หากเราไม่ถอยบ้างเราคงไม่สามารถรุกเพราะว่าเงินมีจำกัด"

ในปัจจุบันมีหลายธุรกิจที่ชุมพล มองว่ามีโอกาสขยายตัวได้ หากปูนใหญ่จะไปซื้อ หรือไปเทกโอเวอร์ธุรกิจ ในตอนนี้ก็มีผู้ที่อยากขายเยอะ ซึ่งบางธุรกิจปูนใหญ่ก็อยากจะเข้า มีนโยบายที่จะขยาย แต่เขาก็ย้ำว่าหากมีแต่นโยบายขยายแล้วไม่ถอยบ้าง ก็จะไม่สามารถสร้างความมั่นใจแก่เจ้าหนี้ได้ เพราะในช่วงสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจอย่างนี้ ยังจะขยายตัวท่าเดียว

"เพราะฉะนั้นผมจึงบอกว่าการที่เราจะปรับโครงสร้างธุรกิจก็คือทำแผนธุรกิจว่าเราจะขยายอะไร และจะถอยหรือลดบทบาทอะไรบ้าง มันต้องสมดุลกัน เพื่อให้เจ้าหนี้มั่นใจว่าเราทำโดยสุขุมรอบคอบและเราทำไม่เกินกำลังที่มีอยู่" ชุมพลกล่าวชัดเจน

อย่างไรก็ดี กิจการที่ปูนใหญ่ดำเนินงานอยู่ในเวลานี้มี 2 ลักษณะ คือกิจการที่ปูนใหญ่ทำเองร้อยเปอร์เซ็นต์ และกิจการที่ทำกับผู้ร่วมทุนรายอื่นหรือประเภทร่วมลงทุน (joint venture) การที่จะไปขายธุรกิจประเภทร่วมลงทุนให้บุคคลที่ 3 นั้นเป็นไปไม่ได้ ชุมพลอธิบายในเรื่องนี้ว่า "หากว่ามี เราก็อาจจะใช้วิธีถอยส่วนให้ต่างประเทศ อันนั้นเป็นไปได้ แต่โดยทั่วไปแล้วปูนจะถอยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่าผู้ร่วมทุนของเราทุกรายก็ถือว่าเครือซิเมนต์ไทยเป็นผู้ร่วมทุนของเขาอันดับหนึ่ง เขาก็ไม่อยากให้เราถอย แม้ในธุรกิจที่เราคิดว่าจริงแล้วเราไม่ควรมีบทบาทมากนัก ก็เป็นเรื่องที่เราคิดว่าเราอาจจะถอย"

อวิรุทธ์ให้คำอธิบายเรื่องการถอยในบางธุรกิจว่าการถอยนั้นมีหลายทางตามทฤษฎี ในกรณีที่ปูนใหญ่เป็นเจ้าของเต็มที่ ก็ขายออกหมดได้ แต่กรณีที่เป็นการร่วมลงทุน ก็ต้องเจรจากับผู้ร่วมลงทุนว่าจะซื้อไปเอง หรือหาคนมาซื้อหรือให้ปูนใหญ่หาคนมาซื้อไป หรืออาจจะมีการถอยบางส่วน เช่นเมื่อมีการเพิ่มทุนแล้วปูนใหญ่ไม่ซื้อเพิ่ม ซึ่งก็จะทำให้ปูนใหญ่ dilute การถือหุ้นไปโดยปริยาย

การถอยอีกรูปแบบหนึ่งคือถอยทางด้านการบริหาร ซึ่งรูปแบบนี้มีความสำคัญ "สิ่งที่เขาอยากจะเห็นกันก็คือให้มันถอยทั้งสองทาง แต่ก็ไม่ได้มีกติกาว่าต้องถอยเป็นศูนย์หมด"

สำหรับประเด็นเรื่องซีเมนต์ ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมและเคยเป็นเส้นเลือดหลักของปูนใหญ่มาแต่เดิมนั้น ในภาวะตอนนี้ ธุรกิจซีเมนต์ไม่ราบรื่นดังที่เคยเป็นมา ปูนใหญ่มีการลดกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ลง 30%-35% มีการปิดโรงงานบางแห่ง และในกำลัง การผลิตที่เดินเครื่องอยู่ประมาณ 65% นั้นมีการส่งออก 15% ที่เหลือ 50% ขายตลาดในประเทศ

การที่ปูนประกาศปรับโครงสร้าง พร้อมกับลดกำลังการผลิตในบางธุรกิจลงนั้น ทำให้มีนักลงทุนต่างชาติจำนวนมากเข้ามาทาบทามซื้อหรือร่วมลงทุนในบางธุรกิจของปูนใหญ่ สำหรับธุรกิจปูนซีเมนต์นั้น ชุมพลให้คำอธิบายชัดเจนดังนี้

เขาตอบคำถามที่ว่าเป็นไปได้ไหมที่จะมีการขาย majority stake ในธุรกิจซีเมนต์ว่า "เป็นไปได้ แต่ยากส์"

"ในการซื้อขายธุรกิจ เขาจะมีคำว่า EV คือ enterprise value คือ ให้ราคาซีเมนต์นี่ ตอนนี้อย่างที่มีการซื้อขายกัน ไม่ว่าใน PH หรือในไทยที่เกิดขึ้น หากมาคำนวณจะตกประมาณ 100-110 เหรียญต่อตัน หากมีคนมาให้ผม 500 นี่ ผมให้ไปหมดเลย แล้วอีกไม่นานเขาเจ๊ง แล้วผมก็เอา 200 นี่มาซื้อเขากลับคืนได้ คืออันนี้ต้องเรียนว่ามันไม่ใช่เป็นเรื่องที่พิจารณาจากนโยบายได้ เป็นเรื่องธุรกิจ เป็นเรื่องที่จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นมากที่สุด เป็นเรื่องอะไรที่จะทำเป็นประโยชน์แก่ประเทศด้วย เป็นเรื่องอะไรที่จะทำเพื่อรักษาผลประโยชน์และรักษาขวัญกำลังใจให้พนักงานด้วย

ผมคิดว่าเรื่องราคาซื้อขาย ก็เหมือนหุ้น มันขึ้นอยู่กับช่วงไหนมีการแย่งกันหรือเปล่า มีคนซื้อมากกว่าขายหรือเปล่า อันนี้เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ ผมก็คิดว่าอย่างเครือฯ นั้นหากขายอะไร ราคาต้องดีกว่าคนอื่นๆ แน่ เพราะว่าเราไม่ใช่ discount sale ไม่ใช่ถูกบังคับให้เลหลังขาย หรือว่ามีความจำเป็นอย่างไรๆ ก็ต้องขายให้ได้

ส่วนเรื่องที่จะมีพาร์ตเนอร์เข้ามา ผมเชื่อว่าอย่างไรๆ ธุรกิจซีเมนต์ของเรา เราต้องเก็บเป็นธุรกิจของคนไทย อย่างน้อยพอให้มีเหลือหนึ่งรายในประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันหากราคาดีมากๆ แล้วก็เงินนั้นจะไม่ใช่เอาไปชำระหนี้ แต่เอาไปทำผลประโยชน์คุ้มกับส่วนของผู้ถือหุ้นที่จะเสียไป เราในฐานะผู้จัดการในฐานะผู้รักษาผลประโยชน์ให้แก่ผู้ถือหุ้น เราก็ต้องพิจารณา"

คำตอบของชุมพลชี้ชัดเจนว่าธุรกิจปูนซีเมนต์ของปูนใหญ่นั้น อย่างไรเสียก็จะยังรักษาไว้เป็นของบริษัท แต่อาจจะมีการร่วมลงทุนกับพาร์ตเนอร์ที่มีเทคโนโลยีที่ดี หากปูนใหญ่มีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีนั้น

การจะร่วมลงทุนหรือไม่นั้นต้องพิจารณาว่าผู้ที่จะเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ "มีแผนอะไรที่จะทำให้ธุรกิจซีเมนต์ของเครือฯ แข็งแกร่งขึ้น หมายความว่าหากเขามี ยกตัวอย่าง เขาจะมาร่วมมือกับเครือฯ โดยเขายอมมา ร่วมกับปูนใหญ่ในการไปเทกโอเวอร์กิจการซีเมนต์อื่นๆ ที่เรียกว่าขายถูก มันก็เป็นเรื่องที่สร้างประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้น เป็นเรื่องที่ถูกต้องในโอกาสที่เหมาะสม"

เขายกตัวอย่างให้เห็นชัดมากขึ้นว่า หากมีบริษัทปูนในประเทศที่เรียกว่าเจ้าหนี้ยอมเฉือนเนื้อตัวเอง ตัดผม ขนาดโกนหัวทีเดียว เพื่อที่จะขายกิจการปูนของตนออกไปให้ได้ ปูนใหญ่ก็มองว่า การขายต่างประเทศนั้นมันถูกเกินไป จริงๆ ก็คือไม่เหมาะสมในเชิงธุรกิจ เพราะหากว่าคนซื้อถูก เขาก็มีต้นทุนถูก โรงงานถูก เขาก็กลายเป็นคู่แข่งปูนใหญ่ไป การรักษาผลประโยชน์ของปูนใหญ่นั้น ก็อาจต้องเข้าไปเสนอซื้อบ้าง อย่างน้อยหากราคามันถูก หรือปูนใหญ่สามารถซื้อได้มาถูกก็เป็นประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้น หรือหากปูนใหญ่ไม่ได้มา ก็ยังมีความมั่นใจว่าใครที่ได้ไปจะไม่ได้ในราคาถูก เป็นต้น นี่เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจในการรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นปูนใหญ่

หรือในกรณีอื่น สมมติถ้าปูนใหญ่ไปซื้อเอง ก็อาจจะไม่มีเงิน ซึ่งก็ต้องร่วมกับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งหากเขาซื้อเอง เขาก็ห่วงว่าเขาจะไม่มีบุคลากร เขาไม่รู้จะดำเนินธุรกิจซีเมนต์ในไทยหรือว่าในประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร ก็อาจเป็นเรื่องที่ร่วมมือกันก็ได้ในทางธุรกิจความร่วมมือนี้เป็นประเภท 1+1 เป็น 3 ชุมพลอธิบาย

ในธุรกิจซีเมนต์ของปูนใหญ่ในเวลานี้ แน่นอนว่าเป็นธุรกิจที่ไม่ได้ทำกำไรเหมือนเมื่อก่อน และอนาคตในระยะใกล้ก็ยังจะเป็นเช่นนั้น แม้อัตราการส่งออกจะเพิ่มมากขึ้นในปีนี้ แต่ชุมพลยอมรับว่าต้นทุนค่าขนส่งสูงมาก จนในบางพื้นที่ไม่สามารถส่งได้ เพราะไม่คุ้มทุน และเท่าที่มีการขนส่งอยู่ในตอนนี้ก็เป็นระยะใกล้ๆ ที่มีต้นทุนค่าขนส่งไม่แพงมาก เพราะราคาสินค้าปูนนั้นค่อนข้างต่ำ

แต่ชุมพลก็ไม่สามารถ liquidate asset ตัวนี้ออกไปได้ด้วยเหตุผลหลายๆ ประการดังที่กล่าวมา อย่างไรก็ดี มองในมุมกลับ เขาสามารถใช้ความชำนาญในธุรกิจค้าปูน เป็นยุทธศาสตร์เชิงรุกได้ ดังที่ยกตัวอย่างมา แน่นอนว่าต่างชาตินั้นสนใจธุรกิจตัวนี้มาก และก็มีผู้เข้ามาซื้อธุรกิจปูนทั้งในไทยและประเทศแถบนี้ ซึ่งผู้ที่นักลงทุนต่างชาติต้องมาเจรจาด้วยนั้น หนีไม่พ้นรายใหญ่อย่างปูนใหญ่

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งในยุทธศาสตร์รุกของปูนใหญ่

ส่วนธุรกิจที่ดีๆ อันอื่นที่คาดว่าปูนใหญ่คงเก็บไว้ไม่ขาย น่าจะเป็นปิโตรเคมี และเยื่อและกระดาษ


ลดกำลังการผลิต เพิ่มส่งออก
การปรับตัวในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ

ข่าวเรื่องปูนใหญ่ลดกำลังการผลิตในเวลานี้ไม่เป็นที่น่าตกใจแล้ว เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ดิ่งหัวลงสุดๆ นั้นเป็นประสบการณ์ที่วิสาหกิจทุกแห่งต่างประสบเหมือนๆ กัน และแนวทางดำเนินการที่พอจะทำได้ตามกำลังความสามารถของแต่ละรายคือ ลดกำลังการผลิตและเพิ่มการส่งออก ซึ่งแนวทางนี้เป็นนโยบายหลักของปูนในปีนี้

ปูนใหญ่มีการลดกำลังการผลิต ในสินค้าต่างๆ ดังนี้

- ปูนซีเมนต์ลดกำลังการผลิตลง 30%-35% มีผลิตเพื่อส่งออก 15% และผลิตขายในประเทศ 50%, เหล็ก ลดกำลังการผลิต 20% ผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มเป็น 30% และผลิตขายในประเทศ 50% เช่นกัน

- หลอดภาพโทรทัศน์ เดินเครื่องผลิต 100% และส่งออกเกือบ 100% เช่นกัน

- ยางรถยนต์ เดินเครื่องผลิต 100% และส่งออกประมาณ 30%-40%

- กระดาษมีการส่งออกเฉลี่ย 40% เดือนเครื่องประมาณ 90%

- ชิ้นส่วนยานยนต์ เดินเครื่อง น้อยมาก ประมาณ 30%-40% ของกำลังการผลิต เพราะตลาดรถยนต์ไม่ดี ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีการเดินเครื่องผลิตที่ต่ำมากที่สุดก็ว่าได้

- ปิโตรเคมีมีการส่งออก 50% และเดินเครื่องประมาณ 100%

ในเรื่องของการส่งออกนั้น ชุมพลอธิบายว่าการส่งออกมีอัตราที่ดีขึ้น โดยขณะที่ยอดขายในประเทศลดลง 17% แต่ยอดขายต่างประเทศเพิ่มขึ้น 106% แต่ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาหยุดชะงักลงบ้าง โดยเฉพาะในตลาดจีนที่เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ทำให้การนำเข้าสินค้าต่างๆ ชะงักไป แต่เขาเชื่อว่า ในเร็วๆ นี้ก็จะกลับมากระเตื้องขึ้นใหม่ ทดแทนที่เกิดเสียหายในช่วงน้ำท่วมนั่นเอง

ชุมพลเปิดเผยด้วยว่า "ขณะนี้ยอดขายส่งออกของเครือซิเมนต์ไทยตกประมาณ 32% ของยอดขายทั้งหมด เฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีมา" ทั้งนี้สินค้าที่ปูนใหญ่สามารถส่งออกได้นั้น ก็ได้ส่งออกจนเกือบเต็มกำลังการผลิต ซึ่งสินค้าที่ส่งออกนี้ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์กระดาษ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง และสามารถส่งไประยะไกลได้โดยที่ค่าขนส่งไม่เป็นอุปสรรค

อย่างไรก็ดี สินค้าที่แม้จะมีความต้องการภายนอกประเทศพอสมควร แต่เนื่องจากค่าขนส่งแพงทำให้ไม่สามารถส่งออกได้คุ้มกับต้นทุน ก็ไม่สามารถส่งออกได้มาก ซึ่งก็คือ ปูน ซีเมนต์นั่นเอง ปูนจึงไม่ได้เดินเครื่องผลิตเต็มอัตราเหมือนสินค้าอื่นๆ ที่มีการส่งออกได้

นอกจากนี้ ราคาสินค้าส่งออก ในเวลานี้ไม่ได้มีราคาที่ดีนัก ชุมพลกล่าวว่า "ราคาของสินค้าส่งออกได้มีการตกต่ำลงตลอดมา จากปลายปีที่แล้วจนถึงไตรมาส 3 ปีนี้ ลดลงมาตลอด โดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 20 ใน dollar term" นั่นหมายความว่าหากส่งออกจำนวนเท่าเดิม ก็จะมียอดขายต่ำลง แต่สำหรับปูนใหญ่นั้น เนื่องจากมีการเพิ่มปริมาณการส่งออกมากขึ้น 15%-20% จึงสามารถยืนในเรื่องยอดขายได้เท่าเดิม

อย่างไรก็ดี ชุมพลกล่าวถึงสถานการณ์การส่งออกโดยรวมของประเทศเป็นการเปรียบเทียบว่า "เมื่อคิดเป็นน้ำหนักสินค้านั้น มีการส่งออกเพิ่มขึ้น 15%-20% แต่คิดเป็นรายได้เหรียญสหรัฐกลับลดลง 5%"

สาเหตุที่ราคาสินค้าส่งออกโดยทั่วไปอ่อนตัวลง เพราะว่ากำลังซื้อโดยเฉพาะในภูมิภาคนี้ลดถอยต่ำลง และมีการแข่งกันส่งออกระหว่างประเทศต่างๆ ทำให้ราคาอ่อนตัวลง แต่ว่าสินค้าหลายอย่างราคาได้อ่อนตัวลงถึง จุดค่อนข้างต่ำสุดแล้วเมื่อประมาณกลางปี เพราะว่าต่ำกว่านั้น ผู้ผลิตที่มีต้นทุนสูงจะไม่สามารถสู้ราคาได้ เพราะฉะนั้นเมื่อถึงจุดนั้นแล้วราคาจะไม่ตกไปอีก ดังนั้นในช่วง 2-3 เดือนหลัง ราคาสินค้าบางอย่างไม่ตกไปอีกแล้ว และในระยะ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สินค้าบางอย่าง เช่น ปิโตรเคมี เป็นต้น มีแนวโน้มราคาสูงขึ้นด้วยซ้ำ

ชุมพลจึงคาดหมายว่า"ในไตรมาส 4 หากดูคร่าวๆ ยอดขายจากการส่งออกน่าจะเพิ่มขึ้น แต่คงไม่มากนัก" เหตุที่มากขึ้นก็เนื่องจากไตรมาส 3 ขายน้อย ซึ่งเป็นเรื่องของฤดูกาล ภาวะตลาดเป็นฤดูฝนและจีนมีน้ำท่วม ทำให้ความต้องการลดน้อยลงไปมาก


เงินบาทแข็ง
ช่วยผลประกอบการได้มาก

ในงวด 9 เดือนของปี 2541 ปูนใหญ่ (งบรวม) มีกำไรสุทธิ 17,000 ล้านบาท (ดูตารางตัวเลขที่สำคัญของเครือซิเมนต์ไทย) เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุน 21,900 ล้านบาท สาเหตุใหญ่เกิดจากการขาดทุนจากค่าเงินบาทลอยตัว ซึ่งปี 2540 ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงมาก แต่ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ค่าเงินบาทแข็งขึ้น จากต้นปี ที่อัตรา 47.56 บาท/ดอลลาร์ มาเป็น 39.47 บาท/ดอลลาร์ เมื่อ 30 ก.ย. 2541

ชุมพลเปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นทุกๆ 1 บาทนั้น จะทำให้กำไรเพิ่มขึ้น 2,000 กว่าล้านบาท" อย่างไรก็ดี การที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นหรืออ่อนลง แม้จะกล่าวเทียบเป็นตัวเลขให้เห็นกำไรขาดทุนได้ชัดเจนขนาดนั้น แต่ในทางรายได้อาจจะไม่มีผลถึงขนาดนั้น เพราะบริษัทมีการเพิ่มการส่งออกมากขึ้น จนทำให้เกิดภาวะสมดุลในเรื่องของรายได้และค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศ แต่ในเรื่องของหนี้ต่างประเทศ แน่นอนว่ามีผลกระทบ

ชุมพลกล่าวว่า "ผมคิดว่าเรื่อง เงินบาทแข็งขึ้นหรืออ่อนลงนั้น ในแง่ของเครือฯ เนื่องจากเราได้เพิ่มการส่งออก ปีหนึ่งๆ เรามีรายได้จากการส่งออกถึงระดับ 1,000 กว่าล้านเหรียญ ค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศเรา ก็มีปีละประมาณ 1,000 กว่าล้านเหรียญ เพราะฉะนั้นแต่ละปีรายได้และค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศสมดุลกัน ค่าบาทแข็งขึ้น ค่าบาทอ่อนลง เรามีค่าใช้จ่ายและรายได้ขึ้นลงเท่ากัน มันก็ลบล้างกันไป เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นการปรับตัวของเครือฯ โดยเมื่อมีภาระเป็นเงินตราต่างประเทศ หนี้สิน ซื้อของ เราก็หารายได้เข้ามา ในแง่นั้นเราสมดุลกัน

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนนั้น หากแข็งขึ้นก็จะมีในแง่ว่าบัญชีกำไรขาดทุน อัตราแลกเปลี่ยนแข็งขึ้นเราจะกำไรอัตราแลกเปลี่ยน แต่ขาดทุนรายได้ส่งออก"

อย่างไรก็ดี ผลประกอบการ หากไม่รวมเรื่องค่าเงินบาทแล้ว ผลประกอบการในงวด 9 เดือนมีกำไรลดลงจากปีที่แล้วมาก สาเหตุใหญ่คือ ดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งในและต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมากถึง 5,500 ล้านบาทจากงวดเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้เครือซิเมนต์ไทยมีหนี้ต่างประเทศทั้งหมดเป็นเงิน 4,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนหนี้เงินบาทนั้นมีจำนวน 30,000-40,000 ล้านบาท ในจำนวนเงินกู้ต่างประเทศทั้งหมดนั้นมีระยะสั้นเพียง 20% ที่เหลือเป็นเงินกู้ระยะยาว และในพอร์ตเงินกู้ต่างประเทศนี้ก็มี 70% กว่าเป็นดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงจากเดิมที่เคยมี 80% กว่า) และมีเงินเยนเพิ่มขึ้นมาเป็น 20% ที่เหลือเป็นสกุลอื่นๆ (มาร์กเยอรมัน 5%)

ชุมพลให้เหตุผลที่เพิ่มสัดส่วนเยนว่า "ระยะหลังเนื่องจากเงินเยนหากู้ได้ง่ายกว่า และอัตราดอกเบี้ยถูกกว่า ก็มีการใช้เงินเยนมากขึ้น แต่ไม่ได้มีการแปลงดอลลาร์เป็นเยน ทว่ามีการกู้เป็นเยนโดยตรง เป็นเงินกู้ใหม่ โดยเฉพาะเงินกู้จากแบงก์ญี่ปุ่นช่วงหลัง เพราะเขามีเงินเยนมากกว่าดอลลาร์ จึงออฟเฟอร์มาในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่ามากเมื่อเทียบกับดอลลาร์"

ในช่วงสิ้นปีนี้อัตราดอกเบี้ยในประเทศมีแนวโน้มลดลง ซึ่งหากอัตราดอกเบี้ยลดลง 1% เครือซิเมนต์ไทยจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยได้ประมาณ 300 กว่าล้านบาทต่อปี ส่วนดอกเบี้ยต่างประเทศนั้นจะลดลงได้ใน 2 เรื่อง คือ 1) base rate ซึ่งปูนใหญ่ใช้ Libor และ Sibor เงินกู้ต่างประเทศส่วนใหญ่เป็น float เกือบทั้งหมดเป็นเงินกู้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว หากดอกเบี้ยต่างประเทศลดลง 1% ปูนใหญ่ก็จะประหยัดประมาณ 40 ล้านเหรียญ หรือ 1,500 ล้านบาทต่อปี

และประเด็นที่ 2) ดอกเบี้ยต่างประเทศยังลดลงได้จากอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นจึงมี 2 ปัจจัยที่ทำให้ดอกเบี้ยต่างประเทศลดลงได้ คือดอกเบี้ยทั่วไปลง หรือเงินบาทแข็งขึ้น

ชุมพลกล่าวว่า "บอกได้เลยว่าไตรมาส 4 ดอกเบี้ยโดยเฉลี่ยจะลง และดอกเบี้ยลงจะมีผลต่อการประกอบการ เพราะจะเห็นได้ว่าดอกเบี้ยในไตรมาสหนึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่าย 3,700 ล้านบาท หากทั้งปีคิดเป็นค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยอย่างเดียว 14,000 ล้านบาท ซึ่งหากเทียบสมัยก่อนที่จะเกิดวิกฤติ ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเฉพาะปีนี้ประมาณ 7,000 ล้านบาท ก็มากกว่ากำไรปีที่แล้วอีก"

ชุมพลพูดเหมือนรำพึงเนื่องจากปูนใหญ่เป็นลูกหนี้รายใหญ่ ดอกเบี้ยที่แพงขึ้นและอัตราแลกเปลี่ยนมีผลกระทบค่อนข้างแรงมาก เขากล่าวว่า "อัตราแลกเปลี่ยนกระทบเป็นเรื่องที่เราพอผ่อนส่งได้ เพราะว่าเงินกู้เราเป็นเงินกู้ระยะยาว แต่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นนั้นเราต้องจ่ายทันที เพราะไม่อย่างนั้นเราเป็น NPL แต่เราไม่เป็น"

การที่ปูนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่ดี มองในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการช่วยผ่อนเบาภาระของระบบแบงก์ เพราะชุมพลเปรียบเปรยว่า "หากดูดอกเบี้ยโดยเฉพาะในประเทศนั้น ต้องเรียกว่าลูกหนี้ดี จ่ายดอกเบี้ยแทนลูกหนี้ที่ไม่จ่าย เพราะว่าแบงก์ เนื่องจากเขามีปัญหาลูกหนี้ไม่จ่ายเป็นจำนวนมาก เขาก็ต้องมีความจำเป็นเพื่อไม่ให้ขาดทุน ต้องชาร์จลูกหนี้ที่ไม่จ่ายมากขึ้น หรืออย่างน้อยไม่ยอมลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ที่ไม่จ่าย นี่ก็เป็นเรื่องที่เราหวังว่าเหตุการณ์จะเปลี่ยนไปหรือดีขึ้น"

ทั้งนี้ชุมพลก็คาดหมายว่าในไตรมาสหลังนี้ จะมี 2 ปัจจัยที่ช่วยให้ผลประกอบการของปูนใหญ่ดีขึ้นได้คือ มีแนวโน้มที่จะเป็นในทางด้านบวกในเรื่องดอกเบี้ย ทั้งในและต่างประเทศมีแนวโน้มลดลง เพราะต้นทุนค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยมาเป็นอันดับ 2 หลังจากต้นทุนการผลิตหรือต้นทุนสินค้า รายการนี้มีแนวโน้มลดลง

เรื่องที่สองคือ การส่งออกที่มีแนวโน้มดีขึ้น ราคาสินค้าส่งออกก็มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันค่าเงินบาทก็แข็งขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อคูณกลับมาเป็นเงินบาท ก็แลกได้น้อยลง ก็คงเจ๊ากันไป แต่สุดท้ายยอดขายในไตรมาส 4 ทุกปีจะดีกว่าไตรมาส 3 เพราะหลังหน้าฝนจะมีการใช้จ่ายมากขึ้น มีการสั่งวัสดุก่อสร้างมากขึ้น โดยทั่วไปในไตรมาสสี่ยอดขายจะขึ้น สินค้าจะขายดีขึ้น "ไตรมาส 4 โดยทั่วไปเป็นไตรมาสที่ดีกว่าปีปกติ" เขากล่าว

อย่างไรก็ดีในแง่กำไรขาดทุนของบริษัทนั้น เขาอธิบายว่า "ปัจจัยที่จะทำให้ผลประกอบการดีขึ้นหรือไม่ดีขึ้น นอกจากเรื่องดอกเบี้ยที่เป็นเรื่องใหญ่ แต่ที่สำคัญคือ ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจที่มีผลสะท้อนต่อการใช้สินค้าของเครือฯกระเตื้องขึ้น เพราะว่ายอดขายในประเทศลดลงไปมาก แม้ส่งออกมีเงินตราต่างประเทศเข้ามาชดเชย แต่ราคาส่งออกโดยทั่วไปจะต่ำกว่าราคาในประเทศมาก เพราะว่าเราต้องไปแข่งขันกัน เรายังต้องเป็นผู้ออกค่าขนส่งด้วย ก็ต้องหักไปจากราคาขาย เพราะว่าผู้ซื้อสนใจราคาส่งถึงบ้านเขา ดังนั้นเขาไม่สนใจว่าต้นทุนเราเท่าไหร่ ค่าระวางเท่าไหร่ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ทำให้การส่งออกบ่อยครั้งนั้นส่งผลในแง่กำไรขาดทุนน้อยกว่าการขายในประเทศ เพราะฉะนั้นการจะทำให้ธุรกิจหรือผลประกอบการจะดีขึ้นนั้น เรื่องแรกคือเศรษฐกิจต้องหยุดทรุด ผมคิดว่าตอนนี้ค่อนข้างมีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจหยุดทรุดแล้ว คือแปลว่าจะไม่เลวร้ายลง แต่ไม่ใช่ว่ามันจะดีขึ้น หลังจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าอัตราการกระเตื้อง หรือการฟื้นตัวจะมาได้เร็วแค่ไหน"

ด้านสินทรัพย์มีจำนวน 319,110 ล้านบาทเทียบกับงวดเดียวกันของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 สาเหตุใหญ่เนื่องจากบริษัทมีการตีราคาสินค้าเพิ่มขึ้นจากเมื่อสิ้นเดือน ธ.ค.ของปีที่ แล้ว เพื่อให้แสดงราคาสินทรัพย์ให้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น เนื่องจากค่าเงินบาทลอยตัว และบริษัทฯ ได้ตัดค่าเสื่อมในอัตราที่เกินกว่าอายุการใช้งานจริงของเครื่องจักรนั้นๆ (ตรงจุดนี้อวิรุทธ์อธิบายว่าใช้ค่าเสื่อมราคาเป็น tax shield มีผลให้เสียภาษีน้อยลงตามที่รัฐบาลอนุญาตให้ทำได้) นอกจากนี้ยังมีบริษัทย่อยบางบริษัทที่มีโครงการที่ดำเนินการอยู่ ซึ่งโครงการเหล่านี้ได้มีการเพิ่มทรัพย์สินและโรงงาน จึงมีการเพิ่มยอดจำนวนเงินสินทรัพย์จากปีที่แล้ว

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us