ประเด็นที่น่าจับตามากไปกว่านี้ก็คือ บทบาทและความสำคัญของที่ปรึกษา มีผลโดยตรงต่ออนาคตของ
ทศท. และ กสท.
"ผลศึกษาที่ทำมานี้อาจให้คุณหรือให้โทษรัฐวิสาหกิจได้ ดังนั้นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยก็คือ
สายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงให้กลุ่มที่ปรึกษาที่คว้าโครงการนี้มา"
กรณีของ กสท.ที่ได้กลุ่มเลแมน ยูบีเอส และทิสโก้ มาเป็นที่ปรึกษาหาพันธมิตรร่วมทุนให้กับ
กสท. หรือกรณีของกลุ่มธนสยาม ซี.เอส.เฟิร์สต์ บอสตัน มาเป็นที่ปรึกษาเรื่องการแปลงสัมปทาน
กลุ่มเหล่านี้มีที่มาที่ไปทั้งสิ้น
หากมองลึกลงไปจะเห็นได้ว่า การคว้างานของที่ปรึกษาทั้งสองกลุ่มนี้ จะมีทุนสื่อสารของไทยยืนสงบนิ่งอยู่เบื้องหลัง
และทุนสื่อสารรายนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน นั่นคือ กลุ่มยูคอม ซึ่งเคลื่อนไหวเรื่องการแปรรูปมานานแล้ว
ภูษณเองก็เคยเปิดแนวคิดในเรื่องการจับมือกันระหว่างเอกชนไทย ที่ควรจะร่วมมือกันทั้งในเรื่องของเครือข่ายและการร่วมทุน
สิ่งที่ยูคอมและทุนสื่อสารของไทยอื่นๆ หวั่นวิตกที่สุดสำหรับการแปรรูปก็คือ
การเปิดเสรีให้บริษัทสื่อสารต่างชาติเข้ามาลงทุน เพราะเอกชนไทยรู้อยู่เต็มอกว่ายากที่จะไปแข่งขันกันได้ง่ายๆ
ผลจากการเปิดเสรีในอนาคตของ ทศท. และ กสท.จะกลายเป็นคู่แข่งขันอีก 2 ราย
บนเวทีอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และทั้ง 2 รายนี้ แม้จะมีจุดอ่อนในเรื่องบุคลากรและการตลาด
แต่เป็นคู่แข่งที่มีความพร้อมในเรื่องของเครือข่ายและขุมพลังทางการเงินมาก่อน
ที่สำคัญในอีกไม่ช้า ทั้ง ทศท.และ กสท.จะเปิดขายหุ้นให้กับพันธมิตรร่วมทุนเข้ามาถือหุ้น
ซึ่งก็ควรจะต้องเป็นบริษัทสื่อสารยักษ์ใหญ่จากต่างชาติ เพราะมีความพร้อมทั้งในเรื่องเงินทุนและเทคโนโลยี
หากเป็นไปตามนั้น ทศท.และ กสท.ก็จะติดปีก และจะกลายเป็นคู่แข่งของเอกชนในประเทศ
แต่หากได้คู่ไม่ดีก็เท่ากับ คู่แข่งขันก็จะลดน้อยลงไปอีก
หรืออย่างน้อยๆ ผลประโยชน์ก้อนโตที่จะไหลมาจากการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมครั้งนี้
การยืนอยู่อย่างสงบนิ่งเบื้องหลังที่ปรึกษาเหล่านี้ ย่อมเป็นเรื่องที่ดีกว่า
แค่แปลงสัมปทานไปตามที่อยากจะเป็น หรือพันธมิตรรายใดที่อยากมาลงทุนใน ทศท.
และ กสท.ก็ต้องผ่านกลุ่มที่ปรึกษาเหล่านี้ ซึ่งมีเอกชนยืนคอยรับค่าต๋งอยู่เบื้องหลัง
นี่คือสิ่งที่เอกชนมองเห็น แต่ไม่รู้ว่า ทศท.และ กสท.เห็นหรือไม่