Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2541
แปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ปรึกษากินเรียบ             
 

   
related stories

ยูคอมเดิมเกมลึกผ่านที่ปรึกษา
จุฬาฯ ซุ่มเงียบ โกยงานที่ปรึกษา
แปลงสัมปทานเดิมพันครั้งนี้เล่นไม่ยาก
ทศท.2 แสนล้านบาทขาดตัว กสท. 7.5 หมื่นล้านบาท

   
search resources

องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย-TOT
กสท โทรคมนาคม, บมจ.
Telecommunications




เกือบ 5 ปีเต็มกับเส้นทางการแปรรูปขององค์การโทรศัพท์ฯ และการสื่อสารฯ สองรัฐวิสาหกิจชั้นนำของไทย ผลประโยชน์มหาศาลปลิวสะพัด แค่ช่วงปูพื้น เงินก้อนใหญ่สะพัดเข้ากระเป๋าบรรดาที่ปรึกษาไปแล้วไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาท ยังมีงานชิ้นหลักๆ ทั้งขายหุ้นให้พันธมิตรร่วมทุน และเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องควักเงินจ้างที่ปรึกษาอีกหลายระลอก ศึกการแย่งชิงกันเป็นที่ปรึกษา งานนี้วัดกันด้วย คอนเนกชั่น อย่างเดียว

ทศท.หมดเงิน 500 ล้านบาท

"เราตีราคาตัวเองได้ แต่ใครล่ะจะเชื่อถือ" ใครจะรู้ว่าถ้อยคำเพียงไม่กี่คำของ ดร.ธงชัย ยงเจริญ ผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) จะสะท้อนว่าเวลานี้ ทศท.หมดเงินไปแล้วกว่า 70 ล้านบาท ในการจ้างที่ปรึกษาจากต่างประเทศมาประเมินมูลค่าทรัพย์สิน และมูลค่าทางการค้าของ ทศท.

หากรวมระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงเวลานี้ 5 ปีเต็ม ทศท.ใช้เงินไปแล้วเกือบ 500 ล้านบาท ในการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อใช้ในการแปรรูป เงินจำนวนนี้หากนำไปใช้เปิดให้บริการโทรคมนาคมกับประชาชนได้สบายๆ ยังไม่นับกับที่ต้องใช้เพิ่มขึ้นอีกเกือบพันล้านบาทในปีต่อไป จนกว่าการแปรรูปและการเปิดเสรีใน 4-5 ปีข้างหน้าจะเสร็จสมบูรณ์

ทศท.อาจต่างจากหน่วยงานอื่นๆ ตรงที่การแปรรูปของ ทศท.เริ่มต้นขึ้นมาไม่ใช่เพราะแรงบีบคั้นจากไอเอ็มเอฟ ที่ต้องการให้ไทยขายหุ้นรัฐวิสาหกิจเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ และเปิดเสรีตามข้อตกลงจากการเป็นสมาชิกขององค์กรการค้าโลก

ทศท.ตื่นตัวในเรื่องการแปรสภาพมาตั้งแต่ 6-7 ปีที่แล้ว แนวคิดดั้งเดิมของผู้บริหาร ทศท.ในเวลานั้นต้องการหลุดพ้นจากกระทรวงการคลังที่ควบคุมรัฐวิสาหกิจ ทั้งในเรื่องของเพดานเงินกู้และพนักงาน ทำให้ไม่เกิดความคล่องตัวในการลงทุน

ประจวบเหมาะกับแนวคิดนี้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2535-2539) ที่ว่าด้วยการกำหนดแนวทางการพัฒนาบริการพื้นฐาน ที่จะสนับสนุนให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน และกระจายวิธีการระดมทุนให้กว้างขึ้น และสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนสถานะรัฐวิสาหกิจบางแห่งให้อยู่ในรูปของบริษัทจำกัด โดยกระจายหุ้นบางส่วนหรือทั้งหมดออกขายให้สาธารณชนในตลาดหลักทรัพย์ หรือตกลงขายหุ้นให้กับพนักงานและเอกชนโดยตรง ทำให้แนวคิดในการแปรสภาพได้รับการพิจารณา ทศท.จึงได้กำหนดนโยบายไว้ใน แผนวิสาหกิจ ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2535-2539)

ทศท.ก็เริ่มเดินเครื่องด้วยการมอบหมายให้ ดิเรก เจริญผล ซึ่งเวลานั้นเป็นรองผู้อำนวยการฯ เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง

"เรามองว่า คนที่จะมาดูเรื่องนี้จะต้องเป็นคนที่มีความรู้ และเป็นคนที่ต้องมีความสามารถในการพูด หรือโน้มน้าวให้เห็นถึงผลดีของการแปรสภาพ เรื่องนี้จะทำไม่ได้เลย หากพนักงาน ทศท.ไม่เห็นด้วย เพราะมันเกี่ยวกับพนักงานโดยตรง" อดีตผู้บริหารของ ทศท.เล่า

ดิเรก จัดเป็นผู้บริหารของ ทศท.ที่มีความรู้คนหนึ่ง งานที่รับก็มักเป็นงานด้านบริหารและงานทางด้านนโยบาย ในยุคที่พรรคชาติพัฒนาคุมกระทรวงคมนาคม ดิเรกเคยได้รับแต่งตั้งจากสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ไปนั่งเป็น รมช.คุมงานทางด้าน ทศท. และเป็นคนจัดทำแผนแม่บทโทรคมนาคม ฉบับแก้ไขที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปแล้ว

ดิเรก ให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า องค์การโทรศัพท์ฯ ก็เหมือนกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในเรื่องการแปรสภาพมาก่อน จึงต้องพึ่งพาที่ปรึกษาจากต่างประเทศมาศึกษา และการจ้างที่ปรึกษาเพื่อการแปรรูป เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2535 เพื่อมาศึกษากลยุทธ์การแปรสภาพของ ทศท.

"ทศท.ส่งหนังสือเชิญชวนไปยังที่ปรึกษาชั้นนำต่างๆ ในหลายประเทศทั่วโลก และเปิดให้มีการประมูลคัดเลือก เรากำหนดสเป็กไว้เลยว่า จะต้องยื่นเข้ามาเป็นกลุ่ม โดยจะต้องมีทั้งที่ปรึกษาในและต่างประเทศ" ดิเรกเล่า

จากจำนวนที่ปรึกษาทั้งหมด 35 กลุ่มที่ยื่นข้อเสนอเข้ามา คัดเหลืออยู่ 7-8 กลุ่ม และเหลือที่ผ่านข้อเสนอทางเทคนิคมาชิงดำกันจริงๆ แค่ 6 กลุ่ม ซึ่งหลังจากเปิดซองข้อเสนอราคาแล้ว ปรากฏว่ากลุ่มคูเปอร์ แอนด์ ไลแบรนด์ ที่ควงคู่มากับ Merrill Lynch, Skad-den Arps Slate Meagher & Flom บงล.ทิสโก้ และจุฬายูนิเสิร์ช คว้าชัยชนะมาในที่สุด ด้วยค่าจ้าง 24,750,000 บาท ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 7 เดือน

การแปรรูปไม่ใช่งานทำแล้วจบเบ็ดเสร็จเหมือนกับงานอื่นๆ แต่ยังต้องอาศัยเวลาและความแน่ชัดของนโยบาย ผลศึกษาที่กลุ่มคูเปอร์ได้รับมาก็เป็นแค่การวางกรอบของการแปรรูปเท่านั้น เช่น การศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์และสภาวะการค้าโลกเสรี และเสนอแนวทางการแปรสภาพ ทศท และการบริหารงาน

บอร์ด ทศท.ในวันที่ 13 มิถุนายน 2538 จึงมีมติเห็นชอบในหลักการให้ ทศท.จ้างบริษัทคูเปอร์ แอนด์ ไลแบรนด์ (ซีแอนด์แอล) เป็นที่ปรึกษาแกนหลัก (CORE ADVISOR) เพื่อช่วยเหลือ ทศท.ในการแปรสภาพตามแนวทางและกลยุทธ์ ที่กลุ่มคูเปอร์ได้ศึกษาวิเคราะห์และเสนอแนะไว้แล้ว และมีเงื่อนไขในการจ้างงงานตามแต่จะกำหนดเป็นเรื่องๆ ไป


เส้นทางของคูเปอร์ใน ทศท.จึงทอดเวลาไปได้อีกยาวไกล

และจากการตัดสินใจของดิเรกที่เลือกคูเปอร์ในครั้งนั้น ก็ทำให้คูเปอร์กลายเป็นเจ้าประจำ ที่ผูกขาดการเป็นที่ปรึกษาในเรื่องการแปรสภาพให้กับ ทศท.มีงานที่ทำต่อเนื่องมาจนถึงปี 2540 รวมเวลาเกือบ 5 ปีเต็ม ที่ ทศท.จ่ายเงินเป็นเงินค่าจ้างในการเป็นที่ปรึกษาแปรรูปให้กับคูเปอร์ไปแล้วเกือบ 200 ล้านบาท (ดูตารางการว่าจ้างที่ปรึกษาของทศท.)

"วิธีการของคูเปอร์ก็คือ คิดโปรเจ็กต์ใหม่ๆ เกี่ยวกับการแปรสภาพตลอด บอกว่าองค์การโทรศัพท์ยังต้องทำในเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมเรื่อย และคูเปอร์ก็เป็นคนรับเป็นที่ปรึกษาเองโดยใช้วิธีการจ้างต่อไป หรือหากใช้วิธีการคัดเลือก คูเปอร์ก็เป็นคนทำทีโออาร์เอง แน่นอนว่าคนที่ชนะประมูล ก็ต้องเป็นคูเปอร์เอง"

ในกระบวนการของการคัดเลือกที่ปรึกษา ทศท.จะใช้วิธีการ "ตกลง" เป็นส่วนใหญ่ ให้เหตุผลว่า เป็นงานจำเป็นเร่งด่วน และเป็นการจ้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

โครงการที่แล้วมาของคูเปอร์ เกือบทั้งหมดได้มาจาก "การตกลง" เกือบทั้งสิ้น

เมื่อครั้งที่ ทศท.จ้างคูเปอร์ทำทีโออาร์ และหลักการจ้างที่ปรึกษาประเมินมูลค่า ทศท. เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2538 ดิเรก เจริญผล ทำหนังสือถึงเกียรติ ศิริภาพ ตามบันทึก เลขที่ คค 23 ขออนุมัติในหลักการให้จ้างบริษัทคูเปอร์เป็นผู้ทำทีโออาร์ที่ใช้ในงานประเมินมูลค่า ทศท.

ดิเรกให้เหตุผลในครั้งนั้นว่า คูเปอร์เป็นผู้รู้ข้อมูลในเรื่องการแปรสภาพ ทศท.เป็นอย่างดี จะทำให้การทำทีโออาร์ในการคัดเลือกเร็วขึ้น เพราะการประมูลมูลค่าเป็นเรื่องเร่งด่วน

นอกจากนี้ ที่ปรึกษาด้านการเงินที่จะมาประเมินมูลค่า ทศท.นั้น ก็เห็นควรให้ใช้วิธี "ตกลง" เช่นเดียวกัน

ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย ที่คูเปอร์จะเป็นหมายเลข 1 ที่ได้รับเลือกให้เป็นที่ปรึกษาในการประเมินมูลค่า ด้วยค่าจ้าง 23,500,000 บาท ส่วนที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับเลือกเข้ามาพร้อมกันอีก 2 รายคือ กลุ่มบริษัทเลแมน บราเดอร์ส ได้รับค่าจ้าง 22,500,000 บาท และกลุ่มของมอร์แกนสแตนเลย์ ได้รับค่าจ้างไป 25,575,000 บาท

ในสายตาของดิเรกแล้ว การว่าจ้างคูเปอร์เป็นเรื่องจำเป็นและถูกต้อง เพราะงานแปรรูปเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยระยะเวลาและความเข้าใจในตัวองค์กร คูเปอร์ ซึ่งทำงานนี้มาตั้งแต่ต้นจึงได้รับการแต่งตั้ง แต่นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้ให้ความเห็นว่า การใช้ที่ปรึกษาเพียงรายเดียวอาจทำให้ได้ข้อมูลในด้านเดียว ตามความเห็นของที่ปรึกษารายนั้น

จะว่าไปแล้ว แม้ว่าคูเปอร์จะผูกขาดงานที่ปรึกษาแปรรูป ทศท. โกยเงินไปแล้วกว่า 100 ล้านบาท แต่ยังมาไม่ถึงครึ่งทางของการแปรรูป เรียกว่าแค่น้ำจิ้มเท่านั้น เพราะเป้าหมายของคูเปอร์คืองานสำคัญที่รออยู่ข้างหน้า นั่นก็คือ งานที่ปรึกษาดำเนินงานตามแผนการปรับเปลี่ยนองค์กร (TRANSFORMATION) ที่คูเปอร์เป็นคนทำแผนนี้ให้กับ ทศท.ไว้แล้ว

การเป็นที่ปรึกษาในการหาพันธมิตรร่วมทุน และหาผู้ลงทุนเฉพาะราย เป็นแนวทางตามแผนแม่บทโทรคมนาคมที่กำหนดให้ ทศท.แปรสภาพเป็นบริษัทเอกชน โดยให้มีพันธมิตรร่วมทุนถือหุ้นไม่เกิน 25% และให้มีผู้ลงทุนเฉพาะรายถือหุ้นไม่เกิน 22%

สองโครงการหลังนั้น ถือเป็นสุดยอดปรารถนาของบรรดาที่ปรึกษาทางการเงิน เพราะจะมีรายได้จากค่าตามผลสำเร็จของงาน (SUCCESS FEE) ที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าหุ้นที่ขายได้

งานที่แล้วมาอาจเรียกว่าเป็นแค่การเรียกน้ำย่อยเท่านั้น เพราะรายได้จากงานประเภทนี้จะอยู่ในรูปค่าจ้างของการเป็นที่ปรึกษา คิดตามจำนวนคนและระยะเวลาที่มาทำงาน หรือเรียกว่าค่า EXPENSE เท่านั้น ซึ่งเป็นเม็ดเงินจำนวนไม่มาก

งานแปรรูปที่ว่าจ้างที่ปรึกษา จะแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลักๆ คือ 1. การพนักงาน 2. ระบบปฏิบัติการ 3. วางระบบธุรกิจ 4. ทางด้านการเงิน

"ไฮไลต์ของงานแปรรูปจะอยู่ที่ขั้นตอนที่สี่ คือ การขายหุ้นให้กับพันธมิตรร่วมทุน หาผู้ลงทุนเฉพาะราย และการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือเรียกว่า การทำ IPO เป็น 3 ขั้นตอนที่เป็นเป้าหมายของที่ปรึกษาทางการเงิน เพราะถือเป็นงานที่จะได้รับเงินก้อนใหญ่ เป็นกอบเป็นกำ

เกมการแข่งขันระหว่างที่ปรึกษาทางการเงิน จึงเข้มข้นไม่แพ้โครงการประมูลจัดซื้ออุปกรณ์สื่อสาร สายสัมพันธ์ที่จะต่อเชื่อมไปถึงผู้มีอำนาจในหน่วยงาน ตลอดจนค่าน้ำร้อนน้ำชาต้องมี และถือเป็นเรื่องปกติ

"บางรายก็ใช้วิธีมาเสนองานอื่นๆ ซึ่งได้ค่าจ้างที่ปรึกษาไม่เท่าไหร่ โดยเสนอราคาต่ำๆ เพราะหวังจะได้งานขายหุ้นให้พันธมิตร และผู้ลงทุนเฉพาะรายมากกว่า" แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินกล่าว

แต่สรรพสิ่งล้วนไม่แน่นอน ใครจะรู้ว่า วันที่ปลดล็อกคูเปอร์ออกจากเส้นทางแปรรูปทศท.ได้เดินมาถึง

ที่ประชุมบอร์ด ทศท.วันที่ 12 ตุลาคม 2542 ได้มีการนำเสนอเรื่องถึงบอร์ด ทศท. เพื่อขออนุมัติงบประมาณของปี 2542 ที่จะใช้ในการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาสำหรับการแปรรูป ทศท.2 โครงการ คือ 1. การจ้างที่ปรึกษาโครงการสรรหาพันธมิตรร่วมทุนและผู้ลงทุนเฉพาะราย 2. การจ้างที่ปรึกษาเพื่อปฏิบัติงานปรับเปลี่ยนองค์กร (TRANSFORMATION)

ข้อเสนอที่ผู้บริหารของ ทศท. คือสิทธิชัย ส่งพิริยะกิจ รองผู้อำนวยการ ทศท.นำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดในวันนั้น ก็คือ ทศท.จะว่าจ้างคูเปอร์ แอนด์ ไลแบรนด์ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ (PWC) ให้เป็นที่ปรึกษาแกนหลัก โดยใช้วิธีตกลงกัน ส่วนการว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินและที่ปรึกษาทางกฎหมายที่ต้องใช้สำหรับทำเรื่องนี้ด้วยนั้น จะใช้วิธีการคัดเลือกในภายหลัง

พูดง่ายๆ ก็คือ ทศท.ได้เลือกคูเปอร์ให้เป็นที่ปรึกษาแกนหลักไว้แล้ว และให้คูเปอร์ทำหน้าที่ไปหาที่ปรึกษาทางการเงิน และที่ปรึกษาทางกฎหมาย เข้ามาร่วมในทีมอีกครั้งหนึ่ง

ราคาค่าที่ปรึกษาที่คูเปอร์เสนอสำหรับงานทั้ง 2 ชิ้น ก็คือ 877 ล้านบาท แต่ตอนหลังต่อรองลดลงมาเหลือ 390 ล้านบาท

ปรากฏว่า มีชัย วีระไวทยะ ประธานบอร์ด ทศท.คนปัจจุบัน มีมติไม่รับข้อเสนอของคูเปอร์และสั่งให้ ทศท.ไปทำเอง ในส่วนของการหาที่ปรึกษามาช่วยทำเรื่องพันธมิตรร่วมทุน ก็ให้ ทศท.ขอความร่วมมือไปยังเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ เวิลด์แบงก์ หรือแม้แต่แบงก์กรุงไทย ให้มาช่วยทำทีโออาร์เพื่อคัดเลือกที่ปรึกษาทางการเงินและกฎหมาย

เหตุผลที่มีชัยให้ไว้ก็คือ คูเปอร์ฯ นั้นเป็นบริษัทที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญ ในเรื่องการจัดการ (MANAGEMENT) แต่ขั้นตอนของการขายหุ้นให้กับพันธมิตรร่วมทุนและผู้ถือหุ้นเฉพาะราย เป็นงานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของที่ปรึกษาทางการเงิน (INVESTMENT BANKER)

พูดง่ายๆ ก็คือ คูเปอร์ ไม่เหมาะกับงานนี้ และ ทศท.ไม่ต้องการเอา "ยี่ปั๊ว" มาทำหน้าที่แทน ทศท. และยี่ปั๊วนั้นยังไม่ตรงกับความสามารถที่ต้องการใช้อีกด้วย

"ทศท.เราทำได้เอง เราสามารถดึงคนจากกระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ และเวิลด์แบงก์มาช่วยทำในเรื่องการออกทีโออาร์ คัดเลือกที่ปรึกษาทางการเงินที่จะมาได้เอง" มีชัยให้เหตุผลถึงการตัดสินใจ

เหตุผลอีกอย่างหนึ่ง เป็นเพราะสไตล์การทำงานของมีชัยในยุคนี้ ทศท.เน้นภาพลักษณ์ความโปร่งใสเข้าว่า เมื่อมีเสียงสะท้อนมาเข้าหูให้ฟังบ่อยๆ ว่า คูเปอร์ผูกขาดอยู่กับ ทศท.เพียงรายเดียว โดยมีผู้บริหาร ทศท.หนุนหลังอยู่ ก็ตัดสินใจยกเลิกทันที ชนิดสายฟ้าแลบ

ลึกๆ แล้ว ว่ากันว่างานนี้ มีชัยเกิดไปพอใจกับผลงานของบริษัทบอสตัน คอนซัลติ้ง ที่ปรึกษาทางการเงินที่ทำให้แบงก์กรุงไทย ที่ตนนั่งเป็นประธานบอร์ดอยู่อีกแห่ง และอยากให้มารับงานแปรรูปใน ทศท.

ตรงกันข้ามกับผู้บริหาร ทศท.ที่มีความคิดว่า การตัดสินใจยกเลิกคูเปอร์ แอนด์ไลแบรนด์ ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก เพราะคูเปอร์ ทำงานกับ ทศท.มานาน จนรู้ข้อมูลดีอยู่แล้ว เพียงแต่ต่อรองกับคูเปอร์ เรื่องของค่าจ้างที่คูเปอร์เรียกเก็บจาก ทศท.

ที่แน่ๆ สำหรับคูเปอร์แล้ว การตัดสินใจของบอร์ด ทศท.ครั้งนี้เหมือนกับสายฟ้าฟาด เพราะสู้อุตส่าห์ร่วมงานกับ ทศท.มา 5 ปีเต็ม เพื่อรองานใหญ่ พอถึงโค้งสุดท้ายกลับตกม้าตาย พลาดทั้งงานเป็นที่ปรึกษาหาพันธมิตรร่วมทุนและผู้ลงทุนเฉพาะราย และงานปรับเปลี่ยนองค์กร (TRANSFORMATION) ซึ่งทำมาตั้งแต่ต้น

งานนี้คูเปอร์ก็ยังไม่หมดหวังทีเดียว เพราะหลังจากมีชัยไม่รับข้อเสนอของคูเปอร์แล้ว มีชัยให้นโยบายว่า ให้มหาวิทยาลัยมารับงานที่ปรึกษาเพื่อปฏิบัติงานงานปรับเปลี่ยนองค์กร ปรากฏว่า หลังจาก ทศท.เรียกให้มหาวิทยาลัยมารับฟังข้อเสนอในการมาเป็นที่ปรึกษาเพื่อการปรับเปลี่ยนองค์กร มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งให้ความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งส่งมาถึง 3 หน่วยงาน ได้แก่ จุฬายูนิเสิร์ช และสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬา เป็นต้น

"เป็นไปได้มากว่าคูเปอร์คงพยายามต่ออีก ใช้วิธีจับมือกับจุฬายูนิเสิร์ช เพราะเคยร่วมงานกันมาตั้งแต่งานแรก และงานนี้มหาวิทยาลัยเองทำทั้งหมดคงไม่ได้ คงต้องไปจับมือกับที่ปรึกษาอีกครั้ง"

ความหวังของคูเปอร์จึงอยู่ที่ว่า จุฬาจะผ่านการคัดเลือกจาก ทศท.ได้อีกครั้งหนึ่งหรือไม่ หรือหากการเมืองเปลี่ยนแปลง คูเปอร์สามารถต่อท่อถึงผู้มีอำนาจใน ทศท.ได้อีกครั้งหรือไม่เท่านั้น

ที่แน่ๆ งานนี้ทำเอาบรรดาที่ปรึกษาจากทั้งในและต่างประเทศ ต่างตีปีกเป็นทิวแถว จากการที่บอร์ด ทศท.บอกศาลากับคูเปอร์

นี่คือส่วนหนึ่งของเรื่องวุ่นๆ ของ ทศท.ที่ว่าด้วยเรื่องของที่ปรึกษา ยิ่งเมื่อมาถึงช่วงเวลาทองที่ ทศท.ต้องขายหุ้นให้กับพันธมิตรร่วมทุนและผู้ลงทุนเฉพาะราย เกมการแข่งขันของที่ปรึกษาทางการเงินก็ยิ่งเข้มข้นมากขึ้นเท่านั้น เรื่องวุ่นๆ ที่ฉาวโฉ่ไม่แพ้การประมูลจัดซื้ออุปกรณ์ก็คงเกิดขึ้นอีก

นับตั้งแต่ปี 2536 จนถึงวันนี้ รวมเวลาเกือบ 5 ปี หมดเงินไปแล้วมากกว่า 300 ล้านบาท สมาคมพนักงานรัฐวิสาหกิจ ทศท.เคยชี้แจงไว้ว่า ทศท.ใช้เงินไปกับการแปรรูป 500 ล้านบาทแล้วนั้น แต่ ทศท.ยังไม่ได้รับประโยชน์จากการว่าจ้างที่ปรึกษาเท่าใดเลย และเดินหน้าเรื่องการแปรรูปไปแล้วถึงแค่ไหน

ผู้บริหาร ทศท.กล่าวว่า งานแปรรูปที่สำคัญของ ทศท.บางงานนั้นยังไม่คืบหน้า ไม่ว่าจะเป็นระบบบัญชีที่จะอยู่ในรูปแบบของบริษัทเอกชน การกำหนดแผนธุรกิจว่า ทศท.จะให้บริการประเภทใดบ้าง และจะทำในรูปไหน รวมทั้งการทำแผนทางด้านการเงินของ ทศท.หลังการแปรรูปเป็นบริษัทจำกัด

"ในอนาคตการแปรรูป ทศท.จะต้องหนีไม่พ้นแน่ ที่ ทศท.จำเป็นต้องเลย์ออฟพนักงานที่มีอยู่ถึง 25,000 คน แต่เวลานี้ ทศท.ยังไม่เคยศึกษาหรือเตรียมตัวในเรื่องนี้อย่างจริงจังเลย ทั้งๆ ที่ตรงนี้เป็นจุดที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด" นักวิชาการให้ความเห็น

ผู้บริหาร ทศท. บอกว่า การไม่อนุมัติงานแปรรูปทั้ง 2 โครงการให้กับคูเปอร์อาจส่งผลทำให้ ทศท.ต้องเริ่มต้นใหม่ แม้จะไม่ต้องนับ 1 ใหม่ทั้งหมด แต่ก็ถือว่าต้องถอยกลับมาตั้งหลักใหม่อีกมาก

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า งบประมาณเกือบ 500 ล้านบาท ที่ ทศท.จ่ายให้กับที่ปรึกษาทางเงินใช้ จะกลายเป็นเรื่องสูญเปล่าหรือไม่ และ ทศท.ต้องใช้เงินว่าจ้างที่ปรึกษาอีกเท่าใด


กสท.ใช้เงินไปแล้วกว่า 300 ล้านบาท

ด้านการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) รัฐวิสาหกิจอีกแห่งในสังกัดของกระทรวงคมนาคม ที่แม้ว่าขนาดขององค์กรไม่ใหญ่โตเหมือนกับของ ทศท. แต่บทบาทและความรับผิดชอบในเรื่องกิจการโทรคมนาคม มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ทศท.เท่าใดนัก ต่างกันแต่เพียงว่า ทศท.ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานในประเทศ แต่ กสท.รับผิดชอบในเรื่องของโทรศัพท์ระหว่างประเทศ กิจการไปรษณีย์ นอกเหนือจากนั้นสิทธิการให้บริการเสริมในรูปแบบต่างๆ จะเหมือนกันหมด

แต่ในเรื่องของการแปรสภาพแล้ว กสท.ก็เดินหน้าไปอย่างเงียบๆ ตามสไตล์ของผู้บริหาร กสท.ที่ไม่นิยมเป็นข่าว ยิ่งบอร์ด กสท.ในยุคของประธานบอร์ดที่ชื่อศรีสุข จันทรางศุ ด้วยแล้ว กสท.ยุคนี้จึงไม่ต่างไปจากคำว่า แดนสนธยา

การแปรสภาพของ กสท.ค่อนข้างแตกต่างไปจาก ทศท. ซึ่งฝ่ายหลังนั้นมีแนวคิดของตัวเองที่ต้องการแปรสภาพมาตั้งแต่ปี 2535 แล้ว แต่ กสท.เริ่มลงมือแปรสภาพ เมื่อเห็นว่านโยบายของรัฐบาลและแผนแม่บทโทรคมนาคมเริ่มชัดเจน

ปัญหาสำคัญการแปรสภาพของ กสท.อยู่ที่การแยกกิจการไปรษณีย์ออกจากกิจการโทรคมนาคม และจัดตั้งเป็นบริษัท กสท.-ไปรษณีย์จำกัด และบริษัท กสท.-โทรคมนาคม จำกัด โจทย์ในเรื่องการแปรสภาพของกสท. จึงมุ่งเดินเรื่องดังกล่าวเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในเรื่องของการแยกกิจการไปรษณีย์ออกจากโทรคมนาคม และงานต่างๆ ที่ระบุไว้ในแผนแม่บท เช่น กสท.แปรสภาพเป็นบริษัทเอกชน และขายหุ้นให้กับพันธมิตรร่วมทุนและผู้ลงทุนเฉพาะราย

งานทั้งหมดนี้ กสท.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทั้งทางการเงินและทางกฎหมายมาศึกษาข้อมูลแล้วหลายขั้นตอน ทั้งหมดนี้ กสท.ใช้เงินจ้างที่ปรึกษาไปแล้วกว่า 300 ล้านบาท (ดูตารางการว่าจ้างที่ปรึกษาของกสท.)

เศวต สันตานนท์ รองผู้ว่าการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า การแปรสภาพของ กสท. แบ่งแยกเป็น 4 ส่วน เริ่มตั้งแต่การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร การเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาบริหารงานและการเตรียมแปรสภาพ และการแปลงสัมปทานร่วมการงาน

กสท.เริ่มเดินเครื่องการแปรสภาพ ด้วยการปรับปรุงองค์กรเพื่อเตรียมสำหรับการเปิดเสรี เรียกใช้ บงล.กรุงไทยธนกิจ หรือ เคทีที ที่ปรึกษาเจ้าประจำมาปรับปรุงโครงสร้างกิจการโทรคมนาคม ใช้งบไป 1 ล้านบาท ส่วนงานปรับปรุงกิจการไปรษณีย์ กสท.จ้างบริษัทเคพีเอ็นจี มาเป็นที่ปรึกษาปรับปรุงโครงสร้างงานไปรษณีย์ ใช้งบไป 9.19 ล้านบาท เพราะงานนี้ กสท. ต้องการแยกให้ทั้งสองส่วนเป็นโพรฟิทเซ็นเตอร์ (profit center) สามารถทำรายได้เลี้ยงตัวเองได้

ส่วนการแยกบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน ทุน และบุคลากรด้านโทรคมนาคมและไปรษณีย์ออกจากกัน งานนี้ กสท.จ้างสำนักงานเอสจีวี-ณ ถลาง เป็นคนทำให้ ใช้เงินไป 6.4 ล้านบาท ทำเสร็จตั้งแต่มกราคม 2540

งานประเมินราคาทรัพย์สินและมูลค่ากิจการของ กสท. งานชิ้นสำคัญที่มีความหมายต่อ กสท.มาก เพราะจะส่งผลต่อราคาหุ้น กสท.ที่จะขายให้กับพันธมิตรร่วมทุนและผู้ลงทุนเฉพาะราย ซึ่ง กสท.เลือกใช้วิธีจ้างบริษัทที่ปรึกษา 2 กลุ่มมาศึกษาเรื่องนี้

เศวตเล่าว่า หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกที่ปรึกษาในเรื่องนี้ กสท.เลือกที่ปรึกษาแกนหลักในประเทศขึ้นมาก่อน 2 แห่ง คือ กรุงไทยธนกิจ และ บงล.ภัทรธนกิจ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นเมอร์ริลลินช์ภัทร) เขาให้เหตุผลว่า ทั้งสองรายนี้ทำงานกับ กสท.มานาน รู้ข้อมูลดีอยู่แล้ว

"เราทำหนังสือเชิญไปที่บริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศประมาณ 16 ราย จากนั้นก็ให้กรุงไทยธนกิจและภัทรธนกิจไปเลือกว่า จะเลือกรายไหนมาเข้ากลุ่มบ้าง กลุ่มหนึ่งก็มี 3-4 บริษัท" เศวตเล่า

ทีมแรก บงล.ภัทรธนกิจเป็นที่ปรึกษาแกนหลัก ได้เลือกเอาบริษัทโกลด์แมนแซคส์ เอเซีย, บริษัทโจนส์แลงวูทตัน (ประเทศไทย) และไพรซ์ วอเตอร์เฮาส์ ส่วนทีมที่สองภายใต้แกนนำของกรุงไทยธนกิจ เลือกบริษัทเจ.พี.มอร์แกน ซีเคียวริตี้, บริษัทบีแซทดับบลิว และบริษัทอาเธอร์ แอนด์เดอร์สัน

ทั้งสองกลุ่มนี้ได้เงินค่าจ้างไปกลุ่มละ 23.64 ล้านบาท รวม 47.28 ล้านบาท

ผลศึกษาปรากฏว่า การตีมูลค่าทรัพย์สินของทั้งสองกลุ่ม มีความเหมือนและแตกต่างกันในหลายส่วน การประเมินในส่วนของราคาทรัพย์สินนั้นจะได้ตัวเลขใกล้เคียงกัน คือ อสังหาริมทรัพย์จะมีมูลค่าประมาณ 11,500 ล้านบาท เครื่องจักรและอุปกรณ์ 24,497-34,428 ล้านบาท แต่มาถึงมูลค่าของลูกหนี้ ที่ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์ประเมินออกมามีถึง 9,807.28 ล้านบาท ในขณะที่กลุ่มอาเธอร์แอนด์เดอร์สันประเมินได้ 2,314.29 ล้านบาท ส่วนมูลค่าทางการค้าของกลุ่มภัทรธนกิจ ประเมินธุรกิจโทรคมนาคมออกมาได้ 57,000-97,000 ล้านบาท ธุรกิจไปรษณีย์ติดลบอยู่ 8,400 ล้านบาท ส่วนของเจ.พี. มอร์แกน ประเมินธุรกิจโทรคมนาคม 74,900 ล้านบาท ส่วนไปรษณีย์มีมูลค่า 16,500-18,900 ล้านบาท แต่ กสท.ยึดเอาราคากลาง คือ ในส่วนของธุรกิจโทรคมนาคมจะอยู่ที่ 75,000 ล้านบาท และธุรกิจไปรษณีย์ 17,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นตัวตั้งในการคำนวณราคาหุ้นของ กสท.ต่อไป


สัมพันธ์ลึกยูคอม
ที่ปรึกษายังกลุ่มเดียวกัน

มาถึงโครงการชิ้นสำคัญ คือ การหาพันธมิตรร่วมทุน ตามแผนแม่บทโทรคมนาคมที่กำหนดไว้ว่า หลังจากที่ กสท.แปรสภาพเป็นบริษัทจำกัด จะต้องขายหุ้น 25% ให้กับพันธมิตรร่วมทุน

เศวตเล่าว่า กสท.ส่งหนังสือไปยังบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินประมาณ 15 แห่ง จากนั้นก็คัดเลือกเหลืออยู่ 5 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย

1. กลุ่มโซโล-มอนบราเทอร์ ควงคู่มากับ ไดวาซิ-เคียวริตี้, ยูเนียนเอเซีย ไฟแนนซ์
2. กลุ่มเจ.พี.มอร์แกน มาพร้อมกับซี.เอส. เฟิร์สต์ บอสตัน และกรุงไทยธนกิจ
3. กลุ่มโกด์แมนแซคส์ มากับ N.M. ROTHSHILD & SONS (Singapore)
4. กลุ่มมอร์แกนสแตนเลย์ มากับ เอส บีซีวอร์เบิร์ก และ HSBC SECURITIES
5. กลุ่มเลแมน บราเดอร์ส ควงคู่มากับยูเนียน แบงก์ ออฟ สวิต เซอร์แลนด์ (ยูบีเอส) และ บล.ทิสโก้

ปรากฏว่า กลุ่มเลแมน บราเดอร์ส, ยูบีเอส และทิสโก้ เข้าตากรรมการมากที่สุด

"จริงๆ แล้ว คุณสมบัติของที่ปรึกษาทางการเงินเหล่านี้ก็พอๆ กัน แต่การเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจก็ต้องยึดเอาราคาที่ถูกที่สุดเป็นตัวตัดสิน ไม่อย่างนั้นก็อาจมีปัญหาภายหลัง ซึ่งกลุ่มที่ปรึกษาจริงที่น่าจะทำในส่วนนี้ ควรจะเป็นกลุ่มเดิมที่มาทำเรื่องการตีราคาทรัพย์สินและมูลค่าของ กสท."

หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ต้องเอาราคาถูกเข้าว่า

กสท.จะต้องจ่ายเงินค่าจ้างในวงเงิน 217.50 ล้านบาท ประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายดำเนินงาน (EXPENSE) เป็นเงิน 20 ล้านบาท และค่าจ้างตามผลสำเร็จของงาน (SUCESS FEE) ในอัตรา 1.25% ของมูลค่าหุ้นที่ขายได้หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งคำนวณจาก 25% ของมูลค่า กสท.ที่ กสท.กำหนดราคาไว้ที่ 80,000 ล้านบาท ซึ่งเลแมนบราเดอร์สประมาณไว้ว่าจะอยู่ในวงเงิน 210 ล้านบาท

การคว้างานชิ้นสำคัญของกลุ่มเลแมนฯ อาจดูเป็นเรื่องปกติ เพราะยูบีเอส และเลแมนฯ จัดเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (ไอบี) ที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ เรียกว่า คุณสมบัติไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ จนน่าเกลียด แม้ว่าหากเทียบกับขนาดแล้ว โกลด์แมนแซคส์ และเจ.พี.มอร์ แกนจะมีขนาดใหญ่กว่า และเคยประเมินทรัพย์สินให้กับ กสท.มาแล้ว

นั่นไม่สำคัญเท่ากับว่า เลแมนฯ และยูบีเอส ทั้งสองแห่งนี้ต่างก็เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการประนอมหนี้ ให้กับบริษัทยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่นอินดัสตรีส์ และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเกชั่น จำกัด (แทค)

เงื่อนไขในทีโออาร์ในการคัดเลือกที่ปรึกษาทางการเงินครั้งนี้ ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามไม่ให้ที่ปรึกษาทางการเงินเคยเป็นที่ปรึกษา หรือ มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชนที่รับสัมปทานกับ กสท. เพราะจะเกิดปัญหาในเรื่องของ CONFLICT OF INTEREST การขัดแย้งในเรื่องของผลประโยชน์ระหว่าง กสท.และบริษัทเอกชนที่รับสัมปทาน

ต้องไม่ลืมว่า หน้าที่ของที่ปรึกษาก็คือ การจัดทำทีโออาร์ร่วมกับคณะทำงานของ กสท.ในการคัดเลือกพันธมิตรร่วมทุน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อผู้ที่จะมาเป็นพันธมิตรร่วมทุนของ กสท.ในอนาคต

"เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเลย เพราะที่ปรึกษากลุ่มนี้จะรู้ข้อมูลของทั้ง กสท. และแทค ซึ่งจะเป็นคู่แข่งขันกันในอนาคต หลังจากที่เปิดเสรีในประเทศ" นักวิชาการจากสถาบันการเงินรายหนึ่งให้ความเห็น

จะด้วยเหตุที่ว่า กสท.ไม่รู้ข้อมูลเหล่านี้ หรือมองข้ามเหตุผลนี้ไปก็ไม่รู้ได้ แต่เป็นที่รู้กันดีว่ายูคอมนั้นมีสัมพันธ์แนบแน่นกับ กสท.มายาวนานเพียงใด ผู้บริหารระดับสูงหลายคนของ กสท.ก็ไปนั่งทำงานอยู่ที่ยูคอม อาทิ สมลักษณ์ สัจจาภินันท์ รองผู้ว่า กสท., ศรีภูมิ ศุขเนตร ผู้ว่าการสื่อสารฯ รวมทั้งพนักงานระดับปฏิบัติการของ กสท.จำนวนมาก ที่โยกมาอยู่ที่ยูคอมกันเป็นแถว

ผลงานที่ตามติดไปคือสัมปทานโทรศัพท์มือถือดิจิตอลพีซีเอ็น 1800 ที่ กสท.ยกคลื่นความถี่ทั้งแถบ 75 เมกกะเฮิรตซ์ รองรับโทรศัพท์มือถือมากกว่า 10 ล้านเครื่องให้กับแทคไป ทั้งๆ ที่รู้ว่าคลื่นความถี่นั้นมีคุณค่าขนาดไหน

งานหลักที่กลุ่มเลแมนบราเดอร์สต้องทำคือ การยกร่างทีโออาร์ตามหัวข้อที่กำหนดในกฎกระทรวง จัดเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับ กสท.เพื่อตรวจสอบ หรือการทำ DUE DILLIGENCE โดยผู้ที่สนใจจะเป็นพันธมิตรร่วมทุน การให้ข้อเสนอแนะในการเจรจากับผู้สนใจ การยกร่างสัญญาและเงื่อนไขการร่วมทุน การจัดเตรียมเอกสาร เพื่อการนำเสนอขออนุมัติการคัดเลือกพันธมิตรร่วมทุนต่อคณะรัฐมนตรี และจัดทำรายงานสรุปความเห็นการคัดเลือกประกอบการนำเสนอ ครม.

กำหนดระยะเวลาดำเนินการไว้ ตั้งแต่ มกราคม-สิงหาคม 2541 รวมเวลา 8 เดือน กสท.กำหนดไว้ว่า จะประกาศทีโออาร์คัดเลือกพันธมิตรร่วมทุนเดือนมีนาคม 41 และเปิดรับข้อเสนอซื้อหุ้นจากพันธมิตรร่วมทุน มิ.ย. 41 สรุปผลขออนุมัติจาก ครม.ในเดือนสิงหาคม 41

แต่จนถึงบัดนี้ กสท.ยังไม่สามารถเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการกับกลุ่มเลแมนฯ เพียงแต่ทำหนังสือยืนยันการว่าจ้าง (LETTER OF AWARD) ไว้เท่านั้น

ปัญหาก็คือ กสท.และกลุ่ม เลแมนฯ ยังไม่สามารถตกลงเงื่อนไขในสัญญาเกี่ยวกับประเด็นความรับผิดชอบ เมื่อเกิดมีการฟ้องร้องค่าเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งเลแมนฯ จะขอไม่รับเงื่อนไขนี้

นอกจากนี้ความไม่ชัดเจนในเรื่องนโยบาย ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการขายหุ้นให้กับพันธมิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งความล่าช้า ในขั้นตอนของการเพิ่มเติมและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปทั้งหมด เช่น การตรา พรบ.คณะมนตรีสื่อสารแห่งชาติ, ยกเลิก พ.ร.บ.องค์การโทรศัพท์ พ.ศ.2497, ยกเลิก พ.ร.บ.การสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2519, แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ไปรษณีย์ พ.ศ.2477 รวมถึงแนวทางการเรื่องการแปรรูประหว่างกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม ที่ขัดแย้งกันอยู่หลายประเด็นก็ยังไม่มีข้อยุติ

นั่นก็หมายความว่า กสท.ก็ยังไม่สามารถดำเนินการขายหุ้นให้กับพันธมิตรร่วมทุน และผู้ลงทุนเฉพาะรายได้ตามกรอบเวลาที่วางไว้

เรียกง่ายๆ ว่า กสท.ว่าจ้างพันธมิตรร่วมทุนมารอท่า แต่ไม่สามารถเดินเรื่องไปได้

"เวลานี้ กสท.คงต้องยืดเวลาการดำเนินงานของที่ปรึกษาทางการเงินไปก่อน เวลานี้เลแมนฯ ก็ทำงานอื่นๆ ไปก่อน หาข้อมูลอื่นๆ ไป ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลการเงินก็คงต้องเลื่อนไปก่อน เพราะทำตอนนี้กว่าจะเปิดเสรีก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่" แหล่งข่าวจาก กสท.กล่าว


คมนาคมจ้างที่ปรึกษา
ป้อนงานเข้าธนสยาม

การคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาจากภายนอก เพื่อมาศึกษาเรื่องการแปลงสัญญาสัมปทานของกระทรวงคมนาคม หลังจากการนั่งเก้าอี้เจ้ากระทรวงคมนาคมของสุเทพ เทือกสุบรรณได้ไม่นานนั้น นับเป็นบทสะท้อนให้เห็นความเชื่อมโยงของสายสัมพันธ์ระหว่าง กลุ่มที่ปรึกษากับผู้ว่าจ้างและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อผลศึกษาได้อย่างดี

การมารับตำแหน่งของสุเทพ นับได้ว่าเป็นช่วงข้อต่อที่สำคัญของขั้นตอนการแปรรูป เพราะแผนแม่บทโทรคมนาคมระบุไว้ว่า จะต้องเปิดเสรีในประเทศ แปลงสัมปทาน แปรรูป ทศท.และ กสท.เสร็จหมด พร้อมกันในปีหน้า คือ 2542

อย่างที่รู้ว่าเรื่องการแปลงสัญญาสัมปทาน ดูจะเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดของการแปรสภาพ เพราะเกี่ยวพันกับผลประโยชน์มหาศาล และผลได้และผลเสียระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชนผู้รับสัมปทานโดยตรง

อนุกรรมการพิจารณาการดำเนินงาน เพื่อการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจและเปิดเสรีธุรกิจโทรคมนาคม จึงแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 3 คณะ คือ คณะทำงานแปรสภาพ ทศท.และ กสท., คณะทำงานพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าบริการ, และคณะทำงานพิจารณาการแปรสัญญาร่วมการงาน

แต่สุเทพมีความเห็นว่าไม่พอ ควรจะต้องมีที่ปรึกษาจากภายนอกเพื่อ มาศึกษาเรื่องการแปลงสัมปทานด้วย โดยให้เหตุผลว่าการแปลงสัมปทานเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องผลประโยชน์ระหว่างรัฐวิสาหกิจและเอกชน ดังนั้นหากให้หน่วยงานของรัฐศึกษาเพียงอย่างเดียวก็จะไม่เป็นกลาง ควรให้มีที่ปรึกษาจากภายนอกมาศึกษาด้วย

หากดูเหตุผลแล้วก็ไม่มีอะไรผิดปกติ

แต่พอมาถึงในช่วงของการคัดเลือกที่ปรึกษา ในวันที่กระทรวงคมนาคมเปิดขายซองทีโออาร์ มีบริษัทที่ปรึกษาจากต่างประเทศให้ความสนใจมาซื้อซองรวมทั้งสิ้นถึง 16 ราย เป็นที่ปรึกษาจากไทย 4 บริษัท และต่างชาติ 12 บริษัท

เอ่ยชื่อมามีที่ปรึกษาดังๆ จากต่างประเทศ ทั้งโซโลมอน บราเธอร์ส เอเซีย แปซิฟิก จำกัด, มอร์แกน สแตนเลย์ เอเซีย จำกัด, โกลด์แมน แซคส์ (เอเซีย) แอล.ไอ.ซี, เจ.พี.มอร์แกน ซิเคียวริตี้ เอเซีย, ซี.เอส.เฟิร์ส์ บอสตัน, เอสซีบี วาร์เบิร์ก พรีเวียร์ ซิเคียว, คูเปอร์ แอนด์ ไลแบรนด์, ยูเนียน แบงค์ ออฟสวิตเซอร์แลนด์ และบริษัทไดวา ซิเคียวริตี้ส์

ส่วนไทยมี บงล.กรุงไทยธนกิจ, บล.ภัทร จำกัด, บงล.ทิสโก้ จำกัด และ บงล.ธนสยาม

เงื่อนไขที่กำหนดไว้จะต้องมีประสบการณ์เรื่องแปรรูป, ปรับโครงสร้างและมีบุคลากรพร้อม และจะจ้างเป็นกลุ่ม

พอถึงวันกำหนดยื่นซองข้อเสนอประมูลจริงๆ ปรากฏว่ามีเพียงกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ธนสยาม ที่จับกลุ่มกับ ซี.เอส.เฟิร์สต์ บอสตัน (สิงคโปร์) และบริษัท BARINGS BROTHERS ที่ยื่นข้อเสนอเข้ามา

กลุ่มของธนสยามจึงลอยลำเข้ามาเป็นที่ปรึกษาแบบสบายๆ ด้วยวงเงินค่าจ้าง 14 ล้านบาท ซึ่ง ทศท. และ กสท.แบ่งกันออกคนละครึ่ง

"เราไม่มีตัวเลือก เพราะเสนอมากลุ่มเดียวก็ต้องจ้างไปตามนั้น เพราะนโยบายของ รมต.เองก็ให้รีบศึกษา" แหล่งข่าวที่เป็นคณะกรรมการคัดเลือกให้ความเห็น แต่งานนี้ก็สร้างความประหลาดใจให้กับคนในวงการไม่น้อย เพราะทุกรายล้วนแต่เป็นที่ปรึกษาผ่านประสบการณ์ด้านแปรรูป หลายรายในนั้นก็เคยทำให้กับ ทศท.และ กสท.อยู่แล้ว ในขณะที่กลุ่มธนสยามนั้นแทบจะไม่มีประสบการณ์

"เป็นเพราะระยะเวลาที่ให้ไว้แค่ 45 วัน กับการศึกษาการแปลงสัมปทาน ซึ่งมีรายละเอียดเยอะที่ต้องศึกษาเยอะมาก ทั้งในแง่ของกฎหมายไทยและกฎหมายต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และรายละเอียดอื่นๆ เป็นไปไม่ได้ที่จะทำได้ทัน" บริษัทที่ปรึกษารายหนึ่งเล่า

แต่หากดูที่มาที่ไปของที่ปรึกษากลุ่มนี้ ก็คงต้องบอกว่าไม่ธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พจน์ วิเทศยนตรกิจ ผู้บริหารระดับสูงของ ซี.เอส.เฟิร์สต์ บอสตัน (สิงคโปร์) ซึ่งเป็นแกนนำของกลุ่มที่ปรึกษานี้

พจน์ใช้ชีวิตเกือบทั้งชีวิตในต่างประเทศ ถึงขั้นที่ว่าพูดภาษาอังกฤษถนัดกว่าภาษาไทย เขาจัดว่าเป็นมือการเงินฝีมือดีคนหนึ่ง ทำงานอยู่ในแวดวงการเงินมาตลอด ล่าสุดก่อนบินกลับมาเมืองไทย เขานั่งบริหารงานอยู่ที่ ซี.เอส.เฟิร์สต์ บอสตัน ที่ประเทศสิงคโปร์ และทำให้พจน์รู้จักสนิทสนมเป็นอย่างดีกับภูษณ ปรีย์มาโนช - ผู้ยิ่งใหญ่ของแทค เพราะหุ้นของแทคก็จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่สิงคโปร์ และภูษณเองก็ต้องทำเรื่องเงินกู้ หาเงินเข้าบริษัทแทคตลอดเวลา

เมื่อเห็นฝีมือกัน ภูษณจึงดึงพจน์มาช่วยงานให้กับรัฐบาลของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ในการปรับ ครม.ครั้งสุดท้ายของบิ๊กจิ๋ว ก่อนจะยุบสภา พจน์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่ก็เป็นเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 11 วัน

แม้เวลานี้พรรคความหวังใหม่จะกลายเป็นฝ่ายค้านไปแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นรัฐบาล ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มยูคอมจะหลุดพ้นจากวังวนการเมือง เป็นเรื่องปกติของทุนสื่อสารที่ต้องเชื่อมสายสัมพันธ์ไว้กับทุกพรรคการเมือง

สัมพันธภาพระหว่างยูคอมกับพรรคประชาธิปัตย์มีมานาน บุญชัย เบญจรงคกุล เองก็เคยเกือบใส่เสื้อพรรคนี้ลงสมัครรับเลือกตั้งมาแล้ว และน้องเขยของบุญชัย ก็เป็น ส.ส.สังกัดพรรคประชาธิปัตย์

ยิ่งกับสุเทพด้วยแล้ว กลุ่มบุญชัยและสุเทพ สนิทสนมกลมเกลียวเป็นอย่างดี ถึงขั้นที่ว่า ในช่วงที่สุเทพรับตำแหน่งรัฐมนตรีคมนาคมใหม่ ก็ยังเคยนั่งเครื่องบินส่วนตัวลำหรูของกลุ่มยูคอมไปฉลองตำแหน่งถึงภูเก็ตมาแล้ว

เวลานี้พจน์ก็ข้ามฟากจากความหวังใหม่ มานั่งเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวให้กับสุเทพอย่างไม่เปิดเผยอยู่แล้ว

ทางด้านบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนสยามเอง ก็มีผู้บริหารระดับสูงอย่าง รัตน์ พานิชพันธุ์ นั่งอยู่ในบอร์ดการสื่อสารฯ รัฐวิสาหกิจภายใต้การดูแลของสุเทพ ซึ่งสุเทพก็เป็นคนเซ็นแต่งตั้งให้มาเป็นบอร์ดพร้อมกับมือการเงินอีก 3 คน

และนี่เป็นเหตุที่ทำให้ตระหนักดีว่า เหตุใดกลุ่มธนสยามจึงคว้างานสำคัญชิ้นนี้ของกระทรวงคมนาคมไปแบบลอยลำ

"การแข่งขันของธุรกิจที่ปรึกษา ก็ไม่ต่างไปจากการแข่งขันประมูลจัดซื้อของของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย ที่ใช้วิธีเปิดประมูลคัดเลือกเหมือนกัน ก็หนีไม่พ้นกรณีที่มีการฮั้วกัน บางรายก็ได้งานไปเพราะอาศัยสายสัมพันธ์อย่างเดียวเลย" แหล่งข่าวกล่าว

แต่เหตุที่มาของธนสยามยังไม่สำคัญเท่ากับว่า ผลศึกษาการแปลงสัมปทานของกลุ่มธนสยามนั้น สอบตกในสายตาของคณะกรรมการตรวจรับ จนไกรสร พรสุธี ที่ปรึกษาของกระทรวงคมนาคม ซึ่งสุเทพมอบหมายให้ดูเรื่องนี้ต้องสั่งให้มีการไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมถึง 2 ครั้ง 2 ครา และเตรียมที่จะปรับเงินหากผลศึกษายังไม่เป็นที่น่าพอใจ

"ที่กระทรวงคมนาคมทำเอง ยังดีกว่านี้เลย ไม่มีการศึกษาอย่างละเอียดเลย ข้อมูลหลายอย่างที่สำคัญให้ไปวิเคราะห์ก็ไม่ทำ ข้อดีข้อเสียก็ไม่แจกแจง งานนี้เป็นงานยาก เวลาก็น้อย แต่จริงๆ แล้ว มือของที่ปรึกษากลุ่มนี้ไม่ถึง ควรจะ BLACK LIST ไว้เลย" เจ้าหน้าที่ตรวจรับเล่า

แต่ผลศึกษาที่ว่านี้ก็ผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคมไปถึงมือ คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ที่มีศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานไปเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับผลศึกษาที่คณะอนุกรรมการของกระทรวงคมนาคม ซึ่งจะไปพิจารณาพร้อมกับผลศึกษาของอาเธอร์ แอนด์เดอร์สัน ที่ปรึกษาของกระทรวงการคลัง ที่ว่าจ้างมาด้วยเงิน 2 ล้านบาท

ก็ยังไม่รู้ว่าเงิน 14 ล้านบาทที่จ่ายไปสำหรับผลศึกษาชิ้นนี้จะเหมือนกับงานอื่นๆ หรือไม่


ยิ่งสะเปะสะปะ
ที่ปรึกษาก็ยิ่งรวย

5 ปีเต็มกับการแปรรูป ทศท.และ กสท.ที่สองรัฐวิสาหกิจนี้ต้องควักกระเป๋าลองผิดลองถูก หมดเงินไปแล้วเกือบพันล้านบาท

"ผลศึกษาที่เกี่ยวกับงานแปรรูป เวลานี้มีออกมาเกลื่อนกลาด เพราะทุกหน่วยงานก็ทำของตัวเอง บางงานก็ซ้ำซ้อนกัน นโยบายของรัฐเองก็ยังไม่ชัดเจน งานก็เดินหน้าต่อไม่ได้ เช่น กรณีของ กสท.ที่จ้างที่ปรึกษามาแล้ว ก็ต้องหยุดไว้ก่อน เพราะยังไม่รู้เลยว่า จะเปิดเสรีเมื่อไหร่แน่"

เวลานี้ทั้งกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังก็ยังมีความเห็นไม่ตรงกันในหลายๆ ประเด็น ทั้งการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งคอมปานี หลังจากการแปรรูป ทศท.และ กสท. ตั้งเป็นบริษัทจำกัดแล้ว รวมทั้งระยะเวลาที่กำหนดในการแปรรูป

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการแปลงสัมปทาน ที่มีทั้งผลศึกษาของกระทรวงคมนาคมของกลุ่มธนสยาม และผลศึกษาของบริษัทอาเธอร์แอน เดอร์สัน ที่กระทรวงการคลังว่าจ้างให้มาศึกษาเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปศึกษาต่ออีก และสั่งให้มีการทำประชาพิจารณ์ ก่อนจะเลือกว่าจะทำแนวทางใด

"งานเดินมาได้ไม่ถึง 50% เลย ทำกันแต่ผลศึกษา เวลานี้ก็กองกันอยู่เกลื่อนกลาด ผมว่างานนี้คนที่รวยที่สุด หนีไม่พ้นที่ปรึกษา" นักวิชาการรายหนึ่งกล่าว

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us