Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2541
ค่ายรถอเมริกัน เปิดประเด็นสิ่งแวดล้อม ดึงรัฐซัปพอร์ตอุตสาหกรรมยานยนต์             
 


   
search resources

Vehicle




เพื่อกระตุ้นตลาดรถยนต์ในประเทศให้ตื่นจากภวังค์ ค่ายรถอเมริกันนำโดย General Motors Corporation และ Ford Motor Company ร่วมกันลงขันเป็นสปอนเซอร์ให้กับสมาคมวิศวกรรมยานยนต์นานาชาติ (Society of Automative Engineering International : SAE) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (National Metal and Materials Technology Center : MTEC) ทำการศึกษาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยได้มีการจัดประชุมและสัมมนาเชิงปฏิบัติการกันไปแล้ว เมื่อวันที่ 30 มีนาคม-3 เมษายนที่ผ่านมา ที่กรุงเทพฯ ตามดำริของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการให้เหล่าผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศและในประเทศมาระดมสมอง หาแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในอนาคต และเมื่อกลางเดือนกันยายนนี้ ทาง SAE ได้มอบข้อเสนอแนะที่ได้รวบรวมจากการประชุมสัมมนาครั้งนั้นให้แก่หน่วยงานราชการไทย คือกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เพื่อนำไปพิจารณาประยุกต์ใช้ในการวางนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในอนาคต

โดยข้อเสนอแนะนี้มีผู้เชี่ยวชาญจากทั้งไทยและอเมริการาว 70 คนเป็นผู้จัดทำ ด้วยการนำผลการประชุมมาทบทวนและใส่ความเห็นในเชิงเทคนิคที่แต่ละคนเชี่ยวชาญ ให้ออกมาเป็นข้อเสนอแนะซึ่งประเด็นหลักๆ จะเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยสามารถแยกออกเป็น 5 เรื่อง รวม 62 ข้อ คือ 1. ไอเสียจากรถยนต์ คุณภาพอากาศ โครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง 2. เชื้อเพลิงและพลังงาน 3. การปรับให้มาตรฐาน และกฎระเบียบให้สอดคล้องกัน 4. การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ และ 5. นโยบาย และกลยุทธ์อุตสาหกรรมรถยนต์ระดับชาติ

"คอนเซ็ปต์ที่เราได้นำมาทำเวิร์คชอปและออกมาเป็นข้อเสนอแนะนี้ ถ้าเรามองการผลิตรถทั้งโลกเมื่อปี 1997 ได้ประมาณ 39 ล้านคัน สามารถสร้างเป็นเงินได้ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลก็จัดเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใหญ่ที่สุดอันหนึ่งของโลก ตัวอย่างคำถามที่เราต้องตอบตนเองให้ได้ก็คือว่า ในปี 1950 มีคนจำนวน 2.5 พันล้านคนทั่วโลกที่เป็นเจ้าของยานพาหนะ 50 ล้านคัน และในปี 1996 มีคน 5.5 พันล้านคนเป็นเจ้าของยานพาหนะ 500 ล้านคัน การเคลื่อนย้ายที่คล่องตัวขึ้น ช่วยทำให้ยานยนต์ต้องมีจำนวนมากขึ้น เพื่อรับกับจำนวนประชากรที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 10 พันล้านคน โดยที่ยังไม่มีใครคิดอะไรที่จะรับกับอนาคตนั้น ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีการกำหนดบทบาทตนเองมาเป็นเวลานาน และมีจิตวิญญาณในการแข่งขันจะสามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์ยุ่งยากในตอนนี้ได้ และผมก็หวังว่าข้อเสนอแนะนี้จะช่วยให้ไทยประสบความสำเร็จในอนาคต" เรย์มอนด์ แชมเปญกล่าวถึงเป้าประสงค์ของข้อเสนอแนะชุดนี้ในฐานะตัวแทนจาก SAE

เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ แต่ด้วยภาวะวิกฤติเศรษฐกิจได้ฉุดให้อุตสาหกรรมยานยนต์ตกต่ำลงมาก เห็นได้จากยอดขายที่หล่นฮวบฮาบลงอย่างหนัก ทำให้บางโรงงานต้องลดกำลังการผลิตไปจนถึงหยุดสายการผลิตบางส่วนไป จากข้อเสนอแนะของ SAE พบว่า อุปสรรคของอุตสาหกรรมยานยนต์สำคัญประการหนึ่งนอกเหนือจากภาวะเศรษฐกิจ ก็คือเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหามลภาวะทางอากาศ ซึ่งมีต้นเหตุจากปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งจากรายงานการศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือเอไอที พบว่ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลในกรุงเทพฯ สามารถวิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ยเพียง 24 ก.ม.ต่อชั่วโมง ขณะที่รถโดยสารวิ่งด้วยความเร็วเพียง 15 ก.ม. ต่อชั่วโมง และการที่ยานพาหนะต้องจอดนิ่งอยู่บนท้องถนนเป็นเวลานาน เป็นการเพิ่มปริมาณไอเสียในอากาศมากขึ้น โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ที่ยังใช้เทคโนโลยีแบบเครื่องยนต์ 2 จังหวะ ที่ให้ควันพิษมากกว่ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลหลายเท่าตัว นอกจากนี้ยังมีรถบัสประเภทใช้น้ำมันดีเซล รถบรรทุกหนัก และรถที่ใช้งานผิดประเภท และจากการศึกษาของคณะทำงาน SAE ได้แนะนำว่า ในระยะสั้นไทยจะต้องจะเร่งรัดมาตรการตรวจสอบและบำรุงรักษายานยนต์ให้มากขึ้น ตลอดจนถึงการบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิผลมากขึ้น พร้อมกันนั้นก็ต้องปรับปรุงระบบการขนส่งมวลชน และการจัดหาที่จอดรถขนาดใหญ่ในใจกลางย่านธุรกิจ ซึ่งหากสำเร็จก็จะเป็นผลดีต่อการสร้างผลผลิตในระบบเศรษฐกิจและคุณภาพอากาศ

น้ำมันเชื้อเพลิงและพลังงาน เป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่มีผลต่อคุณภาพอากาศ ตามข้อเสนอของ SAE ผู้ผลิตน้ำมันจำเป็นจะต้องพัฒนาน้ำมันให้สะอาดและมีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อให้เหมาะกับเทคโนโลยีของรถแต่ละประเภท ซึ่งก็รวมถึงน้ำมันดีเซลประเภท RFD และก๊าซโซลีนประเภท RFG ซึ่งจะช่วยลดควันเสียที่เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ พร้อมกันนั้นก็ต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์รถ 2 จังหวะซึ่งสร้างมลพิษทางอากาศสูงมาเป็นเครื่องยนต์ที่ให้ควันเสียต่ำ

"เป็นที่เข้าใจกันดีว่าสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นในปักกิ่ง บัวโนสไอเรส และบอสตัน และนำมาเปรียบเทียบกับกรุงเทพฯ ในตอนนี้ ก็คือเรื่องคุณภาพอากาศ ซึ่งไม่ใช่เพราะว่าเครื่องยนต์เท่านั้นที่สร้างมลภาวะ แต่การที่จราจรติดขัดจนหยุดนิ่งต่างหากที่เป็นต้นตอของปัญหา เพราะยานพาหนะไม่สามารถเคลื่อนที่ไปตามท้องถนนได้ แต่เครื่องยนต์ยังต้องทำงานอย่างต่อเนื่องโดยไม่เหมาะสมกับความเร็วที่เกิดขึ้น การที่ไทยยังขาดรูปแบบการควบคุมการจราจรอย่างเป็นระบบ ไม่เพียงแต่กระทบต่อคุณภาพอากาศเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อความปลอดภัยและระบบเศรษฐกิจโดยรวมด้วย ซึ่งจากการวิจัยของศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปว่า การจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ ทำความเสียหายให้ระบบเศรษฐกิจเป็นเงินมากกว่า 2 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งความท้าทายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงถึงกันทั้งนั้น จะมีก็แต่เพียง Holistic approach เท่านั้น ที่เราสามารถจะคาดหวังได้ว่าจะให้ผลลัพธ์ที่มีความหมายออกมา" เดวิด ชไนเดอร์ ประธานฟอร์ด ประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาใหญ่ของเมืองไทยซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในสหรัฐฯ และข้อเสนอแนะนี้ก็เป็นเหมือนสัญญาณเตือนภัย ไม่ให้ไทยต้องเดินซ้ำรอยเดิมกับสหรัฐฯ

นอกจากนี้ SAE ยังแนะให้ไทยใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ และมาตรฐานที่เป็นสากลแทนข้อบังคับใช้กฎเกณฑ์แบบเฉพาะตัวที่ใช้อยู่ในตอนนี้ อย่างเช่นการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มควรจะเรียกเก็บในขั้นตอนสุดท้ายเพียงครั้งเดียว เพราะวิธีการที่ปฏิบัติกันอยู่ขณะนี้นั้น คือเรียกเก็บทุกๆ ขั้นตอน ขณะเดียวกันผู้ผลิตก็ต้องทำเรื่องขอคืนภาษีในทุกๆ ขั้นตอนที่จ่ายเงินออกไป ซึ่งถือเป็นการเพิ่มต้นทุนโดยไม่จำเป็น ดังนั้นสิ่งที่ไทยควรจะต้องทำคือ การนำมาตรฐานกฎเกณฑ์ที่ใช้กันทั่วโลกมาใช้เพื่อให้มีความสอดคล้องกัน ขณะเดียวกัน ทั้งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน เพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัว โดยในส่วนของรัฐบาลจะต้องตั้งกำแพงภาษีให้สมเหตุสมผล และค่อยๆ ทยอยลดอุปสรรคทางการค้าต่างๆ ให้หมดไป พร้อมทั้งต้องปรับปรุงกระบวนการทางศุลกากรในการส่งออกให้ง่ายขึ้น และบีโอไอก็ต้องทำหน้าที่ในการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ของบริษัท ที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ต่อไปด้วย ขณะเดียวกันผู้ประกอบรถยนต์ก็ต้องช่วยสนับสนุนซัปพลายเออร์ของตนให้แข็งแกร่งขึ้นด้วย

อนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์จะพัฒนาไปได้มากน้อยแค่ไหน SAE ชี้ว่า ยุทธวิธีและนโยบายของรัฐบาลจะเป็นเครื่องวัด เพราะหากสามารถกำหนดให้สอดประสานเข้ากับสิ่งแวดล้อม และสามารถเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางได้มากขึ้น โอกาสที่อุตสาหกรรมนี้จะก้าวต่อไปอย่างมั่นคงและแข็งแกร่งก็ย่อมมีสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ รัฐก็จะต้องทบทวนและปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งของประเทศให้มีประสิทธิภาพ และยังต้องกำหนดนโยบายการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเป็นการสร้างรากฐานให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ได้เติบโตต่อไป

"SAE และ MTEC ได้ทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 2 ปีแล้ว และการที่ข้อเสนอแนะชุดนี้สำเร็จออกมาเป็นผลงานได้ ก็เพราะได้รับการสนับสนุนด้านการเงินทั้งหมดจากฟอร์ด และจีเอ็ม และสปอนเซอร์รายอื่นในการจัดประชุมและสัมมนาเชิงปฏิบัติการ และนำผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ มาให้ข้อคิดเห็นทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของไทย โดยทำงานร่วมกันถึง 5 วัน โดยที่ฝ่ายไทยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เลย" ดร. หริส สูตะบุตร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC ในฐานะตัวแทนผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทยและมีบทบาทสำคัญในข้อเสนอแนะชุดนี้กล่าว

แม้ยานยนต์จะเป็นอุตสาหกรรมที่ทำเงินเข้าประเทศเป็นจำนวนไม่น้อย แต่จะเห็นว่า ผู้ผลิตยานยนต์เกือบทั้งหมดเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ที่มีเงินทุนมหาศาลพร้อมกับเทคโนโลยีและโนว์ฮาวที่ทันสมัย ซึ่งคนไทยยังไม่มีสมรรถนะและความสามารถไปได้ถึงขนาดนั้น ดังนั้น คนไทยจึงทำได้แค่เพียงชิ้นส่วนประกอบรถยนต์เท่านั้น ทว่าในปี 2000 ไทยจะต้องยกเลิกข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ (local content) ซึ่งย่อมต้องส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์โดยตรง และต้องเกี่ยวโยงมาถึงเศรษฐกิจโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ก่อนที่ไทยจะหันไปพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ จำเป็นจะต้องหันมาส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วน ที่ถือเป็นรากฐานของยานยนต์ให้แข็งแกร่งเสียก่อน ซึ่งในเรื่องนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเอง โดยรองปลัดกระทรวง เผด็จภัย มีคุณเอี่ยม และ ดร.หริส ต่างก็มีความเห็นพ้องกันว่า อุตสาหกรรมชิ้นส่วนเป็นความจำเป็นที่รัฐควรจะหันมาส่งเสริมให้พัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน สามารถส่งออกขายยังต่างประเทศได้ในชื่อหรือยี่ห้อของคนไทย ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้จัดตั้งสถาบันยานยนต์ ซึ่งจะเป็นหน่วยงานอิสระที่เป็นตัวกลางในการประสานงานและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานในทุกๆ แง่มุมของอุตสาหกรรม เริ่มตั้งแต่นโยบายไปจนถึงการสร้างความสามารถในการแข่งขัน

ก่อนที่ศตวรรษใหม่จะมาถึงผู้ประกอบการไทยจำต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อรับกับการแข่งขันที่จะต้องโรมรันกันในเวทีใหญ่ระดับโลกด้วยลำแข้งของตนเอง เพราะนับจากนี้ไปพลังอันแข็งกล้าของรัฐที่เคยเป็นเกราะกำบังที่ดี จะค่อยๆ อ่อนล้าลงตามกระแสทุนนิยมที่พัดแรงขึ้นทุกขณะ โดยมีเงาของดับบลิวทีโอยืนทมึนอยู่เบื้องหลัง.....

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us